ธงชาติไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติไทย
ธงชาติไทย
ชื่อธง ธงไตรรงค์
การใช้ ธงพลเรือน ธงเรือพลเรือน ธงราชการ และ ธงเรือรัฐบาล FIAV 110110.svg
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ลักษณะ ธงสามสีห้าแถบ พื้นแดง-ขาว-น้ำเงิน-ขาว-แดง แถบกลางกว้างเป็น 2 เท่าของแถบสีแดงและขาว
ออกแบบโดย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
Naval Ensign of Thailand.svg
ชื่อธง ธงราชนาวี
การใช้ ธงนาวี FIAV 000001.svg
สัดส่วนธง 2:3
ประกาศใช้ 28 กันยายน พ.ศ. 2460 (มีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ลักษณะ ธงชาติ กลางเป็นวงกลมสีแดง มีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นหันหน้าเข้าเสา

ธงชาติไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธงไตรรงค์ มีลักษณะเป็นธงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้สีหลักในธง 3 สี คือ สีแดง ขาว และน้ำเงิน ภายในแบ่งเป็นแถบ 5 แถบ แถบในสุดสีน้ำเงิน ถัดมาด้านนอกทั้งด้านบนและล่างเป็นสีขาวและสีแดงตามลำดับ แถบสีน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่าแถบสีอื่นเป็น 2 เท่า ความหมายสำคัญของธงไตรรงค์นั้นหมายถึงสถาบันหลักทั้งสามของประเทศไทย คือ ชาติ (สีแดง) ศาสนา (สีขาว) และพระมหากษัตริย์ (สีน้ำเงิน) สีทั้งสามนี้เองคือที่มาของการเรียกชื่อธงนี้ว่าธงไตรรงค์ (ไตร = สาม, รงค์ = สี)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงนี้เป็นธงชาติไทย (ขณะนั้นยังเรียกชื่อประเทศว่าสยาม) เมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 เพื่อแก้ไขปัญหาการชักธงช้างเผือก (ซึ่งใช้เป็นธงชาติมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4) กลับด้าน และเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตร

ลักษณะของธงชาติไทยนั้น มีความคล้ายคลึงกับธงชาติคอสตาริกา ซึ่งเป็นประเทศในทวีปอเมริกากลางมาก ต่างกันที่เรียงแถบสีธงชาติสลับกันเท่านั้น

เนื้อหา

[แก้] ลักษณะธงตามกฎหมาย

ตามความในมาตรา 5 (1) ของพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2522 ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธงฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กล่าวถึงลักษณะธงชาติไว้ดังนี้

ภาพแสดงสัดส่วนธงชาติไทยที่ถูกต้อง
Cquote1.svg

ธงชาติ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้างแบ่งเป็น 5 แถบตลอดความยาวของผืนธง ตรงกลางเป็นแถบสีน้ำเงินแก่กว้าง 2 ส่วน ต่อจากแถบสีน้ำเงินแก่ออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีขาวกว้างข้างละ 1 ส่วน ต่อจากแถบสีขาวออกไปทั้ง 2 ข้างเป็นแถบสีแดงกว้างข้างละ 1 ส่วน[1]

Cquote2.svg

[แก้] ความหมายของธง

ในพระราชนิพนธ์ "เครื่องหมายแห่งไตรรงค์" ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. 2464 ได้นิยามความหมายของธงไตรรงค์ไว้ว่า สีแดง หมายถึง เลือดอันยอมพลีให้แก่ชาติ สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนาและธรรมะ สีน้ำเงิน หมายถึง สีส่วนพระองค์ขององค์พระมหากษัตริย์[2] แม้นิยามดังกล่าวจะไม่ใช่คำอธิบายที่ทรงประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการ แต่ทั้งสามสิ่งนี้คืออุดมการณ์รัฐที่พระองค์ทรงปลูกฝัง เพื่อให้คนไทยเกิดสำนึกความเป็นชาตินิยมมาตลอดรัชสมัยของพระองค์[3]

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีบันทึกเรื่องธงชาติ ใน พ.ศ. 2470 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงธงชาติจากบุคคลกลุ่มต่างๆ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีการเปลี่ยนธงชาติหลายครั้ง กรมราชเลขาธิการได้รวบรวมความเห็นเรื่องนี้จากที่ต่างๆ รวมทั้งในหนังสือพิมพ์ เพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งในบรรดาเอกสารดังกล่าว ปรากฏว่าในหมู่ผู้ที่สนับสนุนให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป ได้มีการให้ความหมายของธงที่กระชับกว่าเดิม กล่าวคือ สีแดงหมายถึงชาติ สีขาวหมายถึงศาสนา สีน้ำเงินหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งคลาดเคลื่อนไปจากพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 ไปเล็กน้อย แต่ยังครอบคลุมอุดมการณ์ "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" ที่พระองค์ทรงกำหนดไว้เช่นเดิม และยังเป็นที่จดจำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน[4]

[แก้] ประวัติ

[แก้] กำเนิดของธงสยาม

ธงสีแดง ซึ่งใช้สำหรับเรือของสยาม (ไม่ใช่ธงชาติสยาม) โดยทั่วไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
"ธงช้างเผือก" ธงชาติสยาม พ.ศ. 2398 - 2459

ประวัติศาสตร์การใช้ธงเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย สามารถสืบได้ความแต่เพียงว่า ไทยได้ใช้ธงสีแดงเป็นเครื่องสำหรับเรือกำปั่นเดินทะเลทั่วไปมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และยังไม่ได้มีธงชาติไว้ใช้ดังที่เข้าใจในปัจจุบัน[5] ในจดหมายเหตุต่างประเทศแห่งหนึ่งได้กล่าวว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2199 - พ.ศ. 2231) เรือค้าขายของฝรั่งเศสลำหนึ่งได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เมื่อมาถึงที่ป้อมแห่งหนึ่งของไทย เรือฝรั่งเศสก็ชักธงชาติของตัวเองขึ้น ฝ่ายไทยยิงสลุตคำนับตามธรรมเนียม แต่เมื่อฝ่ายไทยชักธงขึ้นตอบบ้าง ฝ่ายฝรั่งเศสกลับไม่ยิงสลุตคำนับตอบ เพราะได้ชักเอาธงชาติฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) ขึ้นเหนือป้อมด้วยเหตุว่าไทยไม่มีธงชาติของตนใช้ (ขณะนั้นฝรั่งเศสกับฮอลันดาเป็นศัตรูกัน) ฝ่ายไทยได้แก้ไขปัญหาโดยชักผ้าสีแดงขึ้นแทนธงชาติฮอลันดา ฝรั่งเศสจึงยอมยิงสลุตคำนับตอบ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ธงชาติไทย [6]

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเรือหลวงและเรือค้าขายของเอกชนยังคงใช้ธงสีแดงล้วนเป็นเครื่องหมายเรือสยาม จึงได้มีการนำสัญลักษณ์ต่างๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 5 ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง ถือเป็นเกียรติยศยิ่งต่อแผ่นดิน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรของเรือหลวงไว้ด้วย[7][8][6] อันมีความหมายว่า "พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก"[5] แต่ในพระอธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มิได้กล่าวถึงเรื่องธงรูปจักรไว้ แต่กล่าวว่าเปลี่ยนแปลงจากธงแดงมาเป็นธงช้างเผือกในวงจักรในคราวเดียว[5]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับชาติตะวันตกมากขึ้น อันเป็นผลต่อเนื่องจากการทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2398 พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริว่า สยามจำเป็นต้องมีธงชาติใช้ตามธรรมเนียมชาติตะวันตก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางเป็นธงชาติสยาม เนื่องจากมีเหตุผลว่า ธงพื้นสีแดงที่เอกชนสยามใช้ทั่วไปไม่พอที่จะสามารถแยกแยะประเทศได้ในการติดต่อระหว่างประเทศ ธงนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งเรือหลวงและเรือเอกชน แต่เรือหลวงนั้นทรงกำหนดให้ใช้ธงช้างเผือกเปล่าพื้นสีน้ำเงินชักขึ้นที่หัวเรือ เพื่อเป็นเครื่องหมายสำหรับแยกแยะว่าเป็นเรือหลวงด้วย ธงนี้มีชื่อว่า "ธงเกตุ"[7][8][5] (ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นธงฉานของกองทัพเรือไทยในปัจจุบัน[9])

[แก้] ธงไตรรงค์

ทหารอาสาของไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ร่วมการสวนสนามฉลองชัยชนะ ที่ประตูชัยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2462 โดยอัญเชิญธงไตรรงค์ ซึ่งเป็นธงชาติที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าให้ใช้แทนธงช้าง เป็นธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหาร

ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมาจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2459 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และทอดพระเนตรเห็นธงช้างของราษฎรซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จประดับไว้ถูกแขวนกลับหัว พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตรเพื่อไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติอีกครั้ง โดยเปลี่ยนเป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว[6]

พ.ศ. 2460 แถบสีแดงตรงกลางได้เปลี่ยนเป็น "สีขาบ" หรือสีน้ำเงินเข้มเจือม่วงดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน[10] เหตุที่รัชกาลที่ 6 ทรงเลือกสีนี้เพราะเป็นสีมงคลประจำวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของพระองค์ ทั้งสีน้ำเงินยังแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เป็นต้น ซึ่งใช้สีแดง ขาว น้ำเงินเป็นสีในธงชาติเป็นส่วนใหญ่ด้วยอีกประการหนึ่ง ธงชาติแบบใหม่นี้ได้รับพระราชทานนามว่า "ธงไตรรงค์" และอวดโฉมต่อสายตาชาวโลกครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งกองทหารอาสาของไทยได้ใช้เชิญไปเป็นธงชัยเฉลิมพลประจำหน่วย[6]

ธงไตรรงค์ที่สร้างขึ้นในคราวนั้นไม่ใช่ลักษณะอย่างธงไตรรงค์ตามที่กำหนดให้ใช้โดยทั่วไป แต่มีการเพิ่มรูปสัญลักษณ์พิเศษลงในธงด้วย โดยด้านหน้าธงนั้นเป็นรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนแท่นในวงกลมพื้นแดง ลักษณะอย่างเดียวกับธงราชนาวีไทย (ซึ่งกำหนดแบบใหม่ให้ใช้พร้อมกันในคราวประกาศเปลี่ยนธงชาติ) ด้านหลังเป็นตราพระปรมาภิไธยย่อ ร.ร. ๖ ภายใต้พระมหามงกุฎเปล่งรัศมีในวงกลมพื้นแดง ที่แถบสีแดงทั้งแถบบนแถบล่างทั้งสองด้านจารึกพุทธชัยมงคลคาถาบทแรก (ภาษาบาลี) เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทหารอาสาของไทยในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์แก้ไขในตอนท้ายจาก "ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยมงคลจงมีแก่ท่าน) เป็น "ตนฺเตชสา ภวตุ เม ชยสิทฺธินิจฺจํ" (ด้วยเดชแห่งชัยชนะนั้น ขอชัยชนะจงมีแก่ข้าพเจ้าเสมอ)

ธงชัยเฉลิมพลของกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1
ด้านหน้า
ธงชัยเฉลิมพลของกองทหารอาสาในสงครามโลกครั้งที่ 1
ด้านหลัง

พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งแล้ว ควรหาข้อกำหนดเรื่องธงชาติให้เป็นการถาวร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชบรรทึก พระราชทานไปยังองคมนตรี เพื่อให้เสนอความเห็นของคนหมู่มากว่า จะคงใช้ธงไตรรงค์ดังที่ใช้อยู่เป็นธงชาติต่อไป หรือจะกลับไปใช้ธงช้างแทน หรือจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงลักษณะธงชาติ กับวิธีใช้ธงไตรรงค์อย่างไร[11] ผลปรากฏว่าความเห็นขององคมนตรีแตกต่างกระจายกันมาก จึงมิได้กราบบังคมทูลข้อชี้ขาด ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระบรมราชวินิจฉัยลงวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ให้คงใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติต่อไป[12][6]

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลต่างๆ ยังคงรับรองให้ใช้ธงไตรรงค์เป็นธงชาติอยู่เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน โดยมีการออกพระราชบัญญัติธง ฉบับ พ.ศ. 2479[13] และฉบับ พ.ศ. 2522[1] เป็นกฎหมายรับรองฐานะของธงไตรรงค์

[แก้] พัฒนาการของธงชาติไทย

ภาพธง ระยะเวลาการใช้ การบังคับใช้ธง
Flag of Thailand (Ayutthaya period).svg
สมัยอยุธยา - พ.ศ. 2325
(ธงเรือหลวง)
สมัยอยุธยา - พ.ศ. 2398
(ธงเรือเอกชน)
ใช้เป็นธรรมเนียมสืบมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
Flag of Thailand (1782).svg
พ.ศ. 2325 - 2360
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
Flag of Thailand (1817).svg
พ.ศ. 2360 - 2398
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
Flag of Thailand 1855.svg
พ.ศ. 2398 - 2459
พระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รศ. 110 [14]

พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 116 [7]
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 118 [8]
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129[15]

State Flag of Thailand (1916).svg
พ.ศ. 2459 - 2460
พระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 (ธงราชการ) [15]
พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459[16]
Flag of Thailand (1916).svg
พ.ศ. 2459 - 2460
พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง ร.ศ. 129 พ.ศ. 2459[16] (ในชื่อ "ธงค้าขาย")
Flag of Thailand.svg
พ.ศ. 2460 - ปัจจุบัน
พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช 2460 [10]
พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2479[13]
พระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522[1]

[แก้] การชัก ใช้ และแสดงธงชาติไทย

การประดับธงชาติไทยประจำสถานที่ราชการในโอกาสปกติ

ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงปกครองนั้น การประดับ ชัก ใช้ และแสดงธงชาติด้วยวิธีการต่างๆ มักเป็นไปตามธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อกันมา ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ที่แน่นอน แม้จะเริ่มมีการจัดระเบียบธงด้วยกฎหมายต่างๆ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา ก็ยังไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการชัก ใช้ และแสดงธงอย่างชัดเจนนัก

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2479 รัฐบาลไทยจึงเริ่มจัดระเบียบการใช้ธงชาติขึ้นอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยออกระเบียบการชักธงชาติสยามประกอบอยู่ในพระราชบัญญัติธง พุทธศักราช 2479 ปรากฏในในมาตรา 17-20 บทบังคับทั่วไปได้กล่าวถึงระเบียบการชักธงชาติ และข้อควรปฏิบัติต่อธงชาติ และในบทกำหนดโทษ ท้ายพระราชบัญญัติ ในมาตรา 21-23 ก็ได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามบังคับ มีทั้งปรับเป็นเงิน จำคุก หรือทั้งปรับทั้งจำ หนักเบา แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำ ซึ่งต่อมา ก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม โดยออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับต่างๆ อีกหลายฉบับ[17][6]

ระเบียบเกี่ยวกับธงชาติที่บังคับทั่วไปในปัจจุบันนี้ บังคับใช้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ และธงของต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529[18] (แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง เมื่อ พ.ศ. 2546 และ 2547) ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญบางข้อ ดังนี้

[แก้] การเคารพธงชาติ

การเคารพธงชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง[18]

[แก้] การชักธงชาติในราชอาณาจักร

โอกาสและวันพิธีสำคัญที่ต้องมีการชักและประดับธงชาติ มีวันและระยะเวลาดังต่อไปนี้

การชักธงและประดับธงชาติในโอกาสและวันพิธีสำคัญอื่นๆ ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราวๆ ไป

ส่วนการลดธงครึ่งเสานั้น นายกรัฐมนตรีจะสั่งการผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นคราวๆ ไป[18] ตัวอย่างเช่น เมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสาเป็นเวลา 15 วัน และให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการถวายความอาลัยในการสิ้นพระชนม์ของพระองค์[19]

[แก้] กำหนดเวลาชักธงชาติ

โดยปกติแล้ว ตามสถานที่ราชการต่างๆ จะเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาในเวลา 8.00 น. และเชิญธงลงในเวลา 18.00 น. เป็นประจำทุกวัน (ในภาพ เป็นการเชิญธงชาติประจำวันของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร)

เวลาชักธงชาติโดยปกติ กำหนดให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. สำหรับอาคารสถานที่และยานพาหนะฝ่ายทหารนั้น ให้ปฏิบัติตามระเบียบหรือข้อบังคับของฝ่ายทหาร ส่วนในเรือเดินทะเลนั้น ให้ปฏิบัติตามธรรมเนียมชาวเรือ[18]

สำหรับการชักธงชาติในโรงเรียนและสถานศึกษานั้น ปัจจุบันนี้ได้ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. 2547[20] ซึ่งกำหนดให้โดยปกติแล้ว ให้สถานศึกษาชักธงขึ้นเวลาเข้าเรียน และชักธงลงเวลา 18.00 น. ในวันเปิดเรียน ส่วนวันปิดเรียนนั้น ให้ชักธงขึ้นในเวลา 8.00 น. และชักธงลงเวลา 18.00 น. หากสถานศึกษาใดมีความจำเป็นไม่อาจชักธงขึ้นลงตามกำหนดที่กล่าวมา ให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตามความเหมาะสม โดยต้องสอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529

[แก้] การประดับธงชาติ

การประดับธงชาติไทยคู่หรือร่วมกับธงอื่นยกเว้นธงพระอิสริยยศ โดยหลักแล้วธงชาติไทยจะต้องอยู่ในระดับที่ไม่ต่ำว่าธงอื่นๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา (เมื่อมองดูออกมาจากภายใน หรือจุดของสถานที่ที่ใช้ชัก แสดง หรือประดับธงเป็นหลัก) ถ้าหากเป็นการประดับในงานพิธีซึ่งมีแท่นหรือมีที่สำหรับประธาน ธงชาติจะต้องอยู่ทางขวามือเสมอ ในกรณีที่ประดับกับธงอื่นซึ่งรวมกันแล้วได้จำนวนเป็นเลขคี่ ธงชาติไทยจะต้องอยู่ตรงกลาง ถ้ารวมกันแล้วเป็นเลขคู่ ธงชาติไทยต้องอยู่กลางขวา หลักการเช่นนี้อนุโลมใช้กับการประดับธงชาติไทยคู่กับธงต่างประเทศด้วย เว้นแต่ว่าจะข้อตกลงระหว่างประเทศกำหนดไปเป็นอย่างอื่น ก็ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศนั้นเป็นกรณีไป

การประดับธงชาติในการแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศ โดยปกติให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสมาคมกีฬาระหว่างประเทศ หรือตามหลักสากลที่ยอมรับกันในนานาอารยประเทศ

สำหรับการประดับธงชาติคู่หรือร่วมกับพระพุทธรูปหรือพระบรมรูปในงานพิธีต่างๆ ธงชาติต้องอยู่ทางขวาของพระพุทธรูป พระบรมรูปนั้นต้องอยู่ด้านซ้าย[18]

[แก้] ระเบียบในส่วนธงชาติไทย

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ข้อ 19 การกระทำต่อธงชาติโดยไม่ให้ความเคารพ มีดังนี้

  • 19.1 การกระทำอันเป็นการเหยียดหยามต่อธงชาติ ได้แก่ การกระทำต่อธงชาติรูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ ด้วยเจตนาเหยียดหยามประเทศชาติ เช่น ฉีกทำลาย ถ่มน้ำลายรด ใช้เท้าเหยียบ วางเป็นผ้าเช็ดเท้า ซึ่งเป็นการแสดงความดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามชาติไทย
  • 19.2 การกระทำที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีธงชาติ เช่น
    • 19.2.1 การประดิษฐ์รูป ตัวอักษร ตัวเลข หรือเครื่องหมายอื่นในผืนธงรูปจำลองของธง หรือแถบสีของธง
    • 19.2.2 การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงอันมีลักษณะตามข้อ 19.2.1
    • 19.2.3 การใช้ ชัก หรือแสดงธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีของธงไว้ ณ สถานที่หรือวิธีอันไม่สมควร
    • 19.2.4 การประดิษฐ์ธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงไว้ ณ ที่หรือสิ่งใดๆ โดยไม่สมควร
    • 19.2.5 แสดงหรือใช้สิ่งใด ๆ ที่มีรูปธง รูปจำลองของธง หรือแถบสีธงอันมีลักษณะตามข้อ 19.2.4

บทลงโทษสำหรับการกระทำการใดๆ ต่อธง หรือเครื่องหมายอื่นใด อันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ ตามมาตรา 118 แห่งประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่เป็นการกระทำการใดๆ ที่ไม่สมควรต่อธงชาติ รูปจำลองของธงชาติ หรือแถบสีของธงชาติ ตามข้อ 19.2.1 – ข้อ 19.2.5 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522[18]

[แก้] ธงอื่นที่ดัดแปลงลักษณะจากธงชาติ

โดยทั่วไปแล้ว การกำหนดธงอย่างอื่นที่ความหมายถึงชาติของประเทศต่างๆ ล้วนมีการดัดแปลงลักษณะมาจากธงชาติเกือบธงหมด เช่น ธงราชนาวีของกองทัพเรือไทย ซึ่งตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522 นับเป็นธงที่มีความหมายถึงชาติเช่นเดียวกับธงชาติไทย มีลักษณะเป็นธงไตรรงค์ ตรงกลางเป็นรูปช้างเผือก ทรงเครื่องยืนแท่นมีรูปช้างเผือกเปล่าอยู่ตรงกลางในวงกลมสีแดง ปลายขอบวงกลมสีแดงนั้นจดกับขอบแถบสีแดงพอดีทั้งสองด้าน ตามข้อมูลอย่างเป็นทางการของกองทัพเรือไทยนั้น ถือว่าธงนี้พัฒนามาจากธงแดงและธงเรือหลวงของสยามในสมัยต่างๆ ก่อนที่จะมีลักษณะที่แตกต่างจากธงชาติไปเล็กน้อยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2434 เป็นต้นมา แบบธงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้กำหนดให้ใช้พร้อมกับธงไตรงค์ซึ่งเป็นธงชาติเมื่อ พ.ศ. 2460[9] แม้ธงฉาน ซึ่งเป็นธงในราชการทหารที่ใช้สำหรับชักที่หัวเรือรบและใช้เป็นเครื่องหมายของเรือพระที่นั่งและเรือหลวง ก็มีพื้นเป็นธงไตรรงค์เช่นกัน แต่ว่าได้เพิ่มตราสมอสอดวงจักรภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งเป็นเครื่องหมายราชการของกองทัพเรือไว้ เพื่อให้ต่างจากธงชาติอย่างชัดเจน[9]

ธงของทหารอีกอย่างหนึ่งซึ่งทหารทุกคนถือว่าเป็นธงที่สำคัญยิ่ง และเป็นธงที่จะต้องรักษาเอาไว้ด้วยชีวิต คือ ธงชัยเฉลิมพล ธงนี้เป็นธงประจำกองทหาร ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้เชิญไปในพิธีการสำคัญทางทหารที่เป็นเกียรติยศของชาติ และเชิญออกไปกับหน่วยทหารในยามทำสงครามทุกครั้ง[21] ลักษณะโดยรวมนั้นเป็นรูปธงไตรรงค์สี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้า (ขึ้นอยู่กับลักษณะที่กำหนดไว้โดยละเอียดในพระราชบัญญัติธง และกฎกระทรวงตามกฎหมายดังกล่าว) แต่ตรงกลางมีรูปเครื่องหมายประจำกองทัพที่สังกัดและจารึกชื่อของหน่วยทหารไว้ ที่บริเวณมุมธงชัยเฉลิมพลของทุกหน่วย (ยกเว้นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารเรือ) มีเครื่องหมายพระปรมาภิไธยย่อเปล่งรัศมีสีฟ้า และเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานธงภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ส่วนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์จะใช้ธงอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำหนดขึ้นเป็นธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์โดยเฉพาะ[1]

[แก้] ธงที่คล้ายคลึงกัน

FIAV 000100.svg ธงชาติคอสตาริกา สัดส่วนธง 3:5

ธงชาติคอสตาริกา นับได้ว่าเป็นธงชาติของประเทศอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกับธงชาติไทยมากที่สุด กล่าวคือ เป็นธงสามสี ห้าแถบ แถบกลางกว้างเป็นสองเท่าของแถบอื่นเหมือนกัน และใช้โทนสีแดง-ขาว-น้ำเงินเหมือนกัน ต่างกันตรงที่สัดส่วนธงเป็น 3:5 และการวางตำแหน่งแถบสีธงนั้นสลับเอาสีแดงมาอยู่ตรงกลาง ส่วนสีน้ำเงินอยู่แถบนอกสุด หากเป็นธงสำหรับราชการจะเพิ่มเครื่องหมายตราแผ่นดินลงในธงชาติไว้ด้วย

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๕๒๒, เล่ม ๙๖, ตอน ๑๑ ก ฉบับพิเศษ, ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒, หน้า ๑
  2. ^ พระราชนิพนธ์เครื่องหมายแห่งไตรรงค์ ในรัชกาลที่ 6
  3. ^ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, การเมืองในประวัติศาสตร์ธงชาติไทย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2546. หน้า 96
  4. ^ ชนิดา พรหมพยัคฆ์ เผือกสม, เรื่องเดียวกัน. หน้า 101.
  5. ^ 5.0 5.1 5.2 5.3 อธิบายเรื่องธงไทย พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
  6. ^ 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 ธงชาติไทย จากฐานข้อมูลรักบ้านเกิด (คัดลอกจาก ฉวีงาม มาเจริญ. ธงไทย. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2520.)
  7. ^ 7.0 7.1 7.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๑๖, เล่ม ๑๔, ตอน ๒, ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๐, หน้า ๒๙
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๑๘, เล่ม ๑๖, ตอน ๓๙, ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๒, หน้า ๕๔๑
  9. ^ 9.0 9.1 9.2 ธงราชนาวีและธงที่ใช้ในกองทัพเรือ (พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ)
  10. ^ 10.0 10.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติแก้ไขพระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐, เล่ม ๓๔, ตอน ๐ก, ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐, หน้า ๔๓๖
  11. ^ ราชกิจจานุเบกษา, บรรทึกเรื่องธงชาติ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๒๗๓
  12. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชวินิจฉัยเรื่องธงชาติ, เล่ม ๔๔, ตอน ง, ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐, หน้า ๖๐๗
  13. ^ 13.0 13.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๗๙, เล่ม ๕๓, ตอน ๐ก, ๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๙, หน้า ๘๖๕
  14. ^ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยาม รัตนโกสินทรศก ๑๑๐, เล่ม ๑๒, ตอน ๑๘, ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๓๘, หน้า ๑๓๙ (ดูภาพธงตามพระราชบัญญัตินี้ได้ที่เว็บไซต์พิพิธภัณฑ์ธงสยาม)
  15. ^ 15.0 15.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙, เล่ม ๒๗, ตอน ๐ก, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๓, หน้า ๑๗๖
  16. ^ 16.0 16.1 ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธง รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ พุทธศักราช ๒๔๕๙, เล่ม ๓๓, ตอน ๐ก, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙, หน้า ๒๓๘ (พระบรมราชโองการนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2459 ซึ่งถ้านับตามปฏิทินปัจจุบันแล้วจะตรงกับ พ.ศ. 2460)
  17. ^ ระเบียบว่าด้วยการชักธงชาติ (เว็บไซต์กระทรวงวัฒนธรรม)
  18. ^ 18.0 18.1 18.2 18.3 18.4 18.5 รวมข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ
  19. ^ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์, เล่ม ๑๒๕, ตอน ๑ข, ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑, หน้า ๑
  20. ^ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการชักธงชาติในสถานศึกษา พ.ศ. 2547
  21. ^ ธงชัยเฉลิมพล (หอมรดกไทย กระทรวงกลาโหม)

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
ธงชาติไทย