การรุกรานโปแลนด์ (1939)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การรุกรานโปแลนด์
เป็นส่วนหนึ่งของ สงครามโลกครั้งที่สอง
InvasionPoland1939.png
แผนที่แสดงการรุกรานโปแลนด์ในบริบทของทวีปยุโรปในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง เยอรมนีและสโลวาเกียโจมตีมาจากทางตะวันตก (สีฟ้า); สหภาพโซเวียตโจมตีมาจากทางทิศตะวันออก (สีชมพู)
วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 - 6 ตุลาคม ค.ศ. 1939
สถานที่ โปแลนด์
ผลลัพธ์ ฝ่ายอักษะและสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายชนะ
อาณาเขต
เปลี่ยนแปลง
ดินแดนโปแลนด์ถูกผนวกเข้ากับเยอรมนี สหภาพโซเวียต ลิทัวเนียและสโลวาเกีย
ผู้ร่วมสงคราม
Flag of โปแลนด์ โปแลนด์ Flag of เยอรมนี นาซีเยอรมนี
Flag of สโลวาเกีย สโลวาเกีย

Flag of the Soviet Union สหภาพโซเวียต

ผู้บัญชาการ
Flag of โปแลนด์ เอ็ดเวิร์ด ริดซ์ สมิกลี่ Flag of เยอรมนี เฟดอร์ ฟอน บอค
(กองทัพกลุ่มเหนือ)
Flag of เยอรมนี เกอร์ด ฟอน รุนด์ชเทดท์
(กองทัพกลุ่มใต้)
Flag of สโลวาเกีย เฟอร์ดินแลนด์ แคทลอส

Flag of the Soviet Union มิคาอิล คอลาเวฟ
(แนวรบเบลารุส)
Flag of the Soviet Union เซมยอน ทิโมเชนโก
(แนวรบยูเครน)

กองกำลัง
39 กองพลทหารราบ[1]

16 กองพลน้อยทหารราบ[1]
ปืนใหญ่ 4,300 กระบอก[1]
รถถัง 880 คัน
เครื่องบิน 400 ลำ[2]
รวม: 950,000 นาย[I]

Flag of เยอรมนี นาซีเยอรมนี:

60 กองพลทหารราบ
4 กองพลน้อยทหารราบ
ปืนใหญ่ 9,000 กระบอก[2]
รถถัง 2,750 คัน
เครื่องบิน 2,315 ลำ[3]
รวม: 1,500,000 นาย[2]
Flag of สโลวาเกีย สโลวาเกีย:
3 กองพลทหารราบ
รวม: 51,306 นาย


Flag of the Soviet Union สหภาพโซเวียต:
33+ กองพลทหารราบ
11+ กองพลน้อยทหารราบ
ปืนใหญ่ 4,959 กระบอก
รถถัง 4,736 คัน
เครื่องบิน 3,300 ลำ
รวม: 466,516 นาย[4]


รวมทั้งสิ้น: 2,000,000+ นาย

ความสูญเสีย
ตาย 66,000 นาย[II]
บาดเจ็บ 133,700 นาย
ถูกจับเป็นเชลย 694,000 นาย
Flag of เยอรมนี นาซีเยอรมนี:
ตาย 16,343 นาย[II]
บาดเจ็บ 27,640 นาย
สูญหาย 320 นาย
Flag of the Soviet Union สหภาพโซเวียต:
ตายหรือสูญหาย 1,475 นาย
บาดเจ็บ 2,383 นาย[4]
Flag of สโลวาเกีย สโลวาเกีย:
ตาย 37 นาย
บาดเจ็บ 114 นาย
สูญหาย 11 นาย[5]

การรุกรานโปแลนด์ หรืออาจเป็นที่รู้จักกันว่า "การทัพเดือนกันยายน" โปแลนด์: Kampania wrześniowa หรือ "สงครามป้องกันมาตุภูมิปี 1939" โปแลนด์: Wojna obronna 1939 roku ในโปแลนด์ และ "การทัพโปแลนด์" เยอรมัน: Polenfeldzug หรือกรณีสีขาว ในเยอรมนี เป็นแผนการโจมตีของนาซีเยอรมนี สหภาพโซเวียตและสโลวาเกีย ต่อโปแลนด์ ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 1 กันยายน หนึ่งสัปดาห์หลังการลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1939 เมื่อเยอรมนีและสหภาพโซเวียตแบ่งแยกและปกครองโปแลนด์ทั้งหมด

การรุกรานเริ่มต้นหนึ่งวันหลังจากกรณีกลีวิซ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป จากการประกาศสงครามต่อนาซีเยอรมนีของฝ่ายพันธมิตรตะวันตก เมื่อวันที่ 3 กันยายน แต่ก็มีผลต่อการทัพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในเวลาไม่นานนัก กองทัพโปแลนด์ก็ต้องล่าถอยจากที่มั่นใกล้กับแนวพรมแดนไปยังแนวป้องกันทางทิศตะวันออก หลังจากความพ่ายแพ้ในยุทธการแม่น้ำบซูรา เมื่อกลางเดือนกันยายน ทำให้กองทัพเยอรมันสามารถครองความได้เปรียบอย่างแน่นอน กองทัพโปแลนด์พยายามล่าถอยไปทางตะวันออกเฉียงใต้ ที่ซึ่งมีการจัดเตรียมการตั้งรับกันอย่างเหนียวแน่นในเขตฝั่งโรมาเนีย และรอจนกว่าสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนและช่วยปลดปล่อยดินแดนที่ถูกยึดครอง[6]

ในวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1939 กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตร่วมกับทัพเยอรมนีรุกรานชายแดนตะวันออกของโปแลนด์ ตามความร่วมมือในข้อตกลงลับของสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป และทำให้แผนการป้องกันประเทศของโปแลนด์ประสบความล้มเหลว[7] แผนการป้องกันประเทศไม่สามารถสำเร็จได้หากต้องเผชิญกับศึกทั้งสองด้าน รัฐบาลโปแลนด์จึงออกคำสั่งให้อพยพฉุกเฉินและถอนกองทัพทั้งหมดไปยังโรมาเนีย[8] ถึงแม้ว่ารัฐบาลโปแลนด์จะไม่เคยยอมจำนนอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่เยอรมนีและสหภาพโซเวียตก็มีอำนาจปกครองเหนือโปแลนด์ทั้งหมด อันเป็นจุดสิ้นสุดของสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สอง

หลังจากการทัพ ประชาชนชาวโปแลนด์ได้ก่อตัวเป็นขบวนการกู้ชาติและก่อตั้งรัฐใต้ดินโปแลนด์ขึ้น โดยทหารในต่างประเทศจำนวนมากยังคงจงรักภักดีต่อรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์อยู่ พร้อมกับเข้าร่วมในกองกำลังโปแลนด์ในตะวันตก ในขณะที่เยอรมนีและสหภาพโซเวียตก็ได้ผนวกดินแดนในส่วนของตน และแผ่อิทธิพลในยุโรปตะวันออกต่อไป

เนื้อหา

[แก้] เบื้องหลัง

พรรคนาซีนำโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนีเมื่อปี ค.ศ. 1933 เยอรมนีได้มีนโยบายในการขึ้นครองความเป็นประมุขในทวีปยุโรป และยึดครองดินแดนของสหภาพโซเวียต และบรรลุนโยบาย เลเบนสเราม์ และขยายอิทธิพลของนาซีเยอรมนี ซึ่งรายล้อมไปด้วยรัฐพันธมิตร รัฐบริวาร หรือรัฐหุ่นเชิด[9]

เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในระยะยาว ในช่วงแรก ฮิตเลอร์ได้ใช้นโยบายทอดไมตรีกับโปแลนด์ และนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โปแลนด์ เมื่อปี ค.ศ. 1934[10][11] เยอรมนีพยายามโน้มน้าวให้โปแลนด์ยอมเข้าร่วมกับสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากล เพื่อร่วมมือกันต่อต้านสหภาพโซเวียต[10][11][12] โดยที่เยอรมนีมีเป้าหมายจะครอบครองดินแดนของสหภาพโซเวียต[13] ทั้งนี้โปแลนด์จะได้รับปันดินแดนบางส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทว่าชาวโปแลนด์ล้วนทราบดีว่าประเทศของตนจะต้องตกอยู่ใต้อำนาจของเยอรมนีหากยอมทำตามเช่นนั้น และเอกราชของโปแลนด์ก็ถูกคุกคามด้วย[14]

นอกเหนือจากความต้องการในดินแดนของสหภาพโซเวียต พรรคนาซียังตั้งใจที่จะสร้างแนวชายแดนใหม่ขึ้นกับโปแลนด์ เนื่องจากฝ่ายพันธมิตรได้ฉีกเอาแคว้นปรัสเซียตะวันออกออกไปตั้งแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (เป็นส่วนที่เรียกว่า "ฉนวนโปแลนด์") ชาวเยอรมันส่วนใหญ่มีความต้องการที่จะรวมนครเสรีดานซิกกลับเข้าสู่แผ่นดินเยอรมนี แม้ว่านครดานซิกจะมีชาวเยอรมันอาศัยอยู่มาแต่เดิมนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 แต่เนื่องจากเป็นดินแดนทางออกทะเลที่ค่อนข้างยาว ทำให้เป็นข้อขัดแย้งระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์มาโดยตลอด โปแลนด์ได้รับดินแดนดังกล่าวไปครอบครองหลังจากผลของสนธิสัญญาแวร์ซายส์ เนื่องจากดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งในครอบครองของปรัสเซีย ซึ่งเยอรมนีมีความต้องการเรียกร้องดินแดนกลับคืน ฮิตเลอร์ได้ใช้สาเหตุดังกล่าวในการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมภายในประเทศเยอรมนี โดยให้สัญญาแก่ประชาชนว่าตนจะปลดปล่อยชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมันที่ยังหลงเหลืออยู่ในดินแดนดังกล่าวให้กลับคืนสู่เยอรมนี[15]

โปแลนด์ได้มีส่วนร่วมในการแบ่งประเทศเชโกสโลวาเกียซึ่งเกิดขึ้นหลังจากข้อตกลงมิวนิก แม้ว่าโปแลนด์จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในที่ประชุมก็ตาม แต่โปแลนด์ก็ได้ดินแดนบางส่วนจากเชโกสโลวาเกียเมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1938[16]

ปี ค.ศ. 1938 เยอรมนีเริ่มแสดงความต้องการในนครดานซิกเพิ่มมากขึ้น[10] โดยเรียกร้องให้สร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างแคว้นปรัสเซียตะวันออกกับแผ่นดินใหญ่ของเยอรมนี แล่นตัดผ่านฉนวนโปแลนด์[17] และต่อสนธิสัญญาเยอรมนี-โปแลนด์ไปอีก 25 ปี[10] โปแลนด์ได้ปฏิเสธแผนการก่อสร้างดังกล่าว ด้วยกลัวว่าอาจนำไปสู่การสูญเสียเอกราชของตนและเพิ่มความต้องการของเยอรมนีด้วย เช่นเดียวกับที่เชโกสโลวาเกียเคยประสบมาก่อนหน้านี้[18] โดยรีบทำสนธิสัญญาอีกฉบับกับสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[10] ชาวโปแลนด์นั้นไม่เชื่อใจฮิตเลอร์รวมไปถึงเจตนาของเขาเป็นอย่างมาก[18] ในเวลาเดียวกันนั้น เยอรมนีก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่พวกชาตินิยมยูเครนซึ่งต่อต้านโปแลนด์ ทำให้ชาวโปแลนด์ไม่ไว้ใจเยอรมนีมากขึ้น เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 1939 สหราชอาณาจักรซึ่งมีความตื่นตัวในเรื่องนี้ สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสได้ให้คำรับรองความช่วยเหลือแก่โปแลนด์ แต่ว่ากลับไม่ได้ให้คำรับรองว่าจะช่วยเหลือด้วยการส่งกำลังทหารเข้าไปเพิ่มเติมในการป้องกันโปแลนด์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลอร์ด ฮาลิแฟกซ์ ยังคงหวังว่าเยอรมนีจะยอมทิ้งแผนการเพื่อยึดครองนครดานซิกเสีย เขาและผู้สนับสนุนของเขายังคงเชื่อว่าสงครามนั้นอาจจะหลีกเลี่ยงได้และหวังว่าเยอรมนีจะยอมผ่อนปรนในประเด็นปัญหาเรื่องดังกล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของโซเวียต วยาเชสลาฟ โมโลตอฟ กำลังลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป ด้านหลังเขา (ซ้ายยืน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอป (ขวา) ผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน
ในภาคผนวกลับต่อท้ายสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตได้ตกลงกันถึงแนวชายแดนของตน เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1939

ด้วยสถานการณ์ที่ตึงเครียด เยอรมนีได้เปลี่ยนท่าทีของตนเป็นแข็งกร้าว เมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1939 เยอรมนีได้ฉีกสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โปแลนด์ ของปี ค.ศ. 1934 และข้อตกลงการจำกัดขนาดของกองทัพเรือกรุงลอนดอน ของปี ค.ศ. 1935 ทิ้งไป ต้นปี ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งให้กองทัพเยอรมันเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในโปแลนด์ หลังจากนั้น เยอรมนีก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ในตอนท้ายของสนธิสัญญา เยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้วางแผนกันอย่างลับ ๆ เพื่อยึดครองยุโรปตะวันออก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะรักษาท่าทีเป็นมิตรกับสหภาพโซเวียต ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เยอรมนีมั่นใจได้ว่าสหภาพโซเวียตจะรักษาความเป็นกลางกับตนระหว่างการรุกรานโปแลนด์[19]

การรุกรานเดิมนั้นกำหนดไว้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 4.00 น. แต่ทว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม อังกฤษและโปแลนด์ได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหารระหว่างอังกฤษ-โปแลนด์ ซึ่งได้รวมกับสนธิสัญญาพันธมิตรทางการทหารระหว่างฝรั่งเศส-โปแลนด์ ซึ่งอังกฤษเสนอตัวจะช่วยในการป้องกันและรับประกันเอกราชของโปแลนด์ ในเวลาเดียวกันนั้น ชาวอังกฤษและชาวโปแลนด์พูดเป็นนัยไปยังเยอรมนีว่าพวกตนต้องการการเจรจาอีกครั้ง ฮิตเลอร์จึงได้เลื่อนแผนการออกไปเป็นวันที่ 1 กันยายน และวางแผนให้ประสบกับความเสี่ยงน้อยที่สุด[19]

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ฮิตเลอร์ได้พยายามที่จะหน่วงเหนี่ยวอังกฤษและฝรั่งเศสไม่ให้ทำการตอบโต้กับความขัดแย้งที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเจรจา ฮิตเลอร์มั่นใจว่าอาจมีโอกาสที่ฝ่ายสัมพันธมิตรจะประกาศสงครามกับเยอรมนี และถึงแม้ว่าพวกเขาจะทำเช่นนั้น แต่อังกฤษและฝรั่งเศสได้ให้เพียงคำมั่นแก่โปแลนด์เท่านั้น หลังจากที่โปแลนด์ถูกพิชิตแล้ว ฮิตเลอร์เชื่อว่าทั้งสองประเทศอาจขอเจรจาใหม่อีกครั้ง ต่อมา เครื่องบินลาดตระเวนจำนวนมากได้บินอยู่เหนือน่านฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสงครามใกล้จะเริ่มขึ้นในไม่ช้า

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เยอรมนีได้ยื่นข้อเสนอทางการทูตเป็นครั้งสุดท้าย ตามแผนการกรณีสีขาว เมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 29 สิงหาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี โจอาคิม ฟอน ริบเบนทรอป ได้จับมือกับเอกอัครราชทูตอังกฤษ เซอร์ เนวิลล์ เฮนเดอร์สัน เพื่อประชุมร่วมกันถึงสันติภาพในอนาคต นครดานซิกนั้นจะคืนให้แก่เยอรมนี และจะมีการลงประชามติในฉนวนโปแลนด์ภายในปี ค.ศ. 1919[20] และมีการเสนอให้แลกเปลี่ยนประชากรของทั้งสองประเทศ[21] ผู้แทนโปแลนด์เดินทางมายังกรุงเบอร์ลินและตอบรับข้อเสนอดังกล่าวเมื่อตอนเที่ยงวันของวันที่ 30 สิงหาคม[22] คณะรัฐมนตรีอังกฤษได้ลงความเห็นแล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีเหตุผลและยอมรับได้ ยกเว้นแต่การเรียกร้องโดยการยื่นคำขาดของเยอรมนีเท่านั้น[23] เมื่อผู้แทนโปแลนด์ได้เข้าพบริบเบนทรอปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม เขาได้แจ้งแก่ริบเบนทรอปว่าเขานั้นไม่มีอำนาจสมบูรณ์ที่จะลงนามในสัญญาดังกล่าว ริบเบนทรอปก็ให้เขาออกไป โดยหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ก็ได้มีการแพร่ภาพทางโทรทัศน์ทั่วประเทศเยอรมนีในภายหลังว่า โปแลนด์ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว และการเจรจากับโปแลนด์ก็ได้มาถึงกาลสิ้นสุด[24]

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม กองทัพเรือโปแลนด์ได้ส่งเรือพิฆาตตอร์ปิโดไปยังเกาะอังกฤษตามแผนปฏิบัติการปักกิ่ง ในวันเดียวกัน จอมพลแห่งโปแลนด์ เอ็ดเวิร์ด ริดซ์ สมิกลี่ ก็ได้ประกาศระดมพลทหารโปแลนด์ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสได้กดดันให้เขายุติการระดมพลไว้ก่อน เนื่องจากฝรั่งเศสยังคงเชื่อว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางการทูต แต่ฝรั่งเศสมิได้ตระหนักว่ากองทัพเยอรมันได้สั่งระดมพลไว้ล่วงหน้าแล้ว[25] และกำลังยกกองทัพเข้าประชิดพรมแดนโปแลนด์ ทางด้านโปแลนด์ เนื่องจากฝรั่งเศสได้กดดันให้หยุดการระดมพล ทำให้โปแลนด์มีทหารทั้งหมด 70% ของจำนวนทหารที่สามารถจะมีได้ในเวลานั้น และทหารจำนวนมากยังไม่ได้อยู่ในตำแหน่งของตนตามแผนการ หรือไม่ก็กำลังเดินทางไปยังแนวชายแดนเยอรมนี-โปแลนด์ ในคืนของวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1939 ทหารเยอรมันได้จัดฉากการโจมตีสถานีวิทยุในเมืองกลีวิซ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "กรณีกลีวิซ" อันเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการฮิมม์เลอร์[26] และฮิตเลอร์ได้ออกคำสั่งให้การโจมตีโปแลนด์เริ่มขึ้นเมื่อ 4.45 น. ของวันรุ่งขึ้น

[แก้] กองกำลังเปรียบเทียบ

[แก้] กองทัพโปแลนด์

รถถังขนาดเบา 7ทีพี ของโปแลนด์
ทหารราบโปแลนด์เดินสวนสนาม

ระหว่างปี ค.ศ. 1936 ถึง ค.ศ. 1939 โปแลนด์ได้พัฒนาขีดความสามารถทางอุตสาหกรรมของตนให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การเตรียมการเพื่อทำสงครามรับมือกับเยอรมนีนั้นได้ใช้เวลาไปหลายปี แต่โปแลนด์ไม่ได้คาดว่าแผนการทำสงครามนั้นจะต้องถูกนำออกมาใช้ก่อนปี ค.ศ. 1942 ดังนั้นโปแลนด์จึงขายเครื่องมือยุทโธปกรณ์ทันสมัยจำนวนมากของตนที่ได้ผลิตออกมา เพื่อเป็นการเพิ่มเงินทุนการผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรม[27] ในปี ค.ศ. 1936 ทางรัฐบาลโปแลนด์ได้ออกคำสั่งให้เก็บระดมเงินทุนเพื่อเสริมกำลังให้แก่กองทัพบกของโปแลนด์ กองทัพโปแลนด์มีขนาดไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านนาย ทว่าพลทหารกว่าครึ่งเพิ่งถูกเรียกระดมพลในวันแรกของการรุกราน ทั้งยังไม่สามารถตั้งตัวกันได้ติดเนื่องจากการคมนาคมทางบกถูกตัดขาดจากการโจมตีของกองทัพอากาศเยอรมนี กองทัพโปแลนด์ยังมียานเกราะน้อยกว่าเยอรมนี ยิ่งกว่านั้นยังถูกส่งกระจายออกไปร่วมกับกองทหารราบ ทำให้ไม่สามารถบังเกิดประสิทธิผลอย่างเต็มที่[28]

โปแลนด์เคยมีประสบการณ์การรบในสงครามโปแลนด์-โซเวียตมาแล้ว จึงพัฒนาและปรับปรุงระบบกองทัพ ไม่เหมือนกับการรบแบบสนามเพลาะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สงครามครั้งนี้เป็นการรบโดยอาศัยประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของทหารม้า ซึ่งมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก[29] โปแลนด์นั้นมีข้อได้เปรียบจากประสิทธิภาพของทหารม้า แต่ว่ากลับไม่ต้องการที่จะพัฒนาต่อไป เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาแพง และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่พบว่าได้มีการคิดค้นพบนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาเลย ทั้งที่กองทัพโปแลนด์นั้นมีกองพลน้อยทหารม้าซึ่งใช้เป็นทหารราบเคลื่อนที่เร็ว และก็ยังมีประวัติการรบกับทหารราบและทหารม้าเยอรมันที่ประสบความสำเร็จมาก่อนหน้านี้แล้ว[30]

เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางรุ่น PZL.37 Łoś ของโปแลนด์

กองทัพอากาศโปแลนด์นั้นอ่อนแอกว่ากองทัพอากาศของเยอรมนีอย่างมาก แต่ว่าเครื่องบินรบนั้นจะไม่ได้ถูกทำลายขณะที่จอดสนิทอยู่ที่พื้นดินอย่างที่เข้าใจกัน กองทัพอากาศโปแลนด์นั้นขาดแคลนเครื่องบินรบ แต่ว่านักบินโปแลนด์นั้นมีความเก่งกาจอย่างสูง ได้รับการฝึกหัดมาอย่างดี ดังที่ปรากฏในยุทธการแห่งบริเตน ซึ่งนักบินโปแลนด์เป็นส่วนสำคัญในการรบทางอากาศเป็นอย่างมาก[31] ในภาพรวมแล้ว กองทัพอากาศเยอรมันนั้นได้เปรียบทั้งทางด้านจำนวนและคุณภาพของเครื่องบิน โปแลนด์มีเครื่องบินรบที่ทันสมัยเพียง 600 ลำเท่านั้น และในระหว่างที่ถูกรุกรานก็ได้มีการระดมเครื่องบินทั้งหมดเพียง 70% เท่านั้น

ทางด้านกองทัพเรือโปแลนด์นั้นประกอบไปด้วยเรือพิฆาตตอร์ปิโด เรือดำน้ำและเรือสนับสนุนขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง โดยเรือผิวน้ำส่วนใหญ่ของโปแลนด์ออกปฏิบัติการในปฏิบัติการปักกิ่ง เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม และออกเดินทางโดยใช้เส้นทางผ่านทะเลเหนือ และเข้าสมทบกับราชนาวีอังกฤษ ส่วนทางด้านกองกำลังเรือดำน้ำได้ออกปฏิบัติการในปฏิบัติการโวเร็ค เพื่อที่จะทำลายกองเรือขนส่งเยอรมันในทะเลบอลติก แต่ก็ประสบความสำเร็จน้อยมาก นอกเหนือจากนั้น เรือพาณิชย์โปแลนด์จำนวนมากก็เข้ากับกองเรือพาณิชย์ของอังกฤษระหว่างสงครามด้วยเช่นกัน

ส่วนยานเกราะของโปแลนด์นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กองพลน้อย 4 กองพันยานเกราะอิสระ และ 30 กองร้อยยานเกราะซึ่งประกอบไปด้วยรถถังทีเคเอส ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำการรบของทหารราบและทหารม้า[32]

[แก้] กองทัพฝ่ายผู้รุกราน

[แก้] กองทัพเยอรมัน

กองทัพเยอรมันมีความเหนือกว่ากองทัพโปแลนด์ ทั้งทางด้านจำนวน และด้านคุณภาพ ทั้งยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการรบครั้งนี้ กองทัพบกเยอรมันได้แบ่งรถถังจำนวน 2,400 คัน ออกเป็น 6 กองพลแพนเซอร์ และใช้หลักนิยมทางทหารแบบใหม่เพื่อใช้ในการรบ ซึ่งเป็นการนำกองพลยานเกราะไปปฏิบัติการร่วมกับทหารหน่วยอื่น ๆ มีหน้าที่หลัก คือ เจาะผ่านแนวรบของศัตรู แยกศัตรูออกจากกัน แล้วจึงปิดล้อมและทำลาย หลังจากนั้นหน่วยทหารยานยนต์ประเภทอื่น ๆ และทหารเดินเท้าจึงจะติดตามไป ส่วนกองทัพอากาศทำหน้าที่ยึดครองน่านฟ้าทั้งโดยยุทธศาสตร์และยุทธวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งทำหน้าที่ทำลายแหล่งเสบียงและการคมนาคมของศัตรู เมื่อรวมปฏิบัติการทั้งหมดเข้าด้วยกันจะได้เป็นรูปแบบการโจมตีสายฟ้าแลบ นักประวัติศาสตร์สองคน คือ บาซิล ลิดเดลล์ ฮาร์ตและ เอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ ได้กล่าวว่า "โปแลนด์เป็นสนามทดสอบการโจมตีสายฟ้าแลบอย่างเต็มรูปแบบ"[33] อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์อีกหลายคนไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้[34]

เครื่องบินรบมีบทบาทสำคัญมากในการทัพครั้งนี้ มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อทำลายเมืองเป้าหมาย และสามารถสังหารพลเรือนของฝ่ายศัตรูได้เป็นจำนวนมาก กองทัพอากาศเยอรมันมีเครื่องบินรบ 1,180 เครื่อง เครื่องบินดำทิ้งระเบิด จังเกอร์ เจยู-87 สตูก้า 290 เครื่อง เครื่องบินธรรมดา 1,100 เครื่อง เครื่องบินขนส่ง 550 เครื่องและเครื่องบินลาดตระเวนอีก 350 เครื่อง[35][36] เมื่อรวมกันแล้วก็มีจำนวนมากกว่า 4,000 เครื่อง และทั้งหมดมีประสิทธิภาพพร้อมทำการรบสมัยใหม่ เครื่องบินรบเยอรมันกว่า 2,315 เครื่องได้ถูกส่งมาเพื่อปฏิบัติการครั้งนี้[37] และเนื่องจากว่ากองทัพอากาศเยอรมันได้มีประสบการณ์มาจากสงครามกลางเมืองสเปนก่อนหน้านี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า กองทัพอากาศเยอรมันเป็นกองทัพอากาศที่มีประสบการณ์ดีที่สุด ได้รับการฝึกฝนอย่างยอดเยี่ยมที่สุด และมียุทโธปกรณ์ที่เพียบพร้อมมากที่สุดของโลกเมื่อครั้งปี ค.ศ. 1939[38]

[แก้] กองทัพโซเวียต

ทหารโซเวียตเดินเท้าข้ามชายแดนโปแลนด์

กองทัพโซเวียตนั้นพร้อมรบเช่นเดียวกันกับเยอรมนี แต่ว่ารัฐบาลของทั้งเยอรมนีและสหภาพโซเวียตก็ไม่ได้เตรียมการสำหรับความขัดแย้งในวงกว้างกว่านั้น และต่อมาก็ได้เป็นที่รู้จักกันในนาม "ความผิดพลาด" กองทัพโซเวียตได้แบ่งกำลังออกเป็นสองสาย และจัดเป็นแนวกว้างใหญ่ ผู้บัญชาการรบของแต่ละแนวนั้นมีอำนาจบังคับบัญชาทหารม้าและทหารช่างกล สหภาพโซเวียตเริ่มทำการรบกับโปแลนด์เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1939

[แก้] กองทัพสโลวาเกีย

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1939 สาธารณรัฐสโลวักได้จัดตั้งเป็นรัฐหุ่นเชิด โดยได้รับการสนับสนุนของเยอรมนี ในดินแดนของสโลวาเกีย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 พื้นที่ส่วนใหญ่ของสโลวาเกียนั้นถูกยึดครองโดยฮังการี ซึ่งเป็นผลมาจากการตอบแทนที่กรุงเวียนนา และบางส่วนของสโลวาเกียยังถูกยึดครองโดยโปแลนด์และเยอรมนีอีกด้วย

ระหว่างการประชุมอย่างลับ ๆ กับผู้แทนเยอรมันระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคม ค.ศ. 1939 รัฐบาลสโลวาเกียนั้นตกลงใจที่จะร่วมรบกับโปแลนด์ นอกจากนั้นยังยอมให้เยอรมนีใช้ประเทศของตนเป็นดินแดนเพื่อใช้เตรียมกำลังพล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม สโลวาเกียก็ประกาศระดมพล (ได้ทหารจำนวนกว่า 160,000 นาย) และจัดตั้งกองทัพใหม่ภายใต้ชื่อรหัสว่า "เบอร์โนลัค" โดยมีทหารประจำการ 51,306 นาย ทหารสโลวักพบกับการต้านทานเพียงเล็กน้อยเท่านั้นระหว่างการรุกราน


[แก้] แผนการ

แผนที่แสดงที่ตั้งของกองทัพเยอรมนีและโปแลนด์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1939 และแผนการของเยอรมนี

[แก้] แผนการเริ่มต้นของเยอรมนี

แผนการรุกรานโปแลนด์ของฝ่ายเยอรมนีร่างขึ้นโดย นายพล ฟรานซ์ เฮลเดอร์ หัวหน้ากองเสนาธิการเยอรมัน โดยการรุกรานจะอยู่ภายใต้อำนาจบัญชาการของนายพล วอลเทอร์ ฟอน เบราคิทช์ ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของการรุกรานครั้งนี้ ก่อนที่สงครามจะเริ่มต้น ก็ได้มีความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว และนำไปสู่หลักการปิดล้อมและทำลายข้าศึกจำนวนมาก ทหารราบซึ่งเคลื่อนที่ได้ช้า แต่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากปืนใหญ่เร็ว และการส่งกำลังบำรุงที่ดี มีหน้าที่ที่จะต้องสนับสนุนการทำการรบของรถถังและรถบรรทุกทหาร เพื่อเพิ่มความเร็วให้แก่การโจมตี และการปิดล้อมแนวของข้าศึก ในการรุกรานโปแลนด์ครั้งนี้ได้มีการนำเอาแผนการการรบด้วยยานเกราะ (หรือที่นักหนังสือพิมพ์อเมริกันเรียกว่า การโจมตีสายฟ้าแลบ) ไปใช้โดยนายพล ไฮนส์ กูเดอเรียน โดยใช้วิธีการให้ยานเกราะเจาะผ่านแนวข้าศึก จากนั้นก็รุกเข้าไปทางด้านหลัง แต่ว่าแท้จริงแล้ว การรบในโปแลนด์ยังคงเป็นการรบแบบแนวรบดั่งในอดีต เนื่องจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของฝ่ายเยอรมนีนั้นสงวนยานเกราะและกองกำลังเครื่องยนต์ไว้เพื่อสนับสนุนการทำการรบของทหารราบ ซึ่งกลับกันจากแผนการการโจมตีสายฟ้าแลบ

ภูมิประเทศในโปแลนด์นั้นเหมาะมากสำหรับปฏิบัติการด้วยยานเกราะถ้าหากลมฟ้าอากาศเป็นใจ โปแลนด์มีลักษณะเป็นที่ราบ ซึ่งสามารถทำการรบได้เป็นแนวยาวเกือบ 5,600 กิโลเมตร ชายแดนของโปแลนด์ติดต่อกับเยอรมนีทั้งทางทิศตะวันตกและทิศเหนือติดต่อกันกว่า 2,000 กิโลเมตร รวมไปถึงชายแดนด้านทิศใต้อีกเกือบ 300 กิโลเมตร ซึ่งเยอรมนีได้รับมาจากข้อตกลงมิวนิก และส่งผลให้สโลวาเกียตกอยู่ในกำมือของเยอรมนี ซึ่งหมายความว่า แนวชายแดนด้านทิศใต้ตกอยู่ในสภาวะล่อแหลม

เสนาธิการของเยอรมนีได้วางแผนการโจมตี โดยแยกกันโจมตีออกเป็นสามทิศทางหลัก คือ

  • การโจมตีหลักทางชายแดนด้านตะวันตกของโปแลนด์ กองทัพกลุ่มใต้ ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลเกอร์ด ฟอน รุนด์ชเทดท์ จากแคว้นซิลีเซีย แคว้นโมราเวียน และจากชายแดนสโลวัก ด้านกองทัพที่แปดของนายพลโยฮันเนส บลัสโควิทซ์ จะโจมตีไปทางทิศตะวันออกตรงเมืองลอด์ซ ด้านกองทัพที่สิบสี่ของนายพลวิลเฮล์ม ลิสท์ จะมุ่งหน้าสู่เมืองคราโควและโอบกองทัพโปแลนด์ที่เทือกเขาคาร์พาเธียน และกองทัพที่สิบของนายพลวอลเทอร์ ฟอน ไรเชนเนา ทางตอนกลางร่วมกับกองกำลังยานเกราะของกองทัพกลุ่มใต้จะเข้าตีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนีและมุ่งหน้าสู่ใจกลางของโปแลนด์
  • สายที่สอง จะโจมตีมาจากทางตอนเหนือของแคว้นปรัสเซีย นายพล เฟดอร์ ฟอน บอค ผู้บัญชาการกองทัพกลุ่มเหนือ ร่วมกับกองทัพที่สามของนายพลจอร์จ ฟอน คึชเลอร์ จะโจมตีลงมาทางใต้ และกองทัพที่สี่ของกึนเธอร์ ฟอน คลุเกอ จะโจมตีไปทางตะวันออกสู่ฉนวนโปแลนด์
  • สายที่สาม กองทัพสโลวาเกียจะโจมตีขึ้นไปทางทิศเหนือ ร่วมกับกองทัพกลุ่มใต้
  • จากภายในโปแลนด์ ชาวเยอรมันจะทำการปั่นป่วนและก่อวินาศกรรม ซึ่งเป็นแผนการที่ได้วางเอาไว้ตั้งแต่ก่อนสงคราม

การโจมตีทั้งสามสายนั้นจะมาบรรจบกันที่กรุงวอร์ซอ ขณะที่กองทัพโปแลนด์ส่วนใหญ่จะถูกโอบล้อมและถูกทำลายทางทิศตะวันตกของแม่น้ำวิสตูล่า ปฏิบัติการกรณีสีขาวได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และถือได้ว่าเป็นปฏิบัติการแรกของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป[39]

แผนการของเยอรมนีถูกทักท้วงโดยพันธมิตรอิตาลี เพราะอิตาลีคิดว่าเยอรมนีจะไม่ทำสงครามอีกเป็นเวลาสามปีขึ้นไป เนื่องจากกองทัพอิตาลียังคงอ่อนแอหลังจากสงครามอิตาลี-อะบิสสิเนียครั้งที่สอง[19]

[แก้] แผนการเริ่มต้นของโปแลนด์

การจัดวางกองกำลังของเยอรมนีและโปแลนด์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1939

แผนการตั้งรับของโปแลนด์ ใช้ชื่อรหัสว่า แผนตะวันตก ซึ่งตั้งอยู่บนนโยบายทางการเมืองในการการจัดวางกองทัพตามแนวชายแดนเยอรมนี-โปแลนด์ ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรในกรณีที่ถูกรุกรานจากเยอรมนี นอกเหนือจากนั้น ยังรวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล เขตอุตสาหกรรมและเขตที่ประชากรอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่นในแคว้นซิลีเซีย ทางทิศตะวันตก นโยบายของโปแลนด์ได้กำหนดการป้องกันหลักโดยการรวมศูนย์การป้องกันพื้นที่ดังกล่าวไว้[40] เนื่องจากนักการเมืองโปแลนด์จำนวนมากเกรงว่าหากตนต้องล่าถอยออกจากแคว้นซิลีเซียแล้ว อังกฤษและฝรั่งเศสก็อาจจะยอมตกลงเซ็นสนธิสัญญาแยกต่างหากกับเยอรมนีเสียเอง ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์อันนำไปสู่การลงนามในข้อตกลงมิวนิก ในปี ค.ศ. 1938 นอกจากนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรก็มิได้ให้คำมั่นว่าจะช่วยธำรงรักษาแนวชายแดนของโปแลนด์หรือบูรณภาพแห่งดินแดนเป็นพิเศษ ดังนั้น โปแลนด์จึงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของฝรั่งเศสที่ให้จัดวางกองทัพหลังแนวป้องกันธรรมชาติ คือ หลังแม่น้ำวิสตูล่า และแม่น้ำซาน แม้ว่านายพลบางนายของโปแลนด์จะได้พยายามสนับสนุนแผนการดังกล่าวก็ตาม แผนตะวันตกที่ได้ร่างขึ้น ไม่อนุญาตให้กองทัพโปแลนด์ถอยกลับเข้ามาสู่ประเทศ แต่ให้ค่อย ๆ ล่าถอยมายังตำแหน่งแม่น้ำสำคัญ ซึ่งจะทำให้โปแลนด์ระดมพลจนครบจำนวน และจะสามารถโจมตีโต้กลับได้ พร้อมกับการเข้าตีเยอรมนีของฝ่ายสัมพันธมิตรตามที่ได้สัญญากันไว้แล้ว[41]

ทหารราบโปแลนด์เตรียมการป้องกันประเทศ
เครื่องบินขับไล่ พี-11 ของโปแลนด์อำพรางไว้ในสนามบิน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1939
เรือพิฆาตโปแลนด์มุ่งหน้าสู่ฐานทัพเรืออังกฤษตามแผนปฏิบัติการปักกิ่ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม

และแผนการขั้นสุดท้ายของโปแลนด์ คือ แผนการถอนทัพกลับข้ามแม่น้ำซานไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเตรียมตัวทำศึกยืดเยื้อกับเยอรมนีที่เขตหัวสะพานโรมาเนีย[42] ส่วนทางด้านฝรั่งเศสและอังกฤษก็ประเมินว่ากองทัพโปแลนด์จะสามารถตั้งรับไว้ได้เป็นเวลาสองถึงสามเดือน ขณะที่โปแลนด์คาดว่าจะสามารถตั้งรับได้เป็นเวลาหกเดือน แผนการทั้งหมดนี้ โปแลนด์คาดว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะทำตามสนธิสัญญาทางทหารและจะโจมตีเยอรมนีอย่างรวดเร็ว แต่ว่าในขณะที่การรบยังดำเนินไป ฝ่ายสัมพันธมิตรกลับมิได้เตรียมตัวเพื่อการต่อสู้กับเยอรมนีแต่ประการใด[43] เพียงแต่รอเวลาเท่านั้น ทั้งสองประเทศนั้นมองว่า สงครามจะพัฒนาขึ้นเป็นรูปแบบของการรบแบบสนามเพลาะเหมือนกับในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือ เยอรมนีจำต้องเซ็นสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อฟื้นฟูแนวชายแดนเยอรมนี-โปแลนด์ ดังนั้น แผนการทั้งหมดของโปแลนด์จึงไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง เมื่อต้องฝากอนาคตของชาติไว้กับคำมั่นสัญญาของฝ่ายสัมพันธมิตร[44][45]

กองทัพโปแลนด์ได้จัดวางกำลังอย่างหลวม ๆ และมีความอ่อนแอเมื่อเทียบกับแนวชายแดนอันยาวเหยียดของประเทศ นอกจากนั้นยังไม่มีการจัดแนวป้องกันอย่างเหมาะสม และยังตั้งอยู่บนชัยภูมิที่เสียเปรียบอีกด้วย[46] ซึ่งแผนการดังกล่าวมีโอกาสที่จะเปลี่ยนเป็นความหายนะใหญ่หลวง หากว่าไม่สามารถป้องกันแนวชายแดนของประเทศในช่วงแรกของการรุกรานได้ และการวางกำลังดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ต่อกองกำลังยานยนต์ของเยอรมนี ซึ่งสามารถปิดล้อมกองกำลังโปแลนด์ได้บ่อยครั้ง ด้านแนวขนส่งเสบียงของกองทัพโปแลนด์ก็ได้รับการป้องกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กองทัพโปแลนด์อย่างน้อยหนึ่งในสามถูกส่งไปขัดทัพเยอรมันในเขตฉนวนโปแลนด์ ทำให้กองทหารเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะปากคีม ซึ่งจะถูกบีบเข้ามาเมื่อกองทัพเยอรมันโจมตี ทางด้านทิศใต้ กองทัพโปแลนด์เผชิญหน้ากับกองทัพหลักของเยอรมนี แต่ทว่าก็มีการป้องกันอย่างเปราะบางเช่นกัน ในเวลาเดียวกันนี้ กองทัพโปแลนด์อีกกว่าหนึ่งในสามได้กระจุกอยู่ทางภาคเหนือของประเทศตามหัวเมืองหลักเท่านั้น ได้แก่ ลอดซ์และวอร์ซอ[47] การกระจายกำลังของกองทัพโปแลนด์นี้จะทำให้หมดโอกาสที่กองทัพโปแลนด์จะหยุดยั้งการรุกรานของเยอรมนี นอกจากนั้นแล้ว กองทัพโปแลนด์ส่วนใหญ่ยังต้องเดินเท้า กองทัพโปแลนด์จึงไม่สามารถผนึกกำลังกันได้เลยเมื่อถูกบุกทะลวงเข้าใส่โดยกองกำลังยานยนต์ของเยอรมนี[48]

การตัดสินใจด้วยเหตุผลทางการเมืองดังกล่าวนี้ไม่ได้เป็นความผิดพลาดเดียวของยุทธศาสตร์จากกองบัญชาการระดับสูงของโปแลนด์เท่านั้น การโฆษณาชวนเชื่อของโปแลนด์ก่อนสงครามนั้นได้ปลูกฝังแก่ประชาชนว่าการรุกรานของเยอรมนีจะถูกขับไล่ออกไปได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นเมื่อโปแลนด์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ประชาชนจึงตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาก ประชาชนชาวโปแลนด์ไม่ได้เตรียมตัวพร้อมรับมือกับสถานการณ์การยึดครองเลย ประชาชนจำนวนมากรู้สึกเสียขวัญและหลบหนีไปทางทิศตะวันออก และยังก่อให้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำลง และการขนส่งทางถนนของโปแลนด์กลายเป็นอัมพาต[48] การโฆษณาชวนเชื่อยังได้ส่งผลร้ายต่อกองทัพโปแลนด์เอง เนื่องจากกองกำลังยานยนต์ของเยอรมนีได้ทำการกีดขวางการติดต่อสื่อสารของกองทัพโปแลนด์ ทำให้ข่าวจากสนามรบถูกบิดเบือนไป โดยหนังสือพิมพ์และสถานีวิทยุมักจะกล่าวสดุดีถึงชัยชนะและปฏิบัติการทางทหารที่วาดฝันขึ้น ทำให้กองทัพโปแลนด์ถูกโอบล้อมหรือไม่ก็ต้องยืนหยัดสู้กับศัตรูที่มีจำนวนเหนือกว่ามาก เมื่อทหารเหล่านั้นมีความเชื่อว่าพวกตนกำลังทำการตีโต้หรือกำลังจะได้รับกำลังเสริมเพิ่มเติมจากสถานที่รบอื่น ๆ ซึ่งกองทัพของตนได้รับชัยชนะมาแล้ว[49][50]

[แก้] การรุกราน

[แก้] ช่วงที่ 1: การรุกรานของเยอรมนี (1 กันยายน 1939)

สถานการณ์การรบระหว่างวันที่ 1-14 กันยายน 1939
สถานการณ์การรบหลังวันที่ 14 กันยายน 1939
สภาพของเมืองไวรัน ของโปแลนด์หลังการทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศเยอรมัน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1939
ชนกลุ่มน้อยชาวเยอรมันในโปแลนด์ออกมาต้อนรับทหารเยอรมัน
ทหารราบโปแลนด์ทำการรบในยุทธการแม่น้ำบาซูร่า
ทหารม้าโปแลนด์ระหว่างยุทธการแม่น้ำบาซูร่า
ภาพปืนต่อต้านอากาศยานของโปแลนด์กับแนวทหารโปแลนด์ซึ่งถูกทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศระหว่างยุทธการแม่น้ำบาซูร่า
รถถังโซเวียตรุกรานโปแลนด์ 17 กันยายน 1939
นายทหารโซเวียตกับนายทหารเยอรมันหารือกันระหว่างการรบในโปแลนด์
พระราชวังในกรุงวอร์ซอถูกเพลิงไหม้หลังจากการระดมยิงปืนใหญ่ของเยอรมนี วันที่ 17 กันยายน 1939
ตำรวจและพลเรือนของโปแลนด์ ซึ่งถูกตราหน้าว่าเป็น "ศัตรูของประชาชน" ถูกจับกุมตัวโดยกองทัพแดงหลังสหภาพโซเวียตทำการรุกรานโปแลนด์
สุสานทหารโปแลนด์ในกรุงวอร์ซอ

หลังจากการจัดฉากสร้างสถานการณ์ตามแนวชายแดน ซึ่งเยอรมนีใช้เพื่อเป็นการโฆษณาชวนเชื่อในการกล่าวอ้างว่าการกระทำของกองทัพเยอรมันนั้นกระทำลงไปเพื่อเป็นการป้องกันตัวเอง การรุกรานเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 เวลา 4.40 น. กองทัพอากาศเยอรมันได้บินเข้าถล่มเมืองไวรัน และทำให้เมืองได้รับความเสียหายกว่า 75% ของพื้นที่และมีประชาชนเสียชีวิตไปเกือบ 1,200 คน อีกห้านาทีต่อมา เรือประจัญบานเยอรมัน ชเลซวิก-โฮลซไทน์ ได้เปิดฉากยิงฐานขนส่งยุทโธปกรณ์ของโปแลนด์ที่เวสเทอร์แพลท ในเขตนครเสรีดานซิก ริมฝั่งทะเลบอลติก เมื่อถึงเวลา 8.00 น. จนถึงขณะนี้เยอรมนีก็ยังมิได้ประกาศสงครามกับโปแลนด์อย่างเป็นทางการ แต่ว่ากองทัพเยอรมันได้โจมตีในเขตใกล้กับเมืองมอครา ตามด้วยการรบตามแนวชายแดนอีกหลายครั้ง ในวันเดียวกัน กองทัพเยอรมันยังได้บุกโปแลนด์ทั้งทางด้านตะวันตก ทางเหนือและทางใต้ และทางด้านกองทัพอากาศเยอรมันก็ได้บินทิ้งระเบิดตามหัวเมืองสำคัญของโปแลนด์ การโจมตีหลักของเยอรมนีนั้นจะเข้ามาทางแนวชายแดนทางด้านตะวันตก โดยได้รับการสนับสนุนจากการโจมตีสายที่สองซึ่งมาจากแคว้นปรัสเซียทางทิศเหนือ และพันธมิตรของเยอรมนี คือ สโลวาเกีย ก็บุกมาจากทางทิศใต้ โดยมุ่งหน้าสู่กรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์

ฝ่ายสัมพันธมิตรประกาศสงครามกับเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1939 แต่ว่ารัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ไม่อาจให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่โปแลนด์ได้มากนัก ตามแนวชายแดนฝรั่งเศส-เยอรมนีได้มีการสู้รบกันอย่างประปราย ถึงแม้ว่ากองทัพเยอรมันจะรักษาแนวชายแดนเพียงน้อยนิดก็ตาม (กว่า 85% ของกองกำลังยานยนต์เยอรมันกำลังทำการรบในโปแลนด์) เมื่อเวลาผ่านไป ความเหนือกว่าทางยุทธวิธี ยุทโธปกรณ์และจำนวนของกองทัพเยอรมันก็ได้ทำให้กองทัพโปแลนด์จำเป็นต้องล่าถอยไปยังกรุงวอร์ซอและเมืองโลฟว์ ส่วนทางด้านลุควาฟเฟสามารถครองน่านฟ้าได้ในช่วงเวลาแรก ๆ ของการรุกราน ลุควาฟเฟนั้นได้ทำลายระบบการติดต่อสื่อสารของโปแลนด์ ซึ่งทำให้กองทัพเยอรมันสามารถรุดหน้าต่อไป สนามบินโปแลนด์ถูกยึด ระบบการเตือนภัยล่วงหน้าไม่ทำงาน และทำให้การส่งกำลังบำรุงของโปแลนด์ประสบปัญหาอย่างหนัก กองทัพอากาศของโปแลนด์ขาดเสบียง เครื่องบินของโปแลนด์ 98 ลำได้บินไปยังประเทศโรมาเนีย ซึ่งยังคงเป็นกลางอยู่[51] กองทัพอากาศโปแลนด์ซึ่งเคยมีเครื่องบินอยู่ 400 ลำ เมื่อวันที่ 1 ถูกทำลายจนเหลือเพียง 54 ลำ เมื่อวันที่ 14 และหลังจากนั้น กองทัพอากาศโปแลนด์ก็ไม่สามารถออกปฏิบัติการได้อีกต่อไป[51]

เมื่อวันที่ 3 กันยายน เมื่อกองทัพของนายพลกึนเธอร์ ซึ่งโจมตีมาจากทางเหนือไปถึงเขตแม่น้ำวิสตูล่า (ซึ่งอยู่ห่างจากแนวชายแดนของเยอรมนีเดิมในขณะนั้นประมาณ 10 กิโลเมตร) และกองทัพของนายพลจอร์จก็ไปถึงเขตแม่น้ำนาร์รอว์ ทางด้านกองกำลังยานเกราะของนายพลวอลเทอร์ ก็ได้เข้าถึงเขตแม่น้ำวาร์ท่า อีกสองวันต่อมา ทางปีกซ้ายของกองกำลังยานเกราะก็พุ่งเข้าสู่ทางด้านหลังของเมืองลอด์ซ และปีกขวานั้นอยู่ที่เมืองไคลซี และจนถึงวันที่ 8 กันยายน กองกำลังยานเกราะบางส่วนของเขาก็ได้ตั้งอยู่นอกกรุงวอร์ซอ กองกำลังยานเกราะของเยอรมนีได้เคลื่อนที่มาไกลกว่า 225 กิโลเมตรจากแนวชายแดนทิศตะวันตกในช่วงเวลาสัปดาห์แรกของการรุกราน กองพลน้อยของนายพลวอลเทอร์นั้นตั้งอยู่บนแถบแม่น้ำวิสตูล่า ระหว่างกรุงวอร์ซอกับเมืองซานโดเมิร์ซ ในวันที่ 9 กันยายน ขณะที่กองทัพของนายพลวิลเฮล์มจากทางทิศใต้ ตั้งอยู่ที่แม่น้ำซานและทางใต้ของเมืองเพทเซมมายและนายพลไฮนส์ได้นำกองทัพรถถังที่สามข้ามแม่น้ำนารอว์ และโจมตีแนวรบโปแลนด์ที่แม่น้ำบั๊ก และปิดล้อมกรุงวอร์ซออย่างสมบูรณ์ กองทัพเยอรมันนั้นสามารถบรรลุถึงจุดประสงค์ของปฏิบัติการกรณีสีขาว กองทัพโปแลนด์ถูกตัดขาดออกจากกัน ซึ่งกองทัพบางแห่งได้ถอนตัวออกไปขณะที่บางส่วนได้ทำการโจมตีอย่างไม่ปะติดปะต่อกันกับสถานการณ์และแผนการโดยรวม

ด้านกองทัพโปแลนด์ได้ถอนกำลังออกจากแคว้นโพเมอราเนีย แคว้นเกรทเทอร์โปแลนด์ และแคว้นซิลีเซีย ในช่วงสัปดาห์แรกเท่านั้น แผนการตั้งรับตามแนวชายแดนของโปแลนด์นั้นได้รับพิสูจน์แล้วว่าประสบความล้มเหลวอย่างใหญ่หลวง การรุกรานของเยอรมนีมิได้ช้าลงแต่อย่างใด เมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของโปแลนด์ จอมพลเอ็ดเวิร์ด ริดซ์ สมิกลี่ ได้ออกคำสั่งให้ถอยทัพครั้งใหญ่ทั่วประเทศไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังเขตหัวสะพานโรมาเนีย[52] ในเวลาไม่นานนัก กองทัพเยอรมันก็ได้บีบวงล้อมกองทัพโปแลนด์ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำวิสตูล่า และยังสามารถโจมตีทะลุข้ามไปยังภาคตะวันออกของโปแลนด์ ด้านกรุงวอร์ซอ ซึ่งเป็นเป้าหมายการทิ้งระเบิดทางอากาศตั้งแต่ชั่วโมงแรกของการรุกราน ได้ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 9 กันยายน และอยู่ใต้วงล้อมเมื่อวันที่ 13 กันยายน ในเวลาเดียวกันนี้ กองทัพเยอรมันได้เคลื่อนไปถึงเมืองโลฟว์ ซึ่งเป็นมหานครทางตะวันออกของโปแลนด์ และในวันที่ 24 กันยายน เครื่องบินทิ้งระเบิดเยอรมันจำนวน 1,150 ลำได้เข้าถล่มกรุงวอร์ซออย่างหนัก

ยุทธการที่ใหญ่ที่สุดในการรบครั้งนี้ คือ ยุทธการแม่น้ำบาซูร่าแม่น้ำบาซูร่า ทางตะวันตกของกรุงวอร์ซอ ระหว่างวันที่ 9-19 กันยายน กองทัพโปแลนด์สองกองทัพล่าถอยมาจากฉนวนโปแลนด์ และโจมตีทางปีกของกองทัพที่แปดของเยอรมนี แต่ก็ล้มเหลว หลังจากการรบครั้งนี้ กองทัพโปแลนด์ก็ไม่สามารถทำการรบและการตีโต้ได้อีก อำนาจทางอากาศของเยอรมันนั้นมีส่วนสำคัญในการรบนี้ ลุควาฟเฟได้ทำลายกองทัพโปแลนด์ที่เหลือใน "การสาธิตที่น่าหวาดเสียวของอำนาจทางอากาศ"[53] ไม่นานนัก ลุควาฟเฟก็ทำลายสะพานข้ามแม่น้ำบาซูร่า กองทัพโปแลนด์ถูกดักอยู่ในที่โล่ง และถูกถล่มจากเครื่องบินสตูก้าระลอกแล้วระลอกเล่า ด้วยการทิ้งระเบิดขนาด 50 กิโลกรัม ด้านกองกำลังต่อต้านอากาศยานของโปแลนด์ก็กระสุนหมด ต้องถอยเข้าป่า แต่ลุควาฟเฟก็สามารถตรวจพบและทำลายกองทัพโปแลนด์ที่เหลืออย่างง่ายดาย[53]

รัฐบาลโปแลนด์และเหล่านายทหารระดับสูงได้หลบหนีจากกรุงวอร์ซอในวันแรกของการรุกราน และมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังเมืองเบอเซค เมื่อถึงวันที่ 6 จอมพลของโปแลนด์ เอ็ดเวิร์ด ริดซ์ สมิกลี่ได้สั่งให้กองกำลังต้านทานของโปแลนด์ล่าถอยไปยังทิศทางเดียวกัน หลังแม่น้ำวิสตูล่าและแม่น้ำซาน และเริ่มต้นการตั้งรับอันยาวนานในเขตหัวสะพานโรมาเนีย[52]

[แก้] ช่วงที่ 2: การรุกรานของสหภาพโซเวียต (17 กันยายน 1939)

ก่อนการรุกราน รัฐบาลเยอรมนีได้ทวงถามต่อโจเซฟ สตาลินและวยาเชสลาฟ โมโลตอฟหลายครั้ง เพื่อเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตกระทำตามสนธิสัญญาเดือนสิงหาคม และโจมตีโปแลนด์ทางตะวันออก[54] สหภาพโซเวียตมีความกังวลต่อการรุกรานอย่างรวดเร็วของเยอรมนี และเกรงว่าตนจะเสียผลประโยชน์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ กองทัพโซเวียตจึงทำการรุกรานโปแลนด์เมื่อวันที่ 17 กันยายน และยังได้มีการตกลงว่าสหภาพโซเวียตจะยอมสละแนวชายแดนที่กำหนดไว้กับเยอรมนีเดิมและกรุงวอร์ซอเพื่อแลกเปลี่ยนกับการยึดครองลิทัวเนีย สหภาพโซเวียตสนับสนุนการรุกรานของเยอรมนี นายโมโลตอฟได้กล่าวสุนทรพจน์หลังจากโปแลนด์พ่ายแพ้ว่า:

"เยอรมนี กับประชากร 80 ล้านคนนั้น ได้รับการยอมรับจากประเทศเพื่อนบ้านในความยิ่งใหญ่ และมีกำลังทหารอันแข็งแกร่งอย่างแท้จริง โดยได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของพวกจักรวรรดินิยมในทวีปยุโรปอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างเห็นได้ชัด นั่นเป็นเหตุผลที่หลายประเทศประกาศสงครามกับเยอรมนี โดยอ้างว่าเป็นการทำตามพันธะที่มีต่อโปแลนด์ บัดนี้จึงเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า ความประสงค์อันแท้จริงของคณะรัฐมนตรีจากประเทศเหล่านี้ผิดแผกไปจากความตั้งใจช่วยเหลือประเทศที่ถูกยึดครองอย่างโปแลนด์กับเชโกสโลวาเกียมากเพียงใด"[55]

เมื่อถึงวันที่ 17 กันยายน การตั้งรับของโปแลนด์ก็ถูกทำลาย เหลือเพียงแต่ความหวังที่จะล่าถอยและไปรวมตัวกันใหม่ในเขตหัวสะพานโรมาเนีย แต่ทว่าแผนการก็เปลี่ยนไปเพียงชั่วข้ามคืน เมื่อกองทัพแดงอันเกรียงไกรของสหภาพโซเวียตจำนวน 800,000 นายเข้าโจมตีทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนสนธิสัญญาสันติภาพริกา และสนธิสัญญาไม่รุกรานระหว่างโปแลนด์-สหภาพโซเวียต รวมทั้งสนธิสัญญาระหว่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก[III] นักการทูตของโซเวียตได้อ้างว่าสหภาพโซเวียตกำลังปกป้องชาวยูเครนและชาวเบลารุสในโปแลนด์ตะวันออกเมื่อประเทศโปแลนด์ใกล้จะล่มสลาย นายโมโลตอฟได้กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันที่ 17 กันยายน ว่า

"เหตุการณ์ที่ได้นำไปสู่สงครามเยอรมนี-โปแลนด์ได้เผยให้เห็นถึงความเปราะบางภายในและความอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดของโปแลนด์ โปแลนด์นั้นเปรียบเสมือนกับคนสิ้นเนื้อประดาตัว... กรุงวอร์ซอในฐานะเมืองหลวงของโปแลนด์นั้นล่มสลายไปเสียแล้ว ไม่มีผู้ใดรับรู้ถึงถิ่นแถวของรัฐบาลโปแลนด์อีก ชาวโปแลนด์ถูกทอดทิ้งจากผู้นำที่หมดประกาย ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของพวกเขาได้อีกแล้ว จะไม่มีโปแลนด์กับรัฐบาลโปแลนด์อีกต่อไป ความสัมพันธ์และสนธิสัญญาใด ๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างโปแลนด์กับสหภาพโซเวียตก็ได้สิ้นสุดลง สถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในโปแลนด์ทำให้รัฐบาลโซเวียตต้องหันมาเอาใจใส่กับความปลอดภัยของรัฐนี้ โปแลนด์อาจกลายเป็นแหล่งกำเนิดของกองกำลังอันไม่คาดคิดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับสหภาพโซเวียตได้... นอกเสียจากจะมาอยู่ในความคุ้มครองของรัฐบาลโซเวียต เพื่อรักษาชะตากรรมของพี่น้องร่วมสายเลือดกันกับเรามิให้เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ ชาวยูเครนและชาวเบลารุส (พวกรัสเซียขาว) ซึ่งอาศัยอยู่ในโปแลนด์มาแต่เดิม ผู้ซึ่งปราศจากสิทธิอันชอบธรรมและไม่ได้รับการเหลียวแลในชะตากรรมของพวกเขาเลย รัฐบาลโซเวียตเห็นว่าเป็นหน้าที่อันสูงส่งที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวยูเครนและชาวเบลารุสพี่น้องของเราซึ่งอาศัยอยู่ในโปแลนด์เหล่านี้"[56]

แนวชายแดนด้านตะวันออกของโปแลนด์นั้นได้รับการป้องกันโดยกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งมีกำลังพลประมาณ 25 กองพัน จอมพลเอ็ดเวิร์ด ริดซ์ สมิกลี่ได้ออกคำสั่งให้กองกำลังเหล่านี้ล่าถอยโดยไม่ต้านทานการรุกรานของสหภาพโซเวียต แต่ว่าก็ยังเกิดการรบประปรายหลายครั้ง เช่น ยุทธการกรอดโน ซึ่งทหารและพลเรือนท้องถิ่นพยายามป้องกันเมืองไว้อย่างเหนียวแน่น ระหว่างการรุกราน ทหารโซเวียตได้สังหารชาวโปแลนด์อย่างเลือดเย็น รวมไปถึงเชลยศึกอย่างนายพล Józef Olszyna-Wilczyński[57][58] ด้านองค์การชาตินิยมแห่งยูเครนก็ได้ลุกขึ้นสู้กับชาวโปแลนด์ และผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ทั้งหลายก็ลุกขึ้นก่อการปฏิวัติในท้องถิ่น ปล้นขโมยทรัพย์และสังหารชาวโปแลนด์ ขบวนการเหล่านี้ต่อมาได้รับการฝึกฝนจากกลุ่มผู้ตรวจการพลเรือนแห่งราชการภายในของสหภาพโซเวียต (เอ็นเควีดี) การรุกรานของสหภาพโซเวียตในครั้งนี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลโปแลนด์เริ่มเชื่อว่าตนจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม[8] ก่อนการโจมตีของสหภาพโซเวียตในทางตะวันออก จึงมีคำสั่งให้ทัพโปแลนด์ที่ตั้งรับเยอรมนีในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเริ่มการถอยทัพ ขณะที่ยังคงรอคอยความช่วยเหลือจากฝ่ายสัมพันธมิตรว่าจะมาโจมตีทางตะวันตกของเยอรมนี[8] อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโปแลนด์ปฏิเสธที่จะยอมจำนนหรือเจรจากับเยอรมนี กองทัพโปแลนด์ส่วนที่เหลือได้รับคำสั่งให้อพยพออกจากโปแลนด์และรวมตัวกันใหม่ในฝรั่งเศส

ในเวลาเดียวกันนี้ กองทัพโปแลนด์พยายามจะเคลื่อนตัวไปยังเขตหัวสะพานโรมาเนีย และยังคงต้านทานการรุกรานของเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 17-20 กันยายน กองทัพโปแลนด์สองกองทัพคราโคว และลูบลิน ถูกตรึงไว้ที่โทมาซอฟ ลูบเบลสกี้ ซึ่งเป็นยุทธการที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของการรุกรานครั้งนี้ ด้านเมืองโลฟว์ ก็ยอมจำนนเมื่อวันที่ 22 เนื่องจากถูกบีบจากกองทัพโซเวียต เมืองนี้เคยถูกกองทัพเยอรมันโจมตีเมื่อสัปดาห์ก่อน กองทัพเยอรมันจับมือกับกองทัพโซเวียตในระหว่างการล้อมเมืองครั้งนั้น[59] ส่วนทางด้านเมืองหลวง กรุงวอร์ซอ ก็มีการต้านทานอย่างหนัก จากทหารโปแลนด์ที่ล่าถอยเข้าสู่เมืองหลวง อาสาสมัครพลเรือนและกองทหารอาสาสมัคร จนกระทั่งวันที่ 28 กันยายน ปราการมอดลิน ยอมจำนนเมื่อวันที่ 29 กันยายน หลังจากการรบเป็นเวลานานถึง 16 วัน เหล่าทหารที่ถูกตัดขาดสู้จนกระทั่งตำแหน่งถูกล้อมไว้โดยกองทัพเยอรมัน ส่วนที่ท่าเวสเทอร์แพลท ได้ยอมจำนนไปตั้งแต่วันที่ 7 กันยายนเรียบร้อยแล้ว เมืองออคซีไวยอมจำนนเมื่อวันที่ 19 กันยายน เมืองเฮลยอมจำนนเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ได้กล่าวปราศรัยที่นครดานซิกว่า:

โปแลนด์จะไม่อาจรุ่งเรืองขึ้นเป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ที่สองตามสนธิสัญญาแวร์ซายส์ได้อีก นี่มิใช่เพียงคำรับรองจากเยอรมนีเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึง... สหภาพโซเวียตด้วย[60]

แม้ว่าโปแลนด์จะได้รับชัยชนะที่แซค หลังจากที่ทหารโซเวียตประหารนายทหารโปแลนด์ที่ถูกจับตัวได้จนหมดสิ้น แต่กระนั้นกองทัพโซเวียตก็สามารถบรรลุถึงแม่น้ำนารอว์ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบั๊ก แม่น้ำวิสตูล่าและแม่น้ำซาน ภายในวันที่ 28 กันยายน โดยได้พบกับกองกำลังเยอรมันที่กำลังรุกเข้ามาจากทางตะวันตกหลายครั้ง ทหารโปแลนด์ในคาบสมุทรเฮลได้ต้านทานจนถึงวันที่ 2 ตุลาคม[61] กองทัพโปแลนด์กองสุดท้าย กองทัพอิสระกลุ่มโปลิเซ่ ภายใต้การนำของนายพลฟรานซิแซก คลีเบิร์กได้ยอมจำนนหลังจากยุทธการค็อก ใกล้เมืองลูบลิน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม อันเป็นจุดสิ้นสุดของการรุกราน[62]

[แก้] เรื่องเล่าที่ไม่เป็นความจริง

ในระหว่างการรุกรานโปแลนด์ ได้ปรากฏความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ระหว่างการรบ:

  • กองทัพโปแลนด์รบกับรถถังเยอรมันด้วยทหารม้า

ถึงแม้ว่ากองทัพโปแลนด์จะมีกองทหารม้าถึง 11 กองพลน้อย และหลักนิยมทางทหารของโปแลนด์เองก็ให้ความสำคัญต่อการฝึกฝนเหล่าทหารม้าให้กลายเป็นทหารฝีมือเยี่ยม ในขณะที่กองทัพของประเทศอื่น ๆ ในสมัยนั้น (ซึ่งรวมไปถึงกองทัพเยอรมันและกองทัพโซเวียต) ต่างก็พยายามปรับปรุงใช้ทหารม้าของตนด้วยเช่นกัน กองทหารม้าโปแลนด์ (ซึ่งถือปืนไรเฟิลต่อต้านรถถัง "ยูอาร์" และปืนใหญ่ขนาดเล็กความสามารถสูง) ไม่เคยบุกกองรถถังเยอรมัน ทหารราบ หรือเหล่าทหารปืนใหญ่ของศัตรูเลย แต่ว่ากองทหารม้าโปแลนด์จะทำหน้าที่เหมือนกับหน่วยทหารเคลื่อนที่เร็วและกองสอดแนมเสียมากกว่า ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะมีการโจมตีโดยการใช้ทหารม้า

เรื่องเล่าดังกล่าวคาดว่าน่าจะมาจากการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมัน ซึ่งวาดภาพเกี่ยวกับยุทธการแห่งโคจานตี ซึ่งทหารม้าโปแลนด์ถูกเปิดฉากยิงเข้าใส่โดยยานเกราะของข้าศึกที่อำพรางอยู่ แต่กระนั้น ทหารม้าก็ไม่เคยเป็นฝ่ายเปิดฉากบุกเข้าใส่ก่อนเลย[63]

  • กองทัพอากาศโปแลนด์ถูกทำลายบนพื้นดินในวันแรกของการรุกราน

กองทัพอากาศโปแลนด์เสียเปรียบทางด้านปริมาณ กองทัพโปแลนด์จึงได้มีการอำพรางตามสนามบินย่อย ๆ ไม่นานก่อนที่การรุกรานจะเกิดขึ้น โดยมีเพียงเครื่องบินฝึกบินและเครื่องบินสนับสนุนเท่านั้นที่ถูกกองทัพอากาศเยอรมันทำลายบนพื้นดิน กองทัพอากาศโปแลนด์ยังคงทำการรบไปได้อีกสองสัปดาห์ สามารถทำลายกองพลแพนเซอร์ได้หนึ่งกองพล และยังได้สร้างความเสียหายให้แก่ลุควาฟเฟกว่า 25% ของกองกำลังทั้งหมดอีกด้วย[64] โดยเครื่องบินรบเยอรมัน 285 ลำถูกยิงตก และอีก 279 ลำได้รับความเสียหาย[65] ส่วนเครื่องบินโปแลนด์ถูกยิงตก 333 ลำ[66] นักบินฝีมือดีของโปแลนด์ได้หลบหนีไปยังสหราชอาณาจักรและเข้าร่วมรบในยุทธการแห่งบริเตน และสามารถยิงเครื่องบินรบเยอรมันตกได้จำนวนมากจนเป็นที่เลื่องลือมานักต่อนัก[IV]

  • กองทัพโปแลนด์ต้านทานเพียงเล็กน้อยและยอมจำนนอย่างรวดเร็ว

กองทัพเยอรมันได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยานยนต์และเครื่องบินรบ เยอรมนีสูญเสียยานเกราะไปกว่า 1 กองพล และเครื่องบินรบกว่า 25% ของกองทัพอากาศทั้งหมด[65] และเมื่อเทียบกับยุทธการแห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1940 แล้ว การทัพโปแลนด์กินระยะเวลาน้อยกว่ายุทธการในครั้งนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งกองทัพผสมอังกฤษ-ฝรั่งเศสมีกำลังพลและยุทธภัณฑ์ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับกองทัพเยอรมันมากกว่า นอกจากนั้น โปแลนด์ยังได้เตรียมแผนการการตั้งรับในเขตหัวสะพานโรมาเนีย ซึ่งโปแลนด์จะทำการรบยืดเยื้อกับเยอรมนี แต่ว่าแผนการนี้ถูกยกเลิกเมื่อสหภาพโซเวียตโจมตีมาจากทางตะวันออก เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1939[67] โปแลนด์นั้นก็ไม่มีความต้องการที่จะยอมจำนนกับเยอรมนีแต่อย่างใด แม้ว่าการรบจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ว่าชาวโปแลนด์ก็ยังต่อสู้ใต้ดินอยู่ตลอดเวลา ขบวนการกู้ชาติของโปแลนด์มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนขบวนการใต้ดินทั้งหมดในทวีปยุโรป[68]

มักจะมีการสันนิษฐานว่าการโจมตีสายฟ้าแลบเป็นยุทธวิธีการรบที่ได้มีการใช้เป็นครั้งแรกในการรุกรานโปแลนด์ดังกล่าว ซึ่งนักประวัติศาสตร์ยุคหลังสงครามจำนวนหนึ่งได้สรุปเอาไว้เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม นักประพันธ์บางคนไม่ยอมรับแนวคิดดังกล่าว โดยกล่าวว่ามียุทธวิธี Vernichtungsgedanke ซึ่งพบตั้งแต่สมัยพระเจ้าฟรีดริชมหาราช และยุทธวิธีที่ใช้ในการทัพก็มีความแตกต่างน้อยมากจากยุทธวิธีที่เคยใช้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1870 และการเริ่มใช้รถถัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

[แก้] ภายหลังสงคราม

Cquote1.svg

ความพ่ายแพ้ของโปแลนด์เกิดจากผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรัฐบาลแห่งวอร์ซอได้เพียงแค่เพ้อฝันถึงความช่วยเหลือจากพันธมิตรของตน และยังประมาณความสามารถในการทำศึกยืดเยื้อของกองทัพตนต่ำเกินไป

Cquote2.svg
อิริค ฟอน แมนสไตน์[69]
ดินแดนโปแลนด์ที่ถูกแบ่งเป็นของนาซีเยอรมนี (สีฟ้า) และสหภาพโซเวียต (สีแสด)

ดินแดนของโปแลนด์ถูกแบ่งออกเป็นของนาซีเยอรมนี สหภาพโซเวียต ลิทัวเนีย และสโลวาเกีย ดินแดนโปแลนด์ส่วนตะวันตกถูกนาซีเยอรมนียึดครอง โดยส่วนที่เหลือถูกปกครองโดย "คณะรัฐบาลสามัญ" และในวันที่ 28 กันยายน สนธิสัญญาลับระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตได้ปรับเปลี่ยนข้อตกลงเดิมในเดือนสิงหาคม โดยเยอรมนีจะยกลิทัวเนียให้อยู่ในเขตอิทธิพลของสหภาพโซเวียต แต่ว่าเยอรมนีจะได้ดินแดนโปแลนด์เพิ่มขึ้นไปจนถึงแม่น้ำบั๊ก[70]

แม้ว่าระหว่างเขตอิทธิพลของนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตจะมีผืนน้ำขวางกั้นอยู่ก็ตาม แต่ว่ากองทัพของทั้งสองประเทศก็พบกันหลายครั้งระหว่างการรุกราน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวที่สำคัญ คือ เมืองเบรสท์ ประเทศเบลารุส เมื่อวันที่ 22 กันยายน กองพลแพนเซอร์ที่ 19 ของนายพลไฮนซ์ กูเดอเรี่ยนซึ่งยึดครองเมืองแห่งนี้อยู่ และกองพลน้อยรถถังที่ 29 ของโซเวียต และทั้งสองแม่ทัพก็ได้ทำการทักทายกัน[71] ที่เมืองนี้ กองทัพเยอรมันและกองทัพโซเวียตได้จัดการเดินขบวนฉลองชัยร่วมกัน ก่อนที่กองทัพเยอรมันจะยอมถอนตัวออกไปยังแนวที่ได้ตกลงกันไว้[72][7][73] อย่างไรก็ตาม สามวันก่อนหน้านี้ กองทัพเยอรมันก็ปะทะกับกองทัพโซเวียตใกล้กับเมือง Lviv เมื่อกรมทหารภูเขาที่ 137 ของเยอรมนีพบกับกองลาดตระเวนของกองพลน้อยรถถังที่ 24 ของโซเวียต หลังจากการปะทะกันระยะหนึ่งแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็ยอมเจรจากัน กองทัพเยอรมันยอมล่าถอยออกจากพื้นที่ และกองทัพโซเวียตเข้าสู่เมือง L'viv เมื่อวันที่ 22 กันยายน

ทหารโปแลนด์กว่า 65,000 นายตายในการรบ ทหารอีกกว่า 420,000 นายถูกจับกุมตัวโดยกองทัพเยอรมัน และอีกประมาณ 240,000 โดยกองทัพโซเวียต ทหารโปแลนด์ราว 120,000 นายสามารถหลบหนีไปยังประเทศโรมาเนียและฮังการี และอีก 200,000 นาย หลบหนีไปยังลัตเวียและลิทัวเนีย ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว พวกเขาเหล่านี้จะพยายามเดินทางไปยังอังกฤษและฝรั่งเศส ด้านกองทัพเรือโปแลนด์ก็ประสบความสำเร็จในการหลบหนีไปยังอังกฤษด้วยเช่นกัน ส่วนความสูญเสียของทหารเยอรมันอยู่ที่ประมาณ 16,000 นาย

ไม่มีฝ่ายใด ทั้งเยอรมนี ฝ่ายสัมพันธมิตรตะวันตก และสหภาพโซเวียต จะคาดว่าการรุกรานโปแลนด์นี้จะลุกลามจนกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิตเลอร์ยังได้เตรียมแผนการที่จะเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ทว่าฝ่ายสัมพันธมิตรก็ไม่เปิดโอกาสเลย นักประวัติศาสตร์ถือว่าการรุกรานโปแลนด์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่สองในทวีปยุโรป ขณะที่การรุกรานจีนของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937 และสงครามมหาสมุทรแปซิฟิกในปี ค.ศ. 1941 รวมกันแล้ว จะเรียกว่า "สงครามโลกครั้งที่สอง"

การรุกรานโปแลนด์ยังส่งผลให้อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามต่อเยอรมนีเมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1939 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสัมพันธมิตรก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลืออะไรได้มากนัก การช่วยเหลือเพียงน้อยนิดและไม่ทันกาลเหล่านี้ ทำให้ชาวโปแลนด์เชื่อว่าตนถูกทรยศโดยพันธมิตรตะวันตก

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1939 ฮิตเลอร์ได้ชี้แจงแก่เหล่านายทหารเยอรมันว่าจุดประสงค์ของการรุกรานนั้นมิใช่ที่นครดานซิก แต่ว่าเป็นการรวบรวมชาวเยอรมันให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และรายละเอียดของแนวคิดนี้เป็นแนวคิดตามแนวปฏิบัติโอซท์[74][75] การโจมตีสายฟ้าแลบได้ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของชาวโปแลนด์เป็นจำนวนมาก พลเรือนของโปแลนด์ถูกสังหารไปพร้อมกับเหล่าทหารด้วย และต่อมา รัฐบาลโปแลนด์ซึ่งจัดตั้งโดยนาซีเยอรมนีจะเป็นส่วนที่โหดร้ายที่สุดส่วนหนึ่งของสงคราม จนสิ้นสงคราม ชาวโปแลนด์เสียชีวิตไป 6 ล้านคน (คิดเป็น 20% ของชาวโปแลนด์ก่อนสงครามและชาวยิวถูกสังหารไป 90% ของจำนวนเดิม)

กองทัพแดงปกครองโปแลนด์ด้วยการอพยพชาวยูเครนและชาวเบลารุสเข้าสู่พื้นที่ กองทัพแดงประสบกับขบวนการกู้ชาติของโปแลนด์ในช่วงแรกเช่นกัน แต่ว่าไม่นาน คอมมิวนิสต์ก็เริ่มกระจายเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งนำไปสู่แนวคิดต่อต้านโซเวียตอย่างสุดโต่งในพื้นที่ทางตะวันตกของยูเครน ดินแดนยึดครองของโซเวียตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 ถึงปี ค.ศ. 1941 ได้ส่งผลให้ชาวโปแลนด์นับล้านถูกสังหารหรือไม่ก็ถูกเนรเทศ และผู้ที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นศัตรูของคอมมิวนิสต์จะถูกจับไปกักขังและใช้แรงงานหนักในค่ายกักกันหรือถูกสังหารทิ้ง[V] ซึ่งกองทัพแดงทำการแก้แค้นต่อการโจมตีทางตะวันตกของยูเครน จนความโกรธและความเกลียดชังแผ่ออกไปทั่วทุกหนแห่ง ความโหดร้ายของกองทัพแดงเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อสหภาพโซเวียตทำการปลดปล่อยโปแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1944 อย่างเช่น การประหารทหารรักษาดินแดนของโปแลนด์

หลังจากการรบ พลเรือนชาวโปแลนด์เสียชีวิตไปกว่า 150,000-200,000 คน[76] ขณะที่ชาวเยอรมันเสียชีวิตไป 3,250 คน (รวมไปถึงประชาชนเยอรมัน 2,000 คนที่ลุกขึ้นต่อต้านกองทัพโปแลนด์) [77]

[แก้] เชิงอรรถ

I. ^  หลักฐานเกี่ยวกับจำนวนที่แท้จริงของกองทัพโปแลนด์และกองทัพเยอรมันนั้นยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดและหลักฐานหลายแห่งก็มีเนื้อหาขัดแย้งกัน ดังนั้นตัวเลขที่ระบุในบทความดังกล่าวจึงเป็นประมาณการอย่างหยาบ ๆ ของกองกำลังเท่านั้น ความแตกต่างทางหลักฐาน ได้แก่ จำนวนทหารเยอรมันอยู่ที่ 1,500,000 (ตามจดหมายเหตุของกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์)-1,800,000 นาย; รถถังโปแลนด์จำนวน 100-880 คัน; โดย 100 คันแรก คือ รถถังโปแลนด์ที่มีความทันสมัย และอีก 880 คันนั้นคือจำนวนที่รวมกับรถถังเก่าของโปแลนด์สมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[78]

II. ^  หลักฐานเกี่ยวกับจำนวนที่แท้จริงของความสูญเสียทั้งสองฝ่ายนั้นไม่แน่ชัด ดังนั้นตัวเลขที่ระบุนี้คือประมาณการอย่างหยาบ ๆ เท่านั้น โดยตัวเลขที่พบเห็นบ่อยที่สุด คือ กองทัพโปแลนด์เสียชีวิตระหว่าง 63,000-66,300 นาย และบาดเจ็บอีกกว่า 134,000 นาย ด้านเยอรมนีสูญเสียไประหว่าง 8,082-16,343 นายและสูญหายอีกกว่า 320-5,029 นาย และจำนวนผู้บาดเจ็บอยู่ระหว่าง 27,280-34,136 นาย[79] หลักฐานเกี่ยวกับความสูญเสียของฝ่ายเยอรมนีนั้นไม่แน่นอนเนื่องจากว่าหลักฐานของทางการนั้นได้ระบุว่าทหารได้หายตัวไปกว่าทศวรรษหลังสงคราม ทุกวันนี้ นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าจำนวนทหารเยอรมันที่เสียชีวิตไปอยู่ที่ 16,343 นาย ทางด้านข้อมูลลับของกระทรวงสงครามของเยอรมนีระบุว่าเยอรมนีสูญเสียทหารไปกว่า 91,278 นาย บาดเจ็บสาหัส 63,417 นายและบาดเจ็บเล็กน้อย 85,938 นาย และในการปราศรัยหลังจากยุติการทัพของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้ระบุว่า มีทหารเสียชีวิต 10,576 นาย บาดเจ็บ 30,222 นาย และสูญหาย 3,400 นาย[80] ส่วนฝ่ายสัมพันธมิตรและรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ได้ประมาณการว่าฝ่ายเยอรมนีสูญเสียทหารไป 90,000 นาย และบาดเจ็บกว่า 200,000 นาย[81]

ทางฝ่ายสหภาพโซเวียต มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ คือ มีความสูญเสียหรือสูญหายอยู่ระหว่าง 737-1,475 นาย และบาดเจ็บกว่า 1,859-2,383 นาย ทหารโปแลนด์ตกเป็นเชลยของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตรวมกันเป็นจำนวนมหาศาลระหว่าง 660,000-690,000 นาย คือ ฝ่ายเยอรมนีควบคุมตัวไว้ 420,000 นายและสหภาพโซเวียตอีก 250,000 นาย ด้านยุทโธปกรณ์ได้ถูกบันทึกไว้ว่าเยอรมนีสูญเสียรถถังไป 832 คัน (ในจำนวนนี้ได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้ระหว่าง 236-341 คัน) และยานยนต์อื่นอีกมากกว่า 319 คัน ฝ่ายโปแลนด์สูญเสียรถถังไป 132 คันและยานยนต์อื่นอีกมากกว่า 300 คัน เครื่องบินเยอรมนีตก 246-285ลำ และได้รับความเสียหาย 276 ลำ ส่วนโปแลนด์ตกไป 327 ลำ เรือวางทุ่นระเบิดขนาดเล็กของเยอรมัน 1 ลำ เรือพิฆาตตอร์ปิโดของโปแลนด์ 1 ลำ เรือวางทุ่นระเบิด 1 ลำ และเรือสนับสนุนอีกจำนวนมาก ส่วนทางด้านสหภาพโซเวียต มีบันทึกไว้เฉพาะความสูญเสียรถถังอยู่ที่ 150 คัน ซึ่ง 43 คันได้รับความเสียหายจนไม่อาจซ่อมแซมได้ ขณะที่เหลืออีกกว่าหนึ่งร้อยคันประสบปัญหาทางด้านเทคนิค

III. ^  สนธิสัญญาอื่นที่เกี่ยวพันกับสหภาพโซเวียต ได้แก่ ข้อตกลงแห่งสันนิบาตชาติ ในปี ค.ศ. 1919 สนธิสัญญาบริแอน-เคลลอก แห่งปี ค.ศ. 1928 และ ข้อตกลงกรุงลอนดอนว่าด้วยการจำกัดการรุกราน แห่งปี ค.ศ. 1933 เป็นต้น[82]

IV. ^  กองบินขับไล่โปแลนด์ "Kościuszko" หมายเลข 303 ได้จัดตั้งขึ้นจากนักบินชาวโปแลนด์ในสหราชอาณาจักรเป็นเวลาเกือบ 2 เดือนนับตั้งแต่ยุทธการแห่งบริเตนเริ่มขึ้น และเป็นกองบินที่ยิงเครื่องบินของฝ่ายศัตรูตกมากที่สุดในบรรดากองบินทั้งหมดของอังกฤษในปฏิบัติการครั้งนั้น

V. ^  ในช่วงเวลาสองปีภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต พลเรือนโปแลนด์ถูกจับกุมตัวไปกว่า 100,000 คน และถูกเนรเทศไปกว่า 350,000-1,500,000 คน ซึ่งจากจำนวนนี้เสียชีวิตไประหว่าง 250,000-1,000,000 คน[83][84]

จำนวนที่แท้จริงของประชาชนที่ถูกเนรเทศในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1939-1941 ยังคงไม่ทราบแน่ชัด โดยมีประมาณการอยู่ระหว่าง 350,000[85] ไปจนถึง 2,000,000 คน (ประมาณการโดยรัฐใต้ดิน) โดยสถิติที่มีอายุมากที่สุดเป็นการบันทึกของเอ็นเควีดี และไม่นับรวมจำนวนเชลยศึกกว่า 180,000 นาย ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของโซเวียต นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ส่วนใหญ่ประมาณจำนวนผู้ที่ถูกเนรเทศในเขตยึดครองของสหภาพโซเวียตอยู่ระหว่าง 800,000-1,500,000 คน

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 Переслегин. Вторая мировая: война между реальностями.- М.:Яуза, Эксмо, 2006, с.22; Р. Э. Дюпюи, Т. Н. Дюпюи. Всемирная история войн. — С-П,М: АСТ, кн.4, с.93
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 Ministry of Foreign Affairs. The 1939 Campaign กระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ปี 2005
  3. ^ E.R Hooton, p85
  4. ^ 4.0 4.1 Кривошеев Г. Ф., Россия и СССР в войнах XX века: потери вооруженных сил. Статистическое исследование (Krivosheev G. F., Russia and the USSR in the wars of the 20th century: losses of the Armed Forces. A Statistical Study Greenhill 1997 ISBN 1-85367-280-7) (รัสเซีย)
  5. ^ "Axis Slovakia: Hitler's Slavic Wedge, 1938-1945", page 81
  6. ^ Baliszewski, Most honoru
  7. ^ 7.0 7.1 Kitchen, Martin (1990). A World in Flames: A Short History of the Second World War. Longman. p. 74. ISBN 0582034086. http://books.google.com/books?id=0t-fAAAAMAAJ&q=%22The+joint+invasion+of+Poland+was+celebrated+with+a+parade+by+the+Wehrmacht+and+the+Red+Army+in+Brest+Litovsk%22&dq=%22The+joint+invasion+of+Poland+was+celebrated+with+a+parade+by+the+Wehrmacht+and+the+Red+Army+in+Brest+Litovsk%22&lr=&ei=N0_USde1H5SwMpL1zeQC&pgis=1. 
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 George Sanford.(2005). Katyn and the Soviet Massacre Of 1940: Truth, Justice And Memory. London, New York: Routledge. ISBN 0415338735. pp. 20–24
  9. ^ Diemut Majer,, "Non-Germans" under the Third Reich: the Nazi judicial and administrative system in Germany and occupied Eastern Europe with special regard to occupied Poland, 1939-1945JHU Press, 2003, ISBN 0801864933, Google Print, p. 188-189
  10. ^ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 153
  11. ^ 11.0 11.1 Victor Rothwell, Origins of the Second World War, Manchester University Press, 2001, ISBN 0719059585, Google Print, p.92
  12. ^ Andrew J. Crozier, The causes of the Second World War, Wiley-Blackwell, 1997, ISBN 0631186018, Google Print, p.150-151
  13. ^ "Non-Germans" Under the Third Reich.
  14. ^ สาเหตุของสงครามโลกครั้งที่สอง (อังกฤษ)
  15. ^ Louis Leo Snyder, John D Montgomery, The new nationalism, Transaction Publishers, 2003, ISBN 0765805502, Google Print, p.88
  16. ^ Nowa Encyklopedia Powszechna PWN 1997, vol. VI, 981.
  17. ^ http://www.euronet.nl/~jlemmens/autobahn.html
  18. ^ 18.0 18.1 โครงการเอวาลอน สถาบันกฎหมายเยล
  19. ^ 19.0 19.1 19.2 ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 154
  20. ^ Documents Concerning the Last Phase of the German-Polish Crisis, ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหานคนเสรีดานซิกและฉนวนโปแลนด์และปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างชาวเยอรมันกับชาวโปแลนด์ (New York: German Library of Information), p. 33–35...ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่: Documents Concerning German-Polish Relations and the Outbreak of Hostilities Between Great Britain and Germany on September 3, 1939 (จิปาถะ หมายเลข 9) ข้อความซึ่งถูกส่งไปยังเอกอัคราชทูตประจำกรุงเบอร์ลินโดยเลขาธิการของรัฐเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ. 1939 เมื่อเวลา 9.15 น. (London: His Majesty's (HM) Stationary Office) p. 149–153
  21. ^ ดูที่: Documents Concerning German-Polish Relations, 149–153.
  22. ^ ดูที่: Documents Concerning German-Polish Relations, p. 149–153
  23. ^ Final Report By the Right Honourable Sir Nevile Henderson (G.C.M.G) on the circumstances leading to the termination of his mission to Berlin เมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1939 (London: His Majesty's Stationary Office), p. 24
  24. ^ ดูเพิ่มที่: Final Report By the Right Honourable Sir Nevile Henderson, p. 16–18
  25. ^ Seidner, Stanley S. Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, New York, 1978, ch. 2
  26. ^ Roger Manvell, Heinrich Fraenkel, Heinrich Himmler: The SS, Gestapo, His Life and Career, Skyhorse Publishing Inc., 2007, ISBN 1602391785, Google Print, p.76
  27. ^ Stanley S. Seidner, Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, New York, 1978, 177
  28. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,270-94
  29. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, pages 135-138
  30. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,158
  31. ^ Michael Alfred Peszke, Polish Underground Army, the Western Allies, and the Failure of Strategic Unity in World War II, McFarland & Company, 2004, ISBN 0-7864-2009-X, Google Print, p.2
  32. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, pages 122-123
  33. ^ B.H.Hart & A.J.P Taylor, p41
  34. ^ Matthew Cooper, The German Army 1939–1945: Its Political and Military Failure, p. 176
  35. ^ Bombers of the Luftwaffe, Joachim Dressel and Manfred Griehl, Arms and Armour, 1994
  36. ^ The Flying pencil, Heinz J. Nowarra, Schiffer Publishing,1990,p25
  37. ^ A History of World War Two, A.J.P Taylor, Octopus, 1974, p35
  38. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,162
  39. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 155
  40. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,68-72
  41. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,122-25
  42. ^ Stanley S.Seidner, "Reflections from Rumania and Beyond: Marshal Śmigły-Rydz Rydz in Exile," The Polish Review vol. xxii, no. 2, 1977, pp. 29–51.
  43. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,244-150
  44. ^ Henryk Piątkowski (1943). Kampania wrześniowa 1939 roku w Polsce. Jerusalem: Sekcja Wydawnicza APW. p. 39. http://homepages.ihug.co.nz/~antora/WYDAW/KAMPANIA/tekst/KAMPANIA1.HTM.  (โปแลนด์)
  45. ^ Count Edward Raczyński (1948). The British-Polish Alliance; Its Origin and Meaning. London: Mellville Press. 
  46. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 157
  47. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,304-310
  48. ^ 48.0 48.1 Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,312
  49. ^ Dariusz Baliszewski, Wojna sukcesów, Tygodnik "Wprost", Nr 1141 (10 October 2004)
  50. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,314
  51. ^ 51.0 51.1 E.R Hooton, p87
  52. ^ 52.0 52.1 Stanley S.Seidner, "Reflections from Rumania and Beyond: Marshal Śmigły-Rydz Rydz in Exile," The Polish Review vol. xxii, no. 2, 1977, pp. 29–51.
  53. ^ 53.0 53.1 E.R Hooton, p91
  54. ^ Telegram: โทรเลขจากเอกอัครราชทูตเยอรมันในสหภาพโซเวียต (Schulenburg) ถึงกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี จากกรุงมอสโก วันที่ 10 กันยายน 1939 เวลา 21.40 น. และ Telegram 2: โทรเลขอีกฉบับจากเอกอัครราชทูตเยอรมันไปยังกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีในวันที่ 16 กันยายน ค.ศ. 1939 แหล่งที่มา: โครงการเอวาลอน ที่ สถาบันกฎหมายเยล
  55. ^ รายงานของนายโมโลตอฟ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1940
  56. ^ EVENTS 1939
  57. ^ Sanford, p. 23; (โปแลนด์) Olszyna-Wilczyński Józef Konstanty, Encyklopedia PWN. ได้รับข้อมูลเมื่อ 14 พฤษจิกายน 2006
  58. ^ Śledztwo w sprawie zabójstwa w dniu 22 września 1939 r. w okolicach miejscowości Sopoćkinie generała brygady Wojska Polskiego Józefa Olszyny-Wilczyńskiego i jego adiutanta kapitana Mieczysława Strzemskiego przez żołnierzy b. Związku Radzieckiego. (S 6/02/Zk) Polish Institute of National Remembrance. Internet Archive, 16.10.03. ได้รับข้อมูลเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2007 (โปแลนด์)
  59. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,226-28
  60. ^ Seven Years War?, นิตยสารไทมส์ ฉบับวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1939
  61. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,279-80
  62. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland,289-91
  63. ^ Seidner takes issue here with this contention on at least one occasion. Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland
  64. ^ Steven J. Zaloga, Ramiro Bujeiro, Howard Gerrard, Poland 1939: the birth of blitzkrieg, Osprey Publishing, 2002, ISBN 1841764086, Google Print, p.50
  65. ^ 65.0 65.1 Bekker, Cajus (1964) :
  66. ^ Overy, Richard J., The Air War: 1939-1945, London, Europa Publications, 1980. p. 28
  67. ^ Seidner,Marshal Edward Śmigły-Rydz Rydz and the Defense of Poland, ch. 3
  68. ^ Zamoyski, Adam. The Polish Way. New York: Hippocrene Books, 1987
  69. ^ Erich von Manstein, Lost Victories, trans. Anthony G. Powell (Chicago: Henry Regnery, 1958), p 46
  70. ^ ธนู แก้วโอภาส, เหตุการณ์สำคัญในศตวรรษที่ 20, ฝ่ายโรงพิมพ์ บริษัท ตภาตา พับลิเคชั่น จำกัด, 2549, หน้า 159-161
  71. ^ Кривошеин С.М. Междубурье. Воспоминания. Воронеж, 1964. (Krivoshein S. M. Between the Storms. Memoirs. Voronezh, 1964. in Russian) ; Guderian H. Erinnerungen eines Soldaten Heidelberg, 1951 (in German — Memoirs of a Soldier in English)
  72. ^ Benjamin B. Fischer The Katyn Controversy: Stalin's Killing Field", ได้รับการศึกษาในหน่วยข่าวกรอง, ฤดูหนาวปี 1999–2000
  73. ^ อ้างอิงผิดพลาด: Invalid <ref> tag; no text was provided for refs named SDtW
  74. ^ Gerhard L. Weinberg. A World at Arms: A Global History of World War II. Cambridge University Press.
  75. ^ David A. Welch. Justice and the Genesis of War. http://books.google.com/books?vid=ISBN0521558689
  76. ^ Poland's Holocaust: Ethnic Strife, Collaboration with Occupying Forces and Genocide in the Second Republic, 1918-1947 Tadeusz Piotrowski page 301 McFarland, 1998
  77. ^ Tomasz Chinciński, Niemiecka dywersja w Polsce w 1939 r. w świetle dokumentów policyjnych i wojskowych II Rzeczypospolitej oraz służb specjalnych III Rzeszy. Część 1 (marzec–sierpień 1939 r.). Pamięć i Sprawiedliwość. nr 2 (โปแลนด์)
  78. ^ Wielka Encyklopedia PWN. kampania wrześniowa 1939 (โปแลนด์)
  79. ^ Wojna Obronna Polski 1939 หน้า 851
  80. ^ Polish War, German Losses. The Canberra Times (Oct 13 1939). สืบค้นวันที่ 2009-01-17)
  81. ^ Nazi Loss in Poland Placed at 290,000. The New York Times (1941). สืบค้นวันที่ 2009-01-16)(Polish War, German Losses. The Canberra Times (Oct 13 1939). สืบค้นวันที่ 2009-01-17
  82. ^ Tadeusz Piotrowski (1997). Poland's Holocaust: Ethnic Strife, Collaboration with Occupying Forces and Genocide.... McFarland & Company. ISBN 0-7864-0371-3. http://books.google.com/books?vid=ISBN0786403713&id=A4FlatJCro4C&pg=PA295&lpg=PA295&dq=1939+Soviet+citizenship+Poland&sig=qETeuFX3hbmM0VPSO13o0LmjgEc.  (อังกฤษ)
  83. ^ Represje 1939-41 Aresztowani na Kresach Wschodnich (เกี่ยวกับการจับกุมตามแนวชายแดนด้านตะวันออก ระหว่างปี 1939-1941) Ośrodek Karta. (โปแลนด์)
  84. ^ Rieber, pp. 14, 32–37.
  85. ^ Okupacja Sowiecka W Polsce 1939–41. Encyklopedia PWN. Retrieved 14 March 2006. (โปแลนด์)

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • Cooper, Matthew (1978). The German Army 1939–1945: Its Political and Military Failure. New York: Stein and Day. ISBN 0-8128-2468-7. 
  • Baliszewski, Dariusz (2004-10-10). "Wojna sukcesów" (in Polish). Wprost (1141). เรียกข้อมูลวันที่ 2005-03-24 
  • Baliszewski, Dariusz (2004-09-19). "Most honoru" (in Polish). Wprost (1138). เรียกข้อมูลวันที่ 2005-03-24 
  • Chodakiewicz, Marek Jan (2004). Between Nazis and Soviets: Occupation Politics in Poland, 1939–1947. Lexington Books. ISBN 0-7391-0484-5. 
  • Ellis, John (1999). Brute Force: Allied Strategy and Tactics in the Second World War (1st American ed. ed.). Viking Adult. ISBN 0-670-80773-7. 
  • Fischer, Benjamin B. (Winter 1999–2000). "The Katyn Controversy: Stalin's Killing Field". Studies in Intelligence. เรียกข้อมูลวันที่ 2005-12-10 
  • Gross, Jan T. (2002). Revolution from Abroad: The Soviet Conquest of Poland's Western Ukraine and Western Belorussia. Princeton: Princeton University Press. ISBN 0-691-09603-1. 
  • Hooton, E. R. (2007). Luftwaffe at War: Gathering Storm 1933–1939 Volume 1. London: Chervron/Ian Allen. ISBN 978-1-903223-71-7. 
  • Kennedy, Robert M. (1980). The German Campaign in Poland (1939). Zenger. ISBN 0-89201-064-9. 
  • Lukas, Richard C. (2001). Forgotten Holocaust: The Poles Under German Occupation, 1939–1944. Hippocrene Books. ISBN 0-7818-0901-0. 
  • Majer, Diemut (2003). Non-Germans under the Third Reich: The Nazi Judicial and Administrative System in Germany and Occupied Eastern Europe, with Special Regard to Occupied Poland, 1939–1945. Johns Hopkins University Press. ISBN 0-8018-6493-3. 
  • Prazmowska, Anita J. (1995). Britain and Poland 1939–1943: The Betrayed Ally. Cambridge: Cambridge University Press. ISBN 0-521-48385-9. 
  • Rossino, Alexander B. (2003). Hitler Strikes Poland: Blitzkrieg, Ideology and Atrocity. Lawrence: University Press of Kansas. ISBN 0-7006-1234-3. 
  • Sanford, George (2005). Katyn and the Soviet Massacre Of 1940: Truth, Justice And Memory. London, New York: Routledge. ISBN 0415338735. 
  • Smith, Peter Charles (1998). Stuka Spearhead: The Lightning War from Poland to Dunkirk 1939–1940. Greenhill Books. ISBN 1-85367-329-3. 
  • Sword, Keith (1991). The Soviet Takeover of the Polish Eastern Provinces, 1939–41. Palgrave Macmillan. ISBN 0-312-05570-6. 
  • Stachiewicz, Wacław (1998) (in Polish). Wierności dochować żołnierskiej. OW RYTM. ISBN 83-86678-71-2. 
  • Taylor, A. J. P. (1974). A History Of World War Two. London: Octopus Books. ISBN 0-70640-399-1. 
  • Zaloga, Steve (2002). Poland 1939: The Birth of Blitzkrieg. Oxford: Osprey Publishing. ISBN 1-84176-408-6. 
  • Zaloga, Steve (1982). The Polish Army 1939–1945. Oxford: Osprey Publishing. ISBN 0-85045-417-4. 
  • "KAMPANIA WRZEŚNIOWA 1939". Internetowa encyklopedia PWN. เรียกข้อมูลวันที่ 2005-12-10. 
  • Böhler, Jochen (2006) (in German). Auftakt zum Vernichtungskrieg; Die Wehrmacht in Polen 1939 (Preface to the War of Annihilation: Wehrmacht in Poland). Frankfurt: Fischer Taschenbuch Verlag. ISBN 3-596-16307-2.  (เยอรมัน)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons:Category
คอมมอนส์ มีภาพและสื่ออื่นๆ เกี่ยวกับ:
การรุกรานโปแลนด์ (1939)
ลำดับเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่สอง
เรียงตามลำดับเวลา
1939
1940
1941
1942
1943
1944
1945
เพิ่มเติม

แนวรบด้านตะวันออก
โครงการแมนฮัตตัน