ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ หรือ ภาวะเลือดเป็นพิษ
(Sepsis or Septicemia)
การจำแนกโรคหรืออาการ และแหล่งข้อมูลอื่น
ICD-10 A40. - A41.0
ICD-9 995.91
DiseasesDB 11960
MedlinePlus 000666
MeSH D018805

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ[1] (อังกฤษ: Sepsis) เป็นภาวะทางการแพทย์ที่รุนแรงโดยมีลักษณะของภาวะการอักเสบทั่วร่างกาย (หรือที่เรียกว่ากลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกายหรือ SIRS) ร่วมกับมีการติดเชื้อที่ทราบชนิดหรือที่น่าสงสัยว่าเป็นการติดเชื้อ[2][3] ร่างกายจะมีการตอบสนองต่อการอักเสบต่อเชื้อจุลชีพในเลือด ปัสสาวะ ปอด ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ศัพท์ที่มักเรียกภาวะนี้กันโดยทั่วไปว่า "เลือดเป็นพิษ" นั้นแท้จริงควรหมายถึงภาวะเลือดเป็นพิษซึ่งจะกล่าวต่อไป

ภาวะเลือดเป็นพิษ ภาวะเลือดเป็นพิษเหตุติดเชื้อ[1] หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด[4] (อังกฤษ: Septicemia, Septicaemia) เป็นศัพท์ทางการแพทย์ที่มีความหมายใกล้เคียงกันแต่แตกต่างกัน หมายความว่าการมีจุลชีพก่อโรคอยู่ในกระแสเลือด และก่อให้เกิดภาวะพิษเหตุติดเชื้อ[5] ศัพท์นี้ยังไม่ได้รับการนิยามชัดเจน และมีการใช้อย่างไม่แน่นอนในอดีตโดยแพทย์ เช่น การใช้คำนี้มีความหมายเหมือนกับภาวะเลือดมีแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดความสับสนมาก ความคิดเห็นส่วนใหญ่ในปัจจุบันให้คำนี้มีปัญหาและควรหลีกเลี่ยงการใช้[3]

การรักษาภาวะพิษเหตุติดเชื้อมักทำในหน่วยอภิบาล (ICU) โดยการให้สารน้ำเข้าหลอดเลือดดำและยาปฏิชีวนะ หากการให้สารน้ำทดแทนไม่เพียงพอจะรักษาความดันโลหิต อาจพิจารณาให้สารกระตุ้นการหดตัวกล้ามเนื้อหลอดเลือด การใช้เครื่องช่วยหายใจและการล้างไตอาจจำเป็นเพื่อช่วยการทำงานของปอดและไตตามลำดับ อาจพิจารณาใส่หลอดสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (central venous catheter) และหลอดสวนหลอดเลือดแดง (arterial catheter) เพื่อช่วยชี้นำการรักษา ผู้ป่วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการป้องกันภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำส่วนลึก แผลเปื่อยเหตุภาวะเครียด และแผลกดทับ ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับประโยชน์จากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยอินซูลิน (เป้าหมายเพื่อลดภาวะเลือดมีน้ำตาลมากเหตุภาวะเครียด (stress hyperglycemia)) คอร์ติโคสเตอรอยด์ปริมาณต่ำๆ หรือ activated drotrecogin alfa (รีคอมบิแนนท์ โปรตีน ซี) [6]

เนื้อหา

[แก้] นิยามศัพท์

ภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรง (Severe sepsis) เกิดเมื่อภาวะพิษเหตุติดเชื้อทำให้อวัยวะทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตต่ำ หรือเลือดเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ (ซึ่งทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก การสร้างปัสสาวะลดลง หรือระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง) ภาวะพิษเหตุติดเชื้ออาจทำให้เกิดช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (หรือเซ็ปติก ช็อก) กลุ่มอาการการทำหน้าที่ผิดปกติของหลายอวัยวะ และเสียชีวิต การล้มเหลวของอวัยวะเป็นผลจากความดันโลหิตต่ำที่ถูกกระตุ้นโดยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ (ความดันโลหิตต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท หรือลดลงจากฐานเดิมมากกว่า 40 มิลลิเมตรปรอท) และภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated intravascular coagulation) หรือจากสาเหตุอื่นๆ

ภาวะเลือดมีแบคทีเรีย (Bacteremia) หมายถึงภาวะที่มีแบคทีเรียที่มีชีวิตอยู่ในกระแสเลือด ในทำนองเดียวกันภาวะเลือดมีไวรัส (viremia) และภาวะเลือดมีเชื้อรา (fungemia) ก็มีความหมายตามตัวคือภาวะที่มีไวรัสและเชื้อราอยู่ในกระแสเลือดตามลำดับ คำเหล่านี้ไม่ได้อธิบายถึงผลที่ตามมาที่เกิดขึ้นต่อร่างกาย ตัวอย่างเช่นในระหว่างการแปรงฟันอาจชักนำให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระแสเลือดได้[7] ภาวะเลือดมีแบคทีเรียแบบที่ยกตัวอย่างนี้แทบจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในคนปกติ แต่สำหรับในประชากรกลุ่มเสี่ยงภาวะเลือดมีแบคทีเรียที่เกิดจากหัตถการทางทันตกรรมบางอย่างอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลิ้นหัวใจได้ (หรือที่รู้จักกันว่าเยื่อบุหัวใจอักเสบ (endocarditis)) [8] ในทางกลับกันกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกายอาจเกิดได้ในผู้ป่วยโดยไม่มีการติดเชื้อมาก่อน เช่นในผู้ป่วยแผลไหม้ การบาดเจ็บหลายแห่งหรือรุนแรง หรือในภาวะแรกของตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) และปอดอักเสบจากสารเคมี (chemical pneumonitis) [3]

[แก้] อาการและอาการแสดง

นอกเหนือจากอาการที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อแล้ว ลักษณะของภาวะพิษเหตุติดเชื้อคือมีการอักเสบแบบเฉียบพลันขึ้นทั่วร่างกาย และมักมีไข้และปริมาณเม็ดเลือดขาวสูง (เม็ดเลือดขาวมากเกิน; leukocytosis) หรืออาจมีเม็ดเลือดขาวต่ำและอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติก็ได้ แนวคิดของภาวะพิษเหตุติดเชื้อในสมัยใหม่กล่าวว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายเป็นต้นเหตุของอาการส่วนใหญ่ในภาวะนี้ อันเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโลหิตพลศาสตร์และเกิดความเสียหายของอวัยวะ การตอบสนองของร่างกายนี้มีคำเรียกว่ากลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย (systemic inflammatory response syndrome; SIRS) โดยมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลงโลหิตพลศาสตร์และเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเมแทบอลิก อาการทางกายภายนอกที่เกิดจากการตอบสนองนี้ได้แก่อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที) อัตราการหายใจเร็วขึ้น (มากกว่า 20 ครั้งต่อนาที) ปริมาณเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น (มากกว่า 12,000) และอุณหภูมิร่างกายสูงหรือต่ำกว่าปกติ (ต่ำกว่า 36 °C หรือสูงกว่า 38 °C) ภาวะพิษเหตุติดเชื้อแตกต่างจาก SIRS ตรงที่ภาวะพิษเหตุติดเชื้อจะปรากฏเชื้อโรคที่ทราบ ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยที่มีภาวะ SIRS และมีผลเพาะเชื้อจากเลือดเป็นบวกบ่งบอกว่าผู้ป่วยเป็นภาวะพิษเหตุติดเชื้อ แต่หากไม่มีการติดเชื้อที่ทราบ จะยังไม่สรุปได้ว่าอาการข้างต้นเป็นภาวะพิษเหตุติดเชื้อ แต่จะเป็นเพียง SIRS เท่านั้น

การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันทำให้เกิดการกระตุ้นโปรตีนในระยะเฉียบพลัน (acute-phase proteins) อย่างกว้างขวาง อาทิระบบคอมพลิเมนท์ (complement system) และวิถีการแข็งตัวของเลือด (coagulation pathways) ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือดเช่นเดียวกับอวัยวะ นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นระบบประสาทร่วมต่อมไร้ท่อที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในร่างกายซึ่งแม้จำให้การรักษาอย่างทันทีและแข็งขันก็อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการการทำหน้าที่ผิดปกติของหลายอวัยวะ (multiple organ dysfunction syndrome) และเสียชีวิตได้ในที่สุด

[แก้] การวินิจฉัย

จากวิทยาลัยแพทย์โรคปอดแห่งอเมริกา (American College of Chest Physicians) และสมาคมเวชศาสตร์วิกฤตแห่งสหรัฐอเมริกา (Society of Critical Care Medicine) [3] ภาวะพิษเหตุติดเชื้อแบ่งออกเป็นหลายระดับ

[แก้] ภาวะอวัยวะสำคัญล้มเหลว

ตัวอย่างของภาวะอวัยวะสำคัญล้มเหลวได้แก่[9]

นิยามจำเพาะของภาวะอวัยวะสำคัญล้มเหลวที่เกิดจาก SIRS ในเด็ก[10]

  • ระบบหัวใจหลอดเลือดทำงานผิดปกติ (หลังจากให้สารน้ำชนิดคริสตัลลอยด์อย่างน้อย 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม)
    • ความดันโลหิตต่ำ ความดันโลหิตน้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 ในอายุนั้นๆ หรือความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัวน้อยกว่า 2 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานใต้ระดับปกติในอายุนั้นๆ หรือ
    • จำเป็นต้องได้รับสารกระตุ้นการหดตัวกล้ามเนื้อหลอดเลือด (vasopressor) หรือ
    • เข้ากับเกณฑ์สองข้อด้านล่าง
      • ภาวะเลือดเป็นกรดเมตะบอลิก (metabolic acidosis) ที่อธิบายไม่ได้ร่วมกับการขาดเบส (base deficit) > 5 mEq/L
      • ภาวะเลือดเป็นกรดแล็กติก (lactic acidosis) แลกเตทในซีรัมเป็น 2 เท่าของขอบบนของค่าปกติ (2 times the upper limit of normal)
      • ปัสสาวะน้อย (ปริมาณปัสสาวะออกน้อยกว่า 0.5 ml/kg/hr)
      • การเติมเต็มเลือดกลับเข้าเส้นเลือดฝอย (capillary refill) นาน มากกว่า 5 วินาที
      • ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิแกนและอุณหภูมิรอบนอกต่างกันมากกว่า 3°C
  • ระบบหายใจทำงานผิดปกติ (โดยไม่มีโรคหัวใจชนิดมีภาวะเขียว (cyanotic heart disease)) หรือโรคปอดเรื้อรังที่ทราบสาเหตุ
    • อัตราส่วนของความดันย่อยของออกซิเจนในหลอดเลือดแดงต่อสัดส่วนออกซิเจนในแก๊สที่หายใจเข้า (PaO2/FiO2) < 300 (นิยามของการบาดเจ็บของปอดเฉียบพลัน (acute lung injury)) หรือ
    • ความดันย่อยของคาร์บอนไดออกไซด์ในหลอดเลือดแดง (PaCO2) > 65 ทอรร์ (20 มิลลิเมตรปรอท) เกิน PaCO2 ฐานเดิม (หลักฐานบ่งถึงการหายใจล้มเหลวชนิดคาร์บอนไดออกไซด์เกิน) หรือ
    • ต้องการออกซิเจนเพิ่มมากกว่า FiO2 0.5 เพื่อรักษาให้ความอิ่มตัวออกซิเจน (oxygen saturation) ≥ 92%
  • ระบบประสาททำงานผิดปกติ
  • ระบบโลหิตวิทยาทำงานผิดปกติ
  • ไตทำงานผิดปกติ
    • ครีเอตินินในซีรัม (serum creatinine) ≥ 2 เท่าของขอบบนของค่าปกติในอายุนั้น หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากฐานครีเอตินินเดิมในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
  • ตับทำงานผิดปกติ (ใช้เฉพาะในทารกอายุมากกว่า 1 เดือน)

นิยามดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ จากการขยายความรายชื่ออาการและอาการแสดงของภาวะพิษเหตุติดเชื้อใหม่เพื่อสะท้อนจากประสบการณ์ทางคลินิกข้างเตียงผู้ป่วย[11]

[แก้] ภาวะพิษเหตุติดเชื้อในทารกแรกเกิด

ในการใช้ทางคลินิกทั่วไป ภาวะพิษเหตุติดเชื้อหมายถึงการมีการติดเชื้อแบคทีเรียร้ายแรง (serious bacterial infection; SBI) (เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวม กรวยไตอักเสบ หรือกระเพาะอาหารกับลำไส้เล็กอักเสบ) ในภาวะไข้ เกณฑ์การวินิจฉัยที่ใช้การเปลี่ยนแปลงของโลหิตพลศาสตร์หรือการหายใจล้มเหลวนั้นอาจไม่มีประโยชน์ทางคลินิกเพราะอาการเหล่านี้มักไม่ปรากฏในทารกแรกเกิดจนกระทั่งทารกใกล้เสียชีวิตหรือไม่สามารถป้องกันได้แล้ว

[แก้] การรักษา

[แก้] ผู้ใหญ่และเด็ก

การรักษาภาวะพิษเหตุติดเชื้ออยู่ที่การใช้ยาปฏิชีวนะ การระบายของเหลวติดเชื้อออก การให้สารน้ำทดแทน และรักษาภาวะอวัยวะทำงานผิดปกติให้เหมาะสม ซึ่งอาจรวมถึงการแยกสารผ่านเยื่อหรือการล้างไต (hemodialysis) กรณีผู้ป่วยไตวาย การใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีปอดทำงานผิดปกติ การให้ผลิตภัณฑ์จากเลือด และยากับสารน้ำกรณีระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติ การรักษาภาวะโภชนาการให้เพียงพอเป็นสิ่งจำเป็นหากป่วยเป็นเวลานาน ซึ่งควรเลือกให้อาหารเข้าทางเดินอาหาร (enteral feeding) แต่หากจำเป็นก็ให้การให้อาหารทางหลอดเลือดดำ (parenteral nutrition)

ปัญหาในการรักษาผู้ป่วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อให้เพียงพอ คือ การให้การรักษาที่ช้าเกินไปหลังจากวินิจฉัยภาวะนี้ได้ การศึกษาหลายแห่งแสดงว่าการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่ล่าช้าไปทุกชั่วโมงเพิ่มอัตราเสียชีวิตร้อยละ 7 จึงมีการก่อตั้งความร่วมมือนานาชาติชื่อว่า "Surviving Sepsis Campaign" เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะพิษเหตุติดเชื้อและเพื่อเพิ่มผลการรักษาผู้ป่วยภาวะนี้ กลุ่มความร่วมมือนี้ได้ตีพิมพ์การทบทวนงานวิจัยอิงหลักฐานของแนวทางการจัดการภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรง[6] โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตีพิมพ์คู่มือที่สมบูรณ์ในไม่กี่ปีข้างหน้า

Early Goal Directed Therapy (EGDT) เป็นแนวทางการปฏิบัติอย่างเป็นระบบเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืน ที่ได้รับการยืนยันแล้วในการรักษาภาวะพิษเหตุติดเชื้อที่รุนแรงและช็อกเหตุพิษติดเชื้อ พัฒนาโดยนายแพทย์ E. Rivers จากโรงพยาบาลเฮนรี ฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแนวทางนี้ต้องเริ่มตั้งแต่ในหน่วยฉุกเฉิน ทฤษฎีกล่าวว่าควรใช้วิธีการจัดการอย่างเป็นลำดับขั้นโดยให้มีการขนส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่ออย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยไปถึงเป้าหมายทางสรีรวิทยาคือปรับ preload afterload และการบีบตัวของหัวใจเหมาะสม[12] จากการทบทวนวรรณกรรมระบบเชิงปริมาณ (meta-analysis) เร็วๆ นี้แสดงว่า EGDT มีผลลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ[13] ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ยังคงมีข้อโต้แย้งต่อแนวทางดังกล่าวบ้าง และกำลังมีการทดลองอีกหลายแห่งเพื่อพยายามแก้ปัญหาดังกล่าว[14]

ในการทำ EGDT มีการให้สารน้ำจนกระทั่งความดันหลอดเลือดดำส่วนกลาง (central venous pressure; CVP) ที่วัดด้วยหลอดสวนหลอดเลือดดำส่วนกลาง (central venous catheter) อยู่ที่ 8-12 เซนติเมตรน้ำ (หรือ 10-15 เซนติเมตรน้ำในผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ) ซึ่งต้องมีการให้สารละลายคริสตัลลอยด์ความดันออสโมซิสเสมอเลือด (isotonic crystalloid solution) จำนวนหลายลิตรอย่างรวดเร็วเพื่อให้ถึงเป้าหมาย หากความดันหลอดเลือดดำเฉลี่ย (mean arterial pressure) น้อยกว่า 65 มิลลิเมตรปรอทหรือมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอทอาจต้องให้สารกระตุ้นการหดตัวกล้ามเนื้อหลอดเลือด (vasopressors) หรือยาขยายหลอดเลือด (vasodilators) เพื่อให้ได้เป้าหมาย เมื่อเป้าหมายดังกล่าวนี้ลุล่วงแล้ว ให้พิจารณาความอิ่มตัวของออกซิเจนในหลอดเลือดดำผสม (mixed venous oxygen saturation; SvO2) ซึ่งเป็นความอิ่มตัวของเลือดดำที่กลับเข้าสู่หัวใจที่วัดได้ในหลอดเลือดดำเวนา คาวา (vena cava) หาก SvO2 น้อยกว่า 70% ให้ให้เลือดจนกระทั่งฮีโมโกลบินถึง 10 g/dl แล้วให้ยากระตุ้นการบีบตัวของหัวใจ (inotropes) เพิ่มจน SvO2 เหมาะสม การใส่ท่อช่วยหายใจอาจพิจารณาทำเพื่อลดความต้องการออกซิเจนถ้า SvO2 ยังต่ำอยู่แม้ว่าโลหิตพลศาสตร์เหมาะสมแล้ว ต้องเฝ้าระวังปริมาณปัสสาวะโดยให้มีอย่างน้อย 0.5 ml/kg/h ซึ่งจากงานวิจัยต้นฉบับพบว่าอัตราเสียชีวิตลดลงจาก 46.5% ในกลุ่มควบคุมเป็น 30.5% ในกลุ่มทดลอง[12] แนวทางปฏิบัติของ Surviving Sepsis Campaign ได้แนะนำ EGDT เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อฟื้นคืนแรกสุด โดยให้คุณภาพของหลักฐานที่ B (การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมครั้งเดียว) [6]

การรักษาส่วนใหญ่ที่มุ่งไปยังกระบวนการอักเสบไม่ช่วยในผลของการรักษา แต่ drotrecogin alfa (activated protein C ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการแข็งตัวของเลือด) ให้ผลลดอัตราการเสียชีวิตจากร้อยละ 31 เป็นประมาณร้อยละ 25 ในผู้ป่วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยที่ถูกพิจารณาให้ได้รับ drotrecogin alfa นั้นจะต้องมีภาวะพิษเหตุติดเชื้อรุนแรง หรือช็อกเหตุพิษติดเชื้อที่ได้คะแนน APACHE II ไม่น้อยกว่า 25 และมีอัตราเสี่ยงต่ำต่อการตกเลือด[15]

ในระยะวิกฤต อาจเกิดภาวะต่อมหมวกไตส่วนนอกทำงานไม่เพียงพอ (adrenal insufficiency) และเนื้อเยื่อไม่ตอบสนองต่อคอร์ติโคสเตอรอยด์ ซึ่งภาวะนี้มีชื่อเรียกว่า critical illness–related corticosteroid insufficiency[16] การรักษาด้วยคอร์ติโคสเตอรอยด์อาจได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (septic shock) และกลุ่มอาการหายใจลำบากในผู้ใหญ่ (acute respiratory distress syndrome; ARDS) ร้ายแรงในระยะแรก ในขณะที่การรักษาด้วยคอร์ติโคสเตอรอยด์ในผู้ป่วยที่มีตับอ่อนอักเสบ (pancreatitis) หรือปอดบวมรุนแรงนั้นยังไม่ให้ผลชัดเจน[16] คำแนะนำเหล่านี้มีที่มาจากการศึกษาซึ่งแสดงประโยชน์จากการให้ไฮโดรคอร์ติโซน (hydrocortisone) ขนาดน้อยเพื่อรักษาผู้ป่วยช็อกเหตุพิษติดเชื้อ และเมทิลเพรดนิโซโลน (methylprednisolone) ในผู้ป่วย ARDS[17][18][19][20][21][22] อย่างไรก็ตามวิธีการระบุว่าผู้ป่วยมีภาวะคอร์ติโคสเตอรอยด์ทำงานไม่เพียงพอยังคงเป็นปัญหา ภาวะนี้ควรสงสัยในผู้ป่วยที่ไม่ค่อยตอบสนองต่อการช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นคืนด้วยสารน้ำและสารกระตุ้นการหดตัวกล้ามเนื้อหลอดเลือด (vasopressors) การทดสอบโดยกระตุ้นด้วย ACTH (ACTH stimulation testing หรือ Cort-stim test) นั้นไม่แนะนำให้ทำเพื่อยืนยันการวินิจฉัย[16] การให้ยากลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) ควรจะค่อยๆ ปรับลดระดับลงและห้ามหยุดยาทันที

ในบางกรณี ภาวะพิษเหตุติดเชื้ออาจทำให้เลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เพียงพอจนเกิดการตายเฉพาะส่วน (necrosis) หากเกิดกับแขนหรือขาอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะออก (amputation)

[แก้] ทารกแรกเกิด

การวินิจฉัยภาวะพิษเหตุติดเชื้อในทารกแรกเกิดทางคลินิกนั้นยาก ซึ่งอาจไม่แสดงอาการจนกระทั่งโลหิตพลศาสตร์และการหายใจล้มเหลวจนแก้ไขไม่ได้ ดังนั้นแม้ว่าจะยังไม่สงสัยภาวะพิษเหตุติดเชื้อแต่ก็มักรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปก่อนจนกว่าผลเพาะเชื้อจะยืนยันออกมาว่าไม่พบเชื้อ

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน ปรับปรุงเมื่อ 6 ส.ค. 2544
  2. ^ Levy MM, Fink MP, Marshall JC, et al. (April 2003). "2001 SCCM/ESICM/ACCP/ATS/SIS International Sepsis Definitions Conference". Crit. Care Med. 31 (4): 1250–6. doi:10.1097/01.CCM.0000050454.01978.3B. PMID 12682500 
  3. ^ 3.0 3.1 3.2 3.3 Bone RC, Balk RA, Cerra FB, et al. (Jun 1992). "Definitions for sepsis and organ failure and guidelines for the use of innovative therapies in sepsis. The ACCP/SCCM Consensus Conference Committee. American College of Chest Physicians/Society of Critical Care Medicine". Chest 101 (6): 1644–55. doi:10.1378/chest.101.6.1644. PMID 1303622 
  4. ^ บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย (อังกฤษ-ไทย) ฉบับปี 2009. สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2552.
  5. ^ septicemia จากเว็บไซต์ eMedicine Dictionary
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 Dellinger RP, Levy MM, Carlet JM, et al., for the International Surviving Sepsis Campaign Guidelines Committee. (2008). "Surviving Sepsis Campaign: International Guidelines for Management of Severe Sepsis and Septic Shock: 2008" (Subscription required). Crit Care Med 36 (1): 296–327. doi:10.1097/01.CCM.0000298158.12101.41. PMID 18158437 
  7. ^ Lockhart PB, Brennan MT, Sasser HC, Fox PC, Paster BJ, Bahrani-Mougeot FK (Jun 2008). "Bacteremia associated with toothbrushing and dental extraction". Circulation 117 (24): 3118–25. doi:10.1161/CIRCULATIONAHA.107.758524. PMID 18541739 
  8. ^ Wilson W, Taubert KA, Gewitz M, et al. (Oct 2007). "Prevention of infective endocarditis: guidelines from the American Heart Association: a guideline from the American Heart Association Rheumatic Fever, Endocarditis, and Kawasaki Disease Committee, Council on Cardiovascular Disease in the Young, and the Council on Clinical Cardiology, Council on Cardiovascular Surgery and Anesthesia, and the Quality of Care and Outcomes Research Interdisciplinary Working Group". Circulation 116 (15): 1736–54. doi:10.1161/CIRCULATIONAHA.106.183095. PMID 17446442 
  9. ^ Abraham E, Singer M (2007). "Mechanisms of sepsis-induced organ dysfunction" (Subscription required). Crit. Care Med. 35 (10): 2408–16. doi:10.1097/01.CCM.0000282072.56245.91. PMID 17948334 
  10. ^ Goldstein B, Giroir B, Randolph A (2005). "International pediatric sepsis consensus conference: definitions for sepsis and organ dysfunction in pediatrics". Pediatr Crit Care Med 6 (1): 2–8. doi:10.1097/01.PCC.0000149131.72248.E6. PMID 15636651 
  11. ^ Levy MM, Fink MP, Marshall JC, Abraham E, Angus D, Cook D, Cohen J, Opal SM, Vincent JL, Ramsay G (Apr 2003). "2001 SCCM/ESICM/ACCP/ATS/SIS International Sepsis Definitions Conference". Crit Care Med 31 (4): 1250–1256. doi:10.1097/01.CCM.0000050454.01978.3B 
  12. ^ 12.0 12.1 Rivers E, Nguyen B, Havstad S, et al. (2001). "Early goal-directed therapy in the treatment of severe sepsis and septic shock". N. Engl. J. Med. 345 (19): 1368–77. doi:10.1056/NEJMoa010307. PMID 11794169 
  13. ^ Jones AE, Brown MD, Trzeciak S, et al. (October 2008). "The effect of a quantitative resuscitation strategy on mortality in patients with sepsis: a meta-analysis". Critical care medicine 36 (10): 2734–9. doi:10.1097/CCM.0b013e318186f839. PMID 18766093 
  14. ^ McKenna M (December 2008). "Controversy swirls around early goal-directed therapy in sepsis: pioneer defends ground- breaking approach to deadly disease". Ann Emerg Med 52 (6): 651–4. doi:10.1016/j.annemergmed.2008.10.013. PMID 19048659 
  15. ^ Bernard GR, Vincent JL, Laterre PF, LaRosa SP, Dhainaut JF, Lopez-Rodriguez A, Steingrub JS, Garber GE, Helterbrand JD, Ely EW, Fisher CJ Jr (2001-03-08). "Recombinant human protein C Worldwide Evaluation in Severe Sepsis (PROWESS) study group. Efficacy and safety of recombinant human activated protein C for severe sepsis". N Engl J Med 344 (10): 699–709. doi:10.1056/NEJM200103083441001. PMID 11236773 
  16. ^ 16.0 16.1 16.2 Marik PE, Pastores SM, Annane D, et al. (Jun 2008). "Recommendations for the diagnosis and management of corticosteroid insufficiency in critically ill adult patients: consensus statements from an international task force by the American College of Critical Care Medicine". Crit. Care Med. 36 (6): 1937–49. doi:10.1097/CCM.0b013e31817603ba. PMID 18496365 
  17. ^ Annane D, Sebille V, Charpentier C, Bollaert PE, Francois B, Korach JM, Capellier G, Cohen Y, Azoulay E, Troche G, Chaumet-Riffaut P, Bellissant E (2002-08-21). "Effect of treatment with low doses of hydrocortisone and fludrocortisone on mortality in patients with septic shock". JAMA 288 (7): 862–71. doi:10.1001/jama.288.7.862. PMID 12186604 
  18. ^ Meduri GU, Headley AS, Golden E, et al. (Jul 1998). "Effect of prolonged methylprednisolone therapy in unresolving acute respiratory distress syndrome: a randomized controlled trial". JAMA 280 (2): 159–65. doi:10.1001/jama.280.2.159. PMID 9669790 
  19. ^ Meduri GU, Golden E, Freire AX, et al. (Apr 2007). "Methylprednisolone infusion in early severe ARDS: results of a randomized controlled trial". Chest 131 (4): 954–63. doi:10.1378/chest.06-2100. PMID 17426195 
  20. ^ Sprung CL, Annane D, Keh D, et al. (Jan 2008). "Hydrocortisone therapy for patients with septic shock". N. Engl. J. Med. 358 (2): 111–24. doi:10.1056/NEJMoa071366. PMID 18184957 
  21. ^ Steinberg KP, Hudson LD, Goodman RB, et al. (Apr 2006). "Efficacy and safety of corticosteroids for persistent acute respiratory distress syndrome". N. Engl. J. Med. 354 (16): 1671–84. doi:10.1056/NEJMoa051693. PMID 16625008 
  22. ^ Annane D, Sébille V, Bellissant E (Jan 2006). "Effect of low doses of corticosteroids in septic shock patients with or without early acute respiratory distress syndrome". Crit. Care Med. 34 (1): 22–30. doi:10.1097/01.CCM.0000194723.78632.62. PMID 16374152 

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น