การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

กลุ่มผู้ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ วันที่ 14 มีนาคม
กลุ่มผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ วันที่ 8 เมษายน

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 เป็นส่วนหนึ่งของวิกฤตการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดยแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน เป็นผู้จัดดำเนินการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 มีเป้าหมายเรียกร้องให้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ ต่อมา รัฐบาลใช้มาตรการทางทหารเข้ากดดันกลุ่มผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 80 คน และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,100 คน[1] จากนั้น อภิสิทธิ์ประกาศแผนปรองดอง ซึ่งผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป และอภิสิทธิ์ก็ประกาศยกเลิกวันเลือกตั้งใหม่ตามแผนปรองดอง ก่อนจะใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จนกระทั่ง แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศยุติการชุมนุม ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากผู้ชุมนุมมีข้อสงสัยว่ากองทัพไทยอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์[2] ในปีต่อมา นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ประกาศจะเริ่มการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์จึงเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงอย่างมาก รวมทั้งเข้มงวดกับการตรวจพิจารณาสื่อมวลชนและอินเทอร์เน็ต รวมถึงสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุที่ดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวก็ไม่สามารถยับยั้งมิให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครได้

ผู้ชุมนุมส่วนมากเดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่ก็มีชาวกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมเช่นกัน[3] การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[4] โดยในช่วงแรก การชุมนุมเกิดขึ้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศบนถนนราชดำเนิน เป็นไปโดยสงบ กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การเดินขบวนรอบกรุงเทพมหานคร การรวบรวมเลือดไปเทที่หน้าประตูทำเนียบรัฐบาล หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านพักอภิสิทธิ์ เพื่อกดดันรัฐบาล จากนั้นมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมสองครั้ง ออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกช่อง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการยุบสภา แต่ไม่สามารถสรุปวันเวลาได้ โดยที่ก่อนหน้าและระหว่างการชุมนุม มีการยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม-79 หลายสิบครั้ง โดยไม่มีผู้ใดบาดเจ็บ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำมาลงโทษได้

ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมปิดการค้าขายและการจราจรในพื้นที่ศูนย์กลางการค้าในกรุงเทพมหานครที่แยกราชประสงค์ รวมทั้งสร้างแนวป้องกันในบริเวณโดยรอบ วันที่ 8 เมษายน อภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และในวันที่ 10 เมษายน กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต มากกว่า 20 คน และบาดเจ็บ มากกว่า 850 คน และในวันที่ 14 เมษายน แกนนำประกาศรวมที่ชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว อีกครั้งเมื่อวันที่ 28 เมษายน ระหว่างที่ผู้ชุมนุมจากแยกราชประสงค์ กำลังเดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตลาดไท ย่านรังสิต ชานกรุงเทพมหานคร แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแนวขวางกั้น กลางถนนวิภาวดีรังสิต จนเกิดการปะทะกัน โดยมีทหารเสียชีวิต 1 คนในเหตุการณ์นี้ เมื่อวันที่ 30 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งได้เข้าตรวจสอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากมีการพบทหารเข้าไปอยู่ภายใน

อภิสิทธิ์เสนอแนวทางปรองดอง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเสนอให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่อภิสิทธิ์ก็ยกเลิกข้อเสนอดังกล่าวไปเอง[5] หลังจากที่แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ยื่นข้อเรียกร้องให้รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ามอบตัวกับตำรวจ แม้จะมีท่าทียอมรับในระยะแรกก็ตาม ต่อมา รัฐบาลสั่งการให้กำลังทหารเข้าล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ ด้วยกำลังรถหุ้มเกราะและพลซุ่มยิง ในระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 41 คน และบาดเจ็บกว่า 250 คน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลอ้างว่า พลเรือนถูกยิงโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย จนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่เป็นครั้งสุดท้าย จนถึงแยกราชประสงค์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงประกาศยุติการชุมนุม และยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งซึ่งเกิดความไม่พอใจ ได้ก่อการจลาจลและวางเพลิงสถานที่หลายแห่งทั่วประเทศ โดยมี 39 แห่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในช่วงค่ำ รัฐบาลประกาศห้ามออกจากเคหสถานในหลายจังหวัดทั่วประเทศ และให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องนำเสนอแต่รายการของรัฐบาลเท่านั้น โดยทหารได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนยิง ผู้ที่ทำการปล้นสะดม วางเพลิง หรือก่อความไม่สงบได้ทันที

เนื้อหา

[แก้] เบื้องหลัง

ลำดับเหตุการณ์
12 มีนาคม เริ่มการชุมนุม มีการชุมนุมย่อยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
14 มีนาคม นายวีระ มุสิกพงศ์ เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง
15 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อทวงถามนายกรัฐมนตรี
16-17 มีนาคม ผู้ชุมนุมเจาะเลือดคนละ 10 ซีซี นำไปเทที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลและที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์[6] และบ้านพักนายกรัฐมนตรี[7]
20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถเคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสายสำคัญ
28-29 มีนาคม ตัวแทนรัฐบาลเจรจาหารือเรื่องการยุบสภากับตัวแทน นปช. จำนวนสองรอบ ได้ข้อสรุปว่าจะให้มีการยุบสภา แต่ยังไม่มีกำหนดเวลา
3 เมษายน ย้ายไปชุมนุมบางส่วนยังแยกราชประสงค์
7 เมษายน นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
8-9 เมษายน รัฐบาลนำกำลังทหารเข้าระงับการออกอากาศของสถานีประชาชน; กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานี จนสถานีกลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง แต่กำลังทหารก็ได้เข้าระงับการออกอากาศอีก
10 เมษายน เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีผู้เสียชีวิต 27 ราย บาดเจ็บ 1,427 ราย[8][9][10]
16 เมษายน ตำรวจหน่วยอรินทราช 26 บุกจับกุมแกนนำ นปช. ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค แต่ไม่สำเร็จ
24 เมษายน แกนนำ นปช. ประกาศให้ยกเลิกการใส่เสื้อสีแดงชั่วคราว
28 เมษายน เจ้าหน้าที่สลายขบวนผู้ชุมนุมบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 16 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย[11]
29 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
12 พฤษภาคม ศอฉ.ประกาศตัดระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชนรอบแยกราชประสงค์
13 - 18 พฤษภาคม ทหารกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 43 ราย[12]
19 พฤษภาคม ทหารสลายการชุมนุม เสียชีวิต 15 ราย; แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคพลังประชาชนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นอันต้องยุติลง อีกทั้งศาลยังตัดสินให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

การรายงานจากสื่อมวลชนบางแห่งว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้สนับสนุน หรือบีบบังคับ ให้ ส.ส.จำนวนหนึ่ง มาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์[2] โดย ส.ส.เหล่านั้น เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นำโดย สนั่น ขจรประศาสน์, พรรคภูมิใจไทย และกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนบางส่วน[13] สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[14][15][16] และชนะการลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นคู่แข่ง จึงทำให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน[17]

[แก้] การเตรียมการ

[แก้] ฝ่ายผู้ชุมนุม

วันที่ 8 มีนาคม นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ยืนยันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 14 มีนาคมนี้ อย่างแน่นอน โดยยึดหลักประชาธิปไตย ไม่สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง โดยการชุมนุมครั้งนี้ยึดหลักสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และได้วางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม[18]

[แก้] ฝ่ายรัฐบาล

วันที่ 11 มีนาคม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 และ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมกองอำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ ที่กองบัญชาการกองทัพบก

โดยได้นำชุดควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชายและหญิง ชุดสายตรวจ ชุดสายตรวจ ชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยสวาท ชุดจู่โจมเคลื่อนที่เร็ว หรือชุดปะ ฉะ ดะ เพื่อให้ประชาชนรับทราบเจ้าหน้าที่ของตำรวจที่จะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 11-23 มีนาคม พ.ศ. 2553

นายสุเทพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่จะดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคง ซึ่งทุกคนไม่พกพาอาวุธ นอกจากอุปกรณ์ป้องกันตัว แต่จะมีเพียงชุดสายตรวจ ชุดสายตรวจ ชุดปฏิบัติการพิเศษหรือหน่วยสวาท ชุดจู่โจมเคลื่อนที่เร็ว หรือชุด ปะ ฉะ ดะ ที่จะมีอาวุธติดตัว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยจะมีเครื่องหมายเลขชัดเจน

ทั้งนี้ ชุดแรกที่เข้าควบคุมฝูงชนที่เป็นผู้หญิงก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิงและไม่มีอาวุธ ส่วนชุดควบคุมฝูงชนผู้ชายมีเพียงโล่ และกระบอง หากมีบุคคลอื่นแอบอ้างหรือแต่งเครื่องแบบทหาร นอกเหนือจากนี้จะจับดำเนินคดี สำหรับการถวายอารักขาที่บริเวณรอบโรงพยาบาลศิริราช จะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บัญชาการทหารเรือ และจะมีทหารเรือและทหารบกแต่งเครื่องแบบรักษาความสงบเรียบร้อย โดยใช้กำลังทั้งสิ้น 5 กองร้อย[19]

[แก้] สถานที่ชุมนุมหลัก

[แก้] สะพานผ่านฟ้าลีลาศ

เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยเวทีตั้งอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และชุมนุมตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงลานพระราชวังดุสิต และในวันที่ 14 เมษายน ได้ยุบเวทีไปรวมกันที่แยกราชประสงค์ และเปิดเส้นทางจราจร เนื่องจากทางแกนนำไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ และเป็นการคืนพื้นที่ให้ตามที่รัฐบาลเรียกร้อง[20]

[แก้] แยกราชประสงค์

วันที่ 3 เมษายน มีการเคลื่อนขบวนมาปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมาก กระจายกันอยู่เต็มผิวจราจร ตั้งแต่แยกประตูน้ำ ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ โดยพิธีกรบนเวทีแจ้งว่า คืนนี้จะปักหลักชุมนุมข้ามคืน ที่แยกราชประสงค์[21]

[แก้] ยุทธศาสตร์

[แก้] การเทเลือด

วันที่ 16 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมเจาะเลือดคนละ 10 ซีซี โดยในเวลาประมาณ 16.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากสะพานผ่านฟ้า เพื่อมุ่งหน้านำเลือกที่เจาะได้จากกลุ่มผู้ชุมนุมไปเทบริเวณประตูทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำเลือดผสมน้ำเกลือ ใส่ในแกลลอนน้ำขนาด 5 ลิตรจำนวนกว่า 23-24 แกลลอน และทยอยหิ้วเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล ขณะที่แกนนำกลุ่มนปช.ได้ขึ้นรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเคลื่อนไปพร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุม

เวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำพิธีเทเลือดที่บริเวณประตูต่างๆของทำเนียบรัฐบาล โดยในบริเวณประตู 2 ได้มีพราหมณ์พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเดินทางเข้าประกอบพิธีด้านหน้า บริเวณประตู โดยมีการเทเลือดลงบนพื้นถนนพร้อมทำพิธีสาบแช่งและนำเลือดมาเขียนเป็นอักขระ บนเสาด้านข้างประตู 2 และทำเรื่อยไปจนถึงประตู 8 ซึ่งตั้งอยู่ด้านเลียบคลองผดุงกรุงเกษม โดยจุดเทเลือดสุดท้ายคือ ทางเข้าอาคารสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังจากเสร็จสิ้นพิธีแกนนำได้ขึ้นประจำรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

เวลาประมาณ 18.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ฝ่าแนวกั้นที่เจ้าหน้าที่นำมากั้นด้านหน้าประตูทางเข้าที่ทำการพรรคประชาธิปปัตย์ จนสามารถเข้าไปทำพิธีเทเลือดที่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นที่ทำการพรรคได้สำเร็จ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เตรียมเลือดที่เหลือจากการทำพิธีบริเวณทำเนียบรัฐบาลจำนวน 10 แกลลอน มาทยอยเทด้านหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปปัตย์ ทั้งนี้ในระหว่างที่มีการทำพิธี ผู้ชุมนุมต่างส่งเสียงโห่ร้องและตะโกนขับไล่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แกนนำได้ปราศรัยขอให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบก่อนที่จะประกาศให้ ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนกลับไปเวทีหลักที่สะพานผ่านฟ้า [22]

วันที่ 17 มีนาคม ช่วงเช้า แกนนำกลุ่มผู้ชุนนุมได้ประกาศแนวทางและเส้นทางที่จะใช้เดินทาง เพื่อไปเทเลือดที่บริเวณหน้าบ้านพักของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่ซอยสุขุมวิท 31 และเริ่มเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุม เวลาประมาณ 11.50 รถปราศรัยของแกนนำได้เดินทางมาถึงสี่แยกด้านหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี โดยนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง ได้เป็นตัวแทนเดินลงมาบริเวณรั้วลวดหนามพร้อมด้วยภาชนะบรรรจุเลือดประมาณ 5-6 แกลลอน ขณะที่ได้มีฝนตกลงมาอย่างหนัก เพื่อพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อจะขอเข้าไปทำพิธีกรรมเทเลือดบริเวณหน้าบ้านของนายกรัฐมนตรี แต่ยังไม่สามารถเข้าไปได้ โดยมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้คุมสถานการณ์ และทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล 5 ได้นำรถบรรทุกเครื่องขยายเสียงมาขอให้ผู้ชุมนุมอย่างสันติและขอให้ตระหนักในสิทธิของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบส่วนหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเป็นบ้านพักของบิดานายกรัฐมนตรี ดังนั้นจะทำให้อะไรก็ขอให้อยู่ในกรอบกติกาและคำนึงถึงจารีตประเพณีสังคมไทยด้วย ขอให้ผู้ชุมุนมจัดตัวแทนมาเจรจาร่วมกันว่าจะเข้าจัดกิจกรรมในจุดใด ตำรวจพร้อมให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวก และขอยืนยันว่าจะไม่ใช้กำลังและความรุนแรงใด ๆ กับผู้ชุมนุม

แต่ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยอมให้กลุ่มคนเสื้อแดงเข้ามาภายในซอยสุขุมวิท 31 หลังนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงได้เจรจากับ พล.ต.ต.วิชัย โดย พล.ต.ต.วิชัยได้สั่งให้ตำรวจถอยเป็นระยะทาง 5 เมตร แต่ยังสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงรั้วบ้านได้ ซึ่งขณะนี้มีระยะห่างกว่า 200 เมตร ทั้งนี้ได้มีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามบุกปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแถวกั้นอยู่ด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีการสกัดกั้นไม่ให้กลุ่มม็อบเข้าไปใกล้บ้านพักของนายกรัฐมนตรี กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดยนายอริสมันต์ได้ทำการฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าที่ บุกไปถึงหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี พร้อมเทเลือดกองบนพื้นถนนท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก โดยนายณัฐวุฒิได้ประกาศบนรถปราศรัยเพื่อขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่เปิดทางให้ กลุ่มคนเสื้อแดงเทเลือดบริเวณดังกล่าวด้วย และมีผู้ชุมนุมบางคนได้ระดมปาถุงบรรจุเลือดและอึเข้าใส่ภายในบ้านพักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่และบุคคลภายในบ้านได้พยายามนำสายยางมาฉีดน้ำโต้ตอบ [23] [24]

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Christian Sciene Monitor ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับ 10 การประท้วงสุดพิสดาร ปรากฏว่า การเทเลือดของกลุ่มนปช. ถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 ของการประท้วงสุดพิสดาร [25] [26]

[แก้] ขบวนรถดาวฤกษ์

ขบวนรถของกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคลองตัน

วันที่ 20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถจำนวนมาก โดยเคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสายสำคัญต่างๆ แกนนำกลุ่มเสื้อแดงได้กล่าวอ้างว่าตลอดทางมีประชาชนมาให้กำลังใจจำนวนมาก

โดยการเคลื่อนพลจะเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งหมด จะไม่มีการดาวกระจาย เริ่มตั้งขบวนตั้งแต่ 10.00 น. หัวขบวนจะอยู่ที่แยกยมราช มีกองทัพมอเตอร์ไซค์ 2,000 คันนำขบวน พร้อมกับทีมนักรบพระองค์ดำ จากนั้นถึงจะเป็นขบวนคนเสื้อแดงทั้งหมด

การเคลื่อนขบวนทั่วกรุงเทพมหานครของกลุ่มผู้ชุมนุม

โดยจะเคลื่อนขบวนไปตามถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ถึงแยกอโศกจะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรัชดาภิเษกผ่านแยกฟอร์จูน ไปตามถนนรัชดาฯ จนถึงแยกรัชดาฯ-ลาดพร้าว จะเลี้ยวขวา เข้าถนนลาดพร้าว ตรงไปถึงบางกะปิ ถึงแยกบางกะปิ จะเลี้ยวขวา ไปถึงแยกลำสาลี แล้วจะเลี้ยวขวาอีกครั้ง เข้าถนนรามคำแหง ตรงไปตามถนนรามคำแหง จนถึงแยกพระราม 9 ตรงไปแยกคลองตัน แล้วตรงไปแยกพระโขนง เลี้ยวขวาเข้าถนนพระราม 4 จากนั้นตรงไปจนถึงสีลม แล้วเข้าวงเวียนโอเดียน เยาวราช ผ่านพาหุรัด แล้วเคลื่อนขบวนไปฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะกลับเข้าเวทีปราศรัยที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ในเวลา 18.00 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ประเมินตัวเลขจำนวนผู้ชุมนุมในวันนี้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน รถจักรยานยน ประมาณ 10,000 คัน และรถยนต์ประมาณ 7,000 คัน[27]

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงการเคลื่อนขบวนของกลุ่มเสื้อแดงว่า เน้นคอนเซปต์ว่าเป็นการขอบคุณและปลูกต้นรักให้แก่คนกรุงเทพฯ ที่ต้อนรับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่มาจากต่างจังหวัด จึงจะเป็นขบวนที่ผ่อนคลาย ไม่เครียด ไม่มีการปราศรัยทางการเมืองที่เข้มข้น จะเป็นการตีกลอง ร้องเพลงแบบฉิ่งฉาบทัวร์ เพื่อสร้างความสนุกสนาน สลับกับการขึ้นปราศรัยขอบคุณคนกรุงเทพฯ เน้นความรื่นเริงเถิดเทิงไปตลอดการเคลื่อนขบวน

[แก้] การโกนผม

วันที่ 25 มีนาคม นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ พร้อมแกนนำคนอื่น อาทิ นายวันชนะ เกิดดี นายเจ๋ง ดอกจิก รวมทั้งผู้ชุมนุมทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่สมัครใจได้ทำการโกนศีรษะเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรีและขับไล่รัฐบาล รวมทั้งทำพิธีสาปแช่งนายกรัฐมนตรี โดยมีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโกนผมให้นายสุพร ขณะที่พระสงฆ์ประมาณ 15 รูป โกนผมให้แก่ผู้ชุมนุม บนเวทีหลักสะพานผ่านฟ้าลีลาศ [28]

[แก้] การเคลื่อนขบวนกดดันทหาร

วันที่ 27 มีนาคม คนเสื้อแดงได้เคลื่อนขบวนไปกดดันทหารให้ถอนกำลังกลับกรมกองตามจุดต่างๆ เอเอฟพีระบุว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80,000 คน[29] นอกจากนี้ยังมีการยึดอาวุธปืน ฯลฯ ของทหารจำนวนหนึ่งอีกด้วย แล้วมีการส่งคืนในภายหลัง แต่ยังมีอาวุธสูญหาย ซึ่งทาง ศอฉ. ยังคงกังวลอยู่

[แก้] การแห่ศพผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม

วันที่ 12 เมษายน เวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนแห่ศพผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมออกจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยขบวนประกอบด้วยรถยนต์บรรทุกโลงศพจำนวนทั้งสิ้น 17 คัน พร้อมด้วยขบวนรถจักรยานยนต์และผู้ชุมนุมที่เดินเท้าตาม ทั้งนี้ในจำนวนโลงศพทั้งหมด 16 โลง มีเพียง 2 โลงที่มีศพอยู่จริงส่วนที่เหลือจะเป็นโลงเปล่าเพราะศพทั้งหมดถูกนำไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งผู้ชุมนุมได้นำธงชาติไทยมาคลุมโลงศพพร้อมรูปผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตามในบริเวณพื้นที่ชุมนุมสะพานผ่านฟ้าลีลาศและแยกราชประสงค์ยังคงมีกลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่และไม่เดินทางร่วมไปกับขบวน เนื่องจากก่อนหน้านี้แกนนำผู้ชุมนุมได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนปักหลักอยู่ที่เวทีชุมนุมทั้งสองจุด เพื่อป้องกันการเข้าสลายการชุมนุม[30]

[แก้] ขอนแก่นโมเดล

วันที่ 21 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อสกัดไม่ให้ขบวนรถไฟลำเลียงทหาร อาวุธและยานพาหนะกว่า 20 โบกี้ออกจากสถานี เนื่องจากเกรงทหารจะเข้าร่วมสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ[31]

เมื่อวันที่ 25 เมษายน ความเคลื่อนไหวในรูปแบบ "ขอนแก่นโมเดล" ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยที่จังหวัดอุดรธานี นายวิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำคนเสื้อแดงมาตั้งด่านสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 3 จุด โดยเฉพาะที่อำเภอโนนสะอาด โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องในกรุงเทพฯ ในขณะที่วิทยุชมรมคนรักอุดรก็ได้ประกาศเชิญชวนให้มาสกัดการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ พร้อมให้เรียกระดมพลให้เข้าร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ ที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ก็มีการตั้งด่านของคนเสื้อแดงเช่นกัน โดยได้ตั้งด่านมาตั้งแต่คืนวันที่ 24 เมษายน นอกจากการตั้งด่านสกัดเจ้าหน้าที่แล้ว บรรดาคนเสื้อแดงยังได้มีการปล่อยลมยางรถทหารและรถตำรวจที่จะมีการเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ ด้วย ซึ่งน่าสังเกตว่าในหลายจังหวัดกลุ่มผู้ชุมนุมก็น้อยกว่าเจ้าหน้าที่ แต่กลับไม่สามารถนำกำลังเจ้าหน้าที่มายังส่วนกลางได้[32]

[แก้] การยกเลิกใส่เสื้อแดงชั่วคราว

กลุ่มผู้ชุมนุมแสดง ตีนตบ

วันที่ 24 เมษายน เวลา 18.00 น. นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวบนเวทีปราศรัย โดยกล่าวว่า สืบเนื่องจากการที่กลุ่มนปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์เพื่อปกป้องรักษาทุกชีวิต เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิต ดังเหตุการณ์วันที่ 10 และ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงจำเป็นต้องปรับยุทธวิธี เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เหมาะสมโดยยังยึดแนวทางที่สันติวิธี

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวต่อว่า หลังจากที่ทาง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เลือกที่จะปิดประตูการเจรจากับทาง นปช. ชัดเจนว่า ทางนายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจหันหลังให้แนวทางสันติวิธีเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ขอประกาศโดยชัดเจนว่า นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ขอให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาโดยทันที รวมทั้งยังขอประกาศมาตรการรับมือ โดยยึดแนวทางที่สันติวิธี คือ

  1. ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอดเสื้อสีแดง และวางสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความเป็น นปช. ทิ้งออกตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อมาเป็นนักรบนอกเครื่องแบบ จนกว่าจะได้รับชัยชนะจนกว่าจะได้รับประชาธิปไตยจากรัฐบาลกลับคืนมา
  2. ขออาสาสมัครจักรยานยนต์ไปประจำด่าน ทั้ง 6 ด่าน จำนวนด่านละ 2 พันคัน
  3. ขอให้คนเสื้อแดงทั่วประเทศคอยสังเกตการณ์กองกำลังทหาร และตำรวจที่พยายามจะเข้ามาในกรุงเทพฯ หากพบก็ขอให้ยึดปฏิบัติการขอนแก่นโมเดลทันที ยึดแนวทางสันติวิธี
  4. ขอให้กลุ่มคนเสื้อแดงกระทำและปฏิบัติตัวอย่างใดก็ได้ตามอิสระเสรี
  5. ขอให้พี่น้องเสื้อแดงทุกคนจับกลุ่มย่อยละ 5 คน แลกเบอร์ และทำความรู้จักกันไว้ เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ใดขึ้น จะได้เป็นช่องทางในการสื่อสารถึงกันได้

นายณัฐวุฒิกล่าวอีกว่ามาตรการทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการที่เตรียมไว้รับมือกับนายอภิสิทธิ์ เชื่อว่าภายใน 48 ชั่วโมงนี้ นายอภิสิทธิ์ได้เตรียมการที่จะสลายการชุมนุม ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องเสื้อแดงที่รักประชาธิปไตย ที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศ เดินทางเข้ามาชุมนุมที่พื้นที่ราชประสงค์เพื่อประกาศให้นายกรัฐมนตรีได้รู้ว่าไม่ต้องการรัฐบาลที่มาจากอำมาตย์อีกต่อไปแล้ว[33] และต่อจากนี้ให้เรียกกลุ่มคนเสื้อแดงใหม่ว่า กลุ่มคนไม่มีสี ไม่มีเส้น[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] เหตุการณ์สำคัญ

[แก้] การปิดสถานีประชาชน

วันที่ 8 เมษายน ภายหลังที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปแจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของสถานีประชาชน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณสถานีไทยคม ที่ตั้งอยู่ถนนรัตนาธิเบศร์ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณ[34]

วันที่ 9 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของสถานีประชาชน โดยได้มีการนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา แต่ไม่บรรลุผล จากนั้นเหตุการณ์ได้สงบลงภายในเวลา 15 นาที โดยแกนนำพยายามควบคุมมวลชนไม่ให้บุกเข้าไปภายในตัวอาคาร จนกระทั่งมีการเจรจาให้ทหารถอนกำลังเดินแถวออกจากสถานีไทยคม ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชุมนุม

นอกจากนี้ได้มีการนำอาวุธที่ได้ยึดมาจากทหาร ที่ประกอบด้วยปืนเอ็ม 16, ปืนลูกซองยาว พร้อมลูกระเบิดแก๊สน้ำตา หมวกกันน็อค เสื้อเกราะ โล่ กระบอง มาให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพเอาไว้ รวมทั้งยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนหนึ่งจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม[35]

หลังจากที่มีการยืนยันว่าทางสถานีประชาชนจะมีการออกอากาศอย่างแน่นอน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง[36] หลังจากนั้นในเวลาประมาณ 22.20 น.ได้มีการเข้าระงับการออกอากาศของทางสถานีอีกครั้ง

[แก้] การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

บรรยากาศการจุดเทียน และวางพวงมาลัย บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เมษายน เมื่อวันที่ 11 เมษายน

วันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้นำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยในเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และพยายามปิดประตู พร้อมขึงรั้วลวดหนาม นอกจากนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงด้วย ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นออกมาบริเวณสนามเสือป่า พยายามปาท่อนไม้และสิ่งของตอบโต้ นอกจากนี้ยังเกิดเสียงดังขึ้นเป็นระยะๆ ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นระเบิดเสียง ทำให้ผู้ชุมนุมแตกตื่นวิ่งหนี

เมื่อเวลา 13.10 น. กลุ่มเสื้อแดงได้กลับมารวมตัวอีกครั้ง แกนนำบนรถปราศรัยได้ประกาศว่า นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กำลังเดินทางตามมา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้เดินเก็บท่อนไม้ที่เหลือจากการจัดงานกาชาดเตรียมพร้อมไว้แล้วด้วย

จากนั้นเวลา 13.45 น. เกิดเหตุชุลมุนที่แยกพาณิชยการ ใกล้ทำเนียบรัฐบาลและกองทัพภาคที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้น้ำฉีดผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมแยกดังกล่าว จากนั้นได้ยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมเป็นระยะ ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงบางคนได้รับบาดเจ็บและแตกฮือสลายการชุมนุมจากแยกพาณิชยการ จากนั้นทหารนำรถที่กลุ่มผู้ชุมนุมจอดขวางออกนอกพื้นที่ และเดินจากแยกพาณิชยการมุ่งหน้าเข้าถนนราชดำเนิน

เมื่อเวลา 14.00 น. ทหารได้ทยอยยึดถนนราชดำเนินได้บางส่วน โดยตรึงกำลังตามสี่แยกต่างๆ ตั้งแต่กองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 แยกมิสกวัน และสะพานมัฆวานรังสรรค์ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่างถอยร่นไปรวมตัวที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และพยายามจอดรถขวางทางเพื่อสกัดทหาร

เวลา 14.20 น. บริเวณการชุมนุมคนเสื้อแดงบริเวณแยกมิสกวัน โดยทหารได้ใช้แก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตามเกิดโต้ล้มทำให้พัดย้อนกลับไปโดนทหารเช่นกันและมีผู้ชุมนุมบางส่วนได้ขว้างกลับมาเช่นกัน ทางด้านบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมทหารได้รุกคืบฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมพร้อมกับได้จับผู้ปราศรัยบนเวที ขณะเดียวกันทางผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้ปรับขบวนด้วยการใช้พระสงฆ์ออกมาตั้งแนวป้องกันการรุกคืบของทหาร

เมื่อเวลา 15.00 น. มีกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมปืนลูกซอง ปืนเอ็ม16 พกโล่พร้อมอาวุธครบมือ ได้ยืนตั้งแถวอยู่ตรงบริเวณสวนสาธารณะเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งอรุณอมรินทร์

เมื่อเวลา 17.50 น. มีเฮลิคอปเตอร์บินวนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และได้มีการปล่อยแก๊สน้ำตาลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ลงมาเพื่อสลายการชุมนุม ขณะที่แกนนำได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกมารวมตัวกันที่หน้าเวที พร้อมกับปลุกระดมให้ต่อสู้และดูสถานการณ์ต่อไป ขณะที่ผู้ชุมนุมได้มีการปล่อยลูกโป่งและโคมลอยเพื่อรบกวนการบินของเจ้าหน้าที่บนเฮลิคอปเตอร์แต่ไม่มีผลแต่อย่างใด แก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ตกลงมาที่ด้านหลังเวที ซึ่งมีสื่อมวลชนปักหลักทำข่าวอยู่เป็นจำนวนมากทำให้แตกตื่นหาที่หลบแก๊สน้ำตา และอีกจุดทิ้งไปที่ด้านหน้าเวทีซึ่งมีผู้ชุมนุมรวมตัวอยู่ค่อนข้างหน้าแน่น

หลังจากนั้นจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในบริเวณต่างๆ ใกล้กับที่ชุมนุม เช่น ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว ฝั่งเชื่อมต่อถนนข้าวสาร[37] โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,427 ราย[38][39]

[แก้] การล้อมจับแกนนำผู้ชุมนุมที่เอสซีปาร์ค

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอรินทราช บุกเข้าปิดล้อมโรงแรมเอสซีปาร์ค ล้อมจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบด้วยนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์, นายพายัพ ปั้นเกตุ, นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และนายวันชนะ เกิดดี

โดยนายอริสมันต์ได้โรยตัวออกทางระเบียง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 2,000 รายคอยให้ความช่วยเหลือได้สำเร็จ หลังจากนั้นนายอริสมันต์นำกลุ่มคนเสื้อแดงไปล้อมเจ้าหน้าที่อีกชั้น ชิงตัวแกนนำคนอื่นๆออกมาได้ในที่สุด และ ได้ทำปิดล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปปฏิบัติการในครั้งนี้อีกชั้น และให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าช่วยเหลือเหล่าแกนนำอีก 5 คนที่เหลือ จนสามารถช่วยเหลือนายสุภรณ์ และนายเจ๋งออกมาได้

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ ทำให้ทางโรงแรมได้รับความเสียหายบางส่วน ขณะที่การจราจรโดยรอบต้องปิดไปโดยปริยาย[40]

[แก้] การยิงระเบิด เอ็ม-79 ในย่านสีลม

เมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553 ได้เกิดเหตุระเบิด 5 ครั้งบริเวณถนนสีลม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมตัวการชุมนุมอยู่แยกศาลาแดงฝั่งถนนสีลม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ โดยเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง หลังเสียงระเบิดดังขึ้น ประชาชนที่อยู่บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดงได้วิ่งหลบหนีออกจากบริเวณดังกล่าว ขณะที่ด้านล่าง จุดที่มีการชุมนุมของกลุ่มต่อต้านนปช.ก็เกิดความโกลาหลเช่นกัน

จากนั้น เวลา 20.30 น. ระเบิดลูกที่ 4 ได้ระเบิดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ใต้ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือสกายวอล์ก

ต่อมา เวลา 20.45 น. ระเบิดลูกที่ 5 ก็ระเบิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง

ทั้งนี้ เหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 87 คน สาหัส 3 คน โดยผู้บาดเจ็บถูกส่งไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยรอบบริเวณการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 3 คน[41]

[แก้] การสลายขบวนบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 เมื่อเวลา 09.30 น. นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เปิดเผยภายหลังการประชุม แกนนำ ว่า ในเวลา 10.30 น. จะเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปยังตลาดไท เพื่อให้กำลังใจมวลชนคนเสื้อแดงที่ปักหลักอยู่ที่นั่น โดยให้มวลชนที่ต้องการจะร่วมขบวนไปรวมตัวที่ศาลาแดงแล้วร่วมเดินทางไปรถปิคอัพจำนวน 150 คัน เพราะว่าก่อนหน้านี้ได้ข่าวว่าจะมีการขนอาวุธเข้ามาในกรุงเทพฯเพื่อปราบปรามประชาชนจึงเป็นภารกิจที่เสื้อแดงจะต้องสกัดกั้นเอาไว้

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดงได้เคลื่อนพลถึงฐานทัพอากาศดอนเมืองนายขวัญชัยได้สั่งให้ขบวนหยุดเนื่องจากพบว่ามีตำรวจและทหารตั้งด้านสกัดอยู่และให้กลุ่มมอเตอร์ไซค์ไปดูพร้อมให้ถอยกลับมาก่อน โดยทหารมีการเตรียมพร้อมตั้งแถวพร้อมอุปกรณ์ปราบจลาจลและทั้งสองฝ่ายปักหลักกันอยู่มีช่องว่างห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตรทั้งนี้ทหารได้ขอความร่วมกับสื่อมวลชนให้ออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงาน หลังจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนพลออกจากหน้าฐานทัพอากาศดอนเมืองมุ่งหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติเรียบร้อยแล้วหลังจากหยุดเจรจาแล้วไม่เป็นผลและเจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางเข้าใส่ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยร่น

นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ขึ้นปราศรัยที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ โดยประกาศขอให้ผู้ชุมนุมไม่ต้องตกใจกับสถานการณ์ที่ดอนเมืองและรังสิต พร้อมกับให้นายขวัญชัยนำมวลชนเดินทางกลับมาตั้งหลักที่ราชประสงค์เพื่อกำหนดท่าทีกันอีกครั้ง

เวลา 14.20 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารได้จับกุมผู้ชุมนุมบริเวณโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยากว่า 10 คน

เมื่อเวลา 14.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมหลายสิบนัดตั้งแต่อนุสรณ์สถานแห่งชาติถึงโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาดอนเมืองขณะที่ประชาชนที่จอดรถสัญจรไปมาบนถนนวิภาวดีรังสิตได้ลงมาจากรถเพื่อหาที่ปลอดภัยหลบกระสุนยางของเจ้าหน้าที่

เมื่อเวลา 15.00 น. เสียงปืนบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ซึ่งเป็นจุดปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมที่กำลังมุ่งหน้าไปยังตลาดไทได้สงบลงแล้ว

เมื่อเวลา 16.10 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติว่า จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เบื้องต้น มีผู้บาดเจ็บ 16 ราย ในจำนวนนี้ 10 ราย ส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีสาหัส 1 ราย บาดเจ็บที่ช่องทองต้องเข้ารับผ่าตัด และอีก 3 ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งก็มีสาหัส 1 รายที่ต้องผ่าตัดเช่นกัน เนื่องจากถูกยิงที่หน้าอก[42]

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ถนนวิภาวดี 47 เจ้าหน้าที่ทหารมีการผลักดันกับผู้ชุมนุมรอบที่ 2 ระหว่างนั้นได้มีเจ้าหน้าที่ทหารชุดเคลื่อนที่เร็วขับรถมอเตอร์ไซค์ ลงมาจากโทลล์เวย์ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารทางด้านล่างเกิดการเข้าใจผิดยิงปืนกระสุนจริงและกระสุนยางเข้าใส่จนทำให้เจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บ 1 ราย ขณะที่ทหารบางส่วนได้ถอยร่นกลับไปที่หน้าโรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยาดอนเมืองฝั่งขาออกซึ่งขณะนี้ได้เปิดให้บริการแล้ว 1 ช่องทาง เพื่อให้รถขาออกได้เคลื่อนตัวไปได้

สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็นและบีบีซีรายงานเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุม ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณเปิดเผยมีจำนวนผู้ชุมนุมบาดเจ็บอย่างน้อย 16 รายระหว่างการปะทะกัน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 ราย จากกระสุนปืนของเพื่อนทหารพวกเดียวกันเอง โดยทหารคนดังกล่าวคือ พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงเข้าทะลุหมวกเข้าที่ศีรษะเหนือคิ้ว ซึ่งศพยังอยู่ในร้านค้าสวัสดิการภายในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ[43]

[แก้] การขอเข้าตรวจสอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 นายพายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวว่าตนได้ไปตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากมีบุคคลอ้างว่าภายในตึกโรงพยาบาลยังมีกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและปืนสไนเปอร์อยู่ครบมือหากไม่ถอนกำลังทหารออกไปให้หมดภายในคืนนี้ ตนพร้อมจะนำสื่อมวลชนและกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทันทีเพื่อไปขอพื้นที่โรงพยาบาลคืนให้กับประชาชนรวมทั้งในพื้นที่สวนลุมพินีมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 กองร้อยและในถนนสีลม ไม่ว่าจะเป็นตึกซีพี หรือธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลมก็มีกำลังทหารจำนวนมาก ซึ่งภายหลังได้มีการยืนยันออกมาว่า ไม่ได้มีกำลังทหารตามที่ได้ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด

เวลา 19.00 น. นายพายัพ พร้อมทีมรักษาความปลอดภัย เดินทางไปถึงโรงพยาบาล เพื่อขอตรวจสอบตึกในโรงพยาบาล เนื่องจากเกรงว่าอาจมีทหารซุ่มอยู่ตามตึก อย่างไรก็ตาม นายพายัพได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะให้การ์ดเดินแถวเรียงหนึ่งตรวจตึก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าไป การ์ดเสื้อแดงกลุ่มใหญ่ได้กระจายเข้าค้นทั่วโรงพยาบาล

ต่อมาวันที่ 30 เมษายน นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ออกมาขอโทษเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ใช่มติของแกนนำ และเป็นการกระทำไม่เหมาะสม พร้อมทั้งระบุว่ายินดีให้ความสะดวกกับทางโรงพยาบาลในทุกด้าน รวมทั้งจะไม่มีการเข้าไปภายในโรงพยาบาลเพื่อตรวจค้นอีก นอกจากนี้ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ยังชี้แจงว่าการเข้าไปตรวจค้นโรงพยาบาลเป็นการตอบคำถามของสื่อมวลชน ที่มีข่าวว่าทหารซุ่มอยู่ในอาคาร นายพายัพจึงเข้าไปเพื่อตรวจดูว่ามีทหารอยู่จริงหรือไม่ ตนนึกว่าจะไปแค่กับสื่อ และไม่คิดว่าจะพามวลชนเข้าไปด้วย ต่อจากนี้ขอยืนยันว่า จะห้ามคนเสื้อแดงที่ไม่ได้มีอาการบาดเจ็บ เข้าโรงพยาบาลจุฬาฯเด็ดขาด โดยยังยึดแนวทางไม่เข้าไปรบกวนโรงพยาบาลหรือสถานที่ราชการ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงว่า ขออภัยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งประชาชน อีกครั้ง ยืนยันจะไม่มีการเข้าไปภายในโรงพยาบาลอีก ขณะเดียวกันชี้แจงเหตุที่เข้าไปตรวจค้นภายในโรงพยาบาลจุฬาฯ เนื่องจากไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมยอมรับเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของหลายฝ่าย ยืนยันไม่มีความตั้งใจจะสร้างให้เกิดภาพเหมือนเป็นการข่มขู่ อยากให้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ตกเป็นเหยื่อ จึงมีความจำเป็นต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้ดีที่สุด

ด้านนายพายัพ ปั้นเกตุ อ้างว่า จากการสังเกตการณ์หลายวัน พบว่ามีการเคลื่อนไหวของทหารในโรงพยาบาลจริง จึงต้องการเรียกร้องโรงพยาบาล และบริษัทเอกชนที่มีอาคารสูงรอบพื้นที่การชุมนุม อย่าให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้พื้นที่หรือให้ที่พักพิง[44]

ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม มติแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดินเปิดสองฝั่งให้รถสามารถกลับรถหน้าโรงพยาบาลได้ พร้อมทั้งรื้อบังเกอร์เกาะกลางถนนในตอนบ่าย แต่ไม่ได้ถอยร่นกำลังไปที่แยกสารสินแต่อย่างใด[45]

[แก้] การยิงระเบิด เอ็ม-79 ที่สวนลุมพินี และยิงปืนที่สีลม

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 22.45 น. บริเวณแยกศาลาแดง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนเฝ้าที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย อาคารซูลิก เฮ้าส์ ถนนสีลม ทำให้กระจกหน้าธนาคารกรุงไทย ใกล้ตู้เอทีเอ็ม แตก 1 บาน มีรอยร้าว มีรูกระสุน 1 รู มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย

เบื้องต้นทราบชื่อผู้บาดเจ็บ ได้แก่ ด.ต.วิสูตร บุญยังมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจปจ. สน.บางนา ถูกยิงบาดเจ็บที่หัวไหล่ซ้าย ส.ต.ท.กานต์นุพันธ์ เลิศจันทร์เพ็ญ เจ้าหน้าที่จร. เข้าเวร ปจ.สน.ทุ่งมหาเมฆ ถูกกระสุนยิงเข้าที่ท้อง บาดเจ็บสาหัส แพทย์นำเข้าห้องผ่าตัดช่วยเหลือเป็นการด่วน ด.ต.บรรจบ โยมา อายุ 40 ปี ผบ.หมู่สภ.เกาะทวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ถูกยิงเฉี่ยวที่ข้อมือขวา ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม อีกรายเป็นชายไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 40 ปี รูปร่างท้วม ถูกกระสุนเจาะที่เหนือหัวเข่าซ้าย ถูกนำส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าคนร้ายน่าจะขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากสีลม และคนซ้อนท้ายได้ใช้ปืนกราดยิง จากถนนฝั่งตรงข้าม บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ก่อนจะขับรถหนีออกไปถนนพระรามที่ 4

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม เวลา 01.00 น. ส.ต.ท.กานต์นุพันธ์ เสียชีวิตลงหลังถูกยิงที่ช่องท้อง

อย่างไรก็ตาม รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานว่า มือปืนได้ยิงกราดเข้ามาใส่บริเวณกลางจุดการชุมนุมของชาวสีลม ซึ่งมีประมาณ 20-30 คน ห่างจากร้านกาแฟโอบองแปงประมาณ 10 เมตร

เมื่อเวลาประมาณ 01.25 น. สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 6 ราย ทั้งนี้ แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น

เมื่อเวลา 01.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 ถนนพระรามที่ 4 บริเวณดังกล่าวเป็นด่านตรวจความมั่นคงสนธิระหว่างตำรวจกับทหาร โดยระเบิดได้เกิดขึ้น 3 ครั้งในจุดดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าเป็นชนิดเอ็ม 79 เบื้องต้นมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทราบชื่อ ด.ต.เกียรติศักดิ์ อินทรัพย์ทวี ,ส.ต.ต.ณัฐกานต์ โพธิ์น้อย ,จ.ส.ต.เกษม แก้วกุล และจ.ส.ต.วิทยา พรหมสาลี ได้รับบาดเจ็บสาหัส อาการเป็นตายเท่ากัน เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณหน้าอกขวา เลือดตกใน และที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ราย ทราบชื่อ ด.ต.ชูศักดิ์ แสงเย็น ทั้งหมด เป็นชุดปราบจลาจล สภ.หางน้ำสาคร จ.ชัยนาท มีเจ้าหน้าที่ทหารบาดเจ็บอีก 3 นาย ประกอบด้วย จ.ส.อ.มงคล บุเมืองปัก ,พลทหารพีระศักดิ์ บุราธานี ,พลทหารณรงค์ชัย นิตยกุล ทั้งหมดเป็นทหารจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ร.23 พ.1 จังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้นำตัวส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน และจะถูกดำเนินการส่งไปยังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากการตรวจสอบวิถีกระสุนในเบื้องต้น คนร้ายน่าจะยิงวิถีโค้ง ข้ามสะพานลอย น่าจะเป็นการยิงมาจากทางด้านแยกศาลาแดง

ที่เกิดเหตุระเบิด ทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 นั้นพบรอยระเบิด 3 แห่ง จุดแรกบริเวณกำแพงรั้วของสวนลุมพินี จุดที่สอง บริเวณกลางถนน จุดที่ 3 บนเสาไฟฟ้าใกล้ทางขึ้นสะพานลอยคนข้าม โดยเสาไฟฟ้าบิ่น แตกตรงจุดที่โดนระเบิดสูงจากพื้นประมาณ 7 เมตร โดยแรงระเบิดดังกล่าว ทำให้มีตำรวจ หทารได้รับบาดเจ็บ

เมื่อเวลา 05.00 น. จ.ส.ต.วิทยา พรหมสาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 โดยถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณหน้าอกขวา เลือดตกใน ได้เสียชีวิตลง[46]

[แก้] การใช้กำลังอาวุธกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยกองทัพและกองกำลังไม่ทราบฝ่าย

ทหารกำลังมองไปยังสวนลุมพินี ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มคนเสื้อแดง

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เมื่อเวลา 19.20 น. เกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดขึ้นที่บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีศาลาแดง และที่บริเวณถนนพระราม 4 จำนวน 5 ลูก อีกทั้งยังมีเสียงคล้ายปืนยิงเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ประชาชน และผู้ชุมนุมต่างวิ่งหนีตายโกลาหล[47]

นอกจากนี้ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้ถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่กะโหลกศีรษะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เจ้าหน้าที่ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว โดยเดเนียล เชิร์ฟ ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเสียงอเมริกา (วีโอเอ) เผยว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นฝีมือของมือปืนซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ ระหว่างที่อยู่ภายในพื้นที่ชุมนุมที่มีการปิดล้อม หลังจาก พล.ต.ขัตติยะ ถูกยิงก็มีเสียงปืนยิงต่อสู้และเสียงระเบิดเกิดขึ้นภายในพื้นที่ปิดล้อมของกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย นอกจากนี้ ได้มีการตัดไฟที่บริเวณสวนลุม และศาลาแดงแล้ว[48]

เมื่อเวลา 20.40 น. บริเวณแยกสวนลุมพินี มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม หลังจากที่ผู้ชุมนุมนำกรวยสีส้มที่เจ้าหน้าที่นำมาปิดเส้นทางการจราจรออก เพื่อเส้นทางให้ประชาชนสัญจรไปมา พร้อมกับนำกระถางต้นไม้มาขวางประตูทางออกสวนลุมพินีและผลักดันเจ้าหน้าที่ทหารไม่ให้ออกมาจากสวนลุมพินี หลังจากนั้นไม่นานได้มีเสียงปืนดังติดต่อกันหลายนัด เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายรายหนึ่งในนั้นถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่ต้นคอผู้ชุมนุมได้นำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว โดยมีผู้บาดเจ็บจำนวน 20 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงพยาบาลตำรวจ 1 ราย[49]

หลังจากมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ที่บริเวณแยกศาลาแดง ประตู 2 สวนลุมพินีทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการรื้อแผงจราจร ขว้างปาก้อนอิฐ และสิ่งของจำนวนหลายสิบราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ถูกยิงเข้าที่เบ้าตาซ้าย ทราบชื่อนายชาติชาย ชาเหลา อายุ 25 ปี เป็นผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง[50]

วันที่ 14 พฤษภาคม เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. บริเวณถนนสาทรเหนือมุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4 เจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดการจราจร โดยกำลังเจ้าหน้าที่ทหารได้เคลื่อนพลเข้าแยกวิทยุ ขณะที่มีเสียงปืนดังขึ้นเป็นระยะๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารก็ส่องอาวุธปืนไปตามอาคารสูงต่างๆ ส่วนพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนต่างพากันวิ่งหลบหนีอย่างชุลมุน[51]

เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี ถนนพระรามที่ 4 เป็นจุดเผชิญหน้ากันระหว่างกองกำลังทหาร และแนวร่วม นปช. โดยมีเสียงปืนยิงดังเป็นระยะ คาดว่าเป็นจากฝ่ายทหารที่ต้องการผลักดันไล่แนวร่วม นปช.ให้พ้นพื้นที่หน้าสนามมวยลุมพินี ที่พยายามรุกคืบเข้ามา ขณะเดียวกัน กลุ่มแนวร่วม นปช.ก็มีการยิงปะทัดยักษ์ และพลุตะไลเข้าใส่กองกำลังทหารเช่นกัน[52]

เมื่อเวลาประมาณ 13.55 น. บริเวณหน้าไนท์บาร์ซ่าร์ หลังเกิดเหตุปะทะกันระหว่างกองกำลังทหาร และกลุ่มแนวร่วม นปช. ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแล้ว และหลังสิ้นสุดเสียงปืน ทหารรุกคืบเข้ามาใกล้ประชิดแนวร่วม นปช. มากขึ้น[53]

เมื่อเวลา ประมาณ 15.00 น. มูลนิธิร่วมกตัญูญูรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลาย กลุ่ม นปช. ที่บริเวณหน้าบ่อนไก่ ใกล้สนามมวยลุมพินี ถนนพระรามที 4 มีผู้ถูกยิงมาส่งที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท 1 ซึ่งขณะนี้เสียชีวิตแล้ว 1 คน ทราบชื่อ นายอินแตง เทศวงษ์ อายุ 33 ปี ถูกยิงเข้าที่หน้าอกด้านขวา[54]

เมื่อเวลา 15.20 น. ทหารและกลุ่มคนเสื้อแดงยังมีการปะทะกันบริเวณแยกราชปรารภ เสียงปืนยังคงดังขึ้นเป็นระยะ ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ถอยร่นไปบริเวณแยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภทั้งสองฝั่ง และบริเวณสถานีรถไฟฟ้าราชปรารภ[55]

เจ้าหน้าที่ของศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย จากเหตุการณ์ปะทะในช่วงเช้าระหว่างกองทัพและกลุ่มคนเสื้อแดง โดยทหารได้เปิดฉากยิงหลังจากกองทัพประกาศสลายการยึดพื้นที่ของกลุ่มคนเสื้อแดง

เวลา 16.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารประจำการอยู่ที่ราบบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 ได้รุกคืบคุมพื้นที่อีกครั้ง ด้วยการกลับมาวางลวดหนาว เพื่อขอคืนพื้นที่ หลังจากกลุ่ม นปช. ได้รุกเข้ามานำออกไปก่อนหน้านี้ โดยตลอดเวลามีเสียงคล้ายปืน และประทัดดังอย่างต่อเนื่อง โดยทหารใช้ยุทธวิธี ทั้งกระสุน และแก๊สน้ำตาช่วยเคลียร์พื้นที่[56]

เมื่อเวลา 18.00 น. ได้เกิดเหตุปะทะกันบริเวณแยกบ่อนไก่และผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต 1 รายกระสุนเข้าที่ท้ายทอยเสียชีวิตทันที ขณะที่ทหารยังคงปักหลักประเมินสถานการณ์ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป[57]

เมื่อเวลา 18.20 น. ที่เวทีคนเสื้อแดง บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นหลังจากเกิดเหตุเสียงดังคล้ายปืนด้านข้างเวทีและระเบิดควันหลังเวที ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 15 คน [58]

เวลา 18.40 น. เจ้าหน้าที่ทหารได้เคลื่อนรถหุ้มเกราะเข้าไปในสี่แยกศาลาแดงโดยมาจากถนนวิทยุ ทันที่รถหุ้มเกราะมาถึงก็ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างหนักทันที ทั้งขว้างขวด ระเบิดขวด ระเบิดควันเข้าใส่ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเปิดเครื่องขยายเสียงเตือนว่าจะนับ 1-3 เท่านั้นและจะปฏิบัติการยิงทันที ทั้งนี้ทันทีที่สิ้นเสียงจากเครื่องขยายเสียงก็ได้ยินเสียงปืนจากทหารบนทางเดินรถไฟฟ้าทันที พร้อมกับการตอบโต้ของผู้ชุมนุมที่ขว้างระเบิดขวด ระเบิดควันเข้าใส่ เกิดเสียงดังอย่างต่อเนื่อง[59]

เมื่อเวลา 21.00 น บริเวณถนนสาทร ปรากฏว่าได้มีเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณถนนพระรามที่ 4 ก่อนถึงสะพานไทยเบลเยี่ยม เจ้าหน้าที่ทหารตั้งแนวป้องกันปิดถนนไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไปที่ถนนพระรามที่ 4 ตามประกาศของ ศอฉ. เจ้าหน้าที่ทหารได้ยิงกระสุนใส่ประชาชนที่ขับรถไปตามเส้นทางถนนสาทร ช่วงบริเวณแยกไฟแดงซอยสาทร 6 หน้าโรงแรมเอฟเวอร์กรีน จนได้รับบาดเจ็บไป 1 ราย ทราบชื่อ นายปิยะรัตน์ ไม่ทราบนามสกุล อายุ 18 ปี โดยถูกยิงเข้าที่บริเวณตรงตาตุ่มขาด้านขวา ทำให้กระสุนทะลุเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณช่วยลำเลียงส่งไปที่โรงพยาบาลตากสิน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังได้ยิงขู่ประชาชนที่ขับรถเข้ามาตามถนนสาทรมุ่งหน้าถนนพระรามที่ 4[60]

นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ เปิดเผยว่า ตัวเลขเมื่อเวลา 22.00 น. ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารเข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ จนทำให้เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจปะทะกับกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 101 ราย เสียชีวิต 7 ราย[61]

ต่อมาสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีผู้บาดเจ็บ 125 ราย และเสียชีวิต 10 ราย[62]

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เวลา 00.30 น. ได้เกิดเหตุมีรถตู้โตโยต้าคอมมิวเตอร์ สีบรอนซ์เงิน ทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ขับมาบนถนนราชปรารภ มุ่งหน้าไปทางดินแดง ด้วยความเร็วสูง เมื่อวิ่งมาถึงบริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสัน ก่อนข้ามทางรถไฟ ได้มีด่านตรวจค้นทหารส่งสัญญาณให้หยุดรถ แต่รถตู้คันดังกล่าวกลับไม่ยอมลดความเร็ว เจ้าหน้าที่จึงใช้อาวุธปืนยิงยางรถยนต์ แต่รถตู้ยังพยายามวิ่งพุ่งชนด่าน ทหารจึงตัดสินใจระดมยิงด้วยกระสุนยางและกระสุนจริงจนรถพรุนไปทั้งคัน ทำให้คนขับตู้เป็นชายวัยกลางคนถูกยิงที่สีข้างขวาได้รับบาดเจ็บสาหัส และได้มีเด็กชายอายุประมาณ 10 ปี ถูกกระสุนลูกหลงเข้าที่หน้าท้องจนไส้แตก อาการสาหัส นอกจากนี้ยังมีคนขับรถแท็กซี่อีก 1 คน ที่รอรถกลับบ้านบริเวณดังกล่าว ถูกยิงเข้าที่ลำตัวบาดเจ็บสาหัสเช่นกัน เจ้าหน้าที่รีบนำคนเจ็บทั้ง 3 ราย ส่งโรงพยาบาลพญาไท 1 เพื่อช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน[63]

เมื่อเวลา 06.00 น. ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ รายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บ 157 ราย ถูกนำตัวส่งรักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ 15 แห่ง ในจำนวนนี้มีผู้บาดเจ็บสาหัสต้องเข้าห้องไอซียู 7 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะรอบบริเวณการชุมนุม เพิ่มขึ้นจากเดิม 10 ราย เป็น 17 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย นำส่งโรงพยาบาลราชวิถี 3 ราย และโรงพยาบาลพญาไท 1 อีก 3 ราย ทั้งนี้มีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวต่างชาติ 3 ราย

เวลา 15.20 น. เจ้าหน้าที่ทหารได้ประกาศขอพื้นที่บริเวณถนนราชปรารภ สี่แยกประตูน้ำคืน โดยขอให้ประชาชนและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพื้นที่โดยทันทีเข้าไปอยู่ในซอยต่างๆ เจ้าหน้าที่ทหารไม่รับรองความปลอดภัย พร้อมกันนั้นพลแม่นปืนก็ได้ขึ้นไปอยู่บนสะพายลอยเพื่อคุ้มกันและรักษาความปลอดภัยให้ทหาร สำหรับบ้านเรือน, โรงแรม และห้างร้านต่างๆบริเวณถนราชปรารภที่มีการปะทะกันตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคมพบว่าได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากมีทั้งรอยกระสุนปืนและระเบิด[64]

เมื่อเวลา 24.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานรายชื่อผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุมของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ตลอดช่วง ตั้งแต่วันที่ 14-15 พฤษภาคม ว่ามีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 24 ราย และได้รับบาดเจ็บ 187 ราย[65]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เวลา 14.30 น. ที่บริเวณบ่อนไก่ ถนนพระรามที่ 4 แนวร่วม นปช.ยังคงระดมยางรถยนต์เข้ามาบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก โดยใช้วิธีขนใส่รถกระบะ จากนั้นได้นำมาจุดไฟเผาขวางเต็มพื้นที่ถนนพระราม 4 เกิดกลุ่มควันดำหนาทึบ ขณะที่มีฝนตกลงมาเพียงเล็กน้อย ทำให้ต้องปิดการจราจรบริเวณดังกล่าวอย่างถาวร

พบช่างภาพจากสถานีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในบริเวณแยกบ่อนไก่ โดยถูกยิงที่เกราะอ่อนขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เกิดอาการจุดเสียดยังไม่สามารถลุกขึ้นมาทำการรักษาพยาบาลได้ ทราบชื่อคือ นายพุทธิพงศ์ ชูแสง [66]

เมื่อเวลา 23.00 น. ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับพื้นที่การชุมนุม ระหว่างวันที่ 14-16 พฤษภาคม สรุปล่าสุดเวลา 22.00 น. ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 261 ราย บาดเจ็บ 230 ราย เสียชีวิต 31 ราย รับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล 83 ราย ในจำนวนนี้ต้องรักษาตัวในห้องไอซียู 12 ราย[67]

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม เวลาประมาณ 01.00 น. มีผู้ขับรถกระบะโตโยต้า วีโก้ (ทราบภายหลังว่าเป็นทหาร) วิ่งด้วยความเร็วมาจากซอยคอนแวนต์ผ่านหน้าอาคารซีพีทาวเวอร์ เข้าไปยังถนนสีลม ระหว่างนั้นมีเสียงปืนดังขึ้นหลายนัด และเกิดการยิงต่อสู้กันขึ้นระหว่างผู้ที่อยู่ในรถกับทหารที่คุมพื้นที่อยู่ริมถนน จนรถกระบะก็เสียหลักพุ่งชนรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จอดอยู่บริเวณข้างทาง หน้าธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ จากนั้นได้มีผู้นำคนเจ็บ 2 ราย ส่งโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ทราบชื่อภายหลังว่า จ่าอากาศเอกพงศ์ชลิต ทิพยานนทการ อายุ 51 ปี ได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ศีรษะ และเรืออากาศตรีอภิชาติ ช้งย้ง อายุ 26 ปี ได้รับบาดเจ็บที่มือ ทหารทั้ง 2 ราย สังกัดอากาศโยธิน กองทัพอากาศ โดยรายงานข่าวแจ้งว่า จ่าอากาศเอกพงศ์ชลิต ได้เสียชีวิตแล้ว คาดว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิด[68]

เมื่อเวลา 08.30 น. ศูนย์การแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร หรือ ศูนย์เอราวัณ เปิดเผยจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุปะทะกัน ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว จำนวน 252 ราย เสียชีวิต 35 ราย และล่าสุด พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ก็เสียชีวิต เพิ่มอีก 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บเป็นชาวต่างชาติ มีจำนวน 6 ราย ประกอบด้วย ชาวแคนาดา 1 ราย ชาวโปแลนด์ 1 ราย ชาวพม่า 1 ราย ชาวไลบีเรีย 1 ราย และชาวอิตาลี และนิวซีแลนด์ แห่งละ 1 ราย[69]

[แก้] การสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์

วันพุธที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า กองกำลังทหารไทยจำนวนมาก พร้อมด้วยรถถัง เคลื่อนกำลังเข้าใจกลางกรุงเทพฯ เข้าประชิดพื้นที่ของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ขณะที่มีเสียงปืนดังเป็นระยะตลอดคืนที่มีรายงานว่า ทหารจะบุกสลายการชุมนุม โดยทหารใช้เครื่องขยายเสียงประกาศให้ผู้ชมนุมที่มีอยู่ราว 3,000 คนออกจากพื้นที่ จากนั้นมีรถสายพานลำเลียงพลคันหนึ่งพยายามทลายแนวกั้นเขตของผู้ชุมนุมที่ทำจากยางและไม้ไผ่

ต่อมาเวลา 09.20 น. บีบีซีรายงานว่า ทหารยิงปืนและใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุม ขณะที่ฝ่ายผู้ชุมนุมเผายางทำให้เกิดควันดำตลบไปทั่วบริเวณ มีรายงานผู้บาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 5 ราย

ด้านเอพีรายงานว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 39 ราย บาดเจ็บกว่า 300 ราย ในช่วงการปะทะที่ดำเนินมา 7 วัน ทางรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอล่าสุดของกลุ่มเสื้อแดงที่ขอเจรจา โดยยืนกรานว่า ผู้ชุมนุมต้องสลายตัวก่อน[70]

เมื่อเวลาประมาณ 09.35 น. ที่แยกสารสิน มีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ นายวัฒนชัย เอี่ยมนาค โดยถูกยิงที่แยกสารสิน จากการตรวจสอบพบ มีบาดแผลถูกยิงที่หน้าอก

สำนักข่าวเอพีรายงานข่าวด่วนระบุว่า ช่างภาพของเอพีได้เห็นนักข่าว 3 คน ถูกยิงเสียระหว่างปฏิบัติการของทหารในกรุงเทพฯ และดูเหมือนว่า จะมีนักข่าว 1 รายเสียชีวิต

เมื่อเวลา 11.10 น. ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่สามารถยึดพื้นที่โดยรอบของสวนลุมพินีไว้ได้ จากการเข้าตรวจที่เกิดเหตุโดยรอบ ได้พบศพผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาย อยู่ที่ด้านหลังแนวบังเกอร์ ในสภาพที่ถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะ รายแรก สวมชุมดำ รายที่สองไม่สวมเสื้อ ทั้งนี้ ศพของบุคคลทั้งสองถูกพบที่ถนนราชดำริ คาดว่าเป็นการ์ด นปช.หลังแนวรั้วกั้นที่เจ้าหน้าที่ทหารได้ทะลวงเข้ามาสำเร็จแล้ว อยู่ตรงกันข้ามกับตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาฯ[71]

ทั้งนี้ ศูนย์บริหารการแพทย์ฉุกเฉิน กรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) แจ้งยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทหารกดดันกลุ่ม นปช. วันที่ 14-18 พฤษภาคม สิ้นสุดเวลา 18.00 น. เพิ่มเป็น 43 ราย บาดเจ็บรวม 365 ราย นักข่าวต่างชาติรายล่าสุดที่เสียชีวิต ชื่อนายโปเลนกี ฟาดิโอ ชาวอิตาลี

เวลา 18.00 น. ศูนย์เอราวัณรายงานยอดผู้บาดเจ็บ เฉพาะวันที่ 19 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. พบว่ามีผู้บาดเจ็บ 58 ราย เสียชีวิต 6 ราย โดยมีชาวต่างชาติได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เป็นชาวแคนาดา 1 ราย ไม่ทราบสัญชาติ 1 ราย[72]

[แก้] ประกาศยุติการชุมนุม

เนื่องจาก การใช้กำลังอาวุธกับผู้ชุมนุม โดยกองทัพและกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ตั้งแต่คืนวันที่ 13 พฤษภาคม โดยเฉพาะการสลายการชุมนุม บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเกิดขึ้นนับแต่ช่วงเช้าวันที่ 19 พฤษภาคม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ในเวลา 13.20 น. มติแกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงต้องตัดสินใจประกาศยุติการชุมนุม เพื่อหวังให้ความสูญเสียดังกล่าว ไม่เกิดขึ้นเพิ่มเติมอีก พร้อมทั้งยอมเข้ามอบตัว กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

โดยในเวลาดังกล่าว แกนนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน คนสำคัญคือ นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย เป็นต้น ต่างขึ้นบนเวทีแยกราชประสงค์

โดยนายจตุพร เริ่มกล่าวเป็นคนแรกว่า 'ชีวิตของพวกผมเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่นี่เป็นชีวิตของคนอื่น พวกผมรอด แต่พี่น้องต้องตาย ถ้าเขาขยับมาถึงเวที ผมรู้ว่า พี่น้องพร้อมพลีชีพ ไม่รู้กี่ชีวิต เราร่วมทุกข์ร่วมสุขมายาวนานที่สุด และก็รู้กันว่า อีกไม่รู้กี่ชีวิตที่ต้องตาย ถ้าศอฉ.บุกมาถึงที่นี่ พี่น้องก็ยอมพลีชีพกันทุกคน ผมยอมไม่ได้ ฉะนั้น วันนี้ไม่ใช่ยอมจำนน แต่ไม่ต้องการให้พี่น้องเราต้องเสียชีวิตอีกแล้ว ทนความตายของพี่น้องไม่ได้อีกต่อไป พวกผมเพื่อนๆ จะเดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมรู้ว่าพี่น้องขมขื่น ทุกคนที่ขึ้นมาที่นี่ เราไม่รู้จะพูดกับพี่น้องกันอย่างไร เพราะหัวใจพี่น้องเลยความตายกันมาทุกคน วันนี้ เราหยุดความตาย แต่ยังไม่หยุดการต่อสู้ เพราะตอนนี้ยังตายอยู่เรื่อยๆ เรามาช่วยหยุดความตาย หัวใจการต่อสู้ไม่เคยหมด เราไม่ได้ทรยศ กว่าจะมาถึงเวที ไม่รู้อีกกี่ร้อยชีวิต เรามาหยุดความตายกันเถิด

จากนั้น นายณัฐวุฒิ กล่าวเป็นคนต่อมาว่า "เราขอยุติเวทีการชุมนุมแต่เพียงเท่านี้ แต่การต่อสู้ยังไม่ยุติ การต่อสู้ยังต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการประชาธิปไตยต่อไป เราไม่อาจต้านทานความอำมหิตนี้ได้อีก ขอให้พี่น้องเดินออกไปทางสนามศุภชลาศัย การ์ดจะดูแลให้พี่น้องเดินทางกลับด้วยความสงบ และปลอดภัย"[73]

สำหรับแกนนำที่เข้ามอบตัวกับตำรวจทันที ตามลำดับประกอบด้วย นายขวัญชัย ไพรพนา ตามด้วยนายจตุพร ซึ่งก้มลงกราบที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใน สตช. และคนสุดท้าย คือนายณัฐวุฒิ โดยก่อนเข้ามอบตัว นายณัฐวุฒิ กล่าวผ่านเครื่องขยายเสียง หน้า สตช.อีกครั้งว่า "ขอให้พี่น้องเสื้อแดงเดินทางกลับบ้าน ส่วนจุดยืนยังเหมือนเดิม ไม่ต้องห่วงว่าแกนนำทุกคนจะสูญสิ้นอิสรภาพ เนื่องจากความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ขอให้วางใจ ถ้าเสร็จภารกิจนี้ และได้รับความไว้วางใจจากมวลชนเหมือนเดิม จะกลับมาเป็นแกนนำเหมือนเดิม แต่ถ้ามวลชนไม่ไว้ใจอีกแล้ว ก็จะกลับมาเป็นคนเสื้อแดง ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนเดิม[74]

ต่อมาเวลา 23.00 น. มีรายงานเพิ่มเติม ที่ได้รับการยืนยันจากพระภิกษุ ภายในวัดปทุมวนาราม ว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่ภายในวัด ขณะที่นายแพทย์ปิยะลาภ วสุวัต แพทย์กองอุบัติเหตุโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ได้รับการติดต่อมาแล้วว่า มีผู้เสียชีวิตราว 9 ราย บาดเจ็บ 7 ราย แต่ต้องรอถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ทีมแพทย์จึงจะเข้าไปได้[75]

[แก้] การมอบตัวและหลบหนีของแกนนำ

ภายหลังจากการมอบตัวของแกนนำผู้ชุมนุมได้ปรากฏว่ามีแกนนำคนสำคัญ เช่น อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, พายัพ ปั้นเกตุ และสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ได้หลบหนีไป

ทันทีที่แกนนำมอบตัวนายณัฐวุฒิกล่าวว่า ไม่ต้องห่วงแกนนำ เพราะเราได้มอบตัวกับคนที่เป็นมิตรกับเรามาโดยตลอด[ต้องการอ้างอิง] และปรากฏหลังจากนั้นว่า แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ได้รับการรับรองที่ดีกว่าผู้ต้องหาโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก[76]และไม่มีการใส่กุญแจมือ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นทันที ถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ[77]โดยเฉพาะ การจัดให้แกนนำได้แถลงข่าว และตำรวจจับมือกับแกนนำ[78]

หลังจากนั้นนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายสุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นายสุรชัย แซ่ด่าน ได้ประกาศชุมนุมที่จังหวัด ราชบุรี วันที่ 30 พฤษภาคม 2553[79] และประกาศว่าจะเข้าสู่กรุงเทพในวัยที่24มิถุนายน2553[80]

[แก้] การตั้งเวทีย่อยในกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม กลุ่มคนเสื้อแดง ทยอยตั้งเวทีปราศรัยย่อยหลายแห่ง เพื่อรวบรวมกลุ่มคนเสื้อแดง ทั้งผู้อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ที่ไม่สามารถเข้าร่วมการชุมนุม ที่เวทีใหญ่แยกราชประสงค์ได้ เนื่องจากมีกำลังทหารปิดล้อมทุกทิศทาง และเพื่อป้องกันมิให้ออกไปตั้งแนวปะทะกับฝ่ายทหาร โดยจุดแรก ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หน้าศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน, ย่านคลองเตย บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 4 เป็นต้น[81] และมหาวิทยาลัยรามคำแหง[82]


[แก้] การจลาจลในกรุงเทพมหานครและหลายจังหวัด

อาคารส่วนของห้างฯ เซน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ที่พังถล่มลงมา
ควันไฟจากเหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์

ภายหลังการชุมนุม มีกลุ่มบุคคลได้บุกเข้าทำลายทรัพย์สิน และลอบวางเพลิง อาคารสำคัญหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จนได้รับความเสียหายทั่วไป แม้แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ยังถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ยิงอาวุธปืนสกัดเข้าใส่ เพื่อไม่ให้เข้าดับเพลิงภายในพื้นที่ได้

โดยเริ่มต้นเมื่อเวลา 14.25 น. มีกลุ่มบุคคลบุกเข้าทุบกระจก บริเวณชั้น 1 อาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งศูนย์การค้าเซน แล้วลอบเข้าไปวางเพลิงภายใน จนทำให้มีกลุ่มควัน และเปลวไฟพวยพุ่งออกมา ต่อมา มีการลอบวางเพลิง โรงภาพยนตร์สยาม อีกแห่งหนึ่งเช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าสกัดเพลิงได้ เป็นเวลาหลายชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีการบุกเข้าทำลาย ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน และเกษรพลาซ่า อีกด้วย ต่อมา เกิดเหตุปาประทัดยักษ์ เข้าไปยังอาคารมาลีนนท์ ย่านถนนพระรามที่ 4 ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ส่งผลให้เกิดเพลิงลุกไหม้ป้ายชื่ออาคาร และชั้นล่างของตัวอาคาร ได้รับความเสียหาย

หลังจากนั้น เกิดเหตุลอบวางเพลิงอีกหลายแห่ง เช่น ธนาคารออมสิน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และถนนวิภาวดีรังสิต, ร้านสะดวกซื้อ เซเวน-อีเลฟเวน ใกล้สำนักงาน ป.ป.ส. และสาขาหัวมุมวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ส่งผลให้เพลิงลุกลามไปยัง ร้านหนังสือดอกหญ้า ซึ่งเป็นชั้นบนของอาคาร รวมทั้งยังลามไปยังอาคารใกล้เคียงคือ ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน และบ้านพักของชาวบ้านใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีผู้ขว้างถังแก๊สเข้าใส่ ห้างสรรพสินค้าแพลตตินั่ม ประตูน้ำ โดยเหตุเพลิงไหม้ทุกแห่ง รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าควบคุมเพลิงได้ เป็นเวลาหลายชั่วโมงเช่นเดียวกัน[83]

วันที่ 20 พฤษภาคม หลังจากระยะเวลาประกาศห้ามออกนอกเคหสถานสิ้นสุดลง เจ้าหน้าที่จากกรุงเทพมหานคร เข้าตรวจสภาพความเสียหายของเซ็นทรัลเวิลด์ พบว่า ฝั่งศูนยการค้าเซน และโซนเอเทรียม 1 ได้รับความเสียหายมากที่สุด นอกจากนี้ ในบางพื้นที่ ยังเกิดเพลิงไหม้ ที่ต่อเนื่องจากเมื่อคืนวาน ที่ยังไม่สามารถดับได้ อาทิ ศูนย์การค้าบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] มาตรการของรัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

[แก้] แผนปรองดอง

วันที่ 3 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยว่าจะมาพูดถึงการคลี่คลายสถานการณ์ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เป็นการสะสมปัญหามาเป็นระยะเวลานานหลายปี ที่สะสมมาทั้งหมดทำให้เกิดความแตกแยกร้าวลึก คำตอบทางการเมืองที่อยากบอกประชาชนในวันนี้ คือการสร้างกระบวนการปรองดองขึ้นมา หากแผนการปรองดองและทำบ้านเมืองให้งสงบสุข การจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลพร้อมดำเนินการ โดยแผนปรองดองดังกล่าวมีองค์ประกอบดังนี้

  1. ประเทศไทยเราโชคดีที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวหลอมรวมคนไทยทั้งชาติ แต่น่าเสียดายที่มีคนกลุ่มหนึ่งดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา มีความพยายามดึงสถาบันลงมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง การที่จะทำให้สังคมไทยเป็นปกติสุขต้องช่วยกัน ไม่ให้ดึงสถาบันกษัตริย์ลงมา แผนการ คือ ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกันทำงานเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานแก่ประชาชน ไม่ว่าเรื่องรู้รักสามัคคี อยากเชิญชวนทุกฝ่ายมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อไม่ให้ถูกดึงมาเป็นเครื่องมือความขัดแย้งทางการเมือง
  2. การปฏิรูปประเทศ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอาจจะถูกมองว่าเป็นการเมือง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากความไม่เป็นธรรมของเรื่องเศรษฏิจ หลายคนที่มาชุมนุมอาจจะสัมผัสโดยตรงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาส ถูกรังแก สิ่งที่เราจะช่วยกันทำ คือ ไม่ปล่อยให้เป็นเหมือนในอดีตที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ที่ทำให้ระบบเกิดความไม่เป็นธรรม
  3. ในยุคปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร จริงอยู่ที่เราต้องเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อำนาจของสื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย แม้กระทั่งสถานีของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่านำไปเสนอให้เกิดความขัดแย้ง สื่อต้องมีเสรีภาพ แม้จะมีอิสระในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่จะไม่สร้างความขัดแย้งภายในประเทศ สร้างความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง
  4. หลังจากชุมนุมเคลื่อนไหว มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดความรุนแรงและสูญเสีย เกิดข้อสงสัยต่างๆนาๆ ไม่ว่าการสูญเสียเหตุการณ์ 10 เมษายน เหตุการณ์ที่สีลม หรือที่ดอนเมือง กระทบกระเทือนจิตใจประชาชน ทุกเหตุการณ์จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น ต้องมีคณะกรรมการอิสระเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงต่าง ๆและให้เกิดความเป็นจริงต่อสังคม
  5. เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แม้นักการเมืองจะเป็นคนกลุ่มเล็ก แต่เป็นตัวแทนของประชาชน ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมในหลายด้าน ทั้ง รัฐธรรมนูญ กฎหมายบางฉบับ การลิดรอนสิทธิไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลิดรอน หรือการตัด หรือการเพิกถอนสิทธิ ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการเมือง ถึงเวลาเอามาวาง และมีกลไกให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย เรื่องรัฐธรรมนูญ จนถึงความผิดการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่เกิดความรู้สึกไม่ยอมรับ[84]

วันที่ 4 พฤษภาคม นายวีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงผลการประชุมแกนนำ นปช.ที่เวทีการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ เกี่ยวกับข้อเสนอแผนการปรองดอง 5 ข้อของนายกรัฐมนตรี หลังใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมงว่า มีข้อสรุป 4 ข้อประกอบด้วย

  1. นปช.ยินดีรับข้อเสนอ แต่ขอให้รัฐบาลไปหาความชัดเจนมาก่อนว่าจะยุบสภาวันไหนคุยกันให้จบเสียก่อน
  2. นปช.ต้องการความจริงใจที่รัฐบาลสามารถแสดงออกได้ด้วยการยกเลิกการคุกตามทุกรูปแบบ
  3. นปช.ไม่ขอนิรโทษกรรมให้แก่ นปช.เองในข้อหาโค่นล้มสถาบันและการก่อการร้ายอย่างเด็ดขาดพร้อมสู้คดี
  4. ต้องยุติการนำสถาบันกษัตริย์ลงสู่ความขัดแย้งในทุกมิติ

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน แถลงบนเวทีปราศรัยว่า ขอให้ทางรัฐบาลไปหาความความชัดเจนในการยุบสภาต้องระบุวันให้ชัดเจนมาก่อน และแกนนำคนเสื้อแดงไม่ปฏิเสธเข้าร่วมกับแผนโรดแมปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บล้มตาย ทางกลุ่มคนเสื้อแดงยืนยันว่าเรื่องการนิรโทษกรรม เรื่องการกล่าวหาความผิดก่อนหน้านี้ทางเสื้อแดงไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไข หากรัฐบาลกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเป็นการก่อการร้ายทางผู้ชุมนุมจะสู้ถึงที่สุด หากกล่าวหาว่าโค่นล้มสถาบันทางเสื้อแดงพร้อมที่จะสู้เช่นเดียวกัน และขอให้เรียกร้องมาตรฐานเดียวกันกับคดีสั่งสังหารประชาชนในเหตุการณ์เดือนเมษายนจะต้องไม่มีการนิรโทษกรรมใดๆเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวขอให้ดีเอสไอรับไปเป็นคดีพิเศษแล้วดำเนินการต่อไป[85]

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 12.00 น. ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าแผนปรองดองนั้นถูกยกเลิกไปเรียบร้อยแล้ว โดยรัฐบาลจะใช้มาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ และเคลียร์พื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ให้เร็วที่สุด[86]

[แก้] การตัดระบบสาธารณูปโภค

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ระบุว่า การประชุม ศอฉ.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศอฉ. เป็นประธาน ได้ติดตามสถานการณ์และรายงานยอดผู้ชุมนุม โดย ศอฉ.จำเป็นต้องใช้มาตรการกดดันผู้ชุมนุมเต็มรูปแบบ เริ่มต้นจากการไม่ใช้กำลัง โดยกำหนดให้มีการตัดน้ำ ตัดไฟ สัญญาณโทรศัพท์ ระบบสาธาณูปโภค การเดินทางสาธารณะต่าง ๆ ทั้งรถโดยสารมวลชน รถไฟฟ้า และการเดินทางทางน้ำบริเวณคลองแสนแสบ เพื่อปิดการเข้าพื้นที่ชุมนุม 100%

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงอาจจะได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ โดยทหารที่อยู่ในพื้นที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก พื้นที่ดังกล่าว และมาตรการต่าง ๆ จะเริ่มได้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เป็นต้นไป และจะหารือหน่วยงานเกี่ยวข้องเพิ่มเติมในวันนี้ โดย ศอฉ.ต้องขออภัยประชาชนและทูตประเทศต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าว พร้อมย้ำว่า มาตรการกดดันการเข้าพื้นที่ชุมนุมเต็มรูปแบบเป็นมาตรการขั้นเบาที่สุดแล้ว รวมทั้งได้ประสานกับผู้ประกอบการบริเวณดังกล่าวในเบื้องต้น ส่วนมาตรการหลังจากนี้ยังไม่ขอเปิดเผย[87][88]

ต่อมา พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการกดดันผู้ชุมนุมแยกราชประสงค์เต็มรูปแบบ ในการตัดน้ำ ตัดไฟ ระบบสาธารณูปโภค และการเดินทางสาธารณะ ทั้งทางบกและทางน้ำ ยังไม่ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และต้องหารือร่วมกันอีกครั้งในคืนวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เพื่อกำหนดรายละเอียดว่าจะเป็นพื้นที่ใดบ้าง เพราะบริเวณดังกล่าวมีทั้งโรงพยาบาล และ สถานประกอบการต่างๆ รวมทั้งต้องมีการประเมินผลกระทบว่าระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง กลุ่มใดจะได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อนมากกว่า เนื่องจากพบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้เตรียมมาตรการรองรับในเรื่องการตัดน้ำ ตัดไฟ ส่วนเส้นทางเดินรถเมล์ ใกล้พื้นที่ชุมนุม คงจะมีการพิจารณาให้วิ่งในวงนอกต่อไป และรถแท็กซี่ อาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าในบริเวณพื้นที่ชุมนุม

พ.อ.สรรเสริญ ระบุว่า มาตรการดังกล่าวของศอฉ.อาจจะไม่ได้ดำเนินการทันทีในเวลา 24.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม 2553 และอาจจะเลื่อนเป็นวัน13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ขึ้นอยู่กับการหารือกำหนดรายละเอียดและข้อสรุปให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากมีประชาชนทั่วไปโทรศัพท์เข้ามาสอบถามจำนวนมาก เพราะเกรงจะได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการนี้[89]

วันที่ 13 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงผลการประชุม ศอฉ.ช่วงเช้าว่า การกำหนดมาตรการในการปิดล้อมสกัดกั้นพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์อย่างสมบูรณ์ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. พื้นที่ที่มีผลกระทบทางด้านเหนือเริ่มตั้งแต่ แยกราชเทวี ไปตาม ถนนเพชรบุรี จนถึงแยกขึ้นทางด่วนเพชรบุรี ทางทิศใต้ ตั้งแต่แยกทางขึ้นด่วนเพชรบุรี ตามถนนวิทยุ จนกระทั่งสี่แยกถนนวิทยุ เรื่อยมาจนถึงถนนพระรามที่ 4 จนถึงแยกสามย่าน และขึ้นเหนือไปบรรจบจุดเริ่มต้นตามถนนพญาไท จนกระทั่งถึงแยกราชเทวี ซึ่งเป็นลักษณะกรอบสี่เหลี่ยม การบริการสาธารณะทุกชนิดทั้ง ไฟฟ้า ประปา การจราจร รถประจำทาง เรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 4 สถานี คือ สถานีสยาม สถานีชิดลม สถานีเพลินจิตและสถานีราชดำริ (ปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 19.00 น.)) และรถไฟฟ้าใต้ดิน (ไม่จอดรับส่งผู้โดยสารใน 2 สถานี คือ สถานีสีลมและสถานีลุมพีนี (ปิดให้บริการทุกสถานีเวลา 22.00 น.)) จะมีการระงับเริ่มตั้งแต่ 18.00 น.เป็นต้นไป โดยเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดำเนินการตามขั้นตอนหลักสากลจากเบาไปหาหนัก 7 ขั้นตอน และมีการใช้อาวุธกระสุนจริงด้วย[90]

[แก้] การห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา

ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้สั่งห้ามทำธุรกรรมทางการเงินของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาตามบัญชีรายชื่อแนบท้ายคำสั่งของ ศอฉ. ที่ 49/2553 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[ต้องการอ้างอิง] ต่อมา ศอฉ. ได้ออกคำสั่งที่ 58/2553 เรื่องห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลหรือนิติบุคคลเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[ต้องการอ้างอิง]

ทางศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ออกคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่ 61/ 2553 เรื่องห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งการให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางการเงินหรือการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของ บุคคลหรือนิติบุคคลเท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] การประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน

เมื่อเวลา 16.05 น. ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ออกประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืน โดยนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดต่อไปนี้

  1. ห้ามมิให้บุคคลใดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม ถึงเวลา 06.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม
  2. ให้พนักงาน และเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปฏิบัติหน้าที่ในเขตพื้นที่ และระยะเวลาที่กำหนด
  3. ให้ประชาชนที่อยู่ในเขตพื้นที่กลับเข้าสู่เคหสถาน และไม่ออกมายังพื้นที่ที่กำหนด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการ ศอฉ.กำหนดพื้นที่ และรายละเอียดเพิ่มเติมตามสมควรแก่เหตุ[91] และในเวลาต่อมา ศอฉ. ได้ประกาศห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่ปริมณฑลและจังหวัดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[ต้องการอ้างอิง]

วันต่อมา ศอฉ. ได้ประกาศกฎหมายว่าด้วยการจำกัดสิทธิส่วนบุคคลเพิ่มเติม โดยขยายจำนวนวันประกาศใช้เพิ่มเป็น 3 วัน คือในวันที่ 20-22 พฤษภาคม แต่ลดระยะเวลาควบคุมเป็น 21.00-05.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่ประชาชนมากขึ้น[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] บุคคลที่เสียชีวิตในเหตุการณ์

ในระหว่างการชุมนุม เกิดการเข้าใช้กำลังอาวุธกับผู้ชุมนุมโดยกองทัพสามครั้ง จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บาดเจ็บนับพันคน ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้สั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสงคราม เข้าสลายการชุมนุมทางการเมือง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา[92] โดยมีข้อมูลปรากฏดังนี้

[แก้] ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

ในเหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 25 ราย ทหารเสียชีวิต 5 ราย และชาวต่างประเทศเสียชีวิตอีก 1 ราย

รายชื่อผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อจำนวน 2 ราย และระบุชื่อได้จำนวน 19 ราย คือ[93]

พลเรือน

  • นายอำพล ตติยรัตน์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายยุทธนา ทองเจริญพลพร : ถูกกระสุนปืน
  • นายไพศล ทิพย์ลม : ถูกกระสุนปืน
  • นายสวาท วางาม : ถูกกระสุนปืน
  • นายธวัฒนะชัย กลัดสุข : ถูกกระสุนปืน
  • นายทศชัย เมฆงามฟ้า : ถูกกระสุนปืน
  • นายจรูญ ฉายแม้น : ถูกกระสุนปืน
  • นายวสันต์ ภู่ทอง : ถูกกระสุนปืน
  • นายมลชัย แซ่จอง : ถูกแก๊สน้ำตา ทำให้ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
  • นายคะนึง ฉัตรเท : ถูกกระสุนปืน
  • นายเกรียงไกร คำน้อย : ถูกกระสุนปืน
  • นายบุญธรรม ทองผุย : ถูกกระสุนปืน
  • นายสมศักดิ์ แก้วสาน : ถูกกระสุนปืน
  • นายเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายนภทล เผ่าพนัก : ถูกกระสุนปืน
  • นายสมิง แตงเพชร : ถูกกระสุนปืน

ทหาร

ชาวต่างประเทศ

[แก้] ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์

ในเหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 54 ราย ทหารเสียชีวิต 1 ราย และชาวต่างประเทศเสียชีวิต 2 ราย รวมทั้ง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกกระสุนปืนที่ศีรษะ

รายชื่อผู้เสียชีวิตเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อจำนวน 5 ราย เป็นชายไม่ทราบสัญชาติจำนวน 1 ราย และระบุชื่อได้จำนวน 40 ราย คือ[94][95]

พลเรือน

  • นายชาติชาย ชาเหลา : ถูกกระสุนปืน
  • นายอินแปลง เทศวงศ์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายเสน่ห์ นิลเหลือง : ถูกกระสุนปืน
  • นายปิยะพงศ์ กิติวงษ์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายประจวบ สิราพันธ์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายสมศักดิ์ ศิลารักษ์ : ถูกกระสุนปืน
  • นางสาวสันธนา สรรพศรี : ถูกกระสุนปืน
  • นายชัยยันต์ วรรณจักร : ถูกกระสุนปืน
  • นายพัน คำกอง : ถูกกระสุนปืน
  • นายมนูญ ท่าลาด : ถูกกระสุนปืน
  • นายกิตติพันธ์ ขันทอง : ถูกกระสุนปืน
  • นายทิพเนตร เจียมพล : ถูกกระสุนปืน
  • นายสรไกร ศรีเมืองปุน : ถูกกระสุนปืน
  • นายบุญทิ้ง ปานศิลา : ถูกกระสุนปืน
  • นายสุภชีพ จุลทรรศน์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายมานะ แสงประเสริฐศรี : ถูกกระสุนปืน
  • นายอำพล ชื่นสี : ถูกกระสุนปืน
  • นายสมพันธ์ ศรีเทพ : ถูกกระสุนปืน
  • นายอุทัย อรอินทร์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายวารินทร์ วงศ์สนิท : ถูกกระสุนปืน
  • นายพรสวรรค์ นาคะไชย : ถูกกระสุนปืน
  • นายสมชาย พระสุพรรณ : ถูกกระสุนปืน
  • นายประจวบ ประจวบสุข : ถูกกระสุนปืน
  • นายเกรียงไกร เลื่อนไธสง : ถูกกระสุนปืน
  • นายสุพรรณ ทุมทอง : ถูกกระสุนปืน
  • นายธนาดร ปิยะผลดิเรก : ถูกกระสุนปืน
  • นายธันวา วงศ์ศิริ : ถูกกระสุนปืน
  • นายเฉลียว ดิรื่นรัมย์ : ถูกกระสุนปืน
  • นายสุพจน์ ยะทิมา : ถูกกระสุนปืน
  • นายสมพาน หลวงชม : ถูกกระสุนปืน
  • นายวัฒนชัย เอี่ยมนาค : ถูกกระสุนปืน
  • นายวิชัย มั่นแพ : ถูกกระสุนปืน
  • นายสุรเฌอ เพรชน้ำไหล : ถูกกระสุนปืน
  • นายมงคล เข็มทอง : ถูกกระสุนปืน
  • นายอัฐชัย ชุมจันทา : ถูกกระสุนปืน
  • นายปลั๊ก (ไม่ทราบชื่อ สกุลจริง) : ถูกกระสุนปืน
  • นางสาวกมลฉัตร อัตฮาร์ด : ถูกกระสุนปืน
  • นายอัครเดช ขันแก้ว : ถูกกระสุนปืน

ทหาร

  • จ่าอากาศเอกพงศ์ชลิต ทิพยานนทการ : ถูกกระสุนปืน

ชาวต่างประเทศ

  • นายโปเลนกี ฟาดิโอ : ถูกกระสุนปืน

[แก้] ปฏิกิริยาของฝ่ายต่างๆ

[แก้] ฝ่ายรัฐบาล

ในวันที่ 15 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวว่า หลังการชุมนุมผ่านมา 3 วันทุกอย่างเรียบร้อยปกติ ซึ่งผู้ชุมนุมมีการยื่นเวลาให้ตนยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง ตนได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือซึ่งเห็นร่วมกันว่าไม่ควรมีการยุบสภา[96]

การย้ายมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่ออกมาตรการบังคับให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ถนนราชดำริ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ว่าการกระทำของแกนนำทั้ง 5 และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ รวมทั้งเกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตของประชาชน จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพการเดินทางของประชาชนที่จะใช้เส้นทางสาธารณะและกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ม.34 และ 63 บัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อ ผอ.รมน.โดย ผอ.ศอ.รส. รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดและข้อประกาศห้ามแกนนำทั้งห้าและผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่ชุมนุมแล้ว ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพบังคับอยู่ในตัว และเมื่อมีประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามข้อกำหนดดังกล่าวอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง[97]

[แก้] ฝ่ายสนับสนุนการชุมนุม

ในวันที่ 14 มีนาคม นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่ากองทัพต้องวางบทบาทอยู่บนหลักความถูกต้อง ยึดถือความยุติธรรม เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ สหภาพฯออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ให้นำกองกำลังทหารหลายกองร้อยออกปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝูงชน เพราะจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน และหากมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง สหภาพฯจะเข้าร่วมต่อสู้กับประชาชนทันที[98]

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ว่าองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลและเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระบุว่าการปิดกั้นสื่อมวลชนที่ทั้งเป็นกลางและสื่อที่มีความเห็นไปในทางเดียวกับฝ่ายค้าน ทำให้อาจเกิดความรุนแรงได้[99] เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่างๆ โดยนายสมชาย กล่าวว่าขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้[100]

วันที่ 12 เมษายน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมีคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ขาดสำนึกความเป็นผู้นำ ปฏิเสธที่จะเข้าใจถึงปัญหาของคนในชาติ ตนไม่เคยพบเห็นการใช้กำลังติดอาวุธเข้าปราบปรามประชาชน ไม่เคยเห็นความรุนแรง และกระทำอย่างขาดความสำนึกเช่นนี้[101]

ในวันเดียวกันเวลา 19.30 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่าขอให้กลุ่มคนเสื้อแดงเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป วันนี้ถือว่าได้ประชาธิปไตยมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงไม่นานก็จะประสบความสำเร็จ เพื่อประเทศชาติ เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป[102]

เมื่อเวลา 14.20 น. นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แจกจ่ายแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลงวันที่ 14 พฤษภาคมไปยังสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชนโดยทันที และสั่งให้เจ้าหน้าที่กลับกรม กองที่ตั้ง
  2. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศในทุกจังหวัด โดยทันที
  3. เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทันทีเพื่อหาทางออกทางการเมือง โดยสันติวิธี
  4. ร่วมเจรจาหาแนวทางปรองดองอย่างแท้จริงกับทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตย และความยุติธรรม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความยุติธรรม เมตตาธรรม และความจริงใจ[103]

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ประณามการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงคราม และสนับสนุนข้อเรียกร้อง การลุกขึ้นสู้และป้องกันตนเองของคนเสื้อแดงในทุกรูปแบบ โดยได้มีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. รัฐบาล และ ศอฉ. จะต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น โดยนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ตลอดจนผู้รับผิดชอบใน ศอฉ. สมควรลาออกจากตำแหน่ง และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทั้งภายในและระหว่างประเทศ ตลอดจนจัดมีการเลือกตั้งใหม่เพื่อแก้ไขวิกฤติในทันที
  2. ให้มีการยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติความมั่นคงในทุกพื้นที่ในทันทีและหยุดการคุกคามปิดกั้นการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นช่องโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ต่างๆ
  3. ขอให้องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลและประชาคมโลก ได้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน และทำการกดดันรัฐบาลให้รับผิดชอบต่อการสูญเสีย ตลอดจนแทรกแซงหากจำเป็น

ทั้งนี้ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการโยนความผิดของการสูญเสียนี้ให้เป็นของคนเสื้อแดง เพราะว่าการตัดสินใจชุมนุมเรียกร้องภายใต้เงื่อนไขใหม่ของคนเสื้อแดง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของแกนนำหรือมวลชนเอง ไม่ว่าจะมีฝ่ายใดมองว่าขัดต่อแนวทางปรองดองหรือไม่ถูกใจใครหลายคนแค่ไหนก็ ตาม ย่อมไม่ควรเป็นเหตุผลแห่งการเข่นฆ่าได้ และสนับสนุนการลุกขึ้นต่อสู้ตอบโต้และป้องกันตัวจากการถูกสังหารหมู่ในทุก รูปแบบ เพื่อพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ชุมนุม มิให้ต้องถูกสังหารทำลายล้างโดยกองกำลังทหารอย่างป่าเถื่อน และขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงที่ต้องการให้มีการยุบสภาและนำตัว ผู้สั่งการสังหารหมู่ประชาชนมาสู่การลงโทษต่อไป[104]

[แก้] ฝ่ายต่อต้านการชุมนุม

ในวันที่ 9 มีนาคม นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 4/2553 ว่ารัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้ชุมนุม เพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆในช่วงเวลาดังกล่าว[105]

ในวันที่ 23 มีนาคม นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการกลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ให้ชาวกรุงเทพมหานครรวมตัวกันเพื่อต่อต้านความรุนแรง รวมทั้งให้อยู่ในที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง[106]

กลุ่มพี่น้องมหิดลออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ นปช. ยุติให้ผู้ชุมนุมเจาะเลือดแม้ผู้ให้จะเต็มใจก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าการนำเอาเลือดออกจากร่างกาย มีไว้เพื่อการตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษา หรือการบริจาคเท่านั้น มิสามารถกระทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดได้ รวมทั้งมองว่าระดับแกนนำย่อมมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลผู้เข้าร่วมชุมนุมให้เกิดความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรเลือกวิธีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การอ่อนเพลียจากการสูญเสียเลือดและอากาศร้อนอบอ้าว [107]

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน อันประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ออกแถลงการณ์ขอให้กลุ่มคนเสื้อแดง คืนพื้นที่แยกราชประสงค์ที่ปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2553 โดยให้กลับไปชุมนุมบริเวนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยที่ประชุม กกร. มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการชุมนุมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อการทำมาหากินในทุกระดับ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านค้าย่อย รวมทั้ง นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ และแม้ นปช.จะมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีความชัดเจนและจริงใจต่อกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง[108]

ที่ประชุมสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย ได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่ม นปช. ร่วมกันหาทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งและการชุมนุมโดยเร็ว หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับความเสียหายแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการรวมพลังของผู้ประกอบการในที่ต่างๆ เช่น จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สมุย พัทยา โดยใช้ข้อความว่า "ยุติความขัดแย้งเพื่อท่องเที่ยวไทย ทุกฝ่ายหยุดทำร้ายท่องเที่ยวไทย สมานฉันท์เพื่อท่องเที่ยวไทย" พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายดูแลการชุมนุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วและปราศจากความรุนแรง เพราะถ้าการชุมนุมยังยืดเยื้อจะกระทบความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ [109] โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานข่าวว่า การประท้วงของคนเสื้อแดงกำลังสร้างความไม่พอใจให้กับชาวกรุงเทพจำนวนมาก จนเกิดการชุมนุมของคนเสื้อชมพูมากกว่า 1,000 คน ที่สวนลุมพินี เพื่อระบุว่าพวกเสื้อแดงไร้เหตุผล นับเป็นครั้งแรกจากการบุกเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ ของเสื้อแดงที่มีคนกลุ่มใหญ่ออกมาต่อต้าน เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลไทยที่มีกองทัพหนุนหลังจะไม่รีบร้อนยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ซึ่งอาจเปิดทางให้ผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรรีบขึ้นมาชิงอำนาจคืน [110]

16 เมษายน พ.ศ. 2553 นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำผู้ประสานงานกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ และกลุ่มเฟสบุ๊คต้านยุบสภา เดินทางมาให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ที่บริเวณด้านหน้า กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

18 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคนเสื้อหลากสี อันประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพิทักษ์ชาติ และเครือข่ายเฟซบุ๊ก เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำหน้าที่ พร้อมทั้งคัดค้านการยุบสภา และแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง[111]

21 เมษายน พ.ศ. 2553 พนักงานบริษัทย่านสีลม ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาคมชาวสีลม ออกมาชุมนุมในช่วงเวลาพักเที่ยงต่อต้านการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง พร้อมทั้งมอบอาหารและน้ำให้กับทหารและตำรวจที่มาดูแลรักษาความปลอดภัย [112]

[แก้] ปฏิกิริยาจากนานาชาติ

สหรัฐอเมริกา โดยนายไมค์ โทเนอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อ่านแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกในวิกฤตการเมืองไทยระหว่างผู้นำฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเสื้อแดง และสนับสนุนการแสดงตามสิทธิในการเดินขบวนตามท้องถนนแต่ก็ได้เรียกร้องให้แกนนำฝ่ายเสื้อแดงสาบานก่อนว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงใด ๆ ด้วย [113][114] ภายหลังจากเหตุการบุกรุกรัฐสภาของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประณามกลุ่มผู้ประท้วง โดย นายฟิลิป โครว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อ่านแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐฯ เคารพการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ แต่การเข้าไปยังอาคารราชการ เป็นวิถีทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับการประท้วงซึ่งทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและการประท้วงอย่างสงบ ซึ่งสหรัฐฯ หวังว่าความเห็นที่แตกต่างกันจะสามารถแก้ไขได้ด้วยสถาบันประชาธิปไตยและไม่ใช้ความรุนแรง [115]

นางออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า วิพากษ์วิจารณ์วิกฤตการเมืองไทยว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยทหาร ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ พร้อมวิจารณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้ง[116]

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียได้ส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเตือนให้หยุดใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วนายอภิสิทธิ์จะตกเป็นผู้รับผิดชอบตามมาตรา 25 (3) (a) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการจงใจใช้กำลังจู่โจมผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนโดยตรง ซึ่งการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์นั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมาตราที่ 8 (2) (e) (i) ของ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมแล้ว ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียยังได้เสนอให้รัฐบาลไทยกลับมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการสังหารผู้ชุมนุมเช่นวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[117]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแห่งหน่วยงานฮิวแมนไรท์วอช ประจำกรุงนิวยอร์ก ชี้ว่าการประกาศใช้เขตใช้กระสุนจริงของรัฐบาลไทย เพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มผู้ประท้วงคนเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ล่อแหลมอันตราย โดยการประกาศเขตดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยเสี่ยงที่จะเขยิบเข้าสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเรือน ซึ่งจะทำให้ทหารคิดอย่างตื้น ๆ ว่า เขตใช้อาวุธจริงก็คือเขตยิงกระสุนได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงขยายตัว ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชุมชนชาวบ้าน และรัฐบาลไทยจะต้องตระหนักว่า มีประชาชนคนธรรมดาอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ประท้วงเท่านั้น[118]

[แก้] บทบาทสังคมออนไลน์ต่อการชุมนุม

สำหรับเหตุการณ์นี้ สังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก มีบทบาทอย่างมาก สำหรับการรายงานข่าวของเหตุการณ์ โดยมีการ follow นักข่าวที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ[ต้องการอ้างอิง] ช่วยรายงานออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น แบล็คเบอรี่, ไอโฟน ข่าวที่ได้ก็รวดเร็วกว่าสื่ออื่นๆ และหลายข่าวมีผู้รายงานหลายคนให้เปรียบเทียบด้วย[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] ผลกระทบ

[แก้] การคมนาคม

จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มีการรวมตัวเคลื่อนไหวปิดถนนในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ประกาศหยุดให้บริการเดินรถประจำทางชั่วคราว 17 เส้นทาง และเดินรถผลัดเสริม 29 เส้นทาง จากจำนวนแส้นทางที่ให้บริการทั้งหมด 108 สายในกรุงเทพมหานคร โดยเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ คือ ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และถนนสาทรที่มุ่งเข้าสู่สีลม พร้อมทั้งแนะประชาชนเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน หรือทำการสอบถามเส้นทางจากโทร. 184 ซึ่งพบว่าในช่วงที่มีการชุมนุม ยอดผู้ใช้บริการปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 13,000 สายต่อวัน จากปกติประมาณ 8,000 สายต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ขสมก.จะมีการประเมินสถานการณ์การชุมนุม ของกลุ่มนปช. และประชาสัมพันธ์เส้นทางผ่านสื่อมวลชนทุก 1 ชั่วโมง และยืนยันว่าสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบัน ขสมก.ยัง สามารถบริหารจัดการการเดินรถได้ และหากสถานการณ์คลี่คลายจะทำการเปิดเดินรถตามปกติทันที

ส่วนรถไฟฟ้า บีทีเอสนั้นต้องปิดการให้บริการประชาชนในบางสถานีระหว่างมีการชุมนุม เช่น สถานีสยาม สถานีราชดำริ[119] และได้หยุดการให้บริการทั้งระบบในบางช่วงเวลา เนื่องจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ถ้ามีการขนทหารมาฆ่าประชาชนทางรถไฟฟ้าจะทำให้รถไฟตกรางเป็นเรื่องง่ายมากและเจ้าหน้าที่คนไหนที่ขับรถมาส่งทหารก็จะให้คนเสื้อแดงไปจับ [120] ด้านรถไฟฟ้ามหานครได้ประกาศปิดประตูทางเข้าออกสถานีสีลมบริเวณสวนลุมพินีและหยุดการให้บริการในสถานีสีลมในบางช่วงเวลา[121] และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เลื่อนกำหนดการทดสอบระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2553 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยในการให้บริการและพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ[122]

[แก้] เศรษฐกิจ

การย้ายมาชุมนุมกันบริเวณแยกราชประสงค์เป็นผลให้ศูนย์การค้าบริเวณโดยรอบปิดให้บริการ โดยมีการประเมินว่าจะสร้างความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท [123] ส่วนธุรกิจค้าปลีกได้รับความเสียหายแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้ามีการชุมนุมคาดว่าธุรกิจค้าปลีกจะมียอดขยายตัวเพิ่มขึ้น 6-7 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเกิดการชุมนุมของ นปช. ตัวเลขดังกล่าวคงจะลดลงเหลือเพียง 4-5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น [124]

ทางด้านการท่องเที่ยว พบว่า หลังจากการชุมนุจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้ลดลง ซึ่งภายใน 1 เดือนที่มีการชุมนุมนี้รายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมหายไปแล้ว 10,000 ล้านบาท หากการชุมนุมยังยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือนจะเสียหายกว่านี้อีกหลายหมื่นล้านบาท[125] ด้านนายธนิต โสรัตน์ รักษาการรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ความเสียหายจากการชุมนุมและความรุนแรงจะทำให้การท่องเที่ยว การบริการ ร้านอาหารโรงแรมภัตตาคารร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวตลอดจน ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ชุมนุมเสียหายรวมกันกว่า 35,000 ล้านบาท [126]

[แก้] สาธารณสุข

การเจาะเลือดซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่กลุ่ม นปช. ใช้ในการต่อต้านรัฐบาลส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุข ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเลือดที่มีการเทไปยังสถานที่ต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมมาตรวจที่ห้องแล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล พบเชื้อไวรัสติดต่อร้ายแรง 3 ชนิด ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสเอชไอวี (เอดส์) อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ จึงอาจทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดย น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมของแพทยสภาเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ การจะเจาะเลือดจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าเจาะเลือดเพื่ออะไรและนำไปใช้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากกการกระทำครั้งนี้ สามารถมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้ คงต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เจาะเลือด รวมถึงผู้ที่เทและสาดเลือดเจาะเลือด [127] [128]

ส่วนการย้ายสถานที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไปยังบริเวณแยกราชประสงค์ยังส่งผลกระทบต่อผู้มารับบริการและผู้ป่วยของโรงพยาบาลตำรวจ โดยได้รับผลกระทบด้านการเดินทางมาโรงพยาบาลที่ไม่สะดวก การใช้เสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ โดยผู้ป่วยบางคนมีอาการอ่อนเพลียเพราะนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งผู้ป่วยและญาติรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้ามาในโรงพยาบาลตำรวจ [129]

[แก้] แกลเลอรี

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ "Death toll rises as anti-government protests escalate in Thailand", Times Newspapers Ltd. สืบค้นวันที่ 14 May 2010
  2. ^ 2.0 2.1 The Telegraph, Thai army to 'help voters love' the government, 18 December 2008
  3. ^ "Deadly clashes as police besiege Bangkok protesters", BBC News, 14 May 2010. สืบค้นวันที่ 16 May 2010
  4. ^ IPS, In Convoys of Red, Rural Masses Stage Historic Protest, 14 March 2010
  5. ^ คำต่อคำ“อภิสิทธิ์”, โลกวันนี้รายวัน, 14 พฤษภาคม 2553
  6. ^ เสื้อแดงคึกคัก เจาะเลือด ใช้เททำเนียบ
  7. ^ ประมวลความเคลื่อนไหวกลุ่มเสื้อแดงวันที่17มี.ค.
  8. ^ เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต21ราย พร้อมสาเหตุการเสียชีวิต ยอดบาดเจ็บ 863ราย กระจาย22รพ.
  9. ^ ผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ10เม.ย.เพิ่มอีก1รวมเป็น25ราย
  10. ^ สธ.แจง4เหตุการณ์ชุมนุมเจ็บ1,427เสียชีวิต27
  11. ^ รพ.พระมงกุฎฯยัน"พลทหาร"ตาย1ถูกยิงที่หัว กำลังเคลื่อนศพมาชันสูตร สื่อนอกอ้างตร.บอกทหารยิงกันเอง
  12. ^ รายชื่อผู้เสียชีวิตเหตุการณ์กระชับพื้นที่ย่านราชประสงค์ จาก ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
  13. ^ Democrats claim majority to form government The Nation, 7 December 2008
  14. ^ Newin embraces Abhisit, but rejecting Thaksin "was tough" The Nation, 10 December 2008
  15. ^ Abhisit poised to be PM as democrats seek house vote The Nation, 8 December 2008
  16. ^ Thai opposition 'set for power' BBC News, 10 December 2008
  17. ^ "New Thai prime minister elected", BBC news, 05:53 GMT, Monday, 15 December 2008. สืบค้นวันที่ 2008-12-15
  18. ^ เสื้อแดงย้ำชัด14มี.ค.ชุมนุมใหญ่กลางกรุง
  19. ^ รัฐพร้อมรับมือเสื้อแดงบุกกรุงรวมพล5จุดวันนี้
  20. ^ เสื้อแดงประกาศ ยุบผ่านฟ้า ไปรวมราชประสงค์
  21. ^ ยึดราชประสงค์ชุมนุมค้างคืน
  22. ^ โพสต์ทูเดย์,นปช.ทะลักเทเลือดหน้าปชป.-ทำเนียบพราหมณ์หลวงชี้พิธีแดงไม่มีในสารบบ, 16 มีนาคม พ.ศ. 2553
  23. ^ ไทยรัฐ,แดงฝ่าฝน-จนท. เทเลือดปาอึ บ้านนายกฯเละ, 17 มีนาคม พ.ศ. 2553
  24. ^ โพสต์ทูเดย์,แดงกลับผ่านฟ้าหลังเทเลือดบ้านนายกฯ-ยื่นหนังสือสถานทูตสหรัฐ, 17 มีนาคม พ.ศ. 2553
  25. ^ โอเคเนชั่น,การเทเลือด ติดอันดับ 1 Strange Protest ไปแล้ว, 31 มีนาคม พ.ศ. 2553
  26. ^ The Christian Sciene Monitor,Top 10 unusual protests, 17 มีนาคม พ.ศ. 2553
  27. ^ มติชน,สันติบาลประเมินม็อบเสื้อแดงกว่า6.5หมื่นจยย.1หมื่นกระบะ7พันคัน, 20 มีนาคม พ.ศ. 2553
  28. ^ ไทยรัฐ,เสื้อแดงทำจริง โกนผมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์, 25 มีนาคม พ.ศ. 2553
  29. ^ ผู้จัดการ,ประมวลภาพจากสื่อนอก : ชุมนุมเสื้อแดง 80,000 คน, 27 มีนาคม พ.ศ. 2553
  30. ^ ฉุนปิดสัญญาณพีทีวี "อริสมันต์"นำทีมเสื้อแดงบุกกสท.แจ้งวัฒนะ ขบวนแห่ศพทั่วกรุงฯตามไปสมทบ
  31. ^ แดงสกัดรถไฟที่ขอนแก่น อ้างขวางทหารเข้ากรุง
  32. ^ ขอนแก่นโมเดลลาม พื้นที่สีแดงสกัดตร.-ทหาร/ผู้ว่าฯชี้ช้าเกินกล่อมนปช.
  33. ^ แดงปรับมาตรการ รับมือรัฐบาล ถูกสลายใน48ชม.
  34. ^ แดงบุกสถานีไทยคมหลังสุเทพปูดปิดพีเพิลชาแนล
  35. ^ เสื้อแดงสลายพ้นไทยคมลาดหลุมแก้วแล้ว
  36. ^ เสื้อแดงสลายตัวไทยคมลาดหลุมแก้วแล้ว หลังเชื่อมต่อสัญญาณพีทีวีสำเร็จ ปะทะเดือดทหาร-ม็อบเจ็บกว่า10ราย
  37. ^ นาทีต่อนาที เหตุจลาจลเดือด เสียง"ปืน-ระเบิด"ดังสนั่น สะพานมัฆวานฯ-แยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ฯปชต.
  38. ^ ตายเพิ่มอีก1แดงปะทะเดือดจนท. ชายวัย54ถูกแก๊สน้ำตาทำระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ยอดพุ่ง21
  39. ^ สธ.แจง4เหตุการณ์ชุมนุมเจ็บ1,427เสียชีวิต27
  40. ^ ล้อมจับแกนนำ 'กี้ร์'โรยตัว หนีจากโรงแรม
  41. ^ [http://www.thaipbs.or.th/s1000 obj/front page/page/1037.html?content id=251194 ยิงM79ใส่ย่านสีลม ตาย3 เจ็บ75
  42. ^ ทหารถูกยิงตาย1หน้าอนุสรณ์สถาน สธ.เผยยอดคนเจ็บ16รายแล้ว "จตุพร"เผย"ขวัญชัย"ปลอดภัยดีปัดข่าวถูกจับ
  43. ^ รพ.พระมงกุฎฯยัน"พลทหาร"ตาย1ถูกยิงที่หัว กำลังเคลื่อนศพมาชันสูตร สื่อนอกอ้างตร.บอกทหารยิงกันเอง
  44. ^ "เสื้อแดง"แก้เกมรื้อบังเกอร์หน้ารพ.จุฬาฯ เปิดทางคนมาติดต่อ-รักษา เล็งถอนแนวป้องกันแยกชิดลม-ปทุมวัน
  45. ^ "เสื้อแดง"ยอมรื้อบังเกอร์เกาะกลางถนนรพ.จุฬาฯ เปิดให้วิ่งได้ทั้งไป-กลับ แต่ไม่ถอยกำลังไปที่แยกสารสิน
  46. ^ ป่วน! เย้ยปรองดองยิงเอ็ม79ถล่มสวนลุมตร.กราดยิงสีลมตร.ตาย2 จนท.ตำรวจ-ทหารเจ็บระนาว ปชช.โดนลูกหลงเจ็บ4
  47. ^ ยิงถล่ม เสธ.แดง ปางตาย ม็อบแตกกระเจิง
  48. ^ ด่วน!! ผู้สื่อข่าว ตปท.เผยนาที"เสธ.แดง" ถูกยิง สงสัยโดน"สไนเปอร์"ส่อง หามส่งรพ.หัวเฉียวแล้ว
  49. ^ ทหารยิงกระสุนยางไล่ม็อบระดมคนปิดทางเข้าออกสวนลุมพินี เสื้อแดงบาดเจ็บถูกหามส่งโรงพยาบาลกว่า20ราย
  50. ^ ตายแล้ว1ราย ปะทะศาลาแดง ย้ายเสธ.ไปวชิระ
  51. ^ ตึงเครียด!! เผารถบัส ตร.-ยางรถยนต์ ใกล้ปั้มน้ำมัน ทหารเคลื่อนกำลังยึดพื้นที่ถ.พระราม 4-สาทร
  52. ^ เผชิญหน้า!! ทหารยิงปืนสกัดไม่ให้ นปช.รุกคืบ หวังยึดพื้นที่คืนหน้าสนามมวยลุมพินี นปช.ยิงพลุตะไลใส่
  53. ^ ปะทะเดือด!! นปช.ถูกยิง2ราย จากเหตุยิงปะทะกันที่หน้าไนท์ บาร์ซ่าร์ ช่างภาพมติชนถูกยิงที่บริเวณขา นำตัวส่งรพ.
  54. ^ สะพัดข่าวมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย! จากเหตุปะทะที่หน้าบ่อนไก่ ทราบชื่อคือ "นายอินแตง เทศวงษ์"
  55. ^ ปะทะกันอีกรอบ!! ทหาร-เสื้อแดง ยิงเข้าใส่กันที่แยกราชปรารภ รัฐหวังยึดพื้นที่คืน นปช.ถอยร่นไปถึงประตูน้ำ
  56. ^ ทหารรุกคืบวางลวดหนามแยกบ่อนไก่อีกรอบ นปช.เผายางรถยนต์กลิ้งใส่สกัดกั้น ตายแล้ว1เจ็บ12
  57. ^ แยกบ่อนไก่เดือดไม่หยุด ส่องท้ายทอยเสื้อแดงดับทันที ทหารปักหลักประเมินสถานการณ์
  58. ^ บึ้มสนั่นเวทีราชประสงค์ม็อบเสื้อแดงกระเจิง แกนนำกำลังปราศรัยโดดหนีตาย บาดเจ็บ15คน
  59. ^ ยิงบึ้ม6ลูกซ้อนจุดตรวจทหารแยกศาลาแดง จนท.เคลื่อนรถหุ้มเกราะนปช.ต้านเดือดปืน-ระเบิดก้อง
  60. ^ ทหารยิงวัยรุ่น18 ปีขณะขี่จยย.มาตามถนนสาทร
  61. ^ ปฏิบัติการจนท.กระชับพื้นที่ชุมุนมปชช.ตาย 7 บาดเจ็บ 101 คนถูกยิง"หัว-ปาก-ท้อง"สอยช่างภาพร่วงหลายราย
  62. ^ Ten dead, 125 injured in Bangkok violence
  63. ^ ยิงรถตู้แดงแหกด่านเจ็บ 3
  64. ^ ทหารประกาศขอพื้นที่แยกประตูน้ำคืนส่งพลแม่นปืนขึ้นสะพานลอยคุ้มกัน
  65. ^ ยอดตายพุ่ง 24 บาดเจ็บ 187 เป็นต่างชาติ 5
  66. ^ สามแยกดินแดงเริ่มเดือดอีก เผายางรถเต็มท้องถนน ช่างภาพ "พีเพิล ชาแนล" ถูกยิงที่บ่อนไก่
  67. ^ ยอดเหตุปะทะล่าสุด ตาย 31 เจ็บ 261
  68. ^ ถล่มเอ็ม79 สนั่นทั้งคืน รร.ดุสิตฯ-ตึกอื้อจื่อเหลียง-พระราชานุสาวรีย์ร.6 ทหารปะทะกันเองคาดเข้าใจผิด
  69. ^ ยอดผู้เสียชีวิตเหตุปะทะ14-17พ.ค. 36 ราย เจ็บ 252 ราย
  70. ^ สื่อต่างประเทศตีข่าวทหารรุกคืบพื้นที่ผู้ชุมนุม
  71. ^ สื่อนอกระบุนักข่าวต่างชาติถูกยิง 3 รายคาดตาย1 ม็อบถูกยิง 2 ราย พบ 2 ศพถูกยิงหัวนอนนิ่งบนถ.ราชดำริ
  72. ^ จลาจลจุดไฟเผากรุงเทพฯ ตายเพิ่มอีก 6
  73. ^ แถลงยุติชุมนุม!
  74. ^ แดงประกาศ ยุติชุมนุม ระเบิดใกล้เวที
  75. ^ จลาจลจุดไฟเผากรุงเทพฯ ผงะอีก 9 ศพในวัดปทุมวนาราม
  76. ^ [1]
  77. ^ [2]
  78. ^ [3]
  79. ^ [4]
  80. ^ [http://www.ch7.com/news/news_thailand_detail.aspx?c=2&p=376&d=85027
  81. ^ เสื้อแดงตั้งเวทีย่อยรอบนอก อนุสาวรีย์-บ่อนไก่
  82. ^ "สนนท."ตั้งเวทีย่อยหน้ารามฯหวิดปะทะนศ.
  83. ^ กลุ่มคนป่วนกรุง เผาห้างดัง พารากอน-CTW
  84. ^ "มาร์ค"เสนอเลือกตั้ง14พย.5เดือนยุบสภา ชง5ข้อปรองดอง ป้องสถาบัน-ปฏิรูปปท.-สื่ออิสระ-กก.สอบข้อเท็จจริง
  85. ^ แกนนำนปช. ยื่นเงื่อนไขรบ.4ข้อ ประกาศวันยุบสภาที่ชัดเจน เลิกคุมคามเสื้อแดงทุกรูปแบบ ไม่ขอนิรโทษกรรม
  86. ^ "มาร์ค"ย้ำชัดล้มเลือกตั้ง14พ.ย. เหตุแกนนำเสื้อแดงไม่ตอบรับโรดแมป-ไม่ยอมสลายม็อบ ลุยตัดน้ำตัดไฟแน่
  87. ^ ศอฉ.เตรียมตัดระบบสาธารณูปโภครอบราชประสงค์เที่ยงคืนนี้
  88. ^ ด่วน!! ศอฉ.สั่งตัดน้ำ-ไฟ งดเดินรถไฟฟ้า-เมล์-เรือด่วนรอบม็อบเที่ยงคืนนี้!!
  89. ^ ศอฉ.ชี้ตัดระบบสาธารณูปโภคยังไม่ได้ข้อสรุป
  90. ^ ศอฉ.เปิดเกมรุก!"ตัดน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-ปิดถนน-งดบริการรถสาธารณะ"18.00น. พร้อมใช้กระสุนจริงยิง
  91. ^ ศอฉ.ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน
  92. ^ 85 ศพ "อภิสิทธิ์"อันดับ 1 นายกฯที่คนตายมากสุดจากการต่อต้าน จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอย่างน้อย 80 คน วอยซ์ทีวี, 22 พฤษภาคม 2553
  93. ^ เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต21ราย พร้อมสาเหตุการเสียชีวิต ยอดบาดเจ็บ 863ราย กระจาย22รพ.
  94. ^ บีบพื้นที่ม็อบ5วัน ตาย36ศพ บาดเจ็บ280ราย
  95. ^ กระชับพื้นที่ชุมนุม ปชช.เสียชีวิต 17ต่างชาติ 3 รายเจ็บ 157 จนท.กู้ภัยถูกยิงตาย-สอยช่างภาพร่วงหลายราย
  96. ^ "มาร์ค"ลั่นไม่ยุบสภาตามคำขู่กลุ่มเสื้อแดง
  97. ^ ศาลชี้นายกฯมีอำนาจไล่เสื้อแดงพ้นราชประสงค์
  98. ^ สร.กฟน.ขู่!! โดดร่วมวงม็อบ หากทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม
  99. ^ องค์กรสื่อต่างชาติ ประณาม"รบ.มาร์ค" ปิด"พีทีวี-36 เว็บแดง" ชี้เป็นเดิมพันที่เสี่ยง-หนุนให้เกิดความรุนแรง
  100. ^ พ.ท.คนดังโดนระเบิดบาดเจ็บ
  101. ^ "บิ๊กจิ๋ว"จี้ ยุบสภา ซัด"อภิสิทธิ์"ไร้สำนึก
  102. ^ "จาตุรนต์"บอกได้ปชต.แล้ว "ตู่"ลั่นปักหลัก ช้ กกต.สั่งยุบปชต.แค่ยกแรก นัดเผาศพวัน "มาร์ค"ยุบ
  103. ^ "แม้ว"ร่อนแถลงการณ์ซัดรัฐบาลเลือกสันติวิธีหรือรุนแรงแลกชีวิตคนกับเก้าอี้
  104. ^ แถลงการณ์สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ประณามการปราบปรามประชาชนด้วยอาวุธสงคราม
  105. ^ พธม.แถลงซัด “แม้ว” กบฏ จี้รัฐใช้ กม.จัดการ-แนะผู้รักชาติเตรียมพร้อมในที่ตั้ง
  106. ^ http://www.spt-th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=1102:2010-02-23-09-20-38&catid=85:2009-11-01-06-16-03&Itemid=2
  107. ^ กลุ่มพี่น้องมหิดลเรียกร้องเสื้อแดงยุติเจาะเลือด
  108. ^ "จตุพร"จวกกกร.ไม่มีสิทธิ์ต้านการชุมนุมเสื้อแดง
  109. ^ ท่องเที่ยวสุดทนม็อบ ทำสูญหมื่นล. นัดแสดงพลัง2เมษา
  110. ^ สื่อเทศมองชาวกทม.เหลืออดเกิดเสื้อชมพูต้านแดง
  111. ^ "เสื้อหลากสี" แสดงพลังแน่นอนุสาวรีย์ฯ อ่านแถลงการณ์ค้านรบ.ยุบสภา-ไม่เอาชุมนุมเสื้อแดง
  112. ^ ไม่เอาม็อบ
  113. ^ สหรัฐหนุนรัฐบาลเจรจาเสื้อแดง
  114. ^ สหรัฐหนุนการเจรจาในไทย ร้องแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
  115. ^ สหรัฐประณามเสื้อแดงบุกสภา
  116. ^ Thai crisis shows perils of military constitution: Suu Kyi
  117. ^ ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียร้องรัฐหยุดปราบแดง ชี้เข้าข่ายอาชญากรสงคราม
  118. ^ ฮิวแมน ไรท์ วอช"ชี้"เขตใช้กระสุนจริง"ส่อ"ละเมิดสิทธิมนุษยชน"จี้รบ.ไทยเลิก
  119. ^ จับตาสถานการณ์ "เสื้อแดงชุมนุม"
  120. ^ BTS ปิดให้บริการตลอดเส้นทาง หลังแดงขู่คว่ำขบวน
  121. ^ ขนส่ง กทม.ยังระส่ำ! BTS วิ่งเป็นช่วงๆ ใต้ดินไม่จอดสีลม ขสมก.เปลี่ยนเส้นทางอื้อ
  122. ^ การรถไฟฯ ขออภัยประชาชน เลื่อนกำหนดการเดินทดลองรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์
  123. ^ ห้างย่านราชประสงค์อ่วม
  124. ^ “เสื้อแดง”ทำค้าปลีกเจ๊งแล้ว 3 พันล้าน
  125. ^ ท่องเที่ยวอ่วม! แดงชุมนุม รายได้หดหมื่นล.
  126. ^ ชุมนุมทำท่องเที่ยวเสียหายแล้วกว่า 3.5 หมื่นล้าน
  127. ^ แฉผลตรวจตย.เลือดเสื้อแดงพบเชื้อไวรัสร้ายแรง
  128. ^ "มาลินี" เผยผลเลือดเสื้อแดงตรวจพบ เชื้อเอดส์-ไวรัส-เลือดสัตว์จริง ปัดดิสเครดิตผู้ชุมนุม
  129. ^ โพล ร.พ.ตำรวจ ระบุม็อบเสื้อแดงกระทบผู้ป่วย-ญาติ