เจ้าอนุวงศ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าอนุวงศ์
พระบรมนามาภิไธย พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5
ราชวงศ์ ล้านช้างเวียงจันทน์
ครองราชย์ พ.ศ. 2348 - พ.ศ. 2371
ระยะครองราชย์ 23 ปี
รัชกาลก่อนหน้า เจ้าอินทวงศ์
รัชกาลถัดไป สิ้นสุดราชวงศ์

เจ้าอนุวงศ์ กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์พระองค์ที่ 5 และเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้าย นักประวัติศาสตร์ลาวขนานนามพระองค์อีกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 แต่นักประวัติศาสตร์บางท่านตรวจสอบพระนามจากจารึกต่างๆ แล้วได้นับพระองค์เป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 5 เนื่องจากพระเจ้าสิริบุญสาร ผู้เป็นพระราชบิดา และเจ้าอินทวงศ์ผู้เป็นพระเชษฐาธิราชได้ออกพระนามของพระองค์ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ด้วยเช่นกัน จึงนับเป็นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ

[แก้] พระประวัติ

เจ้าอนุวงศ์เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าสิริบุญสาร พระมหากษัตริย์ราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ลำดับที่ 2

[แก้] เหตุการณ์สงครามเจ้าอนุวงศ์

ดูบทความหลักที่ สงครามเจ้าอนุวงศ์

พ.ศ. 2368 เจ้าอนุวงศ์ได้เสด็จลงมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้พิจารณาเห็นว่ากองทัพไทยอ่อนแอ เนื่องจากแม่ทัพนายกองรุ่นเก่าที่มีฝีมือได้สิ้นชีวิตไปหลายคนแล้ว ต่อมามีข่าวลือไปถึงเวียงจันทน์ว่าไทยกับอังกฤษวิวาทกันจากการทำสนธิสัญญาเบอร์นี เจ้าอนุวงศ์จึงยกทัพลงมากรุงเทพฯ โดยวางอุบายหลอกเจ้าเมืองต่างๆ ตามรายทางว่าจะยกทัพลงไปช่วยกรุงเทพรบกับอังกฤษ ทำให้กองทัพเจ้าอนุวงศ์สามารถเดินทัพผ่านมาโดยสะดวก จนเมื่อกองทัพลาวยกมาถึงนครราชสีมา เจ้าอนุวงศ์ได้ฉวยโอกาสที่เจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาไปราชการที่เมืองขุขันธ์ เข้ายึดเมืองและกวาดต้อนครอบครัวชาวเมืองขึ้นไปเวียงจันทน์ ระหว่างทางกองทัพลาวได้พักไพร่พลและเชลยที่ทุ่งสัมฤทธิ์ พวกครัวเรือนเมืองนครราชสีมาได้วางอุบายลวงทหารลาวจนตายใจแล้วฆ่าฟันทหารลาวตายเป็นจำนวนมาก จากนั้นจึงตั้งค่ายรอกองทัพจากกรุงเทพ ณ ที่นั้น ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เห็นการณ์ไม่สำเร็จตามที่คิด จึงถอยกลับไปตั้งมั่นที่กรุงเวียงจันทน์เพื่อรับศึกจากกองทัพกรุงเทพ

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยรู้ข่าวกองทัพเจ้าอนุวงศ์ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เพราะกองทัพไทยได้ข่าวเมื่อกองทัพเจ้าอนุวงศ์มาตั้งมั่นที่นครราชสีมา และส่งกองลาดตระเวนหาข่าวมาถึงสระบุรีแล้ว ซึ่งนับว่าใกล้กรุงเทพอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข่าวศึกแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์เป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพจากสระบุรีขึ้นไป และให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปทางอำเภอปักธงชัยแล้วตรงไปสมทบกันที่นครราชสีมา กองทัพทั้ง 2 สามารถตีทัพลาวแตกพ่ายไป ส่วนเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวหลบหนีไปพึ่งเวียดนาม เมื่อยึดเวียงจันทน์ได้แล้ว กรมพระราชวังบวรฯ โปรดให้สร้างเจดีย์ปราบเวียง และให้พระยาราชสุภาวดีกวาดครัวเวียงจันทน์ พร้อมทั้งอัญเชิญพระบาง พระแทรกคำ พระฉันสมอ และพระพุทธรูปศิลาเขียวมากรุงเทพฯ ด้วย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยาราชสุภาวดีเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดี ที่สมุหนายก

ใน พ.ศ. 2370 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับไปตีเมืองเวียงจันทน์อีกเพื่อทำลายเมืองเวียงจันทน์ให้สิ้น พระยาพิชัยสงครามคุมทหาร 300 นาย ข้ามแม่น้ำโขงไปดูลาดเลาได้ความว่าจักรพรรดิเวียดนามให้ข้าหลวงพาเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์กลับมาขอสวามิภักดิ์ฝ่ายไทยอีกครั้ง ครั้นรุ่งขึ้นเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์กลับยกพวกเข้าโจมตีทำร้ายทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาราชสุภาวดีเห็นพวกเวียงจันทน์ตามมาไล่ฆ่าฟันถึงชายหาดหน้าเมืองพันพร้าว ก็ทราบว่าเกิดเหตุร้าย จึงขอกำลังเพิ่มเติมจากเมืองยโสธร เจ้าอนุวงศ์ให้เจ้าราชวงศ์นำกำลังพลข้ามตามมาและปะทะกับทัพไทยที่บ้านบกหวาน แขวงเมืองหนองคาย เกิดการต่อสู้กันถึงขั้นตะลุมบอน แม่ทัพทั้งสองฝ่ายได้รบกันตัวต่อตัวจนถึงขั้นบาดเจ็บ ผลปรากฏว่าฝ่ายเจ้าราชวงศ์ล่าถอยไป กองทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงได้เร่งติดตามกองทัพลาวไปจนถึงเมืองพันพร้าวก็ปรากฏว่ากองทัพลาวข้ามแม่น้ำโขงไปแล้ว

ด้านเจ้าอนุวงศ์เห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นก็คิดว่าจะสู้ไม่ได้แน่ จึงพาครอบครัวหนีไปพึ่งเวียดนามอีกครั้ง แต่เจ้าน้อยเมืองพวนก็ได้จับกุมตัวเจ้าอนุวงศ์กับครอบครัวส่งมาที่กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เอาตัวเจ้าอนุวงศ์ใส่กรงเหล็กประจานไว้หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ หลังจากนั้นไม่นานเจ้าอนุวงศ์ก็สิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์นั้นได้ถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพของเมืองหลวง คงเหลือวัดสำคัญเพียงไม่กี่วัด เช่น วัดพระแก้ว และวัดสีสะเกดเท่านั้น

มีผู้วิเคราะห์เหตุผลของการพ่ายแพ้ของเจ้าอนุวงศ์ไว้หลายข้อ ได้แก่

  1. กองทัพลาวมีแสนยานุภาพด้อยกว่ากองทัพไทย
  2. แผนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของฝ่ายไทยเหนือกว่า
  3. เจ้าอนุวงศ์ถูกทรยศโดยเจ้าอุปราชของพระองค์เอง และลาวหลวงพระบางก็มีใจฝักใฝ่ฝ่ายไทย

[แก้] มุมมองต่อเหตุการณ์

เหตุการณ์สงครามครั้งนี้ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันไปกันโดยขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละฝ่าย โดยเจ้าอนุวงศ์ถูกฝ่ายลาวใช้เป็นสัญลักษณ์ของการการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการปกครองของไทย จึงเรียกชื่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าเป็น "สงครามกู้เอกราช" ทั้งยังยกย่องให้เจ้าอนุวงศ์เป็นวีรบุรุษของชาติมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคการปกครองรูปแบบพระราชอาณาจักรหรือยุคสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม ฝ่ายไทยมองการบุกรุกของเจ้าอนุวงศ์ว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของอาณาจักรไทย จึงเรียกชื่อเหตุการณ์นี้ว่า "กบฏเจ้าอนุวงศ์"

มีบางความเห็นกล่าวว่าเหตุการณ์นี้มิใช่การกอบกู้เอกราช เพราะเจ้าอนุวงศ์มีจุดประสงค์แน่ชัดที่จะมาทำลายเมืองกรุงเทพฯ และยึดประเทศไทยบางส่วนไว้เป็นเมืองขึ้น จึงเท่ากับเป็นสงครามช่วงชิงอำนาจตามปกติ อนึ่ง หากเจ้าอนุวงศ์ต้องการกอบกู้เอกราชเพียงแต่ตั้งแข็งเมืองก็เพียงพอแล้ว

เรื่องในประวัติศาสตร์ตอนนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ลาวอย่างยิ่ง

สมัยก่อนหน้า เจ้าอนุวงศ์ สมัยถัดไป
เจ้าอินทวงศ์ 2leftarrow.png พระมหากษัตริย์ลาว
แห่งราชอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์

(พ.ศ. 2348 - พ.ศ. 2371)
2rightarrow.png สิ้นสุดราชวงศ์