สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี.jpg
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระนาม สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระนามเต็ม กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง
พระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชินี
ฐานันดรศักดิ์ สมเด็จพระบรมราชินี
ราชวงศ์ ราชวงศ์จักรี

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี หรือ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง หรือ เจ้าฟ้าบุญรอด (พ.ศ. 2310 - 2379) พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเป็นพระบรมราชชนนีใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

เนื้อหา

[แก้] พระราชประวัติ

เจ้าฟ้าบุญรอด เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางพระองค์รองในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับ เจ้าขรัวเงิน ทรงประทับอยู่ที่ตำหนักแดง ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ในพระบรมมหาราชวัง และสนิทสนมอยู่กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ (แจ่ม) และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี (เอี้ยง) พระขนิษฐาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ขณะดำรงพระอิสริยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงแอบรักใคร่ชอบพอกับเจ้าฟ้าบุญรอด จนทรงพระครรภ์ได้ 4 เดือน ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงให้เจ้าฟ้าบุญรอดออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปประทับอยู่ ณ วังพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์

เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงขอพระราชทานอภัยโทษ และรับเจ้าฟ้าบุญรอดไปประทับ ณ พระราชวังเดิม เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน เจ้าฟ้าบุญรอดทรงพระครรภ์ได้ 7 เดือน และทรงยกย่องให้เป็นพระอัครมเหสี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงเสด็จออกจากพระบรมมหาราชวัง ไปประทับอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว(ขณะนั้นทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) ณ พระราชวังเดิมจนเสด็จสวรรคต

ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอัฐิพระมารดาขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงนับว่าเป็นพระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 2

[แก้] พระราชโอรส

สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงประสูติพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน 3 พระองค์ คือ

  • เจ้าฟ้าชาย (ราชกุมาร) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2344 เป็นเจ้าฟ้าที่ 1 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี และเป็นที่ 37 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ ในสมัยรัชกาลที่ 1
  • เจ้าฟ้าชายมงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2347 ที่ 2 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงผนวชอยู่ 27 พรรษา เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้เป็นเปรียญ ในรัชกาลที่ 3 เป็นพระราชาคณะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4
  • เจ้าฟ้าชายจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2351 ที่ 3 ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

[แก้] ราชตระกูล

พระราชตระกูลในสามรุ่นของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
พระชนก:
เจ้าขรัวเงิน
พระอัยกาฝ่ายพระชนก:
เศรษฐีจีนฮกเกี้ยนแซ่ตัน
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนก:
น้องสาวของท่านผู้หญิงน้อย
(ภรรยาของเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่))
พระปัยกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนก:
ไม่มีข้อมูล
พระชนนี:
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์
พระอัยกาฝ่ายพระชนนี:
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
พระยาราชนิกูล (ทองคำ)
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล
พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
พระอัครมเหสีหยก
พระปัยกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล
พระปัยยิกาฝ่ายพระชนนี:
ไม่มีข้อมูล

[แก้] อ้างอิง

  • พิมาน แจ่มจรัส, รักในราชสำนัก, สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2544, ISBN 974-341-064-3
  • กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร, ย้อนรอยราชสกุลวงศ์ วังหลวง, ดอกหญ้า, 2549, ISBN 974-941-205-2
ภาษาอื่น