คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะสหเวชศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สัญลักษณ์คณะสหเวชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นคณะสหเวชศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 เป็นคณะลำดับที่ 17 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2511 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขอโอนคณะเทคนิคการแพทย์ส่วนที่ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปรวมกับสาขาวิชาพยาธิวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตั้งเป็นแผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร โดยยังไม่เป็นที่ตกลง แต่มีมติที่ประชุมร่วมของทั้งสองมหาวิทยาลัยให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์รับนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2513-2514 จำนวน 70 คน โดยให้นักศึกษาจำนวน 30 คนสมัครใจไปศึกษาต่อชั้นปีที่ 3 ในส่วนที่อยู่บริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อ พ.ศ. 2514 เกิดการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินขึ้น และได้มีประกาศของคณะปฏิวัติให้โอนคณะเทคนิคการแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเป็น "แผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2521 ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ศริพร วณิเกียรติ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ แต่งตั้งคณะทำงานขอข้อมูลเรื่องการศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ โดยคณะแพทยศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ แต่ได้รับการบรรจุให้ดำเนินการจัดตั้งเป็น "ภาควิชาเทคนิคการแพทย์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ยาใจ ณ สงขลา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มีคำสั่งลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์อีกครั้ง โดยทางมหาวิทยาลัยเห็นว่า คณะใหม่ควรจะประกอบด้วยหลายสาขาวิชา คณะกรรมการจึงได้พิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่าควรจะมีสาขาวิชาที่เป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพอยู่ด้วยกัน เช่น สาขาวิชากายภาพบำบัด สาขาวิชารังสีเทคนิค ดังนั้น จึงพิจารณาเรื่องชื่อของคณะใหม่ โดยได้เรียนเชิญศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ทองจันทร์ หงส์ลดารมย์ มาร่วมพิจารณาด้วย และนำเสนอชื่อคณะหลากหลาย ในที่สุด คณะกรรมการมีมติเห็นชอบว่าสมควรจะเป็นชื่อ "คณะสหเวชศาสตร์" และใช้ชื่อทางภาษาอังกฤษว่า "The Faculty of Allied Health Sciences"

คณะแพทยศาสตร์จึงได้มีประกาศลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ เพื่อรับผิดชอบในการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จำนวนปีละ 60 คน สาขาวิชากายภาพบำบัดจำนวนปีละ 30 คน สาขาวิชารังสีเทคนิคจำนวนปีละ 30 คน และจะต้องเพิ่มจำนวนการผลิตบัณฑิตขึ้นอีกตามความต้องการของประเทศในด้านการพัฒนาสาธารณสุข

ในการประชุมของคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ได้มีมติเห็นชอบในการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์โดยให้แยกออกมาจากภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534[1]

คณะสหเวชศาสตร์ในทศวรรษแรก พ.ศ.2535-2544[2]

คณะสหเวชศาสตร์เมื่อแรกตั้งมีบุคลากรที่โอนมาจากคณะแพทยศาสตร์รวม 28 คนประกอบด้วย อาจารย์ 16 คน ข้าราชการ 7 คน (สายช่วยวิชาการ 5 คน เจ้าหน้าที่ธุรการ 2 คน) ลูกจ้างประจำ 5 คน ทศวรรษแรกของคณะสหเวชศาสตร์ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งตัวกลับพบข้อจำกัดหลายประการ นับตั้งแต่การที่รัฐบาลนำนโยบายกำหนดขนาดกำลังคนในภาครัฐเป็นแนวทางการบริหาร (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537) และทบวงมหาวิทยาลัยได้แจ้งนโยบายนี้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หนังสือที่ ทม 0202/6173 ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2537) ส่งผลกระทบต่อการบรรจุอัตราของอาจารย์ในคณะสหเวชศาสตร์โดยรวมเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจภายหลังการปล่อยค่าเงินบาทลอยตัวในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ปัญหาความขาดแคลนงบประมาณและการจัดสรรกำลังคนทวีสูงขึ้น การสร้างภาควิชาใหม่รองรับสาขาวิชาใหม่ที่เกิดขึ้นจากการรับโอนสาขาวิชามาจากคณะแพทยศาสตร์ในกรณีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ ตลอดจนการรับอาจารย์ใหม่เพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตบัณฑิตในหลักสูตรที่มีอยู่และหลักสูตรใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่สามารถกระทำได้ คณะสหเวชศาสตร์จึงประสบปัญหาในทุกด้าน ทั้งด้านการบริหาร ด้านกำลังคน งบประมาณและอาคารสถานที่มาโดยตลอด ส่งผลให้การเติบโตของคณะสหเวชศาสตร์ช่วงทศวรรษแรกไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้แต่เดิม มีสาระสรุปได้ดังนี้

  • พ.ศ.2535
    • ภาคต้น ปีการศึกษา 2535 คณะสหเวชศาสตร์รับนิสิตวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเทคนิคการแพทย์ในสังกัดคณะฯเป็นปีแรกจำนวน 55 คน โดยผ่านระบบการคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัย 51 คน และผ่านโครงการจุฬา-ชนบท 4 คน
    • วันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2535 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยพร ณ นคร เข้าดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสหเวชศาสตร์คนแรก บริหารงาน 2 สมัย (หมดวาระวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2543)
  • พ.ศ.2536
    • สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านสหเวชศาสตร์ 3 สาขา ได้แก่ สาขาเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และรังสีเทคนิค ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นสาขาวิชาชีพขาดแคลน มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องนี้มีส่วนสำคัญช่วยให้คณะสหเวชศาสตร์ผ่านวิกฤติการณ์ต่างๆได้ดีขึ้น ลดอุปสรรคที่มีต่อการพัฒนาคณะสหเวชศาสตร์ในช่วงต้นเป็นอย่างมาก
  • พ.ศ.2537
    • คณะได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยให้ขยายพื้นที่ส่วนใต้หลังคาอาคาร 14 (ชื่อใหม่ของอาคารเทคนิคการแพทย์) เพื่อจัดทำเป็นห้องพักอาจารย์และห้องประชุมขนาดเล็ก ทำให้พื้นที่ใช้สอยของคณะสหเวชศาสตร์เพิ่มขึ้น 250 ตารางเมตรรวมเป็น 1,057 ตารางเมตร
  • พ.ศ.2538
    • วันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2538 “ศูนย์วิจัยไขมันและน้ำมัน” ถือกำเนิดขึ้นตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยการอุดหนุนทุนวิจัย นับเป็นหน่วยวิจัยแรกของคณะสหเวชศาสตร์ ภายหลังศูนย์ฯนี้เปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์วิจัยวิทยาลิพิดและไขมัน” เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544
    • ในปี 2538 นี้เองหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขากายภาพบำบัด 4 ปีเริ่มเปิดรับนิสิตรุ่นแรกจำนวน 38 คนผ่านระบบการสอบคัดเลือกของทบวงมหาวิทยาลัย นับเป็นสาขาทางสหเวชศาสตร์สาขาที่สองของคณะฯ หลักสูตรนี้ได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2537
  • พ.ศ. 2539
    • เป็นปีแรกที่คณะสหเวชศาสตร์ผลิตบัณฑิตสาขาเทคนิคการแพทย์ออกสู่สังคมจำนวน 42 คน
    • ปีนี้คณะฯเริ่มใช้หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ที่ปรับปรุงใหม่เพื่อทดแทนหลักสูตรเก่าซึ่งเปิดใช้มาอย่างยาวนาน มีการเปิดหมวดวิชาใหม่ๆขึ้น เช่น โภชนาการคลินิก เทคโนโลยีสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเทคโนโลยีชีวเวชศาสตร์
  • พ.ศ. 2540
    • เดือนมิถุนายน 2540 คณะฯเข้าใช้พื้นที่ชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์ บริเวณสยามสแควร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ชั่วคราวของคณะฯ พื้นที่นี้มีขนาด 2,482 ตารางเมตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดสรรให้คณะฯพร้อมงบประมาณปรับปรุง โดยคณะฯจัดสรรพื้นที่ดังกล่าวเพื่อการเรียนการสอนและการวิจัยของภาควิชากายภาพบำบัด พื้นที่บางส่วนสำหรับภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด สำนักงานเลขานุการ และสำนักงานคณบดี ส่วนพื้นที่ของอาคาร 14 และอาคารเหลืองอมรเลิศเป็นของภาควิชาเคมีคลินิกและภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก สำหรับหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพแบ่งงานออกเป็นสองส่วนโดยใช้พื้นที่ทั้งอาคาร 14 และอาคารวิทยกิตติ์ แม้การได้รับพื้นที่ชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์ ช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพื้นที่การเรียนการสอนของหลักสูตรกายภาพบำบัดได้เกือบทั้งหมด แต่ปัญหาความขาดแคลนพื้นที่สำหรับการเรียนการสอนของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ยังคงดำรงอยู่เนื่องจากในปีการศึกษา 2540 คณะฯมีนิสิตรวม 330 คน เป็นนิสิตหลักสูตร วท.บ.เทคนิคการแพทย์ 238 คนโดยเป็นนิสิตแต่ละชั้นปีประมาณ 65 คน ในขณะที่อาคารเทคนิคการแพทย์ (อาคาร 14) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีพื้นที่ห้องบรรยายสองห้องรวม 186 ตารางเมตร และพื้นที่ห้องปฏิบัติการสามห้องรวม 258 ตารางเมตร ไม่สามารถรองรับได้
  • พ.ศ.2541
    • คณะสหเวชศาสตร์เปิดรายวิชาแบคทีเรียคลินิคและภูมิคุ้มกันวิทยาให้แก่นิสิตหลักสูตรเทคนิคการแพทย์ชั้นปีที่ 3 โดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดทดแทนรายวิชาที่คณะแพทยศาสตร์เคยให้บริการ
    • วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 หน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพเริ่มเปิดให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป ณ อาคารวิทยกิตติ์
  • พ.ศ.2542
    • ผลิตบัณฑิตหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขากายภาพบำบัด สังกัดคณะสหเวชศาสตร์ ขึ้นเป็นปีแรกจำนวน 33 คน ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม หน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพได้รับการอนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นสถานพยาบาลของรัฐ อันเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อการจัดหารายได้ของคณะในเวลาต่อมา
  • พ.ศ.2543
    • คณะสหเวชศาสตร์ร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนนำเสนอรายการด้านอาหารและโภชนาการทางสถานีโทรทัศน์ อ.ส.ม.ท. ช่อง 9 ในรายการโลกมุสลิม โดยเริ่มรายการครั้งแรกวันที่ 7 มีนาคม สัปดาห์ละครั้ง กิจกรรมนี้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2547
    • วันที่ 1 กันยายน 2543 รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัยให้ดำรงตำแหน่งคณบดี (สิ้นสุดวาระ 31 สิงหาคม พ.ศ.2547 และดำรงตำแหน่งต่ออีกหนึ่งสมัยสิ้นสุดวาระ 31 สิงหาคม พ.ศ.2551)
    • เดือนตุลาคม 2543 เกิดประเด็นด้านคดีความของนิสิตของคณะฯคนหนึ่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่ คณะฯและมหาวิทยาลัยร่วมกับสภาทนายความต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของนิสิตกระทั่งคดีสิ้นสุดลงโดยการยกฟ้องนิสิตเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2546
  • พ.ศ. 2544
    • คณะฯปรับนโยบายการรับนิสิตแรกเข้าโดยเพิ่มจำนวนรับนิสิตขึ้นให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากที่เคยรับนิสิตปีที่หนึ่งทั้งสองหลักสูตรปีละ 110 คนในปีการศึกษา 2543 คณะฯเพิ่มการรับเป็น 130 คนในปีการศึกษา 2544 (ขยายเป็น 225 คนในปีการศึกษา 2549 เพิ่มจำนวนนิสิตของคณะฯจาก 390 คนตอนเริ่มปีการศึกษา 2543 เป็น 630 คน ตอนเริ่มปีการศึกษา 2549 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60)
    • ในปีนี้หลักสูตรวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเวชศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรสหสาขา โดยคณะสหเวชศาสตร์เข้าร่วมกับอีก 4 คณะวิชามีบัณฑิตวิทยาลัยเป็นผู้บริหารหลักสูตรได้เริ่มเปิดรับนิสิตเป็นปีแรก
    • วันที่ 1 สิงหาคม 2544 คณะสหเวชศาสตร์ร่วมกับสถานีวิทยุจุฬาฯ เริ่มรายการวิทยุของคณะสหเวชศาสตร์เป็นครั้งแรกทางสถานีวิทยุ เอ็ฟเอ็ม 101.5 เมกะเฮิร์สซ์ วันละ 30 นาที ตั้งแต่วันจันทร์ถึงศุกร์ (ต้นปี พ.ศ.2545 เป็นต้นมา ได้ปรับเวลาเพิ่มเป็นวันละ 1 ชั่วโมง โดยลดการออกอากาศเหลือสัปดาห์ละ 1 วันคือทุกวันจันทร์ เวลา 11-12 น.และดำเนินการมาโดยตลอดนับแต่นั้น)
    • เดือนสิงหาคม-กันยายน 2544 คณะฯเน้นการจัดหารายได้โดยจัดอบรมวิชาการด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 1,415 คน และการอบรมกระบวนการผลิตอาหารฮาลาลโดยระบบ Halal-HACCP 3 ครั้ง มีผู้เข้ารับการอบรม 754 คน
    • คณะฯเริ่มนโยบายการจัดประชุมวิชาการทางสหเวชศาสตร์ขึ้นทุกสองปีโดยเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน พ.ศ.2544 ณ อาคารสถาบัน 3 และอาคารวิทยกิตติ์ โดยให้นับเป็นการประชุมวิชาการของคณะสหเวชศาสตร์ ครั้งที่ 3 ต่อเนื่องจากการจัดประชุมทางวิชาการของแต่ละสาขาวิชาที่เคยจัดขึ้นในอดีต
    • หน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพเปิดบริการด้านห้องออกกำลังกายและห้องเซาน่าขึ้นในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2544

คณะสหเวชศาสตร์ยุคครึ่งทศวรรษที่สอง พ.ศ.2545-2549[3]

ยุคครึ่งทศวรรษที่สองนับเป็นยุคเติบโตอย่างก้าวกระโดดของคณะสหเวชศาสตร์ ทั้งด้านจำนวนนิสิต งบประมาณ รายได้ การพัฒนาวิชาการ งานวิจัยและการบริการวิชาการ ตลอดจนการขยายตัวทางด้านพื้นที่ใช้สอย อันเป็นผลมาจากปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ คณะฯมีกิจกรรมในระดับนานาชาติเกิดขึ้นในช่วงนี้หลายครั้ง ซึ่งอาจสรุปได้โดยสังเขปดังต่อไปนี้

  • พ.ศ.2545
    • คณะฯจัดอบรมวิชาการด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แก่นักธุรกิจและประชาชนทั่วไป ขึ้นอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 22-26 เมษายน 2545 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 158 คน
    • วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2545 คณะฯได้รับมอบพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร 4 บริเวณวิทยาลัยพลศึกษาที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒคืนแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อาคารนี้มีชื่อเรียกในเวลาต่อมาว่า “อาคารจุฬาพัฒน์ 4”) จำนวน 820 ตารางเมตร โดยมหาวิทยาลัยมอบงบประมาณในส่วนของงบพัฒนาภาควิชาเพื่อใช้ในการปรับปรุงพื้นที่เป็นห้องปฏิบัติการของหลักสูตรเทคนิคการแพทย์จำนวน 2 ห้อง
  • พ.ศ.2546
    • คณะฯเริ่มเข้าใช้พื้นที่ของอาคารจุฬาพัฒน์ 4 โดยภาควิชาเคมีคลินิกและภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกย้ายห้องปฏิบัติการและห้องพักคณาจารย์ทั้งหมดจากอาคาร 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาใช้พื้นที่นี้ในภาคต้น พื้นที่บริเวณนี้ทางมหาวิทยาลัยกำหนดให้เป็นพื้นที่ใหม่ของคณะสหเวชศาสตร์ในอนาคต
    • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มทำการก่อสร้างอาคารจุฬาพัฒน์ 1 ซึ่งเป็นอาคารใหม่ของคณะฯ พื้นที่ 3,794 ตารางเมตร
    • วันที่ 27 พฤษภาคม 2546 คณะฯได้รับมอบอาคารล็อกเกอร์ (จุฬาพัฒน์ 6) พื้นที่ 310 ตารางเมตร จากมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลตามเงื่อนไขการรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล อาคารนี้ทำการปรับปรุงจนแล้วเสร็จเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2547
    • คณะฯจัดการประชุมวิชาการทางสหเวชศาสตร์ครั้งที่ 4 ขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม โดยวันที่ 4 สิงหาคม จัด ณ คณะครุศาสตร์ เป็นการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้เข้าร่วม 358 คน ส่วนวันที่ 5-6 สิงหาคม จัดขึ้น ณ โรงแรมเดอะทวินทาวเวอร์ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมประชุม 440 คน มีร้านค้าร่วมแสดงนิทรรศการ 17 ร้าน
    • ภาคต้น ปีการศึกษา 2546 ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก เริ่มเปิดสอนหมวดวิชาปรสิตวิทยาเพื่อทดแทนการเรียนการสอนหมวดวิชานี้ในคณะแพทยศาสตร์
    • วันที่ 13 สิงหาคม 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณปี พ.ศ.2547-2549 จำนวน 75,559,600 บาทแก่โครงการ “จัดตั้งศูนย์ข้อมูลและบริการทางวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลพร้อมโครงข่าย” ของคณะฯ ตามการเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล
  • พ.ศ.2547
    • วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 คณะฯรับมอบอาคารจุฬาพัฒน์ 1 จากมหาวิทยาลัย เริ่มตกแต่งอาคารจุฬาพัฒน์ 1 โดยใช้งบประมาณของคณะฯ ในส่วนการตกแต่งห้องปฏิบัติการการเรียนการสอนและวิจัย คณะฯได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมหาวิทยาลัย แล้วเสร็จเมื่อ 1 มิถุนายน 2548
    • วันที่ 5-6 สิงหาคม 2547 คณะฯร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจัดการประชุม “The Technical Meeting on Halal Logo under Sub Implementing Technical Group on Halal Foods, Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle” ณ ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมประชุม 25 คนเป็นชาวต่างชาติ 11 คนจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย
    • วันที่ 1 ตุลาคม 2547 เริ่มเข้าใช้งานอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (จุฬาพัฒน์ 6)
    • วันที่ 15 ตุลาคม 2547 คณะฯร่วมกับองค์การอนามัยโลกจัดการประชุม “The International Symposium on In Search of Better and Effective Food Safety System: Thailand towards Kitchen of the World” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวโรกาสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระชนมายุครบ 72 ชันษา ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ มีผู้ลงทะเบียนร่วมงาน 289 คนเป็นชาวต่างชาติ 22 คนจาก 10 ประเทศ
    • วันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 จัดงานวันคล้ายวันเกิดคณะสหเวชศาสตร์ปีที่ 13 ณ ที่ทำการใหม่ของคณะฯนับเป็นการใช้อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ครั้งแรก
    • เดือนธันวาคม 2547 สภามหาวิทยาลัยมีมติยกศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล คณะสหเวชศาสตร์ ขึ้นเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[3] (มติการประชุมครั้งที่ 658) อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯยังดำเนินงานร่วมกับคณะฯอย่างใกล้ชิด
  • พ.ศ.2548
    • วันที่ 24 มกราคม 2548 เปิดตัวศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอย่างเป็นทางการ โดยนายวัฒนา เมืองสุขรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในงานการประชุม The 4th Meeting of the OIC Task Force on SMEs and the Related Exhibition ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค ถนนสุขุมวิท กรุงเทพฯ
    • ในปี 2548 นี้เองหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร[4] เริ่มเปิดรับนิสิตรุ่นแรกจำนวน 29 คน โดยแบ่งออกเป็นการผ่านระบบการสอบคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จำนวน 22 คน และระบบการสอบคัดเลือกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รับตรง) จำนวน 7 คน นับเป็นสาขาทางสหเวชศาสตร์สาขาที่สามของคณะฯ
    • วันที่ 1 มิถุนายน 2548 ทำการย้ายสำนักงานคณบดี สำนักงานเลขานุการ ห้องปฏิบัติการและห้องพักคณาจารย์ของภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือดจากอาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 มายังอาคารใหม่ “อาคารจุฬาพัฒน์ 1” ถนนจุฬาลงกรณ์ 12
    • วันที่ 2 มิถุนายน 2548 มหาวิทยาลัยมอบอาคารหอพักนักกีฬา (อาคารจุฬาพัฒน์ 3) พื้นที่ 678 ตารางเมตรแก่คณะฯโดยคณะฯใช้งบประมาณส่วนของโครงการเร่งรัดและศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลในการปรับปรุงเพื่อใช้เป็นอาคารหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหารและหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ
    • วันที่ 30 สิงหาคม 2548 เปิดห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมชาย นีละไพจิตร และอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลอย่างเป็นทางการโดยอธิการบดีร่วมกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน งบประมาณทั้งหมดในการจัดทำห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สมชาย นีละไพจิตร จำนวน 1,310,282 บาท ได้มาจากการบริจาคของผู้มีอุปการคุณ (สมชาย นีละไพจิตร คือทนายความจากสภาทนายความที่ช่วยเหลือคณะฯและมหาวิทยาลัยทำคดีให้นิสิตคนหนึ่งของคณะฯระหว่างปี พ.ศ. 2543-2546 ต่อมาได้หายสาบสูญไป)
    • ภาคปลาย ปีการศึกษา 2548 ทำการย้ายการเรียนการสอนของภาควิชากายภาพบำบัดจากอาคารวิทยกิตติ์มาอยู่ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 2 ชั้น 1 และบางส่วนของชั้น 2 รวมพื้นที่ 550 ตารางเมตร ขณะเดียวกัน คณะฯคืนพื้นที่อาคารวิทยกิตติ์ชั้น 13 จำนวน 1,800 ตารางเมตรแก่มหาวิทยาลัย เหลือพื้นที่ไว้สำหรับหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวน 682 ตารางเมตร
    • วันที่ 27 ตุลาคม 2548 คณะฯร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจัดการประชุม “The Technical Meeting on IMT-GT Scientific Laboratory Networking for Halal Food Inspection and Accreditation” ณ อาคารจุฬาพัฒน์ 1 คณะสหเวชศาสตร์ มีผู้เข้าร่วม 15 คน เป็นชาวต่างชาติ 4 คน
    • เดือนพฤศจิกายน 2548 จัดการประชุมวิชาการสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมเอเชีย ระหว่างวันที่ 17-18 มีผู้เข้าร่วม 231 คน มีร้านค้าร่วมแสดงนิทรรศการ 10 ร้าน
    • วันที่ 22 ธันวาคม 2548คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ก.พ.บ.) อนุมัติงบประมาณปี พ.ศ.2550-2552 จำนวน 65,250,000 บาทแก่โครงการ “การประยุกต์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและการส่งออกด้านอาหารฮาลาลของประเทศ (โครงการต่อเนื่องจากโครงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและบริการทางวิทยาศาสตร์และห้องปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาหารฮาลาลพร้อมโครงข่าย)” ของคณะฯ ตามการเสนอของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการฯ มติดังกล่าวได้รับการรับรองผ่านมติคณะรัฐมนตรีวาระเพื่อทราบจร เรื่องที่ 6 วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2548
  • พ.ศ.2549
    • วันที่ 9 มีนาคม 2549 คณะสหเวชศาสตร์และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลเข้าร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สถาบันอาหาร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ร่วมเป็นเจ้าภาพงาน Thailand Halal Hub ณ โรงแรม โซฟิเทล เซ็นทรัล พลาซ่า มีผู้ลงทะเบียนร่วมงาน 323 คน
    • เมษายน 2549 คณะฯได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ส.ส.ว.) จำนวน 5 ล้านบาทเพื่อจัดตั้ง “ศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจผลิตภัณฑ์ฮาลาล” (Business Incubator for Halal Products หรือ BIHAP)
    • วันที่ 8 พฤษภาคม 2549 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลรับรางวัล Halal Journal Award of Best Innovation in Halal Industry จากนายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ดาโต๊ะ เสรี อับดุลลา บินหะยี อะหมัด บาดาวี ในงาน World Halal Forum ณ โรงแรม Crowne Plaza Mutiara Hotel กรุงกัวลาลัมเปอร์
    • ภาคต้น ปีการศึกษา 2549 มีการย้ายห้องปฏิบัติการของภาควิชากายภาพบำบัดจากชั้น 1 อาคารจุฬาพัฒน์ 2 ซึ่งมีขนาดคับแคบไปที่ชั้น 3 อาคารเดียวกัน เพิ่มพื้นที่ห้องปฏิบัติการสองห้องจาก 306 ตารางเมตรเป็น 396 ตารางเมตร จากการอนุมัติของมหาวิทยาลัย โดยคณะฯเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด
    • เดือนกรกฎาคม 2549
      • คณะฯได้รับมอบพื้นที่ธาราบำบัดชั้น 1 อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ จัดสรรเป็นอาคารบริการทางสุขภาพสำหรับ 4 คณะ ทั้งนี้มหาวิทยาลัยจัดสรรพื้นที่บางส่วนของชั้น 1 พื้นที่ทั้งหมดของชั้น 3 และชั้น 4 แก่คณะฯรวมพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตรเพื่อใช้เป็นหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านอื่นๆ
      • คณะฯเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ The First International Halal Science Symposium (attached to the First Thailand Congress of Nutrition) ร่วมกับสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีและเครือข่ายโภชนาการ วันที่ 31 สิงหาคม -2 กันยายน ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเปิดงาน มีผู้ลงทะเบียนร่วมงาน 1,200 คน ทูตานุทูต 18 ประเทศ เป็นชาวต่างชาติ 49 คนจาก 13 ประเทศ ทั้งนี้โดยได้รับงบประมาณบางส่วนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
    • เดือนกันยายน 2549 คณะฯประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนคงยอดเงินต้นจำนวน 50,000,013 บาท โดยเป็นการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยครึ่งหนึ่งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ในเดือนนี้คณะฯคืนพื้นที่ส่วนที่เหลือทั้งหมดในอาคารวิทยกิตติ์ ชั้น 13 จำนวน 682 ตารางเมตรแก่มหาวิทยาลัย
    • เดือนตุลาคม 2549 มหาวิทยาลัยเริ่มโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่รอบอาคารจุฬาพัฒน์ 1 และพื้นที่ระหว่างอาคารจุฬาพัฒน์ 1 จุฬาพัฒน์ 2 จุฬาพัฒน์ 3 และจุฬาพัฒน์ 4 โดยดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ.2550

[แก้] หน่วยงานและหลักสูตร

คณะสหเวชศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ภาควิชา เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีใน 3 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และโภชนาการและการกำหนดอาหาร ส่วนภาควิชารังสีเทคนิคนั้น เปิดสอนรายวิชาเลือกแก่นิสิตคณะต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ยังเปิดสอนในระดับปริญญาโท 4 หลักสูตร และเปิดปริญญาเอก 3 หลักสูตร และ 1 สหสาขาวิชา ได้แก่ สหสาขาชีวเวชศาสตร์ร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ ภาควิชาและหลักสูตรที่คณะเปิดการเรียนการสอน มีดังนี้

หน่วยงาน ระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท ระดับปริญญาเอก

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาชีวเคมีคลินิกและอณูทางการแพทย์

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขาวิทยาศาสตร์โลหิตวิทยาคลินิก
  • สาขาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สหสาขาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาอาหารและโภชนาการ (นานาชาติ)

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต

หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต

  • สาขากายภาพบำบัด
    • แขนงวิชากายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
    • แขนงวิชาการภาพบำบัดทางระบบประสาท

หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต

  • สหสาขาชีวเวชศาสตร์
  • สาขาวิชากายภาพบำบัด

-

-

-

[แก้] กิจกรรม

นอกจากการเรียนภายในคณะ ยังมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นิสิตได้เข้าร่วมเพื่อให้นิสิตมีประสบการณ์อื่น ๆ นอกจากการเรียน ซึ่งมีทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยหรือคณะ และกิจกรรมที่จัดขึ้นภายในคณะ โดยกิจกรรมต่าง ๆ ที่นิสิตได้จัดขึ้นหรือเข้าร่วม ได้แก่

[แก้] ด้านกีฬา

[แก้] ด้านวิชาการ

  • งานการนำเสนอผลงานปริญญานิพนธ์นิสิต-นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้นำเสนอผลงานในระดับปริญญานิพนธ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 2 สถาบัน[4]

[แก้] ด้านสังคม

  • ค่ายเพื่อนกาวน์ เป็นค่ายแนะแนวการศึกษา เพื่อแนะนำคณะสหเวชศาสตร์ให้นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและบุคคลทั่วไปได้รู้จักเกี่ยวกับคณะให้มากขึ้น รวมทั้ง การแนะนำแนวทางการประกอบวิชาชีพที่คณะเปิดสอนหลังจากจบการศึกษาแล้ว[5]
  • ค่ายอาสาพัฒนาชนบท เป็นการออกค่ายเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ของนิสิต

[แก้] ที่ตั้ง

อาคารจุฬาพัฒน์ 1

การเรียนการสอนในสาขาเทคนิคการแพทย์นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยใช้สถานที่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยทั้ง 2 แห่งนั้น มีการสร้างอาคารที่มีลักษณะที่เหมือนกันแต่กลับด้านคล้ายเงาในกระจกของกันและกัน ซึ่งอาคารที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น เรียกว่า ตึกเทคนิคการแพทย์ หรือ ตึก 14 เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้ใช้เป็นห้องปฏิบัติการทางด้านจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิกและเคมีคลินิกเพื่อบริการแก่ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พร้อมทั้งใช้เป็นสถานที่เรียนของเทคนิคการแพทย์ โดยได้ใช้เป็นที่ตั้งของภาควิชาจุลทรรศาสตร์คลินิคและภาควิชาเคมีคลินิค

เมื่อมีการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้น ทางคณะได้ใช้พื้นที่ ชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์ บริเวณสยามสแควร์เป็นที่ตั้งของคณะชั่วคราว โดยได้ใช้เป็นที่ตั้งของภาควิชากายภาพบำบัด เวชศาสตร์การธนาคารเลือด และรังสีเทคนิค ดังนั้น การเรียนการสอนของคณะจึงดำเนินการอยู่ทั้งที่ตึก 14 และ อาคารวิทยกิตติ์

ต่อมา ทางคณะได้รับพื้นที่ตั้งของคณะแห่งใหม่บริเวณหลังห้างสรรสินค้ามาบุญครอง ที่ได้รับพื้นที่คืนจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยได้ใช้อาคารต่าง ๆ เป็นที่ตั้งของภาควิชา ดังนี้

  • อาคารจุฬาพัฒน์ 1 ใช้เป็นห้องปฏิบัติการและห้องพักคณาจารย์ของภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด ซึ่งย้ายมาจากชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์
  • อาคารจุฬาพัฒน์ 2 เป็นที่ตั้งของภาควิชากายภาพบำบัด ซึ่งย้ายมาจากชั้น 13 อาคารวิทยกิตติ์
  • อาคารจุฬาพัฒน์ 3 เป็นที่ตั้งของอาคารหลักสูตรโภชนาการและการกำหนดอาหารและหน่วยปฏิบัติการบริการวิทยาศาสตร์สุขภาพ
  • อาคารจุฬาพัฒน์ 4 เป็นที่ตั้งของภาควิชาเคมีคลินิกและภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก ซึ่งย้ายมาจากตึก 14 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  • อาคารจุฬาพัฒน์ 6 เป็นที่ตั้งของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๓๔, เล่ม ๑๐๘, ตอน ๑๙๙ ก ฉบับพิเศษ, ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔, หน้า ๖๔
  2. ^ คณะสหเวชศาสตร์ในทศวรรษแรก แม่แบบ:คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ในทศวรรษแรก, [[1]]
  3. ^ คณะสหเวชศาสตร์ยุคครึ่งทศวรรษที่สอง แม่แบบ:คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ยุคครึ่งทศวรรษที่สอง, [[2]]
  4. ^ งานนำเสนอผลงานปริญญานิพนธ์นิสิต-นักศึกษาเทคนิคการแพทย์จุฬา-ธรรมศาสตร์ จาก เวปไซต์ชมรมเทคนิคการแพทย์สัมพันธ์
  5. ^ เพื่อนกาวน์ : กว่าจะมาเป็นค่าย

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น