ประเทศเดนมาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Kongeriget Danmark
คองเงรีเก แดนมาร์ค
ประเทศเดนมาร์ก
ธงชาติเดนมาร์ก ตราแผ่นดินของเดนมาร์ก
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญไม่มี1
เพลงชาติDer er et yndigt land (ชาติ);
Kong Christian (หลวง)
ที่ตั้งของเดนมาร์ก
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
โคเปนเฮเกน

55°43′N 12°34′E

ภาษาทางการ ภาษาเดนมาร์ก2
รัฐบาล ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
 -  พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธที่ 2
 -  นายกรัฐมนตรี ลาร์ส ลอกเก รัสมุสเซน
การรวมชาติ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ 
เข้าร่วม EU 1 มกราคม พ.ศ. 2516
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 43,094 กม.² (ลำดับที่ 1343)
 -  พื้นน้ำ (%) 1.6%3
ประชากร
 -  2548 ประมาณ 5,431,000 (อันดับที่ 109)
 -  2549 สำรวจ 5,450,661 
 -  ความหนาแน่น 126/กม.² (อันดับที่ 783)
GDP (PPP) 2548 ประมาณ
 -  รวม 187.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ3 (อันดับที่ 45)
 -  ต่อประชากร 34,700 ดอลลาร์สหรัฐ3 (อันดับที่ 6)
HDI (2546) 0.941 (สูง) (อันดับที่ 14)
สกุลเงิน โครนเดนมาร์ก (DKK)
เขตเวลา CET3 (UTC+1)
 -  ฤดูร้อน (DST) CEST3 (UTC+2)
รหัสอินเทอร์เน็ต .dk3
รหัสโทรศัพท์ +453
1คำขวัญของสมเด็จพระราชินีนาถ: Guds hjælp, Folkets kærlighed, Danmarks styrke (ภาษาอังกฤษ: God's help, People's love, Denmark's strength)
2เป็นภาษาทางการร่วมกับภาษากรีนแลนด์ในกรีนแลนด์ และเป็นภาษาทางการร่วมกับภาษาแฟโรในหมู่เกาะแฟโร ภาษาเยอรมันได้รับการรับรองเป็นภาษาชนกลุ่มน้อยในพื้นที่เซาท์จัตแลนด์ ส่วนภาษาเดนมาร์กได้รับการรับรองเป็นภาษาชนกลุ่มน้อยในรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ในเยอรมนี
3ข้อมูลนี้ไม่รวมกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโร

ประเทศเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Kongeriget Danmark) เป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิก มีแผ่นดินหลักตั้งอยู่บนคาบสมุทรจัตแลนด์ ทางทิศเหนือของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางบกเพียงประเทศเดียว ทางทิศใต้ของประเทศนอร์เวย์ และตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศสวีเดน มีพรมแดนจรดทะเลเหนือและทะเลบอลติก เดนมาร์กมีดินแดนนอกชายฝั่งห่างไกลออกไปสองแห่ง คือหมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์ ซึ่งแต่ละแห่งมีอำนาจปกครองตนเอง

เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป แต่ยังไม่เข้าร่วมใช้สกุลเงินยูโร เดนมาร์กเป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ

เนื้อหา

[แก้] การเมืองการปกครอง

เดนมาร์กมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ สมเด็จพระบรมราชินีนาถมาเกรเธที่ 2 ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถและทรงเป็นพระประมุขของราชอาณาจักรเดนมาร์ก

รัฐสภาเดนมาร์ก (The Forketing) เป็นระบบรัฐสภาเดียว มีสมาชิกสภาจำนวน 179 คน มาจากการเลือกตั้ง (รวมผู้แทนจากหมู่เกาะแฟโร 2 คน และกรีนแลนด์ 2 คน) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยมีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ และนายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยุบสภา

ระบบการเมืองของเดนมาร์กเป็นการเมืองแบบหลายพรรคการเมือง ที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับเลือกเป็นตัวแทนเข้าไปในรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กมักจะต้องบริหารงานได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนน้อยในสภาอย่างน้อยหนึ่งพรรคเสมอ จึงหมายความว่าการเมืองของเดนมาร์กนั้นเป็นการเมืองแบบใช้พรรคร่วมนั่นเอง ตั้งแต่ พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909) เป็นต้นมา ไม่มีพรรคการเมืองของเดนมาร์กพรรคใดที่สามารถครอบครองเสียงข้างมากในสภาเพียงพรรคเดียวได้เลย[1]

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

การแบ่งเขตการปกครองแบบเก่าของเดนมาร์ก มีทั้งหมด 13 มณฑล (270 เทศบาลนคร) และอีก 3 เทศบาลนครที่ไม่ขึ้นกับมลฑลใด พ.ศ. 2513 - พ.ศ. 2549 (ค.ศ. 1970 - ค.ศ. 2006)[2] ก่อนการปฏิรูปเขตการปกครอง พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007)

  1. โคเปนเฮเกน (อังกฤษ:Copenhagen เดนมาร์ก:København, เทศบาลนครที่ไม่ขึ้นกับมฑลใด)
  2. Frederiksberg (เทศบาลนครที่ไม่ขึ้นกับมฑลใด)
  3. Copenhagen County (Københavns Amt)
  4. Frederiksborg
  5. Roskilde
  6. West Zealand (Vestsjælland)
  7. Storstrøm
  8. Funen (Fyn)
  9. South Jutland (Sønderjylland)
  10. Ribe
  11. Vejle
  12. Ringkjøbing
  13. Viborg
  14. North Jutland (Nordjylland)
  15. Aarhus (Århus)
  16. Bornholm (เทศบาลนครที่ไม่ขึ้นกับมฑลใด)
Denmarkcounties.png

[แก้] ภูมิศาสตร์

เดนมาร์กแต่เดิมเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติน้อย พื้นที่ตลอดชายฝั่งเป็นสันทรายกว้างใหญ่ พื้นที่ส่วนอื่นเกิดจากธารน้ำแข็งและหนองน้ำ เดนมาร์กตั้งอยู่ระหว่างทะเลบอลติกและทะเลเหนือ ล้อมรอบด้วยพื้นน้ำเกือบทั้งหมด ภูมิประเทศประกอบด้วยคาบสมุทร Jutland (Jylland) และเกาะต่างๆอีก 406 เกาะ ในจำนวนนี้ 76 เกาะมีผู้อยู่อาศัย เกาะใหญ่ที่สุดคือ Zealand (Sjælland), Funen (Fyn), Lolland และ Bornholm เกาะ Bornholm จะอยู่ในทะเลบอลติกทางด้านตะวันออกของประเทศ เกาะอื่นๆส่วนใหญ่จะเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กมาก ที่มีผู้อยู่อาศัยเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เกาะขนาดใหญ่จะเชื่อมต่อกันด้วยสะพาน สะพาน Øresund เชื่อมต่อเกาะ Zealand กับประเทศสวีเดน สะพาน Great Belt เชื่อมต่อเกาะ Funen กับเกาะ Zealand และสะพาน Little Belt เชื่อมต่อคาบสมุทร Jutland กับเกาะ Funen เรือเฟอร์รี่และเครื่องบินจะใช้เพื่อการเดินทางไปยังเกาะเล็กๆ เมืองหลวงหลักคือโคเปนเฮเกน (อยู่บนเกาะ Zealand) Århus, Aalborg, Esbjerg (อยู่บนคาบสมุทร Jutland) และ Odense (อยู่บนเกาะ Funen) พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นที่ราบไม่มีภูเขา นอกจากหมู่เกาะแฟโร และเกาะกรีนแลนด์ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลจะมีทั้งที่ราบสูง และภูเขาสูง

ภูมิประเทศมีที่ราบสูงเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลเพียง 31 เมตร จุดที่อยู่สูงที่สุดตามธรรมชาติคือเนินเขา Møllehøj อยู่ที่ความสูง 170.86 เมตร[3] เนินเขาอื่นๆในบริเวณ Århus ตะวันตกเฉียงใต้ คือ Yding Skovhøj ที่ 170.77 เมตร และ Ejer Bavnehøj ที่ 170.35 เมตร ขนาดผืนน้ำบนผืนดินคือ 210 ตารางกิโลเมตร ในเดนมาร์กตะวันออก และ 490 ตารางกิโลเมตร ในเดนมาร์กตะวันตก

ช่องแคบออร์ซึนด์ (Oresund) ทางตะวันออกของประเทศ เป็นช่องแคบระหว่างเกาะ Zealand และประเทศสวีเดน เดนมาร์กมีอำนาจมากในการควบคุมทางผ่านช่องแคบนี้ สามารถเรียกเก็บภาษีจากผู้ผ่านเข้าออกได้

ภูมิประเทศของเดนมาร์ก เกือบทั้งหมดเป็นที่ราบไม่มีภูเขาสูง

[แก้] ประชากรศาสตร์

ในปีพ.ศ. 2550 เดนมาร์กมีประชากรราว 5.4 ล้านคน[4] ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเดนมาร์ก ร่วมกับชาวพื้นเมืองของกรีนแลนด์และแฟโร ภาษาเดนมาร์กเป็นภาษาทางการของประเทศ โดยใช้ร่วมกับภาษากรีนแลนด์และภาษาแฟโรในกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโรตามลำดับ ภาษาเยอรมันเป็นภาษาชนกลุ่มน้อยที่ได้รับความคุ้มครอง ใช้ในพื้นที่ติดชายแดน ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่สำคัญ[4] ร้อยละ 83 ของประชากรเป็นสมาชิกของคริสตจักรเอวาเจลิคัลลูเธอรันแห่งเดนมาร์ก ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ[5]

[แก้] เศรษฐกิจ

เดนมาร์กคือหนึ่งในประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม นอกจากนี้ยังเป็นรัฐสวัสดิการขนาดใหญ่ที่มีสวัสดิการแก่ประชาชนมากมาย อีกทั้งยังติดอันดับประเทศที่มีรายได้เข้าประเทศในอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย ประสิทธิภาพทางการตลาดของเดนมาร์กก็อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้มาตรฐานการอยู่อาศัยของเดนมาร์กก็อยู่สูงกว่ามาตรฐานเฉลี่ยของยุโรป[6][7] รวมทั้งมีการค้าขายเสรีจำนวนมากภายในประเทศ เดนมาร์กมีตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากรสูงกว่าประเทศในแถบยุโรปทั่วไป และสูงกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ 15 – 20 เปอร์เซ็น ทั้งนี้ยังเป็นประเทศที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงตามรายงานของการประชุมเศรษฐกิจโลกประจำปี พ.ศ. 2551 (World Economic Forum 2008), ไอเอ็มดี (IMD) และหนังสือพิมพ์ ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist)[8] และเดนมาร์กก็ยังเป็นสมาชิกของธนาคารโลก ตลาดแรงงานของเดนมาร์กเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงไปมาได้มากที่สุดในยุโรปตามการจัดลำดับของโออีซีดี (OECD) ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายสวัสดิการของรัฐที่ให้ตลาดแรงงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดแรงงานในประเทศสามารถว่าจ้าง, ไล่ออก, หรืองานใหม่ได้อย่างง่ายดาย ทำให้แรงงานในประเทศไม่ต้องกังวลเรื่องตกงาน และยังเป็นประเทศที่สามรถขายหรือหาซื้อสินค้าได้อย่างง่ายดาย โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นผลมาจากลัทธิเสรีนิยมที่เปิดกว้างทางธุรกิจมากมายในยุคทศวรรษที่ 1990 สกุลเงินของเดนมาร์กคือโครนเดนมาร์ก ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของเดนมาร์กถือว่ามั่นคงโดยอยู่ราวๆ 7.45 โครนต่อ 1 ยูโร และเมื่อเร็วๆ นี้อัตราแลกเปลี่ยนของโครนเดนมาร์กกับดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 5.75 โครนต่อ 1 ดอลลาร์ สินค้าส่งออกมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ อาหารสัตว์, ผลิตภัณฑ์เคมี, ผลิตภัณฑ์จากนม, ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า, ปลา, เฟอร์นิเจอร์, หนังสัตว์, เครื่องจักร, เนื้อสัตว์, น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และน้ำตาล ส่วนขนาดของเศรษฐกิจของเดนมาร์ก ใหญ่เป็นอันดับที่ 11 จาก 162 ประเทศ ถูกจัดทำขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ เดอะ วอลสตรีท เจอร์นัล

[แก้] การศึกษา

ระบบการศึกษาของเดนมาร์กเป็นระบบที่จะจัดหาสถานศึกษาให้นักศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา, มัธยมศึกษา หรือในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนักศึกษาไม่จำเป็นต้องหาสถานศึกษาเอง ส่วนเกณฑ์ระยะเวลาในการศึกษานั้น เดนมาร์กกำหนดไว้อย่างต่ำ 9 ปี ทั้งนี้รวมถึงโรงเรียนเอกชนหรือการศึกษาที่บ้านด้วย 99% ของนักเรียนมีการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา 86% มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา 46% มุ่งไปยังการศึกษาในระดับที่สูงกว่า ซึ่งวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทุกแห่งในเดนมาร์กล้วนไม่มีค่าใช้จ่าย เดนมาร์กมีโอกาสทางการศึกษามากมายรวมทั้งมีการศึกษาหลายช่องทางให้ศึกษาซึ่งรวมถึงโรงเรียนเตรียมเข้าอุดมศึกษา (โรงเรียนสอนในระดับที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษาแต่ต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา) ในเดนมาร์กมีมหาวิทยาลัยมากมาย แห่งที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดคือ มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1479

[แก้] การคมนาคม

สะพานโอเรซอนด์ที่เชื่อมต่อระหว่างสวีเดนและเดนมาร์ก

ทางด้านการคมนาคมของเดนมาร์กที่โดดเด่นที่สุดก็คือ สะพานโอเรซอนด์ ที่เชื่อมทางหลวงยุโรปสายอี 20 ระหว่างโคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก ไปยัง มาลโม, สวีเดน โดยเป็นสะพาน – อุโมงค์ มีทั้งทางสำหรับรถยนต์และทางรถไฟ และระบบสะพานเกรตเบลต์ที่เชื่อมระหว่างเกาะซีแลนด์และเกาะฟูเนน ทางทะเลก็มีท่าเรือโคเปเฮนเกน มาลโม ซึ่งก่อนการสร้างสะพานโอเรซอนด์ ท่าเรือแห่งนี้ใช้เป็นเส้นทางหลักในการไปมาระหว่างสวีเดนและเดนมาร์ก ซึ่งปัจจุบันนี้ท่าเรือข้ามฝากระหว่างสองเมืองนี้ได้ลดความสำคัญลงไปแล้วเป็นผลมาจากการสร้างสะพานโอเรซอนด์นั่นเอง ส่วนการคมนาคมทางรางของเดนมาร์กดำเนินการโดยการรถไฟแห่งเดนมาร์ก (Danish State Railways) สำหรับขบวนรถไฟโดยสาร ส่วนการเดินรถไฟบรรทุกสินค้าดำเนินการโดยบริษัทแรลลิออน (Railion) การควบคุมการจราจรทางรถไฟทั้งระบบควบคุมโดย บานด์ แดนมาร์ก นอกจากนี้ในกรุงโคเปนเฮเกนเองก็มีระบบรถไฟฟ้าใต้ดินขนาดเล็กให้บริการและยังมีบริการรถไฟชานเมืองด้วย สายการบินแห่งชาติของเดนมาร์กคือ สายการบินสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ซิสเต็ม ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติร่วมกันของสามประเทศคือ นอร์เวย์, สวีเดน และเดนมาร์ก สนามบินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือสนามบินโคเปนเฮเกน และยังเป็นสนามบินหลักที่ใหญ่ที่สุดของสายการบินแห่งชาติ ทางทะเลมีบริการเรือเฟอร์รี่ระหว่างเกาะแฟโรกับกรุงโคเปนเฮเกนและประเทศเพื่อบ้านเช่น สวีเดน, นอร์เวย์ และเยอรมนี เป็นต้น ส่วนรถยนต์ของเดนมาร์กจากที่มีรถจดทะเบียนในปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) อยู่ทั้งหมด 1,389,547 คัน เพิ่มขึ้นมาเป็น 2,020,013 คัน ใน พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) แต่แม้กระนั้นภาษีของการจดทะเบียนรถยนต์ก็ยังคงสูงลิ่วอยู่เช่นเดิมที่ประมาณ 180% และมาตรฐานรถยนต์ของเดนมาร์กได้รับการยอมรับว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสูงด้วย

[แก้] วัฒนธรรม

ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เป็นที่รู้จักทั่วไปนะฐานะนักแต่งนิทานอันโด่งดังของเดนมาร์ก จากนิทานหลายๆ เรื่องของเขา เช่น พระราชากับชุดล่องหน (The Emperor’s New Clothes), เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid), และ ลูกเป็ดขี้เหร่ (The Ugly Duckling) ฯลฯ จากนี้ยังมี นักเขียนรางวัลโนเบล คาเรน บลิกเซน, เฮนริก พอนทอปพิแดน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล นีลส์ บอร์ นักวาดการ์ตูนล้อเลียน วิกเตอร์ บอร์จ และนักปรัชญา ซอร์เรน เคียร์เกการ์ด ทั้งหมดล้วนสร้างชื่อเสียงให้แก่ตนเองและประเทศเดนมาร์กในระดับต่างประเทศทั้งสิ้น ในกรุงโคเปนเฮเกนล้วนมีสถานที่ที่สวยงามและน่าสนใจมากมายเช่น สวนทิโวลี, พระราชวังอาเมเลียนเบิร์ก (ที่พำนักของพระราชวงศ์เดนมาร์ก), พระราชวังคริสเตียนเบิร์ก, มหาวิหารโคเปนเฮเกน, ปราสาทโรเซนเบิร์ก, โรงละครโอเปร่า, โบสถ์เฟดเดอร์ริก, พิพิธภัณฑ์โทรวาร์ลด์เซน และรูปแกะสลักนางเงือก ฯลฯ ส่วนนครที่ใหญ่อันดับสองของประเทศคือ เมืองอาร์เธอร์ ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่ก่อตังขึ้นในสมัยไวกิง และเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศด้วย ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดของประเทศและใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคยุโรปเหนือ เดนมาร์กยังเป็นประเทศผู้นำทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเหมือนกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวียอื่นๆ เช่นการออกกฎหมายให้สื่อลามกเป็นสิ่งถูกกฎหมายหรือการออกกฎหมายให้ผู้รักร่วมเพศสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

[แก้] วรรณกรรม

วรรณกรรมของเดนมาร์กที่เป็นที่รู้จักในระยะแรกคือ วรรณกรรมประเภทปริศนาและวรรณกรรมพื้นบ้านจากยุคคริสต์ศตวรรษที่ 1011 ส่วนแซกโซ แกรมาทิซัส เป็นผู้ที่ซึ่งได้รับการเคารพนับถือในฐานะนักประพันธ์คนแรกของเดนมาร์ก เขาทำงานให้กับบิชอบที่แอบซาลอนตามบันทึกประติศาสตร์ของเดนมาร์ก ซึ่งน้อยมากที่จะมีผู้รู้จักนักประพันธ์คนอื่นจากยุคกลางซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ยังมีละครตลกที่นิยมกันจากช่วงยุคเรืองปัญญาของ ลุดวิก ฮอลเบิร์ก และยังมีนักเขียนและนักประพันธ์ที่สำคัญของโลกจากเดนมาร์ก เช่น ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน จากนิทานของเขาและยังมี ซอร์เรน เคียร์เกการ์ด ผู้ที่ยึดถือในหลักอัตถิภาวนิยม ซึ่งผลงานการประพันธ์ของเขาหลายละชิ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้ส่งผลกระเทือนไปยังสังคมของเดนมาร์ก และยังมีนักเขียนชื่อดังอีกมากมายเช่น จอร์จ บลันด์ และเฮนริก พอนทอปพิแดน เป็นต้น ทั้งคู่ล้วนได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมด้วยกันทั้งคู่

[แก้] ภาษา

ดูบทความหลักที่ ภาษาเดนมาร์ก

ชาวเดนมาร์กส่วนใหญ่ใช้ภาษาเดนมาร์กเป็นภาษาแม่ ซึ่งเป็นภาษาในกลุ่มภาษาเจอร์เมนิกเหนือ (หรือภาษาสแกนดิเนเวีย) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของกลุ่มภาษาเจอร์เมนิก สาขาของภาษาตระกูลอินโด-ยูโรเปียน ภาษาเดนมาร์กเป็นภาษาทางการภาษาเดียวของเดนมาร์ก และเป็นภาษาทางการหนึ่งในสองภาษาของเกาะกรีนแลนด์และหมู่เกาะแฟโร ซึ่งมีฐานะเป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก นอกจากนี้ภาษาเดนมาร์กยังพูดกันในหมู่ชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี และในประเทศไอซ์แลนด์ ภาษาเดนมาร์กเป็นภาษาต่างประเทศภาษาที่สอง (รองจากภาษาอังกฤษ) ที่มีการเรียนการสอนกันในสถาบันการศึกษาแพร่หลายที่สุด

[แก้] กีฬา

กีฬาที่ได้รับความนิยมในเดนมาร์กได้แก่ ฟุตบอลและล่องเรือ หรือกีฬาทางน้ำอื่นๆ ก็ได้รับความนิยมเช่นกัน ส่วนกีฬาในร่มก็ได้แก่ แบดมินตัน, แฮนบอล, กอล์ฟในร่ม และยิมนาสติก นอกจากนี้ในเดนมาร์กยังมีกลุ่มคนที่ชื่นชอบกีฬาที่ใช้ความเร็วซึ่งก็ประสมความสำเร็จในหลายรายการแข่งขัน ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือจากการแข่งขัน 24 ชั่วโมง รายการ 24 Hours of Le Mans ในฝรั่งเศส ที่ซึ่ง ทอมคริสเตนเซน ชนะเลิศการในแข่งขัน 8 สมัย ส่วนนักกีฬาที่มีชื่อเสียงอื่นๆ เช่น คาโรไลน์ วอซเนียคกี นักเทนนิสดาวรุ่ง, ไมเคิล รัสมุสเซน นักปั่นจักรยาน, ไมเคิล และ ไบรอัน ลูดรับ, และยังเป็นประเทศบ้านเกิดของอดีตนักชกแชมป์ WBA & WBC รุ่นซุเปอร์มิดเดิลเวดท์ มิกเกล เคสส์เลอร์ รวมถึง นักกอล์ฟยูโรเปียนทัวร์ ทอมัส บจ์อน ที่ชนะหลายรายการแข่งขันในเวทีโลก

[แก้] ดนตรี

เดนมาร์กเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรมมาช้านาน รวมถึงดนตรีด้วยเช่นกัน โดยที่โดดเด่นที่สุดอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งเดนมาร์กเองมีความหลายหลายทางด้านดนตรี วัฒนธรรมและประเพณีที่แตกต่างออกไปในแต่ละแห่ง ซึ่งเกาะโพ้นทะเลของเดนมาร์กเองก็มีวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งวงดุริยางค์ออร์เคสตร้าหลวงของเดนมาร์กเป็นวงออร์เคสตร้าที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คาร์ล นีลเซน และนักดนตรีซิมโฟนี่ออร์เคสตร้าอีก 6 คน เป็นวงดนตรีแรกที่สร้างชื่อเสียงทางด้านดนตรีในระดับต่างประเทศให้กับประเทศจากการประพันธ์เพลงของคาร์ล และในขณะที่อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงแผ่ขยายออกไปทั่วโลก วงการเพลงในเดนมาร์กก็ปั้นนักดนตรีป็อปสตาร์มากมายและปั้นนักดนตรีจากหลากหลายแขนงด้วยเช่นกัน แต่น้อยคนนักที่จะโด่งดังไปในระดับนานาชาติได้เท่ากับ ลาร์ อูลริช พร้อมด้วย วิกฟิลด์กับวงดนตรีป็อปยุคทศวรรษที่ 90 วงอควาที่โด่งดังไปทั่วโลก

[แก้] อาหาร

วัฒนธรรมอาหารของเดนมาร์กส่วนมากคล้ายคลึงกับกลุ่มประเทศนอร์ดิกอื่นๆ ซึ่งบางส่วนรับวัฒนธรรมการกินมาจากเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนี โดยส่วนมากประกอบขึ้นจากปลา, เนื้อ ,อาหารจากนม เป็นต้น ซึ่งบางครั้งจะรวมเบียร์เข้าไปในบางมื้อเช่น มื้อเย็นด้วย

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ The Folketing กระทรวงการต่างประเทศเดนมาร์ก เรียกข้อมูลวันที่ 29-08-2550 (อังกฤษ)
  2. ^ Counties of Denmark 1970 - 2006 World Statesmen Organization เรียกข้อมูลวันที่ 30-08-2550 (อังกฤษ)
  3. ^ Denmark proclaims new peak The Copenhagen Post Denmark เรียกข้อมูลวันที่ 31-08-2550 (อังกฤษ)
  4. ^ 4.0 4.1 เวิลด์แฟกต์บุ๊ก เรียกข้อมูลวันที่ 13-06-2550 (อังกฤษ)
  5. ^ Kirkestatistik for 2005 คริสตจักรเอวาเจลิคัลลูเธอรันแห่งเดนมาร์ก เรียกข้อมูลวันที่ 13-06-2550 (เดนมาร์ก)
  6. ^ [1]Human Development Report 2007/2008
  7. ^ [2]List of countries by Human Development Index
  8. ^ In the Media. Investindk.com. สืบค้นวันที่ 2009-05-05

[แก้] ดูเพิ่ม

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

ภาษาอื่น