เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ม.ร.ว. สดับ2.jpg
เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ (๖ มีนาคม ๒๔๓๓- ๓ มิถุนายน ๒๕๒๖) เป็นเจ้าจอมคนรองสุดท้ายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เจ้าจอมคนสุดท้ายคือ เจ้าจอมเเส) นอกจากนั้นท่านยังเป็นคนสุดท้ายที่ได้ร้องเพลง นางร้องไห้ และเจ้าจอมคนสุดท้ายของราชวงศ์จักรีที่ยังดำรงชีพและเสียชีวิตในยุคปัจจุบันนี้

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

[แก้] วัยเยาว์

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์ สดับ ลดาวัลย์ เกิดเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๓๓ เป็นธิดาใน หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ ซึ่งเป็นพระโอรสใน กรมหมื่นภูมินทรภักดี พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมช้อย

เมื่อท่านมีอายุได้ ๑๑ ปี หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนัก พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับในฐานะพระญาติ และยังโปรดให้เรียนหนังสือทั้ง ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ รวมทั้งหัดงานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ นอกจากความอัฉริยภาพและความงามแล้ว ความมีเสียงอันไพเราะของท่าน ยังเป็นคุณสมบัติที่โดดเด่นด้วย ดังใน บทพระราชนิพนธ์เงาะป่า ว่า

"แม่เสียงเพราะเอย น้ำเสียงเจ้าเสนาะ เหมือนดังใจพี่จะขาด เจ้าร้องลำนำ ยิ่งซ้ำพิสวาท พี่ไม่วายหมายมาด รักเจ้าเสียงเพราะเอย"

[แก้] ถวายตัว

เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๙ หม่อมราชวงศ์สดับได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วันนี้ท่านได้รับพระราชทาน "กำไลมาศ" จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้จากบางสะพาน หนักสี่บาท ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน มีตัวอักษรซึ่งเป็นบทกลอนพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสลักไว้บริเวณด้านบนของกำไลว่า

กำไลมาศชาตินพคุณแท้ ไม่ปรวนแปรเป็นอื่นย่อมยืนสี
เหมือนใจตรงคงคำร่ำพาที จะร้ายดีขอให้เห็นเป็นเสี่ยงทาย
ตาปูทองสองดอกตอกสลัก ตรึงความรักรัดไว้อย่าให้หาย
แม้รักร่วมสวมใส่ไว้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย

วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด และทั้งตลอดชีวิตของท่าน เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมิได้ถอดออกจากข้อมือเลย จวบจนชีวิตท่านหาไม่แล้ว หม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร ผู้เป็นหลานสาวจึงเป็นผู้ที่ถอดออกให้ และได้ถวาย "กำไลมาศ" แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นเอง

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์

[แก้] ร. ๕ เสด็จประพาสยุโรป

วันที่หม่อมราชวงศ์ได้เล่าว่าเป็นวันที่ทุกข์ที่สุดก็คือ วันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ เนื่องจากก่อนรัชกาลที่ ๕ จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น ทรงมีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จไปยุโรปด้วย ในฐานะข้าหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตตินารี ถึงกับสอนภาษาอังกฤษพระราขทานเองก่อนเสวยพระกระยาหารทุกคืน แต่มีเหตุขัดข้อง จึงมิอาจเป็นไปตามพระราชดำรินั้นได้

แม้กระนั้น พระองค์ก็ได้มีพระราชหัตเลขามาถึงทุกสัปดาห์ เมื่อได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้ว ท่านก็แสดงอาการดีใจออกมาทุกครั้ง แต่อาการนั้นทำให้เกิดความรู้สึกริษยาจากคนรอบข้างโดยที่ท่านไม่รู้ตัว ทำให้พระวิมาดาเธอฯ ในฐานะผู้ปกครองจึงทรงต้องเข้มงวดกวดขันกิริยาอาการ ตลอดไปถึงข้อความในจดหมาย ด้วยเกรงว่าจะเขียนกราบทูลในเรื่องไม่สมควรไป

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับถึงพระนคร ก็ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างชาติมาถ่ายรูป โดยทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทาน และโปรดพระราชทานตู้ที่ระลึก ยังทรงจัดของตั้งแต่งในตู้นั้นอีกด้วย อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาท่านขึ้นเป็นพระสนมเอก อันเป็นตำแหน่งที่แม้เจ้าจอมมารดาบางท่านรับราชการมาช้านานยังไม่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านซึ่งเป็นเพียงเด็กสาวรุ่น และเพิ่งเข้ามารับราชการไม่นานนักกลับได้รับพระเมตตาไว้ในตำแหน่งที่สูงถึงเพียงนี้ ยิ่งก่อให้เกิดความริษยาจากคนรอบข้าง ด้วยวัยเพียง ๑๗ ปี ท่านจึงได้เล่าถึงความรู้สึกครั้งนั้นว่า

"...เหลียวไปพบแต่ศตรู คุณจอมนั้นส่อเสียดว่าอย่างนั้น คุณจอมนี้ว่าอย่างนี้ ตรองดูทีหรือข้าพเจ้าจะย่อยยับแค่ไหน"

ด้วยความอายุยังน้อย ขาคความยั้งคิด ท่านจึงตัดสินใจทำลายชีวิตตนเองด้วยการดื่ม น้ำยาล้างรูป

[แก้] ปลายรัชกาล

ครั้นเมื่อท่านมีอายุได้ ๒๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ท่านมีความทุกข์ และเศร้าโศกอย่างยิ่ง ท่านได้กล่าวไว้ว่า

"..ใจคิดจะเสียสละได้ทุกอย่าง จะอวัยวะหรือเลือดเนื้อ หรือชีวิตถ้าเสด็จกลับคืนมาได้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นใจที่คิดแน่วแน่ว่าตายแทนได้ไม่ใช่แค่พูดเพราะๆ ...คุณจอมเชื้อเอาผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่งมาให้ข้าพเจ้า บอกว่าท่านได้ประทานไว้ซับพระบาท ข้าพเจ้าจึงเอาผ้าที่ซับพระบาทนั้นแล้วพันมวยผมไว้ แล้วก็นั่งร้องไห้กันต่อไปอีก..."

ครั้งสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณคือ การเป็นต้นเสียงนางร้องไห้หน้าพระบรมศพ

บทเพลง นางร้องไห้ มีอยู่ทั้งหมด ๕ บท ดังนี้

พระร่มโพธิ์ทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระเสด็จไปสู่สวรรค์ชั้นใด ละข้าพระบาทยุคลไว้ พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระยอดฟ้า พระสุเมรุทอง พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระเสด็จผ่านพิภพแห่งใด ข้าพระบาทจะตามเสด็จไป พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย
พระทูลกระหม่อมแก้ว พระพุทธเจ้าข้าเอย

[แก้] สิ้นรัชกาล

เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ในวัยชรา

ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับมีอายุเพียง ๒๐ ปี ทำให้ท่านเป็นที่จับตามองจากคนรอบข้างว่าจะสามารถครองตัวครองใจเป็นหม้ายได้ต่อไปตลอดหรือไม่

หลังจากนั้นอีกไม่นาน ท่านได้ถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมาแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯจนหมดสิ้น สมเด็จฯก็ได้ทรงรับไว้แล้วโปรดเกล้าฯให้นำไปขายที่ยุโรป แล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งสิ้น นอกจากนั้นท่านยังหันไปยึดมั่นในพระพุทธศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอีกด้วย

จนเมื่อท่านเจ้าจอมนั้นมีวัยชราแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ในช่วงเวลานี้นี่เอง ที่ท่านได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์อีกครั้ง โดยการถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง เช่น

  • วิธีถักตาชุนหรือ ถักสไบ ที่เรียกกันว่า กรองทอง
  • วิธีทำน้ำอบ น้ำปรุง
  • ยาดมส้มโอมือ ฯลฯ

ตลอดจนถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆในพระราชสำนักเมื่อครั้งกระนั้น ให้ชนรุ่นหลังได้ฟังและจดบันทึกไว้ นับเป็นประโยชน์มาก เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๖ สิริรวมอายุได้ ๙๓ ปี

[แก้] อ้างอิง