คริสต์ศาสนาในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ส่วนหนึ่งของ
คริสต์ศาสนา


Gold Christian Cross no Red.svg
ประวัติคริสต์ศาสนา
พระเจ้า
พระยาห์เวห์
ศาสดา
พระเยซู
ความเชื่อและการปฏิบัติ
ปรัชญา · เทวดา · พิธีสำคัญ
คัมภีร์และหนังสือ
ไบเบิล · พันธสัญญาเดิม ·
พันธสัญญาใหม่ · พระวรสาร
นิกาย
โรมันคาทอลิก ·
อีสเติร์นออร์โธด็อกซ์ ·
โอเรียนทัลออร์โธด็อกซ์ ·
อังกลิคัน · โปรเตสแตนต์ ·
คริสต์ศาสนปฏิรูป
สังคมคริสต์ศาสนา
เมือง · คริสตกาล · คริสต์ศักราช ·
สถาปัตยกรรม · ศิลปะ · บุคคล ·
นักบุญ
ดูเพิ่มเติม
กฏบัตร ·
ศัพท์เกี่ยวกับคริสต์ศาสนา ·
หมวดหมู่คริสต์ศาสนา
จัดการ: แม่แบบ  พูดคุย  แก้ไข

คริสต์ศาสนา ได้เริ่มเผยแพร่ในประเทศไทย โดยบาทหลวงมิชชันนารีชาวยุโรป ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 เป็นนิกายโรมันคาทอลิก

จากข้อมูลของสหสมาคมพระคริสตธรรม ในปี พ.ศ. 2541 (ค.ศ. 1998) ประเทศไทยมีผู้นับถือศาสนาคริสต์ประมาณ 1.7% ของประชากรทั้งหมด [1]


เนื้อหา

[แก้] การเผยแพร่นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทย

คริสต์ศาสนาเข้ามาในประเทศไทยยุคเดียวกับการล่าอาณานิคมของจักรวรรดินิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรตุเกส สเปน และเนเธอร์แลนด์ ที่กำลังบุกเบิกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนอกจากกลุ่มที่มีจุดประสงค์ทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว ยังมีบางกลุ่มที่มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนา โดยเฉพาะนิกายโรมันคาทอลิกเข้ามาเผยแพร่ บางประเทศบางสมัยปิดกั้นการเผยแพร่ บางประเทศบางสมัยเปิดเสรีแต่ผู้คนยังไม่นิยมเข้ารีต ขณะที่บางประเทศผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับนับถือคริสต์ศาสนา พร้อมกับการครอบงำทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ มาเก๊า ฯลฯ

ต่อมา ฝรั่งเศส เข้ามาได้เมืองขึ้นในอินโดจีน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว โดยลักษณะเดียวกับโปรตุเกสและสเปน คือล่าเมืองขึ้นและเผยแพร่ศาสนาพร้อมกัน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนัก ทำให้อิทธิพลของคริสต์ศาสนาในกลุ่มประเทศนี้มีน้อย อาจเพราะการมุ่งผลทางการเมืองและเศรษฐกิจของผู้ปกครองจักรวรรดินิยมทั้งก่อนหน้าและขณะนั้น ทำให้จุดมุ่งหมายที่ดีงามทางศาสนาถูกผู้คนในประเทศพื้นเมืองตั้งทัศนคติว่ามีเจตนาแอบแฝงเสียส่วนใหญ่ ไม่ว่ามิชชันนารีจะมีเจตนาแอบแฝงจริงหรือไม่ก็ตาม

ขณะที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะการเปิดเสรีในการเผยแพร่ศาสนา ทำให้ลดความรุนแรงทางการเมืองลง

คริสต์ศาสนาที่เผยแพร่ในไทยเป็นครั้งแรกตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ประมาณ พ.ศ. 2127 (ค.ศ. 1584) โดยนิกายแรกที่เข้ามาเผยแพร่คือนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีทั้งคณะโดมินิกัน (Dominican) คณะฟรังซิสกัน (Franciscan) และคณะเยซูอิต (Jesuit) บาทหลวงส่วนมากมาจากโปรตุเกส

ระยะแรกที่ยังถูกปิดกั้นทางศาสนา มิชชันนารีจึงเน้นการดูแลกลุ่มคนชาติเดียวกัน กระทั่งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประเทศไทยได้มีสัมพันธภาพอันดีกับฝรั่งเศส ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้มีจำนวนบาทหลวงเข้ามาเผยแพร่ศาสนามากขึ้น และการแสดงบทบาททางสังคมมากขึ้น บ้างก็อยู่จนแก่หรือตลอดชีวิตก็มี

ด้านสังคมสงเคราะห์ มีการจัดตั้งโรงพยาบาล ด้านศาสนา มีการตั้งโรงเรียนสำหรับสามเณรคริสเตียน]] เพื่อผลิตนักบวชพื้นเมือง และมีการโปรดศีลบวชให้นักบวชไทยรุ่นแรก และจัดตั้ง คณะภคิณี คณะรักไม้กางเขน

เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว คริสต์ศาสนากลับไม่ได้รับความสะดวกในการเผยแพร่ศาสนาเช่นเดิม เพราะถูกจำกัดขอบเขต ถูกห้ามประกาศศาสนา ถูกห้ามเขียนหนังสือศาสนาเป็นภาษาไทย และภาษาบาลี ประกอบกับพม่าเข้ามารุกรานประเทศไทย บาทหลวงถูกย่ำยี โบสถ์ถูกทำลาย มิชชันนารีทั้งหลายรีบหนีออกนอกประเทศ การเผยแพร่คริสต์ศาสนายุติในช่วงเสียเอกราชให้พม่า

กระทั่งพระเจ้าตากสินมหาราชกอบกู้เอกราชสำเร็จ แม้การเผยแพร่คริสต์ศาสนาเริ่มต้นขึ้นใหม่ แต่เพราะประเทศกำลังอยู่ในภาวะสร้างบ้านเมืองขึ้นใหม่ จึงไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

เมื่อเข้าสู่ราชวงศ์จักรีแล้ว ชาวคริสต์อพยพเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเปิดเสรีการนับถือศาสนา และทรงประกาศพระราชกฤษฎีกา ให้ทุกคนมีสิทธิในการนับถือศาสนาใดก็ได้

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าสัมพันธภาพระหว่างไทยกับฝรั่งเศสไม่ดีนัก แต่พระองค์ก็ทรงรับรองมิสซังโรมันคาทอลิกเป็นนิติบุคคล

ด้านสังคมสงเคราะห์ในรัชสมัยนี้ ทรงพระราชทานเงินทุนในการก่อสร้างโรงเรียน]] เกิดโรงเรียนอัสสัมชัญ ในพ.ศ. 2420 (ค.ศ.1877) ภายหลังเกิดโรงเรียนอีกหลายแห่ง เช่น โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์ และโรงเรียนพยาบาลเซนต์หลุยส์

[แก้] การเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในประเทศไทย

คณะเผยแพร่ของนิกายโปรเตสแตนต์กลุ่มแรกที่เข้ามาประเทศไทยตามหลักฐานที่ปรากฏคือศิษยาภิบาล 2 ท่าน ศาสนาจารย์ คาร์ล ออกัสตัส เฟรดเดอริค กุตสลาฟ เอ็ม.ดี (Rev. Carl Frildrich Augustus Gutzlaff) ชาวเยอรมัน จาก สมาคมเนเธอร์แลนด์มิชชันนารี (Netherland Missionary Society) และศาสนาจารย์ จาคอบทอมลิน (Rev. Jacob Tomlin) ชาวอังกฤษ จาก สมาคมลอนดอนมิชชันนารี (London Missionary Society) มาถึงประเทศไทยเมื่อ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2371 (ค.ศ. 1828) ทั้งสองท่านช่วยกันเผยแพร่ศาสนาด้วยความเข้มแข็ง

ต่อมาจึงมีศาสนาจารย์จาก คณะอเมริกันบอร์ด (The American Board of Commissioners for Fcreign Missions หรือ A. B. C. F. M) เข้ามา

ในบรรดานักเผยแพร่ศาสนานั้น ผู้เริ่มต้นสัมพันธภาพที่ดีและยาวนานที่สุดระหว่างคนไทยกับศาสนาคริสต์คือ ศาสนาจารย์แดน บีช บรัดเลย์ เอ็ม ดี (Rev. Dan Beach Bradley, M. D.) หรือ หมอบรัดเลย์ (คนไทยมักเรียกว่า หมอปลัดเล) ซึ่งเป็นเพรสไบทีเรียนในคณะอเมริกันบอร์ด เข้ามากรุงเทพฯ (ขณะนั้นเรียกว่า บางกอก) พร้อมภรรยา เมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 (ค.ศ. 1835)

ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในประเทศไทยได้สร้างคุณประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางการแพทย์และการพิมพ์ ทั้งรักษาผู้ป่วยไข้ทรพิษและอหิวาตกโรค นำการผ่าตัดเข้ามาครั้งแรก การทดลองปลูกฝีดาษในประเทศไทย ริเริ่มการสร้างโรงพิมพ์ เริ่มจากจัดพิมพ์ใบประกาศห้ามฝิ่น และจัดพิมพ์หนังสือ "บางกอกกาลันเดอร์" ซึ่งเป็นจดหมายเหตุรายวัน [2] กล่าวได้ว่า ความเชื่อมั่นของชาวไทยต่อการเผยแพร่คริสต์ศาสนา เกิดจากคณะสมาคมอเมริกันมิชชันนารีนำความเจริญเข้ามาควบคู่ไปกับการเผยแพร่ศาสนา

มิชชันนารีที่สำคัญอีก 2 กลุ่มได้แก่ คณะอเมริกันแบ็พติสมิชชัน (The American Baptist Mission) เป็นผู้ก่อตั้ง คริสตจักรโปรเตสแตนต์แห่งแรกในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2380 (ค.ศ. 1837) และจัดพิมพ์หนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งออก หนังสือพิมพ์ "สยามสมัย" [3]

และคณะอเมริกันเพรสไบทีเรียนบอร์ด (The American Presbyterian Board) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นำความเจริญสู่ประเทศไทย เช่น ดร. เฮ้าส์ (Samuel R. House) นำการใช้อีเทอร์เป็นยาสลบครั้งแรกในประเทศไทย ขณะที่ ศาสนาจารย์แมตตูนและภรรยา (Rev. and Mrs. Stephen Mattoon) ริเริ่มเปิดโรงเรียนแบบเช้าไปเย็นกลับ ซึ่งต่อมาได้รวมกับโรงเรียนประจำของมิชชัน และพัฒนาต่อมาเป็นโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน [4]

[แก้] กิจการเกี่ยวกับพระคริสตธรรมคัมภีร์

สมาคมพระคริสตธรรมไทย ซึ่งเป็นสมาชิกของสหสมาคมพระคริสตธรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Bible Society Work in Thailand
  2. ^ McFarland. 1928: 10-26
  3. ^ McFarland. 1928: 27-34
  4. ^ McFarland. 1928: 35-50

[แก้] ดูเพิ่ม

ReligionSymbol.svg คริสต์ศาสนาในประเทศไทย เป็นบทความเกี่ยวกับ ศาสนา ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ คริสต์ศาสนาในประเทศไทย ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ศาสนา
ภาษาอื่น