อำเภอชะอำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก ชะอำ)
อำเภอชะอำ
แผนที่จังหวัดเพชรบุรี เน้นอำเภอชะอำ
Cquote1.png ทะเลใส หาดทรายขาว เจ้าพ่อเขาใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ คนจิตใจงาม Cquote2.png
ข้อมูลทั่วไป
อักษรไทย อำเภอชะอำ
อักษรโรมัน Amphoe Cha-am
จังหวัด เพชรบุรี
รหัสทางภูมิศาสตร์ 7604
รหัสไปรษณีย์ 76120
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 660.65 ตร.กม.
ประชากร 71,494 คน (พ.ศ. 2552)
ความหนาแน่น 108.21 คน/ตร.กม.
ที่ว่าการอำเภอ
ที่ตั้ง ที่ว่าการอำเภอชะอำ ถนนนราธิป ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 76120
พิกัด 12°47′59″N, 99°58′1″E
หมายเลขโทรศัพท์ 0 3247 1078, 0 3247 2502
หมายเลขโทรสาร 0 3247 2502

สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอชะอำ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ซึ่งมีหาดทรายขาว ยาว และยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งเป็นรายได้ให้กับด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจการโรงแรม ธุรกิจการค้าของที่ระลึก ร้านอาหาร การประมง เป็นต้น นอกจากนี้ชะอำยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากชาวไทยและชาวต่างประเทศในระดับต้นๆของประเทศไทย

เนื้อหา

[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอชะอำตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

[แก้] ประวัติ

อำเภอชะอำตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2440 ที่บ้านนายาง หมู่ที่ 3 ตำบลนายาง เดิมใช้ชื่อว่า อำเภอนายาง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2457 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอนายางไปตั้งที่บ้านหนองจอกและเปลี่ยนชื่อเป็นเป็น อำเภอหนองจอก (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอท่ายาง) จนกระทั่งหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา กระทรวงมหาดไทยได้ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอกมาตั้งที่ตำบลชะอำเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่สะดวกแก่การปกครองและได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอชะอำ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2487 มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

[แก้] การปกครองส่วนภูมิภาค

อำเภอชะอำแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 9 ตำบล 67 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ชะอำ (Cha-am) 6. ห้วยทรายเหนือ (Huai Sai Nuea)
2. บางเก่า (Bang Kao) 7. ไร่ใหม่พัฒนา (Rai Mai Phatthana)
3. นายาง (Na Yang) 8. สามพระยา (Sam Phraya)
4. เขาใหญ่ (Khao Yai) 9. ดอนขุนห้วย (Don Khun Huai)
5. หนองศาลา (Nong Sala)

[แก้] การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอชะอำประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองชะอำ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชะอำทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลนายาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนายาง ตำบลเขาใหญ่ และตำบลดอนขุนห้วยทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบางเก่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางเก่าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองศาลาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยทรายเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลห้วยทรายเหนือทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไร่ใหม่พัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนาทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสามพระยา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสามพระยาทั้งตำบล

[แก้] เศรษฐกิจ

หาดชะอำ
พระปิดทวาร

ธุรกิจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าบทบาททางด้านการบริการ โดยเฉพาะการค้า การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของจังหวัดเพชรบุรี อำเภอชะอำจึงเป็นเมืองที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทำให้มีนักธุรกิจมาลงทุนหลายพันล้าน ส่วนการท่องเที่ยวอำเภอชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภทธรรมชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุดจึงทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตมากขึ้น

จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยว ทำให้บริการด้านการท่องเที่ยวรวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของจังหวัดเพชรบุรีพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ถนน ไฟฟ้า ร้านขายอาหาร ที่พักแรม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่พักตากอากาศ การขายอาหาร ตลอดจนการบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องธุรกิจท่องเที่ยว มีส่วนชักนำให้เกิดการบุกรุก จนทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของประชากรด้วย

[แก้] โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ในอำเภอชะอำยังมีโครงการที่เกี่ยวกับพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ทรงได้พระราชทานแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน ซึ่งมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดังนี้

  1. โครงการพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นโครงการเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินทำกินเกษตรกรผู้ยากจนในรูปแบบของหมู่บ้านสหกรณ์ จะเน้นในด้านเกษตรและกิจกรรมสหกรณ์
  2. ศูนย์สาธิตสหกรณ์ดอนขุนห้วย ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องมาจากโครงการหุบกะพงมุ่งเน้นการจัดหาที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรที่ยากจน
  3. ศูนย์การศึกษาพัฒนาห้วยทราย เป็นพื้นที่เขตอับฝน เนื่องมาจากป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดการบำรุงรักษาทำให้เกิดการพังทลายค่อนข้างสูง และราษฎรส่วนใหญ่ปลูกไร่สับปะรด โดยใช้สารเคมีมากทำให้คุณภาพของดินต่ำลงด้วย พระองค์มีพระราชดำรัสว่า หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด จึงให้แนวทางการแก้ไขให้เป็นศูนย์การพัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการปลูกป่า และช่วยส่งเสริมราษฎรสร้างรายได้จากการสร้างผลิตผลจากป่าไม้กับปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ในรูปแบบของเกษตรผสมผสานควบคู่กันไป

จะเห็นได้ว่า ศูนย์การพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ คือมีทั้งการศึกษาการทดลองและสาธิต เพื่อให้เห็นผลทุกด้าน ดังนั้นราษฎรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตได้อย่างแท้จริง จึงนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและเป็นการเพิ่มรายได้อีกต่อไป


[แก้] สถานที่ท่องเที่ยว

ชะอำ ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิต ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันในจังหวัดเพชรบุรี เป็นชายหาดติดทะเลฝั่งอ่าวไทย แต่เดิม ชะอำ เป็นเพียงตำบลหนึ่ง ขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก แต่ภายหลังที่หัวหินมีชื่อเสียง ที่ดินแถบชายทะเลถูกจับจองหมด พวกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่สมัยนั้น จึงพยายามหาสถานที่พักผ่อนแห่งใหม่ โดยการนำของสมเด็จกรมพระยานราธิปประพันธ์พงศ์ และได้ พบว่า หาดชะอำ เป็นชายหาดที่สวยงามไม่แพ้หัวหิน ชะอำ จึงเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่นั้นมา ชะอำ ได้รับการพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น และได้ย้ายที่ว่าการอำเภอหนองจอก มาตั่งที่ตำบลชะอำ และเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอชะอำ

  • หาดชะอำ

อยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 41 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายเข้าชายหาด ระยะทาง 2 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่สวยงาม และมีชื่อเสียงของจังหวัดเพชรบุรี เดิมชะอำเป็นเพียงตำบลหนึ่งขึ้นอยู่กับอำเภอหนองจอก เป็นชายหาดที่เคยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมากตั้งแต่สมัยโบราณ ตามประวัติเล่ากันว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เคยเสด็จมาที่นี่พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวัน จนกระทั่งชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า หาดเจ้าสำราญ มาจนปัจจุบัน

  • พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายพระรามหก ตำบลห้วยทรายเหนือ ตรงหลักกิโลเมตรที่ 216 เลยหาดชะอำมา 8 กิโลเมตร เป็นพระตำหนักที่ประทับริมทะเล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2466 ได้รับขนานนามว่า "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง" พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันพุธ ค่าเข้าชม ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 15 บาท

  • อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร

เป็นศูนย์เรียนรู้ และเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่ความรู้ และการฝึกอบรมระดับสากลด้านการอนุรักษ์พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายครบวงจร ตั้งอยู่ภายในบริเวณค่ายพระรามหก ถนนเพชรเกษม ระหว่างชะอำและหัวหิน ทางเข้าทางเดียวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

อุทยานแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 48 พรรษา ในปีพุทธศักราช 2548 และเพื่อเป็นการฟื้นฟูพัฒนาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าเบญจพรรณ และที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด ในบริเวณนี้ให้กลับมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ตลอดจนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศภายในอุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร เพื่อกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อม

  • วนอุทยานเขานางพันธุรัต

เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสวยงามเอกลักษณ์ โดดเด่นมองเห็นได้จากริมถนนใหญ่ ทอดยาวตามแนวเหนือ - ใต้ มองดูคล้ายนางยักษ์ (นางพันธุรัต) นอนอยู่ มีโกศอยู่ทางทิศใต้ และมีปฏิมากรรมธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องสังข์ทอง ตั้งอยู่ที่บ้านเขาไม้นวล หมู่ 2 ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,562 ไร่ กรมป่าไม้ได้ประกาศจัดตั้งเป็นวนอุทยานเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 เพื่อสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้อนุรักษ์พื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตไว้เป็นมรดกของชาติ

  • สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ตั้งอยู่ที่ตำบลสามพระยา ในเนื้อที่ 340 ไร่ ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประจำปี 2545 รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์แห่งนี้ดำเนินการโดยมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการทำฟาร์มผสมผสานที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในท้องถิ่นที่เคยแห้งแล้งเนื่องจากการบุกรุกถางป่า และได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้กลับคืนความสมบูรณ์ ด้วยการจัดหาแหล่งน้ำควบคู่กับการเพาะปลูกพืช และนำผลการทดลองที่ประสบผลสำเร็จนำไปขยายผลสู่เกษตรกร เป็นแนวทางสู่เกษตรยั่งยืน

  • อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี (เขาวัง)

เป็นโบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี ตั้งอยู่บนยอดเขาใหญ่ 3 ยอด ยอดที่สูงที่สุดสูง 95 เมตร แต่เดิมชาวบ้านเรียกภูเขานี้ว่า "เขาสมน" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพอพระราชหฤทัยที่จะสร้างพระราชวังสำหรับเสด็จแปรพระราชฐานขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระสมุหกลาโหมเป็นแม่กองก่อสร้าง จนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ. 2403 ทรงพระราชทานนามว่า พระนครคีรี แต่ชาวเมืองเพชรเรียกกันติดปากว่า "เขาวัง" สืบมาจนบัดนี้ พระนครคีรีมีพระที่นั่ง พระตำหนัก วัด และกลุ่มอาคารต่างๆ มากมาย ส่วนใหญ่เป็นสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนิโอคลาสสิคผสมสถาปัตยกรรมจีน

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครคีรี

ภายในเก็บรักษาโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปหล่อโลหะสำริดและทองเหลืองที่ใช้สำหรับตกแต่งห้องต่างๆ ในพระที่นั่ง และเครื่องกระเบื้องของจีน ญี่ปุ่น และยุโรป เฉพาะส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินี้ เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. ทุกวัน

[แก้] รูปภาพ

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น


BlankMap Thailand icon.png อำเภอชะอำ เป็นบทความเกี่ยวกับ จังหวัด อำเภอ หรือเขตการปกครองต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อำเภอชะอำ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประเทศไทย