วิทยาลัยชุมชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วิทยาลัยชุมชน เป็นวิทยาลัยในสังกัดสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (ยกเว้นวิทยาลัยชุมชนภูเก็ต)[1]

เนื้อหา

[แก้] การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในประเทศไทย

การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในประเทศไทย เกิดจากความจำเป็นในการผลิตกำลังคนเพื่อสนองความต้องการพัฒนาประเทศและมีแนวความคิดที่จะใช้การจัดการศึกษาตามหลักการวิทยาลัยชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513

แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 3 กำหนดนโยบายการศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้ส่งเสริมการศึกษาและทดลองการจัดการศึกษาแบบวิทยาลัยชุมชนเพื่อสนองความต้องการกำลังคนระดับกลางในแขนงวิชาที่ประเทศมีความต้องการมาก ตลอดจนปัญหาในระดับอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาเป็นไปเพื่อคนส่วนน้อยไม่เกิดความเป็นธรรมในสังคม ปัญหาดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของประเทศ คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้เตรียมการปฏิรูปการศึกษา

ปี พ.ศ. 2520 จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนภูเก็ตขึ้นเป็นแห่งแรก โดยให้เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2523 ได้จัดตั้งขึ้นอีกแห่งที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี พ.ศ. 2527 ได้จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในสังกัดวิทยาลัยครู ขึ้น 4 แห่ง คือ วิทยาลัยชุมชนพิบูลสงคราม วิทยาลัยชุมชนอุบลราชธานี วิทยาลัยชุมชนนครราชสีมา และวิทยาลัยชุมชนนครศรีธรรมราช (แต่ในระหว่างที่เตรียมการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนนั้น มีการแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครูให้เปิดสอนถึงระดับปริญญาตรี ดังนั้น จึงไม่มีการดำเนินการวิทยาลัยชุมชนต่อ)

ในปี พ.ศ. 2537 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้น โดยให้สถาบันการศึกษาเฉพาะทาง ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรกรรม วิทยาลัยพลศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ และวิทยาลัยช่างศิลป์ จำนวน 77 แห่งทั่วประเทศ เป็นวิทยาลัยชุมชน โดยขยายฐานวิชาการจากเดิมให้มีบทบาทการจัดการศึกษาและบริการชุมชนให้กว้างขวางขึ้นและให้มีคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยชุมชนขึ้นในกระทรวงศึกษาธิการ (ซึ่งวิทยาลัยชุมชนดังกล่าวดำเนินการได้ถึงปี พ.ศ. 2539 จึงได้ยุติตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น)

[แก้] วิทยาลัยชุมชนในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และกระทรวงศึกษาธิการมีประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2545 จำนวน 10 จังหวัด คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน พิจิตร ตาก บุรีรัมย์ มุกดาหาร หนองบัวลำภู สระแก้ว อุทัยธานี ระนอง และนราธิวาส และในปี พ.ศ. 2547 ได้ดำเนินการขยายจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพิ่มเติมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา และปัตตานี และวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 ได้มีการดำเนินการขยายการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง คือ จังหวัดยโสธร สมุทรสาคร ตราด สตูล และพังงา

ต่อมาได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเพิ่มเติมขึ้นอีก 2 แห่ง คือ ในปีพ.ศ. 2549 จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนแพร่ และ พ.ศ. 2550 จัดตั้งวิทยาลัยชุมชนสงขลา เพื่อรับผิดชอบการศึกษาในพื้นที่พิเศษ 4 อำเภอ

ตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยชุมชน


[แก้] ตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยชุมชน

จุดกึ่งกลาง หมายถึง ศูนย์รวมความร่วมมือ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน

ช่องว่าง หมายถึง การศึกษา ความรู้ การเติบโต โอกาสทางการศึกษา

รูปทรงทาง หมายถึง การบูรณาการ วิถีปัญญา และวิถีไทย สถาปัตยกรรมไทย

เส้นโค้ง หมายถึง การศึกษาตลอดชีวิต การสร้างบุคลากร รองรับด้านล่างที่มีคุณภาพให้แก่ชุมชนและประเทศชาติ

[แก้] รายชื่อวิทยาลัยชุมชนในปัจจุบัน


ลำดับที่ วันที่จัดตั้ง ชื่อ รายละเอียด
1 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน
2 17 เมษายน พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนพิจิตร
3 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนตาก
4 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ เปิดสอนอนุปริญญา 7 สาขาวิชา มีหน่วยจัดการศึกษา 8 แห่ง
5 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร
6 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู
7 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนสระแก้ว
8 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี
9 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนระนอง มีหน่วยจัดการศึกษา 5 แห่ง เปิดทำการสอนหลักสูตรระยะสั้น "ภาษาพม่าเพื่อการสื่อสารและธุรกิจ"
10 17 เมษายน พ.ศ. 2545 วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส
11 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนยะลา จัดตั้งตามนโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่พิเศษภาคใต้ ตามยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต.
12 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนปัตตานี จัดตั้งตามนโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่พิเศษภาคใต้ ตามยุทธศาสตร์ของ ศอ.บต.


13 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนยโสธร
14 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนสมุทรสาคร มีหน่วยจัดการศึกษา 5 แห่ง เปิดสอนอนุปริญญา 3 สาขาวิชา
15 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนตราด
16 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนสตูล
17 8 ตุลาคม พ.ศ. 2547 วิทยาลัยชุมชนพังงา
18 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 วิทยาลัยชุมชนแพร่
19 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 วิทยาลัยชุมชนสงขลา จัดตั้งตามนโยบายการแก้ไขปัญหาพื้นที่พิเศษภาคใต้ ของ ศอ.บต. รับผิดชอบพื้นที่ 4 อำเภอ คือ
อำเภอเทพา อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย

[แก้] อ้างอิง

[แก้] แหล่งข้อมูลอื่น