ซูสีไทเฮา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Cixi.JPG
ซูสีไทเฮา
พระปรมาภิไธย สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงฉือสี่ตวนโย้วคังอี๋จาวยู้จวงเฉิงโช้วกงชิงเสี้ยนฉงซีเป่ย์เทียนซิงเชิงเสี่ยน
พระอิสริยยศ สมเด็จพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวง
ราชวงศ์ ชิง
ครองราชย์ กันยายน พ.ศ. 239322 สิงหาคม พ.ศ. 2403 ในฐานะพระมเหสี
22 สิงหาคม พ.ศ. 240315 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 ในฐานะพระจักรพรรดินี พระพันปีหลวง
ระยะครองราชย์ 48 ปี
รัชกาลก่อนหน้า สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง
รัชกาลถัดไป สมเด็จพระจักรพรรดิผู่อี๋

สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงเสี่ยน (จีน: 孝欽顯; พินอิน: Xiào Qing Xiǎn) หรือ สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวง (จีน: 慈禧太后; พินอิน: Cíxǐ Tàihòu; เวด-ไจลส์: Tz'u-Hsi T'ai-hou, ฉือสี่ไท่โฮ่ว; อังกฤษ: Empress Dowager Cixi) หรือที่รู้จักกันในประเทศไทยว่า "ฉือสี่ไท่โฮ่ว" หรือตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "ซูสีไทเฮา" (ประสูติ: 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2377-ทิวงคต: 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450) ทรงเป็นราชนิกุลชาวแมนจูในประวัติศาสตร์จีนสมัยราชวงศ์ชิง โดยเป็นพระราชวงศ์ผู้ปกครองประเทศจีนโดยพฤตินัยถึงสี่สิบแปดปี และเมื่อเสด็จทิวงคตแล้วไม่นาน ราชวงศ์แมนจูและระบอบราชาธิปไตยในจีนก็ถึงกาลสิ้นสุดลง

เรื่องราวของฉือสี่ไท่โฮ่วเกิดขึ้นในช่วงกลางรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ของไทย

เนื้อหา

[แก้] พระชนมชีพในช่วงต้น

พระฉายาสาทิสลักษณ์ของฉือสี่ไท่โฮ่วครั้งที่ดำรงตำแหน่งพระมเหสีชั้น 2

ข้อมูลเกี่ยวกับพระชาติพงศ์และขณะทรงพระเยาว์ของฉือสี่ไท่โฮ่ว ถึงแม้จะมีอยู่มากมายแต่ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัด กับทั้งส่วนใหญ่เป็นแต่มุขปาฐะและปรัมปรา หาข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานยืนยันได้น้อยมาก อย่างไรก็ดี ในหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติส่วนใหญ่มักอ้างว่า ทรงเป็นธิดาในข้าราชการแมนจูระดับล่างชื่อ "หุ้ยเจิง" (จีน: 惠征; พินอิน: Huì Zhēng) กับภรรยาเอก ทั้งนี้ สกุลของพระชนกว่า "เย่เฮ่อน่าลา" (จีนตัวเต็ม: 葉赫那拉; จีนตัวย่อ: 叶赫那拉; พินอิน: Yèhè Nàlā) ของพระชนนีว่า "ฟู่ฉา" (จีน: 富察; พินอิน: Fùchá) นายเอ็ดเวิร์ด แบร์ (อังกฤษ: Edward Behr) นักประวัติศาสตร์จีน สันนิษฐานว่า ฉือสี่ไท่โฮ่วมีพระประสูติกาลใน ค.ศ. 1835 (พ.ศ. 2377) โดยมีพระนามแต่แรกเกิดว่า "หลันเอ๋อร์" (จีนตัวเต็ม: 蘭兒; จีนตัวย่อ: 兰儿; พินอิน: Lán'ér นางกล้วยไม้น้อย) โดยสันนิษฐานจากการที่ผู้สืบสันดานจากพระเชษฐาของฉือสี่ไท่โฮ่ว คือ "เกินเจิง" (พินอิน: Genzheng) มีชื่อแต่เด็กว่า "ซิงเอ๋อร์" (พินอิน: Xing’er) และพระนามที่ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงใช้เมื่อทรงเข้ารับการศึกษาขณะทรงพระเยาว์มีว่า "ซิ่งเจิน" (จีน: 杏贞; พินอิน: Xìngzhēn)[1]

บรรดามุขปาฐะที่แพร่หลายมากที่สุดว่า ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเป็นชาวแคว้นแยงซีก็มี, ว่าทรงเป็นชาวเมืองชางจื่อ (พินอิน: Changzhi) ก็มี, ว่าทรงเป็นชาวมณฑลชานซีก็มี (ฉบับนี้ว่าครอบครัวของฉือสี่ไท่โฮ่วเป็นชาวฮั่นที่เข้ารีตเป็นแมนจูด้วย), ว่าทรงเป็นชาวเมืองฮูฮอตก็มี, ว่าทรงเป็นชาวมองโกเลียในก็มี[ต้องการอ้างอิง] และว่าทรงเป็นชาวกรุงปักกิ่งก็มี ทั้งนี้ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าทรงใช้ชีวิตขณะทรงพระเยาว์ที่มณฑลอันฮุย และย้ายรกรากไปกรุงปักกิ่งในระหว่างที่มีพระชนมายุได้สิบสามถึงสิบห้าพรรษาโดยประมาณ[ต้องการอ้างอิง]

หุ้ยเจิงนั้นรับราชการเป็นนายทหารประจำกองธงสีฟ้ารักษาชายแดน ณ มณฑลชานซี กองธงสีฟ้าเป็นกองธงหนึ่งในจำนวนแปดกองธงซึ่งมีอำนาจหน้าที่ด้านการทหาร และต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการมณฑลอันฮุย แต่ถูกปลดจากราชการใน ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2395) หลังจากที่ฉือสี่ไท่โฮ่วได้ถวายตัวแก่ราชสำนักสองปี เนื่องจากหุ้ยเจิงเพิกเฉยหน้าที่ในการปราบกบฎไทเป ณ มณฑลอันฮุย และหนังสือบางเล่มกล่าวว่าในการนี้ หุ้ยเจิงต้องโทษประหารชีวิตและถูกตัดศีรษะด้วย[2]

เดือนกันยายน ค.ศ. 1851 (พ.ศ. 2393) ฉือสี่ไท่โฮ่วพร้อมด้วยเด็กสาวชาวแมนจูอีกหกสิบรายได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นพระสนมของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง ฉือสี่ไท่โฮ่วเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่คนจากจำนวนหกสิบรายนั้นที่ได้รับพระราชทานยศศักดิ์เป็นพระสนมจริง ๆ โดยได้รับตำแหน่ง "ซิ่วหฺนวี่" (จีน: 秀女; พินอิน: Xiùnǚ) ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า "ท้าวศรีสวัสดิลักษณ์"[ต้องการอ้างอิง] และตำแหน่ง "พระมเหสีชั้น 5" ตามลำดับ ครั้นวันที่ 27 เมษายน ปีถัดมา ก็ประทานพระประสูติกาลพระโอรสพระนามว่า "ไจ้ฉุน" (พินอิน: Zaichun) พระโอรสนี้เป็นพระรัชทายาทเพียงหนึ่งเดียวของสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงและต่อมาเสวยราชย์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ รัชกาลถัดมา ครั้งนั้น โปรดให้เลื่อนตำแหน่งฉือสี่ไท่โฮ่วขึ้นเป็น "พระมเหสีชั้น 4"[3] และเมื่อเจ้าฟ้าไจ้ฉุนมีพระชนม์หนึ่งพรรษา ก็โปรดพระราชทานชื่อใหม่ให้แก่ฉือสี่ไท่โฮ่วให้ใช้เป็นชื่อตัวว่า "อี้" (จีน: ; พินอิน: Yì, "ประเสริฐเลิศล้น") กับทั้งให้เลื่อนตำแหน่งฉือสี่ไท่โฮ่วขึ้นเป็น "พระมเหสีชั้น 2" ซึ่งรองจากพระมเหสีชั้น 1 คือ สมเด็จพระอัครมเหสีเจิน (จีน: 贞皇后; พินอิน: Zhēnhuánghòu, เจินหวงโฮ่ว) ผู้ซึ่งต่อมาคือฉืออันไท่โฮ่ว

[แก้] การทิวงคตของจักรพรรดิเสียนเฟิง

เจมส์ บรูซ [20 กรกฎาคม ค.ศ. 1811 (พ.ศ. 2353)— 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2405)] เอิร์ลแห่งเอลกิน ผู้สำเร็จราชการมณฑลแคนาดา และผู้สำเร็จราชการอินเดียในสมัยนั้น

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2402) กองทหารผสมของสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส โดยการบังคับบัญชาของเอิร์ลเจมส์ บรูซ (อังกฤษ: James Bruce) เข้าโจมตีกรุงปักกิ่งโดยมีสาเหตุเนื่องมาจากสงครามฝิ่น และในเดือนถัดมากองผสมก็สามารถยึดกรุงได้และเผาทำลายหมู่พระราชวังฤดูร้อนจนย่อยยับ ทั้งนี้ เพื่อตอบโต้จีนที่ได้สั่งให้จับกุม คุมขัง และทรมานชาวต่างชาติทั้งปวงในจักรวรรดิ นักโทษคนสำคัญคือ แฮร์รี พากส์ (อังกฤษ: Harry Parkes) ราชทูตอังกฤษ ระหว่างนั้น สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงได้เสด็จลี้ภัยพร้อมด้วยข้าราชการบริพารทั้งมวลจากกรุงปักกิ่งไปประทับยังพระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ (จีน: 承德; พินอิน: Chéngdé) มณฑลเหอเป่ย์[4] ฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิเมื่อทรงรับทราบว่าหมู่พระราชวังอันวิจิตรและเป็นที่ทรงรักยิ่งพินาศลงสิ้น ก็ประชวรพระโรคสมองเสื่อม (อังกฤษ: dementia) และภาวะซึมเศร้า มีรับสั่งให้ถวายน้ำจันทน์และพระโอสถฝิ่นมิได้ขาดสาย ยังผลให้พระพลานามัยเสื่อมทรามลงตามลำดับ[5]

วันที่ 22 สิงหาคม ปีถัดมา สมเด็จพระจักรพรรดิก็ทิวงคต ณ พระราชวังที่เมืองเฉิงเต๋อ ทั้งนี้ ก่อนจะทิวงคตได้ทรงเรียกประชุมรัฐมนตรีสำคัญจำนวนแปดคน และมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีซู่ซุ่น (จีน: 肃顺; พินอิน: Sùshùn) เป็นประธาน ไจ่หยวน (จีน: 載垣; พินอิน: Zǎiyuán) และตวนหวา (จีน: 端華; พินอิน: Duānhuá) เป็นรองประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการและสนับสนุนสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ให้ขึ้นทรงราชย์โดยเรียบร้อย เนื่องจากขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าไจ้ฉุน พระรัชทายาท มีพระชันษาเพียงห้าชันษาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังโปรดให้สมเด็จพระอัครมเหสีเจินและพระมเหสีชั้น 2 หรือฉือสี่ไท่โฮ่ว เฝ้าถึงพระบรรจถรณ์ และพระราชทานตราประทับให้ทั้งสองเพื่อให้ร่วมมือกันอภิบาลดูแลให้สมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์น้อยทรงเจริญพระชันษาขึ้นอย่างทรงมีพระวัยวุฒิและคุณวุฒิ นอกจากนี้ ยังเพื่อเป็นการให้พระมเหสีทั้งสองคอยตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย[6]

ภายหลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิงทิวงคตแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระนามาภิไธยสมเด็จพระจักรพรรดิได้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยของพระชายาทั้งสอง โดยสมเด็จพระอัครมเหสีเจินในพระชนมายุยี่สิบห้าพรรษาเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดินีฉืออัน พระพันปีหลวง" หรือ "ฉืออันไท่โฮ่ว" หรือที่รู้จักกันในไทยตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "ซูอันไทเฮา" (จีน: 慈安皇太后; พินอิน: Cí’ān Tàihòu, ฉืออันไท่โฮ่ว; อังกฤษ: Empress Dowager Ci An) และฉือสี่ไท่โฮ่วในตำแหน่งพระมเหสีชั้น 2 พระชันษายี่สิบเจ็ดชันษา เป็น "สมเด็จพระจักรพรรดินีฉือสี่ พระพันปีหลวง" หรือที่รู้จักกันในไทยตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "ซูสีไทเฮา" (จีน: 慈禧太后; พินอิน: Cíxǐ Tàihòu; ฉือสี่ไท่โฮ่ว; อังกฤษ: Empress Dowager Ci Xi) ทั้งนี้ คำว่า "ฉืออัน" หมายความว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและความสงบ" ส่วน "ฉือสี่" ว่า "ผู้พร้อมไปด้วยมาตุคุณและโชค" นอกจากนี้ ในประเทศจีนยังนิยมเรียกพระพันปีหลวงทั้งสอง โดยฉืออันไท่โฮ่วว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฟากตะวันออก" เนื่องจากมักประทับพระราชวังจงฉุยฟากตะวันออก (อังกฤษ: Eastern Zhong-cui Palace) และฉือสี่ไท่โฮ่วว่า "สมเด็จพระพันปีหลวงฟากตะวันตก" เนื่องจากมักประทับพระราชวังฉือซิ่วฟากตะวันตก (อังกฤษ: Western Chuxiu Palace)

[แก้] รัฐประหารซินโหย่ว

ฉืออันไท่โฮ่ว [ค.ศ. 1765 (พ.ศ. 2307)— 8 เมษายน ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2423)]

เหตุการณ์ในเมืองเฉิงเต๋อ ขณะที่คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กำลังเตรียมการเคลื่อนย้ายพระศพกลับกรุงปักกิ่งนั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วก็ได้เตรียมการยึดอำนาจเช่นกัน ตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินีฯ พระพันปีหลวงนั้นย่อมไม่สะดวกและไม่ชอบด้วยกฎหมายที่จะใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดิน กับทั้งสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ก็ทรงเล็กนัก ไม่อาจใช้เป็นกลไกในการยึดอำนาจบริหารราชการแผ่นดินได้ ดังนั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงเสด็จไปเกลี้ยกล่อมฉืออันไท่โฮ่วให้ทรงพระดำริถึงประโยชน์ที่ทั้งสองพระองค์จะได้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกัน ซึ่งฉืออันไท่โฮ่วก็ทรงเห็นดีด้วย[7]

ในระยะนี้ ความตึงเครียดระหว่างคณะผู้สำเร็จราชแทนพระองค์กับพระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์ทวีขึ้นเรื่อย ๆ คณะผู้สำเร็จราชการฯ ไม่ชอบใจในการก้าวก่ายทางการเมืองของฉือสี่ไท่โฮ่ว การเผชิญหน้าซึ่งกันบ่อยครั้งขึ้นเป็นเหตุให้ฉือสี่ไท่โฮ่วมีพระราชอารมณ์ขึ้งขุ่นในคณะผู้สำเร็จราชการฯ มากขึ้น ครั้งหนึ่งถึงกับไม่ทรงเสด็จออกขุนนางโดยทรงปล่อยให้ฉืออันไท่โฮ่วเสด็จออกเพียงพระองค์เดียว เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงรวบรวบไพร่พลเป็นการลับ ซึ่งประกอบด้วยบรรดารัฐมนตรีและข้าราชการพลเรือนที่มากความสามารถ ข้าราชการทหารหลายฝ่าย และบรรดาผู้ไม่พอใจในคณะผู้สำเร็จราชการฯ[ต้องการอ้างอิง] เป็นต้นว่า เจ้าชายกง (จีน: 恭亲王; พินอิน: Gōng Qīnwáng) ผู้ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่หกในสมเด็จพระจักรพรรดิเต้ากวง มีพระสันดานทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวด และทรงถูกคณะผู้สำเร็จราชการฯ กีดกันจากอำนาจบริหาราชการแผ่นดิน[ต้องการอ้างอิง] และ เจ้าชายฉุน (จีน: 醇贤亲王; พินอิน: Chún Xián Qīn Wáng) พระอนุชาของเจ้าชายกง

ในระหว่างที่ฝ่ายฉือสี่ไท่โฮ่วกำลังเตรียมการรัฐประหารกันนี้ ได้มีฎีกามาจากมณฑลชานตงทูลเกล้าฯ ถวายฉือสี่ไท่โฮ่วขอพระราชทานให้ทรงว่าราชการหลังม่าน ฎีกาฉบับเดียวกันยังขอให้เจ้าชายกงทรงเข้าร่วมบริหารราชการแผ่นดินเฉกเช่นผู้อภิบาลสมเด็จพระจักรพรรดิด้วย[ต้องการอ้างอิง]

เป็นประเพณีที่สมเด็จพระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์จะต้องเสด็จนิวัตกรุงปักกิ่งพร้อมข้าราชบริพารก่อนขบวนพระศพ เพื่อไปทรงอำนวยการเตรียมพระราชพิธีต่าง ๆ ในกรุง และในการเสด็จนิวัตนี้ ไจ่หยวนและตวนหวา ผู้สำเร็จราชการฯ ได้โดยเสด็จด้วย ส่วนซู่ซุ่นและผู้สำเร็จราชการฯ ที่เหลือจะได้กำกับขบวนอัญเชิญพระศพกลับไปทีหลัง ซึ่งเป็นผลดีต่อฉือสี่ไท่โฮ่วเพราะจะได้ทรงใช้เวลาที่เหลือเตรียมการให้รัดกุมยิ่งขึ้น กับทั้งจะได้เป็นที่วางพระราชหฤทัยว่าผู้สำเร็จราชการฯ จะไม่อาจคิดการใด ๆ ได้ตลอดรอดฝั่งเพราะไม่ได้อยู่ด้วยกันครบจำนวน

เมื่อขบวนอัญเชิญพระศพถึงกรุง ผู้สำเร็จราชการฯ ทั้งแปดคนก็ถูกจับกุมโดยพลัน ฉือสี่ไท่โฮ่วโดยการสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าชายกง ออกประกาศว่าด้วยความผิดของบุคคลดังกล่าวแปดข้อหา เป็นต้นว่า คบคิดกับชาวต่างชาติให้เข้าปล้นเมืองจนเป็นเหตุให้สมเด็จพระจักรพรรดิในพระโกศต้องเสด็จลี้ภัย เปลี่ยนแปลงพระราชประสงค์จนส่งผลให้ทิวงคต และลักลอบใช้อำนาจในพระนามาภิไธยของสมเด็จพระพันปีหลวงทั้งสองโดยไม่ชอบ[8] จากนั้นได้มีพระราชเสาวนีย์โปรดให้พ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ทั้งคณะ และพระราชทานโทษประหารชีวิตแก่ซู่ซุ่น ส่วนผู้สำเร็จราชการฯ คนที่เหลือ พระราชทานแพรขาวให้กระทำอัตวินิบาตกรรม ทั้งนี้ ฉือสี่ไท่โฮ่วไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้ประหารชีวิตสมาชิกในครอบครัวของผู้สำเร็จราชการฯ ตามประเพณี "ฆ่าล้างโคตร" ของราชสำนักชิงที่มักกระทำแก่ผู้เป็นกบฏ

ฉือสี่ไท่โฮ่วได้ประกาศสถาปนาพระองค์เองและฉืออันไท่โฮ่วขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยออกว่าราชการอยู่หลังม่าน ซึ่งเป็นการขัดจารีตประเพณีของราชวงศ์ชิงที่ห้ามไม่ให้ราชนารีข้องเกี่ยวกับการเมือง ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงเป็นราชนารีพระองค์แรกและพระองค์เดียวในราชวงศ์ชิงที่ออก "ว่าราชการอยู่หลังม่าน" (จีน: 垂簾聽政; พินอิน: chuí lián tīng zhèng, ฉุยเหลียนทิงเจิ้ง)[ต้องการอ้างอิง]

การรัฐประหารของฉือสี่ไท่โฮ่วครั้งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "รัฐประหารซินโหย่ว" (จีน: 辛酉政變; พินอิน: Xīnyǒuzhèngbiàn, ซินโหย่วเจิ้งเปี้ยน) คำว่า "ซินโหย่ว" เป็นชื่อปีที่รัฐประหารนั้นเกิดขึ้น

[แก้] การว่าราชการหลังม่าน

[แก้] รัชศกใหม่

ชาวฮั่นที่ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงตั้งเป็น
ผู้ว่าราชการมณฑลภาคใต้
[ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2405)]
มณฑล ผู้ว่าราชการ
เจ้อเจียง จั่วจงถัง (จีน: 左宗棠; พินอิน: Zuǒzōngtáng)
เหอหนาน เจิ้งหยวนชั้น (จีน: 鄭元善; พินอิน: Zhèngyuánshàn)
อันฮุย หลี่ซู้อี๋ (จีน: 李續宜; พินอิน: Lǐxùyí)
เหอเป่ย์ หยานชู้เซิน (จีน: 嚴樹森; พินอิน: Yánshùsēn)
เจียงซี เชิ่นเป่าเจิน (จีน: 沈葆楨; พินอิน: Shěnbǎozhēn)
เจียงซู หลี่หงจัง (จีน: 李鴻章; พินอิน: Lǐhóngzhāng)
กวางซี หลิวฉางโย่ว (จีน: 劉長佑; พินอิน: Liúchángyòu)
หูหนาน เหมาหงปิน (จีน: 毛鴻賓; พินอิน: Máohóngbīn)

ไม่กี่วันหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารซินโหย่ว ฉือสี่ไท่โฮ่วได้มีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เจ้าชายกงทรงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอำนวยการและกระทรวงกลาโหม โดยให้ทรงได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปรกติ กับทั้งโปรดเกล้าฯ สถาปนาธิดาของเจ้าชายกงขึ้นเป็นเจ้าฟ้าหญิงตำแหน่ง "กู้หรุน" (พินอิน: Gurun) อันเป็นตำแหน่งที่สงวนไว้พระราชทานแก่พระราชธิดาพระองค์แรกของสมเด็จพระจักรพรรดินีเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] ถึงแม้เจ้าชายกงจะทรงได้รับตำแหน่งสูงและมากเพียงไร ฉือสี่ไท่โฮ่วก็ทรงพยายามเลี่ยงที่จะให้เจ้าชายกงมีพระอำนาจทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จ

ในการออกว่าราชการหลังม่านครั้งแรกของพระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์ซึ่งประทับคู่กัน ณ พระราชบัลลังก์หลังม่าน โดยมีสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ประทับพระราชอาสน์อยู่หน้าม่านนั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วในพระนามาภิไธยสมเด็จพระจักรพรรดิได้ตราพระราชกฤษฎีกาสำคัญสองฉบับ ฉบับแรกให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองทรงมีพระราชอำนาจในการตัดสินพระทัยเกี่ยวกับราชการบ้านเมืองได้โดยเบ็ดเสร็จ ผู้ใดจะแทรกแซงมิได้ และฉบับที่สองให้เปลี่ยนชื่อรัชกาลปัจจุบันจาก "ฉีเสียง" (จีน: 祺祥; พินอิน: Qíxiáng; "สมบูรณ์พูนสุข") เป็น "ถงจื่อ" (จีน: 同治; พินอิน: Tóngzhì) เนื่องจากฉือสี่ไท่โฮ่วทรงพอพระราชหฤทัยในความหมายของชื่อ "ถงจื่อ" ที่แปลว่า การปกครองแผ่นดินด้วยกันระหว่างฉือสี่ไท่โฮ่วและฉืออันไท่โฮ่ว มากกว่า[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] การกวาดล้างระบอบข้าราชการประจำ และกบฏไท่ผิงฯ

พลเอกเจิงกั๋วฝัน [21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1811 (พ.ศ. 2353)— 12 มีนาคม ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2474)]

ฉือสี่ไท่โฮ่วเถลิงอำนาจในยามที่การเมืองของประเทศยังไม่นิ่ง อันเป็นผลมาจากการที่ข้าราชการเอาแต่ฉ้อราษฎร์บังหลวง การแทรกแซงจากต่างชาติ และสงครามฝิ่นที่ยังไม่ระงับไปเสียทีเดียวเนื่องจากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว (จีน: 太平天国; พินอิน: Tàipíngtiānguó; "เมืองแมนแดนสันติ") ยังคงลุกลามครอบคลุมภาคใต้ของจีนอยู่ทั่วไปโดยยังคอยแบ่งแยกดินแดนทีละน้อย ๆ ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงจัดให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติราชการ โดยให้ข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นไปมีหน้าที่เฝ้าทูลละอองพระบาทครั้งละรายเพื่อทรงสอบด้วยพระองค์เอง ซึ่งฉือสี่ไท่โฮ่วก็ได้ทรง "เชือดไก่ให้ลิงดู" ด้วยการสั่งประหารชีวิตข้าราชการสองรายทันทีเมื่อทรงตรวจพบพฤติการณ์ทุจริต คือ ชิงอิ๋ง (พินอิน: Qingying) ผู้พยายามติดสินบนเพื่อตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น และ เหอกุ้ยชิง (พินอิน: He Guiqing) ผู้สำเร็จราชการมณฑลแยงซีที่เอาตัวรอดหนีไปยังอำเภอฉางโจวในขณะที่กบฏไท่ผิงฯ เข้าโจมตีมณฑลของตน[ต้องการอ้างอิง]

ปัญหาสำคัญอีกประหารหนึ่งที่ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเผชิญคือ ความเสื่อมลงของระบบราชการ เนื่องจากแต่ก่อนตำแหน่งหน้าที่ราชการมักสงวนไว้แก่ชาวแมนจูซึ่งเข้าปกครองประเทศจีนเท่านั้น ส่วนชาวฮั่นซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ถึงแม้จะมีความสามารถแต่ก็ไม่อาจรับราชการในตำแหน่งสูงได้ ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเล็งเห็นข้อนี้ และทรงพบว่ายังมีข้าราชการทหารชาวฮั่นนายหนึ่งชื่อว่า เจิงกั๋วฝัน (จีน: 曾国藩; พินอิน: Zēng Guófán) มีความสามารถทางการทหารเป็นล้นพ้น จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีภารกิจแรกคือการปราบปรามกบฏไท่ผิงฯ โดยเร็ว[ต้องการอ้างอิง] และอีกสองถึงสามปีถัดมา ฉือสี่ไท่โฮ่วยังได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งชาวฮั่นผู้มีความสามารถสูงเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดทางภาคใต้ทุกจังหวัด ซึ่งฝ่ายชาวแมนจูเองเห็นเป็นการลดทอนอำนาจตนลงไปถนัดตา

เจิงกั๋วฝันและกองทัพสามารถปราบปรามกบฏไท่ผิงฯ ได้อย่างราบคาบในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2406) ที่เมืองหนานจิง เจิงกั๋วฝันจึงได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานศักดินาระดับ "เจ้าพระยา" ของไทย ซึ่งในภาษาอังกฤษเขียนว่า "พลเอก" (อังกฤษ: General)[ต้องการอ้างอิง] กับทั้งวงศาคณาญาติของเจิงกั๋วฝันและข้าราชการทหารชาวฮั่นระดับนายพลที่ร่วมป้องกันประเทศครั้งนี้ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และยศถาบรรดาศักดิ์โดยถ้วนหน้า[ต้องการอ้างอิง]

เนื่องเพราะกบฏไท่ผิงฯ มีสาเหตุมาจากการเอาใจออกห่างรัฐบาล ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับภัยคุกคามภายในต่อพระราชอำนาจของพระองค์ โดยเฉพาะเจ้าชายกงซึ่งทรงมีคนจงรักภักดีเกือบครึ่งประเทศ ทำให้ต้องทรงเฝ้าระวังเจ้าชายกงเป็นพิเศษ[ต้องการอ้างอิง] และด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าเจ้าชายกงจะได้ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นที่น่าพอใจถึงขนาดที่ได้รับพระราชทานบำเหน็จตอบแทนและประโยชน์อื่นมากมาย แต่เมื่อขุนนางไช่เช่าฉี (พินอิน: Cai Shaoqi) ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอให้ทรงปลดเจ้าชายกงออกจากตำแหน่งทั้งปวงทางราชการเสีย ก็ทรงพระกรุณาให้รับเรื่องไว้พิจารณาทันที ฝ่ายเจ้าชายกงไม่ทรงเห็นว่าฎีกาดังกล่าวสลักสำคัญอย่างไร เพราะมีพระดำริว่าทรงมีพรรคพวกและผู้สนับสนุนพอสมควรแล้ว ครั้นเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 (พ.ศ. 2407) ฉือสี่ไท่โฮ่วประกาศความผิดของเจ้าชายกง ข้อหนึ่งในรายการอันยาวเหยียดนั้นว่า เพราะเจ้าชายกงทรงประพฤติไม่บังควรหน้าที่นั่งหลายครั้งหลายครา สุดที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองจะทรงอดกลั้นไว้ได้อีก แล้วจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เจ้าชายกงพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทั้งปวง แต่ให้ทรงดำรงพระยศเจ้าชายต่อไปได้[9]

การปลดเจ้าชายกงยังให้เกิดความสนเท่ห์ในหมู่ข้าราชการยิ่งนัก และโดยการนำของ เจ้าชายอี้ชง (จีน: 奕誴亲王; พินอิน: Yìcōng Qīnwáng) และ เจ้าชายฉุน (จีน: 醇亲王; พินอิน: Chún Qīnwáng) สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ที่ห้าและที่เจ็ดในสมเด็จพระจักรพรรดิเต้ากวง ได้มีการเข้าชื่อกันทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานให้ทรงคืนตำแหน่งหน้าที่แก่เจ้าชายกงดังเดิม ซึ่งฉือสี่ไท่โฮ่วได้ทรงคืนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคืนให้แก่เจ้าชายกงเพียงตำแหน่งเดียว และนับแต่นั้นมา เจ้าชายกงก็ไม่ได้ทรงมีบทบาททางการเมืองอีกเลย

[แก้] อิทธิพลจากต่างชาติ

หลี่หงจัง [15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2335)— 7 พฤศจิกายน ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2443)]
จั่วจงถัง (10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1792 (พ.ศ. 2444)—5 กันยายน ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2397)), วาดใน ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2417)

ฉือสี่ไท่โฮ่วเถลิงอำนาจในยามที่ยุทธนาการของจีนล้วนพ้นสมัย และที่สำคัญ จีนไม่คบค้าสมาคมกับมหาอำนาจทางตะวันตก เป็นเหตุให้ขาดการติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการอันจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ กับทั้งโดยที่ทรงเล็งเห็นว่า ไม่มีทางที่เศรษฐกิจอันมีการกสิกรรมเป็นหลักของจีนจะไปสู้เศรษฐกิจอันมีอุตสาหกรรมเป็นหลักของชาติตะวันตกได้ ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยให้ริเริ่มเรียนรู้และรับเอาวิทยาการตะวันตก นโยบายในการบริหารประเทศเช่นนี้มีขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของรัฐราชาธิปไตยจีน[ต้องการอ้างอิง] โดยได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ข้าราชการชาวฮั่นคนสำคัญอันได้แก่ เจิงกั๋วฝัน, หลี่หงจัง (จีน: 李鴻章; พินอิน: Lǐ Hóngzhāng) และ จั่วจงถัง (จีน: 左宗棠; พินอิน: Zuǒ Zōngtáng) ไปร่างและควบคุมโครงการด้านอุตสาหกรรมในภาคใต้ของประเทศ

เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ใน ค.ศ. 1863 (พ.ศ. 2405) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองคฺ์ทั้งสองจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้งวิทยาลัยถงเหวินกว่าน (จีน: 同文館; พินอิน: Tóng Wén Guǎn; "วิทยาลัยสหวิทยาการ") ขึ้นในกรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ภาษาตะวันตก และต่อมาได้ขยายครอบคลุมถึงการเรียนรู้วิทยาการและนวัตกรรมต่างประเทศด้วย[10]

วิทยาลัยถงเหวินกว่านเปิดสอนภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษารัสเซีย และภาษาญี่ปุ่น กับทั้งเคมี แพทยศาสตร์ กลศาสตร์ ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และกฎหมายนานาชาติ โดยรัฐบาลว่าจ้างผู้ชำนัญพิเศษชาวต่างชาติเป็นอาจารย์[11] กระนั้น ถงเหวินกว่านไม่ใช่วิทยาลัยแรกที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศในจีน เพราะก่อนหน้านี้ในสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเอ๋อหลัวซีกว่าน (จีน: 俄羅斯館; พินอิน: É Luó Sī Guǎn; "วิทยาลัยรัสเซีย") ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1708 (พ.ศ. 2250) เพื่อสอนวิชาการแปลและการเป็นล่ามภาษาเอเชียทั้งหลาย ซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาให้วิทยาลัยถงเหวินกว่างรับวิทยาลัยเอ๋อโหล๋วสีกว่านเข้าสมทบ [12] ปัจจุบัน วิทยาลัยถงเหวินกว่างสังกัดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง

อนึ่ง ในครั้งนั้นยังได้มีการจัดส่งชายหนุ่มจำนวนหนึ่งไปศึกษาเล่าเรียนในต่างประเทศอีกด้วย

อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลจีนดังกล่าวดำเนินไปได้ไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากด้านการทหารนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปใหม่ทั้งระบบ แต่ฉือสี่ไท่โฮ่วกลับทรงแก้ไขปัญหาด้วยการซื้อเรือรบเจ็ดลำจากสหราชอาณาจักร อันเรือรบนั้นเมื่อมาเทียบท่าจีนก็ได้บรรทุกกะลาสีชาวอังกฤษซึ่งอยู่ในบังคับของอังกฤษมาด้วยเต็มลำ ชาวจีนเห็นว่าการที่สหราชอาณาจักรทำดังกล่าวเป็นการยั่วโมโห เพราะเรือเป็นของจีนซึ่งถือตนว่าเป็นศูนย์กลางของโลก มีฐานะและเกียรติยศสูงส่ง แต่กลับเอาต่างชาติซึ่งจีนเห็นว่าเป็นอนารยชนทุกชาติไปนั้นมาใส่ จีนจึงให้สหราชอาณาจักรเอาเรือกลับคืนไปทุกลำ เรือนั้นเมื่อกลับไปแล้วก็นำไปประมูลต่อไป และการกระทำของรัฐบาลจีนครั้งนี้ก็เป็นที่ขบขันของชาติตะวันตกอยู่ระยะหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]

ส่วนด้านวิชาการนั้นก็ประสบอุปสรรค เนื่องจากพระราชอัธยาศัยและวิธีการคิดเก่า ๆ แบบอนุรักษนิยมของฉือสี่ไท่โฮ่วที่ทรงพระกังวลเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระองค์ว่าจะถูกลิดรอนไป[ต้องการอ้างอิง]

ในการก่อสร้างทางรถไฟหลวงนั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วไม่พระราชทานพระราชานุมัติ โดยทรงอ้างว่าเสียงอันดังของรถไฟอาจไปรบกวนบรรดาบูรพจักรพรรดิที่บรรทมอยู่ในฮวงซุ้ยหลวง กระทั่ง ค.ศ. 1877 (พ.ศ. 2419) ได้ทรงเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีรถไฟในจักรวรรดิตามคำกราบบังคมทูลของหลี่หงจัง จึงพระราชทานพระราชานุมัติให้จัดสร้างได้ แต่ต้องเป็นรถไฟแบบม้าลาก[13]

ฉือสี่ไท่โฮ่วยังทรงหวั่นเกรงแนวคิดเสรีนิยมของผู้ที่ไปเล่าเรียนต่างประเทศกลับมา เนื่องจากทรงเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวเป็นภัยรูปแบบใหม่ที่จะคุกคามพระราชอำนาจของพระองค์ ดังนั้น ใน ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2423) จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้เลิกจัดส่งเด็กหนุ่มไปเล่าเรียนยังต่างประเทศ และพระราชอัธยาศัยเปิดกว้างที่ทรงมีต่อต่างชาติก็ค่อย ๆ ตีบแคบลงนับแต่นั้น[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] การบรรลุนิติภาวะของจักรพรรดิถงจื้อ

สำหรับด้านการอภิบาลสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อนั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเข้มงวดกวดขันสมเด็จพระจักรพรรดิในทุก ๆ ด้านอย่างยิ่ง โดยด้านการศึกษา ทรงเลือกสรรและแต่งตั้งราชครูสำหรับสมเด็จพระจักรพรรดิด้วยพระองค์เอง ราชครูทูลเกล้าฯ ถวายการสอนวิชาวรรณกรรมคลาสสิก และให้ทรงศึกษาคัมภีร์โบราณ ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ทรงสนพระราชหฤทัยแม้แต่น้อย ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงเข้มงวดกับพระราชโอรสกว่าเดิมเพื่อให้ทรงใฝ่พระราชหฤทัยศึกษาเพื่อสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์เอง

ราชครูเวิงถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēng Tónghé) บันทึกไว้ว่า สมเด็จพระจักรพรรดิไม่ทรงสามารถอ่านหนังสือได้จบประโยคแม้จะมีพระชนมายุสิบหกพรรษาแล้วก็ตาม[ต้องการอ้างอิง] ทำให้ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงพระปริวิตกเกี่ยวกับความหย่อนพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างยิ่ง

[แก้] การเสกสมรส

สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ [27 เมษายน ค.ศ. 1856 (พ.ศ. 2398)—12 มกราคม ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2417)]

ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2414) เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อมีพระชนมายุได้สิบเจ็ดพรรษา พระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์ต่างมีพระราชประสงค์จะให้ได้ทรงเสกสมรสกับสตรีที่ตนคัดสรรเอาไว้แล้ว

ด้านฉืออันไท่โฮ่วนั้น ทรงหมายพระเนตรสตรีแมนจูผู้มากคุณสมบัตินางหนึ่งจากสกุล “อาหลูเท่อ” (พินอิน: Alute) นางอาหลูเท่อนั้นเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีการศึกษาสูง บิดาเป็นข้าราชการระดับสูงและมากความสามารถหลายด้านชื่อว่า ”ฉงฉี่” (จีน: 崇绮; พินอิน: Chóngqǐ) นางได้รับการอบร่มบ่มเพาะมาอย่างดี มีความสามารถมากเช่นเดียวกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัว ประวัติศาสตร์บันทึกว่านางมีความสามารถโดดเด่นทางด้านการประพันธ์ วรรณกรรม การดนตรี และศิลปะ และยังบันทึกอีกว่านางสามารถอ่านหนังสือสิบบรรทัดได้ในหนึ่งกระพริบตาเท่านั้น ด้านฉือสี่ไท่โฮ่วนั้น มีพระราชดำริจะให้สมเด็จพระจักรพรรดิได้เสกสมรสกับข้าหลวงในพระองค์นางหนึ่ง ทำให้พระพันปีหลวงทั้งสองทรงผิดพระราชหฤทัยกัน ฉือสี่ไท่โฮ่วซึ่งมีพระราชดำริว่าฉืออันไท่โฮ่วเป็นสตรีโง่เขลาแต่เมื่อนานมาแล้วก็ไม่พอพระราชหฤทัยฉืออันไท่โฮ่วยิ่งขึ้น ด้านฉืออันไท่โฮ่วนั้นก็ได้ตรัสบริภาษฉือสี่ไท่โฮ่วว่าควรมีจริยธรรมในการปกครองครอบครัวมากกว่านี้ เพราะสตรีที่ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงคัดเลือกไว้นั้นมีชาติตระกูลและคุณสมบัติต่ำกว่าสตรีที่ฉืออันไท่โฮ่วทรงเลือกไว้อย่างเห็นได้ชัด

ความขัดแย้งดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อมีพระราชวินิจฉัยเลือกนางอาหลูเท่อเป็นพระมเหสี โดยโปรดให้มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสขึ้นในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1872 (พ.ศ. 2414) และมีพระราชโองการให้สถาปนานางอาหลูเท่อขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี ทรงพระนามาภิไธยว่า "เจียชุ้น" (จีน: 嘉顺; พินอิน: Jiā Shùn) ส่วนสตรีที่ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเลือกสรรไว้นั้น โปรดรับเอาไว้เป็นพระชายา

เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2415) สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อมีพระชนมายุครบสิบแปดพรรษา ซึ่งถือว่าทรงบรรลุนิติภาวะและทรงสามารถบริหารพระราชภาระได้โดยพระองค์เองแล้ว อันหมายความว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งสองก็จะพ้นจากตำแหน่งโดยนิตินัย แต่โดยพฤตินัยแล้ว ฉือสี่ไท่โฮ่วยังทรงกำกับการบริหารราชการแผ่นดินอยู่เช่นเคย เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิทรงแต่พระสำราญกับสมเด็จพระจักรพรรดินีตลอดจนพระชายาองค์อื่น ๆ หาได้เอาใจใส่กิจการบ้านเมืองอย่างเต็มที่ไม่

ฉือสี่ไท่โฮ่วพระราชทานพระราโชวาทแก่สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อและสมเด็จพระจักรพรรดินีเจียชุ้นว่าทั้งสองพระองค์ยังทรงอ่อนพระชนมายุเกินไป สมควรกลับไปทรงศึกษาวิธีการบริหารบ้านเมืองให้บังเกิดประสิทธิผลให้ทรงเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน สมควรแล้วที่ฉือสี่ไท่โฮ่วจะได้ทรงยื่นพระหัตถ์เข้ามาช่วยกำกับราชการ ฉือสี่ไท่โฮ่วยังได้ทรงส่งขันทีในพระองค์ปลอมปนเข้าไปสอดแนมความเคลื่อนไหวของฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ทรงทราบว่า ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงนำพาพระราโชวาทดังกล่าว ก็มีพระราชเสาวนีย์เป็นเด็ดขาดให้สมเด็จพระจักรพรรดิเอาใจใส่พระราชภาระให้มากขึ้น ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิก็ได้แต่ทรงตกปากรับคำ

[แก้] การบริหารราชการของจักรพรรดิถงจื้อ

ระหว่างที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองใน ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2415)— ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2417) ได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการปฏิสังขรณ์พระราชวังหยวนหมิงหยวน (จีน: 圆明园; พินอิน: Yuán Míng Yuán; “พระราชวิสุทธอุทยาน”; อังกฤษ: Tactfully Pure Garden) ที่ถูกกองผสมนานาชาติเผาทำลายไปในสงครามฝิ่น โดยทรงปรารภว่าเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเป็นของขวัญแด่พระพันปีหลวงทั้งสองพระองค์ ทั้งนี้ พระราชวังหยวนหมิงหยวนตั้งอยู่ตอนเหนือของกรุงปักกิ่ง และได้รับการขนานนามจากนานาชาติว่าเป็น "ที่สุดแห่งสวน"[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า ความจริงแล้วสมเด็จพระจักรพรรดิมีพระราชประสงค์จะให้ฉือสี่ไท่โฮ่วเสด็จแปรพระราชฐานไปให้ไกลจากพระราชวังหลวง เพื่อที่จะได้ทรงบริหารพระราชภาระได้โดยไม่ต้องมีผู้ใดคอยควบคุมอีกต่อไป[ต้องการอ้างอิง]

อนึ่ง ในระยะดังกล่าว พระคลังมหาสมบัติร่อยหรอลงไปจนเหลือเพียงน้อยนิดเนื่องเพราะใช้จ่ายไปการสงครามกับต่างชาติและการปราบปรามอั้งยี่ซ่องโจรภายใน สมเด็จพระจักรพรรดิจึงมีพระกระแสรับสั่งให้คณะกรรมการบริหารพระคลังมหาสมบัติกระทำการใด ๆ ให้ได้มาสู่พระคลังซึ่งเงินและทรัพย์สิน กับทั้งรับสั่งให้พระบรมวงศ์ ข้าราชการชั้นสูง และผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งปวงช่วยกันบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่พระคลัง ในการนี้ ยังได้ทรงติดตามและตรวจสอบผลการดังกล่าวด้วยพระองค์เองด้วย

อย่างไรก็ดี สมเด็จพระจักรพรรดิไม่มีพระราชขันติเพียงพอต่อความคับข้องพระราชหฤทัยในอันที่ถูกสมเด็จพระราชชนนีบริภาษและบังคับเคี่ยวเข็ญ กับทั้งมีพระราชดำริว่าพระองค์ทรงโดดเดี่ยวเปลี่ยวพระราชหฤทัยเกินไป จึงทรงระบายพระราชอารมณ์บ่อย ๆ ด้วยการทรงโบยขันทีอย่างรุนแรงด้วยพระองค์เองสำหรับความผิดเล็กน้อย อันเป็นผลจากพระโทสะที่ร้ายกาจขึ้นเพราะความบกพร่องลงของพระขันติดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] นอกจากนี้ ด้วยความช่วยเหลือและชักชวนของบรรดาขันทีและเจ้าชายไจ้เชิง (พินอิน: Zaicheng) พระโอรสพระองค์แรกของเจ้าชายกงและพระสหายคนสนิทของสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อ จึงทรงสามารถเสด็จออกไปทรงพระสำราญนอกพระราชวังได้บ่อยครั้ง โดยทรงพระภูษาเช่นสามัญชนแล้วลอบเสด็จออกจากพระราชวังในยามเย็นเพื่อไปประทับอยู่ ณ โรงหญิงนครโสเภณีตลอดคืน[ต้องการอ้างอิง]

เนื่องเพราะ "ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิดก็ไม่มิด" พฤติกรรมทางเพศดังกล่าวของสมเด็จพระจักรพรรดิจึงเป็นที่โจษจันตลอดทั้งชาววังถึงชาวบ้านร้านตลาด และยังได้รับการบันทึกไว้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์จีนหลายฉบับด้วย[ต้องการอ้างอิง] ดังนั้น ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2416) บรรดาพระบรมวงศ์ตลอดจนข้าราชการและพนักงานของรัฐชั้นผู้ใหญ่ที่ต่างระอาในสมเด็จพระจักรพรรดิ จึงพากันเข้าชื่อกันทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำเพื่อให้ทรงนำพาราชการไปให้ตลอดรอดฝั่ง และขอพระราชทานให้ทรงงดการปฏิสังขรณ์พระราชวังหยวนหมิงหยวนเสีย ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ทรงสบพระราชอารมณ์อย่างยิ่ง มีพระราชโองการให้ปลดเจ้าชายกงซึ่งทรงร่วมเข้าพระนามด้วย ออกเสียจากฐานันดรศักดิ์ในพระราชวงศ์ กลายเป็นสามัญชน ไม่กี่วันถัดจากนั้นได้มีพระราชโองการให้ปลด เจ้าชายเตวิน (จีน: ; พินอิน: Dūn) , เจ้าชายฉุน, เจ้าชายอี้จวน (พินอิน: Yizuan) , เจ้าชายอี้ฮุย (พินอิน: Yihui) , เจ้าชายชิง (พินอิน: Qing) ตลอดจนข้าราชการและรัฐบุรุษคนอื่น ๆ ที่เข้าชื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาดังกล่าว เช่น พลเอกเจิงกั๋วฝัน, หลี่หงจัง, เหวินเสียง (จีน: 文祥; พินอิน: Wén Xiáng) ฯลฯ ออกจากจากฐานันดรศักดิ์ในพระราชวงศ์ บรรดาศักดิ์ และตำแหน่งหน้าที่ทางราชการทั้งสิ้น

ฉือสี่ไท่โฮ่วและฉืออันไท่โฮ่วทรงทราบความโกลาหลในพระราชสำนักแล้ว ก็เสด็จออก ณ ท้องพระโรงด้วยกันขณะที่สมเด็จพระจักพรรดิถงจื้อทรงออกขุนนาง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รัฐราชาธิปไตยจีน[ต้องการอ้างอิง] ทั้งสองพระองค์ตรัสบริภาษสมเด็จพระจักรพรรดิ พร้อมมีพระราโชวาทแนะนำให้ทรงยกเลิกพระราชโองการปลดพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการเหล่านั้นเสีย เป็นเหตุให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเสียพระราชหฤทัยนักที่ไม่อาจทรงบริหารพระราชอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และทรงระบายพระราชอารมณ์ด้วยการเสด็จประทับโรงหญิงนครโสเภณีเช่นเดิมอีก

[แก้] การทิวงคตของจักรพรรดิถงจื้อ

สมเด็จพระมเหสีเจียชุ้น[ค.ศ. 1854 (พ.ศ. 2396) —ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2417)]
ดูเพิ่มที่ ซูอันไทเฮา

หลังจากนั้นเป็นที่ร่ำลือทั่วกันว่า สมเด็จพระจักรพรรดิประชวรพระโรคซิฟิลิส ซึ่งโบราณเรียก “โรคสำหรับบุรุษ” เกิดจากการสัมผัสหรือร่วมประเวณีกับผู้ป่วยโรคนี้ ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้คณะแพทย์หลวงเข้าตรวจพระอาการ พบว่าสมเด็จพระจักรพรรดิประชวรพระโรคซิฟิลิสจริง[ต้องการอ้างอิง] เมื่อทรงทราบแล้วฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเตือนให้คณะแพทย์เก็บงำความข้อนี้เอาไว้ เพราะเรื่องดังกล่าวย่อมเป็นความอื้อฉาวน่าอดสูขนานใหญ่ คณะแพทย์จึงจัดทำรายงานเท็จเกี่ยวกับพระอาการแทน โดยรายงานว่าสมเด็จพระจักรพรรดิประชวรไข้ทรพิษ และถวายการรักษาตามพระอาการไข้ทรพิษ อันไข้ทรพิษนั้นมีลักษณะและอาการแต่ผิวเผินคล้ายคลึงกับโรคซิฟิลิส และชาวจีนยังนิยมว่าผู้ป่วยเป็นเป็นไข้ทรพิษถือว่ามีโชค[ต้องการอ้างอิง]

อย่างไรก็ดี เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิประชวรนั้น ฉือสี่ไท่โฮ่วได้ทรงประกาศในพระนามาภิไธยสมเด็จพระจักรพรรดิว่า สมเด็จพระจักรพรรดิประชวรไข้ทรพิษ ถือเป็นมงคลแก่บ้านเมือง[ต้องการอ้างอิง] และในระหว่างการรักษาพระองค์นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ฉือสี่ไท่โฮ่วและฉืออันไท่โฮ่วเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน ซึ่งนับได้ว่าฉือสี่ไท่โฮ่วกลับเข้าดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง

โดยที่คณะแพทย์ถวายการรักษาพระอาการไข้ทรพิษเพื่อตบตาผู้คน แต่ความจริงแล้วทรงเป็นซิฟิลิส สมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อจึงทิวงคตในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2417)

เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อทิวงคตแล้ว ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงพระโกรธว่าเป็นความผิดของสมเด็จพระมเหสีเจียชุ้น และมีพระราชเสาวนีย์ให้ตัดข้าวตัดน้ำสมเด็จพระมเหสีนับแต่นั้น สมเด็จพระมเหสีจึงลอบส่งลายพระหัตถ์ไปถึงพระราชบิดาขอให้ช่วย ซึ่งพระราชบิดาทรงตอบกลับมาด้วยความจนปัญญาว่า "พระองค์ทรงทราบดีว่าควรทำเช่นไร" (จีน: 皇后圣明; พินอิน: huánghòushèngmíng , หวงโฮ่วเซิ่งหมิง) สมเด็จพระมเหสีจึงทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม ซึ่งฉือสี่ไท่โฮ่วได้มีรับสั่งให้จัดพระราชพิธีพระศพถวายอย่างสมพระเกียรติ และให้ประกาศว่าสมเด็จพระมเหสีทรงกระทำเช่นนั้นด้วยความ "รักและคิดถึง" พระราชภัสดาอย่างยิ่งยวด

[แก้] การเป็นผู้สำเร็จราชการฯ อีกหน

[แก้] การเผชิญหน้ากับโลกใหม่

สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้ [14 สิงหาคม ค.ศ. 1871 (พ.ศ. 2413)— 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2450)]

ด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิถงจื้อมิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้ และในการเฟ้นหาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมในการสืบราชสันตติวงศ์ก็ไม่อาจหาพระราชวงศ์ในลำดับชั้นสูงกว่าสมเด็จพระจักรพรรดิคือที่ประสูติก่อนสมเด็จพระจักรพรรดิได้ จึงจำต้องคัดเลือกจากผู้มีประสูติกาลในรุ่นเดียวกับหรือรุ่นหลังจากรุ่นดังกล่าว ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงเห็นชอบให้เจ้าชายไจ้เทียน พระโอรสของเจ้าชายฉุน (จีน: 醇贤亲王; พินอิน: Chún Xián Qīn Wáng) กับพระกนิษฐภคินีของฉือสี่ไท่โฮ่ว พระชนม์สี่พรรษา เสวยราชย์เป็นรัชกาลถัดมา โดยให้เริ่มปีที่ 1 แห่งรัชศก "กวังซวี้" อันมีความหมายว่า "รัชกาลอันรุ่งเรือง" ใน ค.ศ. 1875 (พ.ศ. 2417) เมื่อฉือสี่ไท่โฮ่วมีพระราชเสาวนีย์ดังนั้น เจ้าชายไจ้เทียนก็ทรงถูกนำพระองค์ไปจากพระราชฐานทันทีและนับแต่นี้ไปจนตลอดพระชนม์ก็ทรงถูกตัดขาดจากครอบครัวโดยสิ้นเชิง ทรงได้รับการศึกษาจากราชครูเวิงถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēngtónghé) เมื่อมีพระชนม์ได้ห้าพรรษา

วันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2423) ระหว่างทรงออกขุนนางตอนเช้า ฉืออันไท่โฮ่วทรงรู้สึกไม่สบายพระองค์จึงนิวัตพระราชฐาน และทิวงคตในบ่ายวันนั้น การทิวงคตโดยปัจจุบันทันด่วนของฉืออันไท่โฮ่วสร้างความตื่นตะลึงแก่ประชาชนทั่วไป เพราะพระสุขภาพพลานามัยของไทเฮาอยู่ในขั้นดียิ่งยวดเสมอมา ครั้งนั้น เกิดข่าวลือแพร่สะพรัดทั่วไปในจีนว่าเป็นฉือสี่ไท่โฮ่วที่ทรงวางพระโอสถพิษแก่ฉืออันไท่โฮ่ว ว่ากันว่าสาเหตุอาจเป็นเพราะกรณีประหารขันทีอันเต๋อไห่ หรือเพราะฉืออันไท่โฮ่วทรงถือพระราชโองการจากสมเด็จพระจักรพรรดิในพระโกศให้มีพระราชอำนาจสั่งประหารฉือสี่ไท่โฮ่วได้หากว่าพระนางทรงก้าวก่ายการบ้านการเมืองหรือมีพระราชวิสัยไม่เหมาะสมอย่างไร[ต้องการอ้างอิง] อย่างไรก็ดี ข่าวลือดังกล่าวยังไร้หลักฐานยืนยันข้อเท็จจริง และนักประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับอย่างเต็มร้อยในเรื่องการวางพระโอสถพิษดังกล่าว แต่สันนิษฐานกันว่าฉืออันไท่โฮ่วทรงประชวรพระโรคลมปัจจุบันโดยอ้างอิงบันทึกทางการแพทย์ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยนั้น[ต้องการอ้างอิง] การทิวงคตของฉืออันไท่โฮ่วส่งผลให้ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินแต่เพียงผู้เดียวอย่างเต็มพระองค์

เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องว่า ในขณะที่ทหารเรือจีนพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่น ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2436) อย่างราบคาบและสูญเสียอาวุธยุโธปกรณ์สมัยใหม่ไปมากในครั้งนี้ ฉือสี่ไท่โฮ่วแทนที่จะทรงอนุมัติงบประมาณไปปรับปรุงกองทัพ กลับนำไปปฏิสังขรณ์พระราชวังฤดูร้อนส่วนพระองค์ ซึ่งความจริงแล้ว เงินงบประมาณดังกล่าวตั้งไว้สำหรับพระราชทานแก่พระราชวงศ์และข้าราชการต่าง ๆ เป็นบำเหน็จในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เพื่อนำเงินไปปรับปรุงกองทัพ ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงมีพระราชเสาวนีย์โปรดให้ยกเลิกงานแซยิดของพระองค์อันกำหนดให้จัดขึ้นในปีถัดมา ยังให้บุคคลหลายฝ่ายไม่พอใจเพราะมิได้รับเงินบำเหน็จดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] ส่วนเงินที่นำไปปรับปรุงพระราชวังฉือสี่ไท่โฮ่วนั้นได้แก่เงินสิบล้านตำลึงซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิพระราชทานแก่ฉือสี่ไท่โฮ่วในวันแซยิดของฉือสี่ไท่โฮ่วเมื่อ ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2437) นอกจากนี้ ในครั้งนั้น เจ้าชายจุน พระชนกของสมเด็จพระจักรพรรดิ ซึ่งทรงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการกองทัพเรือจีนแทนเจ้าชายกงที่ทรงถูกปลดไปเป็นองคมนตรีเหตุเพราะไม่อาจทรงนำชัยในสงครามจีน-ฝรั่งเศสมาได้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายงบประมาณของกองทัพเรือไปสมทบทุนการปฏิสังขรณ์พระราชวังเอง เพราะทรงต้องการช่วยให้พระโอรสมีพระราชอำนาจในการบริหารราชการอย่างเต็มที่ โดยให้ฉือสี่ไท่โฮ่วแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังฤดูร้อน จะได้ไม่ทรงต้องอยู่ใกล้กับราชการแผ่นดินอีก ซึ่งฉือสี่ไท่โฮ่วก็มิได้ทรงปฏิเสธการปฏิสงขรณ์พระราชวังถวายแต่อย่างใด

[แก้] การเสวยราชย์ของจักรพรรดิกวังซวี้

ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2429) หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้มีพระชนม์ได้สิบหกพรรษา เป็นการทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยลำพัง ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงมีประกาศพระราชเสาวนีย์ให้จัดพระราชพิธีเถลิงถวัลยราชสมบัติ อย่างไรก็ดี ด้วยความเกรงพระทัยและพระราชอำนาจของฉือสี่ไท่โฮ่ว บรรดาข้าราช นำโดยเจ้าชายฉุน (จีน: 醇贤亲王; พินอิน: Chún Xián Qīn Wáng) และราชครูเวิงถงเหอ (จีน: 翁同龢; พินอิน: Wēngtónghé) ซึ่งต่างคนต่างก็มีความมุ่งประสงค์ต่างกันไป ได้พากันคัดค้านและเสนอให้เลื่อนเวลาเสวยพระราชอำนาจตามลำพังของสมเด็จพระจักรพรรดิออกไปก่อนโดยให้เหตุผลว่ายังทรงพระเยาว์นัก ฉือสี่ไท่โฮ่วก็ทรงสนองคำเสนอดังกล่าว และมีประกาศพระราชเสาวนีย์ความว่า ด้วยสมเด็จพระจักรพรรดิยังทรงพระเยาว์นัก สมเด็จพระพันปีหลวงจึงทรงจำต้องอภิบาลราชการแผ่นดินทั้งปวงต่อไปอีก

อย่างไรก็ดี ฉือสี่ไท่โฮ่วก็จำต้องทรงคลายพระหัตถ์ออกจากพระราชอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิมีพระชนม์ได้สิบแปดพรรษาและทรงเสกสมรสใน ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2431) ทั้งนี้ ก่อนหน้าพระราชพิธีเสกสมรส บังเกิดอาเพศเป็นมหาเพลิงลุกไหม้หมู่พระทวารแห่งนครต้องห้ามโดยเป็นผลมาจากพิบัติภัยทางธรรมชาติในช่วงนั้น แต่ตามความเชื่อของจีนว่ากันว่าเป็นลางบอกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันทรงถูกสวรรค์เพิกถอน "อาณัติ" เสียแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

และเพื่อให้ทรงสามารถครอบงำกิจการทางการเมืองได้ต่อไป ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงบังคับให้สมเด็จพระจักรพรรดิทรงเลือกนางจิ้งเฟิน (จีน: 靜芬; พินอิน: Jìngfēn) พระราชภาคิไนยของฉือสี่ไท่โฮ่วเอง เป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิไม่ทรงโปรดเช่นนั้นแต่ก็ไม่อาจทรงขัดขืนได้ และในระยะต่อมาก็ทรงโปรดประทับอยู่กับพระมเหสีเจิน (จีน: 珍妃; พินอิน: Zhēnfēi) มากกว่ากับสมเด็จพระอัครมเหสี ยังให้ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงพระโกรธเนือง ๆ ใน ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2436) เมื่อพระมเหสีเจินสนับสนุนให้สมเด็จพระจักรพรรดิก่อรัฐประหารเพื่อชิงอำนาจทางการเมืองจากฉือสี่ไท่โฮ่ว ฉือสี่ไท่โฮ่วซึ่งทรงสดับความก่อนก็เสด็จไปบริภาษพระมเหสีต่าง ๆ นานา และด้วยข้อหาว่าพระมเหสีทรงก้าวก่ายกิจการบ้านเมืองก็มีพระราชเสาวนีย์ให้ลงโทษเฆี่ยนตีและนำพระมเหสีไปจำขังไว้ ณ ตำหนักเย็นนับแต่นั้น[ต้องการอ้างอิง]

นอกจากนี้ ถึงแม้สมเด็จพระจักรพรรดิจะมีพระชนม์สิบเก้าพรรษาแล้ว และถึงแม้ฉือสี่ไท่โฮ่วจะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับยังพระราชวังฤดูร้อนโดยทรงอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้สมเด็จพระจักรพรรดิได้ทรงคลายพระราชหฤทัยว่าจะไม่ทรงก้าวกายการบริหารราชการอีก แต่โดยพฤตินัยแล้วฉือสี่ไท่โฮ่วยังทรงมีอิทธิพลเหนือสมเด็จพระจักรพรรดิผู้ซึ่งต้องเสด็จไปพระราชวังฤดูร้อนทุก ๆ วันที่สองหรือสามของสัปดาห์ เพื่อทูลถวายรายงานเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองต่าง ๆ ต่อฉือสี่ไท่โฮ่ว และหากฉือสี่ไท่โฮ่วมีรับสั่งประการใดก็ต้องเป็นไปตามนั้น

[แก้] การปฏิรูปร้อยวัน

ดูบทความหลักที่ การปฏิรูปร้อยวัน
ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง

หลังจากที่ทรงสามารถบริหารพระราชอำนาจโดยลำพังตามนิตินัยแล้ว สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้ก็มีพระราชหฤทัยใฝ่ไปในทางพัฒนาอย่างสมัยใหม่มากกว่าใฝ่อนุรักษนิยมอย่างฉือสี่ไท่โฮ่ว และภายหลังที่จีนพ่ายแพ้สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก และด้วยแรงผลักดันของนักปฏิรูปนิยมอย่างคังหยูเว่ย และเหลียงฉีเฉา สมเด็จพระจักรพรรดิจึงทรงเห็นดีเห็นงามในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันมีญี่ปุ่นและเยอรมนีเป็นตัวอย่าง ซึ่งทรงเห็นว่าจะช่วยพัฒนาการเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศจีนไปสู่ความรุ่งเรืองได้ ดังนั้น จึงทรงเริ่ม "การปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาว่า "การปฏิรูปร้อยวัน" เพราะดำเนินไปเพียงหนึ่งร้อยวันก็ถูกฉือสี่ไท่โฮ่วล้มเลิกหมดสิ้น การปฏิรูปดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2440) โดยสมเด็จพระจักรพรรดิได้มีพระราชโองการเป็นจำนวนมากให้มีการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการเมือง ด้านกฎหมาย และด้านสังคม เพื่อให้เปลี่ยนเข้าสู่ระบอบราชาธิปไตยฯ ดังกล่าว

การปฏิรูปการเช่นว่าเป็นสิ่งที่ปัจจุบันทันด่วนเกินไปสำหรับประเทศจีนที่อิทธิพลของลัทธิขงจื้อยังมีอยู่มาก และยังทำให้ฉือสี่ไท่โฮ่วไม่สบพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในแนวคิดเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอีกด้วยเฉกเช่นเดียวกับข้าราชการบางกลุ่ม ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินอีกครั้งในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1898 (พ.ศ. 2440) โดยสั่งให้ทหารของหยงลู่จับกุมสมเด็จพระจักรพรรดิไปคุมขังไว้ ณ พระตำหนักสมุทรมุข ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะจำลองที่จัดทำขึ้นกลางทะเลสาบจงหนานถัดออกไปจากหมู่นครต้องห้าม แล้วทรงประกาศพระราชเสาวนีย์ความว่า ด้วยเหตุที่สภาวะบ้านเมืองระส่ำระสาย มีการกบฏทั่วไปโดยมีอิทธิพลญี่ปุ่นหนุนหลังอันแทรกซึมมาภายใต้แนวคิดการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สมเด็จพระจักรพรรดิไม่มีพระปรีชาสามารถพอจะทรงรับมือกับสถานการณ์ได้ จึงกราบบังคมทูลเชิญฉือสี่ไท่โฮ่วให้ทรงรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง นับว่ารัชกาลของสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้สิ้นสุดลงโดยพฤตินัยตั้งแต่วันนั้น

การยึดอำนาจการปกครองของฉือสี่ไท่โฮ่ว ส่งผลให้บรรดาสมัครพรรคพวกของสมเด็จพระจักรพรรดิ เช่น คังหยูเว่ยเป็นต้นถูกเนรเทศออกจากประเทศ และคนอื่น ๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินถูกประหารชีวิตในที่สาธารณะ สำหรับคังหยูเว่ยนั้นแม้จะถูกเนรเทศแต่ก็คงมีใจซื่อตรงต่อสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้และปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อการปฏิรูปตามแนวคิดของพระองค์เสมอ เขายังตั้งความหวังไว้ว่าสักวันหนึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิจะได้ทรงกลับสู่พระราชบัลลังก์อีกครั้ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้นานาชาติและประชาชนทั่วไปไม่พอใจการยึดอำนาจของฉือสี่ไท่โฮ่วอย่างยิ่ง[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] กบฏนักมวย

ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงฉายเมื่อ ค.ศ. 1903 (พ.ศ. 2445) ห้าปีก่อนจะทิวงคต
ดูบทความหลักที่ กบฏนักมวย

ใน ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2442) บรรดานักมวยในประเทศจีนสมาคมกันต่อต้านชาวต่างชาติในประเทศ เรียก "กบฏนักมวย" (อังกฤษ: Boxer Rebillion) โดยเริ่มปฏิบัติการที่ทางภาคเหนือของจีน ฉือสี่ไท่โฮ่วพระราชทานพระราชูปถัมภ์แก่กบฏนี้ด้วยความที่มีพระราชประสงค์จะอนุรักษ์คุณค่าทางประเพณีนิยมอย่างโบราณของจีนไว้และมีพระดำริว่าชาวต่างชาติเป็นศัตรูที่ป่าเถื่อนและร้ายกาจ โดยมีประกาศพระราชเสาวนีย์สนับสนุนกบฏฯ อย่างเป็นทางการด้วย[ต้องการอ้างอิง]

นานาชาติจึงพร้อมใจกันส่งกองทหารผสมแปดชาติเข้าต่อต้านกบฏในจีน ฝ่ายกองทัพจีนซึ่งมีแต่ความล้าสมัยอย่างที่สุด เพราะงบประมาณสำหรับพัฒนากองทัพนั้นฉือสี่ไท่โฮ่วทรงนำไปจัดสร้างพระราชวังต่าง ๆ เสียหมด ไม่อาจต้านทานกองผสมนานาชาติซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ล้วนแต่ทันสมัยได้ กองผสมจึงสามารถยึดกรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้ามได้ในปีนั้น

ฝ่ายฉือสี่ไท่โฮ่วนั้นก่อนทหารนานาชาติจะเข้ากรุง ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้ และข้าราชบริพารทั้งปวง ขึ้นเกวียนโดยปลอมแปลงพระองค์และตัวอย่างชาวบ้านธรรมดาเพื่อลี้ภัยไปยังนครซีอาน มณฑลฉ่านซี ระหว่างเตรียมการเสด็จลี้ภัยนั้น พระมเหสีเจินในสมเด็จพระจักรพรรดิซึ่งฉือสี่ไท่โฮ่วมีพระราชเสาวนีย์ให้จำขังไว้ในตำหนักเย็นได้ทูลขอให้สมเด็จพระจักรพรรดิประทับอยู่ในพระนครเพื่อเป็นขวัญกำลังใจของประชาชนและเพื่อเจรจากับต่างชาติ ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงสดับแล้วก็ทรงกริ้วนัก มีพระราชเสาวนีย์ให้ขันทีทั้งหลายเข้ากลุ้มรุมจับพระมเหสีไปทิ้งลงบ่อน้ำนอกตำหนักหนิงเซี่ย (อังกฤษ: Ningxia Palace) ทางตอนเหนือนครต้องห้าม ถึงแก่กาลทิวงคต

ฝ่ายนานาชาติเมื่อยึดได้เมืองหลวงของจีนแล้ว ก็เสนอทำสนธิสัญญากับฉือสี่ไท่โฮ่ว ให้ทรงรับประกันว่าจะไม่มีกบฏของจีนมาต่อต้านชาวต่างชาติอีก ให้มีทหารต่างชาติประจำอยู่ในจีนได้ และให้รัฐบาลจีนชำระค่าปฏิกรรมสงครามต่อนานาชาติเป็นเงินเกือบสามร้อยสามสิบสามล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งฉือสี่ไท่โฮ่วก็ทรงจำพระราชหฤทัยลงพระนามในสนธิสัญญาอันฝ่ายจีนมองว่าเป็น "ความรู้สึกถูกทำให้อัปยศ" อย่างยิ่ง และทรงยินยอมตามทุกข้อเสนอ

[แก้] การทิวงคต

นายเจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าได้นำไข่มุกจากพระโอษฐ์พระศพฉือสี่ไท่โฮ่วไปทำเป็นเครื่องประดับรองเท้าภรรยาตน

วันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2450) สมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้ทิวงคตอย่างปัจจุบันทันด่วน ฉือสี่ไท่โฮ่วจึงทรงสถาปนาผู่อี๋ เจ้าฟ้าพระองค์น้อย เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ต่อไป ก่อนพระองค์เองจะทิวงคตในวันรุ่งขึ้น ณ พระที่นั่งจงไห่อี๋หลวนเตี้ยน (จีน: 中海儀鸞殿; พินอิน: Zhōnghǎiyíluándiàn; อังกฤษ: Middle Sea Hall of Graceful Bird) ตามไป ครั้งนั้น มีข่าวลือสะพรัดว่าฉือสี่ไท่โฮ่วทรงทราบในพระสังขารของพระองค์เองว่าจะทรงดำรงพระชนม์ต่อไปได้อีกไม่นาน ก็ทรงพระปริวิตกว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะรื้อฟื้นการปฏิรูปแผ่นดินอีกหลังฉือสี่ไท่โฮ่วทิวงคตแล้ว บ้างก็ว่าทรงเกรงว่าสมเด็จพระจักรพรรดิจะทรงเล่นงานบรรดาคนสนิทของฉือสี่ไท่โฮ่ว จึงมีรับสั่งให้ขันทีคนสนิทไปลอบวางยาสมเด็จพระจักรพรรดิ ครั้นทรงทราบว่าสมเด็จพระจักรพรรดิทิวงคตแล้ว ฉือสี่ไท่โฮ่วก็ทรงจากไปโดยสบายพระราชหฤทัย[14]

วันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2008 (พ.ศ. 2551) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ตามที่รัฐบาลจีนได้แต่งตั้งคณะแพทย์ให้ปฏิบัติการทางนิติเวชศาสตร์เพื่อชันสูตรพระศพสมเด็จพระจักรพรรดิกวังซวี้ บัดนี้ ผลปรากฏว่า สมเด็จพระจักรพรรดิทิวงคตอย่างเฉียบพลันเพราะทรงต้องสารหนู โดยปริมาณของสารหนูที่ตรวจพบมีมากถึงสองพันเท่าจากปริมาณที่อาจพบได้ในร่างกายมนุษย์โดยทั่วไป หนังสือพิมพ์ไชนาเดลียังรายงานโดยอ้างคำกล่าวของนายไต้อี้ (พินอิน: Dai Yi) นักประวัติศาสตร์ชาวจีน อีกว่าการชันสูตรดังกล่าวทำให้ข่าวลือเรื่องฉือสี่ไท่โฮ่วมีพระราชเสาวนีย์ให้สังหารสมเด็จพระจักรพรรดิเป็นเรื่องจริง[14]

ฉือสี่ไท่โฮ่วทรงได้รับการเฉลิมพระนามหลังทิวงคตแล้วว่า "สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงฉือสี่ตวนโย้วคังอี๋จาวยู้จวงเฉิงโช้วกงชิงเสี้ยนฉงซีเป่ย์เทียนซิงเชิงเสี่ยน" (พินอิน: Xiào Qīng Cí Xī Dūan Yù Kang-Yi Zhao-Yu Zhuang-Cheng Shou-Gong Qin-Xian Chong-Xi Pei-Tian Xing-Sheng Xiǎn) เรียกโดยย่อว่า "สมเด็จพระจักรพรรดินีเสี้ยวชิงเสี่ยน" (จีน: 孝欽顯; พินอิน: Xiào Qīng Xiǎn) ทั้งนี้ พระศพฉือสี่ไท่โฮ่วได้รับการบรรจุ ณ สุสานหลวงราชวงศ์ชิงฝ่ายตะวันออก (จีน: 清东陵; พินอิน: Qīngdōnglíng, ชิงตงหลิง) ห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันออกเป็นระยะทางหนึ่งร้อยยี่สิบห้ากิโลเมตร เคียงข้างกับพระศพของฉืออันไท่โฮ่วและสมเด็จพระจักรพรรดิเสียนเฟิง

ฮวงซุ้ยของฉือสี่ไท่โฮ่วนั้นมีพระราชเสาวนีย์ให้เตรียมไว้สำหรับพระองค์เองตั้งแต่ยังทรงพระชนมชีพอยู่แล้ว และมีขนาดใหญ่โตมโหฬารกว่าของฉืออันไท่โฮ่วหลายเท่านัก อย่างไรก็ดี เมื่อฮวงซุ้ยสร้างเสร็จครั้งแรกก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัย มีพระราชเสาวนีย์ให้ทำลายเสียทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง] แล้วให้สร้างใหม่ใน ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2437) หมู่ฮวงซุ้ยใหม่ของฉือสี่ไท่โฮ่วประกอบด้วยเหล่าพระอาราม พระที่นั่ง และพระทวาร ซึ่งประดับประดาด้วยใบไม้ทองและเครื่องเงินเครื่องทองตลอดจนรัตนชาติอัญมนีต่าง ๆ อย่างหรูหรา[ต้องการอ้างอิง]

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2470) พลเอกซุนเตี้ยนอิง (จีน: 孙殿英; พินอิน: Sūndiànyīng) แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ได้ยกพลเข้าปิดล้อมและยึดหมู่ฮวงซุ้ยของฉือสี่ไท่โฮ่ว แล้วสั่งทหารให้ถอดเอาของมีค่าที่ประดับประดาฮวงซุ้ยออกทั้งหมด[ต้องการอ้างอิง] ก่อนจะระเบิดเข้าไปถึงห้องเก็บพระศพ แล้วเปิดหีบและขว้างพระศพออกมาเพื่อค้นหาของมีค่า ไข่มุกเม็ดโตซึ่งบรรจุในพระโอษฐ์พระศพตามความเชื่อโบราณว่าจะพิทักษ์พระศพมิให้เน่าเปื่อยยังถูกฉกเอาไปด้วย ว่ากันว่าไข่มุกเม็ดดังกล่าวได้รับการนำเสนอให้แก่นายเจียงไคเช็ก หัวหน้าพรรคฯ และนายเจียงไคเช็กได้นำไปเจียระไนเป็นเครื่องประดับรองเท้าของนางซ่งเหม่ยหลิง (จีน: 宋美龄; พินอิน: Sòng Měilíng) ภริยาตน แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานรองรับเรื่องดังกล่าว[ต้องการอ้างอิง] ทั้งนี้ โชคดีว่ามิได้เกิดความเสียหายอันใดแก่พระศพฉือสี่ไท่โฮ่ว ต่อมาภายหลัง ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) รัฐบาลจีนได้สั่งให้ปฏิสังขรณ์หมู่ฮวงซุ้ยของฉือสี่ไท่โฮ่ว และปัจจุบันก็เป็นสุสานพระศพราชวงศ์จีนที่มีความงดงามจับใจเป็นที่สุดแห่งหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]

[แก้] อ้างอิงและเชิงอรรถ

  1. ^ Edward Behr, "The Last Emperor", 1987, p. 38
  2. ^ Chung, S.F, The Much Maligned Empress Dowager, p. 3.
  3. ^ Laidler, Keith (2003), "The Last Empress" (p. 58), John Wiley & Sons Inc., ISBN 0-470-84881-2.
  4. ^ Immanual Hsu (1985), The Rise of Modern China (pg. 215).
  5. ^ Edward Behr, The Last Emperor, 1987, p. 44
  6. ^ [Sui Lijuan: Carrying out the Coup. CCTV-10 Series on Cixi, Ep. 4]
  7. ^ Edward Behr, The Last Emperor, 1987, p. 45
  8. ^ Edward Behr, The Last Emperor, 1987, p. 45
  9. ^ 列传八 诸王七。 (无日期)。 [在线]。 可用的: < http://www.yifan.net/yihe/novels/history/qsgskym/qsg221.html >。(进入12月27日2008年)。
  10. ^ Biggerstaff, Knight. The earliest modern government schools in China, Ithaca: Cornell University Press, 1961.
  11. ^ Evans, Nancy. "The Banner-School Background of the Canton T'ung-Wen Kuan." Papers on China 22a (1969) : 8 9-103.
  12. ^ Zhongguo da baike quanshu. First Edition. Beijing; Shanghai: Zhongguo da baike quanshu chubanshe. 1980-1993.
  13. ^ Professor Sui Lijuang: Lecture Room Series on Cixi, Episode 9
  14. ^ 14.0 14.1 CNN. (2008, 4 November). Arsenic killed Chinese emperor, reports say. [Online]. Available: < http://www.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/11/04/china.emperor/index.html?eref=rss_world >. (Accessed: 3 December 2008).
  • Chung, Sue Fawn. "The Much Maligned Empress Dowager: A Revisionist Study of the Empress Dowager Tz'u-Hsi (1835-1908)." Modern Asian Studies 13, no. 2 (1979) : 177-96.
  • Hummel, Arthur William, ed. Eminent Chinese of the Ch'ing Period (1644-1912). 2 vols. Washington: United States Government Printing Office, 1943.
  • Warner, Marina. The Dragon Empress: Life and Times of Tz'u-hsi 1835-1908. Weidenfeld & Nicolson, 1972.
  • 雷家聖(Lei Chiasheng)《力挽狂瀾-戊戌政變新探》,台北:萬卷樓,2004 ISBN 957-739-507-4

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
สมัยก่อนหน้า ซูสีไทเฮา สมัยถัดไป
พระสนมเอกจวงชุน 2leftarrow.png Arms of the Qing Dynasty.svg
'พระสนมเอกแห่งจักรวรรดิต้าชิง'
(ราชวงศ์ชิง)

(พ.ศ. 2393พ.ศ. 2404)
2rightarrow.png พระสนมเอกซูเซิ้น
สมเด็จพระพันปีหลวงเสี้ยว เจ๋อ เซียน 2leftarrow.png Arms of the Qing Dynasty.svg
สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งจักรวรรดิต้าชิง
(ราชวงศ์ชิง)

(พ.ศ. 2404พ.ศ. 2424ร่วมกับซูอันไทเฮา
พ.ศ. 2404พ.ศ. 2451)
2rightarrow.png สมเด็จพระพันปีหลวงหรงยู่ (สมเด็จพระมเหสีเสี้ยวติ้ง)