สุวรรณภูมิมหานคร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ที่ตั้งในอนาคตของ สุวรรณภูมิมหานคร
ขอบเขตสุวรรณภูมิมหานคร ตามร่าง พ.ร.บ.

มหานครสุวรรณภูมิ หรือ สุวรรณภูมิมหานคร คือโครงการตามนโยบายของรัฐ ภายใต้รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ริเริ่มโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ชื่อ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สกภ./OSDC) เป็นผู้บริหารโครงการ

โครงการนี้สืบเนื่องมาจากแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อเป็นเมืองศูนย์กลางการบิน และเป็นเมืองอากาศยาน โดยมีรูปแบบการพัฒนาเป็น เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ เขตการปกครองพิเศษ ที่มีรูปแบบคณะกรรมการอิสระในการดูแลบริหารเมือง มหานครสุวรรณภูมิ เป็นชื่อจังหวัดที่กำลังถูกเสนอให้พิจารณาตั้งเป็นจังหวัดใหม่ ลำดับที่ 77 ของประเทศไทย บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพมหานครบริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ในโครงการกำหนดให้ครอบคลุมพื้นที่เขตลาดกระบังและเขตประเวศในกรุงเทพมหานคร และอำเภอบางพลีและกิ่งอำเภอบางเสาธงในจังหวัดสมุทรปราการ เข้าด้วยกัน เพื่อวางกรอบการพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ รองรับการตั้งเมืองใหม่ ภายใต้ชื่อ "สุวรรณภูมิมหานคร" โดยจะมีพื้นที่รวมประมาณ 521 ตร.กม. และจะมีประชากรประมาณ 462,000 คน

โครงการได้รับการอนุมัติ ร่างพระราชบัญญัติสุวรรณภูมิมหานคร โดย คณะรัฐมนตรีรักษาการณ์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 มีมติเห็นชอบในหลักการ แต่ก็ยังมีเสียงทัดทานและสนับสนุนจากหลากหลายฝ่าย ในปัญหาเกี่ยวกับด้าน กฎหมาย, การวางผังเมือง, สิ่งแวดล้อม, การป้องกันน้ำท่วม/การระบายน้ำ, การปั่นราคาที่ดิน, และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะการเร่งรัดการเสนอโครงการนั้น มีลักษณะคล้ายโครงการเมืองใหม่องครักษ์ จังหวัดนครนายก และ โครงการเมืองใหม่บางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เคยล้มเหลวมาแล้ว

ข้อเสนอในการตั้งนครสุวรรณภูมิประกาศในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548[1] และร่างกฎหมายได้รับการรับรองโดยคณะรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 จากร่างกฎหมาย ในสี่ปีแรกนครสุวรรณภูมิจะบริหารโดยผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคณะกรรมการบริหารจำนวน 30 คน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คอยดูแล. หลังจากสี่ปีแรกแล้ว คณะกรรมการบริหารจะถูกยุบ แต่โครงสร้างการบริหารงานขั้นสุดท้ายยังไม่ได้เป็นที่ตกลงกัน. มีการวางแผนไว้ว่านครสุวรรณภูมิจะเป็นเขตการปกครองพิเศษ โดยอาจจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร. เป็นที่คาดหมายว่ากฎหมายฉบับสมบูรณ์จะแล้วเสร็จหลังจากวิกฤตการณ์การเมือง ที่ดำเนินอยู่ในขณะนั้น

ปัจจุบันคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2550 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้ระงับการนำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติสุวรรณภูมิมหานคร พ.ศ.... และขอถอนเรื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง ทำให้กระทบต่อความรู้สึกของประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ และเกิดการคัดค้านเรื่องเขตการปกครองกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เห็นด้วยที่ควรระงับการพิจาณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และควรออกกฎหมายเพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อให้เกิดสภาพบังคับโดยเร็ว ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่โดยรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิควรมองเรื่องการบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจเฉพาะมากกว่าการแบ่งเขตการปกครอง ให้จัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบในรูปแบบคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่แทน[2][3] สุวรรณภูมิมหานครจึงนับเป็นโครงการเมืองใหม่ที่ไม่ถูกอนุมัติอีกโครงการหนึ่ง ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติการแต่งตั้ง พระราชบัญญัติสุวรรณภูมิมหานคร พ.ศ. 2552 ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ของสำนักนายกรัฐมนตรี

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น