คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คณะนิติศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Thammasat logo.gif.jpg
เจ้าพระยาไม่ขาดสาย
นิติฯ โดมไม่ขาดธรรม
บัณฑิตโดมต้องมุ่งนำ
ความยุติธรรมสู่สังคม

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] [4] มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ และมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองของราชอาณาจักรหลายครั้งหลายครา กับทั้งได้สนองความต้องการของสังคมตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอมา ปัจจุบันคงเปิดดำเนินการและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

ตึกโดมและอนุสาวรีย์ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นจากการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่ครั้งมีพระยศที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียนอันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระนั้นก็ได้มีแจ้งความของโรงเรียนเกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายนั้นได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการย้ายไปทำการเรียนการสอนยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม

พ.ศ. 2453 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้นโรงเรียนกฎหมายก็ทรุดโทรมตามลำดับ และต้องไปเปิดทำการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็ก ๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีนซึ่งบัดนี้ทำลายลงเสียแล้ว

พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับโรงเรียนกฎหมายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียนนี้ โดยสถานที่เรียนนั้นย้ายมายังตึกกรมประชาสัมพันธ์เดิมบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา

พ.ศ. 2475 เมื่อมีการปฏิวัติสยามโดยคณะราษฎร รัฐบาลได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ไปสมทบกับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน ปีนั้นเอง ครั้งนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้การเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมาย เป็นแผนกวิชาหนึ่งในคณะดังกล่าว โดยผู้สำเร็จหลักสูตรนิติศาสตร์ได้รับเพียงประกาศนียบัตร หากต้องการเป็นเนติบัณฑิตต้องไปสมัครเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาอีกชั้นหนึ่ง อนึ่ง ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะดังกล่าวขึ้นใหม่ โดยแยกออกเป็นคณะรัฐศาสตร์คณะหนึ่ง และคณะนิติศาสตร์อีกคณะหนึ่ง ทั้งนี้ การโอนไปสมทบดังกล่าวเป็นแต่ทางนิตินัย ทว่าโดยพฤตินัยแล้ว ยังคงจัดการเรียนการสอนยังคงอยู่ที่เชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม[5]

พ.ศ. 2476 พลเอก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปีนั้น และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกัน[4] โดยความสำคัญว่า

Cquote1.svg

มาตรา 4 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่น ๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง

มาตรา 5 ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านั้นมาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ก่อนวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477

Cquote2.svg
ตึกคณะนิติศาสตร์ มธ.ศูนย์รังสิต

เมื่อแรกสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ไม่ได้มีการแยกเป็นคณะ ๆ ต่าง ๆ ดังปัจจุบัน หากมีแต่การเรียนการสอนที่เรียกว่า "ธรรมศาสตรบัณฑิต" อักษรย่อว่า "ธ.บ." จัดการเรียนการสอนแต่วิชาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476

พ.ศ. 2492 วันที่ 14 มิถุนายน ปีนั้น ได้มีการแยกหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตออกเป็นคณะวิชาสี่คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี การศึกษาระดับปริญญาตรีมีสี่ปี นอกจากนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ก็ได้รับการปรับปรุงโดยให้เริ่มวิชาภาษาต่างประเทศและเน้นหนักไปในทางปฏิบัติให้เหมาะสมแก่การประกอบ

พ.ศ. 2496 การศึกษาตามหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตเดิมได้เลิกไปเป็นการถาวร

พ.ศ. 2512 คณะนิติศาสตร์เริ่มสร้างอาจารย์ประจำคณะ โดยดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์ประจำ และได้จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับส่งอาจารย์ไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ในระดับสูงในต่างประเทศ ในระยะเริ่มต้นคณะได้จัดสรรทุนธรรมศาสตร์และทุนจากสมาคมธรรมศาสตร์ให้แก่อาจารย์คณะนิติศาสตร์เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกโดยมีวัตถุประสงค์ให้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ ซึ่งในระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา คณะก็ได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ทุน ก.พ. ทุนโอเซี่ยนนิคและสุวรรณมาศ ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส ทุนอานันทมหิดล สาขาธรรมศาสตร์ เป็นต้น

พ.ศ. 2514 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอีกครั้ง โดยนำระบบหน่วยกิตและการวัดผลแบบใหม่เข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย ยังผลให้หลักสูตรทั้งปวงของคณะนิติศาสตร์ก็ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบบของมหาวิทยาลัย เว้นแต่วิธีการวัดผลการศึกษาซึ่งยังใช้ระบบคะแนนดังเดิม โดยถือเป็นเพียงคณะเดียวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้ระบบคะแนนเฉลี่ย ไม่ใช่ระบบเกรดเฉลี่ย

พ.ศ. 2515 คณะนิติศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากสาขาอื่นมาแล้ว เรียกว่า "หลักสูตรชั้นปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต" โดยเข้าศึกษาเฉพาะวิชาบังคับ ตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีชั้นปีที่สอง ปีที่สาม และปีที่สี่ ของคณะนิติศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้มีศักดิ์และสิทธิเป็น "นิติศาสตรบัณฑิต" แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอกันกับผู้สำเร็จหลักสูตรปรกติ

พ.ศ. 2549 ผลจากมติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ได้ทำการย้ายการเรียนการสอนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ ทั้งหมดมาทำการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดย นักศึกษา รหัส 4901XXXXXX ถือเป็นรหัสแรกที่ต้องศึกษา ณ ศูนย์รังสิต ตลอดหลักสูตรการศึกษา เว้นแต่ภาคฤดูร้อนที่ต้องกลับไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

พ.ศ. 2552 คณะนิติศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นรุ่นแรก ตามนโยบายการกระจายการศึกษาวิชานิติศาสตร์สู่ท้องถิ่น ในเบื้องต้นเปิดรับนักศึกษาจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 200 คน โดยรับด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกตรง(สอบตรง) จากผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ จำนวน 150 คน และผ่านระบบรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศอีก 50 คน และในปีเดียวกันนี้ได้ปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางลงด้วย[6]

ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงเปิดดำเนินการและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นคณะในสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นอันดับที่สองของประเทศโดยรองจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[7][8][9][10]

[แก้] การบริหาร

[แก้] ทำเนียบคณบดี

ทำเนียบคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[11]
ชื่อ ระยะเวลาอยู่ในตำแหน่ง
1. นิติศาสตรไพศาล (วัน จามรมาน), ศาสตราจารย์ พระยา พ.ศ. 2492พ.ศ. 2496
2. ลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงศ์ ลัดพลี), ศาสตราจารย์ พระยา พ.ศ. 2496พ.ศ. 2503
3. อรรถการีนิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์), ศาสตราจารย์ พระยา พ.ศ. 2503พ.ศ. 2511
4. สัญญา ธรรมศักดิ์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2511พ.ศ. 2514
5. จิตติ ติงศภัทิย์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2514พ.ศ. 2517
6. ผู้รักษาการแทนคณบดี พ.ศ. 2517พ.ศ. 2518
7. ปรีดี เกษมทรัพย์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2518พ.ศ. 2519
8. ผู้รักษาการแทนคณบดี พ.ศ. 2519พ.ศ. 2521
9. มานะ พิทยาภรณ์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2521พ.ศ. 2522
10. ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2522พ.ศ. 2525
11. เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์,รองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2525พ.ศ. 2527
12. ปรีชา สุวรรณทัต, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ศ. 2527พ.ศ. 2529
13. พนัส ทัศนียานนท์, อาจารย์ พ.ศ. 2529พ.ศ. 2531
14. ประธาน วัฒนวาณิชย์, รองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2531พ.ศ. 2534
15. สมยศ เชื้อไทย, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ศ. 2534พ.ศ. 2540
16. สุธีร์ ศุภนิตย, รองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2540พ.ศ. 2541
17. พนม เอี่ยมประยูร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พ.ศ. 2541พ.ศ. 2544
18. สุรพล นิติไกรพจน์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2544พ.ศ. 2547
19. กำชัย จงจักรพันธ์, รองศาสตราจารย์ พ.ศ. 2547พ.ศ. 2550
20. สมคิด เลิศไพฑูรย์, ศาสตราจารย์ พ.ศ. 2550—ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีและผู้รักษาการแทนคณบดีเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะรับตำแหน่ง

[แก้] ภาควิชา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยภาควิชาดังต่อไปนี้

และประกอบไปด้วยสาขาวิชาที่ยังมิได้เป็นภาควิชาดังต่อไปนี้

[แก้] ศูนย์หรือสถาบันศึกษากฎหมายเฉพาะทาง

คณะนิติศาสตร์ ได้จัดให้มีศูนย์หรือสถาบันศึกษากฎหมายเฉพาะทาง ดังนี้

[แก้] สำนักงานเลขานุการ

สำนักงานเลขานุการคณะนิติศาสตร์ มีหน่วยงานทั้งสิ้น 5 หน่วยงาน

  • งานบริหารและธุรการ
  • งานบริการการศึกษา
  • งานคลังและพัสดุ
  • งานบริการทางวิชาการและวิจัย
  • งานธุรการศูนย์รังสิต

และเพิ่มหน่วยงานภายในอีก 3 หน่วยงาน รวมเป็น 8 หน่วยงาน

  • งานวิเทศสัมพันธ์
  • งานศูนย์จัดการศึกษาและฝึกอบรมด้านกฎหมาย (Letec)
  • สำนักงานคณะนิติศาสตร์ศูนย์ลำปาง


[แก้] หน่วยงานอื่น

นอกจากหน่วยงานที่ตอบสนองภารกิจพื้นฐานของคณะนิติศาสตร์แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นอีก 3 หน่วยงาน คือ

[แก้] สัญลักษณ์

พระพุทธโลกนิติธรรมเทสก์
  • ตรา - ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตราธรรมจักร มีรัฐธรรมนูญใส่พานอยู่ตรงกลาง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509[12]
  • ธง - ธงประจำคณะนิติศาสตร์ใช้ธงสีเดียวกันกับธงมหาวิทยาลัย คือ ธงสีเหลือง แต่เพิ่มคำว่า "คณะนิติศาสตร์" เข้าไปในธรรมจักร
  • สี - สีขาวเป็นสีประจำคณะนิติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ถึงความสะอาดบริสุทธิ์และอวมลทิน ทั้งนี้ ชุดครุยคณะนิติศาสตร๋ใช้แถบสีขาวเป็นแถบครุย
  • สัญลักษณ์ - ตราชูหรือดุลพ่าห์เป็นสัญลักษณ์อย่างไม่เป็นทางการของคณะนิติศาสตร์ หมายถึง เครื่องนำพาไปซึ่งความเที่ยงตรง
  • สัตว์สัญลักษณ์ - เสือเหลืองเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของคณะ แสดงถึงความสง่างาม การรักษาเกียรติยศ หลงใหลในความยุติธรรม รักสันโดษ พลังอำนาจ ความน่าเกรงขาม และความเป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า เสือเป็นผู้คานอำนาจการปกครองกับสิงห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคณะรัฐศาสตร์ การใช้สัตว์ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์นี้มีที่มาจากการแข่งขันกีฬาของทั้งสองคณะที่เรียก "กีฬาประเพณีเสือเหลือง-สิงห์แดง"

[แก้] การเรียนการสอน

[แก้] หลักสูตร

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยการเรียนการสอนตามหลักสูตรดังต่อไปนี้[15]

[แก้] การอบรม

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดให้มีการอบรมความรู้ด้านกฎหมายเฉพาะด้านหลายโครงการแก่บุคคลทั่วไปหรือผู้สนใจ ซึ่งประกอบไปด้วย

  • โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน
  • โครงการอบรมกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
  • โครงการอบรมภาษาอังกฤษสำหรับนักฎหมายระดับพื้นฐาน
  • โครงการอบรมภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายระดับเฉพาะทาง
  • โครงการอบรมประกาศนียบัตรกฎหมายธุรกิจสำหรับบุคคลทั่วไป
  • โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

เป็นต้น

[แก้] ปริญญาตรี

นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) สาขาวิชานิติศาสตร์ (Bachelor of Laws Programme : LL.B)[16] คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องโดยเน้นลักษณะวิชาที่จำเป็นสำหรับวิชาชีพนิติศาสตร์และปรับปรุงให้เข้ากับสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยได้มีการเพิ่มวิชากฎหมายแพ่ง: หลักทั่วไป นิติปรัชญา หลักวิชาชีพนักกฎหมาย และกฎหมายแรงงานเข้าไว้ในหลักสูตรด้วย ส่วนวิชาซึ่งเคยศึกษาตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตรนิติศาสตร์ ก็ได้ปรับปรุงให้มีเนื้อหาของวิชากว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อให้มีความสมดุล ทั้งทางด้านวิชาการและการฝึกฝนอบรมวิชาชีพนักกฎหมาย โดยนอกจากวิชาเฉพาะด้านแล้ว สำหรับหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ ได้เปิดให้มีการศึกษาวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ เพื่อขอรับประกาศนียบัตรความรู้เฉพาะด้านในสาขากฎหมายใดสาขาหนึ่งตามข้อกำหนดของคณะนิติศาสตร์ ซึ่งจะจัดให้มีการศึกษาความรู้เฉพาะด้านใน 4 สาขา ดังนี้

ทั้งนี้หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ได้เปิดบรรยายดังต่อไปนี้

  • ภาคปกติ หลักสูตร 4 ปี (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย)
    • การสอบคัดเลือกผ่าน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.)
    • โครงการสอบคัดเลือกตรง (คณะนิติศาสตร์จัดสอบคัดเลือกเอง) ณ ศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปาง
    • โครงการนักศึกษาผู้พิการ
    • โครงการเรียนดีจากชนบท
    • โครงการจัดส่งนักศึกษาชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม จังหวัดชายแดนภาคใต้
    • โครงการนักศึกษาผู้มีความสามารถดีเด่นในการกีฬา
    • โครงการนักศึกษาเรียนดีเด่น
  • ภาคบัณฑิต หลักสูตร 3 ปี (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ ยกเว้นสาขานิติศาสตร์)
    • โครงการนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต

[แก้] ประกาศนียบัตรบัณฑิต

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับนิติศาสตรบัณฑิต โดยมิได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระดับปริญญาโท หากแต่เป็นโครงการที่มีลักษณะเฉพาะที่สมบูรณ์ในตัวเอง การศึกษาตามโครงการนี้จะเน้นให้ศึกษาได้มีความรู้ ทั้งทางด้านกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติที่เป็นอยู่โดยจะศึกษาทั้งทางด้านทฤษฎีควบคู่กับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่องในทางปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย

[แก้] ปริญญาโท

นิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.) (Master of Laws Programme : LL.M)[17] คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทโดยเกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2477 และได้ปรับปรุงหลักสูตรนี้โดยตลอด การปรับปรุงครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2544 โดยประกอบไปด้วยสาขาวิชาดังต่อไปนี้

  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตร 2 ปีครึ่ง ไม่เกิน 4 ปี (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต) เปิดรับสมัคร 8 สาขา ดังนี้
  • หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ดังนี้
    • Master of Laws Program in Business Laws (English Programme)
  • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Arts Programme : M.A.) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต หรือปริญญาบัณฑิตอื่น ดังนี้
    • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตด้านกฎหมายมหาชน (Public Law)
    • หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขานิติเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ

[แก้] ปริญญาเอก

นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (น.ด.) (Doctor of Laws Programme : LL.D.) เช่นเดียวกันกับหลักสูตรปริญญาโท หลักสูตรปริญญาเอกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เปิดสอนเป็นสถาบันแรกของประเทศไทยเช่นเดียวกัน และได้จัดการเรียนการสอนตลอดมา และได้มีการปรับปรุงหลักสูตรในปี พ.ศ. 2539 โดยผู้สมัครเป็นผู้เสนอหัวข้อให้บัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ เป็นผู้พิจารณาวิทยานิพนธ์ เป็นต้น

[แก้] ความร่วมมือทางวิชาการ

ปัจจุบันคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีความสัมพันธ์ในด้านความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษานิติศาสตร์ในต่างประเทศหลายสถาบัน เช่น


[แก้] กิจกรรมนักศึกษา

[แก้] กิจกรรมประจำ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดระบบกิจกรรมนักศึกษาโดยให้นักศึกษามีอิสระในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมหลัก ทั้งนี้ยังประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ภายในคณะอีกด้วยที่มีคณะกรรมการนักศึกษาฯ เป็นผู้ประสานงาน

โดยกิจกรรมหลักในแต่ละปีการศึกษาประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้เป็นต้น

  • วันแรกพบ และรับเพื่อนใหม่คณะนิติศาสตร์
  • Nitiday โดยเป็นกิจกรรมสำหรับสานความสัมพันธ์ภายในคณะสำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี
  • ไหว้ครูนิติศาสตร์ โดยเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณและทำบุญอุทิศแด่บูรพคณาจารย์นิติศาสตร์
  • นิติสัมพันธ์ โดยเป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์กับคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วังหน้า-วังหลัง โดยเป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Shaking Law กิจกรรมตอบแทนเพื่อนเก่าผู้มาก่อน โดยเพื่อนใหม่ที่มาทีหลัง
  • งานประกวดโต๊ะกลุ่ม และดาวเดือน
  • งานประกวดร้องเพลงมหาวิทยาลัยภายในคณะ
  • ละคอนเวทีคณะนิติศาสตร์
  • วันรพี
  • จุลสารจุลศาล (Microcourt)
  • หนังสือพิมพ์ฎีกา

และยังประกอบด้วยกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เป็นต้นว่า

  • สันทนาการคณะนิติศาสตร์
  • โครงการค่ายเปิดประตูสู่นิติศาสตร์ (Precamp)
  • โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ (คพน.)
  • กลุ่มศึกษากฎหมายภาคปฏิบัติ (กศป.)
  • วารสารนิติศาสตร์
  • Law Students Club
  • ศาลจำลอง (Moot Court)
  • ค่ายเทียน ณ สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี
  • ค่ายอาสาพัฒนาชนบท คณะนิติศาสตร์ ซึ่งในหนึ่งปีจะมีอย่างน้อย 3 ค่าย โดย 3 กลุ่มกิจกรรม
  • กลุ่มนักร้องประสานเสียงคณะนิติศาสตร์
  • TILSA (Thammasat International Legal Scholars Association)
  • สโมสรฟุตบอลคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[แก้] เครือข่ายนักศึกษา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นภาคีสมาชิกองค์การต่อไปนี้

ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการ

[แก้] กิจกรรมเด่น

ลานสัญญา ธรรมศักดิ์ สถานที่ประกอบพิธีสำคัญของคณะ

[แก้] วันรพี

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันรพีเป็นประจำในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันตอบปัญหากฎหมายระดับอุดมศึกษาชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และระดับมัธยมศึกษาชิงถ้วยรางวัลประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา การแสดงศาลจำลอง การเสวนาวิชาการ การแนะแนวการศึกษา ลานน้ำชาปัญญาชน ห้องประวัติศาสตร์เดือนตุลา การจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ และการจัดขบวนเชิญพวงมาลาไปถวายสักการะพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ณ ลานพระรูปหน้าศาลยุติธรรม

นอกจากนี้ ในแต่ละปียังมีการคัดเลือกนักศึกษาจำนวนแปดคน เป็นชายสี่คน และหญิงสี่คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษาด้วยกันเอง ให้เป็นทูตรพีอีกด้วย ทูตรพีมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมทั้งปวงและมีหน้าที่เชิญพวงมาลาไปวางหน้าพระรูปพร้อมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยตามกำหนดการ

งานวันรพีของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เนื่องจากมีการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ และผู้ร่วมเสวนามักเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีชื่อเสียงในสังคม[18] [19]

[แก้] โต๊ะ

โต๊ะ หมายถึง นักศึกษาที่ได้รับการจัดเป็นกลุ่ม ซึ่งมีธรรมเนียมว่า นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีหนึ่ง ให้เลือกโต๊ะของตนด้วยการจับสลากในวันรับเพื่อนใหม่นิติศาสตร์ ธรรมเนียมนี้ริเริ่มอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2525 ปัจจุบัน มีโต๊ะทั้งสิ้นยี่สิบห้าโต๊ะ ดังนี้[20]

  • โต๊ะกลมก้อน
  • โต๊ะกลางสวน
  • โต๊ะข้างลิฟต์
  • โต๊ะโดมนนทรี
  • โต๊ะตูล่า
  • โต๊ะใต้กะได
  • โต๊ะนิติรักษ์
  • โต๊ะปาล์มขวด
  • โต๊ะพรรคมาร
  • โต๊ะยูเนี่ยนวัน
  • โต๊ะรพีพัฒน์
  • โต๊ะรังมด
  • โต๊ะรากไม้
  • โต๊ะริมทาง
  • โต๊ะศาลา
  • โต๊ะเสือกระดาษ
  • โต๊ะเสือเขย่ง
  • โต๊ะเสือซ่อนเล็บ
  • โต๊ะเสือสี่แยก
  • โต๊ะเสือเอาละวา
  • โต๊ะแสดดำ
  • โต๊ะไส้สอด
  • โต๊ะหางนกยูง
  • โต๊ะเอาท์ลอว์
  • โต๊ะฮิจุ๋ม

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2553 โดยคณะอนุกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้จัดให้มีโต๊ะกลุ่มขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ทั้งสิ้นสิบสองโต๊ะ[21] ดังนี้

  • โต๊ะกล้าธรรม(ทำ)
  • โต๊ะซอมพอ
  • โต๊ะมิตรเต่า
  • โต๊ะร่มหูกวาง
  • โต๊ะสิงเสาบันไดโดม
  • โต๊ะเสือ(กะ)ธรรม
  • โต๊ะเสือเคียงโดม
  • โต๊ะเสือสะอ้าน
  • โต๊ะเสือสิงสมุด
  • โต๊ะ InLaw
  • โต๊ะ LAW รัก
  • โต๊ะ L'escalier

ระบบการจัดการและธรรมเนียมเฉพาะของแต่ละโต๊ะมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่มีการจัดโต๊ะเพื่อให้สมาชิกโต๊ะดูแลช่วยเหลือกันตามอัธยาศัย ส่วนนักศึกษาที่เป็นสมาชิกโต๊ะรุ่นก่อนหน้าก็จะให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่รุ่นน้อง โดยอาจจัดให้มีรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องเป็นราย ๆ ไป และไม่ใช้ระบบรหัสนักศึกษา ซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกโต๊ะนั้นสิ้นสุดลงเมื่อสมาชิกผู้นั้นแสดงเจตนาขอถอนตัวต่อกลุ่มโต๊ะ หรืออาจสิ้นสุดลงเมื่อขาดการติดต่อกับโต๊ะโดยสิ้นเชิง

[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้] เกร็ด

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ มารุต บุนนาค, และคนอื่นๆ. ธรรมศาสตร์ประกาศนาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน,2548.
  2. ^ สมคิด เลิศไพฑูรย์. (2551, 6 สิงหาคม). สาส์นคณบดี. หนังสือรพี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (51).
  3. ^ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 1 มิถุนายน). พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawPDF.jsp?LType=2A&formatFile=pdf&vID=1. (เข้าถึงเมื่อ: 15 สิงหาคม 2551).
  4. ^ 4.0 4.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 25 สิงหาคม). พระราชบัญญํติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0. (เข้าถึงเมื่อ: 15 สิงหาคม 2551).
  5. ^ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 16 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519.กรุงเทพฯ : มติชน,2547.
  6. ^ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง. (2551,กันยายน). รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี(ภาคปกติ) หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต. จุลสารข่าวคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง. ฉบับพิเศษ, 8.
  7. ^ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2547). ประวัติคณะนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1]. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
  8. ^ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2549). ประวัติของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยสังเขป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
  9. ^ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2548). ประวัติศาสตร์จุฬาฯ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
  10. ^ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2551). Kasetsart University : แนะนำมหาวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
  11. ^ ประวัติบุคคลสำคัญเกี่ยวกับคณะนิติศาสตร์. (2550). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.law.tu.ac.th/About_LAW/list_dean/list_dean.html. (เข้าถึงเมื่อ: 16 สิงหาคม 2551).
  12. ^ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509". (2509, 1 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 83, ตอนที่ 19). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 กรกฎาคม 2552).
  13. ^ บ้านคนรักสุนทราภรณ์. (มปป.). นิติศาสตร์สามัคคี . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [5]. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
  14. ^ บ้านคนรักสุนทราภรณ์. (มปป.). นิติศาสตร์สมานฉันท์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6]. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
  15. ^ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551). หลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดบรรยายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [7]. (เข้าถึงเมื่อ: 6 ตุลาคม 2551).
  16. ^ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2547). หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [8]. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
  17. ^ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2547). หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [9]. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
  18. ^ ฐาปน แสนยะบุตร และกัญญารัตน์ จันททรา. (2551, 6 สิงหาคม). บทบรรณาธิการ. หนังสือรพี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์. (51).
  19. ^ กิจกรรมวันรพี'49 7-8 ส.ค. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. (2549, 5 สิงหาคม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www4.eduzones.com/topic.php?id=5386. (เข้าถึงเมื่อ: 17 สิงหาคม 2551).
  20. ^ LAWTHAM WEBBOARD (2552). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [10]. (เข้าถึงเมื่อ: 24 กรกฎาคม 2552).
  21. ^ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (2553). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [11]. (เข้าถึงเมื่อ: 15 พฤษภาคม 2553).


[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 14°04′32″N 100°37′02″E / 14.07559°N 100.61722°E / 14.07559; 100.61722


ภาษาอื่น