ประเทศไอซ์แลนด์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Lýðveldið Ísland
ลิทเวลติท อีสลันต
สาธารณรัฐไอซ์แลนด์
ธงชาติไอซ์แลนด์ ตราแผ่นดินของไอซ์แลนด์
ธงชาติ ตราแผ่นดิน
คำขวัญไม่มี
เพลงชาติลอฟเซิงกือร์ (Lofsöngur)
ที่ตั้งของไอซ์แลนด์
เมืองหลวง
(และเมืองใหญ่สุด)
เรคยาวิก

64°08′N 21°56′W

ภาษาทางการ ภาษาไอซ์แลนด์
รัฐบาล สาธารณรัฐประชาธิปไตยแบบรัฐสภา
 -  ประธานาธิบดี โอลาฟือร์ รักนาร์ กริมส์ซอน
 -  นายกรัฐมนตรี Jóhanna Sigurðardóttir
ได้รับเอกราช จาก เดนมาร์ก 
 -  ปกครองตนเอง 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 24461 
 -  อธิปไตย 1 ธันวาคม พ.ศ. 2461 
 -  สาธารณรัฐ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2487 
เนื้อที่
 -  ทั้งหมด 103,000 กม.² (ลำดับที่ 107)
 -  พื้นน้ำ (%) 2.7
ประชากร
 -  2551 ประมาณ 313,3762 (อันดับที่ 172)
 -  2523 สำรวจ 229,187 
 -  ความหนาแน่น 3.1/กม.² (อันดับที่ 195)
GDP (PPP) 2550 ประมาณ
 -  รวม 11.89 พันล้านดอลลาร์ (อันดับที่ 132)
 -  ต่อประชากร 39,400 ดอลลาร์ (อันดับที่ 5)
HDI (2549) 0.968 (สูง) (อันดับที่ 2)
สกุลเงิน โครนาไอซ์แลนด์ (ISK)
เขตเวลา GMT (UTC+0)
รหัสอินเทอร์เน็ต .is
รหัสโทรศัพท์ +354
1 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 ตรงกับ พ.ศ. 2446 ตามการนับพุทธศักราชแบบเดิมที่เริ่มต้นวันที่ 1 เมษายน
2Statistics Iceland:Key figures. www.statice.is (29 ก.พ. 2008).

ไอซ์แลนด์ มีชื่อทางการคือ สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ (ไอซ์แลนด์: Ísland หรือ Lýðveldið Ísland; IPA: [ˈliðvɛltɪθ ˈistlant]) เป็นประเทศนอร์ดิกในยุโรปเหนือ ตั้งอยู่บนเกาะในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ระหว่างกรีนแลนด์ นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร มีเมืองหลวงคือเรคยาวิก

ไอซ์แลนด์มีประชากรประมาณสามแสนคน มีพื้นที่ประเทศรวม 103,000 ตารางกิโลเมตร[1] นับว่ามีประชากรเบาบาง จากดัชนีการพัฒนามนุษย์ ปี พ.ศ. 2549 ของสหประชาชาติ ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงที่สุดในโลก[2] ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกของนาโต เอฟตา อีอีเอ และโออีซีดี แต่ไม่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

คำว่า "ไอซ์แลนด์" ที่ใช้ในภาษาไทยนั้นทับศัพท์จากคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "Iceland" ส่วนชื่อในภาษาไอซ์แลนด์คือ "Ísland" (อีสลันต) คำว่า ís แปลว่าน้ำแข็ง และ land แปลว่าแผ่นดินหรือประเทศ

เนื้อหา

[แก้] ประวัติศาสตร์

ชนกลุ่มแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่ในไอซ์แลนด์เชื่อกันว่าเป็นนักบวชชาวไอริช ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในพุทธศตวรรษที่ 14 และย้ายออกไปก่อนชาวไวกิงเข้ามา พวกไวกิงเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ในปี พ.ศ. 1417 การตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ถูกบันทึกในหนังสือการตั้งถิ่นฐาน (Landnámabók) จากหนังสือนี้ โดยระบุว่า Ingólfur Arnarson เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานคนแรก และตามมาด้วยชาวไวกิงอีกจำนวนหนึ่งในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 1417 ถึง 1473[3] ชื่อส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้เป็นชื่อชาวเคลติก และได้กล่าวถึงการนำทาสชาวเคลติกเข้ามาด้วย ภายในปี พ.ศ. 1473 ไอซ์แลนด์ได้เขียนรัฐธรรมนูญ และก่อตั้งอัลทิงกิ (Alþingi) ซึ่งเป็นรัฐสภาขึ้น ใช้อำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ เป็นศูนย์กลางของรัฐอิสระไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์รับคริสต์ศาสนาในปี พ.ศ. 1543[4]

ไอซ์แลนด์เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในช่วง พ.ศ. 1763 ถึง 1805 ส่งผลทำให้ไอซ์แลนด์ถูกผนวกไปอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์นอร์เวย์ในปี พ.ศ. 1805 และต่อมา กษัตริย์เดนมาร์ก หลังจากที่นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์กรวมกันภายใต้สหภาพคาลมาร์ กษัตริย์เดนมาร์กประกาศคริสต์ศาสนานิกายลูเทอรันเป็นศาสนาของอาณาจักรประมาณปี พ.ศ. 2093 ส่งผลมาถึงการยึดทรัพย์ของโบสถ์โรมันคาทอลิกในไอซ์แลนด์ และบิชอปคาทอลิกคนสุดท้ายถูกตัดหัว[4]

เดนมาร์กควบคุมการค้าในไอซ์แลนด์ในปี พ.ศ. 2145 ระหว่าง พ.ศ. 2250 ถึง พ.ศ. 2252 เกิดโรคฝีดาษระบาด ทำให้ประชากรลดลงจาก 50 000 เหลือเพียงราว 35 000 คน ในปี พ.ศ. 2326 ถึง พ.ศ. 2328 เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างมากอีก จากเหตุภูเขาไฟระเบิดและภาวะขาดแคลนอาหาร

ไอซ์แลนด์อยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กหลังการแยกตัวของสหภาพเดนมาร์ก-นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ได้รัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ. 2417 ปีที่เฉลิมฉลองหนึ่งสหัสวรรษการตั้งถิ่นฐานในไอซ์แลนด์ รัฐธรรมนูญใหม่นี้ให้ไอซ์แลนด์มีอำนาจในกิจการภายใน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในปี พ.ศ. 2447 ซึ่งให้อำนาจปกครองตัวเองกับไอซ์แลนด์ ไอซ์แลนด์ได้เป็นรัฐเอกราชในปี พ.ศ. 2461 โดยมีพระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์กเป็นประมุข โดยไอซ์แลนด์ยังให้เดนมาร์กจัดการกิจการต่างประเทศและการป้องกันประเทศให้ หลังจากเยอรมนียึดครองเดนมาร์กในปี พ.ศ. 2483 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง อัลทิงกิจึงตัดสินใจบริหารการต่างประเทศเองและประกาศนโยบายเป็นกลาง แต่ก็ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรยึดครองในเวลาต่อมา โดยเริ่มต้นเป็นกองทัพสหราชอาณาจักร และต่อมาเป็นกองทัพสหรัฐอเมริกา ฝ่ายสัมพันธมิตรคงกองกำลังในไอซ์แลนด์จนกระทั่งจบสงคราม ไอซ์แลนด์ประกาศเป็น สาธารณรัฐในปี พ.ศ. 2487 มี สเวน ปีเยิร์นสซอน (Sveinn Björnsson) เป็นประธาธิบดีคนแรก ไอซ์แลนด์เป็นสมาชิกรุ่นก่อตั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรป (ปัจจุบันคือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา) และนาโต ไอซ์แลนด์ทำข้อตกลงทางกองทัพกับสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2494 โดยให้สหรัฐตั้งฐานทัพในไอซ์แลนด์ ซึ่งคงอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2549 ไอซ์แลนด์เกิดความขัดแย้งหลายครั้งกับสหราชอาณาจักรในเรื่องการขยายน่านน้ำประมงของไอซ์แลนด์ในช่วงปี พ.ศ. 2501 2515 และ 2521 รู้จักกันในชื่อสงครามปลาคอด (Þorskastríðin; Cod War) ไอซ์แลนด์เข้าร่วมสมาคมการค้าเสรียุโรปและเป็นสมาชิกก่อตั้งของเขตเศรษฐกิจยุโรป

[แก้] การเมืองการปกครอง

ไอซ์แลนด์เป็นสาธารณรัฐ ใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน โดยเป็นระบอบรัฐสภา ไอซ์แลนด์มีรัฐธรรมนูญแบบเป็นลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไอซ์แลนด์ประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2417 ในสมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์ก รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2487 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วหกครั้ง

ประธานาธิบดีแห่งไอซ์แลนด์ทำหน้าที่เป็นประมุขแห่งรัฐ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง มีวาระสี่ปี ตามรัฐธรรมนูญ ประธานาธิบดีไม่ใช้อำนาจบริหารเอง แต่เป็นผู้แต่งตั้งรัฐมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่หลังการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีมีอำนาจในส่วนนิติบัญญัติร่วมกับรัฐสภา โดยหากประธานาธิบดีไม่รับรองกฎหมายที่ผ่านสภามา จะต้องจัดการประชามติและหากผลประชามติไม่เห็นชอบ กฎหมายนั้นก็จะเป็นโมฆะ[5] ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของไอซ์แลนด์คือโอลาฟือร์ รักนาร์ กริมส์ซอน ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2539 2543 และ 2547

รัฐสภาของไอซ์แลนด์เรียกในภาษาท้องถิ่นว่าอัลทิงกิ (Alþingi) โดยอัลทิงกิสมัยใหม่ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2388 ทำหน้าที่ถวายคำแนะนำต่อกษัตริย์เดนมาร์ก โดยดั้งเดิมทั้งอัลทิงกิเป็นสภานิติบัญญัติและตุลาการซึ่งตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1473 เป็นรากฐานของรัฐอิสระไอซ์แลนด์ ต่อมาอัลทิงกิเปลี่ยนแปลงหน้าที่ตามยุคสมัยมาจนการยุบในปี พ.ศ. 2343 อัลทิงกิกลับมาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกครั้งในปี พ.ศ. 2417 ปัจจุบัน อัลทิงกิเป็นสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 63 คน มาจากการเลือกตั้งทุกสี่ปี ประชากรที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีมีสิทธิเลือกตั้ง โดยทั่วไป หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภาหลังการเลือกตั้งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล หัวหน้ารัฐบาลคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนปัจจุบันคือJóhanna Sigurðardóttir

ไอซ์แลนด์ใช้ระบบพหุพรรค ปัจจุบันมีพรรคการเมืองห้าพรรคที่มีที่นั่งในอัลทิงกิ ได้แก่ พรรคอิสรภาพ พันธมิตรสังคมนิยมประชาธิปไตย ขบวนการฝ่ายซ้าย-กรีน พรรคก้าวหน้า และพรรคเสรีนิยม

[แก้] การแบ่งเขตการปกครอง

ภูมิภาคของไอซ์แลนด์

ประเทศไอซ์แลนด์แบ่งออกเป็น 8 เขตหรือภูมิภาค เรียกในภาษาไอซ์แลนด์ว่า landsvæðun (พหู. landsvæði) ได้แก่

  1. Höfuðborgarsvæðið (เฮอฟึทปอร์การ์สไวทิท ‒ เขตเมืองหลวง)
  2. Suðurnes (ซือทือร์เนส ‒ คาบสมุทรใต้)
  3. Vesturland (เวสตือร์ลันต์ ‒ เขตตะวันตก)
  4. Vestfirðir (เวสต์ฟีร์ทีร์ ‒ ฟยอร์ดตะวันตก)
  5. Norðurland vestra (นอร์ทือร์ลันต์ เวสตรา ‒ เขตเหนือ ตะวันตก)
  6. Norðurland eystra (นอร์ทือร์ลันต์ เออิสตรา ‒ เขตเหนือ ตะวันออก)
  7. Austurland (เอิสตือร์ลันต์ ‒ เขตตะวันออก)
  8. Suðurland (ซูทือร์ลันต์ ‒ เขตใต้)

ในระดับท้องถิ่น ไอซ์แลนด์แบ่งออกเป็นเขตเทศบาล 79 เขต เรียกในภาษาไอซ์แลนด์ว่า sveitarfélagið (พหู. sveitarfélög) นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ยังมีการแบ่งแบบดั้งเดิมเป็นมณฑล (sýslur) 23 แห่ง เมืองอิสระ (kaupstaðir) 8 แห่ง เมือง (bæir) 7 แห่ง และการแบ่งแยกแบบอื่นๆ อีก 5 แห่ง การแบ่งการปกครองในระดับนี้แทบไม่มีความสำคัญแล้วในปัจจุบัน[6]

[แก้] ภูมิศาสตร์

ไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนสันเขาซึ่งแยกสองแผ่นทวีป
น้ำพุร้อน Strokkur ขณะกำลังปะทุ

[แก้] ภูมิประเทศ

เกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ถัดลงมาทางใต้เล็กน้อยจากอาร์กติกเซอร์เคิล ไอซ์แลนด์ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปเหนือ ไม่ใช่อเมริกาเหนือ โดยเป็นเกาะที่มีพื้นที่มากที่สุดเป็นอันดับสองของยุโรปรองจากบริเตนใหญ่[7]

ไอซ์แลนด์มีพื้นที่ทั้งหมด 103,000 ตารางกิโลเมตร มีชายฝั่งยาว 4970 กิโลเมตร ระยะทางใกล้ที่สุดไปยังประเทศอื่นๆ คือ 287 กิโลเมตรถึงกรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) 798 กิโลเมตรถึงสกอตแลนด์ (สหราชอาณาจักร) และ 970 กิโลเมตรถึงนอร์เวย์แผ่นดินใหญ่[8] 62% ของพื้นที่ประเทศเป็นที่รกร้าง มีเพียง 23% ที่พืชเจริญเติบโตได้ อีก 11% เป็นธารน้ำแข็ง[8] พื้นที่ส่วนใหญ่ของไอซ์แลนด์เป็นที่สูง มากกว่าหนึ่งในสามของประเทศสูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 600 เมตร[8] จุดที่สูงที่สุดคือยอดเขาฮวันนาตัลสนูกือร์ (Hvannadalshnúkur)

[แก้] ธรณีวิทยา

ในทางธรณีวิทยา ไอซ์แลนด์เป็นผืนดินที่ยังใหม่ โดยไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนจุดร้อนไอซ์แลนด์และสันเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก[9] ซึ่งเป็นแนวแผ่นเปลือกแยกตัวระหว่างแผ่นทวีปอเมริกาเหนือและแผ่นทวีปยูเรเชีย ไอซ์แลนด์มีภูเขาไฟมากกว่าร้อยแห่ง[10] หลายแห่งยังคงคุกรุ่นอยู่ เช่น ภูเขาไฟเฮกลา (Hekla) ซึ่งปะทุครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2543[11] ปัจจัยเดียวกับที่ทำให้เกิดภูเขาไฟนี้ ยังทำให้ไอซ์แลนด์มีแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพสูง ไอซ์แลนด์มีแหล่งน้ำพุร้อนจำนวนมาก และยังได้ไฟฟ้าพลังน้ำด้วย[12] ไอซ์แลนด์ครอบครองเกาะซึร์ทเซย์ ซึ่งขึ้นมาจากเหนือน้ำทะเลหลังการระเบิดของภูเขาไฟใต้ทะเลในปี พ.ศ. 2506

[แก้] ภูมิอากาศ

ไอซ์แลนด์มีภูมิอากาศแบบภาคพื้นสมุทรกึ่งอาร์กติก ค่อนข้างอบอุ่นจากอิทธิพลของกัลฟ์สตรีม อุณหภูมิเฉลี่ยที่เรคยาวิกในเดือนมกราคมอยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส ขณะที่เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 11 องศาเซลเซียส[13] วันที่อากาศอบอุ่นที่สุดในฤดูร้อนของไอซ์แลนด์มีอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส ที่สูงตอนกลางของประเทศมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าที่ต่ำตามชายฝั่งพอสมควร โดยในฤดูหนาว ที่สูงของประเทศมีอุณหภูมิประมาณลบ 25 ถึง 30 องศาเซลเซียส[14]

[แก้] เศรษฐกิจและคมนาคม

แผนที่แสดงเส้นทางของถนนวงแหวน

พื้นฐานเศรษฐกิจของไอซ์แลนด์เป็นรูปแบบทุนนิยม แต่ก็สนับสนุนรัฐสวัสดิการอย่างกว้างขวาง ลักษณะเดียวกับประเทศนอร์ดิกอื่นๆ ไอซ์แลนด์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากร (GDP per capita) ในระดับสูง ไอเอ็มเอฟประเมินจีดีพีต่อประชากรที่ราคาปัจจุบัน (nominal) ของปี พ.ศ. 2550 ที่ 62,976 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (อันดับที่ 4 ของโลก)[15] และจีดีพีต่อประชากรเทียบด้วยกำลังซื้อ (PPP) ที่ 41,680 ล้านดอลลาร์สากล (อันดับที่ 5 ของโลก)[16] นอกจากนี้ไอซ์แลนด์ยังมีความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจสูง โดยมีดัชนีจีนีเท่ากับ 25 จากข้อมูลของซีไอเอ[17]

อุตสาหกรรมหลักของไอซ์แลนด์คืออุตสาหกรรมประมง โดยสินค้าทะเลมีมูลค่าการส่งออกปีละประมาณ 1.2 แสนล้านโครนาไอซ์แลนด์ จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดสามแสนล้านในปี 2550[18] สินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ได้แก่อะลูมิเนียม เฟร์โรซิลิคอน ดินเบา และผลิตภัณฑ์จากสัตว์[1] มีประเทศคู่ค้าส่งออกที่สำคัญคือเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และสเปน ไอซ์แลนด์มีสินค้านำเข้าสำคัญคือเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหาร และสิ่งทอ โดยประเทศคู่ค้านำเข้าสำคัญคือสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ 70% ของแรงงานในไอซ์แลนด์ทำงานในภาคการบริการ[19]

สกุลเงินที่ใช้คือโครนาไอซ์แลนด์ (króna – ISK) ออกโดยธนาคารกลางไอซ์แลนด์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลนโยบายการเงินด้วย ค่าเงินโครนามีความผันผวนกับสกุลเงินยูโรสูง จึงทำเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนมาใช้เงินยูโรโดยไม่เข้าร่วมกับกลุ่มสหภาพยุโรป จากการสำรวจในปี 2550 พบว่า 53% ของชาวไอซ์แลนด์สนับสนุนการร่วมใช้สกุลเงินยูโร 37% ต่อต้าน และ 10% ไม่ตัดสินใจ[20] ไอซ์แลนด์มีอัตราการใช้จ่ายด้วยเงินสดในประเทศต่ำมาก (น้อยกว่า 1% ของ GDP)[21] และนับได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้ปัจจัยอื่นทดแทนเงินสดได้มากที่สุด[22] ประชากรส่วนใหญ่ชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแม้จะเป็นเพียงจำนวนเล็กน้อย[23] พลังงานทดแทน ได้แก่พลังงานน้ำและพลังงานความร้อนใต้พิภพ เป็นส่วนประกอบถึงมากกว่า 70% ของการบริโภคพลังงานของไอซ์แลนด์[24]

ในปี 2551 ไอซ์แลนด์มีถนนยาวทั้งหมด 13,058 กิโลเมตร[1] ไม่มีทางรถไฟหรือแม่น้ำที่เดินเรือได้ ถนนวงแหวน หรือทางหลวงหมายเลข 1 (Hringvegur หรือ Þjóðvegur 1) เป็นถนนสายหลักของประเทศ วนรอบเกาะไอซ์แลนด์ เชื่อมต่อพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประเทศ มีความยาว 1339 กิโลเมตร จากสถิติปี 2550 ไอซ์แลนด์มีรถยนต์ 227,321 คัน โดยเป็นรถยนต์นั่ง 197,305 คัน คิดเป็นประชากร 1.6 คนต่อรถหนึ่งคัน[25]ไอซ์แลนด์มีสนามบิน 99 แห่ง โดยห้าแห่งเป็นสนามบินที่มีทางวิ่งลาดยาง[1] สนามบินที่ใหญ่ที่สุดคือท่าอากาศยานนานาชาติเคฟลาวิก ใกล้กับเมืองเคฟลาวิก ห่างจากเรคยาวิก 50 กิโลเมตร[26] ในขณะที่ท่าอากาศยานเรคยาวิกเป็นท่าอากาศยานในประเทศ สายการบินแห่งชาติของไอซ์แลนด์คือไอซ์แลนด์แอร์ (Icelandair)

[แก้] ประชากร

ไอซ์แลนด์มีประชากร 313,376 คน (ประมาณการ 1 มกราคม 2551) [27] เมืองที่ใหญ่ที่สุดคือเรคยาวิก มีประชากรประมาณ 1.2 แสนคน ประมาณร้อยละ 6 ของประชากรในไอซ์แลนด์เป็นพลเมืองต่างประเทศ โดยมีพลเมืองนอร์ดิกอื่นๆ 1.7 พันคน ชาวยุโรปอื่นๆ 1.2 หมื่นคน ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นชาวโปแลนด์ ชาวเอเชีย 2.9 พันคน ส่วนใหญ่มาจากฟิลิปปินส์ (778) จีน (755) และไทย (546) [28]

[แก้] ศาสนาและภาษา

ไอซ์แลนด์มีศาสนจักรประจำชาติ เป็นคริสตจักรเอวานเจลิคัลลูเทอรัน ซึ่งรัฐบาลให้การสนับสนุน โดยรัฐบาลเคารพเสรีภาพทางศาสนาซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ[29] ร้อยละ 82 ของประชากรเป็นสมาชิกของคริสตจักรไอซ์แลนด์ มีคริสตจักรลูเทอรันเสรีอื่นๆ มีสมาชิกรวมกัน 4.7 เปอร์เซนต์ของประชากร มีองค์กรทางศาสนาอื่นๆ ที่ได้ลงทะเบียนรับรอง มีสมาชิกรวมกัน 5.1 เปอร์เซนต์ของประชากร กลุ่มศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดคือ เอาซาตรูอาร์เฟลายิท (Ásatrúarfélagið) ซึ่งเป็นกลุ่มนีโอเพแกน

ภาษาหลักของไอซ์แลนด์คือภาษาไอซ์แลนด์ เป็นภาษาในกลุ่มเจอร์เมนิกเหนือ โดยยังคงลักษณะใกล้เคียงกับภาษานอร์สโบราณมากกว่าภาษาสแกนดิเนเวียอื่นๆ[30] ภาษาอังกฤษและภาษาเดนมาร์กเป็นวิชาบังคับในหลักสูตรการศึกษา[31]

[แก้] ระบบชื่อ

สังคมไอซ์แลนด์ไม่ได้ใช้ระบบสืบทอดนามสกุลเหมือนวัฒนธรรมตะวันตกทั่วไป แต่ใช้ชื่อตามเป็นชื่อของบิดา หรือบางครั้งเป็นมารดาของบุคคลนั้นๆ โดยใช้รูปสัมพันธการกของชื่อบิดาหรือมารดาตามด้วย son (ลูกชาย) หรือ dóttir (ลูกสาว) ชาวไอซ์แลนด์บางส่วนที่มีนามสกุลและชาวต่างชาติสามารถสืบทอดนามสกุลของตนได้ แต่การจดใช้นามสกุลใหม่ไม่สามารถกระทำได้ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 เป็นต้นมา ธรรมเนียมปฏิบัติของไอซ์แลนด์จะใช้ชื่อตัวเป็นชื่อหลักเสมอ และใช้ชื่อตามในการขยายเท่านั้น การเรียงลำดับชื่อเช่นในสมุดโทรศัพท์หรือทะเบียนประชากร จะเรียงตามชื่อตัว[32]

นอกจากนี้ ไอซ์แลนด์ยังมีระบบการตั้งชื่อที่เข้มงวด โดยชื่อตัวที่ไม่เคยใช้ในภาษาไอซ์แลนด์มาก่อนจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการการตั้งชื่อ โดยชื่อที่ตั้งจะต้องสามารถเข้าได้กับการผันคำในไวยากรณ์ที่ซับซ้อนของภาษาไอซ์แลนด์[33]

[แก้] วัฒนธรรม

ตัวอย่างจากซากา Heimskringla
ปีเยิร์ก (Björk) เป็นหนึ่งในนักดนตรีของไอซ์แลนด์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ

วัฒนธรรมไอซ์แลนด์มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมแบบสแกนดิเนเวียโบราณ (นอร์ส) ไอซ์แลนด์มีชื่อเสียงมากเกี่ยวกับวรรณกรรมในยุคของการตั้งถิ่นฐาน โดยเฉพาะเอดดาและซากา ชาวไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระอย่างมาก โดยในการสำรวจยูโรบารอมิเตอร์ของคณะกรรมการยุโรป 85 เปอร์เซนต์ของชาวไอซ์แลนด์เห็นว่าความเป็นอิสระ "สำคัญมาก" เทียบกับเฉลี่ยของ 25 ชาติอียู (2547) 53 เปอร์เซนต์ เดนมาร์กและนอร์เวย์ 49 และ 47 เปอร์เซนต์ตามลำดับ[34]

[แก้] วรรณกรรม

วรรณกรรมของไอซ์แลนด์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การตั้งถิ่นฐานบนไอซ์แลนด์ โดยเป็นส่วนสำคัญของวรรณกรรมนอร์สโบราณ วรรณกรรมไอซ์แลนด์ที่มีชื่อเสียงมากคือซากาในยุคกลาง โดยเป็นเรื่องเล่าในรูปแบบของร้อยแก้วเล่าถึงวีรบุรุษของไอซ์แลนด์และสแกนดิเนเวียในยุคนั้น โดยมีซากานับร้อยถูกเขียนขึ้น นอกจากนี้ยังมีเอดดา มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับตำนานเทพเจ้า แบ่งออกเป็นเอดดาร้อยกรอง และเอดดาร้อยแก้ว

วรรณกรรมของไอซ์แลนด์ตกต่ำลงหลังการสูญเสียเอกราชทางการเมืองในปี พ.ศ. 1805 ในช่วงห้าร้อยปีถัดมา มีผลงานด้านวรรณกรรมเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะในรูปแบบร้อยแก้ว นอกจากการแปลคัมภีร์ไบเบิลในพุทธศตวรรษที่ 21-22[35] ในด้านร้อยกรอง มีผลงานบทกวีทางศาสนา และ rímur บทกวีรูปแบบหนึ่งของไอซ์แลนด์

วรรณกรรมของไอซ์แลนด์ฟื้นฟูขึ้นในในช่วงหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 หนึ่งในนักเขียนคนสำคัญของไอซ์แลนด์ยุคใหม่ คือฮัลโตร์ คิลยัน ลักซ์เนส ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี พ.ศ. 2498

[แก้] ดนตรี

ดนตรีดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ไม่ได้รับอิทธิพลการพัฒนาจากต่างประเทศนัก จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล โดยส่วนใหญ่เป็นดนตรีพื้นบ้านและดนตรีศาสนา ไม่มีการใช้เครื่องดนตรีมากนัก ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้เสียงประสาน rímur จัดเป็นดนตรีดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ด้วย

ไอซ์แลนด์ตั้งสถาบันดนตรีขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 และตั้งวงซิมโฟนีออร์เคสตราไอซ์แลนด์ในปี 2493 ไอซ์แลนด์มีนักดนตรีร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น ปีเยิร์ก (Björk) และ ซีกือร์โรส (Sigur Rós) งานดนตรีที่สำคัญของไอซ์แลนด์คือไอซ์แลนด์แอร์เวฟส์ในเรคยาวิก

[แก้] อาหาร

ส่วนประกอบหลักในอาหารของไอซ์แลนด์คือปลา เนื้อแกะ และผลิตภัณฑ์นม ไอซ์แลนด์มีชุดอาหารดั้งเดิมที่เรียกว่าทอร์รามาทือร์ (Þorramatur) รับประทานในเดือนทอร์ริ (Þorri) ตามปฏิทินดั้งเดิมของไอซ์แลนด์ ซึ่งประกอบด้วยอาหารหลากชนิด เช่น เนื้อแกะเค็มรมควัน ปลาแห้ง และขนมปังต่างๆ เป็นต้น

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ 1.0 1.1 1.2 1.3 เดอะเวิลด์แฟกต์บุก เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  2. ^ Human Development Report 2006. สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ. สืบค้นวันที่ 2007-03-31 (อังกฤษ)
  3. ^ History of Iceland TravelNet.is
  4. ^ 4.0 4.1 Iceland History
  5. ^ The President of Iceland เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  6. ^ Municipalities of Iceland Statoids. เรียกข้อมูลวันที่ 2008-03-11
  7. ^ Facts about Iceland Icelandtotal.com (อังกฤษ)
  8. ^ 8.0 8.1 8.2 Iceland in statistics Landmælingar Ísland (อังกฤษ)
  9. ^ Foulger, G. Iceland & the North Atlantic Igneous Province. Mantleplumes.org 2005-02-08. (อังกฤษ)
  10. ^ Volcanoes Iceland.is (อังกฤษ)
  11. ^ Hekla erupts Feb 26 - ~29, 2000 Hi.is (อังกฤษ)
  12. ^ Moore, B. Sustainable Iceland: Geothermal Wonderland. EV World. 2006-05-24. (อังกฤษ)
  13. ^ Iceland: Climate Britannica Online (อังกฤษ)
  14. ^ The dynamic climate of Iceland (อังกฤษ)
  15. ^ World Economic Outlook Database-October 2007, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ. (อังกฤษ)
  16. ^ World Economic Outlook Database-October 2007, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ.
  17. ^ Distribution of family income - Gini index, เดอะเวิลด์แฟกต์บุก, ซีไอเอ, ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 24 มกราคม 2551 (อังกฤษ)
  18. ^ Exports by commodities (SI classification) 2002-2007 สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์.
  19. ^ Employed persons by economic activity, nationality, sex and regions 1998-2005 สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์ (อังกฤษ)
  20. ^ "Euro support in Iceland hits five-year high", Reuters, 2007-09-11. สืบค้นวันที่ 2008-01-02 (อังกฤษ)
  21. ^ "アイスランド:グローバリゼーションの波に乗る環境問題先進国", Nikkei Business Online, 2008-02-07. สืบค้นวันที่ 2008-08-02(ญี่ปุ่น)
  22. ^ Evolution of Financial Institutions:Iceland’s Path from Repression to Eruption Thráinn Eggertsson and Tryggvi Thor Herbertsson หน้า 13
  23. ^ Electronic and mobile payments - moving towards a cashless society? Erkki Liikanen หน้า 2
  24. ^ การบริโภคพลังงานรวมแบ่งตามแหล่งที่มา 1987–2005, สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์, เรียกข้อมูล 2008-04-07
  25. ^ Registered motor vehicles 1950-2006 สำนักงานสถิติไอซ์แลนด์ (อังกฤษ)
  26. ^ Kevlavik International Airport (อังกฤษ)
  27. ^ Statistics Iceland:Key figures. www.statice.is (29 ก.พ. 2008). สืบค้นวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  28. ^ Population: Citizenship and country of birth. www.statice.is. สืบค้นวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  29. ^ Iceland. International Religious Freedom Report 2007. Bureau of Democracy, Human Rights, and Labor (2007-09-14). สืบค้นวันที่ 2008-03-03 (อังกฤษ)
  30. ^ Simon Ager. Icelandic language, alphabet, and pronunciation. Omniglot. สืบค้นวันที่ 2008-03-04
  31. ^ Iceland Export Directory [1] (อังกฤษ)
  32. ^ Information on Icelandic Surnames. Ministry of Justice and Ecclesiastical Affairs. (อังกฤษ)
  33. ^ Naming Committee accepts Asía, rejects Magnus. Iceland Review Online. 2006-09-12 (อังกฤษ)
  34. ^ European Commission Eurobarometer Social values, Science and Technology analysis June 2005 p.35. (อังกฤษ)
  35. ^ Chronological History of the Bible - 16th Century (อังกฤษ)

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น

Commons

ภาษาอื่น