สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก อาเซียน)
สมาคมประชาชาติ
แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
Flag of ASEAN ตราสัญลักษณ์ of ASEAN
คำขวัญ"One Vision, One Identity, One Community"
(หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งเอกลักษณ์ หนึ่งประชาคม)
เพลงสดุดี"ดิอาเซียนเวย์"
(วิถีอาเซียน)
แผนที่แสดงที่ตั้งของASEAN
สำนักงานใหญ่ Flag of อินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา
เมืองใหญ่ที่สุด Flag of อินโดนีเซีย กรุงจาการ์ตา
ภาษาทางการ
สัญชาติ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รัฐสมาชิก
รัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาค
 -  เลขาธิการ Flag of ไทย สุรินทร์ พิศสุวรรณ
การก่อตั้ง
 -  ปฏิญญากรุงเทพ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 
 -  กฎบัตรอาเซียน 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551 
พื้นที่
 -  ทั้งหมด 4,464,322 กม² 
2,772,344 ไมล์² 
ประชากร
 -  2007 ประมาณ 575.5 ล้านคน 
 -  ความหนาแน่น 129/กม.² 
208/ไมล์²
จีดีพี (พีพีพี) 2007 ประมาณ
 -  ทั้งหมด $3,431,200 ล้าน 
 -  ต่อคน $5,962 
จีดีพี (ราคาปัจจุบัน) 2008 ประมาณ
 -  ทั้งหมด $1,486,500 ล้าน 
 -  ต่อคน $3,871 
HDI (2007) 0.742 (ปานกลาง) (อันดับที่ 100¹)
สกุลเงิน
เขตเวลา เวลามาตรฐานอาเซียน (เวลาสากล UTC+9 - UTC+6:30)
โดเมน
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
http://www.asean.org/
รหัสโทรศัพท์ระหว่างประเทศ +
1 หากถือว่ากลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรัฐเดี่ยว
2 Selected key basic ASEAN indicators
3 การเพิ่มจำนวนของประชากรอยู่ที่ 1.6% ต่อปี

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Association of South East Asian Nations) [1] หรือ อาเซียน (ASEAN) เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ[2]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

██ ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน
██ ผู้สังเกตการณ์กลุ่มอาเซียน
██ ประเทศที่ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน
กลุ่มอาเซียนและสามประเทศ
การประชุมเอเชียตะวันออก
ที่ประชุมกลุ่มอาเซียน

[แก้] สมาคมอาสาและปฏิญญากรุงเทพ

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2504 โดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ได้ร่วมกันจัดตั้งสมาคมอาสา หรือ Association of South East Asia ขึ้นเพื่อการร่วมมือกันทาง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ดำเนินการได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่าง ประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย

จนกระทั่งต่อมามีการฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างประเทศขึ้น จึงได้มีการแสวงหาลู่ทางจัดตั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นในภูมิภาค "สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และพันเอก (พิเศษ) ดร. ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร โดยมีการลงนาม "ปฏิญญากรุงเทพ" ที่พระราชวังสราญรมย์ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 จาก ปฏิญญาอาเซียน ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกก่อตั้ง 10ประเทศ ได้แก่ ทุกประที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้น ติมอร์-เลสเต้ [3]

ความประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มอาเซียนขึ้นมาเกิดจากความต้องการสภาพแวดล้อมภายนอกที่มั่นคง (เพื่อที่ผู้ปกครองของประเทศสมาชิกจะสามารถมุ่งความสนใจไปที่การสร้างประเทศ) ความกลัวต่อการแพร่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ความศรัทธาหรือความเชื่อถือต่อมหาอำนาจภายนอกเสื่อมถอยลงในช่วงพุทธทศวรรษ 2500 รวมไปถึงความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การจัดตั้งกลุ่มอาเซียนมีวัตถุประสงค์ต่างกับการจัดตั้งสหภาพยุโรป เนื่องจากกลุ่มอาเซียนถูกสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนความเป็นชาตินิยม[4]

[แก้] อาเซียนในยุคเริ่มต้น

ในปี พ.ศ. 2519 ประเทศปาปัวนิวกินีได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์[5] และตลอดช่วงพุทธทศวรรษ 2510 กลุ่มประเทศสมาชิกได้มีการจัดตั้งโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง หลังจากผลของการประชุมที่จังหวัดบาหลี ในปี พ.ศ. 2519 แต่ว่าความร่วมมือดังกล่าวได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักในช่วงพุทธทศวรรษ 2520 ก่อนจะได้รับการฟื้นฟูเมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากไทยเสนอให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขึ้น ต่อมา ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเป็นประเทศที่หก เมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2527 ซึ่งห่างจากวันที่บรูไนประกาศเอกราชเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2527 เพียงสัปดาห์เดียว[6]

ต่อมา เวียดนาม ในเข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่เจ็ด ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ไม่นานหลังจากนั้น ลาวและพม่า ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่แปดและเก้าตามลำดับ ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540[7] ส่วนกัมพูชามีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก แต่ถูกเลื่อนเวลาออกไปเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ จนกระทั่งในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2542 กัมพูชาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่สิบ ภายหลังจากรัฐบาลของประเทศมีความมั่นคงแล้ว[7]

ในช่วงพุทธทศวรรษ 2530 กลุ่มประเทศสมาชิกได้มีประสบการณ์ทั้งในด้านการมีประเทศสมาชิกเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงความพยายามในการรวบรวมกลุ่มประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวไปอีกขึ้นหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2533 มาเลเซียได้เสนอให้มีการประชุมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้[8] โดยมีเจตนาเพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาซึ่งเพิ่มพูนมากขึ้นในกลุ่มเอเปคและภูมิภาคเอเชียโดยรวม[9][10] แต่ว่าข้อเสนอดังกล่าวถูกยกเลิกไป เนื่องจากได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา[9][11] แม้ว่าจะประสบความล้มเหลวในด้านดังกล่าว แต่กลุ่มสมาชิกก็ยังสามารถดำเนินการในการรวมกลุ่มประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวกันต่อไปได้ ในปี พ.ศ. 2535 การใช้อัตราภาษีพิเศษที่เท่ากันได้รับการลงนาม เนื่องจากจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี โดยกฎหมายดังกล่าวเป็นโครงร่างสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน หลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ในปี พ.ศ. 2540 ข้อเสนอของมาเลเซียถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในเชียงใหม่ หรือที่รู้จักกันว่า การริเริ่มเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระหว่างกลุ่มสมาคมอาเซียนและประเทศในเอเชียอีกสามประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้[12]

นอกเหนือจากความร่วมมือในการช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกแล้ว กลุ่มสมาคมอาเซียนยังได้มีวัตถุประสงค์ในการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2538 สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับการลงนาม เพื่อให้ภูมิภาพเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นการห้ามอาวุธนิวเคลียร์ทุกประเภทในพื้นที่[13]

[แก้] คริสต์ศตวรรษที่ 21

เมื่อก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ประเด็นปัญหาเริ่มมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยกลุ่มประเทศสมาชิกได้เริ่มเจรจากันถึงข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึง การลงนามในข้อตกลงมลภาวะฟ้าหลัวระหว่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2545 ในความพยายามที่จะจำกัดขอบเขตของมลภาวะฟ้าหลัวในเขตพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้[14] แต่ทว่าในพื้นที่ก็ยังเกิดปัญหาฟ้าหลัวในประเทศมาเลเซีย ในปี พ.ศ. 2548 และปัญหาฟ้าหลัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี พ.ศ. 2549 ส่วนสนธิสัญญาฉบับอื่นที่ได้รับการลงนามโดยสมาชิกอาเซียนได้แก่ ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก[15] เครือข่ายกำกับดูแลสัตว์ป่าอาเซียนในปี พ.ศ. 2549[16] และ หุ้นส่วนเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยการพัฒนาความสะอาดและสภาพอากาศ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อปรากฏการณ์โลกร้อน และผลกระทบทางด้านลบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

หลังจากปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่สอง (อังกฤษ: Bali Concord II) ในปี พ.ศ. 2546 กลุ่มประเทศอาเซียนได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยทฤษฎีสันติภาพประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีความเชื่อว่ากระบวนการตามหลักการของประชาธิปไตยจะทำให้เกิดสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ นอกจากนั้น ประเทศอื่นที่ไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่างก็เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ประเทศสมาชิกอื่น ๆ ควรจะใฝ่หา[17]

ผู้นำของแต่ละประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาเธร์ โมฮัมหมัดแห่งมาเลเซีย มีความรู้สึกถึงความจำเป็นในการรวมกลุ่มประเทศกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2540 สมาคมอาเซียนได้เริ่มตั้งก่อตั้งองค์การหลายแห่งในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาเซียนบวกสามเป็นองค์การแรกที่ถูกก่อตั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามด้วย การประชุมเอเชียตะวันออก ซึ่งมีอีกสามประเทศที่เข้าร่วมด้วย คือ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กลุ่มดังกล่าวมีแผนการที่เป็นรากฐานของประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต ซึ่งร่างขึ้นตามอย่างของประชาคมยุโรปซึ่งปัจจุบันสิ้นสภาพไปแล้ว หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้ง กลุ่มผู้มีชื่อเสียงแห่งอาเซียนขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบของนโยบายดังกล่าว รวมไปถึงความเป็นไปได้ในการร่างกฎบัตรอาเซียนในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2549 กลุ่มอาเซียนได้รับสถานภาพผู้สังเกตการณ์สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ[18] ซึ่งกลุ่มอาเซียนได้มอบสถานภาพ "หุ้นส่วนการอภิปราย" ให้แก่สหประชาชาติเป็นการตอบแทน[19] นอกเหนือจากนั้น ในวันที่ 23 กรกฎาคมปีนั้นเอง โจเซ รามุส-ออร์ตา นายกรัฐมนตรีแห่งติมอร์ตะวันออก ได้ลงนามในความต้องการในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกลุ่มอาเซียนอย่างเป็นทางการ และคาดหวังว่าการได้รับสถานภาพผู้สังเกตการณ์เป็นเวลาห้าปีก่อนที่จะได้รับสถานภาพเป็นประเทศสมาชิกอย่างสมบูรณ์[20][21]

ในปี พ.ศ. 2550 กลุ่มอาเซียนได้เฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 40 ปีการก่อตั้งกลุ่มอาเซียน และครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา[22] ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2550 กลุ่มอาเซียนตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีทุกฉบับกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ภายในปี พ.ศ. 2556 ไปพร้อมกับการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558[23][24] ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในกฎบัตรอาเซียน ซึ่งเป็นกฎข้อบังคับในการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน และยกระดับกลุ่มอาเซียนให้เป็นองค์การระหว่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และในปีเดียวกันนั้น ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก ซึ่งลงนามในกลุ่มอาเซียน ร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยการหาพลังงานทางเลือกเพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์

[แก้] ภูมิศาสตร์

ธรณีสัณฐานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปัจจุบัน สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 10 ประเทศ คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 4.5 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 560 ล้านคน (ข้อมูลในปี พ.ศ. 2549) [25] ยอดเขาที่สูงสุดในภูมิภาค คือ ยอดเขาข่ากาโบราซีในประเทศพม่า ซึ่งมีความสูง 5,881 เมตร และมีอาณาเขตติดต่อกับจีน อินเดีย บังคลาเทศและปาปัวนิวกินี

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 27-36 °C[26] พืชพรรณธรรมชาติเป็นป่าฝนเขตร้อน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก ป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าสน ป่าหาดทรายชายทะเล ป่าไม้ปลูก มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมันและพริกไทย[27]

[แก้] วัตถุประสงค์

จากสนธิสัญญาความสามัคคีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีการสรุปแนวทางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้จำนวนหกข้อ ดังนี้[28]

  1. ให้ความเคารพแก่เอกราช อำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ของชาติสมาชิกทั้งหมด
  2. รัฐสมาชิกแต่ละรัฐมีสิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก การรุกรานดินแดนและการบังคับขู่เข็ญ
  3. จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่น ๆ
  4. ยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน หรือแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ
  5. ประณามหรือไม่ยอมรับการคุกคามหรือการใช้กำลัง
  6. ให้ความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ

[แก้] การประชุม

[แก้] การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้จัดการประชุมขึ้น เรียกว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ซึ่งประมุขของรัฐบาลของแต่ละประเทศสมาชิกจะมาอภิปรายและแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมไปถึงการจัดการประชุมร่วมกับประเทศนอกกลุ่มสมาชิกเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ. 2519 จากผลของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่สาม ณ กรุงมะนิลา ในปี พ.ศ. 2530 สรุปว่าผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนควรจะจัดการประชุมขึ้นทุกห้าปี[29] อย่างไรก็ตาม ผลของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งต่อมาที่ประเทศสิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2535 ได้เสนอให้จัดการประชุมให้บ่อยขึ้น และได้ข้อสรุปว่าจะมีการจัดการประชุมสุดยอดขึ้นทุกสามปีแทน[29] ต่อมา ในปี พ.ศ. 2544 ผู้นำสมาชิกประเทศกลุ่มอาเซียนได้เสนอให้จัดการประชุมขึ้นทุกปีเพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาด่วนที่ส่งผลกระทบในพื้นที่ ประเทศสมาชิกจะได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดขึ้นเรียงตามตัวอักษร ยกเว้นประเทศพม่า ซึ่งถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการประชุมในปี พ.ศ. 2549 เนื่องจากปัญหาทางด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีแรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547[30]

การประชุมอาเซียนอย่างเป็นทางการมีกำหนดการสามวัน ดังนี้

  • ประมุขของรัฐสมาชิกจะจัดการประชุมภายใน
  • ประมุขของรัฐสมาชิกจะหารือร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในที่ประชุมกลุ่มอาเซียน
  • การประชุมที่เรียกว่า "อาเซียนบวกสาม" ประมุขของรัฐสมาชิกจะประชุมร่วมกับประมุขของสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยจัดขึ้นพร้อมกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
  • การประชุมที่เรียกว่า "อาเซียน-เซอร์" ประมุขของรัฐสมาชิกจะประชุมร่วมกับประมุขของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนอย่างเป็นทางการ
วันที่ ประเทศเจ้าภาพ สถานที่จัดการประชุม
ครั้งที่ 1 23‒24 กุมภาพันธ์ 2519 ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย บาหลี
ครั้งที่ 2 4‒5 สิงหาคม 2520 ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
ครั้งที่ 3 14‒15 ธันวาคม 2530 ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ มะนิลา
ครั้งที่ 4 27‒29 มกราคม 2535 ธงของประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
ครั้งที่ 5 14‒15 ธันวาคม 2538 Flag of ไทย ไทย กรุงเทพมหานคร
ครั้งที่ 6 15‒16 ธันวาคม 2541 ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เวียดนาม ฮานอย
ครั้งที่ 7 5‒6 พฤศจิกายน 2544 ธงของประเทศบรูไนดารุสซาลาม บรูไน บันดาร์เสรีเบกาวัน
ครั้งที่ 8 4‒5 พฤศจิกายน 2545 ธงของประเทศกัมพูชา กัมพูชา พนมเปญ
ครั้งที่ 9 7‒8 ตุลาคม 2546 ธงของประเทศอินโดนีเซีย อินโดนีเซีย บาหลี
ครั้งที่ 10 29‒30 พฤศจิกายน 2547 ธงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลาว เวียงจันทน์
ครั้งที่ 11 12‒14 ธันวาคม 2548 ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์
ครั้งที่ 12 11‒14 มกราคม 25501 ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์2 เซบู
ครั้งที่ 13 18‒22 พฤศจิกายน 2550 ธงของประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์
ครั้งที่ 143 27 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2552
10-11 เมษายน 2552
Flag of ไทย ไทย ชะอำ, หัวหิน
พัทยา
ครั้งที่ 15 23-25 ตุลาคม 2552 Flag of ไทย ไทย ชะอำ, หัวหิน
ครั้งที่ 16 8-9 เมษายน 2553 ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เวียดนาม ฮานอย
1 การประชุมเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 10‒14 ธันวาคม เนื่องจากภัยได้ฝุ่น
2 พม่าไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเนื่องจากความกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
3 การประชุมถูกเลือกออกไปสองครั้งเนื่องจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล

[แก้] การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก

ผู้เข้าร่วมประชุมในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก:      อาเซียน      อาเซียนบวกสาม      สมาชิกเพิ่มเติม      ผู้สังเกตการณ์

การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกเป็นการจัดการประชุมทั่วเอเชียซึ่งจัดขึ้นทุกปีโดยผู้นำเอเชียตะวันออก 16 ประเทศ โดยหัวข้อการประชุมนั้นเกี่ยวข้องกับการค้า พลังงานและความมั่นคง จากการประชุมดังกล่าวถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาคมเอเชียตะวันออก จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2548 และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีหลังจากนั้น

ประเทศผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้นำชาติอาเซียน 10 ประเทศร่วมกับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของโลก รัสเซียได้ขอเสนอเข้าเป็นสมาชิกเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกด้วยเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับเชิญให้เป็นแขกในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกในครั้งที่หนึ่งด้วย[31]

การประชุม ประเทศเจ้าภาพ สถานที่จัดการประชุม วันที่ หมายเหตุ
ครั้งที่ 1 ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์ 14 ธันวาคม 2548 รัสเซียได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมด้วย
ครั้งที่ 2 ธงของประเทศฟิลิปปินส์ ฟิลิปปินส์ เซบู 15 มกราคม 2550 ถูกเลื่อนมาจากวันที่ 13 ธันวาคม 2549
ได้มีการลงนามใน ปฏิญญาเซบูว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานเอเชียตะวันออก
ครั้งที่ 3 ธงของประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์ สิงคโปร์ 21 พฤศจิกายน 2550 ปฏิญญาสิงคโปร์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พลังงานและสิ่งแวดล้อม[32]
ข้อตกลงว่าด้วยการก่อตั้งสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออก
ครั้งที่ 4 Flag of ไทย ไทย พัทยา 10-12 เมษายน 2552 ถูกย้ายมาจากกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ

[แก้] การประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรี

การประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรีเป็นการประชุมระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาติอาเซียน ถูกจัดตั้งขึ้นเนื่องในวาระครบรอบการก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูต ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนจะเป็นผู้เชิญชวนผู้นำชาติอาเซียนเพื่อประชุมเชื่อมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือในอนาคต

[แก้] ที่ประชุมกลุ่มอาเซียน

ที่ประชุมกลุ่มอาเซียนเป็นการประชุมหลายฝ่ายอย่างเป็นทางการในภาคพื้นแปซิฟิก ในเดือนกรกฎาคม 2550 ที่ประชุมดังกล่าวประกอบด้วย ประเทศสมาชิก 27 ประเทศ; ออสเตรเลีย บังคลาเทศ แคนาดา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ มองโกเลีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี รัสเซีย ติมอร์ตะวันออก สหรัฐอเมริกาและศรีลังกา จุดประสงค์ของที่ประชุมเพื่อการปรึกษาหารือ นำเสนอความไว้วางใจและธำรงความสัมพันธ์ทางการทูตในกลุ่มสมาชิก ที่ประชุมกลุ่มอาเซียนจัดการประชุมครั้งแรกในปี 2537[33][34]

[แก้] การประชุมอื่น

นอกเหนือจากการประชุมที่กล่าวมาข้างต้น อาเซียนยังได้มีการจัดการประชุมอื่นขึ้นอีก[35] ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนประจำปี[36] รวมไปถึงคณะกรรมการย่อย อย่างเช่น ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[37] การประชุมดังกล่าวมักจะมีหัวข้อการประชุมที่เฉพาะเจาะจง อย่างเช่น ความมั่นคงระหว่างประเทศ[35] สิ่งแวดล้อม[35][38] ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมประชุมจะเป็นรัฐมนตรีแทนที่จะเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลทั้งหมด

[แก้] การประชุมอาเซียนบวกสาม

ในขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ผลักดันให้จัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน เกาหลีใต้ก็ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก ด้วยการผนึกสาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เข้ากับกลุ่มประเทศอาเซียนที่เรียกชื่อว่า "อาเซียนบวกสาม" (APT) แต่สาธารณรัฐประชาชนจีน เดินหน้าจัดตั้งเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน โดยกีดกันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วยความจงใจ แม้ว่าตามข้อตกลงในการจัดซื้อเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน จะมีแผนที่จะผนวกเกาหลีใต้และญี่ปุ่นเข้ามาในภายหลังเพื่อเป็นอาเซียนบวกสาม แต่มิได้กำหนดเงื่อนเวลาอันแน่นอน อันทำให้เขตการค้าเสรีอาเซียนบวกสามเป็นเรื่องค่อนข้างเลื่อนลอย

[แก้] การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป

การประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปเป็นกระบวนการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ มีขึ้นครั้งแรกในปี 2538 เพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมาชิกของสหภาพยุโรปและอาเซียน[39] โดยกลุ่มอาเซียนจะส่งเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้แทนเข้าร่วมประชุมร่วมกับผู้แทนอีก 45 คน และได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้บริหารของมูลนิธิเอเชีย-ยุโรป ซึ่งเป็นองค์การความร่วมมือกันทางด้านสังคมและวัฒนธรรมระหว่างเอเชียกับยุโรป

[แก้] การประชุมอาเซียน-รัสเซีย

เป็นการประชุมประจำปีระหว่างผู้นำของประเทศกลุ่มอาเซียนร่วมกับประธานาธิบดีของสหพันธรัฐรัสเซีย

[แก้] ประชาคมเศรษฐกิจ

กลุ่มอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในภูมิภาค อันประกอบด้วย "หลักสามประการ" ของความมั่นคง สังคมวัฒนธรรมและการรวมตัวทางเศรษฐกิจ[40] การรวมกลุ่มกันในภูมิภาคได้ทำให้การรวมตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าจะประสบความสำเร็จในการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2558[41] ประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าวจะมีประชากรรวมกัน 560 ล้านคน และมูลค่าการค้ากว่า 1.4 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ[40]

[แก้] เขตการค้าเสรี

รากฐานของการก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเริ่มต้นมาจากเขตการค้าเสรีอาเซียน[41] ซึ่งเป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อให้สินค้าภายในอาเซียนเกิดการหมุนเวียน เขตการค้าเสรีอาเซียนเป็นข้อตกลงโดยสมาชิกกลุ่มอาเซียนซึ่งกังวลต่อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมท้องถิ่นของตน ได้รับการลงนามในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2535 ประกอบไปด้วยประเทศสมาชิก คือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย เวียดนาม (เข้าร่วมในปี 2538) ลาว พม่า (เข้าร่วมในปี 2540) และกัมพูชา (เข้าร่วมในปี 2542) [42][43]

[แก้] เขตการลงทุนร่วม

เขตการลงทุนร่วมมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนหมุนเวียนภายในอาเซียน ซึ่งประกอบด้วยหลักการดังต่อไปนี้:[44]

  • เปิดให้อุตสาหกรรมทุกรูปแบบเกิดการลงทุนและลดขั้นตอนตามกำหนดการ
  • ทำสัญญากับผู้ลงทุนในกลุ่มอาเซียนที่เขามาลงทุนในทันที
  • กำจัดการกีดขวางทางการลงทุน
  • ปรับปรุงกระบวนการและระเบียบการลงทุนให้เกิดความคล่องตัว
  • สร้างความโปร่งใส
  • ดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกในการลงทุน

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากเขตการลงทุนร่วมจะเป็นการกำจัดการกีดกันในกิจการเกษตรกรรม การประมง การป่าไม้และการทำเหมืองแร่ ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จภายในปี พ.ศ. 2553 สำหรับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนเป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าจะสำเร็จในปี พ.ศ. 2558 สำหรับประเทศกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม

[แก้] การแลกเปลี่ยนบริการ

ข้อตกลงการวางกรอบเรื่องการแลกเปลี่ยนบริการเริ่มต้นขึ้นในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงเทพมหานครในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว รัฐสมาชิกของกลุ่มอาเซียนจะสามารถประสบความสำเร็จในการเจรจาอย่างเสรีในด้านการแลกเปลี่ยนบริการ โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากขึ้น ผลของการเจรจาการแลกเปลี่ยนบริการซึ่งได้เริ่มดำเนินการตามหมายกำหนดการเป็นรายเฉพาะจะถูกรวมเข้ากับกรอบข้อตกลง ซึ่งหมายกำหนดการดังกล่าวมักจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มการแลกเปลี่ยนบริการ ในปัจจุบัน พบว่ามีกลุ่มการแลกเปลี่ยนบริการจำนวนเจ็ดกลุ่มภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว

[แก้] ตลาดการบินเดียว

แนวคิดเรื่องตลาดการบินเดียวเป็นความคิดเห็นที่เสนอโดยกลุ่มงานขนส่งทางอากาศอาเซียน ได้รับการสนับสนุนในการประชุมการขนส่งอย่างเป็นทางการของอาเซียน และได้รับการอนุมัติโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคมนาคมของรัฐสมาชิก ซึ่งจะนำไปสู่การจัดระเบียบน่านฟ้าเปิดในภูมิภาคภายในปี พ.ศ. 2558 โดยตลาดการบินเดียวมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดการคมนาคมทางอากาศระหว่างรัฐสมาชิกเป็นไปอย่างเสรี ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มอาเซียนจากการเติบโตของการเดินทางทางอากาศในปัจจุบัน และยังเป็นการเพิ่มการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนและการบริการให้กับรัฐสมาชิกทั้งหมด

[แก้] ข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียน

อาเซียนได้เปิดการค้าเสรีกับประเทศภายนอกหลายประเทศ ทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และล่าสุด อินเดีย ในปัจจุบัน อาเซียนนั้นได้ทำการเจรจากับสหภาพยุโรปในการที่จะทำการค้าเสรีด้วยกัน ไต้หวันได้มีความสนใจในขณะเดียวกัน แต่ยังมีปัญหาในเรื่องอาณานิคมกับจีน ผลดีของข้อตกลงนั้น คือการเปิดโอกาสการค้าของอาเซียน ให้มีศักยภาพและขยายตัวมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนจากต่างชาติด้วย[45]

[แก้] กฎบัตรอาเซียน

ดูบทความหลักที่กฎบัตรอาเซียน

[แก้] ความร่วมมือทางวัฒนธรรม

ความร่วมมือทางวัฒนธรรมนั้น มีจุดประสงค์เพื่อที่จะช่วยสร้างภาพรวมในด้านต่างๆให้ดีขึ้น โดยการให้การสนับสนุน ทั้งการกีฬา การศึกษา และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งได้แก่ความร่วมมือต่างๆดังนี้

[แก้] รางวัลซีไรต์

ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2522 เพื่อมอบรางวัลแก่นักประพันธ์หรือนักเขียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้สร้างผลงานที่ดีมีชื่อเสียง ที่ประสบความสำเร็จในช่วงชีวิตของนักเขียนนั้นๆ ผลงานนั้นเป็นผลงานเขียนทุกประเภท ทั้งวรรณกรรมต่างๆ เรื่องสั้น กลอน รวมไปถึงผลงานทางศาสนา ซึ่งจะมีการจัดงานที่กรุงเทพมหานคร โดยมีเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ไทยเป็นผู้พระราชทานรางวัล

[แก้] สถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูงแห่งอาเซียน

เป็นองค์การเอกชนที่จัดตั้งขึ้น ในปีพ.ศ. 2499 เพื่อที่จะพัฒนาระดับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทั้งสถาบันการศึกษาทระดับสูง การสอน การวิจัย การบริการสาธารณะที่ดีได้มาตรฐานที่สูงขึ้น โดยสอดคล้องไปกับวัฒนธรรมและพื้นที่นั้นๆ

[แก้] อุทยานมรดก

ได้จัดต้งขึ้นในปีพ.ศ. 2527และเริ่มใหม่อีกรอบในปีพ.ศ. 2547เป็นการรวมรายชื่อของุทยานแห่งชาติทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดประสงค์ที่จะทำการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมป่าไม้ปัจจุบันมีรวมทั้งหมด 35 แห่ง

[แก้] ทุนการศึกษา

ได้รับการสนับสนุนทุนจากสิงคโปร์ให้สมาชิกสำหรับสถาบันการศึกษา เป็นทุนสำหรับสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นในการศึกษาทุกด้าน

[แก้] เครือข่ายมหาวิทยาลัย

จัดตั้งในปีพ.ศ. 2538โดยมหาวิทยาลัย 11 แห่งในอาเซียน เป็นเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยในด้านต่างทั้งนักศึกษา ความรู้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมทั้งหมดกว่า 21 แห่ง

[แก้] การจัดการแข่งขันกีฬา

[แก้] ซีเกมส์

ซีเกมส์

[แก้] ฟุตบอลแชมเปียนชิพ

อาเซียนฟุตซอลแชมเปียนชิพ

[แก้] พาราเกม

อาเซียนพาราเกมส์

[แก้] ข้อวิพากษ์วิจารณ์

อาเซียนนั้นถูกวิพากย์วิจารณ์ในหลายๆเรื่อง ทั้งเรื่องเด่นๆดังเช่น เหตุการณ์ในพม่าและนางอองซาน ซูจีจากสหภาพยุโรป หรือปัญหาความวุ่นวายในอาเซียน ที่ยาวนานและทำให้ถูกมองในแง่ลบเป็นอย่างมาก

[แก้] สัญลักษณ์

สัญลักษณ์อาเซียน คือ ต้นข้าวสีเหลือง 10 ต้นมัดรวมกันไว้ หมายถึงประเทศสมาชิกรวมกันเพื่อมิตรภาพและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สีน้ำเงิน หมายถึง สันติภาพและความมั่นคง สีแดง หมายถึง ความกล้าหาญและความก้าวหน้า สีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์ และ สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Overview. ASEAN. สืบค้นวันที่ 2009-01-12
  2. ^ Overview, ASEAN Secretariat official website. Retrieved 12 June 2006
  3. ^ "สุรินทร์ พิศสุวรรณ" กับบทบาทประธานอาเซียนคนใหม่
  4. ^ Muthiah Alagappa (1998). Asian Security Practice: Material and Ideational Influences. Stanford: Stanford University Press (US). ISBN-10: 0804733473. http://books.google.com/books?id=1t2DRZeDVx8C&printsec=frontcover&dq=Asian+Security+Practice:+Material+and+Ideational&sig=5k92m6QGTHi32zipCdcnX7woEv0. 
  5. ^ ASEAN secretariat. ASEAN (23RD JULY 1999). สืบค้นวันที่ 2009-01-12
  6. ^ Background Note:Brunei Darussalam/Profile:/Foreign Relations. United States State Department. สืบค้นวันที่ 2007-03-06
  7. ^ 7.0 7.1 Carolyn L. Gates, Mya Than (2001). ASEAN Enlargement: impacts and implications. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 9812300813. 
  8. ^ East Asia Economic Caucus. ASEAN Secretariat. Retrieved 14 March 2007.
  9. ^ 9.0 9.1 Whither East Asia? Asian Views. Retrieved 14 March 2007.
  10. ^ Asia's Reaction to NAFTA Nancy J. Hamilton. CRS - Congressional Research Service. Retrieved 14 March 2007.
  11. ^ Japan Straddles Fence on Issue of East Asia Caucus International Herald tribune. Retrieved 14 March 2007.
  12. ^ Regional Financial Cooperation among ASEAN+3. Japanese Ministry of Foreign Affairs. สืบค้นวันที่ 2008-09-29
  13. ^ (in%20alphabetical%20order) ?OpenView Bangkok Treaty (in alphabetical order) At UNODA สหประชาชาติ. Retrieved on 4 September 2008.
  14. ^ ASEAN Secretariat. ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution. Extracted 12 October 2006
  15. ^ East Asian leaders to promote biofuel, Philippine Daily Inquirer, 13 March 2007.
  16. ^ ASEAN Statement on Launching of the ASEAN Wildlife Law Enforcement Network (ASEAN-WEN). ASEAN (1 December 2005). สืบค้นวันที่ 2009-01-12
  17. ^ "Asean: Changing, but only slowly", BBC, 2003-10-08
  18. ^ RP resolution for observer status in UN assembly OK’d, Philippine Daily Inquirer, 13 March 2007.
  19. ^ "Philippines to Represent Asean in Un Meetings in Ny, Geneva", Yahoo! News, 2007-03-07. สืบค้นวันที่ 2007-03-13
  20. ^ "East Timor ASEAN bid", The Sun-Herald, The Sydney Morning Herald, 2007-01-28. สืบค้นวันที่ 2007-09-20
  21. ^ "East Timor Needs Five Years to Join ASEAN: PM", ASEAN Secretariat, 26 July 2006. สืบค้นวันที่ 2007-03-03
  22. ^ Forss, Pearl. "US and ASEAN seeking to enhance relationship: Dr Balaji", Channel NewsAsia, 2007-08-27. สืบค้นวันที่ 2007-08-27
  23. ^ "ASEAN to complete free trade agreements by 2013", Forbes, 2007-08-26. สืบค้นวันที่ 2007-08-27
  24. ^ Ong, Christine. "ASEAN confident of concluding FTAs with partners by 2013", Channel NewsAsia, 2007-08-27. สืบค้นวันที่ 2007-08-27
  25. ^ ASEAN - Overview (อังกฤษ)
  26. ^ Asean Tourism (อังกฤษ)
  27. ^ http://ecurriculum.mv.ac.th/social/social/m1/sara4/unit4/lesson1/southeastasia1/k7.htm
  28. ^ ASEAN at About.com:Geography (อังกฤษ)
  29. ^ 29.0 29.1 ASEAN Structure, ASEAN Primer
  30. ^ Denis Hew (2005). Roadmap to an Asean Economic Community. Institute of Southeast Asian Studies. ISBN 981-230-347-2. 
  31. ^ Chairman's Statement of the First East Asia Summit Kuala Lumpur. ASEAN (14 December 2005). สืบค้นวันที่ 2009-01-12
  32. ^ Singapore Declaration on Climate Change, Energy and the Environment. ASEAN (21 November 2007). สืบค้นวันที่ 2009-01-12
  33. ^ About Us, ASEAN Regional Forum official website. Retrieved 12 June 2006
  34. ^ Official Website of Australian Department of Foreign Affairs and Trade. Retrieved 3 August 2008
  35. ^ 35.0 35.1 35.2 ASEAN Calendar of Meetings and Events November 2006, ASEAN Secretariat. Retrieved 13 March 2007.
  36. ^ ASEAN Ministerial Meetings, ASEAN Secretariat. Retrieved 13 March 2007.
  37. ^ [1], ASEAN Secretariat. Retrieved 16 March 2007.
  38. ^ "Malaysians have had enough of haze woes", The Malaysian Bar. สืบค้นวันที่ 2007-03-13
  39. ^ Lay Hwee Yeo (2003). Asia and Europe: the development and different dimensions of ASEM. Routledge (UK). ISBN 0-415-30697-3. 
  40. ^ 40.0 40.1 Overview. Aseansec.org. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  41. ^ 41.0 41.1 Sim, Edmund "Introduction to the ASEAN Economic Community", http://www.asil.org/aseanevent/Sim_Intro_to_ASEAN.pdf
  42. ^ Agreement on the Common Effective Preferential Tariff Scheme for the ASEAN Free Trade Area, Singapore, 28 January 1992. Aseansec.org. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  43. ^ Overview. Aseansec.org. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  44. ^ Highlights of the ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA). Aseansec.org. สืบค้นวันที่ 2008-12-21
  45. ^ http://www.scb.co.th/LIB/th/article/kra/2547/k1564.html

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

เกี่ยวกับอาเซียน
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน
องค์การของอาเซียน