อำเภอลับแล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อำเภอลับแล
แผนที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เน้นอำเภอลับแล
Cquote1.png งามพระแท่นศิลาอาสน์ ถิ่นลางสาดรสดี เมืองพระศรีพนมมาศ แหล่งไม้กวาดตองกง ดงหอมแดงลือชื่อ งามระบือน้ำตกแม่พูล Cquote2.png
ข้อมูลทั่วไป
อักษรไทย อำเภอลับแล
อักษรโรมัน Amphoe Laplae
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสทางภูมิศาสตร์ 5308
รหัสไปรษณีย์ 53130
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ 448.8 ตร.กม.
ประชากร 56,262 คน (พ.ศ. 2552)
ความหนาแน่น 125.36 คน/ตร.กม.
ที่ว่าการอำเภอ

สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

อำเภอลับแล หรือ เมืองลับแล เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเมืองโบราณมีมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงสุโขทัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เคยเสด็จมาเมื่อ ปี พ.ศ. 2444 ความเป็นมาของคำว่า “ลับแล” นั้น ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ[1]ว่า เดิมชาวเมืองแพร่ เมืองน่าน หนีข้าศึกและความเดือดร้อนมาซุ่มซ่อนตั้งชุมชนอยู่บริเวณนี้ เนื่องจากเป็นที่ป่ารก หลบซ่อนตัวง่ายและ ภูมิประเทศเป็นเมืองอยู่ในหุบเขามีที่เนินสลับกับที่ต่ำ คนต่างเมืองถ้าไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศจะหลงทางได้ง่าย อำเภอลับแลนอกจากจะมีโบราณสถานที่น่าสนใจมากมายแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรม เช่น ผ้าตีนจกและไม้กวาด เป็นแหล่งปลูกลางสาด ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

เนื้อหา

[แก้] ประวัติเมืองลับแล

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะอนุมานได้ว่าที่เมืองทุ่งยั้ง แต่เดิมเคยเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นชุมชนของพวกละว้าและขอม มีความเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน เพราะได้มีการขุดพบกลองมโหระทึกและพร้าสำริด ได้ในบริเวณดังกล่าว ต่อมาเมื่ออาณาจักรขอมล่มสลายลง คนไทยก็ได้เข้ามาครอบครองและตั้งเมืองขึ้นเรียกชื่อว่า "เมืองกัมโภช"

สมุดไทยบัญชีถือสังกัดมูลนายประจำแขวงเมืองลับแลในสมัยรัชกาลที่ 4
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่ากลุ่มชนแรกที่มาอยู่ในบริเวณเมืองลับแลในปัจจุบันนั้นอพยพมาจากอาณาจักรเชียงแสนโบราณ (โยนกนาคพันธุ์) (ภาพ:การแต่งกายของชาวลับแลในสมัยรัชกาลที่ 5)

ทางด้านเหนือของเมืองกัมโภช มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อน มีบรรยากาศเยือกเย็นยามพลบค่ำแม้ตะวันจะยังไม่ตกดินก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีเป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ ป่านี้จึงได้ชื่อว่า "ป่าลับแลง" (แลง แปลว่า เวลาเย็น) ต่อมาเพี้ยนเป็น "ลับแล" ซึ่งกลายมาเป็นชื่ออำเภอลับแลในสมัยปัจจุบัน

ในยุคเดียวกับการรวมตัวของเมืองกัมโภช ได้มีผู้คนจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงครามเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณที่ราบเขาแห่งหนี่งและตั้งชื่อ บ้านว่า "บ้านเชียงแสน" ต่อมาคนกลุ่มนั้นก็แยกย้ายกันไปหักล้างถางดงสร้างบ้านเมือง ขึ้นกระจัดกระจายตามที่ราบและไหล่เขาต่าง ๆ เมื่อได้ทำมาหากินกันระยะหนึ่งคนกลุ่มนั้นได้ไปอัญเชิญเจ้าชายฟ้าฮ่ามกุมาร จากอาณาจักรโยนกเชียงแสน มาตั้งเมืองที่ป่าลับแล ให้ชื่อว่าเมืองลับแล และสร้างวังขึ้นที่บ้านท้องลับแล หรือที่บริเวณวัดเจดีย์คีรีวิหาร เมื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสนล่มสลายลง อาณาจักรล้านนาเฟื่องฟูแทน เมืองลับแลก็ยอมขึ้นกับอาณาจักรล้านนา ใน พ.ศ. 1690 อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองขึ้น ก็เป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1981 เมืองทุ่งยั้ง ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้น เพราะเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยา เมืองลับแลจึงได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้ง ครั้นต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ในราว พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองอุตรดิตถ์ และได้เสด็จมาถึงเมืองลับแลในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2444 ได้โปรดให้ย้ายศาลากลางจังหวัดจากเมืองพิชัยมาตั้งที่บางโพ และยุบเมืองทุ่งยั้งรวมกับลับแลและสถาปนาเมืองลับแลขึ้นเป็นอำเภอ ส่วนอาคารที่ทำการยังตั้งอยู่ที่เมืองทุ่งยั้ง บริเวณใกล้เวียงเจ้าเงาะ

อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ คนดีเมืองลับแล บริเวณตัวเมืองลับแล

ต่อมาพระพิศาลคีรี ได้ย้ายอาคารที่ทำการไปตั้งที่ม่อนจำศีลในปีเดียวกันนี้ (ห่างจากที่ว่าการ อำเภอปัจจุบันไปทางทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร) ครั้นถึง พ.ศ. 2457 สมัย พระศรีพนมมาศ (เมื่อครั้งเป็นหลวงศรีพนมมาศ) เห็นว่าห่างไกลจากตัวเมืองลำบากแก่ราษฎรไปติดต่อ ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะสงวนที่ม่อนจำศีล เป็นที่ประดิษฐานพระเหลือ (พระพุทธรูปที่สร้างจากทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก) เพราะทรงเห็นว่าทิวทัศน์ของม่อนจำศีลคล้ายกับเมืองชวา[2] จึงได้ย้ายอาคารที่ทำการจากม่อนจำศีล มาอยู่ที่ ม่อนสยามินทร์ (ชาวบ้านเรียกม่อนสามินทร์) เพราะเคยเป็นที่ตั้งพลับพลารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน[3]

[แก้] ตำนานเมืองลับแล

เมืองลับแลนั้นเป็นอำเภอเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เดิมคงเป็นเมืองที่การเดินทางไปมาไม่สะดวก เส้นทางคดเคี้ยว ทำให้คนที่ไม่ชำนาญทางพลัดหลงได้ง่าย จนได้ชื่อว่าเมืองลับแล ซึ่งแปลว่า มองไม่เห็น มีเรื่องเล่ากันว่าคนมีบุญเท่านั้นจึงจะได้เข้าไปถึงเมืองลับแล

ประติมากรรมแม่ม่ายเมืองลับแล บริเวณประตูเมืองลับแล (ใหม่) แสดงถึงตำนานเล่าขานของเมืองลับแลอันเป็นที่เลื่องลือมาช้านาน

ตำนานนี้เล่ากันสืบมาว่า ครั้งหนึ่งมีชายคนหนึ่ง (น่าจะเป็นคนเมืองทุ่งยั้ง) เข้าไปในป่า ได้เห็นหญิงสาวสวยหลายคนเดินออกมา ครั้นมาถึงชายป่า นางเหล่านั้นก็เอาใบไม้ที่ถือมาไปซ่อนไว้ในที่ต่างๆ แล้วก็เข้าไปในเมือง ด้วยความสงสัยชายหนุ่มจึงแอบหยิบใบไม้มาเก็บไว้ใบหนึ่ง ตกบ่ายหญิงสาวเหล่านั้นกลับมา ต่างก็หาใบไม้ที่ตนซ่อนไว้ ครั้นได้แล้วก็ถือใบไม้นั้นเดินหายลับไป มีหญิงสาวคนหนึ่งหาใบไม้ไม่พบ เพราะชายหนุ่มแอบหยิบมา นางวิตกเดือดร้อนมาก ชายหนุ่มจึงปรากฏตัวให้เห็นและคืนใบไม้ให้ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือ..ขอติดตามนางไปด้วยเพราะปรารถนาจะได้เห็นเมืองลับแล หญิงสาวก็ยินยอม นางจึงพาชายหนุ่มเข้าไปยังเมืองซึ่งชายหนุ่มสังเกตเห็นว่าทั้งเมืองมีแต่ผู้หญิง นางอธิบายว่าคนในหมู่บ้านล้วนมีศีลธรรม ถือวาจาสัตย์ ใครประพฤติผิดก็ต้องออกจากหมู่บ้านไป ผู้ชายส่วนมากมักไม่รักษาวาจาสัตย์จึงต้องออกจากหมู่บ้านกันไปหมด แล้วนางก็พาชายหนุ่มไปพบมารดาของนาง ชายหนุ่มเกิดความรักใคร่ในตัวนางจึงขออาศัยอยู่ด้วย มารดาของหญิงสาวก็ยินยอม แต่ให้ชายหนุ่มสัญญาว่าจะต้องอยู่ในศีลธรรม ไม่พูดเท็จ ชายหนุ่มได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวลับแลจนมีบุตรชายด้วยกัน 1 คน

ประตูสัญลักษณ์อำเภอลับแล หลังจากผ่านเหตุการณ์โคลนถล่มเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2549

วันหนึ่งขณะที่ภรรยาไม่อยู่บ้าน ชายหนุ่มผู้พ่อเลี้ยงบุตรอยู่ บุตรน้อยเกิดร้องไห้หาแม่ไม่ยอมหยุด ผู้เป็นพ่อจึงปลอบว่า "แม่มาแล้วๆ" มารดาของภรรยาได้ยินเข้าก็โกรธมากที่บุตรเขยพูดเท็จ เมื่อบุตรสาวกลับมาก็บอกให้รู้เรื่อง ฝ่ายภรรยาของชายหนุ่มเสียใจมากที่สามีไม่รักษาวาจาสัตย์ นางบอกให้เขาออกจากหมู่บ้านไปเสีย แล้วนางก็...จัดหาย่ามใส่เสบียงอาหารและของใช้ที่จำเป็นให้สามี พร้อมทั้งขุดหัวขมิ้นใส่ลงไปด้วยเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็พาสามีไปยังชายป่า ชี้ทางให้ แล้วนางก้กลับไปเมืองลับแล ชายหนุ่มไม่รู้จะทำอย่างไรก็จำต้องเดินทางกลับบ้านตามที่ภรรยาชี้ทางให้ ระหว่างทางที่เดินไปนั้น เขามีความรู้สึกว่าถุงย่ามที่ถือมาหนักขึ้นเรื่อยๆ และหนทางก้ไกลมาก จึงหยิบเอาขมิ้นที่ภรรยาใส่มาให้ทิ้งเสียจนเกือบหมด ครั้นเดินทางกลับไปถึงหมู่บ้านเดิม บรรดาญาติมิตรต่างก็ซักถามว่าหายไปอยู่ที่ไหนมาเป็นเวลานาน ชายหนุ่มจึงเล่าให้ฟังโดยละเอียดรวมทั้งเรื่องขมิ้นที่ภรรยาใส่ย่ามมาให้แต่เขาทิ้งไปเกือบหมด เหลืออยู่เพียงแง่งเดียว พร้อมทั้งหยิบขมิ้นที่เหลืออยู่ออกมา ปรากฏว่าขมิ้นนั้นกลับกลายเป็นทองคำทั้งแท่ง ชายหนุ่มรู้สึกแปลกใจและเสียดาย จึงพยายามย้อนไปเพื่อหาขมิ้นที่ทิ้งไว้ ปรากฏว่าขมิ้นเหล่านั้นได้งอกเป็นต้นไปหมดแล้ว และเมื่อขุดดุก็พบแต่แง่งขมิ้นธรรมดาที่มีสีเหลืองทอง แต่ไม่ใช่ทองเหมือนแง่งที่เขาได้ไป เขาพยายามหาทางกลับไปเมืองลับแล แต่ก้หลงทางวกวนไปไม่ถูก จนในที่สุดก็ต้องละความพยายามกลับไปอยู่หมู่บ้านของตนตามเดิม


[แก้] อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย

[แก้] การปกครอง

อำเภอลับแลแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 7 ตำบล 57 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ศรีพนมมาศ (Si Phanom Mat) - 5. ชัยจุมพล (Chai Chumphon) 11 หมู่บ้าน
2. แม่พูล (Mae Phun) 11 หมู่บ้าน 6. ไผ่ล้อม (Phai Lom) 7 หมู่บ้าน
3. นานกกก (Na Nok Kok) 5 หมู่บ้าน 7. ทุ่งยั้ง (Thung Yang) 10 หมู่บ้าน
4. ฝายหลวง (Fai Luang) 11 หมู่บ้าน 8. ด่านแม่คำมัน (Dan Mae Kham Man) 8 หมู่บ้าน

[แก้] การปกครองส่วนท้องถิ่น

ท้องที่อำเภอลับแลประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีพนมมาศทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลทุ่งยั้ง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลไผ่ล้อมและตำบลทุ่งยั้ง
  • เทศบาลตำบลหัวดง ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแม่พูล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่พูล (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลหัวดง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนานกกก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนานกกกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฝายหลวงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลชัยจุมพลทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ล้อม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลไผ่ล้อม (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยั้ง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทุ่งยั้ง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลทุ่งยั้ง)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมัน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลด่านแม่คำมันทั้งตำบล

[แก้] สภาพทางภูมิศาสตร์

[แก้] ภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่ มีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้ ค่อนสูงขึ้นทางตอนกลางและเป็นภูเขาทางตอนเหนือและทางตะวันตก มีพื้นที่ราบประมาณ 117 ตารางกิโลเมตร

ภูเขา มีพื้นที่ภูเขาประมาณ 306 ตารางกิโลเมตร

แม่น้ำ ไม่มีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน แต่มีลำน้ำที่เกิดจากเทือกเขาน้อยใหญ่ทางตอนเหนือ เช่น คลองแม่พร่อง หนองพระแล หนองนาเกลือ บึงมาย คลองพระเสด็จ

[แก้] ภูมิอากาศ

ลักษณะทางภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม มี 3 ฤดู

ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ เดือนมีนาคม - เดือนมิถุนายน

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนกรกฎาคม - เดือนตุลาคม

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์

[แก้] การเดินทาง

อำเภอลับแล อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 9 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 102 ประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข 1041 อีก 6 กิโลเมตร

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ฟู บุญถึง และคณะ . ( ม.ป.ป.) . ลับแลหรือจะแลลับ , สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอลับแล
  2. ^ รศ.ดร.ประจักษ์ สายแสง, ดร.ทิวารักษ์ เสรีภาพ.วรรณกรรมสองแคว ตอนที่ 15 เรื่อง ภูมินามวิทยา 5 : ลับแล
  3. ^ ข้อมูลอำเภอในจังหวัดอุตรดิตถ์.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอุตรดิตถ์

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons


Vista-folder home.png อำเภอลับแล เป็นบทความเกี่ยวกับ อาคาร หรือ สถานที่สำคัญ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อำเภอลับแล ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ