คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ราชอาณาจักรไทย
280935.jpg
ตรา
กองบัญชาการ
Flag of ไทย
เลขที่ 44 อาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ภาพรวมของหน่วยงาน
วันก่อตั้ง 22 มีนาคม พ.ศ. 2535
เขตอำนาจ ทั่วราชอาณาจักร
ผู้บริหาร อภิชาติ สุขัคคานนท์, ประธาน
ประพันธ์ นัยโกวิท, กรรมการ
สดศรี สัตยธรรม, กรรมการ
สมชัย จึงประเสริฐ, กรรมการ
วิสุทธิ์ โพธิแท่น, กรรมการ
สุทธิพล ทวีชัยการ, เลขาธิิการ
ลูกสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เว็บไซต์
ECT.go.th
หมายเหตุ
คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งราชอาณาจักรไทย (อังกฤษ: Election Commission of Thailand) หรือย่อว่า "กกต." (อังกฤษ: ECT) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่หลักในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น

คณะกรรมการการเลือกตั้งมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสำนักงานเลขานุการ

เนื้อหา

[แก้] ประวัติและโครงสร้างองค์กร

แต่เดิมการจัดการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของกองการเลือกตั้ง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ต่อมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 รัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการเลือกตั้ง ได้ตระหนักถึงปัญหาการซื้อขายเสียงที่มีอยู่ทั่วไป จึงแต่งตั้ง "คณะกรรมการติดตามและสอดส่องดูแลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร" หรือที่รู้จักกันในชื่อ องค์กรกลาง เป็นหน่วยงานอิสระไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับการเลือกตั้ง ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และตรวจสอบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อส่งเสริมการเลือกตั้งอย่างยุติธรรมในประเทศไทย โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 5 คน ซึ่งเลือกสรรโดยวุฒิสภา ดำรงตำแหน่งได้สมัยเดียวเป็นเวลา 7 ปี (ยกเว้นชุดแรก ดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ตามเงื่อนไขใน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง)

ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง

กรรมการการเลือกตั้งต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่น ไม่ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไร หรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด และไม่ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นใด

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งอยู่ที่เลขที่ 120 ม.3 ชั้น 2 อาคารรวมหน่วยราชการ บี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถ.แจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพ 10210โทร 0-2141-8888

[แก้] หน้าที่

คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. ควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
  2. ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  3. มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  4. ออกข้อกำหนดเป็นแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
  5. ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  6. สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หรือกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
  7. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วยเลือกตั้ง หรือสั่งให้มีการนับคะแนนใหม่ เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งนั้น ๆ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
  8. ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
  9. ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสนับสนุนองค์การเอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
  10. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา
  11. ดำเนินการอื่นตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอื่น หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บุคคล คณะบุคคลหรือผู้แทนองค์การเอกชน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายได้.


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช ๒๕๔๐) ม. ๑๓๖, ๑๓๙, ๑๔๔ และ ๑๔๕ และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๔๑ ม. ๑๐ และ ๑๑

[แก้] คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดแรก

วาระการดำรงตำแหน่ง 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2544[1]

[แก้] คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่สอง

วาระการดำรงตำแหน่ง 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549[2] ถูกตั้งฉายาว่า "สามหนาห้าห่วง"

[แก้] การปรับระบบการทำงาน หลังการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี

ภายหลังการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี และยังไม่มีการสรรหาบุคคลใหม่มาทดแทน กกต.ที่เหลืออยู่ 4 คน ได้แบ่งหน้าที่ใหม่ จากเดิมที่แบ่งตามลักษณะงานตามความเชี่ยวชาญของ กกต. แต่ละคน ออกเป็น 4 เขตพื้นที่ให้ กกต. แต่ละคนดูแล โดยแต่ละคนต่างก็มีอำนาจเด็ดขาดทั้งการบริหาร การเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย ในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ คือ

  • พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ ดูแลภาคกลางและกรุงเทพ
  • นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ดูแลภาคใต้
  • นายวีระชัย แนวบุญเนียร ดูแลภาคเหนือ
  • พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มบุคลากรทั้งในสำนักงาน กกต.กลาง และ กกต.จังหวัด จากเดิม 300 คน เป็น 3000 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร

มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานการวินิจฉัยสืบสวนสอบสวน จากเดิมที่มีสองส่วน เพื่อการตรวจสอบและคานอำนาจ คือ

  • สำนักสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง
  • สำนักวินิจฉัย มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองพยานหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนสอบสวนสืบสวนก่อนเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่ามีมูลหรือไม่ หากหลักฐานไม่เพียงพอ ก็ส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือรองเลขาธิการที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม แล้วจึงส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นผู้พิจารณาก่อนส่งความเห็นในเรื่องนั้นต่อให้ กกต.กลาง วินิจฉัยชี้ขาดขั้นสุดท้าย แต่ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ก็อาจส่งเรื่องให้ กกต.กลางวินิจฉัยได้

การจัดโครงสร้างเดิม คล้ายกับการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีสำนักสืบสวนสอบสวนทำหน้าที่คล้ายตำรวจ สำนักวินิจฉัยทำหน้าที่คล้ายอัยการ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยทำหน้าที่คล้ายเป็นศาลชั้นต้น และ กกต.กลางทำหน้าที่คล้ายกับเป็นศาลสูงสุด

แต่หลังจากที่ กกต. ชุดที่สองเข้ามาดำเนินการไม่นาน ก็มีการปรับให้หน่วยงานทั้งสองมารวมเป็นสำนักเดียวกัน คือ สำนักสืบสวนและวินิจฉัย แต่แบ่งพื้นที่การทำงานเป็นภาค ไม่ได้แบ่งเนื้อหาสาระของการทำงาน มีลักาณะการทำงานคล้ายตำรวจภูธรภาค ไม่มีอัยการ(สำนักวินิจฉัย)

[แก้] กรณีคำพิพากษาของศาล

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีโทษตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน (ไม่ได้ลงโทตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)ศาลได้มีคำตัดสินว่าให้คณะกรรมการสามคนได้แก่ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ, นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ

[แก้] คณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่สาม

วาระการดำรงตำแหน่ง 20 กันยายน พ.ศ. 2549 - ปัจจุบัน


[แก้] การสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2549

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา 3 คน ประธานแผนกคดีต่างๆ ในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา จำนวน 84 คน ได้ลงมติเพื่อสรรหาผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 10 คน [3] ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 138 (2) และ (3) จากจำนวนผู้สมัคร 42 คน เพื่อให้ที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติคัดเลือกเหลือ 5 คน

คณะกรรมการเลือกตั้งชุดนี้จะปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 2 ปี ตามวาระที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการเลือกตั้งชุดที่สอง

รายชื่อผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน ตามมาตรา 138 (2)

  1. นายวิชา มหาคุณ - ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา
  2. นายอุดม เฟื่องฟุ้ง - ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา กรุงเทพใต้
  3. นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ - ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา
  4. นายสมชัย จึงประเสริฐ - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
  5. นายอภิชาต สุขัคคานนท์ - ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

รายชื่อผู้สมควรเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง 5 คน ตามมาตรา 138 (3) (ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ทำหน้าที่คัดเลือกแทน คณะกรรมการสรรหาจากตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งไม่มีอยู่ในขณะนี้)

  1. นายประพันธ์ นัยโกวิท - รองอัยการสูงสุด
  2. นายแก้วสรร อติโพธิ - อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร
  3. นายสุเมธ อุปนิสากร - ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอาญา กรุงเทพใต้
  4. นางสดศรี สัตยธรรม - ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
  5. นายนาม ยิ้มแย้ม - อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2549 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้ง ประกอบด้วย

  1. นายประพันธ์ นัยโกวิท
  2. นายสุเมธ อุปนิสากร
  3. นายอภิชาต สุขัคคานนท์
  4. นายสมชัย จึงประเสริฐ
  5. นางสดศรี สัตยธรรม

ต่อมา นายสุเมธได้หมดวาระไปเมื่ออายุครบ 70 ปี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้งคนใหม่แทน มีมติด้วยคะแนน 107 ต่อ 11 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง เลือกนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำรงตำแหน่งแทน[4]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/E/113/3.PDF
  2. ^ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/114/1.PDF
  3. ^ http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9490000102221
  4. ^ "วุฒิ"ไฟเขียว"วิสุทธ์ โพธิแท่น"เป็นกกต.ใหม่

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น