วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
สัญลักษณ์ วปอ.

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร หรือ วปอ. เป็นสถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ ขึ้นตรงกับสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม[1] มีหน้าที่จัดการศึกษาหลักสูตรเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติและการป้องกันราชอาณาจักร ให้แก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน พนักงานองค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ รวมทั้งเอกชน โดยฝึกปฏิบัติการวางแผนและนโยบายระดับชาติ การพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ


เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ก่อตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเปิดการศึกษาเฉพาะผู้บริหารชั้นสูงของฝ่ายทหารและพลเรือนเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 จึงเปิด หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน หรือ ปรอ. ขึ้นมาอีกหลักสูตรหนึ่ง เพื่อให้นักธุรกิจระดับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารได้เข้ารับการศึกษาร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ผู้ผ่านหลักสูตรนี้ในแต่ละปีจะอ้างอิงเป็นรุ่น "วปรอ." ตามด้วยเลข 4 ตัว 2 ตัวแรกจะตรงกับปีการศึกษาพอดีและ 2 ตัวหลังจะเท่ากับเลข 2 ตัวแรกลบด้วย 30 เสมอ เช่น ศิษย์เก่า วปรอ. รุ่น 4414 (วปรอ. 4414)

ในปี พ.ศ. 2546 เปิด หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐ เอกชน และการเมือง หรือ วปม. โดยรับนักการเมืองเพิ่มเข้ามา ปัจจุบัน นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูง โดยมีข้อกำหนดของผู้ที่จะได้รับการพิจารณาให้เข้าศึกษานี้ว่า

  • ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือน ต้องเป็นระดับ 9 หรือเทียบเท่า ขึ้นไป
  • ถ้าเป็นข้าราชการทหาร ต้องมีชั้นยศระดับพันเอก รับเงินเดือน อัตราพันเอกพิเศษ นาวาเอก รับเงินเดือน อัตรานาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอก รับเงินเดือน อัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ ขึ้นไป
  • ถ้าเป็นข้าราชการตำรวจ ต้องมีชั้นยศระดับพันตำรวจเอก รับเงินเดือน อัตราพันตำรวจเอกพิเศษ ขึ้นไป[2]


[แก้] เข็มรัฎฐาภิรักษ์

Emblem of National Defence College (Thailand).gif

เข็มรัฎฐาภิรักษ์ หรือ เข็มวปอ.(ภาษาพูด) เป็นเครื่องหมายวิทยฐานะ สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เริ่มใช้ตั้งแต่การศึกษารุ่นแรก(ประจำปี พ.ศ. 2498 – 2499) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ประกอบเป็นเข็มรัฎฐาภิรักษ์มีดังนี้

  • รูปทรงของเข็มที่เป็นรูปโล่ หมายถึง สิ่งที่ใช้ป้องกันภัยและอันตรายเมื่อนำมาใช้ร่วมกับภาพธงชาติ จึงมีความหมายถึงการป้องกันประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัย
  • แถบธงชาติไทย หมายถึง ราชอาณาจักรไทย
  • สีฟ้าอ่อน ซึ่งเป็นสีของพื้นโล่ หมายถึง สถาบันการศึกษาชั้นสูงของประเทศ เนื่องจากเป็นสีของท้องฟ้าอันเป็นสิ่งที่สูงส่ง
  • พระมหามงกุฎพร้อมรัศมี หมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์
  • อุณาโลม หมายถึง ศาสนาประจำชาติ เนื่องจากเป็นเครื่องหมายที่ใช้ในพิธีทางศาสนาโดยทั่วไป
  • จักร หมายถึง กองทัพบก
  • สมอเรือ หมายถึง กองทัพเรือ
  • ปีกนก หมายถึง กองทัพอากาศ
  • ราชสีห์และคชสีห์ หมายรวมถึงกระทรวง ทบวงต่าง ๆ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของ ตราประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี
  • ดาวห้าแฉกสีทอง หมายถึง การผนึกกำลัง ต่าง ๆ ทั้ง 5 ฝ่าย ได้แก่ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ให้เป็นหนึ่งเดียว
  • ช่อชัยพฤกษ์ หมายถึง ชัยชนะอันเกิดจากความสามัคคี ความพร้อมเพรียงกันของบุคคลทุกฝ่ายในชาติ


[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′47″N 100°33′26″E / 13.779832°N 100.557165°E / 13.779832; 100.557165

ภาษาอื่น