สารานุกรมบริตานิกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

(เปลี่ยนทางมาจาก Encyclopædia Britannica)
สารานุกรมบริตานิกา
Encyclopædia Britannica
Encylopædia Britannica ฉบับพิมพ์ใหม่ของอเมริกัน (1899)
Encylopædia Britannica ฉบับพิมพ์ใหม่ของอเมริกัน (1899)

สารานุกรมบริตานิกา (อังกฤษ: Encyclopædia Britannica) เป็นสารานุกรมภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์โดยบริษัท Encyclopædia Britannica, Inc. ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน บทความภายในสารานุกรมบริตานิกาเน้นที่การให้ความรู้แก่ผู้อ่านวัยผู้ใหญ่ เขียนขึ้นจากทีมงานที่ประกอบด้วยบรรณาธิการที่ทำงานเต็มเวลากว่า 100 คน และผู้เขียนบทความซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 4,000 คน เป็นสารานุกรมที่ได้รับความนิยมและใช้อ้างอิงทางวิชาการมากที่สุด[1][2]

สารานุกรมบริตานิกาเป็นสารานุกรมภาษาอังกฤษที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังตีพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบัน[3] โดยตีพิมพ์เป็นครั้งแรกระหว่างปี ค.ศ. 1768 และ 1771 ที่เมืองเอดินเบอระ สก็อตแลนด์ และเติบโตทั้งขนาดและความนิยมมาเป็นลำดับ ฉบับแก้ไขครั้งที่สามในปี ค.ศ. 1801 มีการตีพิมพ์เป็นจำนวนมากกว่า 21 เล่มชุด[4][5] (คือมี 21 เล่มใน 1 ชุด) ผลจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้เป็นที่สนใจของนักเขียนบทความเพิ่มมากขึ้น ในการปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 9 (1875-1889) และครั้งที่ 11 (1911) ถือเป็นสารานุกรมฉบับที่โดดเด่นที่สุดสำหรับนักวิชาการและผู้ชื่นชอบวรรณศิลป์[4] นับแต่ฉบับปรับปรุงแก้ไขครั้งที่ 11 เป็นต้นมา สารานุกรมบริตานิกาก็เริ่มเขียนบทความให้สั้นขึ้นและกระชับขึ้นเพื่อเข้าสู่ตลาดในอเมริกาเหนือ[4] ปี ค.ศ. 1933 สารานุกรมบริตานิกาเป็นสารานุกรมแห่งแรกที่ประกาศนโยบาย "การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง" โดยมีการพิมพ์ซ้ำและปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในบทความให้ทันสมัยอยู่ตลอดตามตารางกำหนดเวลาที่แน่นอน[5]

ฉบับพิมพ์ปัจจุบันเป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 15 ประกอบด้วยเนื้อหา 3 ส่วน ส่วนแรกมี 12 เล่มชุด ชื่อ Micropædia เป็นบทความสั้น (ส่วนมากมีความยาวน้อยกว่า 750 คำ) ส่วนที่สองมี 17 เล่มชุด ชื่อ Macropædia เป็นบทความยาว (มีความยาวตั้งแต่ 2 ถึง 310 หน้าต่อบทความ) และส่วนสุดท้ายเป็นเอกเทศชื่อ Propædia จัดทำเพื่อเรียบเรียงความรู้ของมนุษยชาติในรูปแบบโครงสร้างลำดับชั้น วัตถุประสงค์ของ Micropædia มีเพื่อการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและช่วยในการค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมใน Macropædia ผู้อ่านสามารถศึกษาโครงสร้างบทความใน Propædia ก่อนก็ได้เพื่อทำความเข้าใจกับบริบทของเรื่องที่ต้องการศึกษาและจะได้ค้นหาส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องได้ง่าย[6] สารานุกรมบริตานิกามีขนาดค่อนข้างคงที่มาตลอดเวลากว่า 70 ปี โดยมีความยาวประมาณ 40 ล้านคำ จำนวนบทความประมาณ 500,000 เรื่อง[7] หลังจากปี ค.ศ. 1901 ฐานการตีพิมพ์ก็ย้ายมายังสหรัฐอเมริกา แต่กระนั้นสารานุกรมบริตานิกายังคงยึดหลักการสะกดคำตามแบบอังกฤษดั้งเดิมอย่างเคร่งครัด[1]

ตลอดเส้นทางประวัติศาสตร์ของสารานุกรมบริตานิกา ได้ผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากในการสร้างผลกำไร ซึ่งเป็นปัญหาปกติทั่วไปของสารานุกรมทั้งหลาย[3] บทความบางเรื่องในช่วงต้นของบริตานิกาเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ถูกต้อง มีอคติ หรือเขียนขึ้นโดยผู้เขียนที่ไม่มีความรู้เพียงพอ[4][8] จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องแม่นยำของเนื้อหาในสารานุกรมอยู่[1][9] แม้ว่าคณะผู้บริหารบริตานิกาจะท้าให้เหล่านักวิจารณ์ชี้ชัดออกมาให้รู้แน่[10] อย่างไรก็ดี แม้จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างไร สารานุกรมบริตานิกาก็ยังคงเป็นที่ยอมรับทั่วไปในฐานะแหล่งอ้างอิงงานวิจัยที่เชื่อถือได้

[แก้] ประวัติ

บริตานิกาถูกเปลี่ยนมือมาหลายต่อหลายครั้ง ผู้ที่เคยเป็นเจ้าของบริตานิกามาก่อนได้แก่ สำนักพิมพ์สัญชาติสก๊อต เช่น A & C Black, Horace Everett Hooper, Sears Roebuck and William Benton เป็นต้น เจ้าของบริตานิกาคนปัจจุบันคือ Jacqui Safra นักแสดงและมหาเศรษฐีชาวสวิส ซึ่งเป็นเจ้าของ Encyclopædia Britannica, Inc. จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศประกอบกับการเติบโตของสารานุกรมอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่ง เช่น Microsoft Encarta และ วิกิพีเดีย ทำให้ความจำเป็นในการตีพิมพ์สารานุกรมลดน้อยลง[11] ดังนั้นเพื่อให้ดำรงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ Encyclopædia Britannica, Inc. จึงชูความน่าเชื่อถือของสารานุกรมบริตานิกาเป็นหลัก ลดราคาและลดต้นทุนการผลิตลง รวมถึงพัฒนาสารานุกรมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมบนซีดีรอม ดีวีดี และเวิลด์ไวด์เว็บ นับแต่ต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 บริษัทยังเพิ่มการประชาสัมพันธ์งานอ้างอิงรูปแบบอื่นๆ มากขึ้นด้วย[5]

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 Kister, KF (1994). Kister's Best Encyclopedias: A Comparative Guide to General and Specialized Encyclopedias (2nd ed.). Phoenix, AZ: Oryx Press. ISBN 0897747445. 
  2. ^ Sader, Marian (1995). Encyclopedias, Atlases, and Dictionaries. New Providence, NJ: R. R. Bowker (A Reed Reference Publishing Company). ISBN 0-8352-3669-2. 
  3. ^ 3.0 3.1 "Encyclopedias and Dictionaries". Encyclopædia Britannica (15th edition) 18. (2007). Encyclopædia Britannica, Inc.. 257–286. 
  4. ^ 4.0 4.1 4.2 4.3 Kogan, Herman (1958). The Great EB: The Story of the Encyclopædia Britannica. Chicago: The University of Chicago Press. LCCN 58-8379. 
  5. ^ 5.0 5.1 5.2 "Encyclopædia". Encyclopædia Britannica (14th edition). (1954).  Aside from providing an excellent summary of the Britannica's history and early spin-off products, this article also describes the life-cycle of a typical Britannica edition. A new edition typically begins with strong sales that gradually decay as the encyclopaedia becomes outdated. When work on a new edition is begun, word leaks out and sales of the old edition effectively stop, just at the time when the fiscal needs are greatest: a new editorial staff must be assembled, articles commissioned, etc. Elkan Harrison Powell identified this cyclic fluctuation of income as a key danger to the fiscal health of any encyclopaedia, one that he hoped to overcome with his innovative policy of continuous revision.
  6. ^ The New Encyclopædia Britannica (15th edition, Propædia ed.). 2007. pp. 5–8. 
  7. ^ The New Encyclopædia Britannica (15th edition, Index preface ed.). 2007. 
  8. ^ Burr, George L. (1911). "The Encyclopædia Britannica: A Dictionary of Arts, Sciences, Literature and General Information". American Historical Review 17: 103–109. doi:10.2307/1832843 
  9. ^ Giles, Jim (2005-12-15). "Internet encyclopedias go head to head". Nature 438: 900–901. doi:10.1038/438900a. เรียกข้อมูลวันที่ 2006-10-21 
  10. ^ Fatally Flawed: Refuting the recent study on encyclopedic accuracy by the journal Nature (PDF). Encyclopedia Britannica, Inc (March 2006). สืบค้นวันที่ 2006-10-21
  11. ^ Day, Peter (17 December 1997). Encyclopaedia Britannica changes to survive. BBC News. สืบค้นวันที่ 2007-03-27 “Sales plummeted from 100,000 a year to just 20,000.”

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
Books-aj.svg aj ashton 01.svg สารานุกรมบริตานิกา เป็นบทความเกี่ยวกับ วรรณกรรม วรรณคดี นวนิยายหรือหนังสือ ที่ยังไม่สมบูรณ์ ต้องการตรวจสอบ เพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มแหล่งอ้างอิง คุณสามารถช่วยเพิ่มเติมหรือแก้ไข เพื่อให้สมบูรณ์มากขึ้น
ข้อมูลเกี่ยวกับ สารานุกรมบริตานิกา ในภาษาอื่น อาจสามารถหาอ่านได้จากเมนู ภาษาอื่น ด้านซ้ายมือ หรือ ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์