ฮามาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮามาส (ภาษาอังกฤษ: Hamas; ภาษาอาหรับ: حركة المقاومة الاسلامية /ฮะรอกะหฺ อัลมุกอวะมะหฺ อัลอิสลามียะหฺ/) เป็นพรรคการเมืองหนึ่งของปาเลสไตน์ที่นับถือศาสนาอิสลามและมีกองกำลังติดอาวุธ มักถูกเรียกว่า กลุ่มหัวรุนแรงฮามาส หรือ กลุ่มติดอาวุธฮามาส ซึ่งมักก่อเหตุโจมตีกลุ่มฟาตาห์ โดยใช้ระเบิดพลีชีพ


เนื้อหา

[แก้] ที่มาของคำว่า ฮามาส

คำว่า ฮามาส หรือ ฮะมาส (แปลเป็นไทยว่า ขวัญ หรือกำลังใจ) เป็นอักษรย่อของคำว่า ฮะรอกะหฺ (ฮ) มุกอวะมะหฺ (ม) อิสลามียะหฺ (อา+ส) ชื่อเต็มแปลว่า "ขบวนการอิสลามเพื่อการต่อต้าน"


[แก้] ประวัติการก่อตั้งขบวนการ

องค์กรฮามาสก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1987 โดยเป็นเครือข่ายของกระบวนการเคลื่อนไหว ขบวนการภารดรมุสลิมของอาหรับ ซึ่งได้รับความนิยมนับถืออย่างมากทั่วปาเลสไตน์ โดยพิสูจน์ได้จากการได้รับชัยชนะ ในการเลือกตั้งเข้าสู่สภาของปาเลสไตน์ในปี 2006

ฮามาสก่อตั้งโดย เชคอะฮฺมัด ยาซีน ซึ่งเป็นผู้นำทางศาสนา ในการลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลครั้งแรก มีจุดประสงค์หลักเพื่อยุติการยึดครองทางทหารของอิสราเอล ในเขตฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (เวสต์แบ๊งค์) และกาซ่า ส่วนความมุ่งหมายที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน คือการสร้างรัฐปาเลสไตน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง บนแผ่นดินเดิมก่อนที่จะเป็นรัฐอิสราเอลในปี 1948

ฮามาสสร้างความนิยมในหมู่ชาวปาเลสไตน์ที่ยากจน ด้วยการจัดหาความจำเป็นพื้นฐานต่างๆ สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และศูนย์ทางศาสนา และที่แตกต่างจากกระบวนการทางการเมืองปาเลสไตน์อื่น ๆ นั่นคือฮามาส ไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PLO) และต่อต้านการเซ็นสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล แม้จะเคยทำสัญญาพักรบกับอิสราเอลหลายครั้ง เชื่อกันว่าเงินทุนในการดำเนินการของกลุ่มฮามาส ได้มาจากการบริจาคของชาวปาเลสไตน์ทั้งใน และนอกประเทศ นอกจากนั้นยังมีการสนับสนุนจากประเทศอาหรับอื่น ๆ และรัฐบาลอิหร่าน

ฮามาสมีหน่วยรบอิซซุดดีน อัลก็อซซาม ซึ่งเชื่อกันว่ามีสมาชิกหลายพันคน และได้เคยทำการสู้รบกับอิสราเอลมาหลายครั้ง และหน่วยรบนี้ ร่วมกับกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ของปาเลสไตน์ เป็นผู้ยิงจรวดเข้าไปในเขตตอนใต้ของอิสราเอล เพื่อตอบโต้การที่อิสราเอลโจมตีในกาซา

[แก้] ผู้นำฮามาส

ผู้นำคนสำคัญหลายต่อหลายคนของกลุ่ม ถูกลอบสังหารโดยอิสราเอล เชคยาซีนถูกลอบสังหารในปี 2004 และไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น อับดุล อาซิซ อัลร่อนตีสีย์ ซึ่งเป็นผู้นำฮามาสที่ยึดครองกาซ่าได้อย่างเหนียวแน่น ก็ต้องถูกสังหารไปอีกคนหนึ่ง

เชคยาซีนเป็นที่เคารพนับถือของชาวปาเลสไตน์อย่างมาก โดยเขาเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับอิสราเอล โดยไม่มีการประนีประนอม เขาถูกสังหารทั้ง ๆ ที่อยู่ในสภาพต้องนั่งรถเข็น

[แก้] อินติฟาเฎาะหฺครั้งที่สอง

ในปี 1990 ฮามาสได้สร้างความน่านับถือ โดยสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ในฉนวนกาซาได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรกับฮามาสมาก่อน เช่น กลุ่มคริสเตียนปาเลสไตน์ ฮามาสเริ่มปฏิบัติการระเบิดพลีชีพกับอิสราเอลในปี 1994

ในปี 2000 การเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ล้มเหลวลงอีกครั้งหนี่ง ฮามาสได้เข้าร่วมกับกลุ่มการเมือง และกลุ่มติดอาวุธอื่น ๆ ของปาเลสไตน์ ทำการลุกฮือขึ้นต่อต้านอิสราเอลเป็นครั้งที่สอง โดยมีการรณรงค์ต่อต้านจากพลเรือนปาเลสไตน์ในเขตยึดครอง และการเพิ่มขึ้นของปฏิบัติการระเบิดพลีชีพในอิสราเอล เพื่อแสดงการต่อต้านการที่อิสราเอลโจมตีเวสต์แบ๊งค์ และฉนวนกาซา

กลุ่มฮามาสต่อต้านการประชุมสันติภาพที่กรุงออสโล ในปี 1993 และได้คว่ำบาตรการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ เพราะเห็นว่าเป็นผลมาจากการประชุมสันติภาพครั้งนั้น

ฮามาสยังตัดสินใจส่งสมาชิก เข้าร่วมในการเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาปาเลสไตน์ในปี 2006 และได้รับการสนับสนุนจากชาวปาเลสไตน์ โดยสามารถเอาชนะกลุ่มฟาตะฮฺ ด้วยคำมั่นที่จะต่อต้านการคอรัปชั่น และการยึดครองของอิสราเอล ซึ่งทำให้ฮานิยาได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้น

[แก้] ถูกนานาชาติคว่ำบาตร

สหรัฐ ประเทศในสหภาพยุโรป และอิสราเอล ได้ตราหน้าว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย และไม่ยอมรับรองผลการเลือกตั้ง ทำให้หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปาเลสไตน์ต้องถูกยัดเยียดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจอย่างหนัก กลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตกบังคับให้ฮามาสรับรองรัฐอิสราเอล ละทิ้งอุดมการณ์ต่อสู้ด้วยอาวุธ และยอมรับการตกลงสันติภาพอื่นๆ ระหว่างปาเลสไตน์-อิสราเอล

มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาส และกลุ่มฟาตะฮฺที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้มีอำนาจในปาเลสไตน์ที่ได้รับการรับรองเป็นทางการ ต้องตกที่นั่งลำบาก เพราะถูกตัดความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกไปด้วย

สมาชิกที่สนับสนุนฮามาส และฟาตะฮฺต่อสู้กันอยู่เนือง ๆ ทั้งในเวสต์แบ๊งค์ และในกาซา เพื่อช่วงชิงการปกครองพื้นที่ เมื่อต้นปี 2007 ทั้ง 2 กลุ่มตกลงประนีประนอมกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วม ทั้งนี้เพื่อต้องการรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ

อิสมาอีล ฮะนียะห์ ผู้นำอาวุโสของฮามาสในกาซา ซึ่งถูกปลดออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี เคยทำงานใกล้ชิดกับเชคยาซีน คอลิด เมชาอัล ซึ่งถูกเนรเทศไปอยู่ในซีเรีย เป็นผู้นำทางการเมืองสำคัญอีกคนหนึ่งตั้งแต่ปี 1995 หลังจาก มูซา อะบู มัรซูก ซึ่งเคยอยู่ในตำแหน่งนี้ถูกจับติดคุก เมชาอัลเคยนำกลุ่มฮามาสย่อยในคูเวต แต่ได้ออกจากประเทศไปเมื่ออิรักถูกรุกรานในปี 1990 หลังจากนั้นได้ย้ายไปเป็นผู้นำฮามาสในกรุงอัมมาน จอร์แดน และสามารถหลุดรอดจากการตามล่าสังหารของอิสราเอลมาได้

แต่ความพยายามดังกล่าวล้มเหลวลง โดยในเดือนมิถุนายน ปี 2007 ประธานาธิบดีมะฮฺมูด อับบาส และกลุ่มฟาตะฮฺ ร่วมมือกันยึดอำนาจในเขตเวสต์แบ๊งค์ ทำให้การดิ้นรนขึ้นสู่การเป็นผู้ปกครองดินแดนปาเลสไตน์ ของกลุ่มฮามาสต้องยุติลง นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ฝ่ายอิสราเอลได้เพ่งเล็งกาซาเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มกำลังทหาร และเพิ่มมาตรการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการตัดไฟฟ้า และเริ่มปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2551 โดยอ้างว่าเพื่อยุติไม่ให้ฮามาสยิงจรวดเข้ามาในดินแดนอิสราเอล

[แก้] รัฐบาลผสม

การเลือกตั้งในปาเลสไตน์ 25 มกราคม พ.ศ. 2549 ทำให้เกิดรัฐบาลผสมระหว่างพรรคฮามาส และพรรคฟาตาห์ ก่อนที่ประธานาธิบดีมะฮ์มูด อับบาสจะขับไล่ออกไปเมื่อ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2550 เพราะต้องการให้ชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรกลับมาให้ความช่วยเหลือ ปาเลสไตน์ และ อิสราเอลจะยอมรับรองรัฐบาลปาเลสไตน์ ที่ไม่มีสมาชิกฮามาส แต่กลุ่มฮามาส ยังถือว่ารัฐบาลผสม ซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีอิสมาอิล ฮะนียะห์เป็นรัฐบาลที่ถูกต้อง

[แก้] อ้างอิง