ลิขสิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

© สัญลักษณ์ลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่ผู้เดียวที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น อันได้แก่ สิทธิที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง หรือนำออกโฆษณา ไม่ว่าในรูปลักษณะอย่างใดหรือวิธีใด รวมทั้งอนุญาตให้ผู้อื่นนำงานนั้นไปทำเช่นว่านั้นด้วย

เนื้อหา

[แก้] สนธิสัญญากรุงเบิร์น

สนธิสัญญากรุงเบิร์นเป็นสนธิสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ โดยประเทศภาคีสมาชิกในสนธิสัญญานี้ จะมีการคุ้มครองลิขสิทธิ์เสมอเหมือนกัน เสมือนว่าทุกๆ ประเทศสมาชิกเป็นประเทศเดียวกัน เช่น กรณีมีการสร้างสรรค์งานเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา งานชิ้นนั้นก็จะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย ตามกฎหมายไทย ด้วยเช่นกัน เพราะทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยต่างได้ลงนามในสนธิสัญญานี้

[แก้] ระบบลิขสิทธิ์ของประเทศไทย

การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต กรณี เจ้าของ เป็น นิติบุคคล จะเริ่มนับอายุ ตั้งแต่ ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือ เริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง แต่การโฆษณาครั้งแรกนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายใน 50 ปี นับตั้งแต่มีการสร้างสรรค์ผลงานนั้นขึ้นมา ถ้าพ้น 50 ปีไปแล้ว โดยที่ยังไม่ได้มีการโฆษณา ถือว่าลิขสิทธิ์หมดอายุ โดยที่การโฆษณาในภายหลัง จะไม่มีผลต่อการนับต่ออายุลิขสิทธิ์อีก การโฆษณานี้จะต้องเป็นการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย จึงจะนับเป็นการโฆษณาครั้งแรก ที่ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ได้

ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ของประเทศไทย จะมีข้อยกเว้นในงานบางประเภท ที่จะมีอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ต่างออกไป ได้แก่ ศิลปประยุกต์ จะมีอายุคุ้มครองเพียง 25 ปี งานบางชนิดที่สร้างสรรค์โดยบุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่นิติบุคคล ก็จะมีข้อยกเว้นให้เริ่มนับอายุเช่นเดียวกับ กรณีนิติบุคคล คือ เริ่มนับตั้งแต่ได้มีการสร้างงานขึ้น หรือ ตั้งแต่โฆษณาครั้งแรก (แทนที่จะนับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต) งานเหล่านั้น ได้แก่ ภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียงหรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่ง รวมถึง ศิลปประยุกต์ งานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ และ ไม่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ก็ให้เริ่มนับอายุลิขสิทธิ์ในลักษณะเดียวกับนิติบุคคล

[แก้] ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

การละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นปัญหาที่สำคัญอีกปัญหาหนึ่ง สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ซีดีเพลง (มักเป็นซีดีรวมไฟล์เพลงประเภท MP3) วีซีดีและดีวีดีภาพยนตร์ ทั้งภาพยนตร์ไทยและต่างประเทศ รวมไปถึง ซอฟต์แวร์ เกม และโปรแกรมประยุกต์ต่าง ๆ โดยสถานที่ที่มีปัญหาเรื่องการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์มาก ได้แก่ พันธุ์ทิพย์พลาซ่า, คลองถม, เซียร์ รังสิต, ตะวันนา เป็นต้น[1] ซึ่งสามารถพบเห็นและหาซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้โดยง่าย สะท้อนให้เห็นถึงการไม่เอาจริงเอาจัง ในการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ และการที่ผู้ซื้อไม่เห็นความสำคัญของการละเมิดลิขสิทธิ์ และทรัพย์สินทางปัญญา

ประเทศไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์[ต้องการอ้างอิง] โดยในปี พ.ศ. 2550 นั้น ประเทศไทยมีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดเป็นอันดับ 4 ในเอเชียแปซิฟิก[2] ส่งผลเสียต่อชื่อเสียงและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ


[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ไทยรัฐ, เจ้าข้าเอ๊ย! รัฐจะลุยละเมิดลิขสิทธิ์, 18 พฤศจิกายน 2551 เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2552
  2. ^ สยามธุรกิจ, ‘บีเอสเอ’ผุดแคมเปญสายด่วน รณรงค์ลด ละ เลิก ซอฟต์แวร์เถื่อน, 29-31 สิงหาคม 2550 เรียกดูเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Scale of justice.svg ลิขสิทธิ์ เป็นบทความเกี่ยวกับ การเมือง การปกครอง หรือ กฎหมาย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ ลิขสิทธิ์ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ