ปรียา ฉิมโฉม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นางปรียา ฉิมโฉม
ปรียาฉิมโฉม.jpg
เกิด 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2458
เสียชีวิต 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 (92 ปี)
ที่อยู่ กรุงเทพมหานคร
สัญชาติ ไทย
รู้จักในฐานะ นักผังเมืองและสถาปนิก
คู่สมรส นายสนิท ฉิมโฉม
บุตร นายณัฐเสกข์ ฉิมโฉม
บิดา มารดา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
หม่อมแม้นมารดา

นางปรียา ฉิมโฉม สกุลเดิม เทพหัสดิน ณ อยุธยา (16 พฤษภาคม พ.ศ. 245823 กรกฎาคม พ.ศ. 2550) นักผังเมืองและสถาปนิก ผู้บุกเบิกสำคัญผู้หนึ่งด้านการผังเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกองผังเมืองจนถึงระดับกรมโดยได้เป็นผู้อำนวยการ (อธิบดี) คนที่ 3 ของสำนักผังเมือง (ปัจจุบันคือกรมโยธาธิการและผังเมือง) และนับเป็นอธิบดีหญิงคนแรกของกระทรวงมหาดไทย นางปรียา ฉิมโฉมเป็นนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่น ที่ 1 (พ.ศ. 2476)


เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

นางปรียา ฉิมโฉม เป็นบุตรี ของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ เป็นบุตรีคนที่ 2 ที่เกิดกับหม่อมแม้นมารดา มีพี่น้องร่วมมารดา 4 คน และมีพี่น้องร่วมบิดาอีก 14 คน เมื่อวัยเด็กอยู่กับบิดามารดาและพี่น้องส่วนใหญ่ที่บ้านนางเลิ้ง ถนนหลานหลวง ศึกษาชั้นประถมและมัธยมถึงขั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในขณะนั้น ที่โรงเรียนราชินี แล้วจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสตรีจุลนาค ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ท่านบิดากับพี่สาวใหญ่ คือ คุณไฉไล เทพหัสดินฯ ก่อตั้งขึ้นที่ถนนหลานหลวงจนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้วจึงสอบเข้าศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2476

นางปรียา ฉิมโฉมได้เข้าศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์พร้อมกับน้องสาว คือคุณธารี เทพหัสดิน ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะฯ แล้ว ยังนับได้ว่าเป็นนิสิตหญิงสองคนแรกของคณะฯ นี้อีกด้วย นิสิตสถาปัตยกรรมฯ รุ่นแรกมีจำนวนรวมกันทั้งหมด 13 คน ทุกคนจบการศึกษาหลักสูตรอนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรขั้นสูงสุดในขณะนั้น ร่างโดยอาจารย์นารถ โพธิประสาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2480 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จึงได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตร 5 ปีเป็นแห่งแรกของประเทศ

นางปรียา ฉิมโฉม ได้เข้ารับราชการในตำแหน่งสถาปนิกที่กรมโยธาเทศบาล (กรมโยธาธิการและผังเมืองปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ. 2483 กรมโยธาเทศบาลตั้งอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามของถนนหลานหลวง จึงสะดวกสามารถเดินไปทำงานได้ นางปรียาและน้องสาว คือนางธารีฯ นับเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกของกรมเช่นกัน

นางปรียา ฉิมโฉม สมรสกับนายสนิท ฉิมโฉมสถาปนิก รุ่น 1 เพื่อนร่วมชั้น ที่ได้มาทำงานที่กรมโยธาด้วยกันซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่งสถาปนิกใหญ่ของกรม มีบุตรชายร่วมกันเพียง 1 คน คือ นายณัฐเสกข์ ฉิมโฉม อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


[แก้] ชีวิตการทำงาน

ภายหลังเมื่อ ได้มีการจัดตั้งกองผังเมืองเป็นหน่วยงานภายในกรมโยธาเทศบาล (ชื่อในขณะนั้น) นางปรียาได้ย้ายไปสังกัดและเริ่มทำงานด้านการผังเมืองโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เลื่อนเป็นหัวหน้ากองผังเมืองในเวลาต่อมา และเมื่อแยกออกไปเป็นสำนักซึ่งเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย นางปรียาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักและต่อมาเลื่อนเป็นผู้อำนวยการสำนัก (เทียบเท่าอธิบดี) ที่เป็นสตรีเป็นคนแรก ดูแลด้านการผังเมืองและการจัดทำผังเมืองรวม

[แก้] การศึกษาดูงานด้านการผังเมือง

เมื่อ พ.ศ. 2497 นางปรียา ฉิมโฉมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านการผังเมืองเป็นครั้งแรกโดยทุนของกรมโยธาเทศบาล โดยได้ดูงานเมืองใหม่ที่อังกฤษและการการวางผังเมืองในยุโรปและอเมริกาเป็นเวลา 7 เดือน อีก 7 ปีต่อมาได้รับทุน USOM ไปดูงานในสหรัฐฯ เข้าฟังการเรียนด้านการผังเมืองในวิชาการใช้ที่ดินและการขนส่ง กฎหมายและการบริหารและการปฏิบัติวิชาชีพผังเมืองที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย จากนั้นได้เข้าฝึกงานในสำนักผังเมืองฟิลาเดลเฟีย สำนักงานอาคารสงเคราะห์และสำนักพัฒนาชุมชนแห่งฟิลาเดลเฟีย และได้รับประกาศนียบัตรรับรองผลสัมฤทธิ์ในการศึกษาและฝึกงานจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังมีโอกาสดูวิธีการตัดสินแบบเกี่ยวกับการวางผังเมืองที่สถานบันแพรตต์ (แพรตต์อินสติตูต) ที่นิวยอร์ก และที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีกด้วย การศึกษาดูงานครั้งนี้มีความเข้มข้นและใช้เวลา 8 เดือน

นอกจากนี้ นางปรียายังได้ไปดูงานเกี่ยวกับกฎหมายอาคารชุดที่ฮาวาย ได้ดูงานสร้างเมืองใหม่ที่อังกฤษอีกครั้งหนึ่ง และได้พบปะเยี่ยมเยือนและดูงานจราจรในเยอรมันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเยอรมันที่มาช่วยเหลือประเทศไทยในขณะนั้น

[แก้] บทบาทด้านการผังเมือง

ในฐานะนักผังเมืองและหัวหน้าหน่วยงาน นางปรียา ฉิมโฉมได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการออกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งเริ่มผลักดันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 พระราชบัญญัติอาคารชุด และระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมาก ได้มีโอกาสเดินทางไปพื้นที่ในประเทศและได้ไปดูงานด้านการผังเมืองต่างประเทศ รวมทั้งการถูกฟ้องร้องกับ ปปป. และการถวายฏีกาของประชาชนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินเขตเพลิงใหม้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่มักพบบ่อยในงานวางผังเมือง

นอกจากนี้นางปรียา ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลไปประชุมเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเมืองที่ฮาวาย สหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2510 เป็นผู้แทนกระทรวงมหาดไทยไปประชุมที่โตเกียวเพื่อร่วมพิจารณาผังแม่บทสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ลุมพินีวัน ซึ่ง เคนโซะ ตังเกะ สถาปนิกผู้โด่งดังของญี่ปุ่นเป็นผู้วางผังหลักเมื่อ พ.ศ. 2513 และที่ควรกล่าวถึงผลงานอีกชิ้นหนึ่งได้แก่การผลักดันถนนวงแหวนรอบในเป็นผลสำเร็จ นั่นคือถนนรัชดาภิเษกในปัจจุบันซึ่งต้องใช้ทั้งที่ดินการรถไฟและที่ดินเอกชน

[แก้] บั้นปลายชีวิต

หลังเกษียณราชการแล้ว นางปรียายังได้ทำประโยชน์แก่สังคมต่อไป อาทิ เป็นกรรมการมูลนิธิมหามงกุฏราชวิทยาลัยในพระราชูปถัมภ์ กรรมการมูลนิธิวัดบวรนิเวศน์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิวัดญาณสังวรารามวรวิหารในพระบรมราชูปถัมภ์ กรรมการราชินีมูลนิธิและกรรมการมูลนิธิสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทยฯ นอกจากนั้น นางปรียาได้มีโอกาสร่วมวางผังและออกแบบวัดสังฆวรารามซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่ง

นางปรียา ฉิมโฉม ถึงแก่อนิจกรรม ด้วยโรคชรา เมื่ออายุได้ 92 ปี และด้วยคุณงามความดีจากการทำประโยชน์รวมทั้งการน้อมเกล้าถวายที่ดินจำนวน 27 ไร่เพื่อการจัดสร้าง "วิทยาลัยการอาชีพไกลกังวลเฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตชะอำ" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ จึงมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมฯ พระราชทานพวงมาลาวางหน้าโกศศพเป็นกรณีพิเศษ


[แก้] อ้างอิง

  • ปรียา ฉิมโฉม สุภาพสตรี ๔ แผ่นดิน วารสารดิฉัน ฉบับ พ.ศ. 2548
  • สมุดประวัติการรับราชการของนางปรียา ฉิมโฉม