นาซีเยอรมนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มหาจักรวรรดิเยอรมัน
Deutsches Reich
(ดอยท์เชสไรช์)
Großdeutsches Reich
(โกรสส์ดอยท์เชสไรช์)
1933–1945
คำขวัญ "Ein Volk, ein Reich, ein Führer."

"หนึ่งประชาชน หนึ่งจักรวรรดิ หนึ่งผู้นำ"

เพลงชาติ ดาสลีดแดร์ดอยท์เชน

(อย่างเป็นทางการ)
ดาสลีดแดร์ดอยท์เชน บทที่ 1
ตามด้วยเพลงฮอร์สทเวสเซลลีด

แผนที่แสดงที่ตั้ง ของนาซีเยอรมนี
อาณาเขตของนาซีเยอรมนีช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

นาซีเยอรมนี (อังกฤษ: Nazi Germany) หรือ จักรวรรดิไรช์ที่สาม (อังกฤษ: The Third Reich) เป็นชื่อเรียกสามัญของประเทศเยอรมนี ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1933-1945 ซึ่งมีการปกครองระบอบชาติสังคมนิยมภายใต้ผู้เผด็จการอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคชาติสังคมนิยมกรรมกรแห่งชาติเยอรมัน[8] นาซีเยอรมนีตั้งอยู่บนทวีปยุโรป มีเมืองหลวง คือ กรุงเบอร์ลิน ชื่ออย่างเป็นทางการของประเทศ คือ จักรวรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Deutsches Reich) และ มหาจักรวรรดิเยอรมัน (เยอรมัน: Großdeutsches Reich) นับตั้งแต่ ค.ศ. 1943 เป็นต้นมา[9]

ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและอีกหลายปัจจัย ส่งผลให้ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งมุขมนตรีแห่งเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1933 ซึ่งดำเนินนโยบายฟื้นฟูเกียรติภูมิของชาติ จนถือได้ว่านาซีเยอรมนีเป็นชาติมหาอำนาจของโลกแห่งหนึ่งด้วยเช่นกัน[10] นาซียังได้มีแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างหนัก นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1934 เป็นต้นมา ส่วนนโยบายด้านการต่างประเทศของนาซีเยอรมนีอยู่บนพื้นฐานแนวคิด เลเบนสเราม์ (เยอรมัน: Lebensraum) อันเป็นนโยบายก้าวร้าวซึ่งถือได้ว่านำเยอรมนีเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง[11]

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองได้เริ่มต้นขึ้น กองทัพเยอรมันสามารถรบชนะประเทศเพื่อนบ้านในทวีปยุโรปและแอฟริกาเหนือได้เกือบทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้พื้นที่และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมทั้งมีการสังหารชาวยิวและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในดินแดนยึดครองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "การล้างชาติโดยนาซี" ทว่าแม้จะดำเนินนโยบายเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจชาติอื่น คือ อิตาลีและญี่ปุ่น ก็ตาม แต่กองทัพอักษะพ่ายแพ้ให้แก่กองทัพผสมสัมพันธมิตร ในปี ค.ศ. 1945 ทำให้รัฐนาซีเยอรมนีถึงคราวสิ้นสภาพในที่สุด และถูกยึดครองโดยมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร; ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร[12]

เนื้อหา

[แก้] เกี่ยวกับชื่อ

ในปี ค.ศ. 1933 เมื่อฮิตเลอร์ก้าวขึ้นสู่อำนาจ ชื่อของรัฐยังคงใช้อย่างเดิม (Deutsches Reich; จักรวรรดิเยอรมัน แต่หมายความถึง สาธารณรัฐไวมาร์)[13] แต่ในเวลาไม่กี่ปีต่อมา ฮิตเลอร์ได้ใช้คำว่า จักรวรรดิไรช์ที่สาม (เยอรมัน: Drittes Reich) ซึ่งเริ่มต้นมาจากนักเขียนต่อต้านประชาธิปไตยหัวเก่าในช่วงปลายสาธารณรัฐ ตามข้อเท็จจริงแล้ว "นาซีเยอรมนี" เป็นเพียงคำที่ใช้ในทางการโฆษณาชวนเชื่อและมิได้ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ อีกคำหนึ่งซึ่งใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ ได้แก่ จักรวรรดิพันปี (เยอรมัน: Tausendjähriges Reich) ในภายหลัง ฮิตเลอร์ได้ยกเลิกคำว่า จักรวรรดิไรช์ที่สาม อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1939[14] แต่คำดังกล่าวยังคงแพร่หลายในกลุ่มผู้สนับสนุนและกลุ่มผู้ต่อต้าน

[แก้] ประวัติศาสตร์

ดูบทความหลักที่ ประวัติศาสตร์เยอรมนี

[แก้] สมัยสาธารณรัฐไวมาร์

"นาซีเยอรมนี" ก่อร่างขึ้นจากความตระหนักในเกียรติภูมิของชาติ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและผลจากสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ในปี ค.ศ. 1929 เช่นเดียวกับลัทธิชาตินิยม อุดมการณ์รวมชาติ การก่อความไม่สงบ ปฏิกิริยาต่อต้านการถือประเพณีและเสรีนิยมในสมัยไวมาร์ และความรุ่งเรืองของคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เริ่มให้การสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจัดและขวาจัด ซึ่งมีแนวคิดทางการเมืองสุดโต่งแทน

ประชาชนเริ่มให้การสนับสนุนพรรคนาซี ซึ่งสัญญาที่จะรักษาความสงบเรียบร้อย เสนอการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และฟื้นฟูเกียรติภูมิของประเทศ[15] การโฆษณาชวนเชื่อของนาซีโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ระบบการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ พร้อมกล่าวโจมตีกลุ่มบุคคลหลายกลุ่ม[15]

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1925 มาจนถึงคริสต์ทศวรรษ 1930 รัฐบาลเยอรมันได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบอำนาจนิยม ชาตินิยมและอนุรักษนิยม ภายใต้ประธานาธิบดีและวีรบุรุษสงคราม พอล ฟอน ฮินเดนบูวร์ก[16] ในช่วงนี้พรรคนาซีได้รับคะแนนเสียงต่ำมาก แต่หลังปี ค.ศ. 1929 พรรคนาซีได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1932 พรรคนาซีเป็นพรรคที่ครองที่นั่งมากที่สุดในสภาไรช์สทัก[17]

[แก้] การรวมอำนาจ

หลังจากที่มุขมนตรีหลายคนก่อนหน้าไม่สามารถรักษาอำนาจของตนไว้ได้ ในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 ฮิตเลอร์จึงเข้ารับตำแหน่งมุขมนตรีเยอรมนี แต่พรรคนาซีมิได้ครองเสียงข้างมากในสภา ประธานาธิบดีฮินเดนบูวร์กจึงประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 5 มีนาคม ซึ่งในระหว่างนี้ พรรคนาซีได้ดำเนินการก่อการร้ายต่อคู่แข่งทางการเมือง[18]

เพลิงไหม้รัฐสภาไรช์สทัก

ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้รัฐสภาไรช์สทัก ซึ่งพรรคนาซีใช้เป็นข้ออ้างในการจับกุมพวกสังคมนิยมและพวกคอมมิวนิสต์ พร้อมกับออกกฤษฎีกาว่าด้วยเพลิงไหม้รัฐสภาไรช์สทัก ซึ่งถือเป็นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไม่มีกำหนดตลอดระยะเวลาการปกครองของนาซี[19] อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งใหม่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ปรากฏว่าพรรคนาซีก็ไม่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภาเช่นเดิม ฮิตเลอร์จึงตัดสินใจตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคประชาชาติเยอรมัน (DNVP) ตามความในมาตราที่ 48 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ ค.ศ. 1919[20] และด้วยความช่วยเหลือของพันธมิตรทางการเมือง รัฐบัญญัติมอบอำนาจได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ทำให้ฮิตเลอร์สามารถออกกฎหมายได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภาเป็นเวลาสี่ปี[21] และภายในไม่กี่เดือน ฮิตเลอร์ได้ยุบพรรคการเมืองอื่นทั้งหมด จนกระทั่งประกาศตนเป็นรัฐพรรคการเมืองเดียว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1933[22]

ต่อมา ฮิตเลอร์ได้รับอำนาจเพิ่มขึ้นหลังจากบัญญัติ เกเซทสอือแบร์เดนนอยเอาฟโบเดสไรช์ (เยอรมัน: Gesetz über den Neuaufbau des Reichs: บัญญัติแห่งการสร้างจักรวรรดิใหม่) รัฐบาลท้องถิ่นได้ถูกแทนที่ด้วยคณะรัฐบาลนาซี ไรช์ซสทัททัลเทอร์ (เยอรมัน: Reichsstatthalter)[23] พร้อมกับการที่รัฐบาลเข้าเป็นเจ้าขององค์กรและสโมสรเกือบทุกแห่งในประเทศ เช่นเดียวกับกองทัพบก ซึ่งพอใจกับพรรคนาซี[22] เพียงแต่ไม่ต้องการมีฐานะเป็นรองหน่วยเอสเอ[24] ความขัดแย้งระหว่างกองทัพบกกับหน่วยเอสเอนำไปสู่เหตุการณ์คืนแห่งมีดเล่มยาว (อังกฤษ: Night of the Long Knives) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1934 ซึ่งได้มีการสังหารหมู่บุคคลระดับผู้นำของหน่วยเอสเอจำนวนมาก[25]

ในวันที่ 2 สิงหาคม 1934 ประธานาธิบดีฮินเดนบูวร์กถึงแก่อสัญกรรม ฮิตเลอร์ได้รวมเอาตำแหน่งประธานาธิบดีและมุขมนตรีเข้าด้วยกัน อีกทั้งกองทัพบกยังได้ปฏิญาณที่จะเชื่อฟังฮิตเลอร์อย่างไม่มีเงื่อนไข[26] ฮิตเลอร์ได้ใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจับกุมพวกคอมมิวนิสต์ พวกสังคมนิยมและชาวยิว การใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดของรัฐบาลส่งผลให้รัฐบาลปราศจากผู้ต่อต้าน[21] ซึ่งคาดว่าจนถึงปี ค.ศ. 1945 มีชาวเยอรมันราว 3 ล้านคนถูกส่งไปยังเรือนจำด้วยเหตุผลทางการเมือง[27]

การรวมอำนาจของพรรคนาซียังรวมไปถึงการควบคุมระบบการศึกษา วิทยุและสถาบันทางวัฒนธรรม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจะถูกปลดออกจากตำแหน่ง โจเซฟ เกิบเบิลส์ให้ความสำคัญกับธุรกิจภาพยนตร์เยอรมนี ซึ่งได้มีการกดดันให้ภาพยนตร์ทำการโฆษณาชวนเชื่อแก่ชาวเยอรมัน[28] ภายในเวลาไม่นานนักการจัดระเบียบทางสังคมก็เสร็จสิ้น ฮิตเลอร์จึงเริ่มฟื้นฟูฐานะของเยอรมนีในเวทีโลกต่อไป[28]

[แก้] เส้นทางสู่สงคราม

ฮิตเลอร์หันไปให้ความสนใจในด้านการต่างประเทศมากกว่านโยบายภายในประเทศ เป้าหมายหลักของเขาคือการยึดครองดินแดนทางตะวันออกไปจนถึงสหภาพโซเวียต[28] ในปี ค.ศ. 1935 การฟื้นฟูกำลังทหารในเยอรมนีเป็นไปอย่างรวดเร็ว[29] รวมทั้งมีการเกณฑ์ทหาร[30] และการสร้างกองทัพอากาศ ทั้งยังได้รับอนุญาตให้มีกองเรือขนาด 35% ของราชนาวีอังกฤษ[31] และในปี ค.ศ. 1936 ฮิตเลอร์ยึดครองไรน์แลนด์โดยปราศจากปฏิกิริยารุนแรงจากพันธมิตรตะวันตก[32] ซึ่งนับเป็นการขยายดินแดนครั้งแรกในสมัยนาซีเยอรมนี

ในปีเดียวกัน ฮิตเลอร์ได้ประกาศว่าเยอรมนีต้องพร้อมเข้าสู่สงครามในปี ค.ศ. 1940 พร้อมกับเริ่มแผนการสี่ปี[33] อุตสาหกรรมหนักของเยอรมนีได้ลงนามในข้อตกลงผลิตอาวุธให้กับรัฐบาลขนานใหญ่ ทำให้เยอรมนีมีอาวุธจำนวนมากที่พร้อมเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ฮิตเลอร์ประมาณว่าสงครามที่เกิดขึ้นจะกินเวลาไม่นานนัก ทำให้อาวุธดังกล่าวไม่มีการผลิตเพื่อทดแทน[34]

ตำรวจเยอรมันในออสเตรีย ระหว่างอุบัติการณ์ อันชลูสส์

ระหว่างปี ค.ศ. 1938-1939 เยอรมนีได้ผนวกดินแดนเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก: ออสเตรีย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1938, ซูเตเดนแลนด์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1938, โบฮีเมียและโบราเวีย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939[34] ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้นเมื่อเยอรมนีรุกรานโปแลนด์

[แก้] สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 การรุกรานโปแลนด์เริ่มต้นขึ้น อีกสองวันถัดมา สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนี แต่ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน โปแลนด์ก็ถูกแบ่งออกเป็นเขตการยึดครองของเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ตามข้อตกลงลับในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอปซึ่งลงนามไว้ก่อนหน้านี้[35] ไม่มีการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างเยอรมนีกับฝ่ายสัมพันธมิตรราว 6 เดือน[36] จนกระทั่งการทัพนอร์เวย์ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1940 เยอรมนีได้ขยายดินแดนไปทางเหนือ ตามด้วยการรุกรานฝรั่งเศสและกลุ่มประเทศต่ำ ในเดือนพฤษภาคม แต่ในยุทธการแห่งบริเตน ซึ่งเป็นการเตรียมการสำหรับการรุกรานเกาะอังกฤษทางบก[37] เยอรมนีได้เผชิญกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรก[38] ฮิตเลอร์จึงหันไปให้ความสนใจในการโจมตีสหภาพโซเวียตแทน[39]

ดินแดนยึดครองของเยอรมนีและพันธมิตรอักษะ (ในสีน้ำเงิน) ราว ค.ศ. 1942

ในช่วงปี ค.ศ. 1940-1941 เยอรมนีสามารถยึดครองเกือบทุกประเทศในทวีปยุโรป โดยส่งทหารรุกรานยูโกสลาเวีย กรีซและเกาะครีตในแถบคาบสมุทรบอลข่าน[40] ในทวีปแอฟริกา กองทัพเยอรมันรุกเข้าไปถึงอียิปต์[41] ด้วยสภาวะเช่นนี้ เยอรมนีต้องทำศึกหลายด้าน หากแต่แผนการรุกรานสหภาพโซเวียตยังคงดำเนินการต่อไป ซึ่งนับว่าผิดหลักยุทธศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ช่วงปลายปี ค.ศ. 1941 กองทัพเยอรมันรุกเข้าไปในสหภาพโซเวียตถึง 1,689 กิโลเมตร[42] แต่ก็ถูกหยุดยั้งที่มอสโกในฤดูหนาวที่โหดร้าย[43] อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร

หลังปี ค.ศ. 1942 นับเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากสำหรับเยอรมนี ทางด้านตะวันตก เยอรมนีเผชิญกับการทิ้งระเบิดทางอากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่พลเมืองและสาธารณูปโภค[44] พอถึงปี ค.ศ. 1943 ในการทัพแอฟริกาเหนือ กองทัพอักษะล่าถอยจากอียิปต์ไปจนถึงตูนิเซีย[45] และเกาะซิซิลีของอิตาลี และในแนวรบด้านตะวันออก กองทัพเยอรมันก็ถูกผลักดันออกมาจากเลนินกราดและสตาลินกราด[46] เช่นเดียวกับความพยายามที่ล้มเหลวในการตีโต้ที่เคิสก์[47] และในปี ค.ศ. 1944 ปฏิบัติการขนาดใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร – ปฏิบัติการบากราติออนและปฏิบัติการโอเวอร์ลอร์ด – ส่งผลให้กองทัพแดงรุกถึงโปแลนด์ในแนวรบด้านตะวันออก[48] และฝ่ายสัมพันธมิตรรุกถึงแม่น้ำไรน์ในแนวรบด้านตะวันตก[49]

ทหารโซเวียตโบกธงค้อนเคียวเหนืออาคารรัฐสภาไรช์สทัก

ปฏิบัติการในการยับยั้งกองทัพสัมพันธมิตรล้วนแต่ประสบความล้มเหลว และราวเดือนเมษายน ค.ศ. 1945 กองทัพสัมพันธมิตรได้รุกเข้าสู่เยอรมนีทั้งทางตะวันตกและทางตะวันออก กรุงเบอร์ลินตกอยู่ใต้วงล้อมของกองทัพโซเวียต ฮิตเลอร์เจ็บป่วยอย่างหนักและตัดสินใจฆ่าตัวตาย[50] โดยส่งมอบอำนาจต่อให้แก่พลเรือเอก คาร์ล เดอนิตช์[51]

[แก้] ยอมจำนนและล่มสลาย

จำเลยในการพิจารณาคดีเนือร์นแบร์ก

เดอนิตช์พยายามที่จะติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขอยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไข[52] เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ได้มีการยอมจำนนอย่างเป็นทางการ[53] ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดการคงอยู่ของนาซีเยอรมนี[54]

ในเดือนสิงหาคม ได้มีการจัดการประชุมพอตสดัมระหว่างผู้นำมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อกำหนดข้อตกลงและแนวทางสำหรับอนาคตของเยอรมนี รวมทั้งเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของเยอรมนีอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามผู้นำและนายทหารระดับสูงของนาซีที่เนือร์นแบร์ก[55] จำเลยทั้งหมดถูกพิจารณาคดีเกี่ยวกับข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งมีจำนวนหนึ่งที่ถูกตัดสินประหารชีวิตและบางส่วนถูกตัดสินจำคุก

การแบ่งแยกปกครองเยอรมนีเริ่มต้นขึ้นภายใต้การจัดตั้งสภาควบคุมฝ่ายสัมพันธมิตร และแบ่งเยอรมนีและกรุงเบอร์ลินออกเป็น 4 ส่วน ให้อยู่ในการควบคุมของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต โดยส่วนที่ปกครองโดยสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส รวมตัวกันเป็นเยอรมนีตะวันตก และส่วนที่สหภาพโซเวียตปกครองกลายมาเป็นเยอรมนีตะวันออก เยอรมนีทั้งสองเป็นสนามรบของสงครามเย็นในทวีปยุโรป ก่อนที่จะมีการรวมประเทศอีกครั้งในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20

[แก้] ภูมิศาสตร์

เยอรมนีตั้งอยู่ในเขตที่ราบต่ำตอนกลางทวีปยุโรป[56] มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนอยู่สามแห่ง: เขตที่ราบต่ำตอนเหนือ เขตภูเขาตอนกลาง และเขตที่ราบสูงและลุ่มแม่น้ำทางใต้ ดินทางตอนเหนือนั้นมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก และมีป่าสนกินอาณาเขตกว้างขวางตามตีนเขาของเทือกเขาที่ลากผ่านตอนกลางของประเทศ[57]

ในด้านการคมนาคม ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ เยอรมนีมีทางน้ำในประเทศความยาวรวมกว่า 7,000 ไมล์ ซึ่งในจำนวนนี้มีความสำคัญทางเศรษฐกิจถึง 4,830 ไมล์[58] มีเมืองท่าที่สำคัญ คือ ดูอิสบูวร์ก-รูรอร์ท ฮัมบูร์ก และเบอร์ลิน[58] เช่นเดียวกับคลองคีล ซึ่งมีสินค้าผ่านคลองกว่า 9.4 ล้านตันต่อปี ในปี ค.ศ. 1936[59] นอกจากนั้น เยอรมนียังมีทางรถไฟยาวกว่า 43,000 ไมล์[59]; ในปี ค.ศ. 1937 เยอรมนีมีระบบถนนยาว 134,000 ไมล์ และทางหลวงขนาดใหญ่ (เอาโตบาเนน) ยาว 3,150 ไมล์ ในปี ค.ศ. 1939[60]

เกษตรกรรมในประเทศประสบความสำเร็จอย่างมาก และสามารถปลูกพืชได้หลายชนิด ในปี ค.ศ. 1936 ราว 61% ของพื้นที่ทั้งประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูก[61] โดยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวไรย์ มันฝรั่ง ชูการ์บีท และไม้องุ่น[62] มีทรัพยากรแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ ถ่านหิน ปิโตรเลียม[63] ทองแดง สังกะสี และดีเกลือ[64]

ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่งผลให้เยอรมนีเสียดินแดนไปกว่า 13% และอาณานิคมทั้งหมด[65] รวมทั้งเสียเขตอุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองพอทแทช และแหล่งแร่เหล็กที่สำคัญ[66] การเปลี่ยนแปลงดินแดนทำให้เยอรมนีมีพรมแดนทางเหนือติดต่อกับเดนมาร์ก ทะเลเหนือ และทะเลบอลติก; ทางทิศตะวันตกติดต่อกับฝรั่งเศส เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ ไรน์แลนด์ และซาร์ลันด์; ทางทิศตะวันออก เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยติดต่อกับโปแลนด์ ลิทัวเนีย นครเสรีดานซิก และเชโกสโลวาเกีย ส่วนทางทิศใต้มีออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์ แม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านได้แก่ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำดานูบ และแม่น้ำเอลเบ

[แก้] การเปลี่ยนแปลงดินแดน

การแบ่งเขตการปกครองของนาซีเยอรมนีในปี ค.ศ. 1943

ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สอง พื้นที่ซึ่งมีพลเมืองชาวเยอรมันอาศัยอยู่ อย่างเช่น ออสเตรีย, ซูเตเดนแลนด์, ดินแดนมาเมล รวมทั้งดินแดนซึ่งผนวกรวมภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติ ได้แก่ ออยเปน-เอท-มัลเมอดี, อัลซาซ-ลอร์เรน, ดานซิก และดินแดนบางส่วนของโปแลนด์ นอกจากนั้น ระหว่างปี ค.ศ. 1939-1945 แคว้นโบฮีเมียและโบราเวีย ถูกปกครองในฐานะรัฐในอารักขาของเยอรมนี[67] ซึ่งเยอรมนีมีอำนาจควบคุมและบริหารประเทศ แต่ยังอนุญาตให้มีสกุลเงินตราเป็นของตัวเอง

เช็กไซลีเซียรวมเข้ากับจังหวัดไซลีเซียในช่วงเวลาเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1942 ลักเซมเบิร์กถูกผนวกรวมเข้ากับเยอรมนีโดยตรง[68] โปแลนด์ตอนกลางและแคว้นกาลิเซียถูกจัดให้อยู่ภายใต้การบริหารรัฐการของรัฐบาลในอารักขา ซึ่งมีชื่อว่า เจอเนอรัล กอเฟิร์นเมนท์ (เยอรมัน: General Government)[69] ในตอนปลายปี ค.ศ. 1943 จังหวัดบอลซาโน-โบเซน และอิสเตรีย ซึ่งเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก่อนหน้าปี ค.ศ. 1919 ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี เช่นเดียวกับตรีเอสเต จากอิตาลี ชาติพันธมิตรของตน ภายหลังได้ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร

ดินแดนที่เยอรมนีสูญเสียไปหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง

ผลจากการประชุมพอตสดัม ดินแดนที่ผนวกรวมกับเยอรมนีนับตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เป็นต้นมา เช่น ซูเตเดนแลนด์ ได้ถูกโอนคืนให้กับเจ้าของเดิม และให้เลื่อนพรมแดนทางด้านตะวันออกมาจนถึงแนวโอเดอร์-นิซเซ่ ซึ่งทำให้เนื้อที่ของประเทศลดลงประมาณ 25% เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ซึ่งวัดเมื่อปี ค.ศ. 1937; ดินแดนซึ่งอยู่ทางตะวันออกของแนวโอเดอร์-นิซเซ่ อันประกอบด้วย ปรัสเซียตะวันออก ไซลีเซีย ปรัสเซียตะวันตก ราวสองในสามของแคว้นโพเมอราเนีย และบางส่วนของบรันเดนบูร์ก ฝรั่งเศสยังได้ยึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของแคว้นซาร์ ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมถ่านหินที่สำคัญของเยอรมนีที่เหลืออีกด้วย ดินแดนส่วนใหญ่ที่เยอรมนีเสียไปนี้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ยกเว้น อัปเปอร์ไซลีเซีย ซึ่งเป็นศูนย์อุตสาหกรรมหนักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของเยอรมนี

การเปลี่ยนแปลงดินแดนดังกล่าวส่งผลกระทบให้ชาวเยอรมันราว 14 ล้านคน[70] ถูกขับออกจากดินแดนซึ่งอยู่นอกพรมแดนของประเทศเยอรมนีใหม่ โดยมีผู้เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์คราวนี้ประมาณ 1-2 ล้านคน[70] เช่นเดียวกับเมืองใหญ่น้อยทั้งหลาย เช่น สเท็ททิน, เคอนิกซเบิร์ก, เบรสเลา, เอลบิง และดานซิก ที่ได้ขับชาวเยอรมันออกจากเมืองเช่นกัน

[แก้] การปกครอง

หลังจากวันที่ 14 กรกฎาคม 1933 นาซีเยอรมนีกลายเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบพรรคการเมืองเดียวและเผด็จการเบ็ดเสร็จ ภายใต้พรรคนาซี การปกครองของนาซีเยอรมนีได้แบ่งเขตการปกครองของประเทศออกเป็นมณฑลย่อย เรียกว่า "เกา" ซึ่งเริ่มแรกนั้น เยอรมนีแบ่งออกเป็น 32 เกา แต่ว่าภายหลัง ในปี 1938 พรรคนาซีได้ออกนโยบายไกลช์ชอัลทุง ซึ่งให้ยุบการปกครองในระดับท้องถิ่นและในระดับรัฐ แล้วให้ขึ้นตรงต่อพรรคนาซี ซึ่งเป็นรัฐบาลกลางของประเทศ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง นาซีเยอรมนีสามารถยึดครองดินแดนอื่นได้[71] จึงได้สร้างการปกครองขึ้นมาใหม่ เรียกว่า "ไรช์เกา" (เยอรมัน: Reichsgau) ขึ้น จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1945 นาซีเยอรมนีมีเขตการปกครองรวมทั้งสิ้น 42 เกา[72]

[แก้] แนวคิดการปกครองของนาซี

สัญลักษณ์แห่งหน่วยเอสเอ
ภาพโปสเตอร์เกณฑ์หน่วยยุวชนฮิตเลอร์ คำบรรยายโปสเตอร์อ่านได้ว่า:"เยาวชนรับใช้ท่านผู้นำ เด็กสิบขวบทุกคนจงเป็นยุวชนฮิตเลอร์"

การปกครองในนาซีเยอรมนีมีส่วนคล้ายกันมากกับการปกครองตามลัทธิฟาสซิสต์ ซึ่งได้ถือกำเนิดในอิตาลี ภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินี[73] ทว่าอย่างไรก็ตาม พรรคนาซีไม่เคยประกาศตนเองว่ายึดถือลัทธิฟาสซิสต์เลย ทั้งลัทธินาซีและลัทธิฟาสซิสต์ต่างก็เป็นแนวคิดทางการเมืองแบบนิยมทหาร ชาตินิยมและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ และการสร้างเสริมกำลังทหารของตัวเอง รวมไปถึงทั้งสองแนวคิดตั้งใจที่จะสร้างรัฐเผด็จการ แต่ว่าสิ่งที่ทำให้ลัทธินาซีแตกต่างจากลัทธิฟาสซิสต์ในอิตาลี สเปนและโปรตุเกส นั่นคือ การกีดกันทางเชื้อชาติ[74] แนวคิดนาซียังได้พยายามสร้างรัฐที่รวมอำนาจเข้าสู่บุคคลคนเดียวอย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งไม่เหมือนกับลัทธิฟาสซิสต์ที่ได้ส่งเสริมการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่บุคคลคนเดียว แต่ยังคงอนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพบางส่วนได้ ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้น คือ อิตาลียังคงเป็นการปกครองแบบราชาธิปไตยอยู่เช่นเดิม และพระมหากษัตริย์แห่งอิตาลีก็ยังคงหลงเหลืออำนาจที่มีอย่างเป็นทางการอยู่ดี อย่างไรก็ตาม ลัทธินาซีไม่ค่อยมีอะไรเป็นของตัวเอง ฮิตเลอร์ได้ลอกแบบสัญลักษณ์ตามอย่างฟาสซิสต์อิตาลี (ส่วนเครื่องหมายสวัสดิกะลอกแบบมาจากอินเดีย) ทั้งยังรวมไปถึง การทำความเคารพแบบโรมันมาใช้เป็นการทำความเคารพฮิตเลอร์ และมีการใช้พวกที่แต่งตัวเหมือนกับทหารมาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค (ในนาซีเยอรมนี คือ เอสเอ ส่วนในฟาสซิสต์อิตาลี คือ พวกเชิ้ตดำ) ฮิตเลอร์ยังได้ลอกการเรียก "ผู้นำของประเทศ" มาจากอิตาลีด้วย ("ฟือเรอร์" มีความหมายถึง ท่านผู้นำ ในนาซีเยอรมนี ส่วนในฟาสซิสต์อิตาลีใช้คำว่า "ดูเช่" (Duce)) ทั้งสองเป็นแนวคิดที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์[75][76] มีแนวคิดที่จะทำสงคราม และยังสนับสนุนระบบเศรษฐกิจสายกลางระหว่างลัทธิทุนนิยมและคอมมิวนิสต์ (เรียกว่า corporatism) พรรคนาซีปฏิเสธสัญลักษณ์แห่งลัทธิฟาสซิสต์ และยืนยันว่าตนยึดหลักตามแนวชาติสังคมนิยม แต่ว่า นักวิเคราะห์หลายท่านก็ยังจัดให้แนวคิดชาติสังคมนิยมให้เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิฟาสซิสต์อยู่ดี

แนวคิดเผด็จการของพรรคนาซีนั้นเป็นไปตามหลักคำสอนของลัทธินาซี พรรคนาซีได้บอกแก่ชาวเยอรมันว่าความสำเร็จของชาติเยอรมนีในอดีตและประชากรชาวเยอรมันนั้นมีความเชื่อมโยงกับแนวคิดตามแบบชาติสังคมนิยม แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะยังไม่มีแนวคิดดังกล่าวก็ตาม การโฆษณาชวนเชื่อได้เพิ่มความน่าเชื่อถือและความแข็งแกร่งของแนวคิดของนาซี และสร้างความมีชื่อเสียงให้แก่ฟือเรอร์ ซึ่งก็คือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ถูกวาดภาพให้เป็นอัจฉริยะที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของพรรคนาซีและผู้ที่นำประเทศเยอรมนีให้พ้นภัย

เพื่อที่จะรักษาความสามารถที่จะสร้างรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ พรรคนาซีได้สร้างองค์กรของตัวเอง เป็นพวกที่แต่งตัวเหมือนกับทหาร คือ หน่วยเอสเอ หรือ "หน่วยวายุ" ซึ่งมีหน้าที่จัดการกับพวกหัวซ้ายจัด พวกประชาธิปไตย ชาวยิว และคู่แข่งอื่นๆ หรือกลุ่มทางการเมืองขนาดเล็ก ความป่าเถื่อนของหน่วยเอสเอได้สร้างความกลัวให้แก่พลเมืองของประเทศ ทำให้ชาวเยอรมันหวาดกลัวต่อการถูกลงโทษ ซึ่งบางครั้งถึงตาย ถ้าหากพวกเขาออกนอกลู่นอกทางที่พรรคนาซีได้วางเอาไว้ นอกจากนั้น หน่วยเอสเอยังได้มีส่วนช่วยในการดึงดูดเยาวชนที่แปลกแยกจากสังคมหรือว่างงานเข้าสู่พรรคนาซีอีกด้วย

"ปัญหาของชาวเยอรมัน" ตามที่มักถูกกล่าวถึงในการศึกษาของอังกฤษ ได้พุ่งเป้าไปยังการปกครองของเยอรมนีทางภาคเหนือและภาคกลางของทวีปยุโรป และเป็นแก่นสำคัญตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์เยอรมนี[77] ตามหลัก "ตรรกวิทยา" ของการรักษาให้ชาวเยอรมันทำงานเบาๆ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และได้ถูกส่งไปปั่นป่วนการสร้างรัฐโปแลนด์ขึ้นมาใหม่หลังจากนั้น โดยมีเป้าหมาย คือ ถ่วงน้ำหนักจำนวนมากในความพยายามที่จะสร้าง "ความลงตัวของเยอรมนี"

พรรคนาซียังได้มีความคิดของการสร้าง Großdeutschland หรือ เยอรมนีอันยิ่งใหญ่ และเชื่อว่าการรวมชาวเยอรมันเข้าด้วยกันเป็นประเทศเดียวจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำพาประเทศให้ประสบความสำเร็จ แรงสนับสนุนอย่างจริงจังของนาซีต่อแนวคิดเรื่องประชาชนซึ่งอยู่ในหลักการเยอรมนีอันยิ่งใหญ่นำไปสู่การขยายตัวของเยอรมนี ให้ความชอบธรรมและการสนับสนุนสำหรับจักรวรรดิไรช์ที่สามที่จะเดินหน้าใช้กำลังเข้าควบคุมดินแดนของเยอรมนีที่เคยสูญเสียไปในอดีต ที่มีประชากรที่ไม่ใช่เยอรมันอาศัยอยู่มาก หรืออาจเข้ายึดครองในดินแดนที่ชาวเยอรมันอาศัยเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว พรรคนาซีมักอ้างถึงแนวคิดของเยอรมนีที่เรียกว่า Lebensraum (พื้นที่อาศัย) ซึ่งกล่าวถึงความจำเป็นในการเพิ่มประชากรเยอรมัน เพื่อเป็นข้ออ้างในการขยายดินแดน

เป้าหมายที่สำคัญสำหรับพรรคนาซีได้แก่การยุบรวมเอาฉนวนโปแลนด์และนครเสรีดานซิกเข้าสู่จักรวรรดิไรช์ที่สาม ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งของนโยบายการแบ่งแยกเชื้อชาติของนาซี แผนการ Lebensraum มีส่วนที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ กล่าวคือ พรรคนาซีเชื่อว่ายุโรปตะวันออกควรจะเป็นดินแดนที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมัน และประชาชนชาวสลาฟที่อยู่ในแผ่นดินของนาซีเยอรมนี พวกเขาเหล่านั้นจะถูกใช้เป็นแรงงานราคาถูกหรือถูกเนรเทศไปทางทิศตะวันออกต่อไป[78]

การเหยียดผิวและเผ่าพันธุ์นิยม ถือได้ว่าเป็นลักษณะสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนาซีเยอรมนี พรรคนาซีได้รวมเอาแนวคิดต่อต้านเซมไมท์และต่อต้านคอมมิวนิสต์ และรวมไปถึงขบวนการหัวเอียงซ้ายข้ามชาติ และทุนนิยมตลาดสากลเช่นกัน ดังที่เป็นผลงานของ "พวกยิวที่สมรู้ร่วมคิด" ซึ่งยังได้หมายความรวมไปถึงขบวนการ อย่างเช่น "การปฏิวัติพวกต่ำกว่ามนุษย์ ยิว-บอลเชวิค"[79] ผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากเกิดการโยกย้าย กักตัวและการสังหารชาวยิวและชาวโซเวียตอย่างเป็นระบบขนานใหญ่ตามแนวรบด้านตะวันออก ทำให้ประชาชนเสียชีวิตไปอย่างน้อย 11 ถึง 12 ล้านคน ในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า "การล้างชาติพันธุ์โดยนาซี"[80]

[แก้] คณะรัฐบาลแห่งนาซีเยอรมนี (1933-1945)

การเมืองของนาซีเยอรมนีมีรูปแบบของการแข่งขันเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ด้วยการพยายามสร้างความประทับใจให้แก่ฟือเรอร์ คือ ฮิตเลอร์ กฎหมายหลายข้อได้ถูกละเลยและแทนที่ด้วยการตีความกฎหมายในแบบที่ฮิตเลอร์ต้องการ ดังนั้น คำสั่งของฮิตเลอร์จึงมีลักษณะคล้ายกับกฎหมายของประเทศ ซึ่งเรียกกันว่าเป็น "การทำงานกับฟือเรอร์" (Working with Führer) ดังนั้น รัฐบาลของนาซีเยอรมนีจึงไม่ได้ทำงานประสานกันอย่างแน่นแฟ้น และเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยา หรือตัวใครตัวมัน ความพยายามของแต่ละส่วนที่แสวงหาอำนาจและอิทธิพลเหนือตัวฟือเรอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายของฮิตเลอร์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้จำนวนมาก ซึ่งได้ทำให้สมาชิกพรรคนาซีที่ไร้คุณธรรมและมีความมักใหญ่ใฝ่สูงแสวงหาบุคคลผู้ให้ความสนับสนุนและประกอบกับธรรมชาติอันรุนแรงของแนวคิดของฮิตเลอร์ จึงทำให้เกิดการกระทำเพื่อต้องการผลประโยชน์ทางการเมืองขึ้น เกอเบิลได้โฆษณาชวนเชื่อรูปแบบของรัฐบาลแห่งนาซีเยอรมนีอย่างประสบผล ว่ารัฐบาลเป็นสิ่งที่ควรอุทิศ ยกย่องและลงตัวอย่างมีประสิทธิภาพ การแข่งขันในหมู่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลและการออกกฎหมายอันไร้ระเบียบ ได้เพิ่มให้รัฐบาลอยู่นอกการควบคุมมากขึ้น นักประวัติศาสตร์ได้ลงความเห็นระหว่าง "ลัทธินิยมสากล" (Internationalists) ซึ่งเชื่อว่าฮิตเลอร์ได้วางแผนโครงสร้างรัฐบาลให้มีลักษณะเช่นนี้ เพื่อต้องการสร้างความจงรักภักดีและความอุทิศตัวให้แก่ผู้สนับสนุนของเขา และป้องกันการเกิดการสมรู้ร่วมคิดขึ้น หรือไม่ก็เป็นแบบ "ลัทธิโครงสร้างนิยม" (Structuralists) ซึ่งเชื่อว่าโครงสร้างของรัฐบาลได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง และให้การสนับสนุนอำนาจเผด็จการของฮิตเลอร์เพียงน้อยนิด

คณะรัฐบาลดังกล่าวมีอายุ 12 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 1933 ถึงวันที่ 30 เมษายน 1945 หลังจากที่ฮิตเลอร์ยิงตัวตายในหลุมหลบภัยใต้ดินในกรุงเบอร์ลินแล้ว เขาได้สืบทอดอำนาจต่อให้แก่คาร์ล เดอนิตช์ ด้วยความปรารถนาที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของเขาต่อไปอีก

โครงสร้างและผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในรัฐบาลแห่งนาซีเยอรมนี ประกอบด้วย

[แก้] สำนักงานแห่งชาติ

ภาพของทำเนียบรัฐบาลแห่งเยอรมนีในปัจจุบัน

[แก้] คณะรัฐมนตรี

[แก้] คณะรัฐบาลเฟลนซเบิร์ก (1945)

คณะรัฐบาลเฟลนซเบิร์กเป็นรัฐบาลชั่วคราวของนาซีเยอรมนีหลังจากวันที่ 30 เมษายน 1945 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งพลเรือเอกคาร์ล เดอนิตช์ให้เป็นประธานาธิบดีแห่งนาซีเยอรมนี เดอนิตช์ได้ย้ายที่ทำการรัฐบาลจากเบอร์ลินไปยังเฟลนซเบิร์ก ใกล้กับชายแดนเยอรมนี-เดนมาร์ก เป้าหมายของเขาก็คือ การยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกองทัพสัมพันธมิตรที่รุกมาทางตะวันตก มิใช่กับกองทัพโซเวียตผู้รุกรานมาทางทิศตะวันออก คณะรัฐบาลเฟลนซ์เบิร์กสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 และคณะรัฐมนตรีทั้งหมดถูกจับกุมตัวโดยกองทัพสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1945

คณะรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลเฟลนซเบิร์ก ประกอบด้วย

[แก้] เศรษฐกิจ

สกุลเงินไรช์มาร์ก ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ใช้กันในนาซีเยอรมนี

เมื่อพรรคนาซีมีอำนาจปกครองเยอรมนีใหม่ๆ นั้น เยอรมนีมีอัตราว่างงานสูงถึง 30%[81] นโยบายด้านเศรษฐกิจของนาซีเยอรมนีถือกำเนิดมาจากแนวคิดของ ฮยัลมาร์ ชอัคท์ ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานแห่งธนาคารเยอรมนีในช่วงที่พรรคนาซีขึ้นมามีอำนาจ และได้กลายมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปีเดียวกัน[81] เขาเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีด้านการเงินเพียงไม่กี่คนที่ใช้ประโยชน์จากการสิ้นสุดของมาตรฐานทองคำ เพื่อคงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำและอัตราขาดดุลของรัฐบาลให้สูง และให้กิจการงานสาธารณะขนาดใหญ่ได้รับการอัดฉีดจากรัฐบาลกลาง[81] ซึ่งได้ส่งผลให้อัตราการว่างงานของชาวเยอรมันลดลงอย่างรวดเร็ว และนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่[81] ในที่สุดแล้ว นโยบายเศรษฐกิจแบบเคนส์นี้ก็ได้รับการส่งเสริมจากการสร้างกองกำลังทหารขึ้นมาใหม่และการเพิ่มงบประมาณทางด้านการทหารนั่นเอง

ในปี 1937 ฮยัลมาร์ ชอัคท์ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งแทนคือ ร้อยเอก เฮอร์แมน เกอริง ผู้ซึ่งได้เสนอแผนการเศรษฐกิจสี่ปีซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำให้เยอรมนีสามารถทำสงครามได้ภายในเวลาสี่ปี[81] แผนการดังกล่าวได้กำหนดให้ลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (หรืออาจถึงขั้นยกเลิกการนำเข้าไปเลย) [82] อัตราค่าจ้างและราคาสินค้าทั่วประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน เงินปันผลถูกกำหนดเอาไว้ไม่เกิน 6% ของวงเงินในบัญชี และตั้งเป้าหมายทางยุทธศาสตร์อันได้แก่ การเพิ่มจำนวนของเครื่องจักรการผลิตยาง โรงงานผลิตเหล็กและโรงงานผลิตสิ่งทออัตโนมัติ ซึ่งคล้ายกันมากกับนโยบายทางเศรษฐกิจในช่วงแรกของสหภาพโซเวียต[81]

จากการที่พรรคนาซีได้แทรกแซงเศรษฐกิจของประเทศขนานใหญ่ และดำเนินนโยบายการสร้างกำลังทหารขึ้นอีกอย่างมโหฬาร ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 จึงแทบไม่มีอัตราการว่างงานในเยอรมนีเลย (สถิตินี้ไม่รวมชาวต่างประเทศและสตรี) อัตราค่าจ้างภายในเยอรมนีลดลงกว่า 25% ระหว่างปี 1933 ถึงปี 1938[83] สหภาพการค้าถูกยกเลิก รวมไปถึงไม่อนุญาตให้มีสัญญาซื้อขายระหว่างกันและสิทธิในการหยุดงานประท้วง[84] รัฐบาลยังห้ามมิให้ประชาชนลาออกจากงานของตน โดยรัฐบาลได้ออกบัญชีแรงงานในปี 1935 ถ้าหากแรงงานต้องการที่จะลาออกเพื่อไปทำงานใหม่ จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าจ้างคนก่อนหน้าเสียก่อน[84] นอกจากนั้น ยังมีการออกกฎบังคับเพื่อกำหนดแนวทางการลงทุนให้เป็นไปตามความต้องการของรัฐ แทนที่การลงทุนเพื่อหากำไรตามปกติ ในที่สุดการออกเงินทุนโดยรัฐบาลก็เข้าครอบงำขั้นตอนการลงทุน โดยสัดส่วนของหลักทรัพย์ที่ออกโดยภาคเอกชนนั้นลดลงอย่างมาก จากมากกว่า 50% ในปี 1933 และ 1934 เหลือเพียงประมาณ 10% ในปี 1935 ถึงปี 1938 บริษัทที่ออกเงินทุนเองก็ถูกจำกัดด้วยอัตราภาษีกำไรที่สูงมาก แม้บริษัทใหญ่ ๆ ได้รับการยกเว้นจากภาษีกำไร แต่ทว่ารัฐก็ควบคุมบริษัทเหล่านี้อย่างเข้มงวดจนทำให้"เหลือเพียงแต่เปลือกของความเป็นบริษัทเอกชนเท่านั้น"[85]

ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของนาซีเยอรมนีอีกด้านหนึ่งพุ่งเป้าหมายไปยังการสร้างกำลังทหารขึ้นมาใหม่ และเพิ่มจำนวนทหารบกของเยอรมนีจาก 100,000 นาย ให้กลายเป็นหลายล้านนาย แผนการสี่ปีดังกล่าวได้รับการพิจารณาในที่ประชุมฮอสซบัค เมโมรันดุม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาให้ผ่านแผนการดังกล่าว

แต่ถึงกระนั้น แผนการสี่ปีของเกอริงจะหมดอายุในปี ค.ศ. 1940 แต่สงครามได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว เกอริงได้จัดตั้ง "ที่ทำการแผนการสี่ปี" ซึ่งเป็นหน่วยงานเพื่อควบคุมสภาพเศรษฐกิจของเยอรมนีและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลานั้น ในปี 1942 การที่สงครามโลกขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง ทำให้เศรษฐกิจของนาซีเยอรมนีต้องกลายมาเป็นเศรษฐกิจสงคราม ภายใต้การนำของอัลเบิร์ต สเพียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาวุธยุทธภัณฑ์และอุตสาหกรรมสงคราม

เศรษฐกิจสงครามของนาซีเยอรมนีไม่สามารถสรุปได้อย่างเจาะจงว่าเป็น "ตลาดเสรี" หรือ "ตลาดควบคุม" ริชาร์ด โอเวอร์รี่ กล่าวว่า: "เศรษฐกิจของเยอรมนีอยู่ระหว่างม้านั่งสองตัว มันทั้งไม่ใช่ระบบเผด็จการอย่างระบบของโซเวียต หรือทุนนิยมอย่างระบบของอเมริกัน ในการหาวิสาหกิจเอกชน"[86][87]

[แก้] กฎหมาย

รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์ในฉบับพ็อกเกตบุ๊ค

โครงสร้างทางกฎหมายของนาซีเยอรมนีนั้นได้รับสืบทอดมาจากสาธารณรัฐไวมาร์ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของตัวกฎหมายเกิดขึ้น รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาลไปพอสมควร พรรคนาซีถือว่าเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพรรคการเมืองเดียวในเยอรมนี พรรคการเมืองอื่นที่เกิดขึ้นในประเทศจะถูกยุบพรรค กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนส่วนมากได้ถูกตัดออกจากกฎหมายไรช์เกสเซทเท (กฎหมายแห่งจักรวรรดิไรช์) คนกลุ่มน้อยบางพวก เช่น ชาวยิว นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และเชลยสงครามริดรอนสิทธิและหน้าที่ที่พึงมี และร่างกฎหมายวอล์คซ์ซตราฟเกสเซทซบุค ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1933 แต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง

นอกจากนั้น พรรคนาซียังได้จัดตั้งศาลใหม่ขึ้นมา คือ วอล์คส์เกอร์ริชท์ชอฟ หรือ ศาลประชาชน ในปี 1934 แต่มีหน้าที่จัดการเฉพาะเกี่ยวกับคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 1943 จนถึงเดือนกันยายน 1944 ศาลประชาชนได้มีคำสั่งประหารชีวิตไปกว่า 5,375 คน และตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 1944 จนถึงเดือนเมษายน 1945 ศาลมีคำสั่งประหารชีวิตอีกไม่ต่ำกว่า 2,000 คน ผู้พิพากษาของศาลประชาชนเป็นนักกฎหมายชื่อดัง โรแลนด์ ไฟรซ์เลอร์ ตั้งแต่ปี 1942 จนถึงปี 1945

ร่างกฎหมายที่สำคัญในสมัยของนาซีเยอรมนีส่วนใหญ่แล้วจะมาจากความเห็นชอบของฮิตเลอร์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น กฎหมายของนาซีเยอรมนีจึงเป็นเผด็จการเต็มรูปแบบ และส่วนใหญ่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยตัวอย่างกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในนาซีเยอรมนี ได้แก่

[แก้] การทหาร

กองทัพแห่งนาซีเยอรมนี เรียกว่า Wehrmacht ซึ่งเป็นชื่อเรียกของกองกำลังติดอาวุธของเยอรมนีตั้งแต่ปี 1935 ถึงปี 1945 อันประกอบด้วย Heer (กองทัพบก) Kriegsmarine (กองทัพเรือ) Luftwaffe (กองทัพอากาศ) และองค์การทางทหาร Waffen-SS (กองกำลังรักษาประเทศ) ซึ่งทางพฤตินัยแล้วเป็นส่วนหนึ่งของ Wehrmacht เช่นกัน ในสมัยของนาซีเยอรมนี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ถือได้ว่าเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดทั้งกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ

กองทัพบกเยอรมันถูกจำกัดจำนวนไว้ที่ 100,000 นายตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย ฮิตเลอร์ซึ่งมีความเกลียดชังเนื้อหาในสนธิสัญญาแวร์ซาย เขาได้แอบสร้างอาวุธอย่างลับๆ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ หรือนำเข้าอาวุธจากต่างประเทศ โดยที่ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่อาจตรวจจับได้ หลังจากนั้นก็สั่งระดมพลทั้งประเทศในปี 1935 ซึ่งชาวเยอรมันตั้งแต่ 18-45 ปีจะต้องไปเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงการสร้างกองทัพอากาศอีกในปีเดียวกัน แต่ทว่าทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสต่างก็ไม่ได้ต่อต้านแต่ประการใด เนื่องจากยังเชื่อมั่นว่าฮิตเลอร์จะปรารถนาสันติภาพ ต่อมา กองทัพเรือเองก็ได้รับการเพิ่มจำนวนจากผลของข้อตกลงการเดินเรืออังกฤษ-เยอรมัน

เครื่องบินเมชเชอร์ชมิตต์ เมอ-262 ชวาเบิล เครื่องบินขับไล่เจ็ตรุ่นแรกของโลก

กองทัพเยอรมันได้พัฒนาแนวคิดที่ได้ริเริ่มขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อันเป็นปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพบกและกองทัพอากาศ ซึ่งเมื่อรวมกับรูปแบบการรบโบราณ อย่างเช่น การล้อม และ "การรบแห่งการทำลายล้าง" กองทัพเยอรมันสามารถได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งนักข่าวหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันเรียกว่า "การโจมตีสายฟ้าแลบ" นักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันเชื่อว่ามีทหารเยอรมันในกองทัพไม่ต่ำกว่า 18,200,000 นาย กองทัพเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สองสูญเสียชีวิตทหารไปอย่างน้อย 5,533,000 นาย[88]

ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคนาซีได้ใช้กองทัพในการล้างชาติพันธุ์[89] ซึ่งเป็นที่รู้กันดีตั้งแต่นายทหารชั้นสัญญาบัตรไปจนกระทั่งผู้บัญชาการระดับสูง[90] และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมและการสังหารหมู่ประชาชนในเขตยึดครอง[91] ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมสงครามต่อมวลมนุษยชาติ

การพัฒนาทางด้านการทหารของนาซีเยอรมนีเจริญไปจนถึงขั้นมีโครงการทดลองระเบิดปรมาณูของตัวเอง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์สองคน ออตโต ฮัห์น และฟริตซ์ สเตรสแมน ซึ่งได้ยืนยันผลการทดลองขั้นแรกของตนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 1939[92] [93] แต่ทว่าเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ดังนั้นการทดลองจึงยังไม่สัมฤทธิ์ผล[94]

[แก้] สังคม

[แก้] การศึกษา

การศึกษาภายใต้การปกครองของนาซีเยอรมนีจะมุ่งเน้นไปยังชีววิทยาเชื้อชาติ นโยบายประชากร วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ และที่สำคัญที่สุด คือ ความแข็งแกร่งทางร่างกาย[95] นโยบายต่อต้านเซมไมท์ได้ทำให้พรรคนาซีออกคำสั่งให้ชาวยิวไม่สามารถเป็นครูอาจารย์หรือศาสตราจารย์ตามสถานศึกษาของรัฐได้[95] และศาสตราจารย์ตามมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเป็นสมาชิกของสมาคมผู้บรรยายตามมหาวิทยาลัยแห่งชาติสังคมนิยม (อังกฤษ: National Socialist Association of University Lecturers) เสียก่อนจึงจะสามารถสมัครเข้าสู่ระบบการศึกษาได้[96]

[แก้] ความเป็นอยู่ทางสังคม

การโฆษณารถเคดีเอฟ-วาเกินของรัฐบาลนาซี ซึ่งเป็นรถราคาถูกสำหรับชาวเยอรมัน

พรรคนาซีได้ให้ความสำคัญแก่ความเป็นอยู่ทางสังคมของชาวเยอรมัน จึงให้การสนับสนุนลดอัตราการว่างงานของชาวเยอรมันและรับรองความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งเขาได้พุ่งความสนใจไปยังแนวคิดการอยู่ร่วมกันของชาวเยอรมันมากที่สุด พรรคนาซีมีวิธีการที่ช่วยให้ชาวเยอรมันมีความรู้สึกถึงการอยู่ร่วมกัน เช่น การใช้แรงงานของชาวเยอรมันและการหา ประสบการณ์บันเทิง ซึ่งได้แก่ การจัดงานรื่นเริง การเดินทางท่องเที่ยวและโรงหนังกลางแปลง ที่เรียกกันว่าโครงการ "ความแข็งแกร่งผ่านความรื่นเริง" (เยอรมัน: Kraft durch Freude, KdF) นอกจากนี้แล้ว พรรคนาซียังได้พยายามสร้างความจงรักภักดีและมิตรภาพ โดยการสนับสนุนบริการกรรมกรแห่งชาติ และองค์การยุวชนฮิตเลอร์ ด้วยวิธีการเกณฑ์ให้เข้าร่วมกับองค์กรของรัฐ ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว โครงการสถาปัตยกรรมหลายแห่งได้รับหน้าที่ให้ทำการก่อสร้าง โครงการเคดีเอฟได้ผลิตเคดีเอฟ-วาเกิน หรือที่ภายหลังรู้จักกันในนาม "โฟล์กสวาเกน" (รถของประชาชน) ซึ่งมีราคาถูก และชาวเยอรมันสามารถจะมีกำลังซื้อได้ และมันยังถูกสร้างขึ้นมาในข้อที่ว่าจะพัฒนาขีดความสามารถของมันให้เป็นพาหนะสงครามได้ และที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การสร้างออโตบาน ซึ่งเป็นถนนที่ไม่จำกัดความเร็วสายแรกของโลก[97] (ทว่าข้อมูลจากบางแห่งกลับไม่เชื่อว่าพรรคนาซีจะเป็นผู้ริเริ่มโครงการออโตบาน) [98]

[แก้] สาธารณสุข

นาซีเยอรมนีได้ให้ความสำคัญแก่ด้านสาธารณสุขอย่างมาก ไม่เหมือนกับที่หลายคนเข้าใจ[99] จากการศึกษาวิจัยของโรเบิร์ต เอ็น. พร็อกเตอร์ จากหนังสือ The Nazi War on Cancer ของเขา[100][101] เขาเชื่อว่านาซีเยอรมนีเป็นประเทศที่มีการต่อต้านบุหรี่อย่างหนักที่สุดในโลก คณะวิจัยเกี่ยวกับโทษของบุหรี่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล[102] และนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าควันพิษจากบุหรี่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งเป็นครั้งแรกของโลก[103][104][105][106] ต่อมา นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันได้ทำการวิจัยศึกษาการระบาดวิทยา และในปี 1943 ผลการทดลองที่ศึกษาจากอีเบอร์ฮาร์ด ไชร์เรอร์ และอีริช เชอนิเกอร์ ซึ่งได้ข้อสรุปอย่างน่าเชื่อถือ ว่าการสูบบุหรี่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด[107] รัฐบาลนาซียังได้บอกให้แพทย์แนะนำให้ประชาชนหยุดการสูบบุหรี่เสีย

การวิจัยเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ได้ชะลอตัวในช่วงระหว่างสงคราม ซึ่งกว่านักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันและชาวอังกฤษจะค้นพบผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมนี้ก็เป็นช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 ไปแล้ว[99] นักวิทยาศาสตร์นาซียังได้พิสูจน์ว่าเส้นใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ในปี 1943 เยอรมนียอมรับว่าโรคที่เกิดจากเส้นใยหิน เช่นมะเร็งปอด เป็นโรคที่เกิดระหว่างการปฏิบัติงานและยอมให้ค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นประเทศแรกของโลก

นโยบายด้านสาธารณสุขโดยทั่วไปของเยอรมนี ได้แก่ การทำความสะอาดแหล่งน้ำ การตรวจหาตะกั่วและปรอทในสินค้าที่ผลิตในเยอรมนี และสตรีในเยอรมนียังได้รับคำแนะนำให้ไปตรวจหามะเร็งเต้านม[100][101]

[แก้] สิทธิสตรี

รัฐบาลนาซีไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยสตรีและลัทธิเฟมินิสต์ ด้วยเหตุผลว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นการกระทำของชาวยิวและเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับชาวเยอรมัน พรรคนาซีได้สนับสนุนแนวคิดการปกครองฉันพ่อลูก ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวได้อบรมสตรีชาวเยอรมันว่า "โลกเป็นสามีของเธอ ครอบครัวของเธอ ลูกของเธอ และเป็นบ้านของเธอ"[108] ฮิตเลอร์ได้กล่าวว่าเพศหญิงที่ใช้แรงงานหนักเหมือนกับเพศชายในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่จะไม่เป็นผลดีต่อครอบครัว เนื่องจากว่าในตอนนั้น เพศหญิงจะได้รับอัตราค่าจ้างเพียง 66% เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างของเพศชาย[108] จากคำแถลงดังกล่าว ฮิตเลอร์จึงมิได้พิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างให้แก่สตรีชาวเยอรมัน แต่บอกให้พวกเธออยู่กับบ้านแทน พร้อมกับที่ว่าขอให้สตรีชาวเยอรมันลาออกจากงานที่ทำนอกบ้านเสีย และให้สนับสนุนรัฐเกี่ยวกับกิจการสตรีอย่างแข็งขัน ในปี 1933 ฮิตเลอร์ได้เลือกเอาเกอร์ทรุด ชอลทซ์-คลิงก์ ขึ้นเป็นผู้นำสตรีแห่งจักรวรรดิไรช์ ซึ่งเธอได้กล่าวถึงบทบาทหลักของสตรีในสังคมคือ การให้กำเนิดบุตร และสตรีควรจะมีหน้าที่รับใช้บุรุษ ดังที่เธอเคยกล่าวว่า "ภารกิจของสตรีคือการทำนุบำรุงเรือนของตน และยอมรับความจำเป็นของชีวิต ตั้งแต่วินาทีแรกจนถึงวินาทีสุดท้ายของบุรุษ"[108] ซึ่งแนวคิดนี้ยังมีอิทธิพลไปถึงสตรีชาวอารยันที่ได้แต่งงานกับบุรุษชาวยิวอีกด้วย จึงทำให้เกิดเหตุการณ์การประท้วงโรเซนสเทรซเซ ที่สตรีชาวเยอรมันกว่า 1,800 คน (พร้อมทั้งญาติ 4,200 คน) เรียกร้องให้นาซีปล่อยสามีชาวยิวของพวกเธอ

การปกครองแบบนาซีส่งผลให้สตรีชาวเยอรมันไม่กล้าที่จะศึกษาหาความรู้ต่อในระดับมัธยมศึกษา วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย[109] จำนวนสตรีที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยลดลงอย่างรุนแรงในสมัยนาซีเยอรมนี ซึ่งลดลงจาก 128,000 คน ในปี 1933 เหลือเพียง 51,000 คน ในปี 1938[96] จำนวนเด็กหญิงที่ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาลดลงจาก 437,000 คน ในปี 1926 เหลือเพียง 205,000 คน ในปี 1937[96] อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้องบรรจุเพศชายเข้าสู่กองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้จำนวนสตรีในระบบการศึกษานับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของทั้งหมดในปี 1944[96]

พรรคนาซีได้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาหลายองค์กรเพื่อสั่งสอนแนวคิดนาซีให้แก่สตรีชาวเยอรมัน อย่างเช่น ยุงมาเดิล (เยอรมัน: Jungmädel, หมายถึง "เด็กหญิง") ซึ่งเป็นโครงการยุวชนฮิตเลอร์สำหรับเด็กหญิงอายุ 10-14 ปี และ บุนด์ ดอยท์เชอร์ เมเดล (เยอรมัน: Bund Deutscher Mädel อังกฤษ: BDM, German Girl's League) สำหรับเด็กสาวอายุระหว่าง 14-18 ปี

แต่นาซีมีท่าทีที่แตกต่างระหว่างเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ของสตรีกับการกำหนดบทบาทของสตรีในสังคม พรรคนาซีมีหลักเกณฑ์ที่เสรีเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์และให้ความเห็นอกเห็นใจสตรีที่ต้องเลี้ยงบุตรนอกสมรส การเลือนหายไปของจริยธรรมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 กลับถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นอีกในการปกครองของนาซีเยอรมนี บางส่วนหายไปจากการปกครองตามลัทธินาซี และบางส่วนหายไประหว่างสงคราม ความเลวทรามได้เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อสงครามดำเนินต่อไป เหล่าทหารหนุ่มโสดมักจะมีความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวกับผู้หญิงหลายคนในเวลาเดียวกัน สตรีที่แต่งงานแล้วมักมีหลายความสัมพันธ์ในเวลาเดียวกัน ทั้งกับทหาร พลเรือนหรือแม้แต่ชนชั้นกรรมกร "ภรรยาชาวไร่ในวึรท์เทมเบิร์กได้เริ่มมีใช้เพศสัมพันธ์เป็นสินค้า โดยใช้การตอบสนองทางเพศเพื่อจ้างกรรมกรต่างด้าวให้ทำงานเต็มวัน"[110] การแต่งงานและการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลจะถูกแบ่งระหว่างผู้ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ "อารยัน" และผู้ที่นอกเหนือจากนั้นที่ถูกเรียกว่า "รัสเซนชันเดอ" (เยอรมัน: Rassenschande) ซึ่งถือเป็นความผิดและจะต้องโทษ (ชาวอารยันจะถูกส่งไปค่ายกักกัน และผู้ที่ไม่ใช่อารยันจะต้องโทษประหาร)

แม้ว่าบทบาทของสตรีในสังคมเยอรมันจะลดน้อยถดถอยลงไปมาก แต่สตรีบางคนก็ยังมีบทบาทสำคัญ ซึ่งได้รับการยกย่องสรรเสริญและประสบความสำเร็จในชีวิต อย่างเช่น ฮันนา ไรท์ช นักบินประจำตัวฮิตเลอร์ และเลนิ ไรเฟนสทฮัล ผู้กำกับภาพยนตร์และดารา

ตัวอย่างที่น่าเยาะเย้ยของความแตกต่างระหว่างคำสั่งสอนของลัทธินาซีและการปฏิบัติตนนั้นคือ ถึงแม้การมีเพศสัมพันธ์กันในค่ายของยุวชนฮิตเลอร์จะถูกห้ามอย่างชัดเจน ค่ายของเด็กชายกับเด็กหญิงกลับถูกวางให้อยู่ใกล้กันราวกับจะต้องการให้เกิดเพศสัมพันธ์ขึ้น อีกทั้งสมาชิกของบุนด์ ดอยท์เชอร์ เมเดล มักจะตั้งครรภ์ (หรือมีผลกระทบไปถึงการสมรสในภายหลัง) เมื่อได้รับมอบหมายให้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับชายที่ยั่วยุได้ง่าย[111]

[แก้] การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ในปี 1935 พรรคนาซีได้ผ่าน "บัญญัติแห่งการอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งไรช์" ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายตามลัทธินาซีอย่างแท้จริง เพราะมีอิทธิพลมาตั้งแต่ก่อนที่พรรคนาซีจะขึ้นสู่อำนาจเสียอีก อย่างไรก็ตาม มันก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของพรรคนาซี แนวคิดของ "ดาวเออร์วัลด์" (เยอรมัน: Dauerwald) หรือ "ป่านิรันดร์" (อังกฤษ: Perpetual forest) อันเป็นการรวบรวมแนวคิดการบริหารและการอนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งพรรคนาซีได้นำเสนอว่าป่าไม้สามารถป้องกันมลภาวะทางอากาศได้[112][113]

[แก้] นโยบายอนุรักษ์สัตว์

ในปี 1933 พรรคนาซีได้ร่างกฎหมายอันเข้มงวดเพื่อกำหนดการอนุรักษ์สัตว์ขึ้นมา[114][115] ทำให้การล่าสัตว์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในนาซีเยอรมนี[116] ซึ่งแม้แต่ในประเทศเยอรมนีในปัจจุบัน ก็ยังมีการสืบทอดกฎหมายการปกป้องสัตว์ของนาซีมาจนถึงปัจจุบันไม่มากก็น้อย[117] แต่ว่าผลของกฎหมายดังกล่าวก็มีผลน้อยมากในการบังคับใช้[118] เนื่องจากพรรคนาซีเห็นว่ายังมีความจำเป็นที่ต้องชำแหละสัตว์เพื่อการศึกษาทางการแพทย์[119]

[แก้] นโยบายกีดกันทางเชื้อชาติ

พรรคนาซีได้แบ่งประชากรออกเป็นสองประเภทคือ "เชื้อชาติอารยัน" และ "ไม่ใช่เชื้อชาติอารยัน" ซึ่งหมายถึงชาวยิวหรือชนกลุ่มน้อยอื่น สำหรับเชื้อชาติอารยันแล้ว พรรคนาซีได้ออกนโยบายทางสังคมซึ่งเอื้อประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มนี้ และเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งรวมไปถึงยกโทษให้แก่เด็กที่เกิดจากบิดามารดานอกสมรส รวมไปถึงให้การสนับสนุนทางการเงินให้แก่ครอบครัวชาวอารยันซึ่งให้กำเนิดบุตร[110]

พรรคนาซีดำเนินนโยบายกีดกันโดยการข่มเหงและสังหารผู้ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนาของสังคมและผู้ที่ไม่ควรจะได้รับผลประโยชน์จากนโยบายทางเชื้อชาติและสังคม ซึ่งเรียกว่าเป็น "ศัตรูของรัฐ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "พวกที่ต่ำกว่ามนุษย์" อย่างเช่น ชาวยิว ชาวยิปซี ผู้นับถือลัทธิพยานพระเยโฮวาห์[120] ซึ่งรวมไปถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางจิตและทางกาย ซึ่งได้แก่ ไร้สมรรถภาพและรักร่วมเพศ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 แผนการของพรรคนาซีที่จะแยกหรือจนกระทั่งสังหารชาวยิวได้เริ่มต้นขึ้นในนาซีเยอรมนีด้วยการสร้างนิคมชาวยิว ค่ายกักกัน และค่ายแรงงาน ในปี 1933 ค่ายกักกันดาเชาเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งฮิมม์เลอร์ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของค่ายดาเชาว่าเป็น "ค่ายสำหรับนักโทษทางการเมือง"[121]

ภาพร้านค้าซึ่งชาวยิวเป็นเจ้าของกิจการถูกทำลายย่อยยับในเหตุการณ์คริสทัลนัชท์

ภายหลังจากที่พรรคนาซีก้าวขึ้นสู่อำนาจแล้ว ชาวยิวจำนวนมากถูกยุให้หนีออกนอกประเทศ ซึ่งชาวยิวจำนวนมากก็ทำเช่นนั้น ในช่วงเวลาที่ กฎหมายเมืองเนือร์นแบร์ก ผ่านในปี 1935 ชาวยิวถือว่าสูญเสียสัญชาติเยอรมันและถูกปฏิเสธจากตำแหน่งการงานของรัฐ ซึ่งทำให้ชาวยิวจำนวนมากตกงานในประเทศ โดยชาวเยอรมันจะเข้าทำหน้าที่ตามตำแหน่งที่ว่างอยู่นั้น เหตุการณ์ที่โดดเด่นก็คือ รัฐบาลพยายามที่จะส่งตัวชาวยิวเชื้อสายโปแลนด์กว่า 17,000 คนกลับสู่โปแลนด์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่นำไปสู่การลอบสังหารเอิร์ท วอม รัท ทูตชาวเยอรมัน โดยเฮอร์สเชล กรินสปัน ชาวยิวเชื้อสายเยอรมันที่อาศัยอยู่ในปารีส การลอบสังหารนี้ทำให้เกิดข้ออ้างแก่พรรคนาซีที่จะปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านชาวยิวในวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งมุ่งจะทำลายธุรกิจของชาวยิวเป็นพิเศษ เหตุการณ์ต่อต้านนี้ถูกเรียกว่า คริสทัลนัชท์ (เยอรมัน: Kristallnacht) หรือ "คืนแห่งการทุบกระจก" "คืนคริสตัล" (อังกฤษ: Night of Broken Glass, ตามตัวอักษร คือ "Crystal Night) เพราะกระจกหน้าต่างร้านค้าที่ถูกทุบทำให้ถนนดูเหมือนถูกโรยด้วยคริสตัล จนกระทั่งเดือนกันยายน 1939 ชาวยิวกว่า 200,000 คนหลบหนีออกนอกประเทศ และรัฐบาลจะทำการยึดทรัพย์สินของชาวยิวเหล่านั้นเป็นของแผ่นดิน

พรรคนาซียังได้ดำเนินการสังหารชาวเยอรมันที่ "อ่อนแอ" และ "ไม่เหมาะสม" อย่างเช่น พฤติการณ์ ที-4 (อังกฤษ: Action T-4) ซึ่งมีการสังหารคนพิการและผู้ป่วยเป็นจำนวนหลายหมื่นคนในความพยายามที่จะ "รักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อสายอันยิ่งใหญ่" (เยอรมัน: Herrenvolk)

อีกประการหนึ่งที่โครงการที่นาซีใช้เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติคือ เลเบนสบอร์น (เยอรมัน: Lebensborn) หรือ "น้ำพุแห่งชีวิต" ที่ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1936 โดยมีเป้าหมายเพื่อที่จะให้ทหารเยอรมัน (ซึ่งส่วนใหญ่คือ หน่วยเอสเอส) สืบเชื้อสายของพันธุ์บริสุทธิ์ รวมไปถึงข้อเสนอที่ให้บริการสนับสนุนครอบครัวเอสเอส (รวมไปถึงจัดให้เยาวชนที่มีพันธุ์บริสุทธิ์เข้าไปอยู่ในครอบครัวเอสเอสที่มีความเหมาะสม) และจัดหาสตรีที่มีความเหมาะสมทางเชื้อชาติให้เป็นภรรยาของชายที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว และให้พวกเธออยู่อาศัยในเยอรมนีและดินแดนยึดครองในทวีปยุโรป และยังเลยไปถึงขั้นที่จะนำเด็กที่มีพันธุ์บริสุทธิ์ที่จับมาจากดินแดนยึดครอง เช่นโปแลนด์ มาให้กับครอบครัวชาวเยอรมัน

เมื่อถึงตอนต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลเยอรมนีได้ออกคำสั่งในดินแดนยึดครองโปแลนด์ ผู้ชายชาวยิวต้องถูกใช้แรงงานหนัก ผู้หญิงและเด็กจะต้องถูกจับไปยังนิคมชาวยิว[122] ซึ่งในการกระทำดังกล่าว แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การแก้ปัญหาชาวยิวที่ได้มีการถกเถียงกันมาเป็นเวลายาวนานแล้วจะยุติลงด้วยการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย คือการทำลายล้างเชื้อชาติยิวจนสิ้นซาก

[แก้] วัฒนธรรม

พวกนาซีเผาทำลายผลงานที่ถูกพิจารณาแล้วว่า "ไม่ใช่ชาวเยอรมัน" ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งได้แก่ งานเขียนของชาวยิว ของคู่แข่งทางการเมืองหรือผลงานที่ต่อต้านลัทธินาซี
เครื่องหมาย "กางเขนสุริยะ" (อังกฤษ: Sun Cross) อันเป็นสัญลักษณ์ของคริสต์ศาสนาเชิงบวก
สนามกีฬาโอลิมปิกในกรุงเบอร์ลิน

[แก้] ผลงานทางศิลปะ

พรรคนาซีมีแนวคิดที่จะพยายามรักษาคุณค่าของวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมของชาติเยอรมนีเอาไว้ ศิลปวัฒนธรรมที่ถือกำเนิดขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดเจนหลังจากช่วงสาธารณรัฐไวมาร์จะถูกปราบปราม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนศิลป์ที่จะต้องได้รับการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และต้องผ่านเกณฑ์ โดยจะต้องเน้นเพื่อเป็นการแสดงตัวอย่างของนโยบายของรัฐ เช่น ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ ลัทธินิยมทหาร วีรบุรุษ พลังอำนาจ ความเข้มแข็ง และความอ่อนน้อมถ่อมตน ภาพศิลปะนามธรรมและศิลปะอาวองการ์ด จะถูกเคลื่อนย้ายออกจากพิพิธภัณฑ์และจะถูกนำไปแสดงเป็นพิเศษในหมวดหมู่ "ศิลปะอันเลวทราม" (อังกฤษ: degenerate art) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนหัวเราะเยาะผลงานเหล่านี้ วรรณกรรมที่เป็นผลงานของชาวยิว หรือเชื้อชาติที่ไม่เป็นอารยัน หรือนักประพันธ์ผู้มีความเห็นไปในทางต่อต้านคำสอนของลัทธินาซีถูกทำลาย การทำลายวรรณกรรมที่โด่งดังที่สุดคือการเผาหนังสือโดยนักเรียนชาวเยอรมันในปี 1933

แม้ว่าจะมีความพยายามของรัฐบาลที่จะสร้างวัฒนธรรมเยอรมันบริสุทธิ์ แต่ว่ายังมีศิลปะหรือสถาปัตยกรรมบางส่วน กลับเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิค ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของสถาปัตยกรรมโรมันโบราณ ภายใต้การชักนำของฮิตเลอร์เอง[123] ศิลปะแนวนี้โดดเด่นและขัดแย้งกับศิลปะรุ่นใหม่ที่มีเสรีกว่าและได้รับความนิยมกว่าในสมัยนั้น (เช่น อาร์ท เดโค) โดยผลงานสถาปัตยกรรมแบบโรมันในนาซีเยอรมนีส่วนมากเป็นผลงานของวิศวกรของรัฐ อัลเบิร์ต สเพียร์ ซึ่งเขาก็ได้ออกแบบสถานที่สำคัญของพรรคนาซีอันยิ่งใหญ่และสง่างาม อย่างเช่น ลานชุมนุมของพรรคนาซีที่เมืองเนือร์นแบร์ก และที่ว่าการไรช์ในกรุงเบอร์ลิน งานออกแบบชิ้นหนึ่งที่ไม่ได้นำมาสร้างจริงคือการสร้างเพเธอนอนให้ยิ่งใหญ่กว่าในกรุงโรมและใช้เป็นศูนย์ทางศาสนาของลัทธินาซีในเบอร์ลิน (ซึ่งจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเยอรมาเนีย) และประตูแห่งชัยชนะให้ยิ่งใหญ่กว่าในกรุงปารีส แต่งานออกแบบสำหรับเยอรมาเนียเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงความเพ้อฝันและไม่มีวันที่จะสำเร็จลงได้เพราะขนาดของมันและดินของเบอร์ลินที่อ่อนเกินไป นอกจากนี้ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างล้วนถูกนำไปใช้ในการสงคราม

[แก้] สื่อและภาพยนตร์

ผลงานทางด้านสื่อและภาพยนตร์ของเยอรมนีในยุคสมัยนาซีนี้ส่วนใหญ่จะมีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิง กฎหมายได้ห้ามมิให้มีการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 1936 อุตสาหกรรมของเยอรมนีได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นแนวชาตินิยมทั้งหมดในปี 1937 ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศที่ขาดหายไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา) ความบันเทิงกลายมาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ดึงความสนใจจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและความพ่ายแพ้ของเยอรมนี ภาพยนตร์ทั้งในปี 1943 และปี 1944 สร้างรายได้กว่าหนึ่งพันล้านไรช์มาร์ก[124]

แม้จะมีการข้อกำหนดทางการเมืองและผู้ผลิตภาพยนตร์จำนวนมากหลบหนีออกนอกประเทศ ภาพยนตร์ของนาซีก็ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและความงามขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น การผลิตภาพยนตร์โดยใช้ฟิล์มอักฟาโคเลอร์ (เยอรมัน: Agfacolor) ซึ่งเป็นการระบุลงไปอย่างชัดเจนว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของนาซีเยอรมนี ผลงานภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ นำเสนอนโยบายของรัฐบาลและคำสั่งสอนทางเชื้อชาติ

[แก้] ศาสนา

พรรคนาซีได้นำสัญลักษณ์มาจากคริสต์ศาสนามารวมเข้ากับอารยธรรมโบราณ และยังได้เสนอคริสต์ศาสนาเชิงบวก ซึ่งได้ทำให้ชาวเยอรมันคริสต์จำนวนมากเชื่อว่าหลักของลัทธินาซีเป็นไปตามหลักธรรมของคริสต์ศาสนา แม้ว่าจะอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็ตาม[125]

[แก้] การกีฬา

ดูบทความหลักที่ โอลิมปิกฤดูร้อน 1936

การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 ในครั้งนี้เป็นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 11 ของโลก ซึ่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์หวังว่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติอารยัน เยอรมนีได้ใช้โอกาสดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในประเทศ และนับได้ว่าเป็นการแสดงพลังที่โดดเด่นของศิลปะและวัฒนธรรมนาซี การแข่งขันในครั้งนี้มีประเทศผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 49 ประเทศ และผลจากการแข่งขัน เยอรมนีเป็นเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้น

ในการแข่งขันโอลิมปิกดังกล่าว ก็มีเรื่องว่าฮิตเลอร์ปฏิเสธที่จะมอบเหรียญรางวัลให้แก่ เจซซี โอเวน[126] รวมไปถึงเรื่องของเชื้อชาติยิวเข้ามาเกี่ยวข้องอีก[127]

[แก้] ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เยอรมนีถูกบังคับและปฏิบัติตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ซึ่งได้ทำลายเศรษฐกิจของเยอรมนีลงจนย่อยยับ และห้ามมิให้เยอรมนีสร้างเครื่องบิน เรือดำน้ำ และเรือรบขนาดใหญ่ เยอรมนีสูญเสียดินแดนอาณานิคมทั้งหมด และห้ามสร้างสัมพันธไมตรีกับออสเตรียและนครเสรีดานซิกที่เพิ่งเกิดใหม่ ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ อังกฤษและฝรั่งเศสต่างก็หวาดกลัวสงครามโลกอีกครั้งหนึ่ง จึงดำเนินนโยบายทอดไมตรีกับเยอรมนี ส่วนฮิตเลอร์มีเป้าหมายที่จะฉีกสนธิสัญญาแวร์ซายส์ การขยายดินแดนของเยอรมนี และ "เลเบนสเราม์"

ตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมา ฮิตเลอร์และพลพรรคนาซีเดินหน้าเพิ่มกำลังทหารของประเทศและใช้อุบายทางการเมืองเพื่อที่จะยกระดับตนให้ทัดเทียมกับนานาชาติในเวทีโลกซึ่งขัดกับสนธิสัญญาแวร์ซายส์ และเป็นเหตุให้อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีต้องหันมาให้ความสนใจในปัญหาที่เกิดขึ้นจากนาซีเยอรมนี แต่ทว่าพันธมิตรทั้งสามไม่ลงรอยกันเอง อังกฤษเองนั้นถึงกับยอมทำสนธิสัญญาแยกต่างหากเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีกับเยอรมนี พันธมิตรดังกล่าวจึงล่มสลาย และสันนิบาตชาติก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย อย่างไรก็ตาม ฮิตเลอร์ยังคงดำเนินนโยบายทอดไมตรีกับอังกฤษและฝรั่งเศสอยู่ และเขายังปรารถนาที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับอิตาลี แต่อิตาลีมักจะไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ

ในปี 1935 ฮิตเลอร์สั่งเกณฑ์ทหาร จัดตั้งกองทัพอากาศ และส่งกำลังทหารกลับเข้าสู่แคว้นซาร์ แต่ไม่ได้รับการตอบโต้จากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรแต่ประการใด ซึ่งเป็นเหตุให้ฮิตเลอร์เกิดความฮึกเหิมและก้าวร้าวมากขึ้น ในปีต่อมา ฮิตเลอร์ได้เริ่มใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น ในปี 1937 ฮิตเลอร์ส่งกองกำลังไปช่วยเหลือฝ่ายชาตินิยมสเปน ภายใต้การนำของนายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก ในสงครามกลางเมืองสเปน

การประชุมมิวนิก นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ยอมยกแคว้นซูเดเตนแลนด์ให้แก่ฮิตเลอร์

ในปี 1938 เยอรมนีผนวกเอาดินแดนออสเตรีย อิตาลีซึ่งมีท่าทีต่อต้านเยอรมนีมิให้ยึดครองออสเตรียมาตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาเหล็ก เมื่ออังกฤษและอิตาลีปราศจากผลประโยชน์ร่วมกันแล้ว อิตาลีจึงเริ่มเปลี่ยนท่าทีโอนเอียงไปหาเยอรมนีแทน ต่อมาก็ยังได้ดินแดนซูเดเตนแลนด์และเชโกสโลวาเกีย อังกฤษซึ่งยังคงเชื่อว่าฮิตเลอร์ไม่ปรารถนาสงคราม นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ จึงได้ลงนามยกแคว้นซูเดเตนแลนด์ให้แก่เยอรมนี ด้วยหวังว่าเยอรมนีจะไม่แสวงหาดินแดนอื่นเพิ่มเติมในทวีปยุโรป เนวิลล์คิดว่าตนได้ปฏิบัติภารกิจได้ประสบความสำเร็จแล้วเมื่อฮิตเลอร์ยอมตอบตกลง แต่หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ก็เข้าผนวกเชโกสโลวาเกียอีก

หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้พุ่งเป้าไปยังโปแลนด์และฉนวนโปแลนด์ เขาต้องการให้มีการทบทวนการกำหนดพรมแดนใหม่กับโปแลนด์ แต่โปแลนด์ปฏิเสธที่จะยอมรับการผนวกนครเสรีดานซิกเข้ากับเยอรมนี ไม่นานก่อนหน้าการรุกรานโปแลนด์ ฮิตเลอร์ได้ลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นการแบ่งปันเขตอิทธิพลของตนในยุโรปตะวันออก และเมื่อถึงวันที่ 1 กันยายน 1939 กองทัพเยอรมนีรุกรานโปแลนด์ และนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะประกาศสงครามกับนาซีเยอรมนีและให้การช่วยเหลือโปแลนด์ก็ตาม แต่ผลก็แทบจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเลย ซึ่งเป็นระยะที่เรียกกันว่า "สงครามลวง"

ในปี 1940 เยอรมนีรุกรานเดนมาร์กและนอร์เวีย เพื่อลดการตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากความหวาดระแวงในท่าทีของฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งยังได้โจมตีไปทางทิศตะวันตก ยึดครองกลุ่มประเทศต่ำและประเทศฝรั่งเศส โดยเยอรมนียินยอมให้ผู้ชาตินิยมและวีรบุรุษสงคราม ฟิลิป เปแตง จัดตั้งการปกครองภายใต้ระบอบฟาสซิสต์ เรียกชื่อประเทศว่า "รัฐฝรั่งเศส" หรือเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางกว่า คือ วิชีฝรั่งเศส

ในปี 1941 เยอรมนีรุกรานสหภาพโซเวียตในความพยายามที่จะพิชิตดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลตามนโยบาย เลเบนสเราม์ สำหรับพลเมืองสัญชาติเยอรมัน โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะมีการจัดตั้ง

ในช่วงหลังจากปี 1943 ทิศทางของสงครามเปลี่ยนแปลงไป เยอรมนีถูกบังคับให้ต้องยึดครองดินแดนของอิตาลี ซึ่งรัฐบาลของมุสโสลินีหมดอำนาจลง และจัดตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมอิตาลี กองทัพเยอรมันต้องสู้กับกองทัพพันธมิตรทั้ง 3 แนวรบ เยอรมนีในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สองถูกโดดเดี่ยวทางการทูตอย่างหนัก และไม่อาจต้านทานกองทัพสัมพันธมิตรที่รุกเข้ามาจากทั้งทางทิศตะวันตก ตะวันออกและทิศใต้ เมื่อรัฐบาลใหม่ของเยอรมนีประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1945

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 น.อ. ปรีชา ศรีวาลัย, สงครามโลกครั้งที่ ๑-๒ และสงครามเกาหลี, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 95
  2. ^ Statistisches Bundesamt (Federal Statistical Office) , Statistisches Jahrbuch 2006 für die Bundesrepublik Deutschland, p. 34.
  3. ^ 3.0 3.1 น.อ. ปรีชา ศรีวาลัย, สงครามโลกครั้งที่ ๑-๒ และสงครามเกาหลี, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 96
  4. ^ Knaurs Lexikon, Th. Knaur Nachf. Verlag, Berlin, 1939
  5. ^ 5.0 5.1 น.อ. ปรีชา ศรีวาลัย, สงครามโลกครั้งที่ ๑-๒ และสงครามเกาหลี, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 117
  6. ^ Germany — Country Study
  7. ^ น.อ. ปรีชา ศรีวาลัย, สงครามโลกครั้งที่ ๑-๒ และสงครามเกาหลี, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 153
  8. ^ Fritzsche, Peter. 1998. Germans into Nazis. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.
  9. ^ Decree RK 7669 E of the Reichsminister and head of the Reich chancellery, 26 June 1943
  10. ^ Harrison, M (2000) The Economics of World War II: Six Great Powers in International Comparison, Cambridge University Press.
  11. ^ Messerschmidt, Manfred. "Foreign Policy and Preparation for War" from Germany and the Second World War, Volume I, Clarednon Press: Oxford, United Kingdom, 1990, p. 551-554.
  12. ^ Keegan, John (1989), The Second World War, Glenfield, Auckland 10, New Zealand: Hutchinson 
  13. ^ Richard J. Evans. The coming of the Third Reich. The Penguin Press. p.7
  14. ^ Heinrich August Winkler: Der lange Weg nach Westen. Deutsche Geschichte 1933-19990, Bonn 2004, p. 6-7.
  15. ^ 15.0 15.1 Eric Solsten. p.59
  16. ^ Mary Fulbrook. The Divided Nation: A History of Germany, 1918-1990. Oxford UP, 1992, 45
  17. ^ Eric Solsten. p.59-60
  18. ^ Klaus Hildebrand. (2004). The Third Reich. Digital Printing. p.4. สืบค้นเมื่อ 06-02-2010.
  19. ^ Klaus Hildebrand. (2004). The Third Reich. Digital Printing. p.5. สืบค้นเมื่อ 06-02-2010.
  20. ^ Hakim, Joy (1995). A History of Us: War, Peace and all that Jazz. New York: Oxford University Press. pp. 100–104. ISBN 0-19-509514-6.
  21. ^ 21.0 21.1 Eric Solsten. p.61
  22. ^ 22.0 22.1 Scheck, Raffael. Establishing a Dictatorship: The Stabilization of Nazi Power Colby College. Retrieved 05-02-2010.
  23. ^ สุปราณี มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป (1815-ปัจจุบัน) เล่ม 1, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 351
  24. ^ Evans, Richard (2005). The Third Reich in Power. Penguin Group. pp. 22. ISBN 0-14-303790-0.
  25. ^ Richard Harvey. Hitler and the Third Reich. Redwood Books. p.27. สืบค้นเมื่อ 06-02-2010.
  26. ^ Anthony Read, The Devils Disciples, W. W. Norton & Co., 2003, ISBN 0-393-04800-4
  27. ^ Henry Maitles. NEVER AGAIN!: Hitlers Willing Executioners: Ordinary Germans and the Holocaust" ซึ่งอ้างอิงมาจาก G Almond, "The German Resistance Movement", Current History 10 (1946) , pp409-527. อีกทอดหนึ่ง
  28. ^ 28.0 28.1 28.2 Eric Solsten. p.62
  29. ^ Kenneth, Brody, J (1999). The Avoidable War: Pierre Laval and the Politics of Reality, 1935–1936. Transaction Publishers. p. 4. ISBN 0-7658-0622-3.
  30. ^ Zalampas, Michael (1989). Adolf Hitler and the Third Reich in American magazines, 1923-1939. Bowling Green University Popular Press. p. 62. ISBN 0-87972-462-5. Retrieved 2010-02-06.
  31. ^ Maiolo, Joseph. The Royal Navy and Nazi Germany, 1933-39 A Study in Appeasement and the Origins of the Second World War, Macmillan Press: London, 1998, ISBN 0-312-21456-1. pp. 35-36.
  32. ^ Adamthwaite, Anthony P. (1992). The Making of the Second World War. New York: Routledge. p. 52. ISBN 0-415-90716-0. Retrieved 2010-02-06
  33. ^ Eric Solsten. p.63
  34. ^ 34.0 34.1 Eric Solsten. p.64
  35. ^ Zachary Shore. What Hitler Knew: The Battle for Information in Nazi Foreign Policy. Published by Oxford University Press US, 2005 ISBN 0-19-518261-8, 978-0-19-518261-3, p. 108
  36. ^ Weinberg, Gerhard L. (1995), A World at Arms: A Global History of World War II, Cambridge University Press, ISBN 0-521-55879-4, p. 95 & 121
  37. ^ Kelly, Nigel; Rees, Rosemary; Shuter, Jane. 'Twentieth Century World, pg. 38
  38. ^ Bungay, Stephen. The Most Dangerous Enemy: A History of the Battle of Britain. London: Aurum Press, 2000. pp 370-373.
  39. ^ Fleming, Peter. (1958). Invasion 1940. Readers Union, London, p. 273.
  40. ^ Weinberg, Gerhard L. (1995), A World at Arms: A Global History of World War II, Cambridge University Press, ISBN 0-521-55879-4. pp 229.
  41. ^ Murray, Williamson; Millett, Allan Reed (2001), A War to Be Won: Fighting the Second World War, Harvard University Press, ISBN 0-674-00680-1. pp 263-267.
  42. ^ Glantz, David, The Soviet-German War 1941–45: Myths and Realities: A Survey Essay, 11 October 2001, page 7
  43. ^ Taylor, A.J.P. and Mayer, S.L., eds. (1974). A History of World War Two. London: Octopus Books. ISBN 0-7064-0399-1. p.109
  44. ^ Germany's forgotten victims. Guardian.co.uk. October 22, 2003.
  45. ^ Collier, Paul. The Second World War (4) : The Mediterranean 1940-1945, pg. 11
  46. ^ Gilbert, Sir Martin, The Second World War: A Complete History, Macmillan, 2004 ISBN 0-8050-7623-9, pages 397–400
  47. ^ Kershaw, Ian. Hitler, 1936–1945: Nemesis, W. W. Norton & Company, 2001, ISBN 0-393-32252-1,p. 592
  48. ^ Military Strategy: Sixtieth Anniversary of Operation Bagration. Embassy of the Republic of Belarus in the United States of America. สืบค้นเมื่อ 11-02-2010.
  49. ^ C.P. Stacey. Official History of the Canadian Army in the Second World War: Volume II The Victory Campaign p. 295
  50. ^ Joachimsthaler, Anton. The Last Days of Hitler - The Legends - The Evidence - The Truth, Brockhampton Press, 1999, pp 160-167.
  51. ^ Kershaw, Ian (2001), Hitler, 1936–1945: Nemesis, W. W. Norton & Company, ISBN 0-393-32252-1. p.823
  52. ^ William Shirer. The Rise and Fall of the Third Reich. Fawcett Crest. New York. 1983. ISBN 0-449-21977-1
  53. ^ Donnelly, Mark. Britain in the Second World War, pg. xiv
  54. ^ "...also based on the fact that after the debellatio of Germany, the Allied powers have been the local sovereigns in Germany.". United Nations War Crimes Commission. Law reports of trials of war criminals. William S. Hein & Co., Inc. p. 14
  55. ^ Richard Overy. World Wars in-depth Nuremberg: Nazis On Trial. BBC. สืบค้นเมื่อ 07-02-2010.
  56. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 293.
  57. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 118-119.
  58. ^ 58.0 58.1 M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 122.
  59. ^ 59.0 59.1 M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 123.
  60. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 125.
  61. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 126.
  62. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 126-127.
  63. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 130.
  64. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 132-133.
  65. ^ Kantowicz, Edward R., The rage of nations, Wm. B. Eerdmans Publishing, 1999, ISBN 0-8028-4455-3, page 149
  66. ^ M. Ali Khan, A.Sherieff, A.Balakishan. pp. 292.
  67. ^ Hugh LeCaine Agnew. The Czechs and the lands of the Bohemian crown. Hoover Institutition Press. p.208
  68. ^ Raphael Lemkin, Samantha Power. Axis rule in occupied Europe: laws of occupation, analysis of government. Rumford Press, Concord N.M. p. 193
  69. ^ Raphael Lemkin, Samantha Power. Axis rule in occupied Europe: laws of occupation, analysis of government. Rumford Press, Concord N.M. p. 225-226.
  70. ^ 70.0 70.1 de Zayas, Alfred-Maurice: A Terrible Revenge: The Ethnic Cleansing of the Eastern European Germans 1944-1950, New York: St. Martin's Press, 1994
  71. ^ Gau (NSDAP) - Kontinuität der Gaugliederung nach 1933 Historisches Lexikon Bayerns
  72. ^ The Organization of the Nazi Party & State The Nizkor Project
  73. ^ New World, Websters. Webster's II New College Dictionary. Houghton Mifflin Reference Books. ISBN 0618396012. http://books.google.com/books?id=OL60E3r2yiYC&pg=PA415&dq=fascismo+fascio&sig=ACfU3U0GjGSAC9nr1oc9xOaW3pAVXexS5g. 
  74. ^ Grant, Moyra. Key Ideas in Politics. Nelson Thomas 2003. p. 21
  75. ^ Paxton, Robert. The Anatomy of Fascism. Vintage Books. ISBN 1400033918. http://books.google.com/books?id=oGMfAAAACAAJ&dq=The+Anatomy+of+Fascism. 
  76. ^ Payne, Stanley. A History of Fascism, 1914-45. University of Wisconsin Press. ISBN 0299148742. http://books.google.com/books?id=NLiFIEdI1V4C&dq=A+History+of+Fascism+payne&lr=&source=gbs_summary_s&cad=0. 
  77. ^ Bischof, Günter, “The Historical Roots of a Special Relationship: Austro-German Relations Between Hegemony and Equality”. In Unequal Partners, ed. Harald von Riekhoff and Hanspeter Neuhold. San Francisco: Westview Press, 1993
  78. ^ Hitler's Plan, Dac.neu.edu
  79. ^ http://www.ess.uwe.ac.uk/genocide/ssnur1.htm ess.uwe.ac.uk
  80. ^ Niewyk, Donald L. The Columbia Guide to the Holocaust, Columbia University Press, 2000, p.45: "The Holocaust is commonly defined as the murder of more than 5,000,000 Jews by the Germans in World War II." Also see "The Holocaust," Encyclopaedia Britannica, 2007: "the systematic state-sponsored killing of six million Jewish men, women and children, and millions of others, by Nazi Germany and its collaborators during World War II. The Germans called this "the final solution to the Jewish question."
  81. ^ 81.0 81.1 81.2 81.3 81.4 81.5 }} {{cite web | url = http://econ161.berkeley.edu/TCEH/Slouch_Purge15.html | title = http://econ161.berkeley.edu/TCEH/Slouch_Purge15.html | accessdate = | publisher = (อังกฤษ)
  82. ^ สุปราณี มุขวิชิต, ประวัติศาสตร์ยุโรป (1815-ปัจจุบัน) เล่ม 1, สำนักพิมพ์โอเดียนสตาร์, หน้า 354
  83. ^ econ161.berkeley.edu. สืบค้นวันที่ 2007-08-15
  84. ^ 84.0 84.1 Nazis and Soviets
  85. ^ Peter Temin (November 1991), Economic History Review, New Series 44, No.4: 573–593 
  86. ^ Richard Overy, 1995, Why the allies won, Random House, p. 205.
  87. ^ Philip Morgan, Fascism in Europe, 1919–1945, Taylor & Francis, 2003, p. 168.
  88. ^ Rűdiger Overmans (2000). Deutsche militärische Verluste im Zweiten Weltkrieg. Wikipedia. pp. 335. ISBN 3-486-56531-1. http://books.google.com/books?. 
  89. ^ Lukas, Richard C.. Forgotten Holocaust: The Poles Under German Occupation 1939-1944. Davies, Norman. Hippocrene Books. ISBN 0-7818-0901-0. 
  90. ^ ,http://www.dailymail.co.uk/pages/live/femail/article.html?in_article_id=469883&in_page_id=1879
  91. ^ "55 Dni Wehrmachtu w Polsce" Szymon Datner Warsaw 1967 page 67 "Zanotowano szereg faktów gwałcenia kobiet i dziewcząt żydowskich"(Numerous cases of rapes made upon Jewish women and girls were noted)
  92. ^ O. R. Frisch Physical Evidence for the Division of Heavy Nuclei under Neutron Bombardment, Nature, Volume 143, Number 3616, 276-276 (18 February 1939). The paper is dated 17 January 1939. [The experiment for this letter to the editor was conducted on 13 January 1939; see Richard Rhodes The Making of the Atomic Bomb 263 and 268 (Simon and Schuster, 1986).]
  93. ^ In 1944, Hahn received the Nobel Prize for Chemistry for the discovery of nuclear fission. Some historians have documented the history of the discovery of nuclear fission and believe Meitner should have been awarded the Nobel Prize with Hahn. See the following references: Ruth Lewin Sime From Exceptional Prominence to Prominent Exception: Lise Meitner at the Kaiser Wilhelm Institute for Chemistry Ergebnisse 24 Forschungsprogramm Geschichte der Kaiser-Wilhelm-Gesellschaft im Nationalsozialismus (2005) ; Ruth Lewin Sime Lise Meitner: A Life in Physics (University of California, 1997) ; and Elisabeth Crawford, Ruth Lewin Sime, and Mark Walker A Nobel Tale of Postwar Injustice, Physics Today Volume 50, Issue 9, 26-32 (1997).
  94. ^ Walker, 1993, 83-84, 170, 183, and Reference #85 on p. 247. See also Manfred von Ardenne Erinnerungen, fortgeschrieben. Ein Forscherleben im Jahrhudert des Wandels der Wissenschaften und politischen Systeme. (Droste, 1997).
  95. ^ 95.0 95.1 Pauley, Bruce F. Hitler, Stalin and Mussolini: Totalitarianism in the Twentieth Century. 2nd Edition. 2003. Wheeling, Illinois, USA: Harlan Davidson Inc. Pp. 118.
  96. ^ 96.0 96.1 96.2 96.3 Pauley, Bruce F. Hitler, Stalin and Mussolini: Totalitarianism in the Twentieth Century. 2nd Edition. 2003. Wheeling, Illinois, USA: Harlan Davidson Inc. Pp. 119
  97. ^ Europas erste Autobahn wird 75. Spiegel Online. (German)
  98. ^ German Myth 8 Hitler and the autobahn German.about.com
  99. ^ 99.0 99.1 แพทยศาสตร์และนโยบายด้านสาธารณสุขของนาซีเยอรมนี (อังกฤษ)
  100. ^ 100.0 100.1 Nazi Medicine and Public Health Policy Robert N. Proctor, Dimensions: A Journal of Holocaust Studies.
  101. ^ 101.0 101.1 Review of "The Nazi War on Cancer" Canadian Journal of History, Aug 2001 by Ian Dowbiggin
  102. ^ Proctor, Robert N. (1996), Nazi Medicine and Public Health Policy, Dimensions, Anti-Defamation League, http://www.adl.org/Braun/dim_14_1_nazi_med.asp 
  103. ^ Robert N. Proctor, Pennsylvania State University, "The anti-tobacco campaign of the Nazis: a little known aspect of public health in Germany, 1933-45", British Medical Journal 313 (7070): 1450–3, PMID 8973234, PMC: 2352989, http://www.bmj.com/cgi/content/full/313/7070/1450, เรียกดูวันที่ 2008-06-01 
  104. ^ Proctor, Robert N., Nazi Medicine and Public Health Policy, Dimensions 
  105. ^ Johan P. Mackenbach (June 2005), "Odol, Autobahne and a non-smoking Führer: Reflections on the innocence of public health", International Journal of Epidemiology 34 (3): 537–9, PMID 15746205, http://ije.oxfordjournals.org/cgi/content/full/34/3/537, เรียกดูวันที่ 2008-06-01 
  106. ^ Gilman, Sander L.; Zhou, Xun (2004), Smoke: A Global History of Smoking, Reaktion Books, ISBN 1-86189-200-4 
  107. ^ Young, T. Kue (2005), Population Health: Concepts and Methods, Oxford University Press, ISBN 0-19-515854-7 
  108. ^ 108.0 108.1 108.2 spartacus.schoolnet.co.uk.
  109. ^ Pauley, 2003. Pp. 119
  110. ^ 110.0 110.1 Perry Biddiscombe "Dangerous Liaisons: The Anti-Fraternization Movement in the US Occupation Zones of Germany and Austria, 1945-1948", Journal of Social History 34.3 (2001) 611-647
  111. ^ William L. Shirer, The Rise and Fall of the Third Reich (Touchstone Edition) (New York: Simon & Schuster, 1990) , ISBN 0-671-72868-7, หัวข้อ "Education in the Third Reich" (pp. 248-256) , esp. pp. 254-256. The following quotation from p. 254 typifies the Shirer narrative:

    I listened to women leaders of the B.D.M.—they were invariably of the plainer type and usually unmarried—lecture their young charges on the moral and patriotic duty of bearing children for Hitler's Reich—within wedlock if possible, but without it if necessary.

  112. ^ JONATHAN OLSEN "How Green Were the Nazis? Nature, Environment, and Nation in the Third Reich (review)" Technology and Culture - Volume 48, Number 1, January 2007, pp. 207-208
  113. ^ Review of Franz-Josef Brueggemeier, Marc Cioc, and Thomas Zeller, eds, "How Green Were the Nazis?: Nature, Environment, and Nation in the Third Reich" Wilko Graf von Hardenberg, H-Environment, H-Net Reviews, October, 2006.
  114. ^ Hartmut M. Hanauske-Abel, Not a slippery slope or sudden subversion: German medicine and National Socialism in 1933, BMJ 1996; p. 1453-1463
  115. ^ kaltio.fi.
  116. ^ Martin Kitchen (2006). A History of Modern Germany, 1800-2000. Blackwell Publishing. pp. p278. ISBN 1405100400. 
  117. ^ Bruce Braun, Noel Castree (1998). Remaking Reality: Nature at the Millennium. Routledge. pp. p92. ISBN 0415144930. 
  118. ^ Frank Uekötter (2006). The Green and the Brown: A History of Conservation in Nazi Germany. Cambridge University Press. pp. p57. ISBN 0521848199. 
  119. ^ C. Ray Greek, Jean Swingle Greek (2002). Sacred Cows and Golden Geese: The Human Cost of Experiments on Animals. Continuum International Publishing Group. pp. p90. ISBN 0826414028. 
  120. ^ United States Holocaust Memorial Museumushmm.org. สืบค้นวันที่ 2007-08-15
  121. ^ จากหน้า http://www.mazal.org/archive/DACHPHO/Dach02.htm ซึ่งสามารถแปลได้ว่า: "หัวหน้าหน่วยตำรวจแห่งกรุงมิวนิก, ฮิมม์เลอร์, ได้ออกประกาศตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า: เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ค่ายกักกันแห่งแรกได้เปิดใช้งานที่ดาเชาโดยมีจัดให้มีนักโทษกว่า 5,000 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นพวกคอมมิวนิสต์และพวกไรช์บันเนอร์และเจ้าหน้าที่ของพรรคสังคมประชาธิปไตยผู้ซึ่งได้คุกคามความปลอดภัยของรัฐจะถูกจับกุมด้วยถ้าจำเป็น ซึ่งในระยะยาวแล้วมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บตัวนักโทษให้แยกจากกันในเรือนจำของรัฐ และบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถถูกปล่อยตัวได้เนื่องจากความพยายามของพวกเขาที่จะยืนกรานและเจตนาที่จะสร้างความวุ่นวายในประเทศ ทันทีที่พวกเขาได้รับการปล่อยตัว"
  122. ^ Kershaw, Ian. 2000, 4th edition. The Nazi Dictatorship; Problems & Perspectives of Interpretation. New York: Oxford University Press. P. 111.
  123. ^ Scobie, Alexander. Hitler's State Architecture: The Impact of Classical Antiquity. University Park: Pennsylvania State University Press, 1990. ISBN 0-271-00691-9. Pp. 92.
  124. ^ Kinobesuche in Deutschland 1925 bis 2004 Spitzenorganisation der Filmwirtschaft e. V
  125. ^ Richard Steigmann–Gall, The Holy Reich: Nazi Conceptions of Christianity, 1919–1945 (Cambridge: Cambridge University Press, 2003) p. 5
  126. ^ Was Jesse Owens snubbed?. History News Network. สืบค้นวันที่ 2008-08-23 “The facts are simple. Hitler did not congratulate Owens, but that day he didn't congratulate anybody else either, not even the German winners. As a matter of fact, Hitler didn't congratulate anyone after the first day of the competition. That first day he had shaken hands with all the German victors, but that had gotten him in trouble with the members of the Olympic Committee. They told him that to maintain Olympic neutrality, he would have to congratulate everyone or no one. Hitler chose to honor no one.”
  127. ^ "'Hitler's Pawn' on HBO: An Olympic Betrayal", New York Times, July 7, 2004. สืบค้นวันที่ 2008-07-04

[แก้] บรรณานุกรม

[แก้] ดูเพิ่ม

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
นาซีเยอรมนี

[แก้] ประวัติศาสตร์

[แก้] การเมือง

[แก้] สังคม

[แก้] หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • William Sheridan Allen. The Nazi Seizure of Power : the Experience Of A Single German Town, 1922–1945 by New York ; Toronto: F. Watts, 1984. ISBN 0-531-09935-0.
  • Gisela Bock "Racism and Sexism in Nazi Germany: Motherhood, Compulsory Sterilization, and the State" from When Biology Became Destiny: Women in Weimar and Nazi Germany edited by Renate Bridenthal, Atina Grossmann, and Marion Kaplan, New York: Monthly Review Press, 1984.
  • Karl Dietrich Bracher. The German Dictatorship; The Origins, Structure, and Effects of National Socialism; New York, Praeger 1970.
  • Michael Burleigh. The Third Reich: A New History, 2002. ISBN 0-8090-9326-X. Standard scholarly history, 1918–1945.
  • Martin Broszat. German National Socialism, 1919–1945 translated from the German by Kurt Rosenbaum and Inge Pauli Boehm, Santa Barbara, Calif.: Clio Press, 1966.
  • Martin Broszat. The Hitler State: The Foundation and Development Of The Internal Structure Of The Third Reich. Translated by John W. Hiden. London: Longman, 1981. ISBN 0-582-49200-9.
  • Richard J. Evans. The Coming of the Third Reich. ISBN 0-14-100975-6, standard scholarly history to 1933
  • Richard J. Evans. The Third Reich in Power 2005 ISBN 1-59420-074-2. the latest and most scholarly history
  • Richard Grunberger. A Social History of the Third Reich 1974 ISBN 0-14-013675-4.
  • Andreas Hillgruber Germany and the two World Wars, Cambridge, Mass. : Harvard University Press, 1981 ISBN 0-674-35321-8.
  • Heinz Höhne. The Order of the Death's Head: The Story of Hitler's SS. Translated by Richard Barry. London: Penguin Books, 1971.
  • David Irving. Hitler's War. London: Focal Point Publications. ISBN 1-872197-10-8.
  • Ian Kershaw. The Nazi Dictatorship: Problems and Perspectives of Interpretation, 4th ed. London: Arnold, 2000. ISBN 0-340-76028-1
  • Claudia Koonz. Mothers In The Fatherland: Women, the Family, and Nazi Politics. New York: St. Martin's Press, 1987. ISBN 0-312-54933-4.
  • Claudia Koonz. The Nazi Conscience. Cambridge, Mass.: The Belknap Press of Harvard University Press, 2003.
  • Guido Knopp. Hitler's Henchmen. 1998. Sutton Publishing, 2005. ISBN 0-7509-3781-5.
  • Christian Leitz, ed. The Third Reich: The Essential Readings. Oxford, UK: Blackwell Publishers, 1999. ISBN 0-631-20700-7.
  • Richard Overy & Timothy Mason "Debate: Germany, “Domestic Crisis” and War in 1939" pages 200-240 from Past and Present, Number 122, February 1989.
  • Eric Michaud, The Cult of Art in Nazi Germany, translated by Janet Lloyd, Stanford: Stanford University Press, 2004. ISBN 0-8047-4327-4.
  • Hans Mommsen. From Weimar to Auschwitz Princeton, N.J.: Princeton University Press, 1991. ISBN 0-691-03198-3.
  • Roger Moorhouse. Killing Hitler. London: Jonathan Cape, 2006. ISBN 0-224-07121-1.
  • Detlev Peukert. Inside Nazi Germany: Conformity, Opposition and Racism in Everyday Life. London: Batsford, 1987. ISBN 0-7134-5217-X.
  • Hans Rothfels. The German Opposition to Hitler: An Assessment Longwood Pr Ltd: London 1948, 1961, 1963, 1970 ISBN 0-85496-119-4.
  • William L. Shirer. The Rise and Fall of the Third Reich. ISBN 0-671-72868-7
  • David Schoenbaum Hitler’s Social Revolution; Class and Status in Nazi Germany, 1933-1939, Garden City, N.Y. Doubleday, 1966.
  • The Nazi Elite edited by Ronald Smelser and Rainer Zitelmann, translated by Mary Fischer, New York : New York University Press, 1993, ISBN 0-8147-7950-6.
  • Henry Ashby Turner. German Big Business and the Rise of Hitler. New York: Oxford University Press, 1985. ISBN 0-19-503492-9.
  • Alfred Sohn-Rethel. Economy and Class Structure of German Fascism. London, CSE Bks, 1978. ISBN 0-906336-00-7
  • Sir John Wheeler-Bennett. The Nemesis of Power: The German Army in Politics 1918–1945, Palgrave Macmillan: London: 1953, 1964, 2005 ISBN 1-4039-1812-0.
  • Christian Zenter and Friedemann Bedurftig. The Encyclopedia of the Third Reich. Munich: Sudwest Verlag GmbH & co. KG.

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น