อนุญาโตตุลาการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

อนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitrator) คือ บุคคลคนเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้ชี้ขาด

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

กฎหมายตราสามดวง

การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเริ่มมีขึ้นมายาวนานตามวิวัฒนาการของกฎหมาย ดังหลักฐานที่ปรากฏตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมัน โดยในกฎหมายสิบสองโต๊ะได้บัญญัติให้มีคนกลางเป็นอนุญาโตตุลาการ ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินในกฎหมายอังกฤษ

ความจำเป็นในการที่ต้องมีการควบคุมการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้เริ่มขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 โดยในประเทศอังกฤษได้มีการกำหนดวิธีดำเนินงานของอนุญาโตตุลาการไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2240 ต่อมาใน พ.ศ. 2397 ได้มีการรวบรวมหลักกฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการที่กระจัดกระจายอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ มาไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความ และเมื่อจำนวนข้อพิพาททางแพ่งมากขึ้นตามพัฒนาการของกิจการพาณิชย์ต่าง ๆ รัฐสภาอังกฤษจึงตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการขึ้นอีกครั้งใน พ.ศ. 2432 มีเนื้อหาเป็นการประมวลหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไว้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้มีการแก้ไขปรับปรุงเรื่อยมา

ส่วนในประเทศไทย ปรากฏหลักฐานว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตระลาการโดยคู่ความ ซึ่งแตกต่างจากตระลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และต่อมาในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ประกาศใช้ใน พ.ศ. 2477 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เรื่องอนุญาโตตุลาการในศาลและนอกศาลไว้ กับทั้งได้มีการตราพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดนอกศาล

[แก้] ความหมาย

อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ทำหน้าที่ระงับข้อพิพาททางแพ่งประเภทหนึ่งซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะของกระบวนการระงับข้อพิพาทได้ดังต่อไปนี้

1. ผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท (อังกฤษ: conciliator) คือ บุคคลที่สามซึ่งคู่กรณีพิพาทตกตลงกันให้เข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดการประนีประนอมยอมความกัน โดยคู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายต่างยินยอมผ่อนผันข้อเรียกร้องของตน และแต่ละฝ่ายจะได้รับสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแทน ในกระบวนการระงับข้อพิพาทนั้นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีหน้าที่เพียงไกล่เกลี่ยให้มีการประนีประนอมยอมความกัน ไม่มีอำนาจบังคับหรือตัดสินการใด ๆ ในการเจรจานั้น แต่อาจเสนอแนวทางในการตกลงกันของคู่กรณีพิพาทได้

2. อนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitrator) คือ บุคคลที่สามซึ่งอาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันให้ทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" ในการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการจะเปิดโอกาสให้คู่กรณีพิพาทแสดงข้อเรียกร้องและข้อต่อสู้พร้อมทั้งนำพยานหลักฐานต่าง ๆ มาสืบเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง ตลอดจนสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามวัน เวลา และสถานที่ตามที่คู่กรณีพิพาทตกลงกันได้ รวมทั้งคู่กรณีพิพาทสามารถตกลงกันกำหนดวิธีพิจารณาโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพื่อใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาแก่ข้อพิพาทได้ และเมื่อรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในการดำเนินกระบวนพิจารณาแล้ว อนุญาโตตุลาการจึงมีคำวินิจฉัยข้อพิพาทได้

3. ตุลาการ (อังกฤษ: justice) หรือผู้พิพากษา (อังกฤษ: judge) คือ ผู้มีหน้าที่ตามที่กฎหมายวิธีพิจารณาความบัญญัติให้ชี้ขาดข้อพิพาทใด ๆ ด้วยการมีคำสั่งหรือคำพิพากษาคดีที่มาสู่ศาลในกรณีที่คู่ความไม่อาจตกลงไกล่เกลี่ยหรือประนอมข้อพิพาทกันได้ นอกจากนี้ ในกรณีพิพาทซึ่งไม่เป็นกรณีอันต้องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการตามที่กฎหมายกำหนด และคู่ความได้ยื่นฟ้องศาลแล้ว ตุลาการหรือผู้พิพากษาอาจไกล่เกลี่ยให้คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกันในศาลหรืออาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการในศาลตามที่กฎหมายกำหนดไว้มาใช้บังคับก็ได้ ตามแต่เห็นสมควร

[แก้] การอนุญาโตตุลาการ

การอนุญาโตตุลาการ (อังกฤษ: arbitration) เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางแพ่ง โดยคู่กรณีตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า "สัญญาอนุญาโตตุลาการ" (อังกฤษ: arbitration agreement) มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคตให้อนุญาโตตุลาการชึ้ขาด ไม่ว่าจะมีการกำหนดตัวผู้เป็นอนุญาโตตุลาการไว้ในคราวนั้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงเกิดขึ้นด้วยความยินยอมพร้อมใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายด้วยการมอบอำนาจให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทดังกล่าว ส่วนการมอบอำนาจเช่นว่าอาจกระทำกันโดยตกลงกันในสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเลยหรือในสัญญาอื่น ๆ ต่างหาก เช่น สัญญาที่คู่สัญญานั้นตกลงทำขึ้นเพื่อกิจการระหว่างกันและจะถือว่าข้อสัญญาต่างหากนี้นับเข้าเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการเช่นกัน

[แก้] อ้างอิง

  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2543). รายงานประจำปี 2542 ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. หน้า 138-145.
  • คัมภีร์ แก้วเจริญ. (2540). "การปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยหน่วยงานภาครัฐ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • จรัญ ภักดีธนากุล. (2537, มิถุนายน). "การอภิปรายเรื่องบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมของอนุญาโตตุลาการ". บทบัณฑิตย์, (เล่ม 50, ตอน 2).
  • ธานินทร์ กรัยวิเชียร. (2521). คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เล่ม 1. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์.
  • พระนิติการณ์ประสม. (2515). คำอธิบายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง . พระนคร : แสงทองการพิมพ์.
  • พิชัย หรยางกูร. (2540). "การอนุญาโตตุลาการ : ความรู้เบื้องต้นในทางทฤษฎี". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • วิชัย อริยะนันทกะ. (2540). "การระงับข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาการค้าขายระหว่างประเทศ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • วุฒิพงษ์ เวชยานนท์. (2540). "จริยธรรมของอนุญาโตตุลาการ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • เสาวนีย์ อัศวโรจน์. (2540). "ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการ". รวมบทความ ข้อบังคับ ข้อตกลงระหว่างประเทศ กฎหมาย และคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ เล่ม 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม.
  • Eric Lee. (1986). Dictionary of Arbitation Law & Practice. London : Mansfield Law Publishers.
  • Enid A. Marshall. (1983). Gill : the Law of Arbitration. London : Sweet & Maxwell.
  • J.G. Merrills. (1984). International Dispute Settlemwent. London : Sweet & Maxwell.


Scale of justice.svg อนุญาโตตุลาการ เป็นบทความเกี่ยวกับ การเมือง การปกครอง หรือ กฎหมาย ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ อนุญาโตตุลาการ ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ