สยาม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ดูเพิ่มที่ ไทย (แก้ความกำกวม)

สยาม (อักษรละติน: Siam) เป็นชื่อเรียกของชนชาติและประเทศไทยในสมัยโบราณ แต่มิใช่ชื่อที่คนไทยใช้เรียกตนเอง สยามเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไทยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา[1] แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ไทย" เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 อย่างไรก็ตาม ชื่อ สยาม ยังคงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ

เนื้อหา

[แก้] แนวคิดเกี่ยวกับที่มา

จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีใครทราบที่มาของคำว่าสยามว่ามาจากที่ไหนอย่างแน่ชัด แต่ที่ทราบแน่นอนแล้วคือ สยาม มิใช่ชื่อที่คนไทยใช้เรียกตนเอง โดยในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาในอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พบว่า "สยาม" เป็นนามที่ชาวโปรตุเกสในแถบตะวันออกไกลใช้เรียกอาณาจักรในบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา[2]

จิตร ภูมิศักดิ์ ได้แนะนำการศึกษาประวัติที่มาของคำว่า "สยาม" ว่า:

  1. จะต้องเป็นคำที่คล้ายกับ "ซาม-เซียม" ตามสมมุติฐานทางนิรุกติศาสตร์
  2. มีความหมายเกี่ยวข้องกับน้ำ เนื่องจากพบในพงศาวดารราชวงศ์หยวน อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชนชาติไต
  3. น่าจะเป็นภาษาหนานเจ้า
  4. ที่เกิดของคำว่า "สยาม" อยู่ในบริเวณทางตอนเหนือของพม่า[3]

[แก้] คำที่ใกล้เคียงกับสยาม

  • ตามภาษามอญ เรียกคนไทยว่า "หรั่ว เซม" (หรั่ว ภาษามอญแปลว่าพวก) จนกระทั่งปัจจุบัน
  • ชาวมลายูและผู้มีเชื้อสายมลายู (รวมถึงในประเทศไทย) ใช้คำเรียกไทยว่า "สยาม" (โดยในภาษามลายูปัตตานีจะออกเสียงว่า สิแย) มาจนถึงปัจจุบัน (ดังเช่นที่ปรากฏในเอกสารของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในบริเวณจังหวัดชายแดนภาคใต้) [ต้องการอ้างอิง]
  • ในภาษาเขมร คำว่า "สยาม" หมายถึง "ขโมย" โดยออกเสียงว่า "ซี-เอม" เมืองเสียมเรียบ ซึ่งอยู่ใกล้กับนครวัด จึงมีความหมายว่า "พวกขโมยพ่ายแพ้" ดังนั้น ความหมายของคำว่า "สยาม" ในภาษาเขมรจึงหมายถึง "พวกขโมยป่าเถื่อน" เนื่องจากในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ มีคนไทที่อพยพมาจากทางเหนือเข้าสู่ดินแดนภาคอีสานของเขมรซึ่งอาจเข้ามาโดยการกวาดต้อนของชาวเขมรเองเพื่อใช้เป็นแรงงานในการสร้างปราสาทหินต่างๆ คำว่า "สยาม" จึงเป็นคำเขมรที่ใช้เรียกกลุ่มคนไทซึ่งในเวลานั้นชาวเขมรยังมองว่าเป็นแค่คนป่า บนรูปสลักฝาผนัง ณ นครวัด ประเทศกัมพูชาที่แสดงถึงกำลังพลจากอาณาเขตต่าง ๆ ที่ได้เข้ามาร่วมกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีภาพกองกำลังกองหนึ่งที่มีคำบรรยายใต้ภาพว่า "เนะ สยฺมกุก" (เนะ สยำกุก) [4] ซึ่งแปลได้ความว่า "นี่ เสียมกุก" เป็นกองกำลังต่างหากจากกองกำลังจากอาณาจักรละโว้ ซึ่งรูปสลักฝาผนังได้สลักแยกไว้พร้อมคำบรรยายที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สันนิษฐานกันว่าอาจเป็นคนไท-ลาวกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเป็นที่ยอมรับกัน
  • ตามจดหมายเหตุเก่าของจีน ในบริเวณประเทศไทยปัจจุบันนั้น แต่เดิมมีอาณาจักรอยู่ด้วยกัน 2 อาณาจักร คือ อาณาจักร "เซียน" (น่าจะหมายถึง เสียม หรือ สุโขทัย) ซึ่งอยู่ทางเหนือขึ้น แต่ยังอยู่ใต้ต่ออาณาจักร "ร้อยสนม" (มีผู้สันนิษฐานว่าคืออาณาจักรล้านนา-ไทใหญ่) และอาณาจักร "หลอหู" (น่าจะหมายถึง อยุธยา ซึ่งจีนยังใช้ชื่อของ ละโว้ เรียกอยู่) ซึ่งอยู่ทางใต้ลงไป โดยอาณาจักร "เซียน" นั้นมักประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ต้องนำเข้าข้าวจากอาณาจักร "หลอหู" จนในที่สุด อาณาจักร "เซียน" และอาณาจักร "หลอหู" ได้รวมกันเข้า ทางราชสำนักจีนจึงได้รวมเรียกชื่ออาณาจักรใหมที่เกิดจากการรวมกันดังกล่าวว่า อาณาจักร "เซียนหลอ" (ภาษาจีนกลางยุคปัจจุบัน="เสียนหลอกว๋อ" ภาษาจีนแต้จิ๋ว = "เสี่ยมล้อก๊ก") ซึ่งได้กลายเป็นนามเรียกอาณาจักรโดยชาวจีนมาจนกระทั่งมีการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นประเทศไทย จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น "ไท่กว๋อ"[ต้องการอ้างอิง]
  • นักนิรุกติศาสตร์และนักประวัติศาสตร์บางคน ได้แสดงถึงความใกล้เคียงกันของคำว่า สยาม และ ฉาน (Shan) ซึ่งใช้เรียกอาณาจักรของคนไทบริเวณตอนใต้ของจีน ทางตอนเหนือของพม่า และทางรัฐอัสสัมของอินเดีย[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] สยามในฐานะชนชาติ

สยามเป็นชื่อดินแดนและกลุ่มชนไม่จำกัดชาติพันธุ์ ซึ่งอาจอธิบายได้ว่าสยามเป็น "พวกร้อยพ่อพันแม่"[2] คือ มิได้หมายถึงชนชาติใดชนชาติหนึ่ง แต่อาศัยลักษณะภายนอกเป็นตัวกำหนด เช่น ใช้เรียกผู้ทำมาหากินกันในบริเวณตาน้ำพุที่ผุดจากแอ่งดินอ่อนหรือดินโคลน[5] หรืออาจใช้เรียกผู้ที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำโขง[6]

ชาวสยามหรือเสียมเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ต่ำกว่าเส้นละติจูด 19° เหนือลงมา เป็นการผสมผสานของกลุ่มชนต่าง ๆ ที่ใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร[7] นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้เขียน "คนไทย มาจากไหน" จึงเสนอให้เรียกผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันว่า "ชาวไทยสยาม" แทน เพราะคำว่า "ชาวไทย" มีความหมายครอบคลุมถึง "ชาวไทยใหญ่" และ "ชาวไทยน้อย" ซึ่งอาศัยอยู่นอกประเทศไทยด้วย[8]

[แก้] สยามในความหมายของชนชาติไทย

ดูเพิ่มที่ ไทยสยาม

ตามหลักฐานของลาลูแบร์นั้น คนในประเทศไทยได้เรียกเผ่าพันธุ์ของตนเองว่า ไทย ตั้งแต่สมัยอาณาจักรอยุธยาแล้ว โดยได้บันทึกไว้ว่า

Cquote1.svg

ชาวสยามเรียกตนว่า ไทย (Tàï) แปลว่า อิสระ อันเป็นความหมายตามศัพท์ในภาษาของพวกเขาอยู่ในปัจจุบัน [...] คำว่า สยาม กับ ไทย เป็นสองคำที่มีความแตกต่างกัน แต่หมายถึงพลเมืองของประเทศเดียวกัน[9]

Cquote2.svg

D.G.E. Hall ได้เขียนใน "ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ว่า "สยาม ใช้เรียกคนป่าแถบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพบในระเบียงด้านใต้ของนครวัด... ภายหลังการก่อตั้งอยุธยา ดินแดนดังกล่าวได้ชื่อว่าสยาม ชาวยุโรปก็มักเรียกว่า นครแห่งสยาม" และระบุว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของสยาม[10]

ส่วนกลุ่มเมืองสุโขทัย ก็พบว่ามีการเรียกว่า "สยามประเทศ" ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ของอาณาจักรล้านนาด้วยเช่นกัน[11]

[แก้] ราชอาณาจักรสยาม

ถึงแม้ว่าจะมีกล่าวถึง "สยาม" (ซึ่งอาจหมายความถึงคนไทยหรือไม่ใช่ก็เป็นได้) โดยผู้คนจากต่างแดนอย่างกว้างขวางดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วก็ตาม แต่ทว่าในอดีตนั้น แนวคิดเรื่องรัฐชาติยังไม่ปรากฏชัดเจน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรปตั้งแต่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ การอ้างอิงถึงราชอาณาจักรของทางราชสำนักของไทยจึงยังคงอ้างอิงโดยใช้ชื่อเมืองหลวง ดังเช่นพระราชสาสน์ของสมเด็จพระเอกาทศรถที่มีไปถึงพระเจ้าดอน ฟิลลิปแห่งโปรตุเกส ผ่านผู้สำเร็จราชการแห่งเมืองกัว ก็ได้มีการอ้างพระองค์ว่าเป็นผู้ปกครองแว่นแคว้นของ กรุงศรีอยุธยา เป็นอาทิ[ต้องการอ้างอิง] ส่วนชาวต่างชาติได้เรียกอาณาจักรอยุธยาว่า สยาม มาตั้งแต่ราว พ.ศ. 2000 เป็นต้นมา[2] ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยใช้ชื่อประเทศว่า "สยาม"[12]

เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงได้พยายามดัดแปลงให้ประเทศมีลักษณะสมัยใหม่ขึ้น เพื่อซึ่งประการหนึ่งในนั้นคือ การทำให้ประเทศไทยมีลักษณะเป็นรัฐชาติที่มีการควบคุมจากส่วนกลาง และเริ่มมีการใช้ชื่อ "ราชอาณาจักรสยาม" เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ[1] อย่างไรก็ดี เหรียญกษาปณ์แทนเงินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "กรุงสยาม" และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ตัวหนังสือว่า "สยามรัฐ"[13]

[แก้] จากสยามเป็นไทย

ต่อมา ในสมัยที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามก้าวขึ้นสู่อำนาจ ปลุกแนวคิดชาตินิยมและการเชื่อฟังผู้นำอย่างมาก ซึ่งจากรายงานการศึกษาในยุคนั้นโดยนักศึกษาประวัติศาสตร์บางคน[ต้องการอ้างอิง] ได้มีการค้นพบคนไทยที่อยู่ในเวียดนาม และจีนตอนใต้ นอกเหนือไปจากจากกลุ่มไทยใหญ่ในพม่าอีก ทำให้เกิดกระแสที่ต้องการรวบรวมชนเผ่าไทยเหล่านั้นเข้ามาสู่ประเทศ "ไทย" เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ในที่สุด จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติเป็น "ไทย" ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งได้รับการคัดค้านจากบางฝ่ายว่าจะเป็นการทำให้คนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน มลายู ไม่รู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประเทศ "ไทย" แต่ทว่าในที่สุดประกาศรัฐนิยมก็มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ไทย ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกลายเป็นสิ่งตกทอดไม่กี่อย่างจากประกาศดังกล่าวมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับคำว่า "สวัสดี"

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. ประเทศไทย หรือประเทศสยาม
  2. ^ 2.0 2.1 2.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 73.
  3. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 62-63.
  4. ^ ชำนาญ สัจจะโชติ. สยำกุก-นครวัด กองทัพศรีวิชัย. กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์ดีการพิมพ์ จำกัด, 2549. 160 หน้า. ISBN 974-88126-8-5
  5. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 60.
  6. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 76.
  7. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 66-67.
  8. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 67.
  9. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 217.
  10. ^ D.G.E. Hall. หน้า 222-223.
  11. ^ สุจิตต์ วงษ์เทศ. หน้า 69.
  12. ^ วีรวิท คงศักดิ์. ร้องเพลงชาติ...ต้องร้องด้วย “ใจ”. คลังสมอง วปอ. เพื่อสังคม. สืบค้น 8 พฤษภาคม 2553.
  13. ^ อ้างอิงจากรูปภาพในบทความ สตางค์แดง

[แก้] บรรณานุกรม

  • D.G.E. Hall. ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, [ม.ป.ป.].
  • สุจิตต์ วงษ์เทศ. คนไทยมาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548.

[แก้] หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • จิตร ภูมิศักดิ์. ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และ ลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2519.

[แก้] ดูเพิ่ม