ชาติชาย ชุณหะวัณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
ชาติชาย ชุณหะวัณ

ดำรงตำแหน่ง
4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 – 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534
สมัยก่อนหน้า พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
สมัยถัดไป อานันท์ ปันยารชุน

เกิด 5 เมษายน พ.ศ. 2463
ตำบลพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ถึงแก่อสัญกรรม 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 (78 ปี)
โรงพยาบาลคอมเวลล์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
สังกัดพรรค พรรคชาติไทย (พ.ศ. 2531)
พรรคชาติพัฒนา (พ.ศ. 2535)
สมรสกับ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ (โสพจน์)
ลายมือชื่อ Thai-PM-chartchai signature.png

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (5 เมษายน พ.ศ. 24636 พฤษภาคม พ.ศ. 2541) อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรี และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในหลายกระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม และ กระทรวงกลาโหม

พลเอกชาติชาย เป็นผู้ก่อตั้งพรรคการเมือง 2 พรรค และได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค คือ พรรคชาติไทย และ พรรคชาติพัฒนา

เนื้อหา

[แก้] ประวัติ

"พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ" เกิดที่ตำบลพลับพลาไชย จังหวัดพระนคร เดิมมีชื่อว่า "สมบูรณ์ ชุณหะวัณ" เป็นบุตรของจอมพลผิน ชุณหะวัณ กับคุณหญิงวิบูลย์ลักษม์ ชุณหะวัณ

พลเอกชาติชาย สมรสกับ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ (สกุลเดิม โสพจน์) มีบุตรชายคือ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และบุตรสาวคือ วาณี ชุณหะวัณ [1] (อดีตภริยานายระวี หงษ์ประภาส มีบุตรสาวชื่อ ปวีณา หงส์ประภาส) [2] พลเอกชาติชาย เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายทหารม้า และโรงเรียนยานเกราะกองทัพบก (อาร์เมอร์สคูล) มลรัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา


พล.อ.ชาติชาย มีพี่สาว 3 คน และน้องสาว 1 คน

[แก้] ประวัติการศึกษา

มัธยมศึกษา โรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี

[แก้] ประวัติการรับราชการ

พลเอกชาติชาย รับราชการครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2483 ในตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ผู้บังคับกองร้อย กองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ ประจำกรมเสนาธิการทหารบก ต่อมาในปี พ.ศ. 2492 ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งรองผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ รองผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ และผู้บังคับการกรมทหารม้าที่ 2 และผู้บังคับการโรงเรียนยานเกราะ

ในปี พ.ศ. 2501 ได้ถูกเหตุการณ์ทางการเมืองผันแปรชีวิตไปเป็นอุปทูตอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศอาร์เจนตินา และเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม ประจำประเทศออสเตรีย ตุรกี สำนักวาติกัน และเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำองค์การสหประชาชาตินครเจนีวา ตามลำดับ

ปี พ.ศ. 2515 พลเอกชาติชาย เดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับตำแหน่ง อธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นตำแหน่งสุดท้าย ในชีวิตข้าราชการประจำ เนื่องจากในปลายปี พ.ศ. 2515 นี้เอง พลเอกชาติชาย ที่ขณะนั้นยังมียศเป็น พลจัตวาชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ใน คณะรัฐมนตรีคณะที่ 32 ของไทย ที่มี จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี และหลังจากนั้น พลเอกชาติชาย ก็ได้เข้าสู่วงการเมืองอย่างเต็มตัว

[แก้] บทบาททางการเมืองยุคแรก

พลเอกชาติชาย มีส่วนร่วมในการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2490 และรัฐประหารในปี พ.ศ. 2494 ตามบิดา คือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ ผู้เป็นหัวหน้าในการรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ โดยขณะมียศเพียงแค่ร้อยตรีและร้อยเอกเท่านั้น หลังจากนั้นเริ่มบทบาททางการเมืองอย่างแท้จริงในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 พลเอกชาติชาย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันมาอีกรวม 5 สมัย พลเอกชาติชาย และได้เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีอีกหลายสมัย ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรองนายกรัฐมนตรี

  • โดยได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามลำดับดังนี้
    • พ.ศ. 2515 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ
    • พ.ศ. 2518 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
    • พ.ศ. 2518 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา รวม 5 สมัย
    • พ.ศ. 2519 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
    • พ.ศ. 2529 รองนายกรัฐมนตรี

ในปี พ.ศ. 2517 พลเอกชาติชาย ได้ร่วมกับ พลตรีประมาณ อดิเรกสาร ผู้มีศักดิ์เป็นพี่เขย และ พลตรีศิริ สิริโยธิน ก่อตั้ง พรรคชาติไทย ขึ้น โดยมี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นหัวหน้าพรรค และต่อมาในปี พ.ศ. 2529 พลเอกชาติชายขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคคนที่ 2 สามารถนำพรรคชาติไทย ชนะการเลือกตั้งได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่งในปี พ.ศ. 2531 ในชั้นต้นมีการทาบทาม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ และประกาศวางมือทางการเมือง พลเอกชาติชายจึงได้รับการสนับสนุน ให้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 17 ของประเทศไทย

[แก้] การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 มีการปรับคณะรัฐมนตรี 1 ครั้งเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นระยะเวลารวมประมาณ 2 ปีครึ่ง

ผลงานที่โดดเด่นมากของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ได้แก่ การดำเนินนโยบายต่างประเทศกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะใน กลุ่มอินโดจีน เช่น การประสานงานให้มีการเจรจาร่วม ระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เพื่อยุติการสู้รบ และสนับสนุน ให้มีการจัดตั้งรัฐบาลประเทศกัมพูชาภายใต้การนำของ สมเด็จสีหนุขึ้น นโยบายต่างประเทศของ รัฐบาลพลเอกชาติชาย มีชื่อเรียกที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายคือ นโยบาย "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า"

ทางด้านเศรษฐกิจ ได้อนุมัติโครงการเพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลายโครงการ เช่น โครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 3 ล้านเลขหมาย โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในเขตกรุงเทพมหานคร และโครงการทางด่วนยกระดับ ตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงนั้น ร้อนแรงถึงกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อปี กระทั่งมีการคาดหมายโดยทั่วไปว่าประเทศไทยจะเป็น "เสือตัวที่ 5" ของเอเชีย (Fifth Asian Tiger) ต่อจาก "4 เสือเศรษฐกิจของเอเชีย" คือ เกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีชื่อที่เรียกเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า "น้าชาติ" มีคำพูดติดปากเมื่อให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า "No Problem" หมายถึง "ไม่มีปัญหา" จนเป็นที่จดจำได้ทั่วไป ซึ่งศิลปินเพลง แอ๊ด คาราบาว ได้นำไปประพันธ์เป็นเพลงล้อการเมืองชื่อ "โนพลอมแพลม"

การบริหารงานของรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน เริ่มประสบปัญหาในช่วงท้ายของวาระการดำรงตำแหน่ง เมื่อถูกโจมตีว่ามีการทุจริต หาผลประโยชน์ในโครงการลงทุนของรัฐ จนมีคำกล่าวโจมตีการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอกชาติชายว่าเป็น "บุฟเฟ่ต์คาบิเนต" ขณะที่การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีสัดส่วน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เป็นจำนวนมากก็ถูกโจมตีว่ามีสภาพเป็น "เผด็จการรัฐสภา"

พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ บริหารประเทศจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ถูกยึดอำนาจการปกครองโดย คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ. สุจินดา คราประยูร พล.อ.อ. เกษตร โรจนนิล และพล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี ที่ต่อมานำไปสู่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ในปี พ.ศ. 2535

[แก้] บทบาททางการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ภายหลังถูกรัฐประหารโดยคณะ รสช. พลเอกชาติชายได้เดินทางไปพำนักอยู่ในอังกฤษระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางกลับประเทศไทย และก่อตั้ง พรรคชาติพัฒนา ขึ้นเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2535 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก ต่อมาได้นำพรรคลงสมัครรับเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 โดย พลเอกชาติชายชนะเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นการเริ่มต้นบทบาททางการเมืองใหม่อีกครั้ง

ปลายปี พ.ศ. 2540 เมื่อ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในตอนแรกพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในขณะนั้นมีมติร่วมกันที่จะสนับสนุน พลเอกชาติชาย ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง แต่ในที่สุด พรรคกิจสังคม ที่มีนายมนตรี พงษ์พานิช เป็นหัวหน้าพรรค ได้เปลี่ยนไปสนับสนุน นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์แทน ตามมาด้วย พรรคประชากรไทย ที่มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค เกิดกรณี ส.ส. "กลุ่มงูเห่า" ที่แสดงตัวสนับสนุน นายชวน หลีกภัยเช่นเดียวกัน ทำให้ในที่สุดผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนใหม่กลายเป็น นายชวน หลีกภัย ที่ได้เป็น นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 แทนที่จะเป็น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน

อย่างไรก็ตามอีกเพียงครึ่งปีต่อมา พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2541 ณ โรงพยาบาลคอมเวลล์ สหราชอาณาจักร รวมอายุได้ 78 ปี

[แก้] อ้างอิง

  1. ^ ผู้จัดการออนไลน์ 9 มิถุนายน 2547
  2. ^ "ความรัก" สามมุม ของ สามหนุ่มคนดัง นิตยสารหญิงไทย ฉบับที่ 681 ปีที่ 29 ปักษ์หลัง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547
สมัยก่อนหน้า ชาติชาย ชุณหะวัณ สมัยถัดไป
พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ 2leftarrow.png นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย
(4 สิงหาคม พ.ศ. 253123 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534)
2rightarrow.png อานันท์ ปันยารชุน