พรรคพลังประชาชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรรคพลังประชาชน
สัญลักษณ์พรรคพลังประชาชน
บุคลากร
หัวหน้าพรรค นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (รักษาการ)
เลขาธิการพรรค นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
โฆษกพรรค ร้อยโท ดร.กุเทพ ใสกระจ่าง
ประธานที่ปรึกษาพรรค พันตำรวจโทกานต์ เทียนแก้ว
ผู้อำนวยการพรรค
ทั่วไป
ก่อตั้ง 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541
สำนักงานใหญ่ เลขที่ 1770 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
อื่น ๆ
นโยบายพรรค เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ด้วยพลังประชาชน
คำขวัญพรรค
สีของพรรค สีน้ำเงิน และสีแดง
เว็บไซต์ www.ppp.or.th ( ปัจจุบันใช้การไม่ได้ )

พรรคพลังประชาชน (อักษรย่อ: พปช. อังกฤษ: People Power Party) เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ช่วงก่อนการเข้าร่วมของกลุ่มไทยรักไทย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 นางสาวสุภาพร เทียนแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค, นางสาวปิยะรัตน์ เทียนแก้ว เป็นเลขาธิการพรรค และ พันตำรวจโทกานต์ เทียนแก้ว เป็นประธานกรรมการบริหารพรรค[1] ก่อนการยุบพรรค นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขาธิการพรรค มี นายยงยุทธ ติยะไพรัช เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 และมี นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ. 2551 ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณากรณี พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ได้ลงมติ 4 ต่อ 1 เห็นชอบตามที่นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเสนอให้ส่งเรื่องถึงอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมติเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ฝ่ายกิจการสอบสวนสอบสวน และแล้วในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารของแต่ละพรรคเป็นเวลา 5 ปี อันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช[2]

เนื้อหา

[แก้] การเลือกตั้ง ส.ส. 2 เมษายน 2549

ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 พรรคส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 5 คน ได้คะแนน 305,015 คะแนน ไม่ได้รับเลือก และส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขต ได้รับเลือกจำนวน 3 คนในการลงคะแนนรอบที่ 2 วันที่ 23 เมษายน 2549 ที่จังหวัดกระบี่ เขต 1 และเขต 3 และจังหวัดตรัง เขต 2 [3] โดยเป็นพื้นที่ในเขตฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้ เพื่อไม่ให้ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยได้รับเลือก และคะแนนเสียงที่ได้ น้อยกว่าคะแนนเลือกที่จะไม่เลือก (No Vote)

ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รอบที่ 2 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ปีเดียวกัน ผู้สมัครในนามพรรคพลังประชาชน ที่จังหวัดสงขลา เขต 2 ถูกกรรมการการเลือกตั้งตัดสิทธิ์ เนื่องจากเป็นผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ เวียนเทียนมาสมัครใหม่ในระบบแบ่งเขต[4]

[แก้] อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยเข้าร่วมพรรค

ภายหลังคดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 กลุ่มไทยรักไทย (เดิมคือ พรรคไทยรักไทย) มีมติที่จะส่งอดีต ส.ส.เก่า สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน เพื่อลงรับเลือกตั้งครั้งใหม่ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550[5][6] โดยมีข่าวว่า แกนนำกลุ่มไทยรักไทย ได้เชิญ นายสมัคร สุนทรเวช มาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดยนายสมัครให้สัมภาษณ์ว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นผู้โทรศัพท์ทางไกลมาเชิญให้รับตำแหน่งด้วยตัวเอง[7] จากนั้น ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ของพรรค เพื่อลงคะแนนเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 ผลปรากฏว่า นายสมัคร สุนทรเวช ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค และ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขาธิการพรรค

[แก้] คณะกรรมการบริหารพรรค (24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 - 30 กันยายน พ.ศ. 2551 )

ป้ายหาเสียงของพรรคฯ ในการเลือกตั้ง ส.ส. 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

คณะกรรมการบริหารพรรคหลังการเข้าร่วมของกลุ่มไทยรักไทย[8] ในเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชนได้ส่งโทรสารยื่นใบลาออกถึงนายทะเบียนพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคต้องสิ้นสุดลงด้วย

  1. นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค
  2. นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรค
  3. พันตำรวจโทกานต์ เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรค
  4. นายไชยา สะสมทรัพย์ รองหัวหน้าพรรค
  5. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรค
  6. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค
  7. พลเอกเรืองโรจน์ มหาศรานนท์ รองหัวหน้าพรรค
  8. นายสัมพันธ์ เลิศนุวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค
  9. นายแพทย์ ประสงค์ บูรณ์พงศ์ รองหัวหน้าพรรค
  10. นางสาวสุภาพร เทียนแก้ว รองหัวหน้าพรรค
  11. นายสุวัฒน์ วรรณศิริกุล รองหัวหน้าพรรค
  12. นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขาธิการพรรค
  13. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองเลขาธิการพรรค
  14. นายนพดล ปัทมะ รองเลขาธิการพรรค
  15. นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รองเลขาธิการพรรค
  16. นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รองเลขาธิการพรรค
  17. นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ เหรัญญิกพรรค
  18. ร้อยโทกุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรค
  19. นายศรีเมือง เจริญศิริ กรรมการบริหารพรรค
  20. นายสุธา ชันแสง กรรมการบริหารพรรค
  21. นายมงคล กิมสูนจันทร์ กรรมการบริหารพรรค
  22. พันตำรวจโทไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ กรรมการบริหารพรรค
  23. นายทรงศักดิ์ ทองศรี กรรมการบริหารพรรค
  24. นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ กรรมการบริหารพรรค
  25. นายนิสิต สินธุไพร กรรมการบริหารพรรค
  26. นายธีระชัย แสนแก้ว กรรมการบริหารพรรค
  27. นายวีระพล อดิเรกสาร กรรมการบริหารพรรค
  28. นายสุทิน คลังแสง กรรมการบริหารพรรค
  29. นายอิทธิ ศิริลัทธยากร กรรมการบริหารพรรค
  30. นางมาลินี ภูตาสืบ กรรมการบริหารพรรค
  31. นางสาวปิยะรัตน์ เทียนแก้ว กรรมการบริหารพรรค
  32. นางสาวศรัญญา แสงวิมา กรรมการบริหารพรรค
  33. นางสาวมนัสปรียา ภูตาสืบ กรรมการบริหารพรรค
  34. นางสาวกาญจน์ณิชา แต้มดี กรรมการบริหารพรรค
  35. นายกิตติกร โล่ห์สุนทร กรรมการบริหารพรรค
  36. นายบุญลือ ประเสริฐโสภา กรรมการบริหารพรรค
  37. นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ กรรมการบริหารพรรค

[แก้] ข้อวิพากษ์วิจารณ์

[แก้] นายสมัคร สุนทรเวช ในฐานะหัวหน้าพรรค

การเข้ามาของนายสมัครทำให้เกิดข้อวิจารณ์ในสังคม เนื่องจากแกนนำส่วนหนึ่งของพรรค ถูกมองว่า “ซ้ายจัด” เคยเข้าป่า ร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ขณะที่นายสมัคร เป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ “ขวาสุดขั้ว” โดยนายแพทย์สุรพงษ์ ได้กล่าวถึงข้อวิจารณ์ในกรณีดังกล่าวว่า “ผมว่าคนที่คิดอย่างนี้เป็นคนที่ใช้ประสบการณ์เดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้วมาพูด อุดมการณ์ซ้ายกับขวานั้นเป็นแนวคิดเรื่องการบริหารประเทศในอดีต ที่แยกออกจากกันระหว่างฝ่ายทุนนิยมกับสังคมนิยม แต่ทุกวันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไป เพราะสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ต้องเดินทางสายกลาง ฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ยืนยันจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าพื้นเพความคิดจะเป็นซ้ายหรือขวา ถ้ามีจุดยืนที่จะทวงคืนประชาธิปไตยให้กลับสู่บ้านเมืองโดยเร็วที่สุดแล้วละก็ เราพร้อมที่จะร่วมมือ”[9]

[แก้] รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ

วันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 มีงานปฐมนิเทศผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ของพรรคพลังประชาชน โดยภายในงาน มีการแจกหนังสือวิพากษ์วิจารณ์ข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ชื่อหนังสือว่า “รัดทำมะนวย ฉบับหัวคูณ” เขียนโดย พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ สุพรรณเภสัช ซึ่ง พ.ต.อ.ประจักษ์ศิลป์ ชี้แจงว่า ชื่อหนังสือได้นำมาจากเนื้อหาบางส่วนในบทความของ สุจิตต์ วงศ์เทศ และ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนไว้ว่า รัดทำมะนวยปล้นอำนาจประชาชน และ ไอ้พวกทุจริตมันเป็นพวกหัวคูณ คือคิดอะไรแต่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง โดยการคูณ คูณ คูณ คูณ ว่าเป็นเงินเท่าไร โดยนำคำจากทั้งสองบทความ มาสมาสกันเป็นชื่อหนังสือ[10]

ต่อมา น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และส่งเสริมการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และอดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2550 ได้ออกแถลงการณ์ประนามหนังสือเล่มดังกล่าว ว่าทำให้ผู้อ่านเข้าใจรัฐธรรมนูญ ที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไปในทางที่ไม่สุภาพ (ผวนแล้วเป็นคำหยาบ)[11]

[แก้] ยุทธศาสตร์ "บุคคลถัดไป" : การปรับตัวก่อนยุบพรรค

[แก้] สัญลักษณ์ของพรรค

สัญลักษณ์พรรค (2541-2550)

สัญลักษณ์ของพรรคในยุคแรก เป็นรูปวงกลมสีเขียว อันหมายถึงความสงบสุขร่มเย็นของแผ่นดินไทย มีภาพเสาธงชาติไทยปักอยู่บนแผนที่ประเทศไทยอยู่ใจกลางของวงกลม รายล้อมด้วยตุ๊กตาแต่งตัวเป็นอาชีพต่างๆ ซึ่งเป็นสื่อแทนชาวไทยในหลายสาขาอาชีพ โดยมีตัวอักษรชื่อพรรค เป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ รายล้อมสัญลักษณ์ดังกล่าวทั้งหมด

ส่วนสัญลักษณ์ของพรรคในปัจจุบัน เป็นตัวอักษรไทย สีน้ำเงิน โดยเส้นทแยงจากล่างซ้ายขึ้นบนขวาเป็นสีแดง และขาว ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับสัญลักษณ์ของพรรคไทยรักไทย ที่เป็นตัวอักษรไทย สีน้ำเงิน ที่มีเส้นทแยงจากล่างซ้ายขึ้นบนขวา เป็นสีแดง ขาว และน้ำเงิน

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ http://www.parliament.go.th/mp/asset/policy_partylist.pdf
  2. ^ เอเอสทีวีผู้จัดการ, ศาล รธน.มติเอกฉันท์! สั่งยุบ “พปช.” ตัดสิทธิ กก.บห.5 ปี - “ชายอำมหิต” หลุดเก้าอี้, เข้าถึงข้อมูลวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551
  3. ^ ไทยรัฐ, สรุปรวม พรรคไม้ประดับ แย่งที่นั่ง ทรท.ได้ถึง 9 เขต
  4. ^ คมชัดลึก, ตัดสิทธิ์ผู้สมัครสส.พรรคเล็ก สงขลา 3 คนเมืองคอน 2 ราย
  5. ^ กรุงเทพธุรกิจ, กลุ่มทรท.ซบพรรคเล็ก'พลังประชาชน' บอกอุดมการณ์เดียวกัน
  6. ^ มติชน, ทรท.เสียว-แห่ซบ พรรคสำรอง
  7. ^ ไทยรัฐ, “สมัคร” ระบุ “ทักษิณ” ขอร้องให้ช่วย , 3 สิงหาคม 2550
  8. ^ มติชน, คณะกรรมการบริหาร"พปช."ชุดใหม่, 25 สิงหาคม 2550
  9. ^ ฐากูร บุนปาน, คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12, ลืมได้?, นสพ.มติชน, 8 สิงหาคม 2550
  10. ^ มติชน, สนช.ประณาม พปช.แจก 'รัดทำมะนวยฯ' นศ.พระปกเกล้าแถลงสั่งสอนวัฒนธรรม, นสพ.มติชน, 15 พฤศจิกายน 2550
  11. ^ ไทยรัฐ, “ประสงค์” ฉุนรัฐธรรมนูญถูกลบหลู่, นสพ.ไทยรัฐ, 16 พฤศจิกายน 2550

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

โครง พรรคพลังประชาชน เป็นบทความที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ พรรคพลังประชาชน ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ