วิกิพีเดีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิกิพีเดีย
หน้ารวมโครงการทุกภาษาในวิกิพีเดีย
เว็บไซต์ www.wikipedia.org
เชิงพาณิชย์? ไม่ใช่ (รับบริจาค)
ประเภทเว็บไซต์ สารานุกรมออนไลน์
สมัครสมาชิก? ไม่จำเป็น
ภาษา 272 ภาษา
เจ้าของ มูลนิธิวิกิมีเดีย
ผู้ก่อตั้ง จิมมี เวลส์, แลร์รี แซงเจอร์
วันที่เปิดตัว 15 มกราคม พ.ศ. 2544
สถานะปัจจุบัน เปิดให้บริการ

วิกิพีเดีย (อังกฤษ: Wikipedia) คือสารานุกรมออนไลน์หลายภาษาที่แจกจ่ายในลักษณะเนื้อหาเสรี บริหารงานโดยมูลนิธิวิกิมีเดีย คำว่า "วิกิพีเดีย" มีที่มาของชื่อการผสมคำของคำว่า "วิกิ" (wiki) ซึ่งเป็นลักษณะของการสร้างเว็บไซต์ที่ร่วมกันปรับปรุง และคำว่า "เอนไซโคลพีเดีย" (encyclopedia) ที่แปลว่าสารานุกรม เว็บไซต์ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 โดย จิมมี เวลส์ และ แลร์รี แซงเจอร์ โดยในปัจจุบันวิกิพีเดียเป็นเว็บไซต์สารานุกรมออนไลน์ที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุดในโลก[1]

ปัจจุบัน วิกิพีเดียมีเนื้อหากว่า 9 ล้านบทความใน 272 ภาษา ประกอบด้วยข้อความกว่า 17,400 ล้านคำ เฉพาะในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ มีเนื้อหามากกว่า 3,000,000 เรื่อง เนื้อหาในวิกิพีเดียเกิดขึ้นโดยการร่วมเขียนจากอาสาสมัครจากทั่วโลก โดยเว็บไซต์เปิดให้ทุกคนสามารถร่วมแก้ไขได้อย่างอิสระ ซึ่งในปัจจุบันวิกิพีเดียได้รับความนิยมเป็น 1 ใน 10 เว็บที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดในโลก[2]

วิกิพีเดียถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความน่าเชื่อถือและความถูกต้องอยู่เสมอ เนื่องจากวิกิพีเดียเปิดโอกาสให้ทุกคนแก้ไขโดยไม่จำเป็นต้องทำการล็อกอิน ซึ่งส่งผลให้วิกิพีเดียถูกก่อกวนได้ตลอดเวลา ไม่ว่าการใส่คำหยาบสอดแทรก การใส่ข้อความที่คลาดเคลื่อน การลบข้อมูลสำคัญออกไป รวมถึงการใส่ความเห็นลงในตัวบทความ

นอกเหนือจากการเป็นข้อมูลอ้างอิงในด้านสารานุกรมแล้ว วิกิพีเดียได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เมื่อปี 2549 นิตยสารไทม์ได้มีการกล่าวถึง "บุคคลสำคัญประจำปี" ซึ่งกล่าวออกมาว่าคือ "ตัวคุณเอง" (You) โดยอ้างถึง วิกิพีเดีย ยูทูบ และมายสเปซ ในลักษณะของการสร้างเว็บ 2.0 ซึ่งสำเร็จขึ้นได้จากการร่วมมือของบุคคลหลายล้านคนทั่วโลก[3]

วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อมีเดียวิกิ และจัดเก็บในเซิร์ฟเวอร์สามแห่งทั่วโลก โดยมีเซิร์ฟเวอร์ใหญ่อยู่ที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และเซิร์ฟเวอร์ย่อยตั้งอยู่ที่อัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ และโซลในเกาหลีใต้ ในขณะที่มูลนิธิสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย[4]

เนื้อหา

ประวัติ

วิกิพีเดียเริ่มต้นเมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 โดยเริ่มต้นโครงการจากชื่อสารานุกรมนูพีเดียที่เขียนโดย ผู้เชี่ยวชาญในหลายสาขาบริหารโดยโบมิส ซึ่งมี จิมมี เวลส์ เป็นผู้บริหารขณะนั้นโดยในช่วงแรกได้ใช้ลิขสิทธิ์เสรีเฉพาะของนูพีเดียเอง และภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นสัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนูภายหลังจากการผลักดันของริชาร์ด สตอลล์แมน[5]

ลักษณะสารานุกรม

สารานุกรมวิกิพีเดียได้รับการยอมรับจากนักวิชาการและสื่อมวลชน เนื่องจากเนื้อหาเปิดเสรีให้สามารถนำไปใช้ได้ รวมถึงเปิดเสรีที่ให้ทุกคนแก้ไข รวมถึงนโยบายมุมมองที่เป็นกลางจากทุกฝ่ายที่เขียนในสารานุกรม อย่างไรก็ตามการนำไปใช้อ้างอิงในเอกสารทางวิชาการยังคงเป็นข้อถกเถียงเนื่องจากการเปิดโอกาสให้ทุกคนแก้ไข ซึ่งง่ายต่อการปรับเปลี่ยนข้อมูลทุกเมื่อ

ผู้ประสงค์ร้ายที่มือบอนเข้าไปทำลายข้อมูลหรือสิ่งดีๆ ในวิกิพีเดีย ยังเป็นปัญหาที่เกิดบ่อย แม้ว่าส่วนใหญ่ผู้ก่อการร้ายเหล่านั้นจะถูกจับได้ และมีการเข้าไปแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้ใช้วิกิพีเดียที่ทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นล่าสุด

การตรวจสอบเนื้อหาในวิกิพีเดีย ใช้วิธีอ้างอิงจากงานที่ได้รับการตีพิมพ์ (peer-reviewed publications) แทนที่จะเป็นบุคคลผู้เชี่ยวชาญ วิกิพีเดียไม่เรียกร้องให้ผู้ร่วมสมทบงานให้ชื่อสกุลจริงหรือข้อมูลอื่นใดเพื่อสร้างตัวตนในวิกิพีเดีย และแม้ว่าผู้สมทบงานบางรายจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาของตน วิกิพีเดียก็ยังต้องการให้งานสมทบของเขาสนับสนุนโดยแหล่งอ้างอิงที่ตีพิมพ์แล้วและตรวจสอบได้

ความน่าเชื่อถือของวิกิพีเดียได้ถูกทำการทดสอบ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ได้มีทีมนักวิจัยทดสอบความถูกต้องของวิกิพีเดียฉบับภาษาอังกฤษ เปรียบเทียบกับสารานุกรมบริเตนนิกา สารานุกรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก โดยนำเรื่องราวเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ไปทดสอบ ผลลัพธ์ที่ออกมาสรุปว่าความถูกต้องใกล้เคียงกัน โดยมีการผิดพลาดทางข้อมูลและการใช้ภาษาใกล้เคียงกัน[6]

วิกิพีเดียถูกกล่าวหาว่านำเสนอเนื้อหาที่มีความลำเอียงอย่างเป็นระบบ (systemic bias) และมีความไม่สอดคล้องกัน[7] นักวิจารณ์ให้เหตุผลว่า ธรรมชาติที่เปิดของวิกิพีเดียและการไม่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงในเนื้อหาจำนวนมาก ทำให้มันไม่น่าเชื่อถือ[8] นักวิจารณ์อีกกลุ่มแนะว่า โดยปกติแล้ววิกิพีเดียนั้นเชื่อถือได้ แต่มันไม่แน่ชัดเท่าไรนักว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน[9] มหาวิทยาลัยและอาจารย์จำนวนมากไม่สนับสนุนให้นักเรียนอ้างอิงสารานุกรมใด ๆ ในงานวิชาการ และชอบที่จะให้ใช้งานจากแหล่งปฐมภูมิมากกว่า[10] บางรายระบุเป็นการเฉพาะว่าห้ามอ้างอิงวิกิพีเดีย[11] ผู้ร่วมก่อตั้งวิกิพีเดีย จิมมี่ เวลส์ เน้นว่าสารานุกรมชนิดใด ๆ นั้นโดยปกติแล้วไม่เหมาะสมสำหรับใช้เป็นแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ และไม่ควรไว้วางใจมันว่าเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้[12]

เนื้อหาเสรี และการอนุญาตให้ใช้แบบเสรี

เนื้อหาข้อความทั้งหมดในวิกิพีเดียเป็นเนื้อหาเสรี งานสมทบที่ส่งมายังวิกิพีเดียทุกชิ้นถูกคุ้มครองโดย สัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาอนุญาตชนิด "copyleft" ที่ให้สิทธิ์นำเนื้อหาไปแจกจ่ายซ้ำ ดัดแปลงต่อยอด และนำไปใช้งานได้อย่างเสรี ทั้งนี้รวมถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์ด้วย สัญญาอนุญาตตัวนี้ อนุญาตให้ผู้ร่วมเขียนวิกิพีเดียแต่ละคนยังคงมีสิทธิ์ในงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปต่อยอดและแจกจ่ายงานต่อยอดนั้นต่อได้ เพียงมีเงื่อนไขว่าจะต้องให้เครดิตกับเจ้าของงานดั้งเดิม และงานต่อยอดนั้นจะต้องใช้สัญญาอนุญาต GFDL เช่นเดียวกัน ด้วยสัญญาอนุญาตตัวนี้ ทำให้รับประกันได้ว่าวิกิพีเดียจะถูกแก้ไขได้อย่างเสรีและอย่างเท่าเทียมกัน การสมทบงานของผู้เขียนแต่ละคน จะถูกบันทึกไว้ในฐานข้อมูลตราบนานเท่านาน แลร์รี แซงเจอร์ เคยกล่าวถึงการใช้ GFDL ไว้ว่า “การรับประกันเสรีภาพ เป็นแรงจูงใจสำคัญในการทำงานสารานุกรมเสรี”[13]

วิกิพีเดียนั้นยังประกอบด้วยภาพและสื่ออื่น ๆ ที่ไม่ได้สร้างสรรค์โดยผู้ร่วมแก้ไข โดยสื่อเหล่านั้นอาจจะเป็นสาธารณสมบัติ หรือใช้สัญญาอนุญาตแบบ copyleft อื่น หรือสัญญาอนุญาตที่เข้ากันได้กับ GFDL เช่นสัญญาอนุญาตประเภท ครีเอทีฟคอมมอนส์ อย่างไรก็ตามยังคงมีชิ้นงานอื่น ๆ เช่น ตราประจำบริษัท ตัวอย่างเพลง ภาพข่าวที่มีลิขสิทธิ์ ฯลฯ ที่นำออกแสดงในวิกิพีเดีย ด้วยการอ้างสิทธิ์การใช้งานโดยชอบธรรม ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกา (เครื่องแม่ข่ายที่เก็บเนื้อหาของวิกิพีเดียนั้น โดยส่วนใหญ่รวมถึงวิกิพีเดียภาษาไทย ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา) เนื้อหาที่มีอยู่นี้มีความเหมาะสมและมีความถูกต้องตรงไปตรงมาอยู่และเหมาะแก่การนำไปใช้งานและยังเป็นการป้องกันการละเมิดลิขสิทธ์อีกด้วยซึ่งเหมาะสมกับผู้ที่ต้องการทำธรุกิจเป็นอันมาก

อคติและความโอนเอียงของข้อมูล

อคติและความโอนเอียงในระบบของวิกิพีเดีย เป็นอีกหัวข้อหนึ่งที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเรื่องราวบางเรื่องมีข้อมูลลงลึกมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ซึ่งข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ แม้กระทั่งผู้เสนอโครงการวิกิพีเดียเองก็ยอมรับ

ซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์

วิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อมีเดียวิกิที่เป็นซอฟต์แวร์ในลักษณะโอเพนซอร์ซทำงานผ่านการบริหารเว็บไซต์ที่เรียกว่าวิกิ ตัวซอฟต์แวร์เขียนขึ้นด้วยภาษาพีเอชพีที่ทำงานร่วมกับฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล ในช่วงเริ่มต้น ในระยะที่หนึ่งวิกิพีเดียทำงานด้วยซอฟต์แวร์ชื่อยูสม็อดวิกิที่เขียนขึ้นในภาษาเพิร์ล จนกระทั่งเดือนมกราคม 2545 วิกิพีเดียเริ่มโครงการระยะที่ 2 ได้เปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ชื่อพีเอชพีวิกิร่วมกับฐานข้อมูลมายเอสคิวแอล และต่อมาในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน วิกิพีเดียได้มาใช้ซอฟต์แวร์มีเดียวิกิ ซึ่งเป็นโครงการระยะที่ 3 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน

วิกิพีเดียทำงานและเก็บข้อมูลเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์เนื้อหาทั้งหมดจัดเก็บไว้ที่รัฐฟลอริดาในสหรัฐอเมริกา และอีก 2 เซิร์ฟเวอร์ย่อยที่อัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ และโซลในเกาหลีใต้ สำหรับจัดการบริหารและดูแลรักษาข้อมูล[14] ในช่วงระยะแรกวิกิพีเดียเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์เดี่ยวจนกระทั่งได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และเมื่อ เดือนมกราคม 2548 โครงการทั้งหมดได้ทำงานบนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ 39 เครื่องที่ตั้งในรัฐฟลอริดา และต่อมาในเดือนกันยายนปีเดียวกันจนกระทั่งปัจจุบัน ได้มีการเพิ่มเซิร์ฟเวอร์กว่า 100 เครื่อง โดยตั้งอยู่ที่เมืองแทมปาในรัฐฟลอริดา อัมเสตอร์ดัม และโซล

วิกิพีเดียมีการเรียกใช้งานประมาณ 10,000 ถึง 35,000 หน้าต่อวินาที ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของแต่ละวัน[15] โดยทางระบบจะส่งข้อมูลเก่าที่เป็นแคชจากเซิร์ฟเวอร์สควิดแคชเลเยอร์ชั้นบนสุดไปให้ผู้เข้าชมเว็บ ซึ่งถ้าข้อมูลนั้นไม่มีในแคชข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์หลักจะถูกส่งมาแทนที่เพื่อลดการทำงานของเซิร์ฟเวอร์หลัก อย่างไรก็ตามข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์แคชจะถูกล้างเป็นระยะเพื่อพัฒนาข้อมูลใหม่ ในทางตรงข้ามผู้ร่วมเขียนบทความจะได้ข้อมูลตรงจากทางเซิร์ฟเวอร์หลักแทนที่สควิดแคชเสมอ

รุ่นภาษา

ดีวีดี วิกิพีเดียภาษาโปแลนด์

ปัจจุบันวิกิพีเดียมีทั้งหมด 272 ภาษา โดยมีวิกิพีเดีย 31 ภาษาที่มีเนื้อหามากกว่า 100,000 เรื่อง ซึ่งวิกิพีเดียภาษาอังกฤษเป็นรุ่นที่มีเนื้อหามากที่สุด รองลงมาด้วย เยอรมัน ฝรั่งเศส โปแลนด์ และอิตาลี

เนื่องจากผู้ใช้วิกิพีเดียสามารถร่วมสร้างจากทั่วโลกผ่านทางเว็บไซต์ ทำให้เกิดมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจากผู้เขียนที่ใช้ภาษาถิ่นแตกต่างกัน โดยปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยปรากฏในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ภาษาถิ่นสำเนียง อังกฤษบริติช และอังกฤษอเมริกันส่งผลให้มีการสะกดหลายแบบ (ตัวอย่างเช่น colour และ color) รวมไปถึงเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นจากมุมมองที่ต่างกัน

อย่างไรก็ตามแม้ว่าวิกิพีเดียในแต่ละภาษาได้มีการบริหารแยกจากกันต่างหาก ทางมูลนิธิได้มีการตั้งเว็บไซต์เมต้าวิกิใช้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานของวิกิพีเดียแต่ละภาษา เช่นการให้บริการข้อมูลด้านสถิติ แสดงรายชื่อบทความพื้นฐานที่แต่ละวิกิพีเดียควรมี รวมถึงการเชื่อมโยงบทความในแต่ละภาษาเข้าด้วยกันผ่านทางลิงก์ที่เรียกว่า "อินเตอร์วิกิ"

วิกิพีเดียยังมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางสื่ออื่นนอกเหนือจากทางเว็บไซต์ วิกิพีเดียในหลายภาษาได้มีการนำข้อมูลบรรจุลงในแผ่นดีวีดี เช่นในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ วิกิพีเดียภาษาโปแลนด์[16] และวิกิพีเดียภาษาเยอรมัน[17] นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาข้อมูลวิกิพีเดียเพื่อนำไปใช้ในเครื่องไอพ็อด [18]

โครงการอื่น

มูลนิธิวิกิพีเดียยังได้จัดตั้งโครงการอื่นที่ใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันนอกเหนือจากการจัดทำสารานุกรม โดยมีโครงการแรกคือ "In Memoriam: September 11 Wiki" ที่เริ่มสร้างเมื่อเดือนตุลาคม 2545 รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ วินาศกรรม 11 กันยายน พ.ศ. 2544 แต่ได้ปิดตัวลงเมื่อเดือนตุลาคม 2549 โครงการวิกิพจนานุกรมที่ยังคงใช้งานจนถึงปัจจุบัน จัดการข้อมูลในลักษณะพจนานุกรมเริ่มเปิดตัวเมื่อธันวาคม 2545 และตามด้วยโครงการวิกิคำคม วิกิตำรา วิกิข่าว วิกิวิทยาลัย และโครงการอื่นตามมา ดังนี้

Wikisource-logo-35px.png
วิกิซอร์ซ
เอกสารต้นฉบับเสรี
Commons-logo.svg
คอมมอนส์
ศูนย์รวมสื่อเสรี
Wiktionary-logo-th.png
วิกิพจนานุกรม
พจนานุกรมและอรรถาภิธาน
Wikibooks-logo-35px.png
วิกิตำรา
ตำราและคู่มือเสรี
Wikiquote-logo-51px.png
วิกิคำคม
แหล่งรวบรวมคำพูด
Wikimedia Community Logo.svg
เมต้าวิกิ
ศูนย์ประสานงานโครงการวิกิมีเดีย
Wikispecies-logo-35px.png
วิกิสปีชีส์
สารบบอนุกรมวิธาน
Wikinews-logo-51px.png
วิกิข่าว
แหล่งข่าวเนื้อหาเสรี

นอกจากนี้แล้วได้มีหลายหน่วยงานสร้างโครงการสารานุกรมในลักษณะคล้ายกัน โดยคัดลอกข้อมูลจากวิกิพีเดียที่เปิดให้คัดลอกเสรีไปพัฒนาต่อยอดในเว็บไซต์ภายใต้ รูปแบบและนโยบายที่ต่างกัน ตัวอย่างเช่นโครงการ ซิติเซนเดียม ไป่ตู้ไป่เคอ หรือ คลังปัญญาไทย

อ้างอิง

  1. ^ Look Who's Using Wikipedia ข่าวจากนิตยสารไทม์
  2. ^ การจัดอันดับเว็บยอดนิยมทั่วโลก จัดทำโดยอเล็กซา
  3. ^ Time's Person of the Year: You ข่าวจากนิตยสารไทม์
  4. ^ Wikimedia Foundation Moving To San Francisco ข่าวจากไวรด์
  5. ^ The Free Encyclopedia Project
  6. ^ Wikipedia as accurate as Britannica ข่าวจากเว็บซีเอ็นเอ็นกล่าวถึงการทดสอบวิกิพีเดียเปรียบเทียบกับสารานุกรมอื่น
  7. ^ Simon Waldman, Who knows?, The Guardian, 26 ตุลาคม พ.ศ. 2547
  8. ^ Stacy Schiff, Know It All, The New Yorker, 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2549
  9. ^ Danah Boyd, Academia and Wikipedia, Many-to-Many, 4 มกราคม พ.ศ. 2548.
  10. ^ Wide World of WIKIPEDIA, The Emory Wheel, 21 เมษายน พ.ศ. 2549, เรียกดู 25 มกราคม 2550
  11. ^ Scott Jaschik, A Stand Against Wikipedia, Inside Higher Ed, 26 มกราคม 2550, เรียกดู 27 มกราคม 2550
  12. ^ Burt Helm, Wikipedia: "A Work in Progress", BusinessWeek, 14 ธันวาคม พ.ศ. 2548, เรียกดู 29 มกราคม 2550
  13. ^ แลร์รี แซงเจอร์, "Britannica or Nupedia? The Future of Free Encyclopedias", Kuro5hin, 25 ก.ค. พ.ศ. 2544.
  14. ^ เซิร์ฟเวอร์ของวิกิพีเดีย
  15. ^ สถิติการเรียกใช้งานวิกิพีเดีย
  16. ^ ดีวีดีวิกิพีเดียภาษาโปแลนด์
  17. ^ ดีวีดีวิกิพีเดียภาษาเยอรมัน
  18. ^ วิกิพีเดียสำหรับไอพอด

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น