พระบรมมหาราชวัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระบรมมหาราชวังจากหอประชุมกองทัพเรือ
พระบรมมหาราชวังยามค่ำคืน

พระบรมมหาราชวัง (อังกฤษ: Grand Palace) เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน พระบรมมหาราชวังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก โดยมีผู้เข้าเยี่ยมชมในปี พ.ศ. 2549 เป็นจำนวนถึง 8,995,000 คน[1]

เนื้อหา

[แก้] ประวัติการก่อสร้าง

พระบรมมหาราชวังเป็นพระราชวังหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เมื่อทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา การก่อสร้างพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ เริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อ พ.ศ. 2325 การก่อสร้างพระราชวังหลวง สร้างในบริเวณที่เคยเป็นที่อยู่ของชาวจีน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปอยู่ที่แห่งใหม่คือที่สำเพ็ง เริ่มดำเนินการในวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2325 หลังพระราชพิธียกหลักเมือง 1 วัน และมีการเฉลิมพระราชมนเฑียรในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2325 แต่ขณะนั้นพระราชมนเฑียรสร้างด้วยเครื่องไม้ และสร้างเสาระเนียดรายรอบพระราชวัง ใน พ.ศ. 2326 จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมนเทียรและเสาระเนียดจากเครื่องไม้เป็นก่อกำแพงอิฐ และสร้างประตูรายรอบพระบรมมหาราชวัง สร้างพระมหาปราสาท และพระราชมนเทียร ตลอดจนสร้างพระอารามในพระบรมมหาราชวัง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เมื่อสร้างพระราชนิเวศน์มนเฑียรเป็นการถาวรแล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามแบบแผนราชประเพณีอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2328

พระราชวังหลวงหรือพระบรมมหาราชวังได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขยายอาณาเขตและบูรณปฏิสังขรณ์มาในทุกรัชกาล ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระราชอนุชา ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงบัญญัติให้เรียกพระราชวังหลวงว่า พระบรมมหาราชวัง นั่นคือ ทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า “บรม” สำหรับฝ่ายวังหลวง และ “บวร” สำหรับฝ่ายวังหน้า พระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้าจึงเรียกว่า “พระบวรราชวัง” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระราชวังหลวงก็ยังคงใช้ว่า พระบรมมหาราชวัง มาจนกระทั่งปัจจุบัน

[แก้] ที่ตั้งและอาณาเขต

หลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่แล้วก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมมหาราชวังไว้ด้วย ที่ตรงบริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบันนี้แต่เดิมเป็นชุมชนชาวจีน พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนเหล่านี้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่บริเวณสำเพ็งในปัจจุบัน ในปัจจุบันพระบรมมหาราชวังตั้งอยู่ที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีอาณาเขตติดต่อกับสถานที่สำคัญดังนี้

  • ทิศตะวันตก แม่น้ำเจ้าพระยา
  • ทิศใต้ เป็นที่ตั้งเรือนหลวง เคหสถานของข้าราชการผู้ใหญ่ที่ปฏิบัติราชการในพระบรมมหาราชวัง

พื้นที่ของพระบรมมหาราชวังในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อแรกสร้าง มีเนื้อที่ทั้งหมด 132 ไร่ ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ขยายเขตพื้นที่ออกไปเป็น 152 ไร่ 2 งาน จนถึงปัจจุบัน แผนผังของพระบรมมหาราชวังได้ยึดถือแบบของพระราชวังหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยา คือสร้างติดกับแม่น้ำ หันหน้าไปทางทิศเหนือโดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางทิศตะวันตก ให้กำแพงเมืองด้านข้างแม่น้ำเป็นกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระอารามหลวงในพระราชวังตามแบบวัดพระศรีสรรเพชญ์ของกรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก

[แก้] การใช้งาน

พระบรมมหาราชวังได้ใช้เป็นที่ประทับและศูนย์กลางการปกครองของพระมหากษัตริย์สมัยรัตนโกสินทร์มาตลอด จนถึงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประทับเพียงครั้งคราว ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้เสด็จประทับ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง กระทั่งเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มิได้มีพระมหากษัตริย์เสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวังเป็นการถาวรอีก ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับบ้างเป็นครั้งคราว เช่นเวลาซ่อมพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน หรือเวลามีการพระราชพิธี เป็นต้น พระบรมมหาราชวังใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ตามพระราชประเพณี, เป็นที่รับแขกเมือง และพระราชอาคันตุกะ รวมทั้งเป็นที่ตั้งพระบรมศพและพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ส่วนบริเวณเขตพระราชฐานชั้นนอกได้ใช้เป็นที่ตั้งของสถานที่ราชการ เช่น สำนักพระราชวัง,สำนักราชเลขาธิการและราชบัณฑิตยสถาน และเขตพระราชฐานชั้นในก็มิได้เป็นที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายในอีกต่อไป แต่ยังคงเป็นที่ทำการและที่พำนักของข้าราชการสำนักพระราชวัง ฝ่ายพระราชฐานชั้นในบางส่วนซึ่งล้วนเป็นสตรีทั้งสิ้น

[แก้] พระที่นั่ง หอ พระตำหนักและสถานที่สำคัญภายในพระบรมมหาราชวัง

พระที่นั่ง หอ พระตำหนักและสถานที่สำคัญภายในพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

พระที่นั่งและหอในหมู่พระมหามณเฑียร เขตพระราชฐานชั้นกลาง
ผังบริเวณ ภายในพระบรมมหาราชวัง
พระที่นั่งในหมู่พระมหาปราสาท เขตพระราชฐานชั้นกลาง
พระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เขตพระราชฐานชั้นกลาง
  • พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
  • พระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์
  • พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ
  • พระที่นั่งดำรงสวัสดิ์อนัญวงศ์ เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งสมมติ เทวราชอุปบัติ ด้านตะวันตก ใช้เป็นห้องเครื่องลายคราม มีชื่อเรียกขานว่า "ห้องผักกาด"
  • พระที่นั่งนิพัทธพงศ์ถาวรวิจิตร เป็นพระที่นั่งที่สร้างต่อเนื่องกับพระที่นั่งมูล สถานบรมอาสน์ ด้านตะวันออกเป็นห้องพระภูษา
  • พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  • พระที่นั่งอมรพิมานมณี เป็นพระวิมานที่บรรทมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ต่อจากพระเฉลียงด้านหลังพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  • พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ เป็นห้องประทับสมเด็จพระอัครมเหสี อยู่ด้านตะวันออกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
  • พระที่นั่งบรรณาคมสรนี เป็นห้องทรงพระอักษร อยู่ด้านตะวันตกของพระที่นั่งอมรพิมานมณี
  • พระที่นั่งราชปรีดีวโรทัย เป็นห้องพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ต่อจากพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  • พระที่นั่งเทพดนัยนันทยากร เป็นห้องสมเด็จพระราชโอรสและสมเด็จพระราชธิดา ทางด้านเหนือของพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร
  • พระที่นั่งเทวารัณยสถาน เป็นพระที่นั่งโถงด้านหน้าพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารองค์ปัจจุบัน
หมู่พระที่นั่งในสวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง
ผังบริเวณ เขตพระราชฐานชั้นใน
พระตำหนักและอาคารต่างๆในเขตพระราชฐานชั้นใน

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ Global Market Information Database, Tourist Attractions - World, 10 Apr 2008

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′N 100°30′E