คาราบาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

คาราบาว
Carabao-Logo.gif
ข้อมูลพื้นฐาน
แหล่งกำเนิด ประเทศไทย
แนวเพลง ร็อก, เพื่อชีวิต
ปี พ.ศ. 2524 - ปัจจุบัน
ค่าย วอร์เนอร์ มิวสิก
สมาชิก
ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) ร้องนำ,ประสานเสียง,กีตาร์
ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) ร้องนำ,ประสานเสียง,ลีดกีต้าร์
เทียรี่ เมฆวัฒนา (รี่) ร้องนำ,ประสานเสียง,กีต้าร์
อนุพงษ์ ประถมปัทมะ (อ๊อด) เบส ประสานเสียง
ลือชัย งามสม(ดุก) คีย์บอร์ด ประสานเสียง
ขจรศักดิ์ หุตะวัฒนะ (หมี) กีตาร์ แมนโดลิน ประสานเสียง
ชูชาติ หนูด้วง (โก้) กลอง,เพอร์คัสชั่น
ธนะสิทธิ์ พันธุ์พงษ์ไทย (อ้วน) ขลุ่ย, กลอง,เพอร์คัสชั่น แซ็กโซโฟน ประสานเสียง
อดีตสมาชิก
สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) กีต้าร์
กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) ร้องนำ,คีย์บอร์ด,ประสานเสียง,กีตาร์
ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) เบส
อ.ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ขลุ่ย,คีย์บอร์ด,แซ็กโซโฟน
อำนาจ ลูกจันทร์ (เป้า) กลอง,เพอร์คัสชั่น
ศยาพร สิงห์ทอง (น้อง) เพอร์คัสชั่น, ประสานเสียง
สมาชิกในวงทั้ง 7 คน (จากซ้าย) แอ๊ด, เทียรี่, เล็ก, เป้า, เขียว, อ๊อด, อ.ธนิสร์

คาราบาว (Carabao) วงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียงโด่งดังของไทย

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

วงคาราบาวเกิดจากการก่อตั้งโดยนักเรียนไทยที่ฟิลิปปินส์ 3 คน คือ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด) กับ กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร (เขียว) และ สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) ขึ้นที่นั่น ในปี พ.ศ. 2520 โดยคำว่า "คาราบาว" เป็นภาษาตากาล็อก คือภาษาพื้นเมืองของฟิลิปปินส์ แปลว่า ควาย ซึ่งทางฟิลิปปินส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของชนชั้นเกษตร โดยหมายจะเป็นวงดนตรีที่มีเนื้อหาเพื่อชีวิต

เมื่อกลับมาเมืองไทย แอ๊ดและเขียวได้ร่วมกันเล่นดนตรีในเวลากลางคืน โดยกลางวันแอ๊ดทำงานอยู่ที่การเคหะแห่งชาติ เขียวทำให้กับบริษัทฟิลิปปินส์ที่มาเปิดในประเทศไทย ส่วนไข่ก็ได้แยกตัวออกไป ทั้งคู่ออกอัลบั้มชุดแรกของวง ในชื่อ "ลุงขี้เมา" เมื่อปี พ.ศ. 2524 ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 ได้มีสมาชิกในวงเพิ่มขึ้นมาอีก 1 คน คือ ปรีชา ชนะภัย (เล็ก) จากวงเพรซซิเด้นท์ และออกอัลบั้มเป็นชุดที่ 2 ในชื่อ "แป๊ะขายขวด" ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จอีก

คาราบาว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในอัลบั้มชุดที่ 3 ในปี พ.ศ. 2526 จากอัลบั้ม "วณิพก" ด้วยเพลงชื่อเดียวกับอัลบั้ม โดยมีเนื้อหาที่แปลกแผกไปจากเพลงในยุคนั้น ๆ และดนตรีที่เป็นท่วงทำนองแบบไทย ๆ ผสมกับตะวันตก มีจังหวะที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกคึกคัก เต้นรำได้

คาราบาวประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในปลายปี พ.ศ. 2527 เมื่อออกอัลบั้มชื่อว่า "เมด อิน ไทยแลนด์" เป็นอัลบั้มชุดที่ 5 ซึ่งทำยอดขายได้ถึง 5 ล้านตลับ ซึ่งเป็นสถิติยอดจำหน่ายอัลบั้มเพลงของศิลปินไทยที่สูงที่สุดไม่มีใครทำลายได้มาจนปัจจุบัน และเมื่อจัดคอนเสิร์ตใหญ่ ก็มียอดผู้ชมถึง 6 หมื่นคน

โดย คาราบาว ในยุคนั้น มีสมาชิกในวงทั้งสิ้น 7 คน ประกอบด้วย

ระหว่างปี พ.ศ. 2527 - พ.ศ. 2533 เรียกได้ว่าเป็นปีทองของคาราบาว โดยมีแอ๊ดเป็นผู้นำ โดยออกอัลบั้มออกมาทั้งหมด 5 ชุด ทุกชุดประสบความสำเร็จทั้งหมด ได้เล่นคอนเสิร์ตที่อเมริกาและยุโรปหลายครั้ง มีหลายเพลงที่ฮิตติดอยู่ในความทรงจำของแฟน ๆ จนปัจจุบัน เช่น เมดอินไทยแลนด์, เจ้าตาก, หำเทียม, มหาลัย, เรฟูจี, บาปบริสุทธิ์, แม่สาย, ทับหลัง เป็นต้น อีกทั้งได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการเพลงไทยในด้านต่าง ๆ เช่น

  • เป็นศิลปินไทยกลุ่มแรกที่มีโฆษณาลงในปกอัลบั้มและได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจและองค์กรต่าง ๆ ในสังคม
  • การแสดงคอนเสิร์ตใหญ่ครั้งแรกของวง ที่ชื่อ "ทำโดยคนไทย" ในปี พ.ศ. 2528 นับเป็นคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ครั้งแรกของศิลปินเพลงไทย และเป็นครั้งแรกด้วยที่มีการแสดงดนตรีในเวทีกลางแจ้ง
  • อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ แม้จะไม่มีมิวสิกวีดีโอ แต่เมื่อเพลงได้ถูกเผยแพร่ออกไป และได้รับความนิยม ทางรัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในเนื้อหา จึงได้จัดทำมิวสิกวีดีโอขึ้นมาต่างหาก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนไทยใช้ของไทย
  • เพลงบางเพลงที่มีเนื้อหาส่อเสียด มักจะถูกสั่งห้ามเผยแพร่ออกอากาศเสมอ ๆ ในแต่ละอัลบั้ม

แต่ในปี พ.ศ. 2533 สมาชิกในวง 4 คน คือ เขียว เทียรี่ อ.ธนิสร์ และเป้า ได้แยกตัวเป็นอิสระออกไป และทางวงก็ได้รับสมาชิกเพิ่มมา มาแทนที่ตำแหน่งที่ออกไป และยังคงออกอัลบั้มต่อมา และเทียรี่ที่แยกตัวออกไป ก็ได้กลับมาร่วมวงอีกครั้ง

และในปี พ.ศ. 2538 คาราบาวก็ได้ออกอัลบั้มชุดพิเศษ ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสมาชิกชุดเดิม 7 คน ในชื่อชุด "15 ปี คาราบาว หากหัวใจยังรักควาย" โดยออกมาถึง 2 ชุด ด้วยกัน

สมาชิกในยุคปัจจุบัน (จากซ้าย) อ้วน, หมี, อ๊อด, เล็ก, แอ๊ด, เทียรี่, ดุก, โก้, น้อง

แต่หลังจากปี พ.ศ. 2540 ชื่อเสียงและความนิยมของวงคาราบาวเริ่มสร่างซาลง เนื่องจากกระแสดนตรีที่เปลี่ยนไป แต่วงก็ยังคงผลิตผลงานออกมาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2545 คาราบาว กลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้งของสังคม เมื่อวงโดยแอ๊ดมีสินค้าของตัวเองออกมาจำหน่าย เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง ยี่ห้อ "คาราบาวแดง" ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และวงก็ได้ออกอัลบั้มชุดที่ 23 คือ "นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่" มาพร้อมกัน

จนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ. 2552) คาราบาวมีอัลบั้มทั้งสิ้น 26 ชุด ไม่นับรวมถึงอัลบั้มพิเศษของทางวงหรือของสมาชิกในวง หรือบทเพลงในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากนับรวมกันแล้วคงมีไม่ต่ำกว่า 100 ชุด มีเพลงไม่ต่ำกว่า 1,000 เพลง

เป็นวงดนตรีที่ได้รับการกล่าวขานมากที่สุดทั้งในวงการดนตรีทั่วไปและวงการเพลงเพื่อชีวิต เป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ฟังเพลง หรือผู้ที่นิยมในเพลงเพื่อชีวิตเท่านั้น จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "ตำนานเพลงเพื่อชีวิต"

[แก้] สมาชิกปัจจุบัน

[แก้] อดีตสมาชิก

  • สานิตย์ ลิ่มศิลา (ไข่) : ร่วมก่อตั้งวงแต่ไม่ได้ออกอัลบั้ม
  • ไพรัช เพิ่มฉลาด (รัช) : เบส (ร่วมงานเฉพาะชุดที่ 4 ท.ทหารอดทน)
หน้าปกอัลบั้ม ขี้เมา
หน้าปกอัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์
หน้าปกอัลบั้ม ทับหลัง

[แก้] ผลงานของคาราบาว

[แก้] เฉพาะอัลบั้มปกติ

[แก้] เพลงของคาราบาวที่ถูกแบน

เมื่อออกอัลบั้มในแต่ละชุดมักจะมีอยู่หนึ่งหรือสองเพลงที่ถูกคำสั่งจากคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กบว.) ห้ามออกอากาศในแต่ละครั้ง ๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เพลงที่ถูกแบนไม่ให้ออกอากาศมีดังนี้

  1. ชุด แป๊ะขายขวด (พ.ศ. 2525) มี 1 เพลง คือ กัญชา ด้วยเหตุผลว่าเนื้อหาส่งเสริมให้คนติดยาเสพย์ติด
  2. ชุด ท.ทหารอดทน (พ.ศ. 2526) มี 2 เพลง คือ ท.ทหารอดทน เนื่องจากรับไม่ได้กับท่อนที่ว่า "ดาวเดือนลอยเกลื่อนท้องฟ้า ยิงให้ตกลงมาติดบ่าได้สบาย ดาวเดือนลอยเกลื่อนนภา ยิงให้ตกลงมาติดบ่าก็มากมาย" / ทินเนอร์ เหตุผลคล้ายคลึงกับเพลงกัญชา
  3. ชุด เมด อิน ไทยแลนด์ (พ.ศ. 2527) มี 1 เพลง คือ หำเทียม เนื่องจากในเนื้อเพลงทั้งเพลงมีคำว่า "หำ" อยู่เต็มไปหมด
  4. ชุด อเมริโกย (พ.ศ. 2528) มี 1 เพลง คือ หำเฮี้ยน เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นมาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าจะต้องถูกแบนแน่นอน เนื่องจากมีเนื้อหาเสียดสีสื่อมวลชนที่เห็นแก่เงิน รับจ้างเขียนข่าว
  5. ชุด ประชาธิปไตย (พ.ศ. 2529) มี 3 เพลง คือ วันเด็ก เนื่องจากรับไม่ได้กับท่อนที่ว่า "สร้างเธคให้เด็กได้โยกบั้นเด้า" แต่จับไม่ได้ ไล่ไม่ทันกับเสียงลีดกีตาร์ที่ว่า "เ...ดแม่ " กับ "แม่เ...ด" ในช่วงต้นเพลง / ผู้ทน เนื่องจากรับไม่ได้กับท่อนที่ว่า "เพราะเงินไม่มีจะแดก" / ค.ควาย ค.คน เพราะรับไม่ได้กับท่อนที่ร้องว่า "อยู่ติดดิน ตีนติดดิน" กับ "ค.คนส้นตีนติดดิน"
  6. ชุด ทับหลัง (พ.ศ. 2531) มี 1 เพลง คือ พระอภัยมุณี ด้วยเหตุผลที่คล้ายกับเพลงกัญชาและทินเนอร์
  7. ชุด สัจจะ ๑๐ ประการ (พ.ศ. 2535) มี 1 เพลง คือ ชวนป๋วย เนื่องจากเหตุผลเสียดสีนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายชวน หลีกภัย)
  8. ชุด หากหัวใจยังรักควาย 1 และ 2 (พ.ศ. 2538) มี 3 เพลง คือ อองซานซูจี เนื่องจากหวั่นกระทบกับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศพม่า) / บุญหมา เนื่องจากเหตุผลเสียดสีนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (นายบรรหาร ศิลปอาชา) / เต้าหู้ยี้ เนื่องจากเนื้อหาเสียดสีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลขณะนั้น (นายเนวิน ชิดชอบ)

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเพลงในอัลบั้มเดี่ยวของ ยืนยง โอภากุล หรือ แอ๊ด คาราบาว ที่ก็มีเพลงถูกแบนจากหน่วยงานเดียวกันในแต่ละชุดอีกต่างหาก ได้แก่

  1. ชุด โนพลอมแพลม (พ.ศ. 2533) มี 3 เพลง คือ โนพลอมแพลม เนื่องจากเนื้อหาเสียดสีนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) / ไอ้หำ เหตุผลคล้ายกับเพลงหำเทียม / ขนม เนื่องจากเนื้อหาส่อเสียดการเมืองในเวลานั้น
  2. ชุด ไม่ต้องร้องไห้ (พ.ศ. 2545) ถูกแบนทั้งอัลบั้ม เนื่องจากหวั่นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศพม่า)
  3. ชุด ยืนยงตั้งวงเล่า (พ.ศ. 2550) มี 1 เพลง คือ ราชันย์ฝันสลาย เนื่องจากเหตุผลส่งเสริมให้คนกินเหล้า

การแบนเพลงในแต่ละครั้ง กระทำในช่วงเวลาที่อัลบั้มแต่ละชุดออกจำหน่ายเท่านั้น ไม่ครอบคลุมรวมไปถึงระยะเวลาทั้งหมด

[แก้] คอนเสิร์ตครั้งสำคัญ

หน้าปกซีดีรอมที่ระลึกจากคอนเสิร์ต 20 ปี คาราบาว เรื่องราวของคน ดนตรี และเขาควาย

[แก้] เบ็ดเตล็ด

  • คาราบาว เป็นวงดนตรีของเอเชียวงแรกที่มีรูปขึ้นบนไฟแช็กซิปโป้เหมือนศิลปินที่มีชื่อเสียงวงอื่น ๆ ของต่างประเทศ
  • คาราบาว ได้รับฉายาจากชาวต่างประเทศว่าเป็น "โรลลิ่ง สโตนเมืองไทย"
  • เทปแรกของรายการแฟนพันธุ์แท้ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543 คือตอน คาราบาว และจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ได้จัดในตอนคาราบาวมาแล้วถึง 2 ครั้ง
  • อัลบั้มทุกชุด จะมีข้อเขียนในลักษณะความในใจของแอ๊ด หัวหน้าวง เสมอ ๆ นับเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของคาราบาว
  • ในปี พ.ศ. 2529 มีการสร้างภาพยนตร์ของทางวงออกมา ชื่อ เสียงเพลงแห่งเสรีภาพ เขียนบทโดย แอ๊ด นำแสดงโดย สมาชิกของวงทั้งหมด และนักแสดงรับเชิญ ปัจจุบัน ได้มีการทำเป็นวีซีดีออกมาจำหน่าย
  • ปัจจุบัน มีร้านจำหน่ายสินค้า ของที่ระลึกของวง 2 สาขา อยู่ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร และ สวนลุมไนท์บาซ่า และมีมูลนิธิของทางวงด้วย ที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะผู้คนหรือพัฒนาพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ
  • ชื่อ คาราบาว ที่ต่อท้ายชื่อเล่นของบุคคล ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นนักร้อง นักดนตรีในวงเท่านั้น แต่ในบางครั้งจะใช้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือเคยร่วมงานกับวงด้วย เช่น นก คาราบาว (นักร้องประสานเสียงหญิง) ป๋อง คาราบาว (ผู้จัดการวง) เป็นต้น
  • คาราบาว ได้ชื่อว่าเป็นวงที่ไม่มีสังกัดที่แน่นอน และในการออกอัลบั้มแต่ละชุด จะทำงานกับสังกัดหรือค่ายเพลงเป็นการเฉพาะไป เช่น อัลบั้ม เมด อิน ไทยแลนด์ ที่สร้างชื่อให้ในปี พ.ศ. 2527 แม้ไม่ได้มีสังกัดที่แน่นอน แต่ก็มีแกรมมี่สนับสนุนอยู่ มีเพียงในระยะหลัง ๆ ได้สังกัดกับวอร์นเนอร์ มิวสิก ไทยแลนด์ แต่ทางวงเคยตั้งบริษัทเพื่อดูแลผลประโยชน์ของวงขึ้นมา ในชื่อ กระบือ แอนด์ โค

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น