พิพิธภัณฑสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก พิพิธภัณฑ์)

พิพิธภัณฑสถาน หรือ พิพิธภัณฑ์ เป็นอาคารหรือสถาบัน ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บรักษาวัตถุที่มนุษย์ทำขึ้น[1] ทั้งในรูปแบบของโบราณวัตถุ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ โดยมีจัดแสดงให้ผู้คนสามารถเข้าชมได้ถาวร หรือจัดแสดงชั่วคราว พิพิธภัณฑสถานมักจะให้บริการแก่สาธารณชน เพื่อประโยชน์ในการศึกษา สันทนาการ แสดงความภูมิใจของท้องถิ่น ดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยมีผู้ดูแลพิพิธภัณฑสถาน เรียกว่า ภัณฑารักษ์

ปัจจุบันแนวคิดของพิพิธภัณฑสถาน ยังมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น จากแค่เป็นการเก็บรักษาและจัดแสดง เป็นการให้ประสบการณ์ และมีการโต้ตอบ ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ หรือ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

สิ่งของที่เก็บและจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานอาจเคลื่อนย้าย เปลี่ยนแปลง และหมุนเวียนได้อย่างหลากหลาย

เนื้อหา

[แก้] เป้าหมาย

พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้แห่งแรกของโลก ตั้งอยู่ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส

พิพิธภัณฑ์มีเป้าหมายในการเก็บรักษาและดูแลสิ่งของที่สำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปะ เพื่อจัดแสดงต่อสาธารณชน พิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่มักจะตั้งอยู่ภายในเมืองใหญ่ที่สำคัญของโลกซึ่งมักจะมีผลงานแสดงที่หลากหลาย ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่กระจายอยู่ตามทั่วโลกมักจะจัดแสดงผลงานของท้องถิ่นนั้น หรือเฉพาะวัตถุที่เกิดจากความสนใจของเจ้าของพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ภายหลังจากการเติบโตของอินเทอร์เน็ต ได้มีพิพิธภัณฑ์เสมือนจริงเกิดขึ้นมากมายในลักษณะของเว็บไซต์ที่มีการจัดแสดงภาพ และเสียงให้ผู้เข้าชมได้ดูและฟัง

พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่จะไม่ยอมให้ผู้เข้าชมจับต้องกับวัตถุที่จัดแสดง แม้กระนั้นพิพิธภัณฑ์บางประเภทอย่างพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักจะพยายามแนะนำให้ผู้เข้าชมจับต้องและเล่นกับสิ่งของที่จัดแสดงเพื่อการเรียนรู้

พิพิธภัณฑ์บางแห่งจะเก็บค่าเข้าชม ในขณะที่การเข้าชมพิพิธภัณฑ์บางแห่งเปิดให้เข้าชมฟรี หรือเปิดให้เข้าชมฟรีฟรีเฉพาะบางวันในสัปดาห์นั้น พิพิธภัณฑ์ส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ความรู้และวัฒนธรรมซึ่งจะไม่เน้นการหากำไรเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ โดยทางพิพิธภัณฑ์เองจะมีเงินสนับสนุนจากหน่วยงานทางภาครัฐ หรือภาคเอกชน ซึ่งจะแตกต่างจากพวกห้องโชว์ภาพที่มีจุดมุ่งหมายในการเปิดให้ชมเพื่อขายงานศิลปะ

[แก้] ชนิด

พิพิธภัณฑ์โบราณคดี 
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ และบางแห่งจัดเป็นโบราณสถานเอง ซึ่งมีลักษณะของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ตัวอย่างเช่น อาโครโปลิสแห่งเอเธนส์
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 
พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงความรู้จากประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน ในพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่จะมีการจัดแสดงประวัติศาสตร์ที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันบางพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงประวัติแสดงเฉพาะประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น ตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เช่น บ้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นบ้านที่มีความสำคัญในตัวอาคารเองในเชิงสถาปัตยกรรมหรือเป็นบ้านเกิดของบุคคลที่มีชื่อเสียง อุทยานประวัติศาสตร์เองก็นับเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือ อุทยานประวัติศาสตร์เดียร์ฟิลด์ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งได้แก่ พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของชุมชนในสมัยก่อนที่ยังคงเก็บรักษาและนำมาแสดงให้คนรุ่นปัจจุบันได้ดู
พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติ 
พิพิธภัณฑ์แสดงเรื่องราวของธรรมชาติในโลก โดยเน้นถึงตัวธรรมชาติและวัฒนธรรมของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการเกิดของไดโนเสาร์ บุคคลในยุคหิน ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติฟีลด์ในชิคาโก
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ 
พิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะนำงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญมาแสดงในรูปแบบที่เข้าใจง่าย พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์มักจะสนับสนุนให้ผู้เข้าชมมีปฏิสัมพันธ์กับทางวัตถุหรือเหตุการณ์ที่นำมาแสดง เพื่อให้เรียนรู้ได้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การทดลองอย่างง่าย หรือการใส่แว่นสามมิติเพื่อเข้ามชม ตัวอย่างเช่น ท้องฟ้าจำลอง
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ 
พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือรู้จักในชื่อหอศิลป์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงงานศิลปะในหลายรูปแบบ ไม่ว่า ภาพเขียน ภาพถ่าย ประติมากรรม ตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ นอกจากนี้พิพิธภัณฑ์ศิลปะบางแห่งยังมีการแสดงเฉพาะศิลปะสมัยใหม่ เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ในนิวยอร์กซิตี
พิพิธภัณฑ์อื่น

[แก้] พิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ ที่น่าสนใจ

  • พิพิธภัณฑ์บริติช (British Museum) ประเทศอังกฤษ
  • กลุ่มพิพิธภัณฑ์ของ สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. (Smithsonian, Washington DC.)
  • พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เดอลาวิลเลท (Cite des Science, Park de la Villete)
  • พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Guggenheim, NY)
  • กลุ่มพิพิธภัณฑ์ยูนิเวอร์ซิตี้พาร์ค (University Museum Park) ได้แก่ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเชดด์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาฟิลด์ พิพิธภัณฑ์ท้องฟ้าจำลองเอลเดอร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ

[แก้] นิยามศัพท์คำว่า "พิพิธภัณฑ์" และ "พิพิธภัณฑสถาน"

พิพิธภัณฑ์ (พิ-พิด-ทะ-พัน) มาจากคำว่า วิวิธ สมาสกับคำว่า ภัณฑ์ หมายถึงของใช้ที่แตกต่างกัน ซึ่งในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ให้คำนิยามว่า "สิ่งของต่างๆ ที่ได้ถูกรวบรวมไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา" ในขณะเดียวกันคำว่า พิพิธภัณฑสถาน หมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมสิ่งต่างๆ ไว้เพื่อการศึกษา ซึ่งในปัจจุบันความหมายของพิพิธภัณฑ์เอง ได้ถูกเรียกหมายถึงพิพิธภัณฑ์สถานเช่นเดียวกัน[2]

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Edward Porter Alexander, Mary Alexander; Museums in motion: an introduction to the history and functions of museums. Rowman & Littlefield, 2008 ISBN 075910509X. สืบค้นวันที่ 2009-10-06
  2. ^ คำว่า "พิพิธภัณฑสถาน"