นักศึกษาวิชาทหาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นักศึกษาวิชาทหาร
เครื่องหมายหน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารจังหวัดทหารบกตาก
ตราสัญลักษณ์ศูนย์การกำลังสำรอง (ศสร.)

นักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) หรือนิยมเรียกว่า รด. (ย่อจาก "รักษาดินแดน") เป็นกำลังสำรองของกองทัพไทยที่ฝึกหัดจากเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ภายใต้การควบคุมของหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (นรด.)

ภายหลังจากการยกเลิกการฝึกยุวชนทหารในปี พ.ศ. 2490 ในปีถัดมา พลโท หลวงชาตินักรบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น ได้พิจารณาเห็นว่า การสงครามในอนาคตนั้น พลเมืองทุกคนไม่จำกัดเพศและวัย ย่อมจะต้องมีส่วนร่วมในสงครามด้วยกันทั้งสิ้น จึงมีความจำเป็นต้องขยายโครงสร้างของกองทัพ พร้อมกับพัฒนาระบบกำลังสำรองควบคู่กันไป

กระทรวงกลาโหมจึงจัดตั้งกรมการรักษาดินแดนขึ้น ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบป้องกันราชอาณาจักร พุทธศักราช 2491 และคำสั่งทหารที่ 54/2477 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2491 เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว กิจการนักศึกษาวิชาทหารจึงเริ่มมีขึ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ในปีการศึกษา 2492 ได้เริ่มมีการฝึก นักศึกษาวิชาทหารเป็นปีแรก โดยเริ่มในกรุงเทพมหานคร แล้วจึงกระจายไปตามหัวเมืองในต่างจังหวัด

หลังดำเนินการฝึกเป็นเวลา 5 ปี (2492 - 2496) ในปี 2497 ได้มีพิธีประดับยศ ว่าที่ร้อยตรี เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2497

ในปีการศึกษา 2528 ได้เริ่มมีการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหญิงเป็นครั้งแรก พร้อมกับการฝึกนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือ ส่วนการเริ่มเปิดฝึก นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ในส่วนของกองทัพเรือเป็นครั้งแรกเกิดขึ้นในปีการศึกษา 2552 ซึ่งจะขยายการฝึกจนครบชั้นปีที่ 3 เช่นเดียวกับนักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพบกในปีการศึกษา 2554 แต่ยังคงรับ นศท.ที่สำเร็จการฝึกชั้นปีที่ 3 ในส่วนของกองทัพบกที่มีความประสงค์โอนย้ายมาฝึก นศท.ชั้นปีที่ 4 ในส่วนของกองทัพเรือไปจนถึงปีการศึกษา 2554 หลังจากนั้นเป็นการรับ นศท. ในส่วนของกองทัพเรือ โดยในปีการศึกษา 2556 จะเป็น นศท.ในส่วนของกองทัพเรือที่มาจากการฝึก นศท.ในส่วนของทหารเรือทั้งสิ้น จึงกล่าวได้ว่า นศท. ชั้นปีที่ 5 ที่ฝึกในปีการศึกษา 2556 ในส่วนของกองทัพเรือเป็นลูกหม้อที่มาจากการฝึก นศท. ของกองทัพเรือแต่เพียงผู้เดียว

ปี 2544 กองทัพบกปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ โดยให้รวมกรมการรักษาดินแดนกับกรมการกำลังสำรองทหารบก ใช้ชื่อว่า หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง (นสร.)

ในปีการศึกษา 2549 ทางกรมกำลังพลทหารอากาศได้รับอนุมัติจากกองทัพอากาศ เปิดการฝึกนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และจะเปิดการฝึกครบทั้ง 5 ชั้นปี ในปีการศึกษา 2553

ในเดือนเมษายน 2552 หน่วยบัญชาการกำลังสำรอง เปลี่ยนชื่อเป็น หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน[1]

เนื้อหา

[แก้] การคัดเลือก

ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะมีการคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ เพื่อเข้าเป็นนักศึกษาวิชาทหาร โดยผู้เข้ารับการคัดเลือกจะต้องมีคุณลักษณะดังนี้

  1. เป็นชายหรือหญิงมีสัญชาติไทย
  2. อายุไม่เกิน 22 ปีบริบูรณ์ นับตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร และต้องได้รับ คำยินยอมจาก บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง
  3. ไม่พิการ ทุพพลภาพ หรือมีโรค ซึ่งไม่สามารถจะรับราชการทหารได้ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  4. ไม่เป็นบุคคล ซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ ตามกฎหมาย ที่ออกตามความในมาตรา 13 (3) แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497
  5. มีดัชนีความหนาของร่างกาย (BMI) อยู่ในเกณฑ์ปกติ และต้องไม่อยู่ในภาวะ โรคอ้วน ซึ่งมีดัชนีความหนาของร่างกาย ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป (BMI = น้ำหนักตัว (กก.) / ส่วนสูง² (ม.²) )
  6. มีน้ำหนัก ขนาดรอบตัว ขนาดส่วนสูง ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาที่หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนเปิดทำการฝึกวิชาทหาร
  2. สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป และมีผลการศึกษาของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่า ตั้งแต่ 1.0 ขึ้นไป
  3. ผู้สมัครต้องผ่านการทดสอบร่างกาย ตามเกณฑ์ที่กำหนดในแต่ละปี ซึ่งเกณฑ์การทดสอบคัดเลือกนักศึกษาในปี พ.ศ. 2553 คือ วิ่ง 800 เมตร ใน 3 นาที 15 วินาที, ลุกนั่ง (ซิดอัป) 34 ครั้ง ใน 2 นาที , ดันพื้น (วิดพื้น) 22 ครั้ง ใน 2 นาที

[แก้] หลักสูตรและการเรียนการสอน

หลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารแบ่งการเรียนเป็น 5 ชั้นปี มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. นศท. ชั้นปีที่ 1 และ 2 ให้มีความรู้วิชาทหารเบื้องต้นในระดับลูกแถว เพื่อให้บังเกิดความมีระเบียบวินัยเสริมสร้างบุคลิกลักษณะทหาร สามารถใช้อาวุธประจำกายและทำการยิงอย่างได้ผล
  2. นศท. ชั้นปีที่ 3 ให้มีความรู้วิชาทหารในระดับผู้บังคับหมู่เพื่อให้มีความพร้อม ในการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยในการปฏิบัติการรบในแบบ และการรบนอกแบบ
  3. นศท. ชั้นปีที่ 4 ให้มีความรู้วิชาทหารในระดับรองผู้บังคับหมวดเพื่อให้มีความพร้อม ในการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยในการปฏิบัติการรบในแบบ และการรบนอกแบบ ตั้งแต่ระดับชั้นปี 4 ขึ้นไป จะมีการแบ่งนักศึกษาออกเป็นเหล่า 5 เหล่า คือ เหล่าทหารราบ, เหล่าทหารม้า, เหล่าทหารปืนใหญ่ เหล่าทหารสื่อสาร, เหล่าทหารช่าง
  4. นศท. ชั้นปีที่ 5 ให้มีความรู้วิชาทหารในระดับผู้บังคับหมวดเพื่อให้มีความพร้อม ในการควบคุมบังคับบัญชาหน่วยในการปฏิบัติการรบในแบบ และการรบนอกแบบ การจัดแบ่งนั้น เหมือนกับชั้นปีที่ 4

การเรียนวิชาทหารดังกล่าว สามารถหยุดเรียนไม่เรียนในชั้นปีที่สูงกว่าหลังจบชั้นปีใดๆ ได้ โดยจะได้สิทธิตามที่กำหนดไว้ในระดับชั้นปีนั้นๆ โดยการเรียนการสอนนักศึกษาวิชาทหารแบ่งออกเป็นภาคที่ตั้งและภาคสนาม ในส่วนภาคที่ตั้งทำการเรียน 20 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง ที่หน่วยฝึกนักศึกษาวิชาทหารในส่วนกลาง (นรด.) และส่วนภูมิภาค (มทบ. และ จทบ.) สำหรับส่วนภูมิภาคจะทำการฝึกในช่วงปิดภาคเรียนที่ 1 ส่วนการฝึกภาคสนามจะทำการฝึกเฉพาะนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป โดย

  1. นักศึกษาวิชาทหารชายชั้นปีที่ 2 ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกตามที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารประจำ จทบ. มทบ. กำหนด ขั้นต่ำ 3 วัน 2 คืน (แล้วแต่งบประมาณที่มีในแต่ละปี)
  2. นักศึกษาวิชาทหารชายชั้นปีที่ 3 ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกตามที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารประจำ จทบ. มทบ. กำหนด ขั้นต่ำ 5 วัน 4 คืน
  3. นักศึกษาวิชาทหารชายชั้นปีที่ 4,5 ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่ จ.กาญจนบุรี ขั้นต่ำ 7 วัน 6 คืน
  4. นักศึกษาวิชาทหารหญิงชั้นปีที่ 2,3 ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกตามที่ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหารประจำ จทบ. มทบ. กำหนด ขั้นต่ำ 3 วัน 2 คืน
  5. นักศึกษาวิชาทหารหญิงชั้นปีที่ 4,5 ทำการฝึกภาคสนาม ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่ ขั้นต่ำ 5 วัน 4 คืน

นอกจากกองทัพบกได้เปิดทำการฝึกนักศึกษาวิชาทหารแล้ว ในส่วนของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ก็ได้เปิดการฝึก นักศึกษาวิชาทหารด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

[แก้] นักศึกษาวิชาทหาร ในส่วนของกองทัพเรือ

นักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพเรือนั้น เป็นนักศึกษาวิชาทหารที่กองทัพเรือร้องขอให้หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนช่วยจัดหาให้ โดยแต่ละปีจะรับนึกศึกษาเพียงประมาณ 90 นาย โดยนักศึกษาเหล่านั้น จะต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ของกองทัพเรือเท่านั้น และจะเปิดรับตั้งแต่ชั้นปีที่ 4 จนถึงปีการศึกษา 2554 หลังจากนั้นจะเป็นการรับ นศท. ชั้นปีที่ 3 (ซึ่งสำเร็จการฝึกในปีการศึกษา 2554) ที่มาจากฝึกในส่วนของกองทัพเรือเข้าศึกษาต่อในชั้นปีที่ 4 แต่เพียงอย่างเดียว

นักศึกษาในส่วนของกองทัพเรือสามารถแบ่งออกได้ 3 เหล่าคือ

  1. นายทหารพรรคนาวิน สังกัดกองเรือยุทธการ เปิดรับทุกๆปี ปีละประมาณ 45 นาย
  2. นายทหารพรรคนาวิกโยธิน เปิดรับปีเว้นปี ปีละประมาณ 45 นาย
  3. นายทหารพรรคนาวิน เหล่าต่อสู้อากาศยาน ป้องกันและรักษาฝั่ง เปิดรับปีเว้นปี ปีละประมาณ 45 นาย

การฝึกภาคสนาม

  1. นักศึกษาชั้นปีที่ 4 จะเข้ารับการฝึกเป็นเวลา 7 วัน ที่กองการฝึก กองเรือยุทธการ[2]
  2. นักศึกษาชั้นปีที่ 5 จะแยกฝึกตามสังกัดของตัวเอง โดยใช้เวลาฝึก 17 วัน[2]
  3. หลักสูตรนายทหารใหม่ของกองทัพเรือ นักศึกษาเข้าเรียนเพื่อปรับความพร้อมขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะเข้าประดับยศเป็นว่าที่เรือตรี ณ ศูนย์การฝึกหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน[3]

[แก้] นักศึกษาวิชาทหาร ในส่วนของกองทัพอากาศ

นักศึกษาวิชาทหารในส่วนของกองทัพอากาศนั้น เป็นนักศึกษาวิชาทหารที่กองทัพอากาศต้องการเฉพาะกำลังพลสำรองในส่วนช่างเทคนิค เพื่อชดเชยกำลังหลักในส่วนของช่างเทคนิคที่ขาดแคลน โดยจะคัดเลือกเฉพาะนักศึกษาวิชาทหารที่สถานศึกษามีที่ตั้งใกล้เคียงกับกองบัญชาการกองทัพอากาศกรุงเทพมหานคร และเปิดสอนในด้านช่างเทคนิค ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี โรงเรียนเซนต์จอห์นโปลิเทคนิค ซึ่งกองทัพอากาศได้เปิดการฝึกนักศึกษาวิชาทหารในปีการศึกษา 2549 โดยเริ่มจากชั้นปีที่ 1 เป็นปีแรก และเปิดเพิ่มชั้นละปีไปจนครบชั้นปีที่ 5 ในปีการศึกษา 2553 ซึ่งถือว่าเป็น นศท. ในส่วนของกองทัพอากาศที่สำเร็จการฝึกปีที่ 5 เป็นปีแรกและเป็นรุ่นที่ 1 ที่ฝึกโดยกองทัพอากาศ

[แก้] สิทธิพิเศษที่ นศท. จะได้รับ

  1. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น สิบตรีกองประจำการ (Private First Class) และลดหย่อนวันเข้าประจำการทหารเมื่อถึงอายุเกณฑ์ทหาร
  2. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 2 จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น สิบโท (Corporal) และลดหย่อนวันเข้าประจำการทหารลงอีก
  3. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 จะได้รับการแต่งตั้งยศเป็น สิบเอก (Sergeant) และมีสิทธิ์ไม่เข้าประจำการเมื่อถึงอายุเกณฑ์ทหาร
  4. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4 จะได้รับแต่งตั้งยศเทียบเท่า จ่าสิบเอก (Sergeant Major) พันจ่าอากาศเอก หรือ พันจ่าเอก (Chief Petty Officer First Class)
  5. ผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 5 และมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะได้รับแต่งตั้งเป็น ว่าที่ร้อยตรี (Acting Second Lieutenant) ว่าที่เรืออากาศตรี (Acting Sub Lieutenant) หรือ ว่าที่เรือตรี (Acting Sub-Ensigned) [4]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ http://www.ruksadindan.com/modules.php?name=Forums&file=viewtopic&t=4787&view=next
  2. ^ 2.0 2.1 กองการกำลังพลสำรอง กองทัพเรือ, "การเรียนภาคทฤษฎี/การฝึกภาคปฏิบัติ"
  3. ^ กองการกำลังพลสำรอง กองทัพเรือ, "การอบรมก่อนการแต่งตั้งยศ"
  4. ^ สำหรับคำว่า "ว่าที่" นั้น หมายถึงนายทหารสัญญาบัตรที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้ง ตามธรรมเนียมของกองทัพไทยจึงยังไม่ถือว่าเป็นนายทหารสัญญาบัตรที่สมบูรณ์

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น