ฝ่ายอักษะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แผนที่แสดงพื้นที่ยึดครองของฝ่ายต่าง ๆ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง:
     ฝ่ายอักษะ      จักรวรรดิญี่ปุ่นและรัฐบาลหุ่นเชิด      อาณานิคมและดินแดนยึดครองของฝ่ายอักษะ      วิชีฝรั่งเศสและอาณานิคม
     เป็นกลาง
     สหภาพโซเวียตและรัฐบริวาร      ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก      ดินแดนในเครือจักรภพอังกฤษ      อาณานิคมและดินแดนยึดครองของชาติตะวันตก      ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันออก

ฝ่ายอักษะ (อังกฤษ: Axis Powers; เยอรมัน: Achsenmächte; อิตาลี: Potenze dell'Asse; ญี่ปุ่น: 枢軸国) เป็นพันธมิตรทางการทหารที่ต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ประกอบด้วยสามประเทศหลัก คือ นาซีเยอรมนี อิตาลีและจักรวรรดิญี่ปุ่น ซึ่งได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาสามฝ่าย เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1940 ฝ่ายอักษะได้ยึดครองพื้นที่เพิ่มขึ้นมากมายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ครอบคลุมบางส่วนของทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ทว่าสงครามโลกครั้งที่สองกลับยุติลงโดยความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะ เช่นเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร สมาชิกภาพของประเทศสมาชิกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดระหว่างสงคราม[1]

เนื้อหา

จุดกำเนิด

ดูบทความหลักที่ สนธิสัญญาสามฝ่าย


คำว่า "อักษะ" (Axis) เชื่อกันว่าเป็นคำสร้างของนายกรัฐมนตรีในระบอบฟาสซิสต์ของฮังการี กยูลา เกิมเบิส ผู้ซึ่งให้การสนับสนุนการลงนามเป็นพันธมิตรระหว่างเยอรมนี ฮังการีและอิตาลี ซึ่งตนจะเป็นตัวกลางเชื่อมความแตกต่างระหว่างเยอรมนีและอิตาลีเพื่อให้บรรลุข้อตกลงความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน การถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันของเกิมเบิสในปี ค.ศ. 1936 ทำให้เป็นการยุติการเจรจาระหว่างฮังการีกับเยอรมนี และความพยายามของฮิตเลอร์ที่จะสร้างแกนสามฝ่าย แต่ก่อนหน้านั้น การตกลงระหว่างเยอรมนีและอิตาลีได้นำไปสู่การต้งแกนสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 คำว่า "อักษะ" ถูกใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยผู้นำอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี เมื่อเขาได้กล่าวถึงแกนโรม-เบอร์ลิน ซึ่งได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1936 มุสโสลินีได้ประกาศว่า ความเป็นแกนกลางของทั้งสองประเทศจะทำให้ประเทศอื่นจะต้องโคจรรอบ สนธิสัญญาดังกล่าวถูกร่างขึ้นโดยอิตาลีก่อน ในตอนแรก เยอรมนีปฏิเสธที่จะลงนาม และได้รับการต่อต้านเพราะว่าการทำสงครามในเอธิโอเปียจากสันนิบาติชาติ และได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี ต่อมา เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างอิตาลีและเยอรมนีนำไปสู่การลงนามความเป็นพันธมิตร ซึ่งมุสโสลินีเรียกสนธิสัญญาดังกล่าวว่าเป็น "สนธิสัญญาเหล็ก"

ส่วนการรวมตัวกันเป็น "ฝ่ายอักษะ" อย่างเป็นทางการได้ชื่อหลังจากการลงนามในสนธิสัญญาสามฝ่ายระหว่างเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งได้มีประเทศเข้าร่วมอีกในเวลาต่อมา โดยประเทศที่ทรงอำนาจทางทหารมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนีและญี่ปุ่น โดยก่อนหน้าจะมีการลงนามในสนธิสัญญาสามฝ่าย เยอรมนีและญี่ปุ่นได้เป็นพันธมิตรระหว่างกันหลังจากได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลเรียบร้อยแล้ว

ประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการ

ประเทศสมาชิกหลัก

นาซีเยอรมนี

ดูเพิ่มที่ นาซีเยอรมนี

เยอรมนีถือได้ว่าเป็นผู้นำของกลุ่มประเทศฝ่ายอักษะอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากว่าเยอรมนีมีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดและมีวิทยาการเจริญก้าวหน้าที่สุดในกองทัพประเทศฝ่ายอักษะทั้งหมด ภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์แห่งพรรคนาซี

นโยบายด้านการต่างประเทศของเยอรมนีเกี่ยวข้องกับการเหยียดเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวยิวและชาวโซเวียต รวมไปถึงแนวคิดที่จะสร้างมหาจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งเป็นการรวมเอาประชากรเชื้อชาติเยอรมันทั้งหมดในทวีปยุโรปมาอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน และยังรวมไปถึงแนวคิดเลเบนสเราม์ ซึ่งเป็นการแสวงหาดินแดนแถบยุโรปตะวันออก

เยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ภายหลังการรุกรานโปแลนด์ นักประวัติศาสตร์หลายคนเชื่อว่า จุดเปลี่ยนที่นำไปสู่หายนะของกองทัพเยอรมัน คือ การรุกรานสหภาพโซเวียต รวมไปถึงการเข้าร่วมสงครามของสหรัฐอเมริกา หลังจากการทำศึกหลายด้าน นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในที่สุด เยอรมนียอมจำนนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1945

จักรวรรดิญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นถือว่าเป็นประเทศฝ่ายอักษะที่ยิ่งใหญ่ในภาคพื้นเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก ภายใต้การปกครองของจักรพรรดิฮิโรฮิโตในเวลานั้น

ผลสืบเนื่องมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ได้นำไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการทหาร จักรวรรดิญี่ปุ่นมีนโยบายในการขยายอาณาเขตของตนและการปลดปล่อยชาติเอเชียจากการยึดครองของชาติตะวันตก หรือที่รู้จักกันว่า วงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา นโยบายขยายอาณาเขตทำให้เกิดการบาดหมางกับสันนิบาติชาติ แต่ทำให้เกิดความใกล้ชิดกันระหว่างญี่ปุ่นกับเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งมีนโยบายในการขยายอาณาเขตในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ก้าวแรกในการร่วมมือทางการทหารกับเยอรมนี คือ การลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากล ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องตนเองจากการโจมตีของสหภาพโซเวียต

การรบครั้งสำคัญของญี่ปุ่น เริ่มจาก สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1937 การสู้รบตามแนวชายแดนของสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1938-1939 ต่อมา ญี่ปุ่นได้หาทางเจรจาสงบศึกกับสหภาพโซเวียตและลงนามในสนธิสัญญาความเป็นกลางโซเวียต-ญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1941

ขณะที่มหาอำนาจยุโรปเฝ้าติดตามสถานการณ์สงครามในทวีปยุโรป ญี่ปุ่นจึงเตรียมการรุกรานอาณานิคมของชาติตะวันตกในแถบเอเชีย เริ่มจากการยึดครองอินโดจีนของฝรั่งเศส ตามด้วยการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และการยกพลขึ้นบกในหลายประเทศในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกหลังวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 แต่เมื่อสงครามมาถึงจุดเปลี่ยน ญี่ปุ่นจึงต้องกลายเป็นฝ่ายตั้งรับจนกระทั่งยอมจำนนหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูทั้งสองลูกและการรุกรานแมนจูเรีย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945

ฟาสซิสต์อิตาลี

อิตาลีอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำเผด็จการ เบนิโต มุสโสลินี ในพระนามของ พระเจ้าวิคเตอร์ อิมมานูเอลที่ 3

อิตาลีซึ่งผิดหวังจากการทำสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง จากความระส่ำระสายของบ้านเมืองและภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้นำไปสู่การก้าวขึ้นสู่อำนาจของมุสโสลินีในปี ค.ศ. 1922 แนวคิดของฟาสซิสต์อิตาลี คือ การสร้างจักรวรรดิโรมันใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อครอบครองดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เริ่มจากการทำสงครามกับเอธิโอเปีย และการลงนามในสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากลในปีต่อมา ในเดือนมีนาคม-เมษายน ค.ศ. 1939 อิตาลีได้ผนวกอัลเบเนีย ตามมาด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเหล็ก ในวันที่ 22 พฤษภาคม

อิตาลีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1940 ต่อมา ในเดือนกันยายน เยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่นได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาสามฝ่าย อย่างไรก็ตาม การทำสงครามของอิตาลีประสบความพ่ายแพ้หลายครั้ง ทั้งในกรีซ และในอียิปต์ ทำให้เยอรมนีต้องเข้าแทรกแซงการรบทั้งในกรีซ ยูโกสลาเวียและในแอฟริกาเหนือ ในปี ค.ศ. 1943 มุสโสลินีถูกปลดออกจากตำแหน่ง และประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร

ต่อมา ในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ. 1943 มุสโสลินีได้รับการช่วยเหลือจากกองทัพเยอรมันในปฏิบัติการโอ๊ก และฮิตเลอร์ได้สร้างรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้น โดยเรียกว่า สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี ซึ่งล่มสลายภายหลังจากการยอมแพ้ของกองทัพเยอรมันในอิตาลี เมื่อปี ค.ศ. 1945

ประเทศสมาชิกรอง

  • ฮังการี
  • โรมาเนีย
  • บัลแกเรีย
  • ยูโกสลาเวีย

ประเทศผู้ทำสงครามร่วม

  • ฟินแลนด์
  • อิรัก
  • ไทย

รัฐบาลหุ่นเชิดของจักรวรรดิญี่ปุ่น

  • แมนจูกัว
  • มองโกเลียใน
  • รัฐบาลหวาง จิงเว่ย
  • พม่า
  • สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ที่สอง
  • อินเดีย
  • เวียดนาม
  • กัมพูชา
  • ลาว

รัฐบาลหุ่นเชิดของอิตาลี

  • มอนเตเนโกร

รัฐบาลหุ่นเชิดของนาซีเยอรมนี

  • สโลวาเกีย
  • เซอร์เบีย
  • สาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี
  • อัลเบเนีย
  • ฮังการี

รัฐบาลหุ่นเชิดร่วมระหว่างนาซีเยอรมนีและอิตาลี

  • โครเอเชีย
  • กรีซ
  • พินดัสและมาเซโดเนีย

ประเทศผู้ให้ความร่วมมือกับฝ่ายอักษะ

  • วิชีฝรั่งเศส
  • เดนมาร์ก
  • สหภาพโซเวียต (ก่อนหน้า ค.ศ. 1941)
  • สเปน

อ้างอิง

  1. ^ Hakim, Joy (1995). A History of Us: War, Peace and all that Jazz. New York: Oxford University Press. ISBN 0-19-509514-6.

บรรณานุกรม

  • Axis Alliance in World War II from United States Holocaust Memorial Museum (อังกฤษ)
  • Weinberg, Gerhard L. (2005). A World at Arms: A Global History of World War II (2nd edition ed.). NY: Cambridge University Press. ISBN 0521853168.  Provides a scholarly overview.
  • Dear, Ian C. B. (2005). The Oxford Companion to World War II. Oxford University Press. ISBN 019280670X.  A reference book with encyclopedic coverage of all military, political and economic topics.
  • Kirby, D. G. (1979). Finland in the Twentieth Century: A History and an Interpretation. C. Hurst & Co. Publishers. ISBN 0-90-5838157. 
  • Kirschbaum, Stanislav (1995). A History of Slovakia: The Struggle for Survival. New York: St. Martin's Press. ISBN 0-312-10403-0.  Entails Slovakia's involvement during World War II.
  • Nekrich, Aleksandr Moiseevich; Ulam, Adam Bruno; Freeze, Gregory L. (1997). Pariahs, Partners, Predators: German-Soviet Relations, 1922-1941. Columbia University Press. ISBN 0231106769. 
  • Cohen, Philip J. (1996). Serbia's Secret War: Propaganda and the Deceit of History. New York: Texas A&M University Press. ISBN 0890967601. 
  • Roberts, Geoffrey (1992). Infamous Encounter? The Merekalov-Weizsacker Meeting of 17 April 1939. 35. http://www.jstor.org/stable/2639445. 

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ประวัติศาสตร์ ฝ่ายอักษะ เป็นบทความเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ ฝ่ายอักษะ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ประวัติศาสตร์