อีนิแอก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อีนิแอก

อีนิแอก (ENIAC ย่อมาจาก Electronic Numerical Integrator and Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์อเนกประสงค์เครื่องแรกของโลก พัฒนาโดยกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2485 ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้ในการคำนวณวิถีการโจมตีของอาวุธในแบบต่างๆ อีนิแอกได้จัดเข้าสู่โครงการ ในคณะวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในปี 2486 และในปี 2490 ได้ถูกย้ายไปที่ Aberdeen Proving Ground ที่มลรัฐแมริแลนด์

เนื้อหา

[แก้] การพัฒนา

อีนิแอกออกแบบและพัฒนาโดย จอห์น พลีสเพอร์ เอกเคิร์ต และ จอห์น วิลเลียม มอคลี ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยมอคลีได้ยืมแนวความคิดบางส่วนจากคอมพิวเตอร์ อตานาซอฟฟ์-เบอร์รี มาพัฒนาต่อ

อีนิแอกเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ประกอบด้วย หลอดสุญญากาศ 17,468 หลอด ไดโอดคริสตัล 7,200 ตัว รีเลย์ 1,500 ตัว ตัวต้านทาน 70,000 ตัว ตัวเก็บประจุ 10,000 ตัว โดยมีน้ำหนัก 27 ตัน ขนาด สูง 2.4 เมตร (8 ฟุต) กว้าง 0.9 เมตร (3 ฟุต) และยาว 30 เมตร (100 ฟุต) โดยใช้เนื้อที่ทั้งหมด 167 เมตร² (1,800 ฟุต²) และใช้ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์

[แก้] การเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์รุ่นก่อนหน้า

เครื่องคำนวณจักรกลและไฟฟ้านั้นมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่คริสต์ทศศตวรรษ 1930 และ 40 นั้นถือกันว่าเป็นจุดเริ่มของยุคคอมพิวเตอร์สมัยใหม่

  • คอมพิวเตอร์ อตานาซอฟฟ์-เบอร์รี (ABC) ของสหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1937–42) เป็นคอมพิวเตอร์ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรก. มันใช้หลอดสุญญากาศเพื่อการคำนวณเลขฐานสอง แต่ไม่ใช่เครื่องแบบทัวริงสมบูรณ์ และถูกจำกัดให้คำนวณเพียงสมการเชิงเส้น
  • Z3 ของประเทศเยอรมนี ออกแบบใน ค.ศ. 1941 โดย Konrad Zuse เป็นคอมพิวเตอร์ไฟฟ้า-จักรกลอเนกประสงค์เครื่องแรก มันเป็นคอมพิวเตอร์ดิจิทัล ใช้เลขคณิตฐานสอง เป็นทัวริงสมบูรณ์ และโปรแกรมได้เต็มที่ โดยใช้เทปเจาะรู แต่ใช้รีเลย์ในการทำงานทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่ใช่คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์
  • คอมพิวเตอร์โคโลสซัส ของสหราชอาณาจักร (ค.ศ. 1944) ออกแบบโดย Tommy Flowers โคโลสซัสเป็นดิจิทัล ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด และสามารถโปรแกรมได้ โดยการเชื่อมสายใหม่ แต่ไม่ใช่คอมพิวเตอร์อเนกประสงค์อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมันไม่ใช่ทัวริงสมบูรณ์
  • ฮาร์วาร์ด มาร์ก วัน (ค.ศ. 1944) โดย Howard Aiken โปรแกรมได้โดยเทปเจาะรู และใช้รีเลย์

เครื่อง ABC, อีนิแอก และโคโลสซัส ต่างก็ใช้หลอดสุญญากาศ รีจิสเตอร์ของอีนิแอกคำนวณเลขคณิตฐานสิบ ไม่ใช่ฐานสองอย่าง Z3 หรือ ABC

จนกระทั่ง ค.ศ. 1948 อีนิแอกจำเป็นต้องเชื่อมสายใหม่เพื่อตั้งโปรแกรมใหม่ เช่นเดียวกับโคโลสซัส แนวคิดเรื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยความจำที่บันทึกทั้งโปรแกรมและข้อมูลรวมกันถูกริเริ่มระหว่างการพัฒนาอีนิแอก แต่ไม่ได้ถูกใช้งาน เนื่องจากการให้ความสำคัญในสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ต้องการให้เครื่องเสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว และได้พบว่าตำแหน่งบันทึกข้อมูล 20 ตำแหน่งสำหรับทั้งหน่วยความจำและโปรแกรมนั้นเล็กเกินไป

[แก้] การให้ความสำคัญ

Z3 โคโลสซัส และอีนิแอก ถูกพัฒนาขึ้นอย่างลับ เป็นอิสระจากกัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยพัฒนาเพื่อการสงครามของแต่ละประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย Z3 ได้ถูกทำลายโดยเครื่องบินทิ้งระเบิดจากฝ่ายพันธมิตร ที่เบอร์ลิน ในปี พ.ศ. 2487 ส่วนโคโลสซัสได้ถูกทำลงตามคำสั่งของ วินสตัน เชอร์ชิลล์ และถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1970 ส่วน ABC ถูกทอดทิ้งไว้ที่วิทยาลัยไอโอวาสเตต เมื่อ จอห์น อตานาซอฟฟ์ ได้รับคำสั่งให้ไปทำวิจัยการสงครามที่ วอชิงตัน ดี.ซี. ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างจากอีนิแอก ซึ่งถูกประกาศสู่สื่อมวลชนใน ค.ศ. 1946 และกลายเป็นจุดสนใจของทั้งโลก จากเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ในช่วงนั้นประวัติคอมพิวเตอร์ กล่าวถึงเพียงอีนิแอก และ ฮาร์วาร์ด มาร์ก วัน

[แก้] ดูเพิ่ม

คอมพิวเตอร์ อีนิแอก เป็นบทความเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือ เครือข่าย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อีนิแอก ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:เทคโนโลยีสารสนเทศ