พระบาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองล้านช้าง

พระบางเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย สูงสองศอกเจ็ดนิ้ว (ประมาณ 1.14 เมตร) หล่อด้วยสัมฤทธิ์ (ทองคำผสม 90 เปอร์เซ็นต์) มีอายุอยู่ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงตอนต้นของพุทธศตวรรษที่ 19 ตามศิลปะเขมรแบบบายนตอนปลาย โดยมีพุทธลักษณะคือ ประทับยืนยกพระหัตถ์ขึ้น นิ้วพระหัตถ์เรียบเสมอกัน พระพักตร์ค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง พระขนงเป็นรูปปีกกา พระเนตรเรียว พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์บาง พระเศียร และพระเกตุมาลาเกลี้ยงสำหรับสวมเครื่องทรง ปั้นพระองค์เล็ก พระโสภีใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม แลเห็นแถบสบง และหน้านาง

พระบาง เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่นครหลวงของอาณาจักรขอม จนเมื่อ พ.ศ. 1902 พระเจ้าฟ้างุ้มกษัตริย์แห่งล้านช้างซึ่งมีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับพระเจ้ากรุงเขมร มีพระราชประสงค์ที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ประดิษฐานมั่นคงในพระราชอาณาจักร จึงได้ทูลขอพระบางเพื่อมาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวงของอาณาจักรล้านช้างในขณะนั้น

หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง

แต่เมื่ออันเชิญพระบางมาได้ถึงเมืองเวียงคำ (บริเวณแถบเมืองเวียงจันทน์ในปัจจุบัน) ก็มีเหตุอัศจรรย์ขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ พระบางจึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองนี้จนถึง พ.ศ. 2055 อันเป็นสมัยของพระเจ้าวิชุณราช ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเจ้าเมืองเวียงคำมาก่อน จึงสามารถนำเอาพระบางขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุนราชในนครเชียงทอง ทำให้เมืองเชียงทองถูกเรียกว่า หลวงพระบาง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพเข้ายึดครองอาณาจักรล้านช้างไว้ได้ จึงได้อาราธนาพระบาง พร้อมทั้งพระแก้วมรกต ลงมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้พระราชทานพระบางคืนให้แก่ล้านช้างดังเดิม

ปัจจุบันพระบางประดิษฐานอยู่ที่ หอพระบาง พิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง

ภาษาอื่น