เทศกาลตังโจ่ย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ถ่างหยวน

เทศกาลตังโจ่ย หรือ เทศกาลฤดูหนาว (จีน: 冬至; พินอิน: dōng zhì; จีนกลาง: ตงจื้อ) ตังโจ่ย หรือ ตังจี๋ หรือ ตงเจี่ย (ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) มีความหมายถึง วันเหมายัน คือ วันที่พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นที่สุด หรือ วันที่เป็นจุดสูงสุดในฤดูหนาว (The Extreme of Winter) (โดยประมาณจะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม ของทุกปี แต่ปีที่มีอธิกมาส จะตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม )

ในยุคโบราณชาวจีนจะเรียกวัน ๆ นี้ว่า เฉี่ยงจี่ (สุดยาว) เป็นหลักการโคจรของพระอาทิตย์ ในแต่ละปี ภายหลังฤดูสารทชิวฮุง (เทศกาลกินเจ) ในเดือนตุลาคมแล้ว พระอาทิตย์เริ่มเคลื่อนลงสู่ทางทิศใต้ ถึงเส้นแวงที่ 23 องศา 26 ลิปดา 59 พิลิปดา ดังนั้น ทางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ดินฟ้าภูมิอากาศย่อมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในซีกโลกเหนือแสงแดดในเวลากลางวันนั้นสั้น แต่เวลากลางคืนกลับยาว แต่ที่ทางซีกโลกใต้นั้นกลับตรงกันข้าม วันตังโจ่ยกลับเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ทางซีกโลกใต้นานที่สุด ดังนั้น วันนี้ จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า น่ำจี่ (สุดใต้) และเมื่อผ่านพ้นวันนี้ไปแล้ว พระอาทิตย์ก็จะเริ่มโคจรตามปกติสู่ทางด้านทิศเหนือ วันเวลายามกลางวันก็จะเริ่มต้นยาวขึ้นตามลำดับ วันตังโจ่ย จึงถือเป็นวันตายตัวของวันที่ 22 หรือวันที่ 21 ธันวาคม ตามปฏิทินทางสุริยคติสากล แต่สำหรับในปฏิทินจีน ได้ใช้หลักตามจันทรคติ

ดังนั้น เมื่อถือตามหลักของปฏิทินจีน วันตังโจ่ย จึงไม่มีการตายตัวทุก ๆ ปี แต่จะตรงกับเดือน 11 ตามปฏิทินจีน (เดือนธันวาคม) ซึ่งเรียกว่า เกี๋ยวง๊วย

ในยุคโบราณ ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลตังโจ่ยไม่แพ้วันตรุษจีน เพราะถือเสมือนเทศกาลสิ้นปี ผู้คนจะปิดร้านรวงและบ้านเรือน ทำบุญตามวัดหรือไหว้เจ้า เอกลักษณ์ที่สำคัญในเทศกาลนี้ คือ ผู้คนจะปั้นและกินขนมที่มีลักษณะคล้ายขนมบัวลอยของไทย (ออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋วว่า อี๊) ซึ่งทำจากแป้งและต้มกับน้ำเชื่อม เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ในภูมิภาคแต่ละที่ของจีนจะกินขนมชนิดนี้และมีชื่อเรียกแตกต่างออกไป เช่น ทางเหนือจะกินเกี๊ยวน้ำ ทางใต้จะกินขนมชนิดนี้ที่มีลูกใหญ่และเรียกว่า "ถ่างหยวน" (Tangyuan, 湯圓) โดยมีความเชื่อว่า เมื่อรับประทานแล้วคนในครอบครัวจะรักผูกพันกันยิ่งขึ้น เพราะเมื่อถึงเทศกาลนี้แล้ว ญาติพี่น้องที่จากไปอยู่แต่ละที่ จะหวนคืนกลับบ้านมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นมงคลเพราะอายุเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี

ดังนั้นเทศกาลนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ซึ่งประเพณีการรับประทานขนมบัวลอยนี้ก็ยังคงปฏิบัติมาจนถึงคงปัจจุบัน

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] อ้างอิง

ภาษาอื่น