จตุพร พรหมพันธุ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นายจตุพร พรหมพันธุ์

จตุพร พรหมพันธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) (ชื่อเล่น: ตู่) เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ที่ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนสุดท้องของนายชวน พรหมพันธุ์ กับนางน่วม บัวแก้ว เป็นน้องชายต่างมารดากับ พระเทพดิลก (ระแบบ ฐิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายจตุพรเป็นอดีตโฆษกพรรคไทยรักไทยและอดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค แจ้งเกิดทางการเมืองจากการเป็นผู้นำนักศึกษาช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 เมื่อเกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ ถ.ราชดำเนิน และผู้ชุมนุมย้ายไปปักหลักที่รามคำแหง โดยมีจตุพรขึ้นไฮด์ปาร์กอย่างโดดเด่น [ต้องการอ้างอิง]

เข้าสู่วงการเมืองครั้งแรกด้วยการสังกัดพรรคพลังธรรมในช่วงที่มีนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาเริ่มใกล้ชิดกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ในขณะนั้น ซึ่งต่อมาทำให้ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย มาตั้งแต่นั้น

ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการของนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สมัยรัฐบาลทักษิณ 1

นายจตุพร ทำงานการเมืองโดยมีกลุ่มนักศึกษารามคำแหง พรรคศรัทธาธรรมที่ตัวเองเป็นผู้ก่อตั้ง จึงมีชื่อที่รู้จักกันดีในสมัยเรียนว่า ตู่ ศรัทธาธรรม เป็นฐานกำลังคอยเคลื่อนไหว เช่น การให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร[ต้องการอ้างอิง] การมอบดอกไม้ กกต. การเดินขบวนไปหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ในสมัยที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ต่อมาเข้าร่วมเป็น 1 ใน 8 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมาได้เข้าสังกัดกับพรรคพลังประชาชนพร้อมกับลงรับสมัคร ส.ส. ในระบบสัดส่วนลำดับที่ 4 ของโซน 6 ที่ประกอบด้วยพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ และได้รับเลือก

ในปี พ.ศ. 2551 นายจตุพรเป็นหนึ่งในพิธีกรรายการ ความจริงวันนี้ ทางเอ็นบีที โดยร่วมกับ นายวีระ มุสิกพงศ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อตอบโต้และวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ แทนรัฐบาล

หลังการยุบพรรคและเปลี่ยนขั้วรัฐบาล นายจตุพรได้นำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา และเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และเมื่อ นปช. ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล นายจตุพร ได้ร่วมขึ้นปราศรัยในฐานะแกนนำ ภายหลังเหตุการณ์ก่อความไม่สงบของกลุ่ม นปช. เมษายน พ.ศ. 2552 นายจตุพรถูกออกหมายจับพร้อมกับแกนนำคนอื่นๆในวันที่ 14 เมษายน 2552

นายจตุพร พรหมพันธุ์ เข้าเรียน ม 1 รุ่นแรก ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เลขประจำตัว 15920 โดยเข้าเรียน ม 1/8 , ม 2/8 และจบ ม 3/6 (อยู่ลำดับที่ 9 ของห้อง) แต่ถ้านายจตุพร เรียนต่อ ม.ปลาย ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ก็จะเทียบเป็นรุ่นที่ 90 ทำให้บวรนิเวศรุ่น 90 มีเพื่อนร่วมรุ่นระดับนายทหารยศพันเอก นักดนตรีสากล และดนตรีไทย ระดับประเทศ และนักการเมืองระดับประเทศ

Crystal Clear app Login Manager.png จตุพร พรหมพันธุ์ เป็นบทความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ จตุพร พรหมพันธุ์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ
ภาษาอื่น