ขัตติยะ สวัสดิผล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ขัตติยะ สวัสดิผล
พลตรี ดร. ขัตติยะ สวัสดิผล
พลตรี ดร. ขัตติยะ สวัสดิผล

พลตรี ดร.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ เสธ.แดง (2 มิถุนายน พ.ศ. 249417 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[1]) เป็นทหารบกชาวไทย เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเมื่อมีคดีความการรื้อบาร์เบียร์ย่านซอยสุขุมวิท 10 และถูก พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่กล่าวหาว่า พล.ต.อ.สันต์ มีพฤติกรรมในการใช้อำนาจโดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งทุจริตการจัดซื้อ-จัดจ้าง การทำสำนวนคดีรื้อถอนบาร์เบียร์ที่มีพฤติการณ์ช่วยเหลือนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอุ้มนายชูวิทย์จากโรงแรมดิเอมเมอรัลด์ รัชดาภิเษก จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียน "หนังสือ คม...เสธ.แดง" ขึ้น อันเป็นหนังสืออัตชีวประวัติและรวบรวมความคิดคำพูดของ พล.ต.ขัตติยะ เอง

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

พล.ต. ขัตติยะ สวัสดิผล เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2494 โดยมีเชื้อสายมอญจากปู่[2] เป็นบุตรชายคนสุดท้องของ ร.อ.สนิท สวัสดิผล และนางสอิ้ง สวัสดิผล จากจำนวนพี่น้อง 4 คนซึ่งเป็นหญิง 3 คนและชาย 1 คน

จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ การศึกษาด้านการทหาร จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 63 ได้เรียนต่อปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาปี 2528 ปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ สำเร็จการศึกษาปี 2539 ปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำเร็จการศึกษาปี 2545 ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง สำเร็จการศึกษาปี 2547 และจบปริญญาเอก สาขาบริหารรัฐกิจ University of Northern Philippines สำเร็จการศึกษาปี 2551

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล สมรสกับ นาวาเอก (พิเศษ) หญิง จันทรา สวัสดิผล (เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็ง) มีบุตรสาวด้วยกันทั้งหมด 1 คน ชื่อ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล (ชื่อเล่น: เดียร์) ปัจจุบันทำงานเป็นทนายความในสำนักกฎหมายเอกชน

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล มีเว็บไซต์ของตนเองชื่อ www.sae-dang.com ที่วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอย่างดุเดือด โดยบุคคลที่ชื่นชอบจะเรียกชื่อ พล.ต.ขัตติยะ อย่างเคารพว่า "อาแดง" แต่หากมีการวิเคราะห์สถานการการเมืองและการทหารอย่างเป็นทางการ ก็จะใช้นามเรียกขานตัวเองว่า " เสธ.แดง "

[แก้] รับราชการ

พล.ต.ขัตติยะ เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี และเติบโตมาในสายทหารม้า เคยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ เมื่อปี 2543 เคยเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าในช่วงปี 2529 เป็นนายทหารติดตามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รองนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และเคยเป็นนายทหารคนสนิทของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในรัฐบาล นายชวน หลีกภัย และดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกเป็นตำแหน่งสุดท้าย

การศึกษา และดูงาน : - ประถม-มัธยมศึกษา 1 โรงเรียนโพธาราม - มัธยมศึกษา 2-3 โรงเรียนศรีวิกรม์ - โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11 - โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 - โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 - ปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม - ปริญญาโท คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) - ปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (เพิ่มเติมทีหลัง) - อบรมหลักสูตรสงครามนอกแบบ หลักสูตรข่าวลับ หลักสูตรคอมพิวเตอร์ หลักสูตรภาษาอังกฤษ

การทำงาน และตำแหน่งหน้าที่ : - 1 ตุลาคม 2541 ผู้ชำนาญการกองบัญชาการทหารสูงสุด - 1 เมษายน 2542 ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก

ยศหรือขั้น : - 2536 พันเอกพิเศษ - 2516 ร้อยตรี - 1 ตุลาคม 2541 พลตรี

[แก้] บทบาททางการเมือง

ในทางการเมืองในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 พล.ต.ขัตติยะ ก็ได้แสดงบทบาทของตนเองออกมา ในตอนแรกได้วิพากษ์วิจารณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หลายต่อหลายครั้งเรื่องปัญหาการฆ่าตัดตอนในสงครามกวาดล้างยาเสพติด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และการปล้นปืนขึ้น ซึ่งพล.ต.ขัตติยะเห็นว่าไม่ถูกต้อง ในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อ พ.ศ. 2551 การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ขัตติยะก็ได้ไปปรากฏตัว ณ ที่ชุมนุมด้วยโดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่าเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ต่อมาไม่นาน พล.ต.ขัตติยะก็ได้เปลี่ยนท่าทีใหม่โดยสิ้นเชิง ได้แสดงท่าทีและวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มพันธมิตรฯ ที่นำประเด็นเขาพระวิหารมาเป็นประเด็นทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกนิ่งเฉยในประเด็นเขาพระวิหาร โดยพล.ต.ขัตติยะ ในช่วงแรกได้ออกมาปกป้องทั้งในเรื่องประเด็นทุจริตรถเกราะยูเครน 8 ล้อ และประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร ซึ่งพล.ต.ขัตติยะออกมาโต้แทนว่า พล.อ.อนุพงษ์ ท่านหน่อมแน้ม จึงโดนตั้งคณะกรรมการสอบวินัย ซึ่งผลการสอบไม่มีความผิดแต่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชา ในเหตุการณ์ยึดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง

พล.ต.ขัตติยะได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะ ศอฉ. อีกครั้งว่าปล่อยให้พันธมิตรยึดสนามบินไม่ยอมนำกำลังออกมาช่วยรัฐบาลตามที่มีคำสั่งจาก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการปราบปรามกลุ่มพันธมิตร นอกจากนี้ยังนำผู้นำเหล่าทัพไปให้สัมภาษณ์ช่อง 3 ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ บอกให้ นาย สมชาย วงษ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยหลังจากจุดๆนี้เป็นต้นไป พล.ต.ขัตติยะได้ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกลุ่มพันธมิตรและพล.อ.อนุพงษ์ จนกระทั่งถูกคำสั่งพักราชการในเดือนมกราคม 2553 ในข้อหาวิพากษ์วิจารณ์ผู้บังคับบัญชา ซึ่ง พล.ต.ขัตติยะ ไม่ยอมรับ โดยอ้างว่ากองทัพไม่มีอำนาจในการสั่งพักราชการตน เนื่องจากตนเป็นถึงนายทหารระดับนายพล[3]

ต่อมา พล.ต.ขัตติยะก็ได้ประกาศตัวว่าเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ และตระเวนไปปราศรัยที่เวทีคนเสื้อแดงทั่วประเทศ และประกาศตัวว่าถ้าสามเกลอพลาดจะขึ้นเป็นแกนนำแทนด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ต่อมา ได้ทำให้นายทหารระดับสูงในหลายส่วนของกองทัพบกได้ออกมาวิจารณ์การกระทำของ พล.ต.ขัตติยะ ถึงความเหมาะสมรวมทั้งได้แสดงออกถึงการร่วมใจปกป้องศักดิ์ศรีของกองทัพด้วย[4]

ในทางการเมือง พล.ต.ขัตติยะ ได้มีแนวคิดจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในชื่อ พรรคเสธ.แดง เพื่อลงเลือกตั้งในปลายปี 2550 โดยมีจุดมุ่งหมายคือ แยกอำนาจสอบสวนออกจากตำรวจและตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมาดูแลแทน โดยตำรวจมีหน้าที่จับกุมและส่งตัวมาให้หน่วยงานสอบสวน แต่ไม่ได้รับการรับรองให้จดทะเบียนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. โดยนางสดศรี สัตยะรรม ให้เหตุผลว่าเป็นชื่อบุคคลไม่สามารถนำมาตั้งชื่อพรรคได้ โดยส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเรื่องชื่อพรรคนี้เรื่องค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ 2 ปีเต็มไม่มีความคืบหน้า เพราะมีเรื่องเร่งด่วนรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินอีกหลายเรื่อง จึงขอถอนเรื่องออกมาและมาจัดตั้งใหม่ ในนามว่า พรรคขัตติยะธรรม ซึ่งแปลว่า ธรรมของพระราชา

[แก้] เหตุการณ์ลอบสังหาร

พล.ต.ขัตติยะได้ถูกลอบยิงระหว่างการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศในฐานะหัวหน้าการ์ดของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติที่สวนลุมพินี บริเวณแยกศาลาแดง เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกกระสุนเข้าที่ศีรษะด้านขวาทะลุท้ายทอย กลุ่มคนเสื้อแดงได้นำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว[5] และได้ย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน โดยทางแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ให้เหตุผลว่าทางวชิรพยาบาลมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพียบพร้อมกว่า[6] อาการของ พล.ต. ขัตติยะ อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอดจนกระทั่ง พล.ต. ขัตติยะ เสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09.20 น.[1] โดยมีกำหนดการพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่วัดโสมมนัสราชวรวิหาร ในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 เวลา 17.00 น.

[แก้] ผลงานด้านการเขียน

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล มีความสามารถด้านการเขียนหนังสือที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ในสไตล์การเขียนที่คล้ายกับเล่าให้ฟัง จนทำให้คนอ่านรู้สึกเหมือนได้ฟังการบอกเล่ามากกว่าการอ่านในแนววิชาการ โดยใช้นามปากกาว่า " ยะ ยี่เอ๋ง " ซึ่งมีที่มาจากคำว่า ขัตติ "ยะ " และ " ยี่เอ๋ง "นั้น มีที่มาจากตัวละครตัวหนึ่งในหนังสือสามก๊ก ที่เพื่อนๆโรงเรียนนายร้อยจปร.รุ่น22 ตั้งฉายาให้ เสธ.แดง เนื่องจากว่าเห็นว่ามีบุคลิกคล้ายเจ้าตัวมากที่สุด ซึ่งในสมัยที่เรียนจบแยกย้ายกันไปทำงาน เสธ.แดง เคยได้เขียนเรื่องราวต่างๆในระหว่างการทำงานและประสบการร์ในสนามรบ บอกเล่าให้เพื่อนๆอ่านกันใน วารสารฟ้าหม่น โดยใช้นามปากกาว่า "ยะ ยี่เอ๋ง " ด้วยเช่นกัน

จนกระทั่งเมื่อครั้งที่พล.ต.ขัตติยะได้มีเรื่องกับเบอร์หนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปี 2545-2546 เสธ.แดงจึงได้มีโอกาสได้เขียนหนังสือขึ้นมาอย่างจริงจัง คือหนังสือ คม...เสธ.แดง ภาค1เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวในคดีความและความเป็นไปใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เขาได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปเสาะหาข้อมูลมาตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในปี 2547 ตลอดจนเรื่องราวในสนามรบสมรภูมิต่าง ๆที่เขาได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ในแบบข้อมูลเชิงลึกและมีภาพประกอบจากสถานที่จริงและ ภาพการ์ตูนบอกเล่าประกอบ รวมถึงคำบรรยายใต้ภาพที่สื่อให้จินตนาการตามอย่างสนุกสนาน ในเวลาต่อมาก็ได้เขียนภาคอื่นตามมา กลายเป็น " คม.. เสธ.แดง ตั้งแต่ภาค 1 - 7 และภาคพิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติชีวิตส่วนตัวในอีกมุมหนึ่งของชีวิต ของ เสธ.แดง ในชื่อหนังสือ " ลูบคม...เสธ.แดง " ที่ผ่านฝีมือการเขียนโดยผู้ที่ใช้นามปากกา ANGEL 007

โดยเสธ.แดง ได้เขียนหนังสือค้างไว้ตั้งแต่ปี2551จนวาระสุดท้ายของชีวิตก็ยังเขียนไม่เสร็จ นั่นก็คือหนังสือ " คม...เสธ.แดง ภาค 8

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 ปิดตำนาน เสธ.แดง เสียชีวิตอย่างสงบ. ไทยรัฐออนไลน์ (17 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 17 พฤษภาคม 2553
  2. ^ เสธ.แดง-พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล..คนราชบุรี..ถูกปลิดชีพ
  3. ^ เสธ.แดงฉุนถูกพักราชการ
  4. ^ ผบ.17กองพันอัดเสธ.แดง
  5. ^ หาม"เสธ.แดง"ส่งร.พ.. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553
  6. ^ ย้ายเสธ.แดงมารักษาตัวที่วชิรพยาบาล. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (13 พฤษภาคม 2553). สืบค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2553

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น