โรงเรียนทวีธาภิเศก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โรงเรียนทวีธาภิเศก

Tw.jpg
รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ

โรงเรียนทวีธาภิเศก (อังกฤษ: Taweethapisek School) อักษรย่อ (ท.ภ.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ รับเฉพาะนักเรียนชาย (โรงเรียนชายล้วน) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 505/5 ซอยอิสรภาพ 42 ถนนอิสรภาพ แขวงวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร 10600

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

เป็นโรงเรียนซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทาน เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชสมบัตินานเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยกา

อาคารโรงเรียนหลังแรก

โดยเมื่อปี พ.ศ. 2438 (ร.ศ. 114) ปีมะแม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ) ขยายตัวทางด้านการศึกษา จัดให้มีโรงเรียนมากขึ้น โดยเห็นว่าสถานที่ กระทรวงธรรมการบริเวณศาลาต้นจันทร์ วัดอรุณราชวราราม เปิดสอนชั้น 1 ถึงชั้น 4 มีนักเรียน 162 คน ครู 6 คน มีพระครูธรรมรักขิต (สัมฤทธิ์ ลอยเพ็ชร) เป็นครูใหญ่ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ กรมพระบำราบปรปักษ์เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม เมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จ ประจวบกับเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงดำรงสิริราชสมบัติมาเป็นสองเท่าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเษก ถวายพระอัยกาธิราช ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน และสมโภชสิริราชสมบัติ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2441

ในการบำเพ็ญพระราชกุศลทวีธาภิเศกนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ได้ทรงร่วมบริจาคทรัพย์บูชาธรรมเทศนาเพื่อการปฏิสังขรณ์และสถาปนาถาวรวัตถุในวัดแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างโรงเรียนตรงกุฏิสงฆ์ด้านทิศเหนือ โรงเรียนวัดอรุณราชวรารามเดิม มาเป็นตึกใหญ่ และพระราชทานนามโรงเรียนว่า ทวีธาภิเศก เฉพาะผู้บริจาคมีรายนามของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงบริจาคเงินร่วมในการนี้ เช่น

มีพระนามร่วมบริจาคทั้งสิ้น 47 ราย เป็นเงินจำนวน 24,000 บาท

เนื่องในโอกาสเพื่อเป็นที่ระลึกในวันสำคัญยิ่ง ได้มีการสร้างเหรียญที่ระลึกแจกพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเป็นที่ระลึก ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนทวีธาภิเศก จึงถือวันที่ 19 กรกฎาคม ของทุกปีเป็น "วันทวีธาภิเศก" และใช้สัญลักษณ์ภาพเหมือนรูปเหรียญ ทวีธาภิเศก เป็นตราประจำโรงเรียน

ในปี พ.ศ. 2494 นายวรสิทธิ์ อินทาปัจ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ได้ย้ายโรงเรียนมาตั้ง ณ บริเวณวัดนาคกลาง ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบันนี้ โดยย้ายนักเรียนชั้นมัธยมปลายบางส่วนมาเรียน ในปี พ.ศ. 2503 เมื่อการก่อสร้างอาคารเรียนเสร็จสมบูรณ์ จึงได้ย้ายนักเรียนทั้งหมดมาเรียน ส่วนอาคารเรียนหลังเดิม ณ วัดอรุณราชวรารามฯ กรมสามัญศึกษา ได้ทำการเปิดสอนในระดับประถมศึกษา ชื่อว่า โรงเรียนประถมทวีธาภิเศก

ในปี พ.ศ. 2512 นายเรวัต ชื่นสำราญ เป็นอาจารย์ใหญ่ ได้งบประมาณสร้างตึก 4 ชั้น 18 ห้องเรียน เป็นเงินทั้งสิ้นสองล้านบาท ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ โดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา) เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีและได้ประทานนามตึกนี้ว่า " ตึกพิทยลาภพฤฒิธาดา " ซึ่งก็คือ ตึก 1 ของโรงเรียนและเปิดใช้มาจนปัจจุบัน

หน้าตึกพิทยลาภพฤฒิธาดา ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2547พ.ศ. 2551 นางสุกัญญา ภู่พันธาภักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เป็นผู้อำนวยการหญิงคนแรกของโรงเรียนทวีธาภิเศกนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนมา ได้สานต่อการพัฒนาโรงเรียนด้านบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะบรรยากาศด้านวิชาการ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน อาทิ ห้องมัลติมีเดียเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งห้องเรียน ห้องเรียนและสื่อการเรียนรู้อีเลกทรอนิกส์ และการจัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตให้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และห้องสมุดโรงเรียน เพื่อบริการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตแก่ นักเรียนและครูอย่างทั่วถึง จัดทำศูนย์สารสนเทศนักเรียนเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลและบริการสืบค้น ข้อมูลของนักเรียนทั้งด้านวิชาการและปกครองเริ่มโครงการอ่านเฉลิมพระเกียรติฯ จัดชั่วโมง "หยุดทุกอย่างเพื่ออ่าน" ทุกวันพุธ จัดศูนย์พัฒนาวิชาชีพครู เพื่อพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นระบบ การระดมทรัพยากรจากชุมชนเพื่อพัฒนาโรงเรียนทุกด้าน นอกจากนี้ ได้จัดตั้งชมรมครูอาวุโสโรงเรียนทวีธาภิเศกร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เพื่อให้ ผู้บริหาร และครูทวีธาภิเศกที่เกษียณอายุทุกท่านมีโอกาสกลับมาเยี่ยมโรงเรียน ได้พบปะสังสรรค์ จัดกิจกรรมบริการตรวจสุขภาพ จัดทัศนศึกษาและจัดพิธีแสดงมุทิตาจิตแด่ครูอาวุโส

[แก้] เหรียญตราทวีธาภิเศก

ดูเพิ่ม พระราชพิธีทวีธาภิเษก ในรัชกาลที่ 5

ลักษณะรูปทรงเหรียญแบบดาวห้าแฉกยกขอเส้นลวดสองชั้นหูเชื่อม แบบขวางภายใน มีลักษณะดังนี้

เหรียญตราทวีธาภิเศก (ซ้าย) ด้านหน้า (ขวา) ด้านหลัง

[แก้] ด้านหน้า

  1. พระอุนาโลม ภายใต้พระอุณหิศ มีความหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ พระอุณหิศก็คือพระมงกุฎ
  2. พระจุลมงกุฎ (พระเกี้ยว) มีความหมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
  3. ครุฑยึดนาค มีความหมายถึงพระบรมราชสัญลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ผู้เป็นพระบรมราชอัยกา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
  4. พระแสงขรรค์ไชยศรีและธารพระกรไขว้ มีความหมายถึง เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เนื่องในวโกาส ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติราชาภิเศก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 การเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งสองนี้ เพื่อแสดงว่าเป็นของสำหรับพระราชาธิบดี
  5. สายสร้อย เป็นรูปดอกประจำยามอยู่เบื้องใต้โล่ คือสังวาลย์เครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับพระมหากษัตริย์ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลอันสำคัญอย่างยิ่ง

[แก้] ด้านหลัง

จารึกว่า

ที่รฤก รัชกาลที่ ๕

เสมอด้วยรัชกาล ที่ ๒

ทวีคูณ รัตนโกสินทร

๓๑ ศก ๑๑๗

[แก้] เกียรติภูมิโรงเรียน

  • ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน ปีการศึกษา 2548
  • พิพิธภัณฑ์โรงเรียนทวีธาภิเศก

เปิดขึ้นในปี พ.ศ. 2540 เป็นอาคาร 2 ชั้น ติดกับตึก 3 ตึกเอนกประสงค์ ภายในแสดงวัตถุประเภทครุภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ และของใช้ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานให้แก่โรงเรียนตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ นาฬิกาตั้งยอดพระเกี้ยว เป็นนาฬิกาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้โรงเรียน ด้านบนประดิษฐานพระจุลมงกุฎจำหลักไม้ที่ประณีตงดงามมาก, ตู้พระราชทาน และโต๊ะเก้าอี้พระราชทาน เป็นต้น

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระพุทธทวีธาภิเศก

[แก้] อาคารในโรงเรียน

  • อาคารพิทยลาภพฤฒิธาดา
  • อาคารสุรชัยรณรงค์
  • อาคารเอนกประสงค์
  • อาคารเทพสิทธินายก
  • อาคารหอประชุมพลเอก สุจินดา คราประยูร
  • อาคาร100ปี ทวีธาภิเศก โดย พลเอก สุจินดา คราประยูร

[แก้] สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำโรงเรียน

  • พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้อัญเชิญจากโรงหล่อส่วนปฏิมากรรม กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2542 โดยผู้อำนวยการสุธน จุลโมกข์, พ.ต.อ. (พิเศษ) พลวุฒิ วิเศษสงวน นายกสมาคมผู้ปกครองและครูทวีธาภิเศก พล.ร.ท. ฉกรรจ์ สุวรรณเสนีย์ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่าทวีธาภิเศก โดยผ่านมาทางถนนปิ่นเกล้านครไชยศรี ขึ้นทางลอยฟ้าคู่ขนาน ผ่านไปข้ามสะพานพระปิ่นเกล้า ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปเลี้ยวกลับที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเป็นความเป็นศิริมงคล ปัจจุบัน ประดิษฐานอยู่ข้างอาคารพิพิธภัณฑ์

  • พระพุทธทวีธาภิเศกมหามงคล

มีทั้งสิ้น 2 องค์ องค์แรก เป็นพระพุทธรูปโบราณปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องใหญ่แบบสกุลช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใน ปี พ.ศ. 2536 สมัยนายกนก จันทร์ขจร เป็นผู้อำนวยการ

และองค์ที่ 2 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธศิลปแบบสุโขทัย เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ โดยได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ไว้สำหรับเป็นที่สักการะประจำโรงเรียน เช่นเดียวกับที่โรงเรียนอื่น ๆ ทั่วไป โดยใช้ชื่อเดียวกับพระพุทธทวีธาภิเศกมหามงคลองค์แรก ปัจจุบันประดิษฐาน ณ ซุ้มพระพุทธรูปใกล้ประตูทางเข้าโรงเรียน เป็นพระพุทธรูปที่เป็นที่เคารพกราบไหว้ของครูอาจารย์ นักเรียนและผู้ปกครองเป็นจำนวนมากอยู่โดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับชั้น ม. 1 และม. 4 ของทุกปี เมื่อเข้ามาในโรงเรียนผ่านประตูมองไปทางซ้าย ก็จะได้เห็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามองค์นี้ ประดิษฐานอยู่อย่างสงบภายใต้เงาไม้ที่ดูร่มรื่น

  • พ่อขุนสุรชัยรณรงค์

ในอดีตท่านรับราชการ เป็นทหารในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ. 2325 ร.ศ.1 ปีขาล ถึง พ.ศ. 2352 ร.ศ.28 ปีมะโรง มีตำแหน่งเป็นนายกองเสือป่า แมวเซา ได้รับพระราชทานพำนักเป็นการถาวรที่วัดนาคกลาง ใกล้กับที่ตั้งปัจจุบันของโรงเรียน โดยมีหน้าที่ดูแลด่านตั้งแต่กรุงเทพ ฯ - ด่านพระเจดีย์สามองค์

[แก้] คติพจน์ประจำโรงเรียน

  • อตฺตานํ นาติวตฺ เตยฺย (บุคคลไม่ควรลืมตน)

[แก้] ผู้บริหารโรงเรียน

  1. ขุนอุปการศิลปะเศรฐ พ.ศ. 2441 – 19 มิถุนายน พ.ศ. 2450
  2. นายพร้อม 21 มิถุนายน พ.ศ. 2450 - พ.ศ. 2454
  3. พระบรรเจิดวิชาชาญ (นายชม บุญญาคง ป.ม.) พ.ศ. 2454 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454
  4. ขุนดรุณวิทย์วรเสษฐ (นายยง ศิลปคุปต์) 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2454 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2459
  5. ขุนวิสิษฐ์ดรุณกาล (นายบุบผา พลายสุต) 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 – มิถุนายน พ.ศ. 2492
  6. นายวรสิทธิ์ อินทาปัจ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 – 30 กันยายน พ.ศ. 2508
  7. นายเรวัต ชื่นสำราญ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2508 – 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2517
  8. นายสำเริง นิลประดิษฐ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2517 – 30 กันยายน พ.ศ. 2522
  9. นายจงกล เมธาจารย์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2522 – 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527
  10. นายสุชาติ ไชยมะโน 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2531
  11. นายสำราญ รัตนวิทย์ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2531 – 30 กันยายน พ.ศ. 2532
  12. นายกนก จันทร์ขจร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2532 – 30 กันยายน พ.ศ. 2538
  13. นายประสาร อุตมางคบวร 1 ตุลาคม พ.ศ. 2538 – 30 กันยายน พ.ศ. 2541
  14. นายสุธน จุลโมกข์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2541 – 30 กันยายน พ.ศ. 2544
  15. นายสุวัฒน์ อ้นใจกล้า 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544 – 30 กันยายน พ.ศ. 2547
  16. นางสุกัญญา ภู่พันธาภักดิ์ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2547 – 29 ตุลาคม พ.ศ. 2551
  17. นางสุมนมาศ วุฒิสง่าธรรม 30 ตุลาคม พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน

[แก้] ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง

[แก้] บุคคลสำคัญระดับประเทศ

[แก้] นักวิชาการ

[แก้] ศิลปิน นักร้อง นักแสดง ผู้กำกับ นักเขียน

[แก้] นักกีฬา

  • วสวัตติ์ สมแสวง นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย
  • รังสรรค์ วิวัฒน์ชัยโชค นักฟุตบอลทีมชาติไทย
  • ชนัตถา ธนฤกษ์ชัย อดีตนักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย โค้ชทีมชาติไทยปัจจุบัน

[แก้] สถานที่สำคัญใกล้เคียง

[แก้] โรงเรียนในเครือ

[แก้] หมายเหตุ

  • พระราชพิธีทวีธาภิเษก ในรัชกาลที่ 5 ใช้ตัวสะกด ษ.ฤๅษี แต่กับโรงเรียนทวีธาภิเศก ใช้ตัวสะกด ศ.ศาลา
  • ในอดีตปีที่สถาปนาโรงเรียนใช้ปี พ.ศ. 2438 ซึ่งเป็นปีที่โรงเรียนได้เปิดการสอนจริง ๆ และใน พ.ศ. 2538 ทางโรงเรียนได้มีการจัดงานครบรอบ 100 ปี ด้วย แต่ปัจจุบันได้ถือปีที่สถาปนาเป็นปี พ.ศ. 2441 ซึ่งในปี พ.ศ. 2541 ก็ได้มีการจัดงานครบรอบ 100 ปี อีกครั้ง
  • เดิมทีคำขวัญโรงเรียนมีอยู่ว่า "ลูกทวีธา มีศักดิ์ศรี มีน้ำใจ มีคุณธรรม" แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็น "รักษ์ศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำริ"

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°44′43″N 100°28′58″E / 13.745253°N 100.482700°E / 13.745253; 100.482700