สถานีวงเวียนใหญ่ (รถไฟฟ้าบีทีเอส)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วงเวียนใหญ่
Wongwian Yai

BSicon INT legende.svg
สถานีวงเวียนใหญ่

สถานีวงเวียนใหญ่

เส้นทาง รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม
รหัสสถานี S8
เวลาให้บริการ 06.00 - 24.00น.
ผู้ให้บริการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
จุดเชื่อมต่อ รถโดยสารประจำทาง
เขตที่ตั้ง เขตคลองสาน
ถนน กรุงธนบุรี
แผนที่ เว็บไซต์ BTS
วันที่เปิดให้บริการ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
รูปแบบสถานี ยกระดับ
รูปแบบชานชาลา ด้านข้าง
จำนวนชานชาลา 2
ทางออก 5
บันไดเลื่อน 4
ลิฟต์ 4

สถานีวงเวียนใหญ่ (อังกฤษ: Wongwian Yai Station, รหัส S8) เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้า ในเส้นทางรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา สายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน) ยกระดับเหนือถนนกรุงธนบุรี ใกล้สี่แยกตากสิน ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

สถานีวงเวียนใหญ่ เป็นสถานีที่ก่อสร้างพร้อมกับสถานีกรุงธนบุรี ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน) ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ซึ่งสถานีทั้ง 2 แห่งได้ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 จนแล้วเสร็จและมีกำหนดเปิดให้บริการกลางปี พ.ศ. 2550 แต่เนื่องจากทางกรุงเทพมหานคร ประสบปัญหาการจัดจ้างบริษัทติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณที่เสนอราคาสูง ประกอบกับทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ได้ปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสมาเป็นระบบของบริษัทบอมบาดิเอร์ ทำให้การติดตั้งระบบการเดินรถล่าช้ากว่ากำหนดการไปมาก

จนกระทั่งวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 กทม. ได้ลงนามสัญญาจัดซื้อและติดตั้งระบบการเดินรถ ส่วนที่ 1 (ระบบอาณัติสัญญาณ) กับบริษัท บอมบาร์ดิเอร์ ทรานสปอร์เทชั่น ซิกแนล (ประเทศไทย) งบประมาณ 368 ล้านบาท กรอบระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งระบบการเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) ส่วนที่ 2 (ระบบสื่อสาร, ระบบจ่ายไฟฟ้า, ระบบควบคุมและจัดเก็บข้อมูล และระบบประกอบอาคารในสถานีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบรถไฟฟ้า) กับกลุ่มบริษัท AAT Consortium จำกัด งบประมาณ 675 ล้านบาท และลงนามในสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2551 ใช้ระยะเวลาติดตั้งระบบประมาณ 300 วัน[1] [2]

เมื่อส่วนต่อขยายนี้ดำเนินการเสร็จสิ้น กทม. ได้เปิดทดลองเดินรถไฟฟ้าช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก โดยทดสอบระบบอาณัติสัญญาณและระบบที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม-12 เมษายน พ.ศ. 2552 และเริ่มทดลองให้บริการ (trial run) โดยไม่มีผู้โดยสารตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน ต่อมา กทม. ได้เปิดให้บริการแก่ประชาชนอย่างเป็นทางการโดยไม่คิดค่าโดยสารระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-12 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หลังจากนั้นจึงจะเก็บค่าโดยสารตามระยะทาง ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 8.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 พบว่าสถานีวงเวียนใหญ่มีผู้ใช้บริการ 28,800 เที่ยวคน/วัน และสถานีกรุงธนบุรีมีผู้ใช้บริการ 12,000 เที่ยวคน/วัน รวม 40,800 เที่ยวคน/วัน และวันที่ 18 พฤษภาคม มีผู้โดยสารมากขึ้นเป็น 43,500 เที่ยวคน/วัน คาดว่าในอนาคต จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการส่วนต่อขยายนี้ถึงวันละ 50,000 เที่ยวคน/วัน[3]

ในอนาคต เมื่อมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีลมเพิ่มเติม สถานีวงเวียนใหญ่จะเป็นสถานีต้นทางของส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 2 ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร โดยมีสถานีโพธินิมิตรเป็นสถานีต่อไป มีกำหนดเปิดให้บริการช่วงปี พ.ศ. 2554 นอกจากนี้ยังมีโครงการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ในโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ช่วงทางวิ่งใต้ดิน เตาปูน-วังบูรพา-ราษฎร์บูรณะ ที่สถานีวงเวียนใหญ่ ในอนาคต

[แก้] ที่ตั้ง

ถนนกรุงธนบุรี เชิงสะพานลอยข้ามสี่แยกตากสิน (จุดตัดระหว่างถนนกรุงธนบุรี, ราชพฤกษ์ และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน) บริเวณปากซอยสารภี 3 (ซอยกรุงธนบุรี 1 และ 4) ในพื้นที่แขวงบางลำพูล่าง และแขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร

บริเวณโดยรอบสถานีเป็นชุมชนที่พักอาศัยหนาแน่น มีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมใหม่เป็นจำนวนมากหลังจากที่มีโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าเกิดขึ้น จากสถานีสามารถเดินทางไปยังชุมชนและย่านค้าเครื่องหนังบริเวณถนนเจริญรัถ ใกล้ตลาดวงเวียนใหญ่และถนนลาดหญ้าได้ โดยใช้เส้นทางผ่านซอยสารภี 3 ระยะทางประมาณ 400 เมตร

ก่อนหน้าที่ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการ ผู้โดยสารจากฝั่งธนบุรีจำนวนมากต้องโดยสารเรือข้ามฟากที่ท่าเรือเป็ปซี่ หรือเดินทางข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าที่สถานีสะพานตากสินและสถานีสุรศักดิ์ แต่จากการเปิดให้บริการที่สถานีวงเวียนใหญ่ ทำให้ผู้โดยสารรถประจำทางจากถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินและบริเวณวงเวียนใหญ่สามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าได้โดยตรง ซึ่งที่ตั้งของสถานีวงเวียนใหญ่ห่างจากสถานีแรกของฝั่งธนบุรี คือสถานีกรุงธนบุรีเพียง 640 เมตรเท่านั้น

สถานีแห่งนี้เคยใช้ชื่อในโครงการระหว่างการก่อสร้างว่า "สถานีแยกตากสิน" เพราะตั้งอยู่ใกล้สี่แยกตากสิน (แต่จุดกึ่งกลางสถานียังห่างจากทางแยกถึงประมาณ 400 เมตร เนื่องด้วยข้อจำกัดจากโครงสร้างสะพานข้ามสี่แยกตากสิน) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีวงเวียนใหญ่" ในปัจจุบัน สอดคล้องกับวงเวียนใหญ่ที่ถือเป็นจุดหมายตาที่สำคัญในย่านนี้ แม้ที่ตั้งวัดจากจุดกึ่งกลางสถานีจะอยู่ห่างจากสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ของเส้นทางรถไฟสายแม่กลองถึง 800 เมตร และห่างจากพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ วงเวียนใหญ่ กว่า 1 กิโลเมตร ซึ่งทางกรุงเทพมหานครเคยมีแนวคิดที่จะสร้างสะพานทางเดินจากสถานีวงเวียนใหญ่ ไปตามเกาะกลางถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน และเชื่อมต่อไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สัญจรบริเวณนี้

[แก้] แผนผังสถานี

U3
ชานชาลา
ชานชาลาด้านข้าง, ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย
ชานชาลา 3 รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม สถานีปลายทาง
ชานชาลา 4 รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม มุ่งหน้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
ชานชาลาด้านข้าง, ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย
U2
ชั้นขายบัตรโดยสาร
ชั้นขายบัตรโดยสาร ทางออก 1-4, ศูนย์บริการผู้โดยสาร
ห้องขายบัตรโดยสาร, เครื่องขายบัตรโดยสาร
G
ระดับถนน
- ป้ายรถประจำทาง, อาคารไทยวีรวัฒน์, ซอยสารภี 3, สี่แยกตากสิน

[แก้] รูปแบบของสถานี

เป็นแบบมีชานชาลาอยู่ 2 ข้าง (side platform station) ขนาดมาตรฐาน กว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร ประกอบด้วยชั้นขายบัตรโดยสาร และชานชาลา ในส่วนหลังคาชานชาลามีการออกแบบให้ป้องกันฝนสาดและแดดส่อง โดยเชื่อมปิดหลังคาทั้งหมด

[แก้] ทางเข้า-ออก

  • 1 ป้ายรถประจำทางไปสะพานตากสิน, สี่แยกตากสิน, ตลาดวงเวียนใหญ่ (บันไดเลื่อน)
  • 2 ป้ายรถประจำทางไปแยกตากสิน, อาคารลีแมชชีนทูลส์, สี่แยกตากสิน
  • 3 ซอยกรุงธนบุรี 1, ป้ายรถประจำทางไปสะพานตากสิน
  • 4 ซอยกรุงธนบุรี 4, ป้ายรถประจำทางไปแยกตากสิน, อาคารไทยวีรวัฒน์ (บันไดเลื่อน)
  • 5 จุดจอดแล้วจร เกาะกลางถนนกรุงธนบุรี

[แก้] สิ่งอำนวยความสะดวก

  • ลิฟต์ สำหรับผู้พิการ บริเวณกึ่งกลางสถานี จากทางเท้าถนนกรุงธนบุรีทั้ง 2 ฝั่ง
  • บันไดทางขึ้น-ลงสถานีจากทางเท้า 4 จุด (มีบันไดเลื่อน 2 จุด)
  • บันไดขึ้น-ลง บริเวณเกาะกลางถนนกรุงธนบุรีด้านทิศตะวันตก เป็นทางเดินเชื่อมต่อจุดแล้วจร และระบบรถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง ในอนาคต
  • จุดจอดแล้วจร (park & ride) บริเวณเกาะกลางถนนกรุงธนบุรี ใกล้สี่แยกตากสิน สามารถรองรับรถได้ประมาณ 200 คัน
  • อาจมีการก่อสร้างสะพานทางเดินบนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเชื่อมต่อสถานีกับบริเวณวงเวียนใหญ่

[แก้] โครงการรถรับ-ส่ง (shuttle bus)

  • ในอนาคต ทาง กทม. จะจัดให้บริการรถประจำทาง (shuttle bus) เพื่อรับ-ส่งผู้โดยสารในฝั่งธนบุรีมายังสถานีวงเวียนใหญ่ 10 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดง (สายใต้ใหม่), สายสีส้ม (ตั้งฮั่วเส็ง), สายสีชมพู (สนามหลวง 2), สายสีม่วง (เดอะมอลล์), สายสีน้ำเงิน (แมคโครบางบอน), สายสีฟ้า (โลตัสพระราม 2), สายสีน้ำตาล (จัสโก้ประชาอุทิศ), สายสีเขียวอ่อน (สุขสวัสดิ์), สายสีเขียวเข้ม (บิ๊กซีราษฎร์บูรณะ) และสายสีเหลือง (แมคโครจรัญสนิทวงศ์) [3]

[แก้] นิทรรศการภายในสถานี

จัดแสดงบริเวณชั้นขายบัตรโดยสาร ด้านทิศตะวันตกของสถานี มีแบบจำลองของสถานีวงเวียนใหญ่-กรุงธนบุรี และประวัติของโครงการรถไฟฟ้าสายสีลม ส่วนต่อขยายตากสิน-บางหว้า ช่วงที่ 1 (สะพานตากสิน-แยกตากสิน)

[แก้] รถโดยสารประจำทาง

  • ถนนกรุงธนบุรี มุ่งหน้าสะพานตากสิน สาย 3 20 (รถเสริมจากท่าน้ำพระสมุทรเจดีย์) 76 80ก 84 84ก 91ก 105 108 120 165
  • ถนนกรุงธนบุรี มุ่งหน้าสี่แยกตากสิน สาย 20 (รถเสริมจากท่าน้ำท่าดินแดง) 76 80ก 84 84ก 91ก 108 165 167
  • ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แยกตากสินมุ่งหน้าวงเวียนใหญ่ สาย 20 21 21ก 37 57 68 (มินิบัส) 82 85 105 167 169 172 529
  • ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน แยกตากสินมุ่งหน้าสำเหร่ สาย 20 21 21ก 37 57 68 (มินิบัส) 76 82 85 105 167 169 172 529

[แก้] จุดเชื่อมต่อการเดินทาง

[แก้] สถานที่สำคัญใกล้เคียง

[แก้] ศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน

  • อาคารไทยวีรวัฒน์
  • อาคารสินสยาม
  • อาคารลีแมชชีนทูลส์
  • อาคารสยาม มาเจสติค เจมส์
  • อาคารธนธร
  • อาคารเอสเค

[แก้] เหตุการณ์สำคัญในอดีต

  • วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 23.00 ถึงเวลา 1.00 น. ของวันถัดมา ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหาร กทม. ประธานสภา กทม. และสื่อมวลชน ร่วมทดสอบระบบการให้บริการผู้โดยสารของรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-แยกตากสิน ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร จากสถานีวงเวียนใหญ่ไปสถานีกรุงธนบุรี และร่วมงาน “ ความทรงจำ...ที่แสนภูมิใจ ” ที่มีการจัดนิทรรศการประวัติความเป็นมาจากวันเริ่มต้นดำเนินงาน จนกระทั่งมาเป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 2.2 กิโลเมตร ที่สถานีวงเวียนใหญ่[4]
  • วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 เวลา 05.49 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน “ Bangkok’s Morning Smile เช้าวันใหม่...แสนสดใส...ที่คนกรุงเทพฯ รอคอย” และทำพิธีปล่อยขบวนรถไฟฟ้าสายแรกของฝั่งธนบุรี ส่วนต่อขยายสายสีลม 2.2 กิโลเมตร โดยนายกรัฐมนตรีสอดบัตรโดยสารใบแรกเข้าช่องสอดบัตรเพื่อใช้บริการรถไฟฟ้ารอบปฐมฤกษ์จากสถานีวงเวียนใหญ่ร่วมกับคณะผู้บริหาร กทม. และสมาชิกสภา กทม. โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สั่นกระดิ่งปล่อยขบวนรถ และนายกิตพล เชิดชูกิจกุล ประธานสภากรุงเทพมหานคร โบกธงเดินขบวนรถ โดยทั้งหมดขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีวงเวียนใหญ่ ไปส่งนายกรัฐมนตรีที่สถานีสุรศักดิ์ ขบวนรถสิ้นสุดที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ แล้วกลับมายังสถานีวงเวียนใหญ่อีกครั้ง ก่อนเปิดให้บริการสำหรับประชาชนโดยไม่เก็บค่าโดยสารในเวลา 8.00 น.[5]

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°43′16″N 100°29′43″E / 13.721097°N 100.495244°E / 13.721097; 100.495244

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ กลุ่มAATเฉือนอิตาเลียนไทยฯ คว้างานวางระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายฝั่งธนฯ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 22 กุมภาพันธ์ 2551
  2. ^ สานฝันคนฝั่งธนฯ อภิรักษ์เดินหน้ารถไฟฟ้า ดันวงเวียนใหญ่ -บางหว้า เปิดใช้ปี 53 หนังสือพิมพ์สวัสดีกรุงเทพ 6 มิถุนายน 2551
  3. ^ 3.0 3.1 วันแรกประชาชนแห่ใช้รถไฟฟ้าส่วนขยายสายสีลมกว่า 4 หมื่นคน สำนักข่าวกรุงเทพมหานคร 19 พฤษภาคม 2552
  4. ^ กทม. ฉลองความยินดีรถไฟฟ้าสายประวัติศาสตร์ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรก สำนักข่าวกรุงเทพมหานคร 23 เมษายน 2552
  5. ^ คลิปเสียงพิธีปล่อยขบวนรถไฟฟ้าสายแรกของฝั่งธนบุรี ส่วนต่อขยายสายสีลม 2.2 กิโลเมตร สำนักข่าวกรุงเทพมหานคร 15 พฤษภาคม 2552

[แก้] สถานีใกล้เคียง

สถานีก่อนหน้า ขบวนรถไฟ สถานีต่อไป
สถานีกรุงธนบุรี
มุ่งหน้า สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ
  รถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม   สถานีปลายทาง
ภาษาอื่น