มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
“ นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา
ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา ”
ดูบทความหลักที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏ

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (อังกฤษ: ChiangMai Rajabhat University) เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2467 ในนาม "โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ" มีบทบาทและความรับผิดชอบในฐานะสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาวิชาการในสาขาวิชาต่างๆ ตามความต้องการของท้องถิ่น และผลิตครูบุคลากรทางการศึกษา ทำการวิจัยส่งเสริมวิทยฐานะของครู อาจารย์ และบุคลากรประจำการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และให้บริการทางวิชาการแก่สังคม

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ลงพระปรมาภิไธยใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547[1] อันมีผลให้สถาบันราชภัฏ 41 แห่งทั่วประเทศ เปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่ชาวราชภัฏทุกคน

ในปี พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จะมีอายุครบรอบ 85 ปี

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้พัฒนามาจากโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ ซึ่งสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2467 โดยได้มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนสถาบันมาโดยลำดับ เป็นระยะเวลากว่า 80 ปี มาแล้ว ดังรายละเอียดประวัติความเป็นมาที่พอจะรวบรวมได้ ดังนี้

[แก้] โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อปี พ.ศ.2466 มหาเสวกโท พระยาสุรบดินทร์สุรินทรภาไชย (อุปราช) อำมาตย์เอกพระยาพายัพพิริยะกิจ (สุมหเทศาภิบาล) และอำมาตย์ตรีหลวงวิสณห์ดรุณการ (ศึกษาธิการ มณฑลพายัพ) ได้ร่วมกันเพื่อเตรียมการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพขึ้น ตามแนวคิดหลักของกระทรวงธรรมการในขณะนั้น จึงได้ซื้อที่ดินด้วยเงินรายได้ของโรงเรียนรัฐบาลประจำมณฑลพายัพ ที่บ้านเวียงบัว ตำบลช้างเผือก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ พร้อมด้วยเรือนไม้ 1 หลัง เป็นเงิน 318.75 บาท เพื่อเตรียมจัดตั้งโรงเรียน และต่อมาในปี พ.ศ.2467 นายร้อยเอกเจ้าราชภาติกวงษ์ เสนาวังจังหวัดเชียงใหม่ (ยศขณะนั้น : ต่อมาได้เลื่อนเป็นนายพันตรีเจ้าราชภาติกวงษ์ นามเดิมคือ คำตัน ณ เชียงใหม่) ได้ยกที่ดินด้านเหนือของบริเวณที่ซื้อไว้เดิมพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ (แต่ตามใบบอกของมณฑลพายัพว่ามี 5 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา) ให้แก่มณฑลพายัพ เพื่อรวมเป็นพื้นที่จัดตั้งโรงเรียน เมื่อได้สถานที่พอที่จะดำเนินการได้ หลวงวิสณห์ดรุณการ ก็ดำริที่จะให้นายบุญนาค ฉิมพะลีย์ ป.ก. ครูใหญ่โรงเรียนฮั่วเอง (ร.ร.ราษฏร์) มาเป็นครูใหญ่ ได้เรียนเสนอไปถึงปลัดกรมบัญชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (ตามหนังสือลงวันที่ 5 กรกฏาคม 2466) แต่ทางกระทรวงได้มีคำสั่งมาว่าเห็นควรถอนเอา นายชื่น สิโรรส ผู้สอบไล่ได้ ป.ป.ก. เมื่อ พ.ศ.2463 ที่เป็นศึกษาธิการอำเภอแม่ริมอยู่ในขณะนั้นมาเป็นครูใหญ่ และมณฑลได้จัดหา นายอุ่นเรือน ฟองศรี ป.ป.ก. และนายสิงห์คำ สุวรรณโสภณ ป.ก. มาเป็นครูน้อย แต่จาก ปากคำของนายชื่น สิโรรส ได้กล่าวว่า มีนายสนิท ศิริเผ่า ซึ่งเรียน ป.ป.ก. มาด้วยกันอีกคนหนึ่ง

หลังจากเตรียมสถานที่ตั้งและเตรียมครูไว้เรียบร้อยแล้ว อำมาตย์เอกพระยาพายัพพิริยะกิจ ได้มีหนังสือถึงจางวางเอกเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2467 ความว่า ได้จัดเตรียมที่ดินกำหนดวันเปิดรับนักเรียนและวันเปิดทำการสอนไว้เรียบร้อยแล้ว ขอให้กระทรวงส่งอำมาตย์เอกพระยาเทพศาสตร์สถิตย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรม ไปตรวจดูสถานที่และวางระเบียบการของโรงเรียนต่อไป แต่พระยาเทพศาสตร์สถิตย์ติด ราชการต้องไปภาคใต้และทางกระทรวงก็เห็นว่ายังไม่เร่งร้อนนัก ขอให้ครูที่เตรียมไว้นั้นจัดเทียบหลักสูตรและดำเนินการตามอย่างที่โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมนครปฐมดำเนินการไปพลางก่อน ดังนั้นในตอนแรกโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ ซึ่งมี นายชื่น สิโรรส เป็นครูใหญ่ จึงได้ลงมือปลูกสร้างอาคารหนึ่งหลัง เพื่อเป็นทั้งห้องเรียนและหอนอน ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ไผ่ชั่วคราว พร้อมทั้งโรงอาหาร เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2467 ด้วยเงินทุนที่ยืมมาจากเงินรายได้ของโรงเรียนรัฐบาลประจำมณฑลพายัพ (ปัจจุบันคือโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยและโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ) เพียง 60 บาท การปลูกสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2467 แต่ก็ได้เปิดรับนักเรียนเข้าอยู่ประจำตามกำหนด คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2467 จากปากคำของนายชื่น สิโรรส กล่าวว่าได้แรงงานจากนักเรียนและครูช่วยกันจึงได้เสร็จ และได้เริ่มทำการสอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2467 นักเรียนรุ่นแรกตามหลักฐานแล้วมีอยู่ 28 คน คัดเลือกมาเรียนจาก จังหวัดเชียงราย 6 คน จังหวัดลำพูน 5 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 คนและจังหวัดเชียงใหม่ 16 คน การคัดเลือกนักเรียนได้ยึดตามระเบียบการของโรงเรียนกสิกรรมส่วนกลาง เมื่อนักเรียนได้เรียนจบหลักสูตรและสอบไล่ได้แล้วนั้น ทางมณฑลจะดำเนินการ ดังนี้ "...จะตั้งเงินเดือนในฝ่ายเงินศึกษาพลีให้ขั้นต้นเดือนละ 25 บาท ในเมื่อทำการสอน โรงเรียนประชาบาลที่นายอำเภอตั้ง แต่ถ้าสอบตกสมัครออกทำการสอนเงินเดือนจะพิจารณาให้ตามสมควรแก่วุฒิและความสามารถ หรือจะไม่ทำการสอนจะไปทำกินของตนเองก็ได้ ผู้ใดเรียนก็ได้ จะคัดเลือกส่งไปเรียนที่จังหวัดนครปฐมต่อไปอีก ในเมื่อตนสมัครนักเรียนอยู่ในท้องที่จังหวัดใดต้องออกไปทำการสอนในจังหวัดนั้น จะเป็นตำบลใดก็ได้นอกจากตำบลที่ตนอยู่ใกล้ชิดกับจังหวัดอื่นในมณฑลเดียวกันจะไปสอนในตำบลของจังหวัดนั้นก็ได้แต่ที่สะดวก ซึ่งเป็นความมุ่งหมายทางราชการนั้น นักเรียนตำบลใดก็กลับไปสอนตำบลนั้น เมื่อเป็นครูแล้วสัก 3-5 ปี มีความสันทัดในการทำงานด้านการเพาะปลูกมากขึ้น มีอายุมากขึ้น มีทุนรอนพอจะตั้งตัวได้ หากจะขอลาออกจากครูไปเป็นชาวนาชาวสวน ก็จะได้เป็นตัวอย่างแก่ชาวนาชาวสวนไทยทั่วไป"

โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑลพายัพ ได้เริ่มมีหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนตามแนวของโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมอย่างแท้จริงในปี พ.ศ.2468 โดยได้เปิดสอนตามหลักสูตรครูมูลกสิกรรมขึ้น ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2468 ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีก 3 แปลงเป็นที่สวนเก่าติดกับเนื้อที่ของโรงเรียนทางด้านตะวันออก มีเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ และเป็นที่นาอีกประมาณ 5 ไร่ ราคารวมทั้งค่าธรรมเนียมการซื้อขายเป็นเงิน 370.24 บาท แต่ยังไม่มีตัวอาคารเรียนที่เป็นเรือนถาวรเกิดขึ้น จำนวนนักเรียนลดลงเหลือเพียง 22 คน เท่านั้น การศึกษายังคงเน้นหนักให้ผู้เรียนปฏิบัติงานกสิกรรมอย่างจริงจังเรื่อยมา ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นประจำ

[แก้] โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร มณฑลพายัพ

เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในขณะนั้น ในปี พ.ศ.2470 มณฑลพายัพจึงได้รวมเอาการฝึกหัดครูสามัญชั้นต่ำ ประจำมณฑลแผนกชาย ซึ่งอยู่ที่โรงเรียนประจำมณฑล (ปัจจุบัน คือ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) มาไว้ที่โรงเรียนฝึกครูกสิกรรมประจำมณฑล ที่ตำบลช้างเผือกแห่งนี้ ทางราชการก็ได้แต่งตั้งให้ หลวงพิพัฒน์คุรุกิจ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ และเปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ" แต่นักเรียนทั้งหมดก็ยังเป็นชาย และสอนเน้นหนักด้านการเกษตรเหมือนเดิม จึงทำให้คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า "โรงเรียนกสิกรรมช้างเผือก" กิจกรรมของโรงเรียนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เข้าใจได้ชัดเจนว่ายังจัดการเรียนการสอนเน้นด้านกสิกรรมอยู่ก็คือ การจัดงานประจำปีของโรงเรียนที่ทำให้เข้าใจว่าเป็นที่มาของการจัดงานฤดูหนาวประจำปีของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน ดังปรากฎในหลักฐานแจ้งความออกร้าน "งานสวน"

หลวงพิพัฒน์คุรุกิจ ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรมณฑลพายัพ อยู่จนถึง พ.ศ.2480 จึงได้เกษียณอายุราชการ สภาพการจัดการเรียนการสอนสมัยนั้นยังคงเป็นการผลิตครู ทั้งสายครูสามัญและสายครูกสิกรรมควบคู่กันไป อาคารเรียน บ้านพักครูสำเร็จขึ้นด้วยฝีมือของนักเรียนและครูช่วยกันปลูกสร้างโรงเรียนเองก็ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปทั้งมณฑลพายัพและทั่วภาคเหนือ มีนักเรียนจากจังหวัดต่าง ๆ เช่น ลำพูน ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่เข้าศึกษาเป็นจำนวนมาก ทางราชการก็เริ่มเห็นความสำคัญของการฝึกหัดครูมากขึ้น โดยได้สร้างอาคารเรียนขึ้นเป็นเรือนถาวรหลังหนึ่ง ตามบันทึกในจดหมายเหตุรายวันของโรงเรียน ซึ่งขุนอภิรักษ์จรรยา ศึกษาธิการจังหวัดในขณะนั้นบันทึกไว้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2480 ว่า "ได้มาดูสถานที่ เห็นว่าที่ทำงานครูใหญ่ ห้องเรียน ปลูกกำมะลอมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว จะได้พยายามปลูกสร้างหอนอนขึ้นสักหลังหนึ่ง โดยใช้ชั้นล่างเป็นห้องเรียน เพื่อให้สมแก่ฐานะของโรงเรียน จะได้นำหารือท่านข้าหลวงประจำจังหวัดต่อไป" แต่การปลูกสร้างยังไม่ทันได้เริ่มในสมัยของหลวงพิพัฒน์คุรุกิจ เมื่อนายสนิท ศิริเผ่า ซึ่งได้ย้ายไปช่วยก่อตั้งโรงเรียนกสิกรรมที่อำเภอสันทรายเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.2477 ได้ย้ายกลับมาเป็นครูใหญ่สืบต่อเมื่อ พ.ศ.2480 จึงได้เริ่มปลูกสร้างเป็นเรือนไม้สองชั้นฐานคอนกรีต หันหน้าไปทางทิศตะวันตก (ซึ่งยังใช้อยู่จนถึง พ.ศ.2513 จึงได้รื้อและได้สร้างอาคาร 1 ขึ้นในสถานที่เดิม)

[แก้] โรงเรียนฝึกหัดครูมูล จังหวัดเชียงใหม่

ในสมัยครูใหญ่ทวี โปราณานนท์ ปีการศึกษา 2490 ได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเสียใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับงานผลิตครูที่ดำเนินการอยู่ โดยเรียกว่า "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" และเริ่มใช้สีดำและเหลืองเป็นสีประจำโรงเรียนใช้สัญลักษณ์ "พระพิฆเนศวร์เทพเจ้าแห่งปัญญา" และได้หล่อรูปพระพิฆเนศวร์นั่งบนแท่นไว้เป็นเครื่องสักการะแก่ครูและนักเรียนของโรงเรียน ใช้คติพจน์ประจำโรงเรียนว่า "นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา" ซึ่งแปลว่า "ไม่มีแสงสว่างใดเสมอด้วยปัญญา" เป็นคติพจน์ประจำโรงเรียน

โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ เป็นที่นิยมแก่ชาวภาคเหนืออย่างยิ่ง โดยได้ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งตามสถิติในปี พ.ศ.2493 อันเป็นปีที่นายทวี โปราณานนท์ ได้ขอย้ายไปโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั้น มีนักเรียนประจำชายถึง 147 คน กล่าวกันว่ามีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์เลยทีเดียว และในปีเดียวกันนี้เองทางราชการก็ได้แต่งตั้งให้ นายประยุทธ สวัสดิสิงห์ เป็นครูใหญ่ของโรงเรียนสืบต่อมา ในระหว่างนี้ได้มีการปรับปรุงด้านอาคารสถานที่อย่างใหญ่หลวง โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ได้มีหอนอนชายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลังขึ้นมาเคียงคู่กับหอนอนหลังเดิมในลักษณะเดียวกันในปี 2495 เรียกกันต่อมาว่า "หอ 95" ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วอยู่บริเวณอาคาร 15 ชั้น ได้ปลูกสร้างโรงอาหารที่ทันสมัย แทนโรงอาหารโรงครัวเก่าที่ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงตองตึง (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของโรงอาหาร) มีบ้านพักครูที่เป็นเรือนไม้เกิดขึ้นอีก 3 หลัง ได้สร้างรั้วไม้ถาวรฐานคอนกรีตด้านหน้าโรงเรียนแทนรั้วลวดหนาม (ปัจจุบันรื้อและสร้างรั้วใหม่ตาม โครงการขยายถนนโชตนาของทางจังหวัด) มีห้องส้วมห้องน้ำที่สะอาดสะอ้านและเพียงพอกับจำนวนนักเรียน และสร้างโรงฝึกงานด้านหัตถกรรมด้วย ในปีการศึกษา 2496 นายประยุทธ สวัสดิสิงห์ ครูใหญ่ ได้ย้ายไปรับราชการประจำกรมการฝึกหัดครู เพื่อไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางราชการได้สั่งให้ นายพิษณุ ชัชวาลย์ปรีชา มาเป็นครูใหญ่สืบแทน ในปีการศึกษานี้ โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ได้เริ่มจัดสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) เป็นรุ่นแรก มีนักเรียนจากส่วนกลางคัดเลือกมาเรียน 36 คน ทั้งนี้ตามความต้องการของกรมประชาศึกษา (ปัจจุบัน คือ กรมสามัญศึกษา) และยังมีนักเรียนในท้องถิ่นภาคเหนือมาเรียนอีกจำนวนหนึ่ง มีครูอยู่ถึง 6 คน นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งนับแต่ได้สถาปนาโรงเรียนนี้เป็นต้นมา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ได้เริ่มใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เป็นปีแรก และได้ใช้หลักสูตรนี้มาจนถึง พ.ศ.2521 จึงได้งดสอนไป ในปีการศึกษา 2499 ได้รวมแผนกฝึกหัดครูสตรีของโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดเชียงใหม่ (โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ) และรวมแผนกฝึกหัดครูการเรือนของโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์ มาจัดเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูแบบสหศึกษา แต่ยังเรียก "โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่" เหมือนเดิม

[แก้] วิทยาลัยครูเชียงใหม่

ในปีการศึกษา 2502 นายพิษณุ ชัชวาลย์ปรีชา ครูใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูเชียงใหม่ได้ย้ายไปรับราชการที่กรุงเทพฯ และนายศิริ ศุขกิจ ได้ย้ายมาเป็นหัวหน้าสถานศึกษาแห่งนี้แทน และเรียกตำแหน่งนี้ใหม่ว่า "อาจารย์ใหญ่" ทั้งนี้เพราะได้เตรียมการยกฐานะของโรงเรียนให้เปิดถึงขั้นประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) ซึ่งเทียบเท่ากับประโยคครูมัธยมเดิมและอนุปริญญา และเรียกชื่อสถานศึกษาใหม่ว่า "วิทยาลัยครูเชียงใหม่" ในปีการศึกษา 2503 และในปีการศึกษา 2503 นี้ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้เริ่มงานตามโครงการฝึกหัดครูชนบท โดยได้ส่งนักศึกษาในระดับ ป.กศ. ออกฝึกสอนในโรงเรียนประถมศึกษา 5 โรงเรียน ในท้องที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการนี้ได้รับความชื่นชมจากชาวจังหวัดเชียงใหม่อย่างยิ่ง ชาวบ้านหวังอยู่เสมอว่าวิทยาลัยครูจะส่งนักศึกษาไปฝึกสอนในโรงเรียนในท้องถิ่นของตนบ้าง

ทางด้านผู้บริหารในช่วงนี้ นางบุญฉวี พรหโมปกรณ์กิจ ได้ย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ปีหนึ่ง (พ.ศ.2506- 2507) จากนั้น นายศิริ ศุขกิจ ก็ย้ายกลับมาเป็นอาจารย์ใหญ่อีกหนึ่งปี (พ.ศ.2507-2508 ) ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ระหว่างที่รออาจารย์ใหญ่คนใหม่ ทางราชการได้มอบหมายให้ นางประชุมพร อมาตยกุล เป็นผู้รักษาราชการแทนอาจารย์ใหญ่ และในช่วงปีการศึกษา 2508 นี้ ทางราชการได้ยกระดับผู้บริหารขึ้นถึงชั้นพิเศษ และเรียกตำแหน่งผู้บริหารว่า "ผู้อำนวยการ" ผู้อำนวยการท่านแรกของวิทยาลัยครูเชียงใหม่ คือ นายประสิทธิ์ สุนทโรทก ซึ่งเข้ามารับตำแหน่ง ตั้งแต่ พ.ศ.2509 การผลิตครูตามหลักสูตรประกาศนียบัตรประโยคครูประถม (ป.ป.) ซึ่งเดิมรับจากนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 (ม.6) มาเรียนต่ออีก 3 ปี และได้ยุติการผลิตหลักสูตรนี้ไปพักหนึ่งนั้น เมื่อได้รับนโยบายการเร่งรัดผลิตครู วิทยาลัยครูหลายแห่งก็เริ่มนำหลักสูตรนี้มาผลิตอีกครั้งหนึ่ง วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้รับนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 5 (ม.ศ.5) มาเข้าเรียนหลักสูตรนี้ โดยปรับเนื้อหาและระยะเวลาการอบรมให้เหลือเพียง 1 ปีการศึกษา โดยเริ่มในปีการศึกษา 2511 แต่ก็เลิกไปในปีการศึกษา 2517 และด้วยเหตุผลในการเร่งรัดผลิตครูดังกล่าวข้างต้น ในปีการศึกษา 2512 วิทยาลัยครูเชียงใหม่จึงได้เปิดสอนนักศึกษาภาคนอกเวลา ซึ่งนิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า "นักศึกษาภาคค่ำ" แต่ต่อมากำหนดเรียกเป็นทางการว่า "นักศึกษาภาคสมทบ" ทั้งนี้เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลสองประการคือ การขาดแคลนครูในท้องถิ่น ชนบทประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือ การที่นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 และปีที่ 5 ไม่มีที่เรียน และเมื่อนโยบายดังกล่าวได้ผลดีเกินความคาดหมาย จึงได้เลิกผลิตหลักสูตร ป.กศ. ภาคสมทบไปเมื่อ พ.ศ.2519 และเลิกหลักสูตร ป.กศ. ชั้นสูงภาคสมทบ เมื่อ พ.ศ. 2522 ในปี พ.ศ.2515 นายประสิทธิ์ สุนทโรทก ผู้อำนวยการ ได้ย้ายเข้าไปรับตำแหน่งอธิบดีกรมการฝึกหัดครู ทางราชการได้แต่งตั้งให้ นางสาวบุญจันทร์ วงศ์รักมิตร เป็นผู้อำนวยการสืบต่อมา ในปีการศึกษา 2517 วิทยาลัยครูเชียงใหม่ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี โดยใช้หลักสูตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา 3 วิชาเอก คือ ภาษาอังกฤษ เคมี และวิทยาศาสตร์ทั่วไป โดยมุ่งหวังว่าจะให้ได้รับวุฒิประกาศนียบัตรประโยคครูอุดมศึกษา (ป.อ.) แต่ก็ได้เลิกไปเมื่อ พ.ศ.2518 เมื่อมีการประกาศใช้ "พระราชบัญบัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518"

โดยที่กำหนดให้การบริหารงานของวิทยาลัยครูทุกแห่งขึ้นอยู่กับ "สภาการฝึกหัดครู" และได้กำหนดให้เรียกชื่อผู้บริหารเป็น "อธิการ" จึงนับได้ว่า นางสาวบุญจันทร์ วงศ์รักมิตร เป็นอธิการคนแรกของวิทยาลัยครูเชียงใหม่ ในปีต่อมา สภาการฝึกหัดครูได้ประกาศใช้ "หลักสูตรการฝึกหัดครูของสภาการฝึกหัดครู พ.ศ.2519" โดยแบ่งการศึกษาออกเป็นสองระดับคือ ระดับ ป.กศ.ชั้นสูง และระดับ ค.บ. (หลักสูตร 2 ปี) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ต่อเนื่องกัน วิทยาลัยได้เริ่มรับนักศึกษา ค.บ.2 ปี วิชาเอกภาษาไทย เป็นรุ่นแรกในปีการศึกษา 2520 และได้ปรับหลักสูตรการเรียนการสอนของนักศึกษาปริญญาตรี 3 วิชาเอกที่ได้รับไว้ก่อนหน้านั้นให้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร ค.บ.ที่ประกาศใช้ใหม่นี้ ปีการศึกษา 2521 วิทยาลัยเปิดรับนักศึกษา ค.บ.อีก 3 วิชาเอก คือ เกษตรศาสตร์ สังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาในช่วงนี้ แม้จะเปิดสอนระดับ ค.บ. แล้วก็ตามวิทยาลัยก็ยังคงรับนักเรียน ม.ศ.3 และ ม.ศ.5 เข้าเรียนในระดับ ป.กศ. และ ป.กศ. ชั้นสูงอยู่ จนในปีการศึกษา 2522 จึงได้งดรับนักศึกษาตามหลักสูตร ป.กศ. (แต่มาเริ่มเปิดสอนใหม่ให้กับสำนักงานการประถมศึกษาเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน ในปี 2527) ในปีการศึกษานี้ ได้ร่วมมือกับวิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ รับนักศึกษา ค.บ. (2 ปี) วิชาเอกพลศึกษา และร่วมมือกับสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน รวมทั้งหน่วยงานผู้ใช้ครูโดยทั่วไป เปิดรับครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการอบรมตาม "โครงการฝึกอบรมครู และบุคลากรทางการศึกษา (อคป.)" เพื่อเป็นการปรับคุณภาพและวุฒิของครูให้สูงขึ้น ให้ได้วุฒิ ค.บ. โดยใช้หลักสูตร 2 ปีเป็นรุ่นแรก และได้เปิดรับรุ่นที่ 2 ในปีการศึกษา 2524 หลังจากที่ผู้เรียนรุ่นที่ 1 สำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว

ในด้านผู้บริหารนั้น เมื่อ นายวิเชียร เมนะเศวต ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ กรมการฝึกหัดครู ในปี พ.ศ.2528 อธิการคนต่อมา คือ รศ.ดร.มังกร ทองสุขดี ซึ่งดำรงตำแหน่งจนถึงปี พ.ศ.2534 ผศ.สายสมร สร้อยอินต๊ะ จึงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการ ซึ่งปี พ.ศ.2535 ได้เปลี่ยนการเรียกชื่อผู้บริหารจาก "อธิการ" เป็น "อธิการบดี" จึงนับได้ว่า ผศ.สายสมร สร้อยอินต๊ะ เป็นอธิการบดีคนแรก

[แก้] สถาบันราชภัฏเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยครูทั่วประเทศว่า "สถาบันราชภัฏ" แปลว่าผู้ที่อยู่ใกล้พระราชา แต่หลายท่านให้ความหมายเป็นนัยว่า "นักปราชญ์ของพระราชา" โดยมีตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันเป็นตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยแต่ละสีมีความหมายดังนี้

สีน้ำเงิน แทนสถาบันพระมหากษัตริย์

สีเขียว แทนแหล่งที่ตั้งของสถาบัน 36 แห่ง ที่อยู่ในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม

สีทอง แทนความรุ่งเรืองทางปัญญา

สีส้ม แทนความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

สีขาว แทนความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

[แก้] มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 อันมีผลให้สถาบันราชภัฏ เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่ชาวราชภัฏทุกคน

และในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ.2547 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นชาวราชภัฏทั้ง 41 แห่ง จึงร่วมใจพิธีถวายราชสดุดี เฉลิมฉลองนามมหาวิทยาลัยราชภัฏพร้อมกัน ในวันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2547 เวลา 09.09 น. พร้อมกันทั่วประเทศ

ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีคณะผู้บริหาร อาจารย์อาวุโส คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และศิษย์เก่า ร่วมพิธีกว่าหมื่นคน ณ สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

[แก้] สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

[แก้] คณะ

[แก้] วิทยาเขต

  • วิทยาเขตเวียงบัว
  • วิทยาเขตสะลวง-ขี้เหล็ก
  • วิทยาเขตแม่สา ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาการจัดการ ที่มีการจัดการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ ๓ และชั้นปีที่ ๔ ของคณะ (ข้อมูลโดยประชาสัมพันธ์คณะวิทยาการจัดการ:บริษัทหัดบิน)
  • วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ๒๕๔๗, เล่ม ๑๒๑, ตอนพิเศษ ๒๓ ก, ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ หน้า ๑

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น