พรรคประชาธิปัตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พรรคประชาธิปัตย์
Democrat Party logo.png
บุคลากร
หัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เลขาธิการพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
โฆษกพรรค นายบุรณัชย์ สมุทรักษ์
ประธานที่ปรึกษาพรรค นายชวน หลีกภัย
ผู้อำนวยการพรรค นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
ทั่วไป
ก่อตั้ง 6 เมษายน พ.ศ. 2489 (อายุ 64 ปี)
สำนักงานใหญ่ 67 ถนนเศรษฐศิริ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
อื่น ๆ
นโยบายพรรค เชื่อมั่นประเทศไทย มั่นใจประชาธิปัตย์ (ปัจจุบัน)
"วาระประชาชน" และ "ประชาชนต้องมาก่อน" (พ.ศ. 2550)
คำขวัญพรรค สจฺจํเว อมตา วาจา
(คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย)
สีของพรรค สีฟ้า
เว็บไซต์ http://www.democrat.or.th/

พรรคประชาธิปัตย์ หรือในตัวย่อว่า ปชป. (อังกฤษ: Democrat Party หรือย่อว่า DP) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 เป็นพรรคการเมืองจดทะเบียนที่เก่าแก่ที่สุดของไทยที่ยังดำเนินการอยู่[1] พรรคมีสมาชิกที่ได้แจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองไว้ จำนวนประมาณ 2.865 ล้านคน[2] เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนปัจจุบัน

เนื้อหา

[แก้] นโยบายพรรค

[แก้] นโยบายพรรคในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550

วาระประชาชน ที่ว่า "ประชาชนต้องมาก่อน" เป็นนโยบายบริหารประเทศที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้ในการรณรงค์เลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 มีการนำเสนอต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และมีการนำเสนอ เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มเติมเนื้อหารายละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ ในชื่อนโยบายเดิม นโยบายวาระประชาชน มีโครงการที่ได้รับการเน้นย้ำบ่อยจนเป็นที่จดจำได้คือการ "เรียนฟรี" ประกอบไปด้วยกลุ่มนโยบาย 4 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. การพัฒนาคน[3]
  2. กอบกู้เศรษฐกิจ[4]
  3. ใต้สันติ[5]
  4. ฟื้นฟูประชาธิปไตย[6]

[แก้] ประวัติการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์

นายควง อภัยวงศ์ ได้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำงานคานอำนาจรัฐบาล นายปรีดี พนมยงค์ ที่มีจำนวน ส.ส. เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ต่อมานายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังถูกกดดันจากกรณีสวรรคต ร.8 และรัฐสภาลงคะแนนให้ พล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ใกล้ชิดนายปรีดี ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐบาล พล.ร.อ.ถวัลย์ ถูกนายทหารฝ่ายจอมพล ป. ที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น) ทำรัฐประหารยึดอำนาจ นายควงได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และมีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 ผลการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียงมากที่สุดจึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลครั้งแรก หลังจากนั้นพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีก 6 ครั้งจนถึงปัจจุบัน คือในปี พ.ศ. 2518, 2519 (2 ครั้ง) , 2535, 2540 และ 2551 นอกจากนี้ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล 4 ครั้ง และเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกรวม 16 ครั้ง

พรรคมีหัวหน้าพรรคถึงปัจจุบันรวม 7 คน เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย 4 คนคือ นายควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคคนแรก (ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 4 สมัย) , ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (4 สมัย) , นายชวน หลีกภัย (2 สมัย) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน)

พรรคมีสมาชิกที่เคยดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ รวม 2 คน คือ นายมารุต บุนนาค และ นายพิชัย รัตตกุล และมีสมาชิกเคยดำรงตำแหน่ง ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร รวม 4 คน คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช , นายชวน หลีกภัย (3 สมัย) , นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (2 สมัย)

พรรคมีรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทยที่มาจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

พรรคมีสมาชิกที่เคยได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 3 คนคือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากการเลือกตั้งคนแรก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิป้ตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2 สมัย และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนปัจจุบัน[7]

พรรคมีสมาชิกที่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังก์ถัด และเคยเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) และใน ปี พ.ศ. 2551 นี้ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ พ.อ. (พิเศษ) ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยร่วมดำเนินการก่อตั้งร่วมกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ ขณะดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ในปี พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดทำ "โครงการยุทธศาสตร์ประเทศไทย" (Thailand Strategy Project หรือ TSP) ขึ้น โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ เพื่อรวบรวมข้อมูลทางวิชาการใน 19 ยุทธศาสตร์หลัก ใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนานโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ และจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนทรรศนะกับชุมชนวิชาการและประชาชนที่สนใจทั่วไป ผ่านทางเว็บไซต์ www.thailandstrategy.com และเอกสารเผยแพร่ของโครงการ

ในปี พ.ศ. 2551 ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ มีสถานะเป็น "พรรคฝ่ายค้านพรรคเดียว" เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และผู้นำฝ่ายค้าน ได้ประกาศจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีเงา ขึ้นตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและนำเสนอแนวทางการบริหารประเทศ ควบคู่ไปกับการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบรัฐบาลเงาในระบบเวสต์มินสเตอร์ของประเทศอังกฤษ ขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[8]

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลัง พรรคพลังประชาชน ถูกพิพากษายุบพรรคจาก คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 ทำให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เกิดการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย จาก การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

[แก้] การเลือกตั้ง พ.ศ. 2548

โปสเตอร์หาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับสองในสภาผู้แทนราษฎร โดยมีจำนวนที่นั่ง 96 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง) มีฐานเสียงใหญ่อยู่ที่ภาคใต้ ใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในไทย พ.ศ. 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงจากภาคใต้ถึง 52 ที่นั่งจาก 54 ที่นั่ง อย่างไรก็ตามพรรคไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักในส่วนอื่น ๆ ของประเทศ (ยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานคร ที่คะแนนเสียงแปรผันไปตามสถานการณ์ทางการเมืองแต่ละสมัย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2548 พรรคฯ ได้เสียงจากกรุงเทพเพียง 4 ที่นั่ง จาก 37 ที่นั่ง โดยที่พรรคคู่แข่งคือ พรรคไทยรักไทย ได้ถึง 32 ที่นั่ง) ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับพรรคเสรีนิยมของสหราชอาณาจักรที่ผู้สนับสนุนอย่างเหนียวแน่นส่วนใหญ่จะอยู่ในแคว้นสก็อตแลนด์ คือเป็นลักษณะภูมิภาคนิยม ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนสูงถึง 136 ที่นั่ง แต่พรรคได้รับเลือกเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น

  • ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุน จากประชาชนทั่วประเทศ ในระบบบัญชีรายชื่อจำนวน 7,210,742 เสียง
  • โดยการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้แนวทางการหาเสียงว่า "เลือกให้ถึง 201 ที่นั่ง" และ "ทวงคืนประเทศไทย" อันเนื่องจากต้องการสัดส่วนที่นั่งในสภาฯให้ถึง 200 ที่ เพื่อที่ต้องการจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 นั่นเอง
  • หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้ตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการ 6 คณะ คือ

[แก้] คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

ดูบทความหลักที่ คดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549

ช่วงวิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย พรรคประชาธิปัตย์ร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิมอีก 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และ พรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ด้วยการไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง โดยมีเหตุผลว่ารัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยุบสภา โดยไม่ชอบธรรม และต่อมามีคำวินิจฉัยของศาลให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นโมฆะ เนื่องจาก กกต. จัดการเลือกตั้งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น มีการหันคูหาเลือกตั้งที่ทำให้การลงคะแนนไม่เป็นการลงคะแนนลับ

ในช่วงเวลาเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการฟ้องร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในขณะนั้น ให้ดำเนินคดียุบพรรคไทยรักไทย เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยมีการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ร้อยละ 20 ตามกฎหมาย และพรรคประชาธิปัตย์มีพยานบุคคลจากพรรคเล็กยืนยัน แต่ต่อมาพยานดังกล่าวได้กลับคำให้การกลางคัน และพรรคไทยรักไทยที่เป็นผู้ต้องหาในคดีกลับฟ้องร้องต่อ กกต. ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวหาว่ามีการจ้างพรรคเล็กให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทย และมีพฤติกรรมที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงมีการนำคดีขึ้นสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมาภายหลังการ รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดย คปค. ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายตุลาการคือ ประธานศาลฎีกา และประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นต้น รับโอนอรรถคดีจากศาลรัฐธรรมนูญมาดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ และมีมติให้ยุบ พรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กที่ถูกฟ้องร่วมในคดี และวินิจฉัยให้ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กทั้งหมด เป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นที่ประจักษ์ว่ากรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งจริง และขณะเดียวกันไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กให้ใส่ร้ายพรรคไทยรักไทยหรือมีพฤติกรรมล้มล้างการปกครองตามฟ้องแต่อย่างใด

[แก้] หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พรรคประชาธิปัตย์ถูกงดกิจกรรมทางการเมืองชั่วคราว กระทั่งมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ร่วมกับพรรคการเมืองอื่น ๆ คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคมัชฌิมาธิปไตย และ พรรคประชาราช

โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคฝ่ายค้านพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ได้ประกาศจัดตั้ง "รัฐบาลเงา" หรือ "ครม.เงา" เพื่อตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลและนำเสนอแนวทางการบริหารประเทศควบคู่ไปกับการบริหารงานของรัฐบาล ตามรูปแบบ "คณะรัฐมนตรีเงา" ใน "ระบบเวสมินสเตอร์" ของอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551[9] โดยมีเว็บไซต์ www.shadowdp.com ในการเผยแพร่การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.เงา

ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้อันดับ 2 รวม 165 ที่นั่ง รองจากพลังประชาชนได้คะแนนอันดับ 1 ที่ได้ 232 ที่นั่ง ชาติไทยตามมาอันดับ 3 ที่37 ที่นั่ง เพื่อแผ่นดิน 25 ที่นั่ง รวมใจไทยชาติพัฒนา 9 ที่นั่ง มัชฌิมาธิปไตย7 ที่นั่ง ประชาราช 5 ที่นั่ง โดยพรรคประชาธิปัตย์แบ่งตามภาคได้ดังนี้

เขตพื้นที่ จำนวนที่นั่ง ได้
กรุงเทพมหานคร 36 27
กลาง 98 35
ตะวันออกเฉียงเหนือ 135 5
ใต้ 56 49
เหนือ 75 16
สัดส่วน 80 33
รวม 480 165

[แก้] ผลงานของพรรคประชาธิปัตย์

[แก้] บุคลากร

[แก้] หัวหน้าพรรค

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน รับพวงมาลัยดอกดาวเรืองจากกลุ่มผู้สนับสนุน ในวันรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งวันแรก ในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2550 ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง

[แก้] เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

[แก้] คณะกรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคใหม่ตามข้อบังคับพรรค โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานในการประชุม ซึ่งการเลือกครั้งนี้ได้ลดจำนวนคณะกรรมการบริหารจากเดิม 49 คน เหลือเพียง 19 คน โดยการเลือกตั้งได้เปิดโอกาสให้สมาชิกเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งต่าง ๆ และให้มีการลงคะแนนลับ เพื่อให้ได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งตามข้อบังคับพรรค ได้ผลการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคดังนี้

กรรมการสำรอง

[แก้] เกร็ดพรรคประชาธิปัตย์

รูปปั้น พระแม่ธรณีบีบมวยผม ที่บริเวณ ด้านหน้า อาคารควง อภัยวงศ์ ที่ทำการพรรค
นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรก หาเสียงที่สนามหลวง กำลังปรึกษากับลูกพรรค บนหลังคารถโกดัง ซึ่งสมัยนั้นใช้หลังคารถเป็นที่หาเสียงปราศรัย
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ปราศรัยกับประชาชนที่สนามหลวง
การปราศรัยหาเสียงครั้งใหญ่ของพรรคในการเลือกตั้ง ปี พ.ศ. 2550 ที่อุทยานเบญจสิริ เขตคลองเตย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2550
  • แท้ที่จริงแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 แต่ก่อตั้งจริงในวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2489[10] โดยการประชุมรวมตัวกันของนักการเมืองกลุ่มหนึ่งที่บริษัทของนายควง อภัยวงศ์ ที่ย่านเยาวราช แต่ปัจจุบันทางพรรคถือเอาวันที่ 6 เมษายน เป็นวันก่อตั้งพรรค เพื่อให้ตรงกับวันจักรี อันเป็นวันมงคลของไทย
  • จุดประสงค์ของการก่อตั้งพรรคคือ การเป็นฝ่ายค้านคานอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่หลายฝ่ายในขณะนั้นมองว่าจะส่อเค้าเป็นเผด็จการ[10]
  • ผู้บัญญัติชื่อ "ประชาธิปัตย์" คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่สอง โดยมีความหมายว่า "ผู้บำเพ็ญประชาธิปไตย" หรือ "ประชาชนผู้ถืออำนาจอธิปไตย" และมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Democrat Party โดยหมายจะให้เป็นพรรคของคนจน เช่นเดียวกับพรรคเดโมแครตของสหรัฐอเมริกา
  • หัวหน้าพรรคคนแรกคือ นายควง อภัยวงศ์ รองหัวหน้าพรรคคนแรกคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เลขาธิการพรรคคนแรกคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
  • สัญลักษณ์ของพรรคเป็นรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม มีฟ่อนข้าวประดับอยู่เป็นขอบ โดยมีความหมายว่า พระแม่ธรณีบีบมวยผม หมายถึง การเอาชนะมารหรือความชั่วร้ายต่าง ๆ ฟ่อนข้าว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์
  • สัญลักษณ์แม่พระธรณีบีบมวยผม มีที่มาจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดปราศรัยที่สนามหลวงแล้วฝนเกิดตกลงมา แต่ผู้ที่มาฟังไม่มีใครวิ่งหลบเลย ยังคงนั่งฟังกันต่อ จึงมีผู้ปรารภขึ้นมาว่า น่าจะใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ ต่อมานายควงได้จัดรถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคเหนือ ที่ข้างรถตู้คันหนึ่งมีสัญลักษณ์รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมติดอยู่ จึงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์พรรค
  • คำขวัญของพรรคคือ สจฺจํเว อมตา วาจา เป็นพุทธภาษิต แปลว่า "คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย"
  • สีประจำพรรค คือ สีฟ้า มีความหมายถึง อุดมการณ์อันบริสุทธิ์
  • พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองจดทะเบียนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยที่ยังดำเนินการอยู่ ส่วนพรรคการเมืองจดทะเบียนพรรคแรกในประเทศไทยคือ พรรคก้าวหน้า ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2488[11]ก่อนหน้าพรรคประชาธิปัตย์แค่ปีเดียว และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้ยุบพรรคก้าวหน้าเข้ารวมกับพรรคประชาธิปัตย์ในปีถัดมา
  • จนถึงปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นเพียงพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงดำเนินการในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ในทวีปเอเชีย รองจากพรรคก๊กมินตั๋งในจีนและไต้หวันเท่านั้น
  • หลังจากการก่อตั้งพรรคแล้ว ประชาธิปัตย์ก็ลงเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และได้รับเสียงข้างมากในกรุงเทพ ฯ ทันที และครองจำนวนที่นั่งในกรุงเทพ ฯ ไว้ได้มากที่สุดจนถึงปี พ.ศ. 2522 ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์ยังเป็นพรรคแรกที่หาเสียงด้วยวิธีการปราศรัยด้วย
  • ในสถานการณ์การเมืองในช่วงปี พ.ศ. 2489 ที่ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยาวนานถึง 7 วัน 7 คืนติดต่อกัน รวมถึงการหาเสียงในเดือนสิงหาคมด้วย ในระหว่างนี้ประชาธิปัตย์ถูกเพ่งเล็งจากรัฐบาลโดยกล่าวหาว่าเป็นกบฏ มี ส.ส. ถูกติดตามและถูกลอบยิง และในการหาเสียงก็ถูกปาระเบิดด้วย[10]
  • ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ แรก ๆ ยังไม่มีหลักแหล่งแน่นอน ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ในปัจจุบันที่ถนนเศรษฐศิริ เขตพญาไท เป็นที่ดินของนายเล็ก นานา เลขาธิการพรรคในยุคนั้น ได้อุทิศให้ในสมัยนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรคคนที่ 4
  • ในปี พ.ศ. 2518 ได้มีสมาชิกพรรคกลุ่มหนึ่ง พยายามชิงจดทะเบียนชื่อพรรคประชาธิปัตย์ตัดหน้ากลุ่มของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่รวบรวมเสียงได้น้อยกว่า จึงทำการไม่สำเร็จ[10] เนื่องจากในปีนั้น เพิ่งมีกฎหมายจดทะเบียนพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการออกมาเป็นครั้งแรก โดยที่ก่อนหน้านั้น สถานภาพพรรคการเมืองในประเทศไทยยังไม่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ เพียงแต่กฎหมายให้การรับรองไว้เท่านั้น
  • ปี พ.ศ. 2531 มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่มาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คือ นางสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
  • ในปี พ.ศ. 2533 พรรคประชาธิปัตย์ได้ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้เกิดสภาพเผด็จการรัฐสภา อันเนื่องจากเสียงของ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าฝ่ายค้านหลายเท่า
  • พรรคประชาธิปัตย์ทำการคว่ำบาตรการเลือกตั้งมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. 2495 สมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และในปี พ.ศ. 2549 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
  • ในปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เป็นที่รับรู้กันว่าฐานเสียงที่เข้มแข็งที่สุดอยู่ที่ภาคใต้ แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2522 พรรคประชาธิปัตย์ได้สูญเสียที่นั่งหลายพื้นที่ในภาคใต้ให้แก่พรรคกิจสังคมมาแล้ว
  • สถิติ ส.ส. สูงสุดที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มากที่สุดคือ 165 คน (ได้ใบเหลือง 1 คน จึงเหลือ 164) จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 และน้อยที่สุดคือ 5 คน จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500
  • ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 พรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยสามารถกวาดที่นั่งในพื้นที่ภาคใต้มาเกือบทั้งหมด โดยได้ถึง 52 ที่นั่ง จาก 54 ที่นั่ง
  • ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 ในช่วงวิกฤติการการเมืองในประเทศไทย ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการคว่ำบาตรการเลือกตั้งร่วมกับพรรคอื่น ๆ พื้นที่ภาคใต้เป็นเพียงพื้นที่เดียวในประเทศ ที่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่หลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากคะแนนเสียงของผู้สมัครไม่ผ่านเกณฑ์ 20% อันเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 กำหนดถ้ามีผู้สมัครเพียงรายเดียว
  • ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา คือ 165 คน (ถูกตัดสิทธิ์ไป 1 จึงเหลือ 164) ทั้งนี้ในภาคตะวันออก ได้สร้างประวัติการณ์สามารถกวาดที่นั่งมาเกือบหมดยกภาค เว้นจังหวัดฉะเชิงเทราเท่านั้น และภาคอีสานที่รับรู้กันว่าความนิยมในพรรคประชาธิปัตย์ไม่สู้ดีนัก แต่ก็ได้ ส.ส.มาถึง 5 คน เพิ่มจากการเลือกตั้งครั้งก่อน (6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548) ถึง 3 คน ตรงตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้
  • ในปี พ.ศ. 2551 พรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่วงการการเมืองไทย ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลเงา เพื่อติดตามและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจริงชุดนายสมัคร สุนทรเวช นับเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่มีการตรวจสอบด้วยวิธีการเช่นนี้

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ประวัติพรรคประชาธิปัตย์
  2. ^ 2,865,706 คน อ้าง ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ ณ 11 มกราคม พ.ศ. 2553
  3. ^ วาระประชาชน : การพัฒนาคน
  4. ^ วาระประชาชน : กอบกู้เศรษฐกิจ
  5. ^ วาระประชาชน : ใต้สันติ
  6. ^ วาระประชาชน : ฟื้นฟูประชาธิปไตย
  7. ^ พรรคประชาธิปัตย์เคยส่ง ดร.พิจิตต รัตตกุล ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2535 ได้คะแนนเป็นอันดับ 2 ไม่ได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ; ดร.พิจิตตได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ ในการลงสมัครครั้งถัดมาปี 2539 ในนาม "กลุ่มมดงาน" โดยไม่สังกัดพรรคการเมือง
  8. ^ amp;id_main=60&p=0&ca=62&mt=175.92.185.153.216.238.33.205& amp;st=172.102.168.190.167.250.47.206 'ปชป.' แถลงรายชื่อ 'ครม.เงา' ย้ำ เพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของประชาชน. พรรคประชาธิปัตย์ (8 ก.พ. 2551). สืบค้นวันที่ 10 ก.พ. 2551"
  9. ^ 'ปชป.' แถลงรายชื่อ 'ครม.เงา' ย้ำ เพื่อติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ของประชาชน. พรรคประชาธิปัตย์ (8 ก.พ. 2551). สืบค้นวันที่ 10 ก.พ. 2551
  10. ^ 10.0 10.1 10.2 10.3 หนังสือชีวลิขิต โดย หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
  11. ^ ประวัติพรรคการเมืองไทย

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′58″N 100°32′01″E / 13.78283°N 100.533475°E / 13.78283; 100.533475