พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

พระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า "ชั่วคราว" สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

[แก้] สาระสำคัญ

  1. อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของราษฎรทั้งหลาย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญ
  2. สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมกิจการของประเทศ และ ประชุมถอดถอนกรรมการราษฎร ประกอบด้วยผู้แทนราษฎรสมัยที่ 1 มาจากการแต่งตั้งของคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จำนวน 70 คน และผู้แทนราษฎรสมัยที่ 2 มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน
  3. คณะกรรมการราษฎร มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภา อันประกอบไปด้วย ประธานคณะกรรมการราษฎร 1 คน และคณะกรรมการราษฎร 14 คน รวมเป็น 15 คน

(ประธานคณะกรรมการราษฎร เทียบเท่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน)

[แก้] สาเหตุการสิ้นสุดการใช้

สาเหตุการสิ้นสุดการใช้รัฐธรรมนูญอันเนื่องมาจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแทน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475