สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
WW1 TitlePicture For Wikipedia Article.jpg
รูปภาพเรียงตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากภาพบนสุด: การรบแบบสนามเพลาะในแนวรบฝั่งตะวันตก; รถถัง Mark IV ของอังกฤษกำลังเคลื่อนผ่านสนามเพลาะ; HMS Irresistible เรือรบหลวงแห่งราชนาวีอังกฤษกำลังอับปางหลังจากปะทะเข้ากับทุ่นระเบิด ในยุทธนาวีดาร์เนลส์; ทหารอังกฤษในหน้ากากกันแก๊สกำลังคุมปืนกลวิคเกอร์ส และฝูงเครื่องบินปีกสองชั้นรุ่น Albatros D.III ของเยอรมนี
วันที่ 28 กรกฎาคม ค.ศ. 191411 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918
สถานที่ ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา และในภูมิภาคตะวันออกกลาง (รวมถึงการรบย่อย ๆ ในเอเชียใต้ ประเทศจีนและหมู่เกาะตามมหาสมุทรแปซิฟิก)
ผลลัพธ์ ชัยชนะของฝ่ายไตรภาคี; การล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิออตโตมาน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี; สนธิสัญญาภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง; การก่อตั้งสันนิบาตชาติ; การถือกำเนิดของสหภาพโซเวียต
ผู้ร่วมสงคราม
มหาอำนาจไตรภาคี (พันธมิตร):
จักรวรรดิรัสเซีย
ฝรั่งเศส
จักรวรรดิบริเตน
ราชอาณาจักรอิตาลี
สหรัฐอเมริกา
มหาอำนาจกลาง (ไตรพันธมิตร):
ออสเตรีย-ฮังการี
จักรวรรดิเยอรมัน
จักรวรรดิออตโตมาน
ราชอาณาจักรบัลแกเรีย
ผู้บัญชาการ
ผู้นำและผู้บัญชาการฝ่ายพันธมิตร ผู้นำและผู้บัญชาการฝ่ายมหาอำนาจกลาง
ความสูญเสีย
ทหารเสียชีวิต:
5,525,000 นาย
ทหารบาดเจ็บ:
12,831,500 นาย
ทหารหายสาบสูญ:
4,121,000 นาย
ทหารเสียชีวิต:
4,386,000 นาย
ทหารบาดเจ็บ:
8,388,000 นาย
ทหารหายสาบสูญ:
3,629,000 นาย

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: World War I หรือ First World War) หรือเป็นที่รู้จักกันว่า "สงครามครั้งยิ่งใหญ่" (อังกฤษ: Great War) หรือ "สงครามเพื่อยุติสงครามทั้งมวล" (อังกฤษ: War to End All Wars) เป็นสงครามที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1914 - ค.ศ. 1918 ระหว่างฝ่ายไตรภาคี (อังกฤษ: Triple Entente) และฝ่ายมหาอำนาจกลาง[1] โดยพบว่ามีทหารกว่า 70 ล้านคนมีส่วนร่วมในการรบ[2] ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน[3]

สาเหตุหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็คือ การลอบปลงพระชนม์อาร์คดุยค ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ รัชทายาทของบัลลังก์จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยกัฟรีโล ปรินซีป ชาวเซิร์บบอสเนีย ซึ่งเป็นสมาชิกของแก๊งมือมืด และการแก้แค้นของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีต่อราชอาณาจักรเซอร์เบียก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ก่อให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ปะทุขึ้นในทวีปยุโรป ภายในหนึ่งเดือน ทวีปยุโรปส่วนมากก็อยู่ในสภาวะสงคราม

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร และความปราชัยของฝ่ายมหาอำนาจกลาง - จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิออตโตมัน ได้แตกเป็นประเทศเกิดใหม่จำนวนมาก[4] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุโรปกลาง[5] การสื้นสุดของจักรวรรดิรัสเซีย นำไปสู่การก่อตั้ง สหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซีย ต่อมา ได้มีการก่อตั้ง สันนิบาตชาติ เพื่อเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีจุดประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยวิธีการทางการทูต แต่ทว่าจากลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นภายหลังสงคราม ประกอบกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง[6]

เนื้อหา

[แก้] เบื้องหลัง

รูปภาพแสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะปะทุ

เมื่อออตโต ฟอน บิสมาร์ก ผู้นำในการรวมชาติเยอรมนี นำเยอรมนีจนได้รับชัยชนะในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย และประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1870 แล้ว จึงได้ดำเนินการตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (The Three Emperor's League) ซึ่งแสดงความเป็นพันธมิตรระหว่าง 3 จักรวรรดิของยุโรป ได้แก่ เยอรมนี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และจักรวรรดิรัสเซีย ด้วยเจตนาสำคัญประการแรกคือ ป้องกันการแก้แค้นของฝรั่งเศส ภายหลังเมื่อออสเตรีย-ฮังการีและรัสเซียขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์กันจนมิอาจเป็นพันธมิตรต่อกันได้ บิสมาร์กจึงชักชวนอิตาลีเข้าแทนที่รัสเซีย จึงเกิดเป็นกลุ่มไตรพันธมิตร (The Triple Alliance) ขึ้น[1]

ครั้นบิสมาร์คหมดอำนาจลง จักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ทรงเลิกนโยบายเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย และสร้างความไม่พอใจให้สหราชอาณาจักรด้วยการเริ่มโครงการขยายกองทัพเรือ เพื่อใช้ในการขยายดินแดนและอิทธิพลในซีกโลกตะวันออก ฝรั่งเศสจึงได้โอกาสเสริมสร้างสัมพันธไมตรีกับรัสเซียและเข้าใจอันดีกับอังกฤษ และในที่สุดเมื่อทั้งสามมหาอำนาจตกลงในความขัดแย้งเรื่องอาณานิคมที่เคยมีต่อกันได้แล้ว จึงจัดตั้งกลุ่มไตรภาคี (Triple Entente) ในปี ค.ศ. 1907[1]

วันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1914 กัฟรีโล ปรินซีป นักเรียนชาวเซิร์บบอสเนีย ได้ลอบปลงพระชนม์ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ที่เมืองซาราเยโว ผู้ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มบอสเนียหนุ่ม โดยมีเป้าหมายที่จะรวมชาวยูโกสลาฟ หรือสลาฟใต้เข้าไว้ด้วยกัน และประกาศเอกราชจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เหตุการณ์การลอบสังหารนี้ได้ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ลุกลามต่อมาจนกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ[7] กล่าวคือ จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีต้องการให้เซอร์เบียลงโทษผู้กระทำผิดแต่เซอร์เบียปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการกระทำใด ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย ทำให้มหาอำนาจยุโรปจำนวนมากต้องเข้าสู่สงครามภายในหนึ่งสัปดาห์เนื่องจากข้อตกลงการป้องกันร่วมกัน และการเข้าแทรกแซงสงครามของประเทศพันธมิตรของตน

[แก้] การแข่งขันการสะสมอาวุธ

เรือประจัญบานชั้นเดรตนอทของกองทัพเรืออังกฤษ

การแข่งขันแสนยานุภาพทางทะเลระหว่างอังกฤษและเยอรมนีนั้นเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อกองทัพเรืออังกฤษสร้างเรือประจัญบานชั้นเดรตนอท ซึ่งเป็นเรือประจัญบานขนาดหนักได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1906 การคิดค้นเรือดังกล่าวนับเป็นการปฏิวัติทั้งขนาดและพลังอำนาจที่เหนือกว่าเรือประจัญบานธรรมดาอย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น อังกฤษยังคงสามารถรักษาความเป็นผู้นำทางทะเลได้เหนือกว่าเยอรมนีและอิตาลี พอล เคเนดี้ได้ชี้ว่าทั้งสองประเทศมีความเชื่อว่า แนวคิดของอัลเฟรด เทย์เลอร์ มาฮานเกี่ยวกับการบัญชาการรบทางทะเลว่าเป็นความสำคัญต่อสถานภาพของประเทศอย่างมาก แต่การผ่านการจารกรรมทางพาณิชย์อาจพิสูจน์ว่าแนวคิดของเขาอาจจะผิดก็เป็นได้

เดวิด สตีเวนสัน นักประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ชาวบริเตน ได้กล่าวถึงการแข่งขันการสะสมอาวุธว่าเป็น "การสร้างเสริมตัวเองเป็นวงกลมแห่งการเตรียมความพร้อมด้านการทหารอย่างแรงกล้า"[8] เดวิด เฮอร์มันน์ได้มองการแข่งขันแสนยานุภาพทางทะเลว่าเป็นหลักที่จะชี้ชะตาทิศทางของสงคราม[9] อย่างไรก็ตาม ไนอัล เฟอร์กูสัน นักประวัติศาสตร์ชาวสก็อต ได้โต้แย้งว่า ความสามารถของอังกฤษที่จะรักษาความเป็นผู้นำทางการทหารไว้มิได้เป็นปัจจัยของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเวลาต่อมา[10]

อังกฤษและเยอรมนีต่างใช้จ่ายเงินในการแข่งขันสะสมอาวุธเป็นจำนาวนมาก จากสถิติแล้ว หกชาติมหาอำนาจยุโรป อันได้แก่ อังกฤษ จักรวรรดิรัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและอิตาลี ได้ใช้งบประมาณเพื่อการแข่งขันการสะสมอาวุธเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีค.ศ. 1908กับปี ค.ศ. 1913[11]

[แก้] แผนการ ความไม่ไว้วางใจและการประกาศระดมพล

แผนการชลีฟเฟ็น แผนการรุกรานฝรั่งเศสของเยอรมนี

แนวคิดดังกล่าวถูกเสนอโดยนักปกครองจำนวนมากว่า แผนการระดมพลของเยอรมนี ฝรั่งเศสและรัสเซียนั้นได้ทำให้ความขัดแย้งขยายไปกว้างขึ้น ฟริทซ์ ฟิสเชอร์ได้กล่าวถึงความรุนแรงโดยเนื้อหาของแผนการชลีฟเฟ็นซึ่งได้แบ่งเอากองทัพเยอรมันต้องทำการรบทั้งสองด้าน การทำศึกทั้งสองด้านหมายความว่ากองทัพเยอรมันจำเป็นที่จะต้องรบให้ชนะศัตรูจากทางด้านหนึ่งอย่างรวดเร็วก่อนที่จะทำการรบกับศัตรูที่เหลือได้ แผนการดังกล่าวเรียกว่าเป็น "อุบายการตีกระหนาบ" เพื่อที่จะทำลายเบลเยี่ยมและทำให้กองทัพฝรั่งเศสกลายเป็นอัมพาตโดยการโจมตีอย่างรวดเร็วก่อนที่ฝรั่งเศสจะพร้อมระดมพล หลังจากได้ชัยชนะแล้ว กองทัพเยอรมันจะเคลื่อนไปยังทิศตะวันออกโดยทางรถไฟและทำลายกองทัพรัสเซียซึ่งระดมพลได้อย่างเชื่องช้า[12]

แผนการที่สิบเจ็ดของฝรั่งเศสมีจุดประสงค์ที่จะส่งกองทัพของตนเข้าเป็นยึดครองหุบเขารูร์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรมของเยอรมนี ซึ่งทางทฤษฏีแล้วจะเป็นการทำให้เยอรมนีหมดสภาพที่จะทำสงครามสมัยใหม่ต่อไป

ส่วนแผนการที่สิบเก้าของจักรวรรดิรัสเซียมีเป้าหมายที่จะมองการณ์ไกลและระดมกองทัพของตนเพื่อต่อต้านทั้งจักรรวรดิออสเตรีย-ฮังการีและจักรรวรดิเยอรมนี[13][14]

แผนการของทั้งสามประเทศได้ก่อให้เกิดบรรยากาศซึ่งต้องทำให้ได้มาซึ่งชัยชนะอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสามารถกุมชัยชนะได้ ทุกฝ่ายต่างมีตารางเวลาซึ่งถูกคำนวณอย่างละเอียดลออ เมื่อมีการระดมพลเกิดขึ้น โอกาสที่จะถอยหลังก็หมดสิ้นไปแล้ว ความล่าช้าทางการทูตและการคมนาคมขนส่งที่เลวส่งผลทำให้แผนการเหล่านี้ประสบความติดขัดหรือหยุดชะงัก และเหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ แผนการของทั้งสามประเทศนี้เป็นปฏิบัติการเชิงรุก ซึ่งทำให้ต้องมีการพัฒนาความสามารถในการป้องกันและการขุดสนามเพลาะเพื่อการป้องกันประเทศ[15][16][17][18]

[แก้] ลัทธินิยมทหารและเอกาธิปไตย

ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสันแห่งสหรัฐอเมริกาและคนอื่น ๆ ได้มีความเห็นว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอาจเกิดจากลัทธินิยมทหาร[19] บางคนอาจโต้เถียงว่าเป็นเพราะการปกครองแบบอภิชนาธิปไตย และสำหรับพวกนายทหารชั้นสูงในกองทัพมีอำนาจมากมายดังเช่นในประเทศอย่างเยอรมนี รัสเซียและออสเตรีย-ฮังการี ผู้ซึ่งเห็นว่าสงครามเป็นโอกาสทองที่พวกเขาจะสามารถได้รับตอบสนองความต้องการเพื่ออำนาจทางการทหารและดูถูกการปกครองแบบประชาธิปไตย[20] โดยเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นอย่างโดดเด่นในโฆษณาต่อต้านเยอรมนี เนื่องจากว่าผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการสละราชสมบัติของผูนำประเทศ อย่างเช่น สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี รวมไปถึงการกำจัดพวกชนชั้นสูงซึ่งมีส่วนร่วมในการปกครองของยุโรปมาหลายศตวรรษรวมไปถึงลัทธินิยมทหารด้วย เวทีนี้ได้ให้เหตุผลอันสมควรแก่สหรัฐอเมริกาที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อจักรวรรดิรัสเซียยอมจำนนเมื่อปี 1917[21][22]

ฝ่ายพันธมิตรซึ่งประกอบด้วยสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส มีการปกครองระบบประชาธิปไตย ได้ต่อสู้กับฝ่ายมหาอำนาจกลางซึ่งประกอบด้วย เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการีและจักรวรรดิออตโตมาน รวมไปถึงรัสเซีย พันธมิตรของอังกฤษและฝรั้งเศสเอง ยังคงมีการปกครองระบบจักรวรรดิจนกระทั่งถึงปี 1917-1918 แต่ก็ตรงกันข้ามกับการปราบปรามเชื้อชาติสลาฟของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยหลังฉากนี้ มุมมองของสงครามของหนึ่งในกลุ่มประชาธิปไตยกับการปกครองแบบเผด็จการมาตั้งแต่ก่อนสงครามนั้นดูสมเหตุสมผลและมีน้ำหนักพอสมควร แต่มุมมองเหล่านั้นได้สูญเสียความน่าเชื่อถือไปเรื่อย ๆ ขณะที่ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป

วิลสันนั้นหวังว่าสันนิบาตชาติและการปลดอาวุธนั้นจะช่วยให้สามารถธำรงสันติภาพให้คงอยู่กาลนาน โดยยืมแนวคิดมาจากเอช.อี.เวลส์ เขาได้อธิบายเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งว่าเป็น "สงครามเพื่อที่จะยุติสงครามทั้งมวล" เขายังหวังที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรของอังกฤษและฝร่งเศสตั้งแต่ต้นจนจบ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีลัทธินิยมทหารอยู่บ้าง

[แก้] สมดุลแห่งอำนาจ

ภาพล้อเลียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในทวีปยุโรป ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ

หนึ่งในเป้าหมายของประเทศมหาอำนาจก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็คือ การรักษา "สมดุลแห่งอำนาจ" ในทวีปยุโรป ทำให้ต่อมาได้กลายเป็นระบบที่ประณีตของข้อตกลงและสนธิสัญญาต่าง ๆ ทั้งต่อหน้า (เผยแพร่ต่อสาธารณชน) และลับหลัง (เป็นความลับ) ตัวอย่างเช่น หลังจากสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย อังกฤษก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่เยอรมนีอันแข็งแกร่ง ซึ่งอังกฤษหวังว่าจะช่วยรักษาสมดุลกับศัตรูทางวัฒนธรรมของอังกฤษ นั่นคือ ฝรั่งเศส แต่ว่าภายหลังจากที่เยอรมนีเริ่มที่จะสร้างกองทัพเรือขึ้นมาแข่งขันกับอังกฤษ ก็ทำให้สถานภาพนี้เปลี่ยนไป ฝรั่งเศสผู้กำลังหาพันธมิตรใหม่เพื่อรักษาความปลอดภัยจากอันตรายของเยอรมนี คือ จักรวรรดิรัสเซีย ส่วนจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเผชิญกับภัยจากรัสเซีย ได้รับความช่วยเหลือจากเยอรมนี

เมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งปะทุ สนธิสัญญาเหล่านี้เป็นแค่ตัวตัดสินว่าพวกเขาจะเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายใด อังกฤษผู้ไม่มีสนธิสัญญาผูกพันกับฝรั่งเศสและรัสเซีย แต่ก็เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายพันธมิตร ทางด้านอิตาลีมีทั้งสนธิสัญญาผูกพันกับทั้งเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี แต่ก็ไม่ได้เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง กลับเป็นฝ่ายพันธมิตร บางที สนธิสัญญาที่น่าสังเกตที่สุดน่าจะเป็นสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันระหว่างเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งเยอรมนีได้ร่างขึ้นในปี 1909 โดยได้กล่าวไว้ว่า เยอรมนีจะยืนเคียงข้างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี แม้ว่าพวกเขาจะเป็นฝ่ายเริ่มสงครามก่อนก็ตาม[23]

[แก้] เศรษฐกิจลัทธิจักรวรรดินิยม

วลาดีมีร์ เลนินได้ยืนยันว่าสาเหตุของสงครามนั้นตั้งอยู่บนจักรวรรดินิยม เขาได้กล่าวพรรณาถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ของคาร์ล มาร์กซ และนักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ จอห์น เอ. ฮอบสัน ซึ่งได้ทำนายว่าการแข่งขันอย่างไม่สิ้นสุดเพื่อการขยายตลาดการค้านั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับโลก[24] โดยเหตุผลดังกล่าวนั้นมีผู้เชื่อถือเป็นจำนวนมากและได้สนับสนุนการเจริญเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ เลนินยังได้กล่าวว่าความสนใจในการเงินของมหาอำนาจลัทธิทุนนิยม-จักรวรรดินิยมจำนวนมากได้ก่อให้เกิดสงคราม[25]

[แก้] การกีดกันทางการค้า

คอร์เดล คูล ซึ่งเป็นเลขานุการของประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ เชื่อว่าการกีดกันทางการค้าเป็นทั้งสาเหตุของทั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1944 เขาได้มีส่วนในการร่วมร่างระบบเบร็ตตัน วูดส์เพื่อลดการกีดกันทางการค้าและกำจัดสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง[26][27]

[แก้] การแข่งขันทางการเมืองและมนุษยชาติ

ความขัดแย้งของยุโรปในปี 1914
สีเหลือง: ประเทศเป็นกลาง
สีแดง: ฝ่ายมหาอำนาจกลาง
สีเขียว:ฝ่ายพันธมิตร

สงครามบนคาบสมุทรบอลข่านระหว่างจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและเซอร์เบียนั้นถูกพิจารณาว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ด้วยอิทธิพลของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้เสื่อมถอยและการเจริญเติบโตของลัทธิรวมเชื้อชาติสลาฟ และความเจิรญขึ้นของลัทธิชาตินิยมภายในประจวบกับการเจริญเติบโตของเซอร์เบีย ซึ่งความรู้สึกต่อต้านชาวออสเตรียอาจจะมีความรุนแรงมากที่สุด จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีนั้นได้ยึดครองแคว้นบอลเนีย-เฮอร์เซโกวิเนียของจักรวรรดิออตโตมาน ซึ่งมีจำนวนประชากรชาวเซิร์บเป็นจำนวนมากในปี 1878 และจากนั้นก็ได้ถูกยุบรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในปี 1908 ความรู้สึกรักชาติที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับที่จักรวรรดิออตโตมาน รัสเซียนั้นได้สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อการรวมเชื้อชาติสลาฟ และกระตุ้นโดยมนุษยธรรมและความจงรักภักดีต่อศาสนาและการแข่งขันกับจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีย้อนกลับไปยังสงครามไครเมีย เหตุการณ์ปัจจุบันอย่างเช่น สนธิสัญญาล้มเหลวระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับรัสเซีย และความฝันเก่าตั้งแต่ต้นศตวรรษเรื่องท่าเรือน้ำอุ่นก็ได้ถูกกระตุ้นในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก[28]

นอกจากในบอสเนียแล้ว ก็ยังมีเจตนาอยู่ในสถานที่อื่น ๆ อีกเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นการสูญเสียแคว้นอัลซาซและแคว้นลอร์เรนภายหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียได้ก่อให้เกิดความรู้สึกต่อต้านในกลุ่มประชากรไปโดยปริยาย ในที่สุด ฝรั่งเศสก็ได้รัสเซียเป็นพันธมิตร และได้สร้างสิ่งที่ตั้งเค้าว่าจะกลายเป็นบศึกสองด้านกับเยอรมนี

[แก้] วิกฤตการณ์เดือนกรกฎาคมและการประกาศสงคราม

สาส์นประกาศสงครามของจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ของจักรวรรดิเยอรมนีในปี 1914

รัฐบาลของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี ได้ยกเอาเหตุผลของการลอบปลงพระชนม์ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย เป็นการตั้งคำถามกับเซอร์เบีย เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1914 ออสเตรีย-ฮังการีได้ยื่นคำขาดแก่เซอร์เบียโดยมีความต้องการสิบข้อ ซึ่งบางข้อนั้นเซอร์เบียเห็นว่ารุนแรงเกินไป จึงปฏิเสธคำขาดข้อที่หก เซอร์เบียนั้นไว้ใจว่าตนจะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากรัสเซีย จึงทำให้เกิดการปฏิเสธคำขาดบางกรณี และหลังจากนั้นก็มีการออกคำสั่งระดมพล จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีได้ตอบสนองโดยการประกาศสงครามเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ในตอนเริ่มต้น กองทัพรัสเซียได้สั่งระดมพลเป็นบางส่วน มุ่งตรงมายังชายแดนของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม หลังจากที่กองเสนาธิการทั่วไปของรัสเซียได้ทูลแก่พระเจ้าซาร์ว่า การส่งกำลังบำรุงแก่ทหารเกณฑ์นันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จึงได้เปลี่ยนเป็นการระดมพลเต็มขนาดแทน แผนการชลีฟเฟ็นซึ่งมีเป้าหมายที่จะโจมตีสายฟ้าแลบต่อฝรั่งเศสนั้น ไม่สามารถให้รัสเซียสามารถระดมพลได้ นอกจากภายหลังกองทัพเยอรมันได้เข้าโจมตีแล้ว ดังนั้น เยอรมนีจึงประกาศสงครามกับรัสเซียเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม และฝรั่งเศสในอีกสองวันต่อมา หลังจากนั้นเยอรมนีก็ได้ฝ่าฝืนต่อความเป็นกลางของเบลเยี่ยมโดยการเดินทัพผ่านเพื่อไปโจมตีกรุงปารีส ซึ่งส่งผลให้จักรวรรดิอังกฤษเข้าสู่สงคราม ด้วยสาเหตุนี้ ห้าในหกประเทศมหาอำนาจของยุโรป จึงเข้ามาพัวพันอยู่ในความขัดแย้งวงกว้างภายในทวีปยุโรปครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามนโปเลียน[29]

[แก้] เส้นทางของสงคราม

[แก้] กระสุนนัดแรก

[แก้] ความสับสนภายในฝ่ายมหาอำนาจกลาง

แผนการทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายมหาอำนาจกลางต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของการคมนาคมและการสื่อสารระหว่างกัน เยอรมนีให้คำมั่นแก่ออสเตรีย-ฮังการีว่าตนจะช่วยสนับสนุนในการรุกรานเซอร์เบีย จึงทำให้เกิดความผิดใจกันในฝ่ายมหาอำนาจกลาง ออสเตรีย-ฮังการีนั้นเชื่อว่าเยอรมนีจะช่วยส่งกองทัพเข้ามาป้องกันประเทศทางชายแดนด้านทิศเหนือซึ่งติดกับรัสเซีย อย่างไรก็ตาม ออสเตรีย-ฮังการีได้มีความเห็นที่จะส่งกองทัพหลักของตนพุ่งเป้าไปยังรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีจัดการกับประเทศฝรั่งเศส จากสาเหตุดังกล่าวได้สร้างความสับสนให้แก่กองทัพออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งจำเป็นต้องแบ่งกองทัพของตนเพื่อรบกับทั้งเซอร์เบียและรัสเซียทั้งสองด้าน

[แก้] เขตสงครามทวีปแอฟริกา

ดูบทความหลักได้ที่ เขตปฏิบัติการทวีปแอฟริกา (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

ประกายแรกของสงครามก็ได้เข้ามาพัวพันกับอาณานิคมทั้งหลายของอังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมนีในทวีปแอฟริกา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1914 กองทัพอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสได้เข้าโจมตีรัฐในอารักขาของเยอรมนี โตโกแลนด์ อีกสองวันต่อมา กองทัพเยอรมันในนามิเบียได้เข้าโจมตีแอฟริกาใต้ การรบในทวีปแอฟริกายังมีขึ้นอย่างประปรายและรุนแรงตลอดช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

[แก้] เขตสงครามเซอร์เบีย

ทหารเซอร์เบียขณะข้ามแม่น้ำคาลูบาราระหว่างการรบ

กองทัพเซอร์เบียได้ต่อสู้กับกองทัพออสเตรีย-ฮังการีผู้รุกรานระหว่างยุทธภูมิเซอร์ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ได้เข้ายึดตำแหน่งที่มั่นทางตอนใต้ของแม่น้ำดรินาและแม่น้ำซาวา อีกสองสัปดาห์ถัดมา กองทัพออสเตรีย-ฮังการีถูกโจมตีโต้กลับอย่างหนักประสบความเสียหายรุนแรง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะครั้งแรงของฝ่ายพันธมิตรและทำลายความหวังของกองทัพออสเตรีย-ฮังการีไปสิ้น ซึ่งทำให้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีจำเป็นต้องรักษากองกำลังขนาดใหญ่ไว้ทางแนวรบเซอร์เบีย ซึ่งทำให้ความพยายามต่อต้านรัสเซียอ่อนแอลง กองทัพเซอร์เบียยังได้ชัยชนะเหนือกองทัพออสเตรีย-ฮังการีอีกครั้งในยุทธภูมิคาลูบารา

[แก้] กองทัพเยอรมันในเบลเยี่ยมและฝรั่งเศส

ขบวนทหารม้าหนักฝรั่งเศสขณะเดินทัพไปยังแนวหน้า เดือนสิงหาคม 1914

ในตอนเริ่มแรก กองทัพเยอรมันได้รับชันขนะใหญ่หลวงในยุทธภูมิแห่งชายแดน (14-24 สิงหาคม) อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้โจมตีปรัสเซียตะวันออก ทำให้เยอรมนีจำเป็นต้องแบ่งกองทัพออกมาตั้งรับรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก แทนที่จะไปสนับสนุนกองทัพของตนในแนวรบด้านตะวันตก ด้านกองทัพเยอรมันก็ได้ชัยชนะเหนือกองทัพรัสเซียในการรบหลายคร้ง อย่างเช่น ยุทธภูมิทันเนนเบิร์กครั้งที่หนึ่ง (17 สิงหาคม - 2 กันยายน) แต่การรบในแนวรบด้านตะวันออกก็ต้องล่าช้าเนื่องจากความเร็วในการรุกเป็นไปอย่างเชื่องช้าและทางคมนาคมทางรถไฟของรัสเซียไม่ถูกค้นพบโดยกองเสนาธิการเยอรมัน แต่เดิม แผนการชลีฟเฟ็นได้มีเป้าหมายเพื่อให้ปีกขวาของกองทัพเยอรมันโจมตีเข้าสู่ทางตะวันตกของกรุงปารีส อย่างไรก็ตาม ด้วยความเชื่องช้าและความไร้ประสิทธิภาพของพาหนะม้าลากขัดขวางรถไฟขนเสบียงของเยอรมนี ทำให้กองทัพพันธมิตรสามารถหยุดยั้งการรุกของเยอรมนีได้ที่ ยุทธภูมิแม่น้ำมาร์นครั้งที่หนึ่ง (5-12 กันยายน) ฝ่ายมหาอำนาจกลางจึงสุญเสียความเร็วในการโจมตีและการโจมตีสายฟ้าแลบก็เริ่มประสบความล้มเหลว เนื่องจากเยอรมนีต้องสู้ศึกทั้งสองด้าน แต่ว่าทางด้านกองทัพเยอรมันก็ได้ประจำอยู่ในที่มั่นตั้งรับภายในฝรั่งเศสและสามารถสังหารทหารพันธมิตรได้มากกว่า 230,000 คน ด้วยการคมนาคมที่ไร้ประสิทธิภาพและการบัญชาการที่เป็นปัญหา เยอรมนีจำเป็นต้องชดใช้ด้วยการทำสงครามยืดเยื้อในอนาคต

[แก้] ทวีปเอเชียและแถบมหาสมุทรแปซิฟิก

ดูบทความหลักได้ที่ เขตปฏิบัติการทวีปเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

นิวซีแลนด์ได้เข้ายึดครองซามัวตะวันตกเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม เมื่อวันที่ 11 กันยายน ทหารเรือและกองทหารนอกประเทศของออสเตรเลีย ได้ขึ้นฝั่งบนเกาะนิว พัมเมิร์น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมันนิวกินี ญี่ปุ่นได้เข้าโจมตีดินแดนอาณานิคมของเยอรมนีในไมโครนิเซีย และภายในไม่กี่เดือน ดินแดนอาณานิคมโพ้นทะเลของเยอรมนีแถบมหาสมุทรแปซิฟิกก็ถูกกองทัพพันธมิตรยึดครองทั้งหมด

[แก้] แนวรบด้านตะวันตก: การรบแบบสนามเพลาะ

ทหารเยอรมันเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1914

ยุทธวิธีทางการทหารที่ใช้กันในกองทัพช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งล้าหลังกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอยู่มากนัก ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้มีสิ่งก่อสร้างที่มีระบบการป้องกันที่เยี่ยมยอด ซึ่งยุทธวิธีการทหารอันล้าสมัยไม่สามารถโจมตีผ่านได้เป็นช่วงเวลาส่วนใหญ่ของสงคราม ลวดหนาม ประดิษฐกรรมเพื่อยับยังการโจมตีแบบคลื่นมนุษย์ ทางด้านปืนใหญ่ที่ใช้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็มีประสิทธิภาพร้ายแรงกว่าที่เคยใช้ในช่วงคริสต์ทษวรรษ 1870 มากนัก และเมื่อใช้ร่วมกับปืนกล ทำให้การเคลื่อนทัพผ่านพื้นที่เปิดนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ ด้านเยอรมนีได้คิดค้นก๊าซพิษและต่อมาก็ได้ใช้ในสงครามทั้งสองฝ่าย แม้ว่ามันจะไม่เคยพิสูจน์ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ได้รับชัยชนะเด็ดขาดในการรบ อย่างไรก็ตาม แก๊สพิษนั้นมีผลที่โหดร้าย และทำให้ความตายที่ตามมานั้นเชื่องช้าและทรมาน ก๊าซพิษจึงกลายเป็นอาวุธที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดและเป็นความทรงจำอันเลวร้ายของสงคราม เหล่าผู้บัญชาการของทั้งสองฝ่ายต่างก็ประสบความล้มเหลวในการพัฒนายุทธวิธีใหม่ ๆ เพื่อที่จะโจมตีผ่านแนวสนามเพลาะซึ่งเป็นที่มั่นอย่างดีสำหรับฝ่ายตั้งรับ ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงทุกครั้งที่เกิดการบุก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ได้คิดค้นยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการรุก อย่างเช่น รถถัง ซึ่งเดิมทีอังกฤษและฝรั่งเศสได้นำมาใช้ในสงคราม ส่วนเยอรมนีได้ยึดเอารถถังจำนวนหนึ่งจากฝ่ายพันธมิตรและประดิษฐ์ขึ้นเองอีกเล็กน้อย

ภายหลัง ยุทธภูมิแม่น้ำมาร์นครั้งที่หนึ่ง ทั้งฝ่ายพันธมิตรและเยอรมนีก็ได้เริ่มอุบายการตีขนาบปีกของกองทัพฝ่ายตรงข้าม เรียกว่า "การแข่งขันสู่ทะเล" อังกฤษและฝรั่งเศสพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับกองทัพเยอรมันที่อยู่ในเขตที่มั่นอย่างมั่นคงเป็นแนวยาวตั้งแต่แคว้นลอร์เรนของฝรั่งเศสไปจนถึงเขตทุ่งฟแลนดีสของเบลเยี่ยมติดกับทะเลเหนือ ด้านอังกฤษและฝรั่งเศสได้พยายามที่จะเริ่มการโจมตี ขณะที่เยอรมนีได้ทำการตั้งรับอย่างเข้มแข็งในดินแดนยึดครอง ในด้านยุทธวิธี โดยรวมแล้ว สนามเพลาะของเยอรมนีมีประสิทธิภาพเหนือกว่าสนามเพลาะของฝ่ายพันธมิตรมากนัก ขณะที่แนวสนามเพลาะของฝ่ายพันธมิตร เดิมทีได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นแนวชั่วคราวสำหรับเตรียมการโจมตีผ่านแนวรบของเยอรมนีเท่านั้น[30] ทั้งสองฝ่ายได้พยายามที่จะรบโดยการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการรบมากขึ้น ในเดือนเมษายน 1915 ฝ่ายเยอรมนีเริ่มใช้ก๊าซคลอรีนเป็นครั้งแรก (ซึ่งเป็นการละเมิด การประชุมกรุงเฮก) และได้เปิดแนวรบพันธมิตรเป็นช่องยาวกว่า 6 กิโลเมตรเมื่อกองทัพพันธมิตรได้ถอนตัวออกไป จากนั้นกองทัพแคนาดาได้เข้ามาอุดช่องโหว่ที่ยุทธภูมิอีพรีครั้งที่สอง และในยุทธภูมิอีพรีครั้งที่สาม กองทัพแคนาดาและกองทัพผสมแอนแซ็กได้ยึดครองหมู่บ้านพาสเชลเดล

ทหารอังกฤษขณะเริ่มต้นการโจมตี ระหว่างยุทธการแห่งแม่น้ำซอมม์ ปี 1916

วันที่ 1 กรกฎาคม 1916 เป็นวันแรกของยุทธการแม่น้ำซอมม์ กองทัพอังกฤษได้พบกับความสูญเสียที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ ความสูญเสียกว่า 57,470 นายและเสียชีวิตกว่า 19,240 นาย ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างชั่วโมงแรกของการรบ จนถึงตอนนี้การรุกของกองทัพอังกฤษในแนวรบด้านตะวันตกได้คร่าชีวิตทหารไปเกือบครึ่งล้านนายแล้ว[31]

ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่สามารถที่จะโจมตีผ่านแนวรบของอีกฝ่ายได้เป็นเวลากว่าสองปี แม้ว่าการทำศึกยืดเยื้อของเยอรมนีที่ป้อมเปเดิง ตลอดทั้งปี 1916 ประกอบกับความล้มเหลวของกองทัพพันธมิตรในแม่น้ำซอมม์ ทำให้กองทัพฝรั่งเศสใกล้ที่จะล่มสลายเต็มที การที่กองทัพฝรั่งเศสยังคงยึดมั่นในหลักการเดิม ๆ ในการใช้ทหารจำนวนมหาศาลนั้นเป็นวิธีที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง วิธีนี้ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสสูญเสียชีวิตทหารจำนวนสูงลิบและได้นำไปสู่การขัดคำสั่งของทหารฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรุกเนวิลล์

ทหารแคนาดาเดินตามหลังรถถังมาร์ก 1 ของอังกฤษ ระหว่างยุทธภูมิเนินวิมี

ตลอดช่วงเวลาปี 1915-1917 จักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสได้รับความสูญเสียหนักกว่ากองทัพเยอรมันมากนัก ด้านยุทธศาสตร์ กองทัพเยอรมันใช้วิธีโหมกระหน่ำโจมตีครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวที่ป้อมเปเดิง ขณะที่กองทัพพันธมิตรได้พยายามหลายครั้งเพื่อที่จะโจมตีผ่านแนวของเยอรมัน ด้านยุทธวิธี หลักการตั้งรับของเยอรมันนั้นเหมาะสมกับกลยุทธ์สนามเพลาะอย่างยิ่ง ด้วยการที่ปล่อยให้แนวสนามเพลาะที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าป้องกันแนวหน้าส่วนที่ไม่สำคัญ ส่วนตำแหน่งหลักนั้นทำให้สามารถโจมตีกลับได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง[32] การผสมผสานนี้ทำให้เยอรมนีสามารถผลักดันกองทัพพันธมิตรให้ถอยออกไปได้โดยสูญเสียทหารน้อยกว่าอีกฝ่ายมาก และเมื่อเวลาผ่านไป ความสูญเสียของฝ่ายเยอรมนีเมื่อเทียบกับฝ่ายพันธมิตรแล้ว จึงพบว่าน้อยอย่างน่าอัศจรรย์

ทหารของจักรวรรดิอังกฤษราว 800,000 คนนั้นทำการรบอยู่บนแนวรบด้านตะวันตกในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ กว่า 1,000 กองพันได้ตั้งเรียงเป็นแนวยาวเผชิญหน้ากับแนวสนามเพลาะของเยอรมนีตั้งแต่ทะเลเหนือลงมาจนถึงแม่น้ำออนี ทำให้เกิดระบบหมุนเวียน เว้นแต่ว่าอยู่ระหว่างการโจมตี แนวหน้าของฝ่ายพันธมิตรนั้นเป็นแนวสนามเพลาะยาวกว่า 9,600 กิโลเมตร กองพันแต่ละกองมีหน้าที่ที่จะรักษาแนวสนามเพลาะนี้เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะเปลี่ยนเวร และถอยกลับไปยังแนวสนับสนุนหลังแนวรบ วิธีการนี้ใช้มากในเขตโปเปอร์รีนและอเมนส์ของเบลเยี่ยม

ในปี 1917 ยุทธภูมิแอเรซนั้นเป็นแค่เพียงชัยชนะทางทหารของอังกฤษซึ่งสามารถยึดเนินวีมีได้สำเร็จเพียงครั้งเดียว ภายใต้คณะทหารแคนาดาภายใต้การบังคับบัญชาของเซอร์ อาเธอร์ คูรี่และจูเลี่ยน บียง ฝ่ายโจมตีสามารถรุกได้สำเร็จเพียงครั้งเดียว จากนั้นก็ทำการสนับสนุนอย่างรวดเร็วและสามารถยึดครองแคว้นบูไอซึ่งมีทรัพยากรถ่านหินเป็นจำนวนมาก[33][34]

[แก้] สงครามทางทะเล

ดูบทความหลักได้ที่ กลยุทธ์ทางทะเลในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

กองเรือรบประจัญบานแห่งกองเรือทะเลหลวงในมหาสมุทรแอตแลนติก

ในตอนเริ่มต้นของสงคราม จักรวรรดิเยอรมนีนั้นมีเรือลาดตระเวนเป็นจำนวนประปราย แต่อยู่ทั่วทั้งโลก ในภายหลังกองทัพเรือเยอรมันได้ใช้เรือรบดังกล่าวเพื่อการจมเรือพาณิชย์ของฝ่ายพันธมิตร กองทัพเรืออังกฤษนั้นได้พยายามตามล่าเรือรบเหล่านี้อย่างเป็นระบบ แต่ว่ากองเรือเหล่านี้มีความอับอายเนื่องจากเรือรบเหล่านี้ไม่สามารถป้องกันเรือพาณิชย์ได้ จึงได้มีการกระทำบางประการ เช่น มีเรือลาดตระเวนเบาอันสันโดษของเยอรมัน "เอมเดน" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองเรือเอชียตะวันออก ประจำการอยู่ในเมืองท่าซิงเทา ถูกเผาและพ่อค้า 15 ตนบนเรือเสียชีวิต รวมไปถึงการจมเรือลาดตระเวนเบาของรัสเซียและเรือพิฆาตฝรั่งเศสอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดใหญ่โตของกองเรือเอเชียตะวันออกของเยอรมัน-ซึ่งประกอบด้วยเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะ Scharnhorst และ Gneisenau เรือลาดตระเวนเบา Nürnberg และ Leipzig และเรือบรรทุกอีกสองลำ- นั้นมิได้รับคำสั่งให้เข้าปล่นเรือสินค้าฝ่ายพันธมิตรแต่อย่างใด และกำลังเดินทางกลับสู่เยอรมนีเมื่อกองเรือเหล่านี้ปะทะเข้ากับกองเรืออังกฤษ กองเรือเล็กเยอรมัน พร้อมด้วยเรือเดรสเดน ได้จมเรือลาดตระเวนหุ้มเกราะไปสองลำในยุทธนาวีโคโรเนลแต่ว่ากองเรือดังกล่าวก็เกือบจะถูกทำลายจนสิ้นในยุทธนาวีหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ ในเดือนธันวาคม 1914 เหลือเพียงเรือเดรสเดนเท่านั้นที่สามารถหลบหนีได้[35]

ไม่นานหลังจากการรบทางทะเลเริ่มต้น อังกฤษก็ได้ทำการปิดล้อมทางทะเลกับเยอรมนี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่พิสูจน์ว่าได้ผลในสงครามครั้งนี้ การปิดล้อมได้ตัดเสบียงและทรัพยากรของเยอรมนี แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการละเมิดประมวลกฤหมายนานาชาติซึ่งถูกร่างขึ้นโดยทั้งสองประเทศก็ตาม[36] กองทัพเรืออังกฤษยังได้วางทุ่นระเบิดตามนานน้ำสากลเพื่อป้องกันมิให้กองเรือใดๆ เข้าออกเขตมหาสมุทร ซึ่งเป็นอันตรายแม้แต่กับเรือของประเทศที่เป็นกลาง[37] และเนื่องจากอังกฤษไม่ออกมารับผิดชอบต่อผลเสียที่เกิดจากยุทธวิธีนี้ เยอรมนีจึงได้กระทำแบบเดียวกันกับกลยุทธ์เรือดำน้ำของตนเช่นกัน[38]

เรือรบหลวงไลออนระหว่างยุทธนาวีคาบสมุทรจัตแลนด์ ภายหลังถูกระดมยิงอย่างหนักจากเรือรบเยอรมัน

ปี 1916 ยุทธนาวีแห่งคาบสมุทรจัตแลนด์ (ภาษาเยอรมัน: "Skagerrakschlacht", หรือ "Battle of the Skagerrak") ได้กลายเป็นยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามโลกครั้งนี้ ซึ่งเป็นการปะทะกันเต็มอัตราศึกของกองทัพเรือทั้งสองฝ่าย ซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 1916 บริเวณทะเลเหนือห่างจากคาบสมุทรจัตแลนด์ กองเรือทะเลหลวงของกองทัพเรือเยอรมันบัญชาการโดยพลเรือโท Reinhard Scheer เผชิญหน้ากับกองเรือหลวงของกองทัพเรืออังกฤษภายใต้การนำของพลเรือเอก เซอร์ John Jellicoe ผลชองยุทธนาการครั้งนี้คือเสมอกัน ฝ่ายเยอรมันนั้นมีชัยชนะเชิงเล่ห์เหลี่ยมเหนือกองทัพอังกฤษที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่งกองเรือเยอรมันวางแผนที่จะหลบหนีและได้สร้างความเสียหายต่อกองทัพเรืออังกฤษมากกว่าที่กองเรือเยอรมันได้รับ แต่ทางยุทธศาสตร์แล้ว กองทัพเรืออังกฤษยังคงครองความเป็นเจ้าสมุทรเหนือมหาสมุทรต่อไป และกองทัพเรือบนผิวน้ำก็ถูกกักให้อยู่แต่ในท่า (ไม่สามารถปฏิบัติการได้) อีกเลยตลอดช่วงเวลาของสงคราม

เรืออูของเยอรมันนั้นมีความพยายามที่จะตัดเส้นทางสนับสนุนระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ[39] และเป็นธรรมชาติของกลยุทธ์เรือดำน้ำที่จะทำการโจมตีโดยไม่มีการกล่าวตักเตือน เรือสินค้าที่ถูกจมจึงมีความหวังน้อยมากที่ลูกเรือจะมีชีวิตรอด สหรัฐอเมริกาจึงประท้วง เยอรมนีจึงปรับปรุงรูปแบบการทำการรบ[40] ภายหลังจากการจมเรือโดยสารลูซิทาเนียอันโด่งดัง ในปี 1915 เยอรมนีสัญญาว่าจะไม่โจมตีเส้นทางของเรือพาณิชย์อีก ขณะที่อังกฤษได้ติดอาวุธให้กับเรือพาณิชย์ของตน[41] ในที่สุดแล้ว ต้นปี 1917 เยอรมนีได้กักนโยบายกลยุทธ์เรือดำน้ำแบบไม่จำกัด เนื่องจากกลัวว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงคราม ด้านแยอรมนีพยายามที่ค้นหาเส้นทางการเดินเรือของฝ่ายพันธมิตรก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะขนส่งกองทพขนาดใหญ่ข้ามทะเลมาได้[42][43]

ภัยจากเรืออูนั้นเริ่มลดลงเมื่อปี 1917 เมื่อเรือพาณิชย์ของอังกฤษได้เข้าร่วมกับขบวนเรือคุ้มกันซึ่งประกอบไปด้วยเรือพิฆาต ยุทธวิธีดังกล่าวทำให้เป็นการยากที่เรืออูของเยอรมันจะสามารถค้นหาเป้าหมาย ทำให้เกิดความสูญเสียน้อยลง ภายหลังการเปิดตัวไฮโดรโฟนและระเบิดน้ำลึก ทำให้เรือพิฆาตมีความหวังที่จะโจมตีเรือดำน้ำซึ่งยังปฏิบัติการอยู่ได้ แต่ว่าการใช้ระบบขบวนเรือดังกล่าวก็ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งเสบียง เนื่องจากต้องใช้เวลานานในการรวบรวมเรือเข้าจัดตั้งเป็นขบวน เหตุการณ์ดังกล่าวได้นำไปสู่การสร้างเรือบรรทุกสินค้าแบบใหม่ จากนั้นเรือทหารก็ไม่สามารถตกเป็นเป้าของเรือดำน้ำเยอรมนีได้อีกต่อไป[44][45][46]

[แก้] แนวรบด้านตะวันออก

[แก้] เยอรมนีรบชนะตลอดทาง

ดูบทความหลักได้ที่ แนวรบด้านตะวันออก (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

ขณะที่สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันตกยังคงเสมอกัน ในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพรัสเซียวางแผนที่จะโจมตีหลายทิศทางโดยพุ่งเป้าหมายไปยังแคว้นกาซิเลียของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและปรัสเซียตะวันออกของเยอรมนี ถึงแม้ว่าการรุกเข้าไปยังแคว้นกาซิเลียจะประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แต่ด้านปรัสเซียตะวันออกนั้นกลับถูกตีโต้ออกมาหลังความพ่ายแพ้ที่ยุทธการเทนเนนเบริ์กและยุทธการทะเลสาบมาซูเรี่ยนครั้งที่หนึ่ง ระหว่างเดือนสิงหาคมกับเดือนกันยายนของปี 1914 เนื่องจากว่าพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่ไม่มั่นคงของรัสเซียและการนำกองทัพที่ไม่มีประสิทธิภาพกำลังจะนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในไม่ช้านี้ ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1915 กองทัพรัสเซียได้ถอยทัพถึงแคว้นกาซิเลีย และเดือนพฤษภาคม กองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ตีแนวรบรัสเซียด้านทางทิศใต้ในโปแลนด์ได้อย่างน่าประหลาดใจ วันที่ 5 สิงหาคม กรุงวอร์ซอว์แตกและกองทัพรัสเซียล่าทัพออกจากโปแลนด์อีก เหตุการณ์นี้รู้จักกันในนาม "การล่าถอยครั้งใหญ่" ของรัสเซีย และ "การรุกครั้งใหญ่" ของเยอรมนี

[แก้] การปฏิวัติรัสเซีย

เนื่องจากความไม่พอใจต่อความพ่ายแพ้ของกองทัพรัสเซีย แม้ว่าจะมีความสำเร็จอยู่บ้างในการรุกบรูซิลลอฟต่อแคว้นกาลิเซียตะวันออก แต่ความสำเร็จนั้นถูกขัดขวางโดยเหล่านายพลซึ่งไม่เต็มใจในการส่งกองกำลังของตนเข้าไปสู่สนามรบ กองทัพพันธมิตรและกองทัพรัสเซียฟื้นตัวแค่เพียงชั่วคราวเมื่อโรมาเนียเข้าสู่สงครามเป็นฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม กองทัพเยอรมันสามารถสมทบกับกองทัพออสเตรีย-ฮังการีในทรานซิลวาเนียและกรุงบูชาเรสต์ถูกยึดครองโดยฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ไม่นานนัก ความไม่สงบก็แผ่กระจายไปทั่วรัสเซีย ขณะที่ซาร์แห่งรัสเซียยังคงบัญชาการรบอยู่ที่แนวหน้า จักรพรรดินีอเล็กซานดราซึ่งไร้ความสามารถในการปกครองไม่สามารถปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงได้และก็นำไปสู่การฆาตกรรมรัสปูติน ปลายปี 1916

เลนินกำลังทำงานในสำนักงานของเขาที่เครมลิน

เมื่อเดือนมีนาคม 1917 การชุมนุมที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ได้ลงเอยด้วยการสละราชบัลลังก์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียและการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียซึ่งมีความอ่อนแอและแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มสังคมนิยมเปโตรกราดโซเวียต การจัดการดังกล่าวได้สร้างความสับสนและนำไปสู่ความวุ่นวายทั้งในแนวหน้าและในแผ่นดินรัสเซีย กองทัพรัสเซียยิ่งมีประสิทธิภาพด้อยลงกว่าเดิม

สงครามและรัฐบาลชั่วคราวของรัสเซียไม่เป็นที่นิยมของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ความไม่พอใจดังกล่าวได้ในไปสู่การขึ้นครองอำนาจของพรรคบอลเชวิค นำโดย วลาดีเมียร์ เลนิน ซึ่งเขาได้ให้สัญญากับชาวรัสเซียว่าจะดึงรัสเซียออกจากสงครามและทำให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ชัยชนะของพรรคบอลเชวิคในการปฏิวัติเดือนตุลาคมนั้นตามด้วยการสงบศึกชั่วคราวและการเจรจากับเยอรมนี ในตอนแรก พรรคบอลเชวิคปฏิเสธข้อเสนอของเยอรมนี แต่เมื่อกองทัพเยอรมันทำสงครามต่อไปและรุกถึงยูเครน เขาจึงต้องยอมเซ็นสนธิสัญญาเบรสต์-ลีโตเวส เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1918 ซึ่งทำให้รัสเซียได้ออกจากสงคราม แต่ว่าต้องยอมยกดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซีย รวมไปถึงฟินแลนด์ มลรัฐบอลติก บางส่วนของโปแลนด์และยูเครนแก่ฝ่ายมหาอำนาจกลาง แผ่นดินส่วนที่เยอรมนีได้รับจากสนธิสัญญาดังกล่าวสามารถชดเชยความล้มเหลวของการรุกฤดูใบไม้ผลิได้ แต่ว่าด้านอาหารและยุทธปัจจัยนั้นได้รับเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

เนื่องจากพรรคบอลเชวิคได้เซ็นสนธิสัญญาเบรสต์-ลีโตเวส พันธมิตรไตรภาคีจึงล่มสลาย กองทัพพันธมิตรได้นำกองกำลังขนาดเล็กของตนเข้ารุกรานรัสเซียเพื่อป้องกันเยอรมนีมิให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจำนวนมากของรัสเซีย และสนับสนุนกองทัพรัสเซียขาวในสงครามกลางเมืองรัสเซีย กองทัพพันธมิตรขึ้นบกที่เมืองอาร์คแองเจิลและวลาดิวอสตอก

[แก้] เขตปฏิบัติการอื่น

[แก้] จักรวรรดิออตโตมาน

ที่ตั้งปืนใหญ่ของกองทัพอังกฤษระหว่างยุทธการแห่งเยรูซาเล็ม ปี 1917

จักรวรรดิออตโตมานเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้เซ็นสัญญาพันธมิตรออตโตมาน-เยอรมันในเดือนสิงหาคม 1914 ซึ่งได้คุกคามต่อความมั่นคงของเขตคอเคซัสของรัสเซีย และการติดต่อคมนาคมกับอินเดียผ่านทางคลองสุเอซ อังกฤษและฝรั่งเศสได้เปิดแนวรบโพ้นทะเลด้วย การรณรงค์กัลลิโปลี และ การรณรงค์เมโสโปเตเมีย ที่กัลลิโปลี จักรวรรดิออตโตมานสามารถขับไล่กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสและกองทัพแอนแซกได้ แต่ในเมโสโปเตเมียนั้นกลับตรงกันข้าม จักรวรรดิออตโตมานพ่ายแพ้อย่างหายนะจากการล้อมเมืองคุท กองทัพอังกฤษรวบรวมทัพใหม่และสามารถยึดครองกรุงแบกแดดได้ในเดือนมีนาคม 1917 ส่วนทางทิศตะวันตก ในการรณรงค์คาบสมุทรไซนายและปาเลสไตน์ กองทัพอังกฤษสามารถพลิกกลับจากการเพลี่ยงพล้ำเป้นเอาชนะได้เมื่อกรุงเยรูซาเลมแตกในเดือนธันวาคม 1917 กองทัพอียิปต์นิกประเทศใต้การบังคับบัญชาของจอมพลเอ็ดมุน อัลเลนบี สามารถตีกองทัพจักรวรรดิออตโตมานแตกหลังยุทธการมากิดโด้ ในเดือนกันยายน 1918

ด้านเทือกเขาคอเคซัส กองทัพออตโตมานภายใต้รองจอมทัพเอนเวอร์ พาชา ผู้บัญชาการของกองทัพติดอาวุธออตโตมานนั้นทะเยอทะยานและใฝ่ฝันถึงการยึดครองเอเชียกลาง แต่เขาก็เป็นผู้บัญชาการที่อ่อนแอ[47] เขาได้ออกคำสั่งให้โจมตีกองทัพรัสเซียในเขตเทือกเขาคอเคซัสในเดือนธันวาคม 1914 ด้วยกำลังพล 100,000 นาย เขายืนกรานที่จะโจมตีที่ตั้งของกองทัพรัสเซียเมื่อฤดูหนาว ซึ่งเขาสูญเสียกำลังพลไปกว่า 86% ระหว่างยุทธการซาริคามิส[48]

ผู้บัญชาการกองทัพรัสเซียระหว่างปี 1915-1916 นายพล นิโคไล ยูเดนนิช สามารถผลักดันกองทัพออตโตมานให้ออกไปจากเขตเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้ ในปี 1917 แกรนด์ ดยุค นิโคลัสได้เข้ามาบัญชาการกองทัพรัสเซียแนวรบคอเคซัส[48] เขาได้วางแผนสร้างทางรถไฟจากจอร์เจียไปยังดินแดนยึดครอง ดังนั้นกองทัพรัสเซียจึงมีเสบียงอย่างพอเพียงต่อการรุกครั้งใหม่ในปี 1917 อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม 1917 พระเจ้าซาร์ถูกล้มล้างหลัง การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ และกองทัพรัสเซียคอเคซัสก็เริ่มที่จะแตกออกจากกัน

การปฏิวัติอาหรับนั้นเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความพ่ายแพ้ของจักรวรรดิออตโตมาน การปฏิวัติเริ่มขึ้นด้วย ยุทธการเมกกะ โดย ชารีฟ ฮัสเซน แห่งเมกกะ ด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษในเดือนมิถุนายน 1916 และจบลงด้วยการยอมแพ้ของจักรวรรดิออตโตมานที่กรุงดามัสกัส หลังจากนั้นตามแนวชายแดนของลิเบียอิตาลีและอียิปต์อังกฤษได้มีเผ่าซานุสซี่ ซึ่งจักรวรรดิออตโตมานได้ส่งเสริมและติดอาวุธกลุ่มคนเหล่านี้ ได้ทำการรบแบบกองโจรต่อต้านกองทัพพันธมิตร กลุ่มเหล่านี้ถูกกำจัดเมื่อกลางปี 1916

[แก้] อิตาลี

ทหารภูเขาชาวออสเตรีย-ฮังการีในไทรอล

อิตาลีนั้นเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีตั้งแต่ปี 1882 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของไตรพันธมิตร อย่างไรก็ตาม อิตาลีนั้นมีเจตนาของตนบนพื้นที่ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีใน เทรนติโน อิสเตรียและดัลมาเทีย อิตาลีนั้นได้แอบทำสนธิสัญญาลับกับฝรั่งเศสในปี 1902 ซึ่งลบล้างพันธมิตรของตนอย่างสิ้นเชิง ในตอนเริ่มต้นของความเป็นปรปักษ์กัน อิตาลีปฏิเสธที่จะส่งทำเข้าร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง และโต้เถียงว่าไตรพันธมิตรนั้นเป็นการรวมตัวเพื่อสนับสนุนกันและกันเมื่อชาติใดชาติหนึ่งถูกโจมตี แต่ว่าจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกลับเป็นผู้เริ่มสงครามเสียเอง รัฐบาลของออสเตรีย-ฮังการีเริ่มการเจรจาซึ่งพยายามจะให้อิตาลีเป็นกลางในสงคราม ซึ่งเสนอตูนิเซีย ซึ่งเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสเป็นการตอบแทน อย่างไรก็ตาม อิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรเมื่อเดือนเมษายน 1915 และประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในเดือนพฤษภาคม และประกาศสงครามกับเยอรมนีในอีกสิบห้าเดือนต่อมา

อิตาลีนั้นมีทหารจำนวนมาก แต่ว่าอิตาลีไม่ได้รับความได้เปรียบมากนัก เนื่องจากว่าต้องผ่านภูมิประเทศที่ยากลำบาก และยังรวมไปถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ด้วย จอมทัพอิตาลี ลุยดิ คาดอร์นา พยายามอย่างแข็งขันที่จะโจมตีจากทางด้านหน้า ฝันว่าจะโจมตีผ่านกองทัพข้าศึกไปยังที่ราบสูงสโลเวนเนี่ยน ตีเมืองลูบลิยานา และคุกคามกรุงเวียนนา ซึ่งเป็นแผนของสงครามนโปเลียน แต่ว่าแผนดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้อีกแล้วสำหรับยุคแห่งรั้วลวดหนาม ปืนกล การระดมยิงปืนใหญ่ และประกอบกับภูมิประเทศซึ่งเป็นหุบเขาและภูเขา แต่เขาก็ยังดึงดันที่จะโจมตีที่แนวไอซอนโซ

จอมทัพคาดอร์นาได้ออกคำสั่งโจมตีสิบกว่าครั้งโดยไม่คำนึ่งถึงความสุญเสียของทหารที่เกิดขึ้น กองทัพอิตาลีนั้นพยายามอย่างยิ่งที่จะโจมตีแนวรบดังกล่าวเพื่อปลดเปลื้องความกัดดันทางด้านแนวรบอื่นๆ บนแนวรบเตรนติโน กองทัพออสเตรีย-ฮังการีมีความได้เปรียบจากภูมิประเทศซึ่งเป็นภูเขา ซึ่งให้ประโยชน์แก่ฝ่ายตั้งรับ ภายหลังการการล่าถอยทางยุทธสาสตร์ในตอนต้นของการรบ แต่ว่าแนวรบดังกล่าวก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ระหว่างที่กองทัพของทั้งสองฝ่ายต้องเข้ามารบกันในระยะประชิดอันขมขื่นอีกนาน ช่วงฤดูร้อน กองทัพออสเตรีย-ฮังการีพยายามตีโต้ในเมือง Asiago มุ่งหน้าไปยังเมืองเวโรนาและพาดัว ในฤดูใบไม้ผลิปี 1916 แต่ก็ประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย

ตอนเริ่มต้นของปี 1915 กองทัพอิตาลีได้โจมตีประมาณสิบกว่าครั้งตามแนวแม่น้ำไอซอนโซ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตรีเอสเต ซึ่งการโจมตีทั้งหมดก็ถูกตีโต้โดยกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งอยู่ในชัยภูมิซึ่งสูงกว่า เมื่อฤดูร้อนของปี 1916 กองทัพอิตาลีสามารถตีเมืองกอร์ริซเซียได้ แต่ว่าแนวรบนี้ก็ยังคงเดิมไปเป็นเวลาอีกหนึ่งปี แม้จะมีการโจมตีอีกหลายครั้ง เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงของปี 1917 เนื่องจากสถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันออกดีขึ้น กองทัพออสเตรีย-ฮังการีได้รับกำลังสนับสนุนจากทหารเยอรมัน ซึ่งก็ได้แก่พลรบวายุ และ Alpenkorps ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้เริ่มการรุกครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 1917 และได้ชัยชนะงดงามที่เมืองคาปอร์เรตโต้ กองทัพอิตาลีต้องถอยร่นไปเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร และมารวบรวมกองทัพใหม่ได้ที่แม่น้ำ Piave นับตั้งแต่การรบที่ยุทธการแห่งคาปอร์เรตโต้ กองทัพอิตาลีประสบกับความสูญเสียอย่างหนัก รัฐบาลอิตาลีจำเป็นต้องเกณฑ์ทหารซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เมื่อปี 1918 กองทัพออสเตรีย-ฮังการีก็ประสบความล้มเหลวที่จะโจมตีผ่านแนวฝ่ายพันธมิตรระหว่างยุทธการแห่งที่ราบสูง Asiago และท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ยับเยินในยุทธการแห่งวิตโตริโอ วีเนโตในเดือนตุลาคมปีนั้น และท้ายที่สุดจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็ยอมจำนนในต้นเดือนพฤศจิกายน 1918[49][50][51]

[แก้] คาบสมุทรบอลข่าน

ดูบทความหลักได้ที่ เขตปฏิบัติการคาบสมุทรบอลข่าน (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง), เขตปฏิบัติการเซอร์เบีย (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) และ เขตปฏิบัติการมาซิโดเนีย (สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง)

เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถส่งกองทัพได้เพียงหนึ่งในสามเพื่อเข้าโจมตีเซอร์เบีย ออสเตรีย-ฮังการีต้องพบกับความสูญเสียอย่างหนักกว่าจะยึดครองเมืองหลวงของเซอร์เบีย กรุงเบลเกรด แต่ว่ากองทัพเซอร์เบียก็สามารถตีโต้กองทัพออสเตรีย-ฮังการีได้จนหมดตอนปลายปี 1914 สิบเดือนต่อมา ออสเตรีย-ฮังการีต้องใช้กองทัพจำนวนมากเพื่อสู้กับอิตาลี ทูตของเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีพยายามชักชวนให้บัลแกเรียร่วมเข้าโจมตีเซอร์เบีย ด้านมอนเตเนโกรเข้าเป็นพันธมิตรกับเซอร์เบีย

ในเดือนตุลาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้เข้าโจมตีทางทิศเหนือ และอีกสี่วันต่อมา กองทัพบัลแกเรียก็เข้าโจมตีทางทิศตะวันออก กองทัพเซอร์เบียต้องสู้ศึกทั้งสองด้าน จากนั้นก็ประสบกับความพ่ายแพ้ และต้องถอยไปถึงอัลเบเนีย กองทัพเซอร์เบียพยายามสู้อีกครั้งหนึ่งแต่ก็พ่ายแพ้ และต้องนำเรือมาลำเลียงผู้คนหนีไปยังกรีซ

ช่วงปลายปี 1915 กองทัพพันธมิตรยกพลขึ้นบกที่เธสสโลนิกิของกรีซ เพื่อบีบบังคับให้รัฐบาลกรีซประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง แต่ว่ากษัตริย์กรีก พระเจ้าคอนสแตนตินที่หนึ่ง ได้ออกพระบรมราชโองการให้รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง ก่อนที่กองทัพพันธมิตรจะขึ้นบกสำเร็จ

แนวรบเธสสโลนิกิหยุดหนึ่ง ที่ในตอนท้าย กองทัพพันธมิตรก็สามารถโจมตีผ่านได้สำเร็จ เนื่องจากกองทัพฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ถอนตัวออกไป กองทัพบัลแกเรียพ่ายแพ้ใน ยุทธการโดโบล โพล แต่ว่าไม่กี่วันต่อมา กองทัพบัลแกเรียก็สามารถรบชนะกองทัพอังกฤษและกองทัพกรีซได้ที่ทะเลสาบ Doiran อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันการถูกยึดครอง บัลแกเรียจึงได้เซ็นสัญญาสงบศึกเมื่อวันที 29 กันยายน 1918 และถอนตัวออกจากฝ่ายมหาอำนาจกลาง

[แก้] อินเดีย

ดูเพิ่มที่ สงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถานครั้งที่สาม และ แผนลับฮินดู-เยอรมัน

สงครามเริ่มต้นจากความจงรักภักดีและความปรารถนาดีไปยังสหราชอาณาจักรจากภายในเหล่าผู้นำทางการเมือง ตรงกันข้ามกับอังกฤษซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติของชาวอินเดีย อินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษถูกบังคับให้สนับสนุนการทำสงครามด้วยการจัดหากำลังคนและทรัพยากรธรรมชาติให้แก่อังกฤษ ซึ่งสภาคอนเกรสของอินเดียได้ปฏิบัติตามด้วยหวังว่าอังกฤษจะมอบโอกาสให้อินเดียปกครองตัวเอง แต่อังกฤษก็ทำให้ชาวอินเดียผิดหวัง และนำไปสู่ยุคของมหาตมา คานธี ระหว่างสงคราม ทหารอินเดียและแรงงานถูกส่งออกไปปฏิบัติการกว่า 1.3 ล้านคนทั้งในทวีปยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง ขณะที่รัฐบาลอินเดียและราชวงศ์ส่งเสบียงอาหาร เงินและเครื่องกระสุนเป็นจำนวนมาก หลังสงคราม มีทหารอินเดียเสียชีวิตราว 48,000 คน และบาดเจ็บราว 65,000 คน[52]

[แก้] การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช
หนังสือ Ghadar di Gunj ซึ่งเป็นการรวบรวมงานเขียนเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมและลัทธิสังคมนิยม ถูกห้ามเผยแพร่ในอินเดียเมื่อปี 1913
กองทัพพันธมิตรหลบภัยในสนามเพลาะระหว่างยุทธการแห่งแม่น้ำซอมม์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1917
ประธานาธิบดีวิลสันปราศรัยต่อสภาคองเกรสเกี่ยวกับการตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับเยอรมนี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1917
โปสเตอร์เรียกระดมพลของสหรัฐอเมริกา โดยลูอิส ดี. แฟนเชอร์

รัฐเบนกอลและรัฐปัญจาบนั้นเป็นแหล่งของขบวนการปฏิวัติอินเดีย ในรัฐเบนกอลนั้นมีการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น และเชื่อมโยงกับความไม่สงบในรัฐปัญจาบ ผลที่เกิดขึ้นทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นด้อยประสิทธิภาพลง ประกอบด้วยตอนช่วงต้นของสงคราม ชาวอินเดียที่ถูกเนรเทศ โดยเฉพาะในเยอรมนี สหรัฐอเมริกาและแคนาดา นำโดยคณะกรรมการอิสระแห่งอินเดีย และพรรค Ghadar ได้พยายามก่อการกบฎในอินเดีย ซึ่งเรียกว่า การปฏิวัติอินเดีย (1857) โดย ลัทธิสาธารณรัฐนิยมอินเดีย จักรวรรดิเยอรมนีและจักรวรรดิออตโตมานได้มีส่วนช่วยเหลือในแผนการครั้งใหญ่ซึ่งถูกเรียกว่า แผนลับฮินดู-เยอรมัน แผนการดังกล่าวนั้นต้องการให้อเมียแห่งอัฟกานิสถานพยายามต่อต้านอินเดียของอังกฤษ (แผนเยอรมันสู่คาบูล) เริ่มต้นด้วยกระบวนการทางการเมืองซึ่งสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการลอบสังหารอเมีย Habibullah และผลจาก สงครามอังกฤษ-อัฟกานิสถานครั้งที่สาม ความล้มเหลวจำนวนมากในการพยายามแข็งเมืองต่ออังกฤษในอินเดีย แผนการที่โด่งดังได้แก่ แผนการแข็งเมืองเดือนกุมภาพันธ์และการแข็งเมืองสิงคโปร์ การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกกำจัดโดยปฏิบัติการตอบโต้หน่วยข่าวกรองจากนานาชาติและพระราชบัญญัติทางการเมือง ซึ่งรวมไปถึง พระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งอินเดียปี 1915 ซึ่งถูกประกาศใช้เป็นเวลาเกือบสิบปี[53][54][55]

พรรค Ghadar นั้นก็ได้พยายามบุกรุกอาณาเขตทางชายแดนด้านตะวันตกของอินเดีย และได้เกณฑ์เชลยสงครามชาวอินเดียจากจักรวรรดิออตโตมาน เยอรมนีและแถบเมโสโปเตเมีย กบฎ Ghadar นำโดยอัมบา พรีแซด ได้สู้เคียงข้างทหารออตโตมานในอิหร่านและตุรกี ได้มีการเตรียมแผนการในคอนสแตนติโนเปิลซึ่งกำหนดว่าจะเคลื่อนทัพจากเปอร์เซีย ผ่านรัฐ Baluchistan และไปสู่รัฐปัญจาบ กองทัพกบฎได้มีส่วนร่วมในการรบประปรายและเสียเมือง Karman ซึ่งอยู่ใต้การอารักขาของกงสุลของอังกฤษ ภารกิจของนายพล Percy Sykes ในเปอร์เซียนั้นมุ่งไปยังการกำจัดกองกำลังเหล่านี้[56][57][58][59]

ถึงแม้ว่าความขัดแย้งในอินเดียจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งนี้ แต่ว่ามันก็เป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแผนการยุทธศาสตร์ของอังกฤษ ฝ่ายอังกฤษนั้นพยายามที่จะปราบปราม ทำให้ต้องโยกย้ายกองกำลังบางส่วนมายังอินเดีย แทนที่จะส่งไปยังแนวรบด้านตะวันตก ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการสู้รบอยู่

[แก้] สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม

เหตุการณ์การรบในปี 1917 นั้นได้พิสูจน์ถึงชัยชนะของฝ่ายพันธมิตรได้เป็นอย่างดี และสงครามก็ใกล้จะยุติลง แต่ก็ยังไม่เห็นผลของสงครามจนกระทั่งปลายปี 1918 ผลจากการปิดล้อมของกองทัพเรืออังกฤษนั้นทำให้เกิดผลกระทบใหญ่หลวงต่อเยอรมนี เยอรมนีได้โต้ตอบด้วยการออกปฏิบัติการเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1917 โดยมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ การกำจัดเสบียงของฝ่ายตรงกันข้าม ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม เรือรบอังกฤษถูกยิงจมไปคิดเป็นปริมาณเฉลี่ยกว่า 500,000 ตันต่อเดือน โดยความสูญเสียที่สูงที่สุดในเดือนเมษายน (กว่า 800,000 ตัน) หลังจากเดือนกรกฎาคม ระบบขบวนเรือคุ้มกันก็เริ่มได้ผล ทำให้เรือดำน้ำเยอรมันปฏิบัติการได้ยากขึ้น ระหว่างนั้น อุตสาหกรรมของเยอรมนีก็หยุดชะงักไป

ชัยชนะของฝ่ายมหาอำนาจกลางที่ยุทธการแห่งคาร์ปาเร็ตโตได้ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรต้องมีการจัดตั้งสภาสูงสุดฝ่ายพันธมิตรขึ้น ตามผลของการประชุมราเพลโลเพื่อให้มีการวางแผนร่วมกันของผู้บัญชาการฝ่ายพันธมิตร ซึ่งก่อนหน้านั้น กองทัพอังกฤษและกองทัพฝรั่งเศสต่างก็แยกกันวางแผนของตนต่างหาก

ในเดือนธันวาคม ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้ลงนามในสนธิสัญญาพักรบกับรัสเซีย ทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางดึงทหารจำนวนมากมารบทางด้านตะวันตก เมื่อกองทัพเยอรมันและกองทัพอเมริกันที่เข้ามาใหม่มาเผชิญหน้ากันในแนวรบด้านตะวันตก จะเป็นการตัดสินผลของสงคราม ฝ่ายมหาอำนาจกลางรู้ดีว่าตนไม่สามารถเอาชนะการรบยืดเยื้อได้ แต่สามารถรอคอยเวลาสำหรับการรุกอย่างรวดเร็วได้ นอกเหนือจากนั้น ผู้นำฝ่ายพันธมิตรและฝ่ายมหาอำนาจกลางต่างก็หวั่นเกรงต่อความไม่สงบของสังคมและการปฏิวัติที่มีมากขึ้นในทวีปยุโรป เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงต้องการชัยชนะขั้นเด็ดขาดอย่างรวดเร็วเหมือนกันทั้งสองฝ่าย

สหรัฐอเมริกาซึ่งเคยปฏิบัติตามลัทธิแยกตัวอยู่โดดเดี่ยว เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างประเทศและรักษาสันติภาพ เป็นผลให้เกิดความตึงเครียดในสหราชอาณาจักร เมื่อเรืออูเยอรมันจมเรือลูซิทาเนียของอังกฤษในปี 1915 ซึ่งมีชาวอเมริกันอยู่บนเรือ 128 คน ประธานาธิบดีวิลสันได้สาบานว่า "สหรัฐอเมริกามีทิฐิมากเกินกว่าจะสู้" และต้องการให้เยอรมนียกเลิกการโจมตีเรือพลเรือน ซึ่งเยอรมนีก็ยอมตาม แต่วิลสันก็ไม่สามารถที่จะประนีประนอมได้ เขาได้เตือนว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ทนต่อการใช้เรือดำน้ำโดยไม่จำกัด วิลสันได้รับแรงกดดันมาจากธีโอเดอร์ รูสเวลต์ ผู้ซึ่งเรียกการกะทำของเยอรมนีว่าเป็นโจรสลัด[60] ความต้องการของวิลสันที่จะได้นั่งเก้าอี้ในการเจรจาสันติภาพหลังสงครามเองก็เป็นส่วนสำคัญ[61] ส่วนเลขาธิการแห่งรัฐ วิลเลียม เจนนิ่งส์ ไบรอันได้ลาออกเพื่อประท้วงต่อนโยบายผู้ค้าสงครามของวิลสัน ส่วนชาติอื่นที่ต้องการดึงสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม รวมถึงข้อสงสัยที่ว่าเยอรมนีจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางระเบิดนครต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา

เมื่อถึงเดือนมกราคม 1917 หลังจากแรงกดดันของกองทัพเรือที่มีต่อจักรพรรดิไกเซอร์ ทำให้การใช้เรือดำน้ำแบบไม่จำกัดเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง หน่วยถอดรหัสของราชนาวีอังกฤษ ที่เรียกว่า ห้อง 40 สามารถแกะรหัสลับทางการทูตของเยอรมนีได้ ที่เป็นที่รู้จักกันในภายหลังว่า โทรเลขซิมเมอร์แมนน์ ถูกส่งมาจากเบอร์ลินไปยังเม็กซิโกโดยเชิญชวนให้เม็กซิโกเข้าเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและต่อต้านสหรัฐอเมริกา ซึ่งข้อความดังกล่าวได้เสนอว่า หากสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม เม็กซิโกก็ควรจะประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและประกาศตัวเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น เนื่องจากการกระทำดังกล่าวน่าจะเป็นการดึงไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้ากับฝ่ายพันธมิตรและส่งทหารเข้าสู่ภาคพื้นยุโรป และให้เวลากับเรืออูเยอรมันที่จะทำลายเรือของอังกฤษและเสบียงจำนวนมาก และเยอรมนีเสนอให้เม็กซิโกได้ดินแดนมลรัฐเท็กซัส มลรัฐนิวเม็กซิโกและมลรัฐแอริโซนาของสหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นการตอบแทน[62]

หลังจากที่อังกฤษได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่สหรัฐอเมริกาแล้ว ประธานาธิบดีวิลสัน ผู้ซึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งใหม่ และความพยายามที่จะป้องกันตัวเองในการเข้าไปพัวพันกับสงคราม เขาได้รีบเปิดเผยข้อความในโทรเลขนั้นแก่สาธารณชนเพื่อที่จะหาเสียงสนับสนุนการนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม เขาเคยประกาศว่าจะวางตัวเป็นกลาง ขณะที่มีการส่งยุทธสัมภาระให้แก่อังกฤษ และให้การสนับสนุนการปิดล้อมทางทะเลแก่เยอรมนีอย่างลับ ๆ และวางทุ่นระเบิดในเขตน่านน้ำสากล และป้องกันไม่ให้เรือส่งอาหารส่งให้แก่เยอรมนี ภายหลังจากที่เรืออูเยอรมันจมเรือพาณิชย์อเมริกันไปเจ็ดลำ และมีการตีพิมพ์ข้อความในโทรเลขซิมเมอร์แมนน์ วิลสันก็ได้เรียกร้องให้มีการประกาศสงครามกับเยอรมนี ซึ่งสภาคองเกรสก็ได้ประกาศสงครามเมื่อวันที่ 6 เมษายน 1917[63]

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามโดยอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายพันธมิตร แต่ไม่เคยเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของฝ่ายพันธมิตรเลย โดยเรียกตัวเองว่าเป็น "อำนาจผู้ให้ความช่วยเหลือ" สหรัฐอเมริกามีกองทัพเพียงเล็กน้อย แต่กระนั้น ก็คิดเป็นจำนวนกว่าสี่ล้านนาย และภายในฤดูร้อน 1918 ก็มีการส่งทหารใหม่กว่า 10,000 นายไปยังฝรั่งเศสทุกวัน ทางด้านฝ่ายเยอรมนีก็ประมาทสหรัฐอเมริกามากเกินไป เพราะเชื่อว่าการส่งกำลังพลมายังทวีปยุโรปต้องใช้เวลาหลายเดือน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เรืออูของตนจะสามารถหยุดยั้งกองทัพอเมริกันเอาไว้ได้

ทหารแอฟริกันอเมริกันกำลังเดินสวนสนามในฝรั่งเศส[64]

กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้ส่งกองเรือรบไปยังสกาปาโฟลว์เพื่อเข้าร่วมกับกองเรือรบหลวงอังกฤษ และมีส่วนช่วยในการป้องกันกองเรือพาณิชย์ นาวิกโยธินจำนวนมากของสหรัฐอเมริกาได้ถูกส่งไปยังฝรั่งเศส ทางด้านอังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็มีความต้องการให้ทหารอเมริกันเข้าเสริมกำลังในพื้นที่ และไม่ต้องการใช้เรือเพื่อเป็นการขนส่งเสบียง ซึ่งฝ่ายสหรัฐอเมริกาปฏิเสธความต้องการแรก แต่ยินยอมตามความต้องการข้อหลัง นายพลจอห์น เจ. เพอร์ชิง ผู้บัญชาการทหารอเมริกันต่างประเทศปฏิเสธที่จะใช้ทหารอเมริกันเพื่อเป็นกำลังสนับสนุนให้แก่ทหารอังกฤษหรือทหารฝรั่งเศส เขาได้มีแนวคิดที่จะใช้เพื่อเป็นการบุกทางด้านหน้าแทน ซึ่งทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสล้มเลิกวิธีการนี้ไปแล้ว เพราะว่าประสบกับความสูญเสียชีวิตจำนวนมหาศาล

[แก้] เยอรมนีรุกครั้งใหญ่ ฤดูใบไม้ร่วง 1918

ดูบทความหลักที่ การรุกฤดูใบไม้ร่วง

นายพลเยอรมัน อิริค ลูเดนดอร์ฟ ได้ร่างแผนปฏิบัติการมิคาเอล ขึ้นเพื่อวางแผนการรุกในแนวรบด้านตะวันตก ระหว่างปี 1918 โดยแผนการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อตัดกองทัพอังกฤษและกองทัพฝรั่งเศสออกจากกันด้วยการหลอกหลวงและการรุกหลายครั้ง โดยคณะผู้นำเยอรมนีหวังว่าการโจมตีอย่างเด็ดขาดก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่สงครามอย่างเต็มรูปแบบ ปฏิบัติการดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 1918 โดยโจมตีกองทัพอังกฤษที่อเมนส์ และสามารถรุกเข้าไปได้ถึง 60 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นการรุกที่ประสบความสำเร็จที่สุดในสงครามครั้งนี้

ทหารเยอรมันเดินทัพผ่านที่มั่นฝ่ายอังกฤษ ซึ่งถูกยึดได้ระหว่างการรุกฤดูใบไม้ร่วง ปี 1918

ส่วนแนวสนามเพลาะของอังกฤษและฝรั่งเศสถูกเจาะผ่านด้วยยุทธวิธีการแทรกซึม ก่อนหน้านั้น ได้มีการโจมตีโดยการระดมยิงปืนใหญ่อย่างหนักและการรุกโดยใช้กำลังพลจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม ตลอดการรุกฤดูใบไม้ร่วง กองทัพเยอรมันใช้ปืนใหญ่เพียงเล็กน้อยและจะแทรกซึมผ่านกองทหารข้าศึกที่อ่อนแอแทน การโจมตีของกองทัพเยอรมันได้ผ่านพื้นที่บัญชาการและพื้นที่ส่งกำลังบำรุง โดยไม่พบกับการต้านทานอย่างหนาแน่น หลังจากที่การต้านทานถูกปิดล้อมไว้แล้ว ทหารเยอรมันที่แข็งแกร่งกว่าก็จะเข้าบดขยี้ในภายหลัง โดยความสำเร็จของฝ่ายเยอรมนีนั้นเกิดขึ้นด้วยความประหลาดใจของฝ่ายศัตรู

ทหารเยอรมันรุกเข้าใกล้กรุงปารีส โดยอยู่ห่างออกไปเพียง 120 กิโลเมตรเท่านั้น โดยเยอรมนีได้ยิงปืนใหญ่รถไฟกว่า 183 นัดเข้าใส่กรุงปารีส ทำให้ชาวปารีสจำนวนมากต้องหลบภัย การรุกในช่วงแรกประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จนกระทั่งจักรพรรดิไกเซอร์ วิลเฮล์มที่ 2 ทรงประกาศให้วันที่ 24 มีนาคมเป็นวันหยุดราชการ ชาวเยอรมันจำนวนมากคิดว่าชัยชนะของสงครามอยู่ใกล้แค่เอื้อมแล้ว หลังจากการต่อสู้อย่างหนัก ปรากฏว่าการรุกของเยอรมนีหยุดชะงักไป การขาดแคลนรถถังหรือปืนใหญ่เคลื่อนที่ทำให้ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถรวมกำลังกันรุกต่อไปได้ การรุกที่หยุดลงอย่างกระทันหันยังเป็นผลมาจากกองกำลังจักรวรรดิออสเตรเลียนจำนวนสี่กองพล ซึ่งสามารถยับยั้งการบุกของกองทัพเยอรมันได้ และจากนั้น กองพลออสเตรเลียที่หนึ่งถูกส่งออกไปป้องกันการบุกครั้งที่สองของเยอรมนีทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง

ส่วนทางด้านกองพลอเมริกัน ซึ่งนายพลเพอร์ชิงพยายามจะให้มีอำนาจบัญชาการเป็นของตนเอง ถูกมอบหมายให้อยู่ภายใต้อำนาจบัญชาการของจักรวรรดิอังกฤษและฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 28 มีนาคม จากการก่อตั้งสภาสูงสุดกองกำลังฝ่ายพันธมิตรเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน นายพลฟอคได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพพันธมิตรสูงสุด แต่นายพลคนอื่น ๆ ก็พยายามสงวนการควบคุมทางยุทธวิธีเหนือกองทัพของตนเองเอาไว้ นายพลฟอคจึงแสดงบทบาทร่วม แทนที่จะบัญชาการกองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสหรืออเมริกันโดยตรง ซึ่งแต่ละกองทัพก็ยังคงปฏิบัติการเป็นเอกเทศต่อกัน

หลังจากปฏิบัติการมิคาเอล เยอรมนีได้เริ่มปฏิบัติการจอร์เจตต์ โดยพุ่งเป้าไปยังเมืองท่าที่ติดกับช่องแคบอังกฤษทางตอนเหนือ แต่กองทัพพันธมิตรสามารถยับยั้งกองทัพเยอรมันได้ โดยที่เยอรมนีได้ดินแดนเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย ส่วนกองทัพเยอรมันทางใต้ได้เริ่มปฏิบัติการบลือเชอร์และยอร์ค โดยพุ่งเป้าไปยังกรุงปารีส ส่วนปฏิบัติการมาร์นเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ในความพยายามที่จะล้อมเมืองแรมส์ และจุดเริ่มต้นของยุทธการแม่น้ำมาร์นครั้งที่สอง แต่ฝ่ายพันธมิตรก็สามารถเอาชนะได้อีกครั้ง โดยเป็นการบุกที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของสงคราม

เมื่อถึงวันที่ 20 กรกฎาคม กองทัพเยอรมันถูกผลักดันออกไปจนถึงจุดเริ่มต้นอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ฝ่ายเยอรมันไม่สามารถบรรลุจุดประสงค์ทางการทหารได้เลย เมื่อสงครามทางตะวันตกมาถึงขั้นนี้แล้ว เยอรมนีไม่อาจจะเป็นฝ่ายบุกก่อนได้อีกต่อไป ความสูญเสียของกองทัพเยอรมันระหว่างเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนอยู่ที่ประมาณ 270,000 นาย รวมไปถึงทหารวายุ ซึ่งได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ผลที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการรณรงค์ต่อต้านสงครามอย่างหนักในเยอรมนี และกำลังใจของทหารในกองทัพถดถอย ผลผลิตทางอุตสาหกรรมทรุดลงอย่างหนัก โดยคิดเป็น 53% ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมในปี 1913

[แก้] ชัยชนะของฝ่ายพันธมิตร

ดูบทความหลักที่ การรุกร้อยวัน
ทหารปืนใหญ่ชาวอังกฤษระหว่างยุทธการแห่งอเมนส์
ทหารช่างอเมริกันขณะเดินทางกลับจากแนวหน้า ระหว่างยุทธการแห่งเซนต์-มีอีล

ฝ่ายพันธมิตรได้โจมตีโต้กลับ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า การรุกร้อยวัน เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1918 ในยุทธการแห่งอเมนส์ กองทัพพันธมิตรสามารถรุกเข้าไปในแนวรบเยอรมันได้ 12 กิโลเมตรในเวลาเพียง 7 ชั่วโมง นายพลอิริค ลูเดนดอร์ฟได้กล่าวถึงวันนี้ว่าเป็น "วันอันมืดมนของกองทัพเยอรมัน"

กองทัพฝ่ายพันธมิตรนำโดยกองทัพผสมออสเตรเลีย-แคนาดาที่อเมนส์ และสนับสนุนการเดินทัพของกองทัพอังกฤษไปทางทิศเหนือ และกองทัพฝรั่งเศสไปทางทิศใต้ ขณะที่การต้านทานของฝ่ายเยอรมันที่มีต่อแนวรบกองทัพอังกฤษที่สี่ที่อเมนส์ หลังจากที่กองทัพอังกฤษสามารถรุกเข้าไปได้ 23 กิโลเมตร และสามารถยุติการรบลงได้ ส่วนกองทัพฝรั่งเศสที่สามได้ขยายแนวรบที่อเมนส์ในวันที่ 10 สิงหาคม ขณะที่อยู่ทางปีกขวาของกองทัพฝรั่งเศสที่หนึ่ง และสามารถรุกเข้าไปได้ 6 กิโลเมตร เข้าปลดปล่อยเมืองลาร์ชิญี ในการรบที่ดำเนินต่อไปจนกระทั่งถึงวันที่ 16 สิงหาคม ส่วนทางตอนใต้ นายพลมานแชงได้นำกองทัพฝรั่งเศสที่สิบมุ่งหน้าไปยังเมืองชัวสซอนส์ในวันที่ 20 สิงหาคม และสามารถจับทหารข้าศึกเป็นเชลยได้กว่าแปดพันคน ปืนใหญ่สองร้อยกระบอกและที่ราบสูงแอเนอ ซึ่งเป็นการกดดันทหารเยอรมันซึ่งประจำอยู่ทางตอนเหนือของเวสเลอ ซึ่งเป็น "วันอันมืดมน" อีกวันหนึ่งที่นายพลลูเดนดอร์ฟได้กล่าวถึง

ขณะที่กองทัพอังกฤษที่สามภายใต้การบัญชาการของนายพลบีนง พบว่าแนวรบของข้าศึกเปราะบางลงเนื่องจากมีการถอนกำลังออกไป จึงได้โจมตีด้วยรถถัง 200 คันไปยังเมืองบาโปม และในยุทธการแห่งอัลเบิร์ต กองทัพดังกล่าวได้รับคำสั่งเฉพาะว่า "ทำลายแนวรบของข้าศึก เพื่อที่จะโอบหลังแนวรบของศัตรู ณ เวลานี้" (ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับกองทัพอังกฤษที่สี่ที่เมืองอเมนส์) ผู้บัญชาการทหารฝ่ายพันธมิตรพบว่าการโจมตีทางจุดต้านทานของศัตรูทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต และเห็นว่าควรจะผ่านจุดเหล่านี้ไป จากนั้นจึงมีการโจมตีอย่างรวดเร็วเพื่อชิงความได้เปรียบจากการโจมตีที่ประสบความสำเร็จ และยกเลิกการโจมตีหากพบว่าความเร็วในการรุกลดลงจากเดิมแล้ว


[แก้] จุดจบของสงคราม

ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ออสเตรียขอทำสัญญาสงบศึก และ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เยอรมนีลงนามในสัญญาสงบศึก สงครามโลก ครั้งที่ 1 จึงได้ยุติลงและได้ลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซาย (ค.ศ. 1919) ณ พระราชวังแวร์ซายเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างเป็นทางการ

หลังจากที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมรบและประกาศศักดาในสงครามครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกาได้ก้าวเข้ามาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกเสรีบนเวทีโลกเคียง คู่กับอังกฤษและฝรั่งเศส

รัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจโลกสังคมนิยม หลังจากเลนินทำการปฏิวัติยึดอำนาจ และต่อมาเมื่อสามารถขยายอำนาจไปผนวกแคว้นต่าง ๆ มากขึ้น เช่น ยูเครน เบลารุส ฯลฯ จึงประกาศจัดตั้งสหภาพโซเวียต (Union of Soviet Republics -USSR) ในปี ค.ศ. 1922 เกิดการร่างสนธิสัญญาแวร์ซาย (The Treaty of Veraailles) โดยฝ่ายชนะสงครามสำหรับเยอรมนี และสนธิสัญญาสันติภาพอีก 4 ฉบับสำหรับพันธมิตรของเยอรมนี เพื่อให้ฝ่ายผู้แพ้ยอมรับผิดในฐานะเป็นผู้ก่อให้เกิดสงคราม ในสนธิสัญญาดังกล่าวฝ่ายผู้แพ้ต้องเสียค่าปฏิกรรมสงคราม เสียดินแดนทั้งในยุโรปและอาณานิคม ต้องลดกำลังทหาร อาวุธ และต้องถูกพันธมิตรเข้ายึดครองดินแดนจนกว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิ สัญญาเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ประเทศผู้แพ้ไม่ได้เข้าร่วมในการร่างสนธิสัญญา แต่ถูกบีบบังคับให้ลงนามยอมรับข้อตกลงของสนธิสัญญา จึงก่อให้เกิดภาวะตึงเครียดขึ้น เกิดการก่อตัวของลัทธิฟาสซิสต์ใน อิตาลี นาซีในเยอรมัน และเผด็จการทหารในญี่ปุ่น ซึ่งท้ายสุดประเทศมหาอำนาจเผด็จการทั้งสามได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างกัน เพื่อต่อต้านโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ เรียกกันว่าฝ่ายอักษะ (Axis) มีการ จัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างประเทศ เป็น ความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อรักษาความมั่นคง ปลอดภัยและสันติภาพในโลก แต่ความพยายามดังกล่าวก็ดูจะล้มเหลว เพราะในปี ค.ศ. 1939 ได้เกิดสงครามที่รุนแรงขึ้นอีกครั้ง นั่นคือ สงครามโลกครั้งที่ 2

[แก้] ภายหลังสงคราม

[แก้] ประสบการณ์ของทหารผ่านศึก

[แก้] เชลยสงคราม

[แก้] ความสูญเสียทางเศรษฐกิจและกำลังคน

[แก้] ประเทศไทยกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ภายหลังสงคราม ประเทศไทยได้แก้สนธิสัญญากับประเทศต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา เยอรมัน ฯลฯ ที่ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งองค์การสันนิบาติชาติอีกด้วย

กองทหารไทยในดินแดนเยอรมนี


สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2457 ไทยตั้งตัวเป็นกลาง จนกระทั่งวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ไทยจึงได้ประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และได้ส่งทหารอาสาสมัครไปช่วยรบประมาณ 1,200 คน ทั้งนี้รวมทั้งนายและพลทหาร สมทบกับนักเรียนไทยในนานาประเทศอีกประมาณ 400 คน รวมทหารอาสาสมัครทั้งหมดประมาณ 1,600 คน

ทหาร อาสาออกเดินทางเมื่อ พ.ศ. 2461 ถึงประเทศฝรั่งเศสอยู่ใต้บัญชาการของนายพล เปแตง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่ฝ่ายสัมพันธมิตร ได้ไปปฏิบัติการในสมรภูมิประเทศฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม


ผลที่ไทยได้รับจากการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั้น มีความสำคัญดังนี้

1. เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงและเกียรติคุณของประเทศ

2. ได้รับเกียรติเข้าร่วมทำสัญญาสันติภาพแวร์ซายส์

3. เมื่อสงครามสงบได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกประเภทริเริ่มขององค์การสันนิบาตชาติ เป็นหลักประกันเอกราชและความปลอดภัยของประเทศ

4. ได้แก้ไขสัญญาที่ทำไว้แต่รัชกาลที่ 4 เป็นผลสำเร็จ ยกเลิกสัญญาต่าง ๆ ที่ไทยทำกับเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการี และทำสัญญากับประเทศต่าง ๆ ใหม่

5. ได้ยึดทรัพย์จากเชลย

6. เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างมาเป็นธงไตรรงค์ เพื่อนำไปใช้ในกองทัพไทยที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

7. สร้างอนุสาวรีย์เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งคือ อนุสาวรีย์ทหารอาสา วงเวียน 22 กรกฎา สมาคมสหายสงคราม เป็นต้น

8. มีการจัดทหารแบบยุโรป และเริ่มจัดตั้งกรมอากาศยานขึ้นเป็นครั้งแรก

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] ภาพยนตร์และวรรณกรรม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 Willmott 2003, p. 15
  2. ^ Keegan 1988, p. 8
  3. ^ Willmott 2003, p. 307
  4. ^ Willmott 2003, p. 6
  5. ^ Keegan 1988, p. 7
  6. ^ Keegan 1988, p. 11
  7. ^ First World War.com Primary Documents: Archduke Franz Ferdinand's Assassination, 28 June 1914 (2002-11-03). สืบค้นวันที่ 2008-02-17
  8. ^ Stevenson, D., Armaments and the Coming of War: Europe, 1904-1914, 1996 (Oxford University Press)
  9. ^ Herrmann, David G. The Arming of Europe and the Making of the First World War(1996)
  10. ^ Ferguson, Niall (1999). The Pity of War. New York: Basic Books. pp. 563. ISBN 046505711X. OCLC 41124439. 
  11. ^ Fromkin, David (2004). "Chapter 15: Europe Goes to the Brink". Europe's Last Summer: Who Started the Great War in 1914?. New York: Alfred A. Knopf. pp. 94. ISBN 0375411569. OCLC 61267178. 
  12. ^ Fischer 1967
  13. ^ Cornish 2001, p. 48
  14. ^ Neiberg 2005, pp. 40–42
  15. ^ Snyder 1984
  16. ^ Dupuy 1979
  17. ^ Battlefield Maps: War Plans. First World War.com. สืบค้นวันที่ 2008-10-22
  18. ^ The Planning of the War. First World War.com. สืบค้นวันที่ 2008-10-22
  19. ^ 30 October 1918 in Hoover, p. 47
  20. ^ Fischer 1967
  21. ^ Marsden 2001, p. 177
  22. ^ Isenberg 1981
  23. ^ Fromkin 2004, pp. 266-267
  24. ^ Hobson 1948, pp. 3­5,71,­72,77,­78,80,­81,92,­93
  25. ^ Lenin 1917
  26. ^ Hull 1948, pp. 81
  27. ^ Wiggin 2006
  28. ^ Cecil 1996, p. 176
  29. ^ Joll 1992, pp. 10–38
  30. ^ Donald James Goodspeed, The German Wars 1914-1945 (N.Y., N.Y.: Bonanza Books, 1985), page 199 (footnote).
  31. ^ Duffy
  32. ^ D. J. Goodspeed, The German Wars 1914-1945 (N.Y., N.Y.: Bonanza Books, 1985), page 226.
  33. ^ ((ลิงก์นี้เสีย กรุณาหาลิงก์อื่นทดแทน) - Scholar search)Vimy Ridge, Canadian National Memorial, New South Wales Department of Veteran's Affairs and Board of Studies, 2007, http://www.ww1westernfront.gov.au/vimy_ridge/index.html 
  34. ^ Winegard, Timothy. "Here at Vimy: A Retrospective – The 90th Anniversary of the Battle of Vimy Ridge". Canadian Military Journal 8 (2). เรียกข้อมูลวันที่ 2009-04-21 
  35. ^ Taylor2007, pp. 39–47
  36. ^ Keene 2006, pp. 5
  37. ^ Halpern 1995, p. 293
  38. ^ Zieger 2001, pp. 50
  39. ^ Coast Guard in the North Atlantic War. สืบค้นวันที่ 2007-10-30(ลิงก์นี้เสีย กรุณาหาลิงก์อื่นทดแทน)
  40. ^ von der Porten 1969
  41. ^ von der Porten 1969
  42. ^ Gilbert 2004, pp. 306
  43. ^ Jones, p. 80
  44. ^ Nova Scotia House of Assembly Committee on Veterans' Affairs. Hansard. สืบค้นวันที่ 2007-10-30
  45. ^ Greek American Operational Group OSS, Part 3 continued. สืบค้นวันที่ 2007-10-30
  46. ^ The U-boat War in World War One
  47. ^ Fromkin 2001, p. 119
  48. ^ 48.0 48.1 Hinterhoff 1984, pp. 499–503
  49. ^ The Battles of the Isonzo, 1915-17, FirstWorldWar.com, http://www.firstworldwar.com/battles/isonzo.htm 
  50. ^ Battlefield Maps: Italian Front, FirstWorldWar.com, http://www.firstworldwar.com/maps/italianfront.htm 
  51. ^ Hickey 2003, pp. 60-65
  52. ^ Participants from the Indian subcontinent in the First World War, Memorial Gates Trust, http://www.mgtrust.org/ind1.htm, เรียกดูวันที่ 2008-12-12 
  53. ^ Fraser 1977
  54. ^ Hughes 2002, p. 474
  55. ^ Dignan 1971, p. 57
  56. ^ Sykes 1921, p. 101
  57. ^ Singh
  58. ^ Herbert 2003
  59. ^ Asghar 2005
  60. ^ Brands 1997, p. 756
  61. ^ Karp 1979
  62. ^ Tuchman 1966
  63. ^ see: Woodrow Wilson declares war on Germany.
  64. ^ African Americans during World War I.

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น