ปฏิทินจีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปฏิทินจีน หมายถึง ปฏิทินสุริยคติหรือปฏิทินจันทรคติซึ่งชาวจีนหรือชาวต่างประเทศเชื้อสายจีนใช้ในทางราชการและการกำหนดวันสำคัญต่าง ๆ

ในการติดต่อราชการ-ธุรกิจ ชาวจีนใช้ปฏิทินสุริยคติสากลเช่นเดียวกับชาวตะวันตกและอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่การกำหนดประเพณีสำคัญจะอาศัยปฏิทินจันทรคติเป็นหลักเสมอ ปฏิทินสุริยคติจีน กำหนดให้เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ดับที่ใกล้กับวันเหมายัน หรือวันที่ซีกโลกเหนือมีกลางวันสั้นที่สุด ส่วนปฏิทินจันทรคติจีน กำหนดให้เริ่มขึ้นปีนักษัตรใหม่ในวันลี่ชุน แต่เริ่มปีใหม่ในวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันจันทร์ดับต้นฤดูใบไม้ผลิ มักอยู่ในเดือนกุมภาพันธ์หรือปลายเดือนมกราคมของทุกปี

ปฏิทินจีนยุคโบราณ[แก้]

ปฏิทินโบราณแบบหนึ่งซึ่งจัดพิมพ์ในสมัยหวงตี้เตี้ยวลี่ (จีนตัวเต็ม: 黄帝調曆; จีนตัวย่อ:黄帝调历; พินอิน: Huángdì Diàolì') เป็นปฏิทินชนิดหลายปีซึ่งมี 8 ปีปกติมาส และ 4 ปีอธิกมาส จัดเรียงกันแล้วแต่จังหวะดิถีของดวงจันทร์ที่สังเกตหรือคำนวณได้ ตั้งต้นเดือนแรกที่วันตงจื้อ อนึ่ง ปฏิทินชนิดนี้ได้มีการจัดทำมานานตั้งแต่ก่อนพุทธศักราช 3834 ปี จะต่างกันก็ตรงที่เดือนแรกของปฏิทินแตกต่างกันออกไป ย้อนกลับไปยุคราชวงศ์ซาง ปฏิทินแบบดังกล่าวก็ได้ถูกพัฒนาแล้ว แต่เขียนไว้บนกระดูกเสี่ยงทาย ในปฏิทินนั้นมีการเพิ่มเดือนอธิกมาส 1 - 2 เดือน โดยอาศัยการสังเกตเป็นหลัก ทำให้ขาดความแม่นยำ ครั้นถึงราชวงศ์โจว (หลัง) การจัดเรียงเดือนก็พัฒนาให้เป็น 29 วัน สลับกับ 30 วัน โดยอาจมีเดือนอธิกมาสเพิ่มขึ้นมาก็ได้ กระนั้นข้อมูลก็ยังยึดตามการสังเกตเป็นหลัก จนในที่สุด เทคนิคทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์สมัยยุคจ้านกว๋อ ก็ได้ทำให้ปฏิทินมีความแม่นยำสูงขึ้น ครานั้นเอง ได้มีการกำหนดให้หนึ่งปีสุริยคติมี 365¼ วัน คล้ายกับปฏิทินจูเลียน และกำหนดให้ 19 ปี มี 235 เดือน เรียกว่า วัฏจักรเมตอน (Metonic cycle)[1]

ครั้นราชวงศ์ฉิน ปฏิทินจีนก็ถูกปรับอีกครั้งหนึ่ง โดยให้วันแรกของเดือนแรกไปอยู่ที่วันจันทร์ดับของต้นฤดูหนาว แต่ถึงกระนั้นก็มีปฏิทินที่ใช้หลักเกณฑ์เดิมอันตกทอดมาแต่โบราณ ซึ่งยังมิได้เลิกใช้ ถึงกระนั้นปฏิทินเหล่านั้นก็สูญหายไปตามกาลเวลา[2] เมื่อการพิมพ์พัฒนาขึ้น ชาวจีนได้จัดพิมพ์ปฏิทินลงในสมุดกระดาษ โดยมีหลักฐานชิ้นแรก ๆ พบที่ตุนหวง (敦煌) [3][4]

การนับเวลาแบบจีนโบราณ[แก้]

ชาวจีนโบราณใช้นาฬิกาแดดและนาฬิกาน้ำเป็นเครื่องมือบอกเวลา บนนาฬิกาแดดมีช่วงแบ่งเป็น 12 ช่วง แต่ละช่วงหมายถึงหนึ่งชั่วยาม (จีนตัวย่อ: 时; จีนตัวเต็ม: 時; คำอ่าน: สือ) ซึ่งกินเวลา 2 ชั่วโมง ส่วนนาฬิกาน้ำจะแบ่งเวลา 24 ชั่วโมงออกเป็นชั่วรอยขีด (刻;เค่อ) จำนวน 100 ช่วง แต่ละช่วงกินเวลา 14 นาที 36 วินาที นอกจากนี้แล้ว ในหนึ่งวันยังแบ่งได้เป็น 10 เกิง (更) เกิงหนึ่งกินเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที และหนึ่งคืน 5 เกิง แต่ละเกิงกินเวลา 2 ชั่วโมง 24 นาที โดยหน่วยย่อยของเกิงคือเตี่ยน (จีนตัวย่อ: 点; จีนตัวเต็ม:點) ซึ่งกินเวลา 24 นาที

แผนภูมิสวรรค์-พิภพ[แก้]

ดูบทความหลักที่: แผนภูมิสวรรค์

ในปฏิทินจีน มักมีการกำหนดให้วัน เดือน ปี หรือแม้แต่ยุคประกอบไปด้วยอักษรจีนประจำ ซึ่งอักษรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของแผนภูมิสวรรค์-พิภพ อักษรประจำสวรรค์มีทั้งหมด 10 ตัว ส่วนอักษรประจำพิภพ มีทั้งหมด 12 ตัว ดังแสดงในตาราง[5]

แผนภูมิสวรรค์[แก้]

อักษรในแผนภูมิสวรรค์มี 10 ตัว โดย 2 ตัว จะมีธาตุหนึ่งประจำอยู่ ดังนี้

อักษรภาคสวรรค์
คำอ่าน เจี่ย (jiǎ) อี่ (yǐ) ปิ่ง (bǐng) ติง (dīng) อู้ (wù) จี่ (jǐ) เกิง (gēng) ซิน (xīn) เหริน (rén) กุ่ย (guǐ)
ธาตุประจำ ไม้ (木) ไฟ (火) ดิน (土) ทอง (金) น้ำ (水)

แผนภูมิพิภพ[แก้]

อักษรในแผนภูมิพิภพมี 12 ตัว แต่ละตัวแทนปีนักษัตร อนึ่ง ในช่องปีนักษัตรจีน อักษรจีนที่แสดงในวงเล็บ คือ อักษรจีนตัวย่อ ส่วนนอกวงเล็บเป็นอักษรจีนตัวเต็ม

อักษรภาคพิภพ
คำอ่าน จื่อ (zǐ) โฉ่ว (chǒu) อิ๋น (yín) หม่าว (mǎo) เฉิน (chén) ซื่อ (sì) อู่ (wǔ) เว่ย (wèi) เซิน (shēn) โหย่ว (yǒu) ซวี (xū) ฮ่าย (hài)
ปีนักษัตรจีน 龍 (龙) 馬 (马) 鷄 (鸡)
คำอ่าน สู่ (shǔ) หนิว (niú) หู่ (hǔ) ทู่ (tù) หลง (lóng) เสอ (shé) หม่า (mǎ) หยาง (yáng) โห (hóu) จี (jī) โก่ว (gǒu) จู (zhū)
ปีนักษัตรไทย ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก ระกา จอ กุน

อักษรภาคสวรรค์และพิภพสามารถนำมาจับคู่กัน ซึ่งมีคู่ที่เป็นไปได้ทั้งหมด 60 คู่ด้วยกัน ได้แก่[6]

ลำดับที่ อักษรคู่ นามปี ลำดับที่ อักษรคู่ นามปี ลำดับที่ อักษรคู่ นามปี
1 甲子 หนูไม้ (木鼠) 21 甲申 ลิงไม้ (木猴) 41 甲辰 มังกรไม้ (木龍)
2 乙丑 วัวไม้ (木牛) 22 乙酉 ไก่ไม้ (木鷄) 42 乙巳 งูไม้ (木蛇)
3 丙寅 เสือไฟ (火虎) 23 丙戌 สุนัขไฟ (火狗) 43 丙午 ม้าไฟ (火馬)
4 丁卯 กระต่ายไฟ (火兔) 24 丁亥 สุกรไฟ (火猪) 44 丁未 แพะไฟ (火羊)
5 戊辰 มังกรดิน (土龍) 25 戊子 หนูดิน (土鼠) 45 戊申 ลิงดิน (土猴)
6 己巳 งูดิน (土蛇) 26 己丑 วัวดิน (土牛) 46 己酉 ไก่ดิน (土鷄)
7 庚午 ม้าทอง (金馬) 27 庚寅 เสือทอง (金虎) 47 庚戌 สุนัขทอง (金狗)
8 辛未 แพะทอง (金羊) 28 辛卯 กระต่ายทอง (金兔) 48 辛亥 สุกรทอง (金猪)
9 壬申 ลิงน้ำ (水猴) 29 壬辰 มังกรน้ำ (水龍) 49 壬子 หนูน้ำ (水鼠)
10 癸酉 ไก่น้ำ (水鷄) 30 癸巳 งูน้ำ (水蛇) 50 癸丑 วัวน้ำ (水牛)
11 甲戌 สุนัขไม้ (木狗) 31 甲午 ม้าไม้ (木馬) 51 甲寅 เสือไม้ (木虎)
12 乙亥 สุกรไม้ (木猪) 32 乙未 แพะไม้ (木羊) 52 乙卯 กระต่ายไม้ (木兔)
13 丙子 หนูไฟ (火鼠) 33 丙申 ลิงไฟ (火猴) 53 丙辰 มังกรไฟ (火龍)
14 丁丑 วัวไฟ (火牛) 34 丁酉 ไก่ไฟ (火鷄) 54 丁巳 งูไฟ (火蛇)
15 戊寅 เสือดิน (土虎) 35 戊戌 สุนัขดิน (土狗) 55 戊午 ม้าดิน (土馬)
16 己卯 กระต่ายดิน (土兔) 36 己亥 สุกรดิน (土猪) 56 己未 แพะดิน (土羊)
17 庚辰 มังกรทอง (金龍) 37 庚子 หนูทอง (金鼠) 57 庚申 ลิงทอง (金猴)
18 辛巳 งูทอง (金蛇) 38 辛丑 วัวทอง (金牛) 58 辛酉 ไก่ทอง (金鷄)
19 壬午 ม้าน้ำ (水馬) 39 壬寅 เสือน้ำ (水虎) 59 壬戌 สุนัขน้ำ (水狗)
20 癸未 แพะน้ำ (水羊) 40 癸卯 กระต่ายน้ำ (水兔) 60 癸亥 สุกรน้ำ (水猪)

สังเกตว่า เมื่อนำอักษรภาคสวรรค์และพิภพมาจับคู่กัน จะได้เป็นอักษรคู่ซึ่งแสดงถึงปีนักษัตรและธาตุได้ ในปี พ.ศ. 2543 มีอักษรประจำปีเป็น 庚辰 อันมีความหมายเป็น 金龍 หรือมังกรทอง ส่วนปี พ.ศ. 2553 หรือ 10 ปีให้หลัง จะได้ว่าอักษรประจำปีเป็น 庚寅 ซึ่งมีความหมายว่าเสือทอง (金虎)

นอกเหนือจากการใช้อักษรภาคสวรรค์และพิภพบ่งบอกปีแล้ว ยังสามารถนำอักษรเหล่านี้ไประบุยุคได้อีกด้วย

ปฏิทินสุริยคติจีน[แก้]

บทนำ[แก้]

ปฏิทินสุริยคติจีน ยึดถือตามวันบัวลอย วันตงจื้อ หรือวันเห'มายัน ของปีหนึ่งไปจนถึงอีกปีหนึ่ง ในหนึ่งปีถูกแบ่งออกเป็น 24 ฤดูกาล แต่ละฤดูกาลหมายถึงสภาพอากาศที่แตกต่างกันออกไป ในยุคชุนชิว (179 ปีก่อนพุทธศักราช - พ.ศ. 63) ปีสุริยคติถูกกำหนดไว้ที่ 365.25 วัน[1]ในเวลาต่อมา ปฏิทินในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นบู๊เต้ได้ระบุว่าปีสุริยคติมีความยาว 365\tfrac{385}{1539}[1] ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงโดยนักทำปฏิทินอีกหลายท่าน อาทิ หลี่ฉุนเฟิ่ง (李淳风) จางสุ้ย (張遂) และกัวโส่วจิ้ง (郭守敬) ซึ่งในชั้นหลังนี้กัวโส่วจิ้งได้ปรับปรุงปฏิทินให้มีความยาวปีสั้นลงเท่ากับของปฏิทินเกรกอเรียน นั่นคือ 365.2425[1][7] โดยอาศัยงานที่เสิ่นคั่ว (沈括) ได้ทำไว้ในสาขาตรีโกณมิติเชิงทรงกลม[8][9][10] ปีสุริยคติจีนสามารถแบ่งได้เป็นระยะ แต่ละระยะจะมีอักษรภาคดิน 12 ตัว กำกับอยู่ ดังนี้

ตำแหน่งของดวงอาทิตย์ และความสัมพันธ์ที่มีต่อฤดูกาล
เดือนสุริยคติ อักษรประจำ วันที่ องศาอาทิตย์ ราศี อักษรประจำ ฤดูกาล วันที่ องศาอาทิตย์ ราศี
寅 (อิ๋น)
ต้นฤดูใบไม้ผลิต
VC, Vernal Commences เริ่มฤดูใบไม้ผลิ 3-5 กุมภาพันธ์ 315° กุมภ์ 申 (เซิน)
ต้นฤดูใบไม้ร่วง
AC, Autumn Commences เริ่มฤดูใบไม้ร่วง 7-9 สิงหาคม 135° สิงห์
VS, ฤดูฝน 18-20 กุมภาพันธ์ 330° 330-360°
มีน
EH, ปลายฤดูร้อน 22-24 สิงหาคม 150° 150-180°
กันย์
卯 (หม่าว)
กลางฤดูใบไม้ผลิ
IA, Insects Waken แมลงโบยบิน 5-7 มีนาคม 345° 酉 (โหย่ว)
กลางฤดูใบไม้ร่วง
WD, White Dew น้ำค้างขาว 7-9 กันยายน 165°
VE, Vernal Equinox วสันตวิษุวัต 20-22 มีนาคม 360°/0° 0-30°
เมษ
AE, Autumnal Equinox ศารทวิษุวัต 22-24 กันยายน 180° 180-210°
ตุล
辰 (เฉิน)
ปลายฤดูใบไม้ผลิ
BC, Bright and Clear ฟ้าโปร่งสบาย 4-6 เมษายน 15° 戌 (ซวี)
ปลายฤดูใบไม้ร่วง
CD, Cold Dew น้ำค้างเย็น 8-9 ตุลาคม 195°
CR, Corn Rain ฝนตกฉ่ำ 19-21 เมษายน 30° 30-60°
พฤษภ
FF, First Frost น่ำค้างแข็ง 23-24 ตุลาคม 210° 210-240°
พฤศจิก
巳 (สื้อ)
ต้นฤดูร้อน
SC, Summer Commences เริ่มฤดูร้อน 5-7 พฤษภาคม 45° 亥 (ไฮ่)
ต้นฤดูหนาว
WC,Winter Commences 7-8 พฤศจิกายน
CF, Corn Forms ข้าวโพดออกรวง 20-22 พฤษภาคม 60° 60-90°
เมถุน
LS, Light Snow หิมะตกเบา 22-23 พฤศจิกายน 240° 240-270°
ธนู
อู่ (午)
กลางฤดูร้อน
CE, Corn on Ear ข้าวโพดสุกพร้อมเก็บ 5-7 มิถุนายน 75° จื่อ (子)
กลางฤดูหนาว
HS, Heavy Snow หิมะตกหนัก 6-8 ธันวาคม 255°
SS, Summer Solstice ครีษมายัน 21-22 มิถุนายน 90° 90-120°
กรกฏ
WS, Winter Solstice เห'มายัน 21-23 ธันวาคม 270° 270-300°
มกร
เว่ย (未)
Late Summer
MH, Moderate Heat ร้อนพอควร 6-8 กรกฎาคม 105° โฉ่ว (丑)
Late Winter
MC, Moderate Cold หนาวพอควร 5-7 มกราคม 285°
GH, Great Heat ร้อนจัด 22-24 กรกฎาคม 120° สิงห์ GC, Great Cold หนาวจัด 20-21 มกราคม 300° กุมภ์

วันในสัปดาห์[แก้]

วันในสัปดาห์แบบจีน ซึ่งใช้ได้ในปฏิทินทุกรูปแบบ เรียกตามลำดับดังนี้[11]

วันแบบไทย วันแบบจีน
แบบปกติ แบบโหร แบบเก่า แบบที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
วันอาทิตย์ รวิวาร 日曜 รื่อเย่า (rìyào) 星期日 ซิงชีรื่อ (xīngqīrì)
วันจันทร์ จันทรวาร 月曜 เยฺว่เย่า (yuèyào) 星期一 ซิงชีอี (xīngqīyī)
วันอังคาร ภุมวาร 火曜 หั่วเย่า (huǒyào) 星期二 ซิงชีเอ้อร์ (xīngqīèr)
วันพุธ วุธวาร 水曜 สุ่ยเย่า (shuǐyào) 星期三 ซิงชีซาน (xīngqīsān)
วันพฤหัสบดี ครุวาร 木曜 มู่เย่า (mùyào) 星期四 ซิงชีสื้อ (xīngqīsì)
วันศุกร์ ศุกรวาร 金曜 จินเย่า (jīnyào) 星期五 ซิงชีอู่ (xīngqīwǔ)
วันเสาร์ โสรวาร 土曜 ถู่เย่า (tǔyào) 星期六 ซิงชีลิ่ว (xīngqīlìu)

ชื่อเดือนสุริยคติ[แก้]

ชื่อเดือนซึ่งใชีในปฏิทินสุริยคติ มักจะใช้ตัวเลขต่อด้วยคำว่า เยวฺ่ (月) ซึ่งหมายถึงเดือน[12] ตัวอย่างเช่น 一月 หมายถึงเดือนมกราคม 二月 หมายถึงเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยไปจนถึง 十二月

เดือนจีน[ม 1] คำอ่าน เดือนอย่างภารตะและไทย
一月 อีเยวฺ่ ( yīyuè) มกราคม
二月 เอ้อร์เยวฺ่ (èryuè) กุมภาพันธ์
三月 ซานเยวฺ่ (sānyuè) มีนาคม
四月 สื้อเยวฺ่ (sìyuè) เมษายน
五月 อู่เยวฺ่ (wǔyuè) พฤษภาคม
六月 ลิ่วเยวฺ่ (liùyuè) มิถุนายน
七月 ชีเยวฺ่ (qīyuè) กรกฎาคม
八月 ปาเยวฺ่ (bāyuè) สิงหาคม
九月 จิ่วเยวฺ่ (jiǔyuè) กันยายน
十月 สือเยวฺ่ (shíyuè) ตุลาคม
十一月 สืออีเยวฺ่ (shíyīyuè) พฤศจิกายน
十二月 สือเอ้อร์เยวฺ่ (shí'èryuè) ธันวาคม

อนึ่งหากใส่คำว่า ตี้ (第) ไว้ด้านหน้าตัวเลข จะทำให้ความหมายผิดไป เช่น 第二月 หมายถึงเดือนที่สอง (ของกิจกรรมหรือการกระทำอื่นใด) แทนที่จะเป็นเดือนกุมภาพันธ์

ภาวะ[แก้]

ดูบทความหลักที่: ภาวะ (ปฏิทินจีน)

ในหนึ่งปี จะมีภาวะอยู่ 24 ภาวะ (อังกฤษ:solar term; จีนตัวเต็ม:節氣; จีนตัวย่อ: 节气; พินอิน: jiéqì; คำอ่าน: เจี๋ยชี่) (มักเรียกว่า สารท แต่ไม่ถูกความหมายเสียทีเดียว)[ม 2] อันหมายถึงความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมรอบตัวในรอบปี และมักมีการเลี้ยงฉลองและบูชาบรรพบุรุษกันในแต่ละภาวะ ภาวะในปฏิทินจีนมีดังนี้

องศาดวงอาทิตย์ ภาวะ คำอ่าน ความหมาย ประมาณวันที่
315° 立春 ลี่ชุน (lìchūn) เริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ 4 กุมภาพันธ์
330° 雨水 อวี๋สุ่ย (yúshuǐ)[ม 3] น้ำฝน 19 กุมภาพันธ์
345° 驚蟄 (惊蛰) จิงเจ๋อ (jīngzhé) แมลงโบยบิน 6 มีนาคม
春分 ชุนเฟิน (chūnfēn) วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม
15° 清明 ชิงหมิง (qīngmíng) เย็นใส 5 เมษายน
30° 穀雨 (谷雨) กู๋อวี่ (gúyǔ)[ม 3] ฝนเริ่มฤดูเพาะปลูก 20 เมษายน
45° 立夏 ลี่เซี่ย (lìxià) เริ่มต้นฤดูร้อน 6 พฤษภาคม
60° 小滿 (小满) เสียวหม่าน (xiáomǎn)[ม 3] (ข้าวโพด)ออกดอก 21 พฤษภาคม
75° 芒種 (芒种) หมางจ้ง (mángzhòng) (ข้าวโพด)ออกฝัก 6 มิถุนายน
90° 夏至 เซี่ยจือ (xiàzhì) ครีษมายัน 21 มิถุนายน
105° 小暑 เสียวสู่ (xiáoshǔ)[ม 3] ร้อนพอควร 7 กรกฎาคม
120° 大暑 ต้าสู่ (dàshǔ) ร้อนมาก 23 กรกฎาคม
135° 立秋 ลี่ชิว (lìqiū) เริ่มฤดูใบไม้ร่วง 8 สิงหาคม
150° 處暑 (处暑) ฉูสู่ (chúshǔ)[ม 3] สุดฤดูร้อน 23 สิงหาคม
165° 白露 ป๋าลู่ (báilù) น้ำค้างหยด 8 กันยายน
180° 秋分 ชิวเฟิน (qiūfēn) ศารทวิษุวัต 23 กันยายน
195° 寒露 หานลู่ (hánlù) น้ำค้างเย็น 8 ตุลาคม
210° 霜降 ซวงเจี้ยง (shuāngjiàng) น้ำค้างแข็ง 23 ตุลาคม
225° 立冬 ลี่ตง (lìdōng) เริ่มฤดูหนาว 7 พฤศจิกายน
240° 小雪 เสียวเสวี่ย (xiáoxuě) [ม 3] หิมะพอควร 22 พฤศจิกายน
255° 大雪 ต้าเสวฺ่ย (dàxuě) หิมะหนัก 7 ธันวาคม
270° 冬至 ตงจื้อ (dōngzhì) เหมายัน 22 ธันวาคม
285° 小寒 เสี่ยวหาน (xiǎohán) หนาวน้อย 6 มกราคม
300° 大寒 ต้าหาน (dàhán) หนาวจัด 20 มกราคม

อนึ่ง องศาของดวงอาทิตย์ที่แสดงไว้ในตาราง จะสัมพันธ์กับโหราศาสตร์ระบบสายนะ (tropical astrology)[13] ซึ่งยึดโยงการเปลี่ยนราศีตามฤดูกาล ไม่เหมือนกับระบบนิรายนะ (sidereal astrology) ที่อาศัยจุดบนท้องฟ้ากำหนดราศี (ดู โหราศาสตร์สากล)

วันลี่ชุน เป็นภาวะหนึ่งในปฏิทินจีนซึ่งหมายถึงการเริ่มของฤดูใบไม้ผลิ และถือว่า ปีนักษัตรใหม่เริ่มต้นวันนี้ (ไม่ใช่วันตรุษจีน)

นามศักราช หรือเหนียนเฟิ่น (年份)[แก้]

ในสมัยโบราณ ชาวจีนมักเรียกปีแต่ละปีเป็นตัวเลขประกอบด้วยนามศักราช เช่น ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฮั่นบู๊เต้ ก็กำหนดให้เรียกศักราชสมัยนั้นว่า อี๋กงหยวน (隐公元) เช่น อี๋กงหยวนศก ปีที่ 1 ปีที่ 2... เป็นต้น ในเวลาต่อมา เมื่อ พ.ศ. 431 พระองค์ทรงกำหนดให้เรียกศกย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ. 404 ว่า เจี้ยนหยวนศก ปีที่ 1 ปีที่ 2 โดยลำดับ ธรรมเนียมนี้มีการรักษามาจนถึงสมัยสาธารณรัฐจีน ซึ่งกำหนดให้เรียกปีที่หนึ่งของสาธารณรัฐว่า หมินกั๋ว หรือมิ่นก๊ก (民国) ศก ปีที่ 1 และมีการใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะได้มีการนำคริสต์ศักราช (公元;กงหยวน) มาใช้แทนก็ตาม[14]

ยุคปฏิทิน[แก้]

ปฏิทินฮั่นมีระบบยุค ซึ่งกำหนดให้ 129,600 ปี แทนหนึ่งมหายุค (元;หยวน) แต่ละมหายุคจะแบ่งออกเป็น 12 จุลยุค ซึ่งกินเวลา 10,800 ปี เรียกว่า หุ้ย (会/會) เช่นเดียวกันกับหนึ่งปีที่แบ่งเป็น 12 เดือน แต่ละจุลยุค มีอักษรภาคดินประจำนับตั้งแต่ฮ่าย (亥) ไปจนถึงซวี (戌) จุลยุคสามจุลยุค รวมกันเป็นหนึ่งยุค (古;กู่) ซึ่งมีได้ดังนี้

  1. ไท่กู่ (太古) หรือบรรพยุค ประกอบด้วยจุลยุคฮ่าย (亥) จื่อ (亥) และโฉ่ว (丑) ยุคนี้เป็นยุคโลกเกิด (天地之分;เทียนตี้จือเฟิน)
  2. ซ่างกู่ (上古) หรืออดีตยุค ประกอบด้วยจุลยุคอิ๋น (寅) เหม่า (卯) และเฉิน (辰) ยุคนี้เป็นยุคโลกโต (天地之化;เทียนตี้จือฮั่ว)
  3. จงกู่ (中古) หรือปัจจุบันยุค ประกอบด้วยจุลยุคสื้อ (巳) อู่ (午) และเว่ย (未) ยุคนี้เป็นยุคโลกโทรม (天地之关;เทียนตี้จือกวน)
  4. เซี่ยกู่ (下古) หรืออนาคตยุค ประกอบด้วยจุลยุคเซิน (申) โหย่ว (酉) และซวฺ (戌) ยุคนี้เป็นยุคโลกสิ้น (天地之合;เทียนตี้จือเหอ)

นอกจากนี้ หนึ่งจุลยุค แบ่งออกได้เป็น 30 รอบใหญ่ แต่ละรอบใหญ่มี 12 รอบน้อย รอบน้อยหนึ่งกินเวลา 30 ปี

ปฏิทินจันทรคติจีน[แก้]

เดือน[แก้]

ปฏิทินจันทรคติจีนเป็นปฏิทินจันทรคติอย่างที่ใช้กำหนดวันสำคัญต่าง ๆ ตามประเพณีจีน ในหนึ่งปีปฏิทินมีสิบสองเดือน แต่ละเดือนอาจมี 29 หรือ 30 วันแล้วแต่จังหวะของดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลก ซึ่งเดือนที่มี 29 วัน เรียกว่า เดือนขาด (小月; พินอิน: xiǎo yuè; คำอ่าน: เสี่ยวเยวฺ่) ส่วนเดือนที่มี 30 วัน เรียกว่า เดือนเต็ม (大月; พินอิน: dàyuè; คำอ่าน: ต้าเยวฺ่)[ม 1] การกำหนดว่าเดือนใดเป็นเดือนเต็มหรือขาด มักจะอาศัยผลการคำนวณวันจันทร์ดับทางดาราศาสตร์ที่ทำไว้ดีแล้ว โดยนับวันจันทร์ดับของเดือนหนึ่งเป็นดิถีที่หนึ่ง จนถึงวันก่อนวันจันทร์ดับถัดไป ซึ่งจะได้ 29 หรือ 30 วัน ตัวอย่างเช่น ปี พ.ศ. 2559 ขณะยังเป็นปีมะแม เดือน 12 วันจันทร์ดับกำหนดที่วันที่ 10 มกราคม เวลา 9:30 และวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 22:39 จากนั้น ให้นับ 1 ที่วันที่ 10 มกราคม จนสุดที่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ได้ทั้งหมด 29 วัน ได้ว่าเดือนดังกล่าวเป็นเดือนขาด

ส่วนการกำหนดเลขเดือน จะต้องให้วันวสันตวิษุวัต อุตรายัน ศารทวิษุวัต และทักษิณายัน อยู่ภายในเดือนจันทรคติที่ 2, 5, 8 และ 11 ตามลำดับเสมอไป หากจำเป็น จะต้องเติมเดือนอธิกมาสลงในปฏิทินข้างต้น โดยถือว่าเดือนที่ไม่มีภาวะเลขคู่ (เช่น อวี๋สุ่ย ชุนเฟิน กู๋อวี่,..., ต้าหาน) เป็นเดือนอธิกมาส ใช้ลำดับเลขเหมือนของเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้เพื่อมิให้วันตรุษจีนต้องผิดไปจากเดิมมากนัก[15][16]

จากข้อมูลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้กำหนดวันที่ซึ่งดวงจันทร์มีดิถีต่าง ๆ กัน[17][18] เราสามารถคำนวณว่า เดือนใดขาด เดือนใดเต็ม ได้ตามวิธีการข้างบน ดังตารางต่อไปนี้[19]

เดือน/ปี วันและเวลาจันทร์ดับ (มาตรฐานประเทศจีน) วันก่อนวันจันทร์ดับถัดไป จำนวนวัน ประเภทเดือน
12 ปีมะเมีย 20 มกราคม พ.ศ. 2558 21:14 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 30 เต็ม
1 ปีมะแม 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 07:47 19 มีนาคม พ.ศ. 2558 29 ขาด
2 20 มีนาคม พ.ศ. 2558 17:36 18 เมษายน พ.ศ. 2558 30 เต็ม
3 19 เมษายน พ.ศ. 2558 02:57 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 29 ขาด
4 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 12:13 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558 29 ขาด
5 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 22:05 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 30 เต็ม
6 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 09:24 13 สิงหาคม พ.ศ. 2558 29 ขาด
7 14 สิงหาคม พ.ศ. 2558 22:54 12 กันยายน พ.ศ. 2558 30 เต็ม
8 13 กันยายน พ.ศ. 2558 14:41 12 ตุลาคม พ.ศ. 2558 30 เต็ม
9 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 08:06 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 30 เต็ม
10 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 01:47 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558 29 ขาด
11 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 18:29 9 มกราคม พ.ศ. 2559 30 เต็ม
12 10 มกราคม พ.ศ. 2559 09:30 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 29 ขาด
1 ปีวอก 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 22:39 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 30 เต็ม
2 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 09:54 6 เมษายน พ.ศ. 2559 29 ขาด
3 7 เมษายน พ.ศ. 2559 19:24 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 30 เต็ม
4 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 03:30 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559 29 ขาด
5 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559 11:00 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 29 ขาด
6 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 19:01 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559 30 เต็ม
7 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559 04:45 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 29 ขาด
8 1 กันยายน พ.ศ. 2559 17:03 30 กันยายน พ.ศ. 2559 30 เต็ม
9 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 08:12 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559 30 เต็ม
10 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559 01:38 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 29 ขาด
11 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 20:18 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559 30 เต็ม
12 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559 14:53 27 มกราคม พ.ศ. 2560 30 เต็ม
1 ปีระกา 28 มกราคม พ.ศ. 2560 08:07 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 29 ขาด
2 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 22:58 27 มีนาคม พ.ศ. 2560 30 เต็ม
3 28 มีนาคม พ.ศ. 2560 10:57 25 เมษายน พ.ศ. 2560 29 ขาด
4 26 เมษายน พ.ศ. 2560 20:16 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 30 เต็ม
5 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 03:44 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560 29 ขาด
6 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 10:31 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 29 ขาด
6/6 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 17:46 21 สิงหาคม พ.ศ. 2560 30 เต็ม
7 22 สิงหาคม พ.ศ. 2560 02:30 19 กันยายน พ.ศ. 2560 29 ขาด
8 20 กันยายน พ.ศ. 2560 13:30 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560 30 เต็ม
9 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560 03:12 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 29 ขาด
10 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 19:42 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560 30 เต็ม
11 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 14:31 16 มกราคม พ.ศ. 2561 30 เต็ม
12 17 มกราคม พ.ศ. 2561 10:18 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561[ม 4] 30 เต็ม

ระวัง เวลาที่แสดงในข้อมูลต้นฉบับเป็นเวลาสากลเชิงพิกัด ดังนั้นจะต้องแปลงเป็นเวลามาตรฐานประเทศจีนเสียก่อน โดยเอา 8 บวกชั่วโมง แล้วจึงคำนวณ

เมื่อทราบความยาวแต่ละเดือนแล้ว ก็เรียงดิถีตั้งแต่ 1 ถึง 29 หรือ 30 (คล้ายดิถีตลาดในปฏิทินไทย) ตั้งแต่วันจันทร์ดับไปถึงวันก่อนวันจันทร์ดับถัดไป ในปฏิทินจีน วันต้นเดือนมักจะระบุว่าเดือนใดขาดหรือเต็ม เช่น เดือน 2 ปีมะแม จากตารางเป็นเดือนขาด ก็เขียน 二小月 ที่วันต้นเดือนเป็นต้น ในเดือนดังกล่าว ก็ให้กำหนดวันที่ 1 เป็นวันที่ 9 มีนาคม นับไปจนถึงวันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่ 29 วันต่อจากนั้นก็ขึ้นเดือน 3 ทำซ้ำเช่นนี้จนครบปฏิทินตามความต้องการ

จากตาราง อาจสังเกตได้ว่า ปี พ.ศ. 2561 มีเดือนหกสองครั้ง[15]

ชื่อเดือน[แก้]

ชื่อเดือนในปฏิทินจันทรคติจีน คล้ายกับที่ใช้ในปฏิทินสุริยคติ แต่ต่างกันที่เดือนแรกและเดือนสุดท้าย ซึ่งใช้ชื่อ 正月 (เจิงเยฺว่) และ 腊月 (ล่าเยว่) ตามลำดับ

ดิถี[แก้]

ในแต่ละเดือน จะมีส่วนย่อยเป็นดิถี หรือวันจันทรคติ นับตั้งแต่หนึ่งไปจนถึงวันสิ้นเดือน วันที่ในปฏิทินจีน เรียงลำดับจากวันที่หนึ่ง ไปจนถึงวันที่สามสิบ ได้ดังนี้[ม 5]

วันที่ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า หก เจ็ด แปด เก้า สิบ สิบเอ็ด สิบสอง สิบสาม สิบสี่ สิบห้า
อักษรจีน 初一 初二 初三 初四 初五 初六 初七 初八 初九 初十 十一 十二 十三 十四 十五
คำอ่าน ชูอี (Chūyī) ชูเอ้อร์ (Chūèr) ชูซาน (Chūsān) ชูสื้อ (Chūsì) ชูอู่ (Chūwǔ) ชูลิ่ว (Chūlìu) ชูชี (Chūqī) ชูปา (Chūbā) ชูจิ่ว (Chūjǐu) ชูสือ (Chūshí) สืออี (Shíyī) สือเอ้อร์ (Shíèr) สือซาน (Shísān) สือสื้อ (Shísì) สืออู่ (Shíwǔ)
วันที่ สิบหก สิบเจ็ด สิบแปด สิบเก้า ยี่สิบ ยี่สิบเอ็ด ยี่สิบสอง ยี่สิบสาม ยี่สิบสี่ ยี่สิบห้า ยี่สิบหก ยี่สิบเจ็ด ยี่สิบแปด ยี่สิบเก้า สามสิบ
อักษรจีน 十六 十七 十八 十九 二十 廿一 廿二 廿三 廿四 廿五 廿六 廿七 廿八 廿九 三十
คำอ่าน สือลิ่ว (Shílìu) สือชี (Shíqī) สือปา (Shíbā) สือจิ่ว (Shíjǐu) เอ้อร์สือ (Èrshí) เนี่ยนอี (Niànyī) เนี่ยนเอ้อร์ (Niànèr) เนี่ยนซาน (Niànsān) เนี่ยนสื้อ (Niànsì) เนี่ยนอู่ (Niànwǔ) เนี่ยนลิ่ว (Niànlìu) เนี่ยนชี (Niànqī) เนี่ยนปา (Niànbā) เนี่ยนจิ่ว (Niànjǐu) ซานสือ (Sānshí)

โดยกำหนดให้วันที่หนึ่ง ของเดือนเจิง หรือเดือนอ้ายจีน เป็นวันตรุษจีน อนึ่ง การนับดิถีแบบจีนจะยึดเป็นวัน ๆ ไป โดยมิได้คำนึงถึงวันทางจันทรคติแท้จริง ซึ่งการนับลักษณะนี้คล้ายกับดิถีตลาดในปฏิทินไทย

ดูเพิ่ม[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

  1. 1.0 1.1 เครื่องหมายพินทุจุด มีไว้เพื่อแสดงการควบเสียง อนึ่งคำ 月 (เดือน, พระจันทร์, รากศัพท์ของศัพท์หมวดเนื้อและอวัยวะ) ออกเสียง ยู - เอ้ อย่างเร็วจนเป็นพยางค์เดียว หรือ เย่ แต่ห่อปาก
  2. สารท/ศารท หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง และงานฉลองในฤดูใบไม้ร่วง ส่วน ภวะ แปลว่า ความเป็นไป
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 เสียงวรรณยุกต์ที่สาม (เทียบเท่าเสียงเอก) ติดกัน เปลี่ยนเสียงต้นเป็นเสียงวรรณยุกต์ที่สอง (เทียบเท่าเสียงจัตวา) เพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้น
  4. ตามปฏิทินดาราศาสตร์สากลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติฯ (และที่คำนวณตามสูตรของ Jean Meeus ใน Astronomical Algorithm) วันจันทร์ดับตรงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 05:06 น. จะทำให้ได้ว่าเดือนนี้มี 31 วัน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จำต้องตัดเหลือ 30 วันแล้วเดินปฏิทินไปตามปกติ
  5. เลขหนึ่งจีน 一 เมื่ออยู่โดด ๆ ออกเสียง อี/ยี แต่เมื่อประกอบเป็นคำ มักออกเสียง อี้/ยี่ ยกเว้นต่อท้ายด้วยเสียงวรรณยุกต์ที่สี่ (‘) จึงจะออกเสียง อี๋/หยี

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Deng, Yingke. (2005). Ancient Chinese Inventions. Translated by Wang Pingxing. Beijing: China Intercontinental Press (五洲传播出版社). ISBN 7-5085-0837-8. Page 67.
  2. Cullen, Atronomy and Methematics in Ancient China. Cambridge, 1996.
  3. Needham, Joseph. (1986). Science and Civilization in China: Volume 5, Chemistry and Chemical Technology, Part 6, Missiles and Sieges. Cambridge University Press., reprinted Taipei: Caves Books, Ltd.(1986). Page 151.
  4. Ebrey, Patricia Buckley (1999). The Cambridge Illustrated History of China. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-66991-X (paperback). Pages 124-125.
  5. ตั้งกวงจือ. ตำราเรียนหัวใจฮวงจุ้ย. กรุงเทพฯ:ฮวงจุ้ยกับชีวิต, 2549
  6. โปรดดูเพิ่มเติมที่ [1]
  7. Asiapac Editorial. (2004). Origins of Chinese Science and Technology. Translated by Yang Liping and Y.N. Han. Singapore: Asiapac Books Pte. Ltd. ISBN 981-229-376-0, p. 132.
  8. Needham, Joseph. (1959). Science and Civilization in China: Volume 3, Mathematics and the Sciences of the Heavens and the Earth. Cambridge University Press., reprinted Taipei: Caves Books, Ltd.(1986), pp. 109–110.
  9. Ho, Peng Yoke. (2000). Li, Qi, and Shu: An Introduction to Science and Civilization in China. Mineola: Dover Publications. ISBN 0-486-41445-0. p. 105.
  10. Restivo, Sal. (1992). Mathematics in Society and History: Sociological Inquiries. Dordrecht: Kluwer Academic Publishers. ISBN 1-4020-0039-1. p. 32.
  11. Days of the Week in Chinese: Three Different Words for 'Week'
  12. Chinese-Word.com. 12 months
  13. Christopher Warnock, Esq. Tropical, Sidereal & Constellational Zodiacs: The Power of World View เผยแพร่ที่ http://www.renaissanceastrology.com วันที่ค้นข้อมูล 23 ธันวาคม 2557
  14. Aslaksen, p. 38.
  15. 15.0 15.1 "ปฏิทินจีน พ.ศ. 2445 - 2643 Gregorian-Lunar Calendar Conversion Table 1901-2100". Hong Kong Observatory. 20 Dec 2012. สืบค้นเมื่อ 19 Feb 2015. 
  16. "The Essence of the Chinese Calendar". chinesefortunecalendar.com. สืบค้นเมื่อ 19 Feb 2015. 
  17. NASA. Phases of the Moon 2001 - 2025
  18. "Lunar calendar for 2018 year". lunaf.com. 
  19. ผลการคำนวณตรวจสอบแล้วบางส่วน จาก chinesenewyear.info วันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีนของทุกปี ต้องเป็นวันตรุษจีนเสมอไป