พระนางเธอลักษมีลาวัณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระนางเธอลักษมีลาวัณ.jpg
พระนางเธอลักษมีลาวัณ
พระนาม พระนางเธอลักษมีลาวัณ
พระอิสริยยศ พระนางเธอ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

พระนางเธอลักษมีลาวัณ (3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 - 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504) พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ริเริ่มรื้อฟื้น คณะละครปรีดาลัย ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ขึ้นมาอีกครั้ง

เนื้อหา

[แก้] พระประวัติ

พระนางเธอลักษมีลาวัณ พระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ เป็นพระธิดาพระองค์ที่ 14 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กับหม่อมหลวงตาด มนตรีกุล ประสูติเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 มีพระนามเรียกกันในหมู่พระญาติว่า “ติ๋ว”

หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล สนพระทัยด้านวรรณกรรม และทรงพระนิพนธ์โคลงกลอนอยู่เสมอ เมื่อชันษา 21 ปี ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานประกวดภาพเขียน ณ โรงละครวังพญาไท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนไปแสดงละครในวังหลวง และโปรดให้แสดงเป็นนางเอกในพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น เป็นเจ้าหญิงอันโดเมดราในเรื่อง “วิวาหพระสมุท” นับเป็นสตรีท่านแรกที่ได้รับบทนางเอกในละครพูด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่แก่พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในวันที่ 21 ตุลาคม 2463 ดังนี้

หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2464[1] ขณะพระชันษาได้ 22 ปี และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2464 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ พร้อมกับทรงหมั้น และมีพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส ในภายหน้า ดังพระบรมราชโองการว่า[2]

"ศุภมัสดุ พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ ปัจจุบันกาล สุริยคตินิยม กันยายนมาศ อัฏฐมาสาหคุณพิเศษ บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ ฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระดำริว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่พอพระราชหฤทัย ดังมีความแจ่มแจ้งอยู่ในประกาศพบรมราชโองการ ลงวันที่ ๔ เมษายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ นั้นแล้ว บัดนี้ได้ทรงพระราชวินิจฉัยว่า จะได้ทรงทำการราชาภิเษกสมรส ณ เบื้องหน้า จึงเป็นการสมควรยกย่องพระเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านั้น มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ จงทรงเจริญพระชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลทุกประการ เทอญ "
หนังสือพิมพ์รายงานข่าวการสิ้นพระชนม์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเธอลักษมีลาวัณ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465[3] แต่เนื่องจากพระนางเธอลักษมีลาวัณ มิได้มีรัชทายาทได้ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์จึงมิได้อภิเษกสมรสกัน และทรงตัดสินพระราชหฤทัยแยกกันอยู่

พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงแยกอยู่ตามลำพัง ณ พระตำหนักในซอยพร้อมพงศ์ ริมคลองแสนแสบ ทรงใช้ชีวิตอย่างสงบ และทรงใช้เวลาว่างในการทรงพระนิพนธ์ร้อยกรอง บทละคร และนวนิยายไว้เป็นจำนวนมาก โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า ปัทมะ วรรณพิมล และ พระนางเธอลักษมีลาวัณ ทรงดำเนินกิจการคณะละครปรีดาลัย ที่พระบิดาได้ทรงริเริ่มไว้ คณะละครปรีดาลัยในพระอุปถัมภ์ ได้สร้างศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น มารุต, ทัต เอกทัต, จอก ดอกจันทน์

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงย้ายไปประทับที่ พระตำหนักลักษมีวิลาศ ถนนศรีอยุธยา และทรงพระนิพนธ์บทกวี และนวนิยาย เช่น ชีวิตหวาม เรือนใจที่ไร้ค่า ยั่วรัก โชคเชื่อมชีวิต ภัยรักของจันจลา และ เสื่อมเสียงสาป

[แก้] สิ้นพระชนม์

วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2504 คนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไปคนหนึ่ง เห็นว่าทรงเจ้านายสตรี ทรงพระชรา และทรงอยู่ตามลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคา ก็กลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ สี่แยกพยาไท และย่องเข้ามาทางข้างหลังใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียรขณะประทับพรวนดินอยู่จนสิ้นพระชนม์ แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่ไม่มีทรัพย์สินอย่างอื่นเลย

ชายคนสวนผู้นั้นจำนำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วยไม่รู้จัก เจ้าของโรงรับจำนำเห็นผิดสังเกตจึงแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ชายคนสวนผู้นั้นรับสารภาพถึงการฆาตกรรม และกล่าวว่าตนทราบแต่เพียงว่าพระนางทรงเป็นเจ้านาย ไม่คิดว่าจะทรงเป็นเจ้านายใหญ่ถึงเพียงนั้น

ครั้งนัน พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2504 เวลา 15.30 น. ว่าตนไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถ พระชนมายุรวม 62 ชันษา


[แก้] ด้านงานประพันธ์

พระนางเธอลักษมีลาวัณทรงใช้ชีวิตเพียงลำพัง ต่อมาโดยใช้เวลาว่างให้หมดไปกับการทรงพระอักษรและนิพนธ์ไว้หลายเรื่อง เช่น เรื่องยั่วรัก ชีวิตหวาม เสื่อมเสียงสาป รักที่ถูกรังแก โชคเชื่อมชีวิต เรือนใจที่ไร้ค่า ภัยรักของจันจลา โดยใช้นามปากกาว่า ปัทมะ ส่วนที่นิพนธ์ไว้เช่นเรื่อง หาเหตุหึง ปรีดาลัย ออนพาเหรด ใช้นามปากกาว่า วรรณพิมล

[แก้] ด้านศิลปะการแสดง

ทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยสืบสานจากพระบิดา โดยจัดเป็นละครร้องมีทำนองทั้งเพลงไทยและเพลงสากล มีระบำเบิกโรงก่อนแสดงละครเรื่อง วงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่บรรเลง เป็นเพลงแบบโอเปร่าตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง ศาลาเฉลิมนคร โรงมหรสพนาครเขษม นอกจากนั้นยังจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรืองานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง จึงทรงยุบเลิกคณะละครเพราะพระชนมายุเริ่มเข้าสู่วัยชรา

[แก้] พระเกียรติยศ

[แก้] พระอิสริยยศ

  • หม่อมเจ้าหญิงวรรณพิมล วรวรรณ
  • หม่อมเจ้าหญิงลักษมีลาวัณ วรวรรณ
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
  • พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณ
  • พระนางเธอลักษมีลาวัณ

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้] อ้างอิง

  • พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, โอเดียนการพิมพ์, 2510 ISBN 974-341-064-3
  • ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2545 หน้า 124-128

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น