บุศย์ ปัทมศริน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สามจำเลยผู้ถูกประหารชีวิตในกรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8 พ.ศ. 2489 (จากซ้าย) นายชิต สิงหเสนี นายบุศย์ ปัทมศริน และนายเฉลียว ปทุมรส

บุศย์ ปัทมศริน เป็นอดีตมหาดเล็กห้องบรรทมในรัชกาลที่ 8 ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เมื่อ พ.ศ. 2489 ต่อมาได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวและได้รับการตัดสินโทษประหารชีวิตในปี พ.ศ. 2498

นายบุศย์ ปัทมศรินเป็นบุตรของขุนวิเศษเสนีกับนางปุก ปัทมศริน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2443 จบการศึกษาระดับมัธยมศีกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้ารับราชการครั้งแรกในกรมปลัดบัญชี ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครใน พ.ศ. 2488 จึงได้เลื่อนเป็นมหาดเล็กตั้งเครื่อง และมหาดเล็กห้องบรรทมตามลำดับ

เมื่อเกิดเหตุการณ์การสวรรคตของรัชกาลที่ 8 นายบุศย์ได้ขึ้นให้การต่อคณะกรรมการสอบสวนพฤตติการณ์ในการที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต หรือ "ศาลกลางเมือง" ในฐานะพยานสำคัญ เนื่องจากนายบุศย์เป็น 1 ใน 2 คนที่อยู่ใกล้ชิดกับห้องพระบรรทมของรัชกาลที่ 8 มากที่สุด แต่ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2490 นายบุศย์พร้อมด้วยบุคคลอื่นอีก 4 คน ได้ถูกจับกุมด้วยข้อหามีส่วนร่วมในการวางแผนลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ซึ่งต่อมาอัยการได้สั่งฟ้องนายบุศย์พร้อมกับผู้ต้องหาอีก 2 คน คือ นายเฉลียว ปทุมรส และนายชิต สิงหเสนี

ในการพิจารณาคดีชั้นศาล ศาลอาญาได้พิพากษาให้ปล่อยตัวนายบุศย์ แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาให้ประหารชีวิตนายบุศย์พร้อมกับนายชิต ที่สุดแล้วเมื่อมีการพิจารณาในชั้นศาลฎีกา ได้มีการพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยในคดีนี้ทั้ง 3 คนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2497 นายบุศย์จึงได้ถูกนำตัวไปประหารชีวิตที่เรือนจำบางขวาง ในเช้ามืดวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 เวลา 5.10 น. ขณะมีอายุได้ 55 ปี ศพของเขาได้รับการบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฎกษัตริยาราม

ในเวลาต่อมาได้มีการวิเคราะห์และศึกษาเกี่ยวกับกรณีสวรรคต โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ปรากฏในภายหลังคดีได้รับการพิพากษา ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานในหมู่ผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวว่า นายบุศย์ ปัทศริน พร้อมทั้งจำเลยร่วมอีก 2 คนที่ถูกประหารชีวิตพร้อมกัน น่าจะเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีนี้[1]

[แก้] อ้างอิง

  • เก็บความจาก อนันต์ อมรรตัย. แผนการปลงพระชนม์ ร.8 ของนายปรีดี พนมยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : จิรวรรณนุสรณ์, 2526.