เรือหลวงธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เรือหลวงธนบุรี
เรือหลวงธนบุรี
ประวัติเรือ ราชนาวีไทย
ต่อที่: อู่กาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น
วางกระดูกงูเรือ: 12 มกราคม พ.ศ. 2479
ปล่อยเรือลงน้ำ: 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2480
ขึ้นระวางประจำการ: 5 ตุลาคม พ.ศ. 2481
สถานภาพ: • เกยตื้น 17 มกราคม พ.ศ. 2484 ที่แหลมงอบ
• ปลดระวางประจำการจากเรือรบ 26 กันยายน พ.ศ. 2484
• ปลดระวางประจำการโดยสมบูรณ์ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2502
ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อเรือ: ไทย: ร.ล.ธนบุรี
อังกฤษ: HTMS THONBURI
ผู้บังคับการเรือ: นาวาโท หลวงพร้อมวีระพันธ์
ประเภท: เรือปืนหนัก
ระวางขับน้ำ: เต็มที่ 2,350 ตัน
ความยาว: รวม 77 เมตร
ความกว้าง: 13.41 เมตร
กินน้ำลึก: 4.20 เมตร
เครื่องจักร: เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 2,400 แรงม้า
ความเร็วสูงสุด/ต่ำสุด: 15.8/12.2 นอต
รัศมีทำการสูงสุด/ต่ำสุด: 11,100/6,493 ไมล์ทะเล
กำลังพลประจำการ: 234 นาย
อาวุธ: • ปืน 200 มม. แท่นคู่ 2 แท่น
• ปืนใหญ่ 75/51 มม. 4 กระบอก
• ป.ต.อ. 40/62 มม.แท่นคู่ 4 กระบอก

เรือหลวงธนบุรี เป็นเรือรบประเภทเรือปืนหนักและเรือปืนยามฝั่งสังกัดกองทัพเรือไทย จัดอยู่ในประเภทเดียวกันและชั้นเดียวกันกับเรือหลวงศรีอยุธยา ต่อขึ้นที่อู่ต่อเรือกาวาซากิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2479 เป็นขุมกำลังสำคัญของกองทัพเรือไทยในช่วงกรณีพิพาทระหว่างไทย - อินโดจีนฝรั่งเศส โดยเรือหลวงธนบุรีได้เข้าทำการรบอย่างกล้าหาญในยุทธนาวีเกาะช้างเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2484 จนสามารถขับไล่ข้าศึกได้สำเร็จ แต่เรือได้รับความเสียหายอย่างหนักมาก เรือหลวงช้างจึงลากจูงให้มาเกยตื้นในเย็นวันเดียวกันที่แหลมงอบ จังหวัดตราด

ภายหลังเมื่อมีการกู้เรือหลวงธนบุรีแล้ว กองทัพเรือได้ลากจูงเรือมาทำการซ่อมใหญ่ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2484 แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเสียหายหนักเกินกว่าจะซ่อมแซมได้ จึงปลดระวางประจำการจากการเป็นเรือรบ และใช้เป็นกองบังคับการลอยน้ำของกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ จนปลดระวางประจำการเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2502 ทางราชการจึงได้นำส่วนป้อมปืนเรือและหอบังคับการของเรือหลวงธนบุรีมาจัดตั้งเป็นอนุสรณ์สถานเรือหลวงธนบุรี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ยุทธนาวีเกาะช้าง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในโรงเรียนนายเรือ จังหวัดสมุทรปราการ

ชื่อของเรือหลวงธนบุรีได้มาจากนาม "กรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร" อันเป็นนามของราชธานีไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. 2310 - 2325)

เนื้อหา

[แก้] ความชอบในการรบ

หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทอินโดจีน เรือหลวงธนบุรีได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากการรบในยุทธนาวีเกาะช้าง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2484[1]

[แก้] เกร็ด

  • ก่อนหน้าที่จะมีการจัดซื้อเรือหลวงธนบุรีนั้น ชื่อของเรือนี้ได้ปรากฏอยู่ในบทละครพูดเรื่อง ร.ต.ล. นนทรี ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารสมุทรสาร ประจำเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2459
  • การถ่ายถอดชื่อเรือหลวงธนบุรีเป็นอักษรโรมันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น Dhonburi, Dornbury สำหรับกองทัพเรือไทยใช้ว่า Thonburi[2]

[แก้] ภาพชุดเรือหลวงธนบุรี

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ "แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญกล้าหาญ. 26 สิงหาคม 2484" ราชกิจจานุเบกษา. 58 (2 กันยายน 2484) : 2810-2811.
  2. ^ เรือรบในรัชสมัย ร.8 - บทความชุด วันจักรี ของเว็บไซต์กองทัพเรือไทย

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น